http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (19 เมษายน 2565) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
ทางแพ่งอื่น พ.ศ. ?.
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
ดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?.
เศรษฐกิจ สังคม
3. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย 4. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 5. เรื่อง รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
(พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
6. เรื่อง โครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับ
ผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย
ฤดูการผลิต 2562/2563
7. เรื่อง รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปี
งบประมาณ พ.ศ. 2563 ? 2564
8. เรื่อง ขอปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคา พลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป 9. เรื่อง การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงาน
โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19)
10. เรื่อง รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางและรูปแบบการกำหนดความผิดของนิติบุคคล
ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด
ต่างประเทศ
11. เรื่อง ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าภายใต้แผนงาน The Programme for COVID - 19
Crisis Response Emergency Support จากรัฐบาลญี่ปุ่น
12. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยและมองโกเลีย 13. เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย ? เวียดนาม ครั้งที่ 4 14. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4
(4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS)
15. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 แต่งตั้ง 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า 1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ในอำเภอหนึ่ง ให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชน ที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอ ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตั้งแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับยังไม่เคยมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น เพื่อกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด 2. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ย และประนอมข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปรากฏว่ามีประชาชนซึ่งเกิดข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท ได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อนำข้อพิพาททางแพ่งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท แต่นายอำเภอไม่อาจรับข้อพิพาททางแพ่งนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ โดยสถิติข้อมูลการไกล่เกลี่ยของทุกอำเภอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2564 พบว่า ข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมีจำนวน 15,662 เรื่อง ไกล่เกลี่ยแล้วสำเร็จจำนวน 14,439 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานายอำเภอเคยได้รับการร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์เกินกว่า 200,000 บาท จำนวน 37 เรื่อง แบ่งเป็น ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 2,000,000 บาท จำนวน 2 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 1,000,000 บาทขึ้นไป จำนวน 14 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป จำนวน 20 เรื่อง 3. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กรมการปกครองจึงเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 โดยเห็นควรให้เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่นจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 2,000,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและวิถีชีวิตประชาชนที่มีการทำนิติกรรมสัญญาจำนวนสูงขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำข้อพิพาททางแพ่งอื่นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้มากยิ่งขึ้น จึงสมควรเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่น โดยที่มาตรา 71/10 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 บัญญัติให้ ก.พ.ร. มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา และกฎที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่น จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินสองแสนบาท เป็นไม่เกินสองล้านบาท และเสนอ ก.พ.ร. พิจารณา 4. ในคราวประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. ?. และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ของการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นจากเดิมที่กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ไว้ไม่เกินสองแสนบาท เป็น จำนวนไม่เกินสองล้านบาท 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 1. มาตรา 63/15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ในกรณีที่มีการบังคับให้ชำระเงินและคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว หากหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินประสงค์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดีดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด เพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น โดยระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองยังมิได้ชำระตามคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้บังคับทางปกครองหรือได้ดำเนินการบังคับทางปกครองแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระเงินหรือได้รับชำระเงินไม่ครบถ้วน ประกอบกับมาตรา 63/15 วรรคหก บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรานี้ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น หากจะนำมาตรา 63/15 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการฯ ไปใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องกำหนดเป็นกฎกระทรวง 2. ทั้งนี้ กค. ได้จำแนกหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กค. รวม 16 หน่วยงาน ดังนี้ 2.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนประกันชีวิต (กปช.) กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวม 7 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พ.ศ. 2540 2.2 สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 3/1 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐฯ ที่กำหนดให้เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน 2.3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สสร.) และการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) รวม 6 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้ ?หน่วยงานของรัฐ? ให้หมายความรวมถึง รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา 2.4 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) รวม 2 หน่วยงาน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง สคฝ. และพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงาน คปภ. กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ 3. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบังคับตามคำสั่งทางปกครองกรณีที่กำหนดให้มีการบังคับชำระเงินเป็นที่สุดแล้วของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กค. รวม 16 หน่วยงาน ตามข้อ 2. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ตามมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการฯ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดให้ ธปท. กบข. กอช. กปช. กปว. สพพ. ธกส. ธสน. บสย. ธอส. สสร. ยสท. สำนักงาน ก.ล.ต. สคฝ. สำนักงาน คปภ. และ กยศ. รวม 16 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เศรษฐกิจ สังคม 3. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61 ซึ่งบัญญัติให้ทุกหกเดือนให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ภาวะเศรษฐกิจ 1.1 เศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (กรกฎาคม-ธันวาคม) ขยายตัว ที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากในช่วงครึ่งแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน) ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ตามอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลง โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอและความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ (ไม่รวมเงินโอน) ยังขยายตัวจากการอุปโภคของภาครัฐ และการลงทุนของภาครัฐหดตัวตามการเบิกจ่ายลงทุนด้านคมนาคมและระบบชลประทานที่ลดลง ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่คลี่คลาย ส่วนการส่งออกบริการปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการทยอยเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังเปราะบาง โดยในไตรมาสที่ 3ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 ตลาดแรงงานมีสัญญาณฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังคงเปราะบาง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.56 เร่งขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่อยู่ที่ร้อยละ 0.89 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ต่ำและสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์สากลอย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าช่วงครึ่งแรกของปีตามการขาดดุลบริการ รายได้และเงินโอนจากรายจ่ายบริการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากที่มีการขาดดุลในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเกิดจากหนี้สินตามการลงทุนประเภทอื่น ๆ จากการจัดสรรสิทธิในการถอนเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้กับไทยเพื่อรับมือกับโควิด-19 ประกอบกับมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2. การดำเนินงานของ ธปท. ประกอบด้วย 2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน ประกอบด้วย 2.1.1 การดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี และประเมินว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมามากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นผลจากราคาพลังงานเป็นหลัก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความ ไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย เช่น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อ ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะทยอยหมดลง และราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กนง. เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด และนโยบายการเงินจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลายต่อเนื่อง 2.2.2. การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ปรับอ่อนค่าจากไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) มีสาเหตุจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) เงินทุนไหลออกเนื่องจากความกังวลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และ (2) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวน โดยในเดือนธันวาคม 2564 เงินบาทอ่อนค่าเร็ว มีสาเหตุจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กระทบต่อการฟื้นตัวของภาค การท่องเที่ยวและ (2) การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เร็ว กว่าคาด ทั้งนี้ กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควรผลักดัน การสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น 2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงินคณะกรรมการโยบายสถาบันการเงินให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) การออกมาตรการในช่วงโควิด-19 โดยให้ความสำคัญต่อการให้ ความช่วยเหลือและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป (2) การดำเนินงานด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงินและการดูแลความเสี่ยงและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินความเสี่ยงในประเด็นสำคัญ เช่น การประเมินธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศและการปรับปรุงกรอบ การประเมินความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถรับมือต่อความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (3) การดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดย ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลต่าง ๆ การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนโดยประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจและการกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ และ (4) ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ธนาคารพาณิชย์และ SFIs มีความมั่นคงและสภาพคล่อง ในระดับสูงสามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนในระยะต่อไปได้ 2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงินสรุปได้ ดังนี้ (1) แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 การใช้บริการ e-Payment เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณร้อยละ 54.3 และเชิงมูลค่าร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนการใช้บริการผ่าน Mobile Banking /Internet Banking เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.5 (2) การดำเนินการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้านของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลได้ดีขึ้น การเชื่อมระบบการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code และบริการโอนเงินระหว่างประเทศ และการขยายโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลธุรกรรม การชำระเงินในระดับรายธุรกรรมเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระเงิน 4. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) ซึ่ง คทช. ได้มีมติรับทราบและพิจารณาผลการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ เรื่อง ข้อสั่งการของประธาน คทช./ ความเห็น/ข้อสั่งการของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง/มติ คทช. 1. เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 3 เรื่อง 1.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ดังนี้ 1.1.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. เช่น 1) ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 1,442 พื้นที่ 70 จังหวัด ซึ่งได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 309 พื้นที่ 2) การดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน พบว่า ทุกโครงการมีการดำเนินการที่เป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ และได้มีการรวบรวมส่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป และ 3) การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) โดยโครงการเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564-10 กรกฎาคม 2565 รวม 210 วัน 1.1.2 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เช่น 1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 คณะอนุกรรมการจัดที่ดินได้จัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่เป้าหมาย 303 พื้นที่ 67 จังหวัด 68,707 ราย 84,314 แปลง 2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด โดยจัดทำแผนและงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 146.21 ล้านบาท มีการเบิกจ่าย 8 หน่วยงาน 142.61 ล้านบาท และ 3) คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศได้แต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ 3 คณะ เพื่อตรวจสอบผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศที่ค้างดำเนินการ 239 ระวางแผนที่ในพื้นที่ 8 จังหวัด และนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) ใช้ประกอบการพิสูจน์สิทธิต่อไป มติ คทช. : รับทราบ 1) ผลการดำเนินงานฯ และข้อสั่งการของประธานกรรมการและให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป และ 2) การจัดทำคู่มือการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ดำเนินการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ และ คพร. จังหวัด ต่อไป 1.2 ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง สรุปได้ ดังนี้ 1.2.1 ในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีมติมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) พื้นที่ชุมชนเมืองระนองซึ่งตั้งอยู่ภายในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย และอยู่ในแนวเขตป่าชายเลน [ตามมติคณะรัฐมนตรี (15 ธันวาคม 2530) เรื่อง การจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน ประเทศไทย] ปัจจุบันมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกลายเป็นชุมชนเมือง ไม่มีสภาพความเป็นป่าชายเลนหลงเหลืออยู่แล้ว ยังคงถือว่ามีสภาพเป็นป่าชายเลนตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 2) หน่วยงานใดจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวฯ จังหวัดระนองบางส่วน ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือกรมป่าไม้ และ 3) เมื่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือกรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงบางส่วนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวฯ จังหวัดระนอง โดยระบุเหตุผลไว้ในกฎกระทรวงฯ ให้กรมธนารักษ์ไปบริหารจัดการควบคุมกำกับดูแลรับผิดชอบภายใต้กฎหมายของกรมธนารักษ์สามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร หากกรมธนารักษ์ไม่สามารถรับมอบพื้นที่ดังกล่าวมาบริหารจัดการภายใต้กฎหมายของกรมธนารักษ์ได้ หน่วยงานใดจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการควบคุมกำกับดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือกับทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน สคก. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมธนารักษ์ โดยกรมธนารักษ์ มีนโยบายที่พร้อมจะรับพื้นที่นี้ เพราะพื้นที่จังหวัดระนองเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งการลงพื้นที่ทำแปลงและสำรวจรายชื่อพบว่าประชาชนไม่คัดค้านเนื่องจากประชาชนทราบดีอยู่แล้วว่าอาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ต้น มติ คทช. : รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ป่าชายเลนฯ ความเห็นของ สคก. ข้อสั่งการของประธานกรรมการและให้ ทส. / กรมธนารักษ์ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 1.3 การจัดงานวันสถาปนา สคทช. โดยมีการจัดกิจกรรมขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ?การดำเนินงานของ คทช. และเปิดการประชุม? และมอบนโยบายให้แนวทางในการปฏิบัติงานแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินและการเสวนาในหัวข้อ ?กลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางของ คทช.? มติ คทช. : รับทราบการจัดงานฯ 2. เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 5 เรื่อง 2.1 ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2580) เป็นการกำหนดกรอบเป้าหมาย นโยบาย และทิศทางในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีนโยบายหลัก ได้แก่ 1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ 2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สุงสูด 3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ 4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นกรอบตั้งต้นแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนการใช้จ่ายงบประมาณ และกิจกรรมโครงการที่จะดำเนินการ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและให้เหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป มติ คทช. : เห็นชอบร่างนโยบายและแผนฯ และมอบหมายให้ สคทช. รับข้อสังเกตไปดำเนินการและเสนอ สศช. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 2.2 การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาเขตแนวที่ดินของรัฐ ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด โดยในคราวประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุง One Map และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 มีมติ 1) เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุง One Map ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี 2) เห็นชอบต่อข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ กรณีการดำเนินการปรับปรุง One Map อาจมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่จังหวัด กลุ่มที่ 2 ดังกล่าว 3) เห็นชอบแนวทางการดำเนินการกรณีพื้นที่กันออกจากป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถือว่ามีผลจำแนกออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวรด้วยหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีปัญหาในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (13 กุมภาพันธ์ 2533) เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดขอนแก่น (เฉพาะแห่ง) จึงเห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ คทช. พิจารณาตามมาตรา 10 (7) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป 4) เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับปรุง One Map เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (25 ธันวาคม 2561) เรื่อง รายงานผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) และมติคณะรัฐมนตรี (24 เมษายน 2562) เรื่องความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ที่มอบหมายให้ คทช. กำกับติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการปรับปรุง One Map และ 5) เห็นชอบให้เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการปรับปรุง One Map และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ มติ คทช. : 1) เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุง One Map และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐฯ ของกลุ่มจังหวัดที่ 2 2) เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่มีที่ดินของรัฐอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุง One Map โดยใช้ One Map ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันแล้ว 3) เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับปรุง One Map เพิ่มเติมฯ 4) เห็นชอบการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดิน หรือแผนที่ท้ายกฎหมายของหน่วยงานให้ คทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและพิจารณาแก้ไขปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสม 5) ให้คณะอนุกรรมการปรับปรุง One Map ทำหน้าที่บริหารจัดการแนวเขตที่ดินของรัฐ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ หลักการ หลักเกณฑ์ ตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และรวมถึงพิจารณาดำเนินการต่อข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ และ 6) ให้ สคทช. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐและประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป 2.3 การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดนครพนม (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง) ในคราวประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบการจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดนครพนม ?ป่าดงเซกา (หมายเลข 74)? เนื้อที่ประมาณ 1,648 ไร่ (เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งค่ายพระยอดเมืองขวาง โดยใช้เป็นที่ยุทธวิธีของทหาร เป็นที่ตั้งหน่วยงานและศูนย์ฝึกอาชีพ) ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ [ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี (15 เมษายน 2536) เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดิน จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดยโสธร จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดภูเก็ต (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง)] ตามที่คณะกรรมการพัฒนาที่ดินมีมติไว้แล้ว และให้นำเสนอ คทช. ต่อไป มติ คทช. : เห็นชอบการจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดนครพนมฯ และมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 2.4 การยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 2.4.1 ในคราวประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติ 1) เห็นชอบให้ยกเลิกระเบียบฯ และ 2) ให้โอนอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐไปเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ ภายใต้ คทช. 2.4.2 ในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 พ.ศ. ....* และให้เสนอ คทช. และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป มติ คทช. : เห็นชอบการยกเลิกระเบียบฯ และมอบหมายให้ สคทช. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 2.5 การแก้ไขคำสั่ง คทช. ที่ 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยเพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน 2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และการตลาด และ 4) คณะอนุกรรมการปรับปรุง One Map และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ มติ คทช. : เห็นชอบการแก้ไขคำสั่งฯ 3. เรื่องอื่น ๆ จำนวน 2 เรื่อง 3.1 การรับเรื่องร้องเรียนและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีหน่วยงานที่ร่วมรับเรื่องราวร้องทุกข์ตามภารกิจ 18 หน่วยงาน มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนร้องทุกข์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ สคทช. 7 เรื่อง เช่น 1) ขอให้พิจารณาจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรในพื้นที่ชุมชนเจริญพัฒนา ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และ 2) ขอให้พิจารณาจัดสรรที่ดินในพื้นที่เหมืองแกะ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3) ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในที่ดินกับหน่วยงานของรัฐ มติ คทช. : รับทราบการรับเรื่องร้องเรียนฯ 3.2 การดำเนินการตามมติที่ประชุม คทช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โดยคณะกรรมการจัดการที่ดินมีมติเสนอเรื่องให้ สคทช. พิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 3.2.1 ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี รวม 5 มติ [มติคณะรัฐมนตรี (22 มิถุนายน 2525 และ 18 ธันวาคม 2527) เรื่อง นโยบายการใช้และกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และเรื่อง แจ้งผลการพิจารณา เรื่อง ที่ดินของคณะกรรมการพัฒนาชนทบแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี (7 กุมภาพันธ์ 2527) เรื่อง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเกี่ยวกับการถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อนำไปจัดให้แก่ประชาชน มติคณะรัฐมนตรี (11 มีนาคม 2529) เรื่อง การควบคุมการจัดที่ดิน มติคณะรัฐมนตรี (1 กันยายน 2530) เรื่อง มติคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2530 และมติคณะรัฐมนตรี (15 สิงหาคม 2543) เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องกรมป่าไม้ขอกำหนดพื้นที่สวนป่าชะอำ (กำหนดเป็นสวนรุกขชาติชะอำ) เป็นป่าไม้ถาวร จังหวัดเพชรบุรี (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิม เฉพาะแห่ง) และเรื่องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ขอคืนพื้นที่จำแนกที่ไม่เหมาะสมต่อการปฏิรูปที่ดิน] เนื่องจากเดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติในการอนุมัติโครงการจัดที่ดินของทบวงการเมืองและการควบคุมการจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่น แต่โดยปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ยกเลิกอำนาจดังกล่าวแล้ว และเป็นอำนาจหน้าที่ของ คทช. แทน 3.2.2 ขอให้ทบทวนการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ แปลง ?ดงน้ำจั้น? ?ดงบ้านอ้น? และ ?ดงเหล่าแขม? ในท้องที่ตำบลกมลาไสย และตำบลหลักเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จาก ?ให้เช่า? เป็น ?ให้ซื้อ? 3.2.3 การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครพนม [ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี (15 เมษายน 2536) เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดิน จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดยโสธร จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดภูเก็ต (ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง) และมติคณะรัฐมนตรี (22 กันยายน 2513) เรื่อง เสนอให้จำแนกที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี] มติ คทช. : 1) เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 5 มติ ตามที่คณะกรรมการจัดที่ดินเสนอและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 2) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินพิจารณา เรื่อง การขอให้ทบทวนการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ (ตามข้อ 3.2.2 และข้อ 3.2.3) ก่อนเสนอ คทช. ต่อไป และ 3) รับทราบข้อสั่งการของประธานกรรมการ กรณีการชะลอการดำเนินการตามกฎหมายกับประชาชนที่เข้าถือครองในที่ดินของรัฐ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายฯ พิจารณาก่อนเสนอ คทช. ต่อไป * คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 เมษายน 2565) เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบฯ แล้ว 5. เรื่อง รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอรายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) ที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทฯ ไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ และเห็นชอบแนวทาง/แผนการดำเนินงานต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ภาพรวมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ ยุทธศาสตร์ ผลการดำเนินงาน 1. วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย ส่งเสริมและพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม โดยใช้เกณฑ์การประเมินใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมมาบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ โดยใช้กลไกพลัง ?บวร? และ ?ประชารัฐ? มาสร้างอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้เกิดชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศ จำนวน 35,795 แห่ง และได้คัดเลือกชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดในระดับคุณธรรมต้นแบบ จำนวน 235 แห่ง ที่มีผลสัมฤทธิ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงประจักษ์เพื่อรับโล่รางวัลคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นจากนายกรัฐมนตรี 2. สร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ ขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ ต่อไปอีก 1 ปี ถึงปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป็นห้วงละ 5 ปี ได้แก่ ปี 2566-2570 ปี 2571-2575 และปี 2576-2580 3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม - จัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ จัดอบรมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จัดกิจกรรมเทินทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญกับการกำกับติดตามประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง - ขับเคลื่อนคุณธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการนำคุณธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ จำนวน 5 ด้าน สอดแทรกในกิจกรรมตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ (1) ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่ มีการจัดทำประกาศมาตรการ สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและสร้างความเข้าใจในการป้องกันการแพร่ระบาด (2) ด้านความพอเพียงพอประมาณ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด ?เที่ยวชุมชม ยลวิถี? การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อบรมให้ความรู้ และจัดหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (3) ด้านจิตอาสา ดำเนินโครงการส่งต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทย ?ปันน้ำใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน? (4) ด้านศาสนา การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา และ (5) ด้านวัฒนธรรมประเพณี สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและกิจกรรมส่งเสริมความดีงามของชุมชน องค์กร และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ - ดำเนินงานด้านวิชาการ โดยผลักดัน ?ระบบเครดิตสังคม? (Social Credit System)* ส่งเสริมการให้พลังเชิงบวก เสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการถอดบทเรียน องค์ความรู้กรณีศึกษาผลสำเร็จ การขับเคลื่อนชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม - ดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์คุณธรรม เรื่อง ?วินัย? รณรงค์ให้ประชาชนมีคุณธรรมด้านวินัย จัดกิจกรรมการประกวด ?Infographics Moral Awards? ในหัวข้อ ?คนไทยวินัยไม่มีหมด? รวมทั้งสิ้น 15 รางวัล สร้างความตื่นตัวให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงจัดทำวีดิทัศน์สร้างความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม 4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกหน่วยงานได้ปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพและหัวใจบริการประชาชนภายใต้ ?จิตอาสา? ที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างให้กับนานาชาติ 2. แนวทาง/แผนการดำเนินการต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และมอบให้ วธ. (กรมการศาสนา) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นต่อไป วธ. (กรมการศาสนา) จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้ 2.1 เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อ สศช. เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาหรือทราบตามขั้นตอนต่อไป 2.2 จัดกิจกรรมแถลงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ ที่ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ปี 2559-2565 โดยนำเสนอผลงานจากหน่วยงานที่เป็นต้นแบบเพื่อสร้างการรับรู้และเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย 2.3 จัดเวทีสร้างการรับรู้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด ระดับกระทรวง และผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 2.4 ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนกำกับ ติดตาม และส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่กำหนด * ระบบเครดิตสังคม เป็นเครื่องมือและกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกรอบพฤติกรรมเชิงบวกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข โดยการกำหนดค่านิยมและพฤติกรรมเชิงบวกที่ทุกสังคมเห็นพ้องร่วมกัน แต่แตกต่างไปตามบริบททางพื้นที่และวัฒนธรรม 6. เรื่อง โครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 2562/2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 159.69 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ฤดูการผลิต 2562/2563 (โครงการฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กค. รายงานว่า 1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 2562/2563 (มติคณะรัฐมนตรี 28 กันยายน 2564) ยสท. ได้จัดทำโครงการฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด วัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ ผู้บ่มอิสระ1 และเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบภายใต้สังกัดผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของ ยสท. ฤดูการผลิต 2562/2563 กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบที่ได้รับโควตาการรับซื้อใบยาสูบ ในฤดูการผลิต 2562/2563 ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับ ยสท. และกรมสรรพสามิต รวมจำนวน 14,292 ราย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใบยา ดังนี้ 1) ใบยาเวอร์ยิเนีย (ชาวไร่ในสังกัด2 2,378 ราย ผู้บ่มอิสระ 54 ราย และชาวไร่ใบยาสด 1,807 ราย) 2) ใบยาเบอร์เลย์ (ชาวไร่ในสังกัด 6,562 ราย) 3) ใบยาเตอร์กิช (ชาวไร่ในสังกัด 3,491 ราย) การให้ความช่วยเหลือ รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระในอัตราร้อยละ 70 ของรายได้ที่ขาดหายไป โดยคำนวณเงินช่วยเหลือจากปริมาณโควตาการผลิตใบยาที่ลดลงในฤดูการผลิต 2562/2563 เปรียบเทียบกับปริมาณโควตาที่ได้รับในฤดูการผลิต 2560/2561 คูณด้วยร้อยละ 70 ของรายได้ที่ขาดหายไป โดยเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบจะได้รับเงินช่วยเหลือตามปริมาณการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลงจริงในแต่ละประเภทใบยา และปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวต้องไม่มีการปลูกยาสูบทดแทน วิธีดำเนินโครงการ 1) เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือกับ ยสท. 2) แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระ (คณะกรรมการฯ) 3) คณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ และผู้บ่มอิสระตามข้อ 1) 4) คณะกรรมการฯ รวมรวบข้อมูล และมอบหมายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความอนุเคราะห์ในการโอนเงินที่ได้รับจาก ยสท. เข้าบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับสิทธภายใต้โครงการดังกล่าว และทำรายงานการจ่ายเงินให้ ยสท. ทราบ ระยะเวลาโครงการ ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 2. ยสท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ดังนี้ 2.1 ยสท. ได้เสนอโครงการฯ ต่อ กค. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559เพื่อให้ กค. พิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายโครงการดังกล่าว ซึ่ง ยสท. ได้รับความเห็นชอบอัตราค่าใช้จ่ายโครงการฯ จำนวน 159.69 ล้านบาท จาก กค. เรียบร้อยแล้ว 2.2 กค. (ยสท.) ได้มีหนังสือไปยัง สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาภายใต้โครงการฯ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 159.69 ล้านบาท โดย สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กค. โดย ยสท. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 159.69 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการฯ และให้ กค. นำเรื่องดังกล่าวขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) ต่อไป 1ผู้บ่มอิสระ หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับยาสูบ โดยรวบรวมใบยาจากเกษตรกรที่เพาะปลูกยาสูบ และนำใบยามาขาย ยสท. ตามโควตาที่ได้รับการจัดสรร 2ชาวไร่ในสังกัด หมายความว่า เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบ ซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักงานยาสูบภูมิภาค และนำใบยาที่ได้จากการปลูกยาสูบมาขาย ยสท. ตามโควตาที่ได้รับการจัดสรร 7. เรื่อง รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ? 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอดังนี้ 1. รับทราบรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (โควิด-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 2. เห็นชอบข้อเสนอแนะการบริหารงานและการให้บริการประชาชนกรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามความคืบหน้าและรายงานต่อ ก.พ.ร. ต่อไป ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงบประมาณ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง ก.พ.ร. รายงานว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กันยายน 2563 และ 20 กรกฎาคม 2564] โดยรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการจากส่วนกลางในระดับกรมทั้งสิ้น 153 ส่วนราชการ (ประมวลผลในระดับกระทรวง) และส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 76 จังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานและให้บริการประชาชนได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพหากเกิดภาวะวิกฤตในอนาคต ทั้งนี้ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้นำรายงานดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโควิด-19 สามารถจำแนกได้ ดังนี้ 1.1 ผลกระทบต่อวิธีการปฏิบัติราชการ เช่น การให้บริการประชาชนและบริการสาธารณะ โดยเฉพาะงานบริการที่จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวร้อยละ 56.41 (สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบร้อยละ 39.47) รูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานจากที่บ้านตามมาตรการ Work From Home พบปัญหา เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร และการเข้าถึงข้อมูลจากส่วนกลาง 1.2 ผลกระทบต่อผลการปฏิบัติราชการซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการตามตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ 2564 ได้แก่ กลุ่มตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ กลุ่มตัวชี้วัดด้านการช่วยเหลือทางสังคมและการดูแลผู้เปราะบาง และกลุ่มตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานและการสร้างความสามารถในการแข่งข้นให้กับประเทศ โดยพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหลายตัวชี้วัดที่ได้รับผลกระทบลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เช่น มูลค่าสินค้าเกษตร มูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดน และรายได้ภาษีสรรพากรที่จัดเก็บได้ 2. การตอบสนองของส่วนราชการและจังหวัดต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินภารกิจของหน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ 2.1 การปรับเปลี่ยนกฎหมายและแนวทางเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเป็นร้อยละ 28.21 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่เพียงร้อยละ 7.89) เช่น การปรับปรุงแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของส่วนราชการ นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาต การแจ้ง การชำระภาษีหรือเงินอื่นใดที่บุคคลต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ และการงดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ ในกรณีดำเนินการล่าช้า ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้วจำนวน 90 กระบวนงาน จากจำนวนทั้งสิ้น 103 กระบวนงาน คิดเป็นร้อยละ 87.38 อย่างไรก็ตาม แม้บางกระบวนงานจะไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้ แต่หน่วยงานของรัฐได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของประชาชนในการขอรับบริการ 2.2 การปรับรูปแบบแนวทางการทำงานภายในส่วนราชการ และการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำงาน รวมถึงปรับปรุงระบบงานบริการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มากขึ้น โดยในปี 2564 ส่วนราชการร้อยละ 97.44 ได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ และร้อยละ 61.10 ได้ปรับวิธีการให้บริการประชาชนให้อยู่ในรูปแบบ e-Service นอกจากนี้ ในการบริหารงานระดับจังหวัดได้มีการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 2.3 การออกมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำแนวทางปฏิบัติที่ส่วนกลางกำหนดมาปรับใช้กับพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัด เช่น มาตรการการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน กลไกเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและการให้บริการ เช่น หุ่นยนต์ช่วยในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล (จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนครและยะลา) การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือระบบคัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงของจังหวัด(จังหวัดนครพนม สุรินทร์ ยะลา และตรัง) ระบบการจัดหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 และการจองคิวฉีดวัคซีนผ่านโปรแกรม ?ปากน้ำพร้อม? ของจังหวัดสมุทรปราการ การจองคิวฉีดวัคซีนผ่านโปรแกรม ?พิดโลกพร้อม? ของจังหวัดพิษณุโลก การรับส่งต่อผู้ป่วยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (E-Refer) และโปรแกรมการส่งกลับผู้ป่วย (Bed Sharing) ของจังหวัดศรีสะเกษ 3. ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี ระดับ ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี ส่วนราชการ ? กรมควบคุมโรคใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์เพื่อสั่งการ ควบคุมและประสานงานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดศูนย์ Smart-Emergency Operation Centre ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่กระจายอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และยังได้ขยายผลศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขไปยังกลุ่มอาเซียนในการซ้อมแผนโรคระบาดข้ามชาติในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย ส่งผลให้การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ United Nations Public Service Awards 2021 (UNPSA) ขององค์การสหประชาชาติ ? กรมประมงกำหนดมาตรการเชิงรุกและบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าประมงไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวประมงต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุข เพื่อคุมเข้มไม่ให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และการเปิด ?Fisheries shop? จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำไทยออนไลน์จากเกษตรกรโดยตรง ส่งผลให้มียอดขายผ่าน Fisheries shop มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท ? กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้ความสำคัญของความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มผู้เปราะบางอื่น ๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในการลงพื้นที่ให้ความรู้ แจกหน้ากากอนามัย และคัดกรองเบื้องต้น รวมทั้งเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน และมีมาตรการตรวจคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค จังหวัด ? จังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชน ในการป้องกันโควิด-19 ผ่านกระบวนการทำ Factory Accommodation Isolation ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด โดยให้โรงงานหรือสถานประกอบการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงาน เพื่อใช้แยกกักตัวและรักษาแรงงานในโรงงานที่เป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ ตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลรักษาผู้ป่วย โดยใช้วิธี Telemedicine ส่งผลให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 50,000 เตียง (เฉพาะการรองรับแรงงาน) ? จังหวัดเชียงใหม่ นำมาตรการ Bubble and Seal มาใช้จำกัดขอบเขตการควบคุมโรคในเรือนจำไม่ให้มีการกระจายสู่ผู้ต้องขังแดนอื่นหรือพื้นที่ภายนอก โดยการปิดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด 28 วัน และเร่งค้นหาผู้ที่มีอาการของโรค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้รวดเร็วที่สุด รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ทำให้จังหวัดสามารถดำเนินมาตรการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. บทสรุปผลลัพธ์ที่สำคัญที่ส่วนราชการและจังหวัดใช้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการดำเนินภารกิจของภาครัฐ ตลอดจนแนวทางการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับมาตรการควบคุมโรคและการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตสามารถสรุปได้ ดังนี้ 4.1 การปรับเปลี่ยนการบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบ e-Service ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อและทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีงานบริการประชาชนที่อยู่ในรูปแบบ e-Service เพิ่มเป็น 325 งานบริการ (จาก 280 งานบริการ ในเดือนมีนาคม 2563) 4.2 การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการผ่านรูปแบบหรือช่องทางดิจิทัล นำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลและเผยแพร่ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ 4.3 การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการเพื่อลดความหนาแน่นและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปี 2563 และ 2564 ทุกส่วนราชการระดับกรมดำเนินมาตรการ Work From Home คิดเป็นร้อยละ 100 [ไม่รวมส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)] โดยมีมาตรการ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ สัปดาห์ละ 1 วัน / 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ 4.4 การบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการเฝ้าระวัง ติดตาม รวมถึงการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ (ตามข้อ 2.3) 4.5 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 2564 ส่วนราชการนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.10 (25 หน่วยงาน จาก 39 หน่วยงาน) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐผ่านกิจกรรม My Better Country Hackathon ที่จัดโดยสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอเพื่อออกแบบและพัฒนางานภาครัฐ โดยมีตัวอย่างข้อเสนอที่นำไปขับเคลื่อนและนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมงานภาครัฐแล้ว เช่น ระบบตรวจสอบข้อมูลรถจักรยานยนต์รับจ้างของกรมการขนส่งทางบก ระบบการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ของ สธ. 4.6 ปัจจัยสำเร็จของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตในพื้นที่นำไปสู่การขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้แก่ (1) การให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารจัดการในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ (2) ความร่วมมือของประชาชน (3) การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ (4) ความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่ของบุคลากร งบประมาณ การรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถานที่ (5) การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เข้าใจเพื่อลดความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น และให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์และมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และ (6) ระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา และครอบคลุมช่วยให้การวางแผนและการตัดสินใจถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 5. ข้อเสนอแนะการบริหารงานและการให้บริการประชาชนกรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสาธารณชนสรุปได้ ดังนี้ ประเด็น ข้อเสนอแนะ/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 5.1 การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติ งานของภาครัฐ ? ให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้ปรับรูปแบบการทำงานโดยการพัฒนานวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพต่อไป และให้คงคุณภาพของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเช่นเดิมแม้สภาวะวิกฤตจะคลี่คลายลง รวมถึงขยายการดำเนินการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติงานและการบริการประชาชนและผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ ที่มีผลกระทบสูงและมีปริมาณมากต่อไป เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ของกรมควบคุมโรค การนำอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาใช้ ในการสำรวจพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดโควิด-19 ของจังหวัดมุกดาหาร ? ให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลกลางภาครัฐ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลหลักของหน่วยงาน โดยจัดทำแผนการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการทำงาน และการให้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จ และตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเร่งพัฒนา Biz Portal และ Citizen Portal และกำหนดให้เป็นแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการทำธุรกรรมกับภาครัฐที่ได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระบบ e-Payment e-Receipt และ e-Document ? ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เพื่อวางแผนการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐทุกประเภท ทั้งในส่วนของการเร่งสร้างและรักษาบุคลากรภาครัฐด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบุคลากรภาครัฐทั่วไป การเสริมและพัฒนาทักษะ (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อให้มีศักยภาพในการบริหารและปฏิบัติงานด้านระบบดิจิทัลในอนาคต ? ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สพร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน ก.พ.ร. ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัสให้มีความชัดเจน โดยพิจารณากรอบกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป เช่น มาตรฐานรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล มาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนเอกสารที่มีชั้นความลับ 5.2 การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ? ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาแนวทางสำหรับการจัดหางานบริการสาธารณะผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ ในการบริหารจัดการงบประมาณและโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม บทบาทของส่วนราชการและภาคีเครือข่าย รวมถึงวิธีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการผ่านเครือข่ายให้มีความชัดเจน ? ให้ มท. พัฒนากลไกหรือเครื่องมือในการบริหารจัดการในพื้นที่ในสถานการณ์วิกฤตอื่นที่มิใช่โรคระบาด หรือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศใช้ได้ทันทีเมื่อเผชิญสถานการณ์ โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากส่วนกลางและใช้กลไกเฝ้าระวังผ่านเครือข่ายต่าง ๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัดและต่างพื้นที่ 5.3 การจัดทำและทบทวนแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan: BCP) ? ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำการจัดทำ BCP ไปกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 และการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อยกระดับแผน BCP ที่หน่วยงานของรัฐควรดำเนินการทบทวน ซักซ้อม และปรับปรุงแผนเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง และนำแผนไปใช้อย่างจริงจังเมื่อเกิดเหตุวิกฤตเพื่อลดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุดหยุดลง 5.4 การสร้าง การมีส่วนร่วม ของประชาชน ในการออกแบบ การให้บริการ ผ่านกระบวนการ รับฟังความคิดเห็น ? ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็น เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรม My Better Country Hackathon ที่เปีดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานบริการภาครัฐ และนำข้อเสนอที่ได้ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะการออกแบบงานบริการที่คำนึงถึงประสบการณ์ ความต้องการ และสภาพปัญหาที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เพื่อให้งานบริการภาครัฐสามารถตอบสนองและตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ 5.5 การวางระบบการบริหารงบประมาณในระดับพื้นที่ ? ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอ ก.บ.ภ. พิจารณาปรับแนวทางการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยให้การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อแก้ไขในภาวะวิกฤตในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และ/หรือคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) แล้วจึงรายงานให้ส่วนกลางรับทราบ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ อาจกำหนดให้มีการหารือกับผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ สำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามระเบียบการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ? คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติควรวางแนวทาง หลักเกณฑ์ในการบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งที่จัดสรรให้กับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้มีเอกภาพ ลดความซ้ำช้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรณีโรคระบาดอื่นต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรสรุปบทเรียนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณในภาวะวิกฤตและสถานการณ์ฉุกเฉิน 8. เรื่อง ขอปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เรื่องมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงถ้อยคำในมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง โดยการให้ส่วนลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมขนส่งทางบก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาดำเนินจัดทำรายละเอียดโครงการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญ กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 1. การปรับปรุงถ้อยคำมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแผร (ค่า Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ข้อความตามข้อเสนอของ สศช. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ข้อความที่เสนอขอปรับปรุง ในครั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็น ให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 ให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปอย่างชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบมุ่งเป้า 2. มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง โดยการให้ส่วนลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบก ข้อความตามข้อเสนอของ สศช. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ข้อความที่เสนอขอปรับปรุง ในครั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็น ให้ส่วนลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาต ให้ส่วนลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาต เพื่อให้ขอบเขตการช่วยเหลือค่าน้ำมันครอบคลุมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบกจำนวนประมาณ 157,000 ราย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบกจำนวนประมาณ 106,655 ราย เพื่อให้สอดคล้องกับผลการตรวจสอบข้อมูลผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก โดยกรมการปกครอง ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 เมื่อหักกลุ่มเป้าหมายที่มีสถานะบุคคลไม่ปกติและเสียชีวิตออก ทำให้มีจำนวนผู้มีสิทธิ์รวม 106,655 ราย ให้ส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอลจำนวน 5 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ? กรกฎาคม 2565 ให้ส่วนลดค่าน้ำมันกลุ่มเบนซินในรูปแบบรัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 ไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวันและไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ? กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมาย สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวในทางปฏิบัติ ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 120 ล้านบาท ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 79,992 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายและการให้ส่วนลดที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อเสนอในครั้งนี้ 9. เรื่อง การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19) วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,054,053,900 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ สาระสำคัญ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ดังนี้ 1. โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน กลุ่มเป้าหมาย : เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,500 กลุ่ม 2. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างนวัตกรรมและคุณค่าตราสินค้าเพื่อสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,200 กลุ่ม 3. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วัตถุประสงค์ : เพื่อดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกร ชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,700 กลุ่ม 4. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ้าวิกฤติโควิด - 19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture - BCG) โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างรายได้จากภาคการผลิตและภาคบริการที่ทันสมัยในพื้นที่เป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและบริการที่ทันสมัย กลุ่มเป้าหมาย : หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น จำนวน 5,001 กลุ่ม 5. โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก จากผลกระทบการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด - 19) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม วัตถุประสงค์ : เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเติบโตอย่างมีคุณภาพ กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม OTOP ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน 3,300 กลุ่ม 10. เรื่อง รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางและรูปแบบการกำหนดความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางและรูปแบบการกำหนดความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] รายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ได้พิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางและรูปแบบการกำหนดความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด [ของคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะที่ 2] เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่เป็นผลทั่วไปที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้นิติบุคคลรับผิดทางอาญาทำนองเดียวกับที่กำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 แต่กฎหมายไทยได้กำหนดโดยปริยายว่า หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคลต้องมีความผิดในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งเป็นการบัญญัติตามกฎหมายเฉพาะและเห็นชอบให้นำผลการศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. การจัดทำกฎหมายและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับกรณีนิติบุคคลและผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบ โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและกำหนดโทษปรับให้เป็นสองเท่าของมูลค่าความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ได้แก่ 1.1 ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ 1) กำหนดให้นิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาพิจารณาในการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคล 2) ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้รวมถึงนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลด้วย และปรับเพิ่มโทษ ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับให้สูงกว่าบุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้เป็น 5 เท่าของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับบุคคลธรรมดา 3) กำหนดให้ในกรณีนิติบุคคลหรือผู้แทนนิติบุคคลรายใดที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นการยึดทรัพย์สินตามมูลค่าของค่าปรับที่ได้รับ 4) เพิ่มเติมโทษอื่น นอกจากโทษจำคุกและโทษปรับสำหรับนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลสำคัญ เช่น การสั่งยุบกิจการ ในกรณีที่มีความผิดที่มีระวางโทษจำคุกสูงกว่า 5 ปี และการห้ามประกอบกิจการโดยไม่มีกำหนดหรือมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี 5) กำหนดโทษขั้นลหุโทษในประมวลกฎหมายอาญาให้บัญญัติให้นิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับบุคคลธรรมดาและโทษอื่น ๆ 6) การคำนวณค่าปรับ โดยกำหนดแนวทางในการลงโทษให้ถือมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้มีอัตราค่าปรับที่เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน 7) ให้มีการจัดระดับชั้นความรุนแรงของการกระทำความผิดเพื่อกำหนดเป็นโทษปรับ โดยอาจเทียบเคียงหรือแปลงจากอัตราโทษจำคุก และกำหนดช่วงหน่วยวันปรับที่ศาลอาจกำหนดได้ในแต่ละระดับ 8) กรณีการกระทำความผิดอาญาของนิติบุคคลนั้นอาจมีบุคคลธรรมดา อื่น ๆ นอกเหนือจากผู้แทนนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกฎหมายจึงควรกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้มีส่วนในการรับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ของนิติบุคคลร่วมรับผิดกับนิติบุคคลด้วย 1.2 ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้แก่ 1) ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 175 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคล หรือเพิ่มเติมสำหรับนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน 2) ปรับเพิ่มโทษของนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลในมาตรา 175 และมาตรา 176 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ เป็น 5 เท่าของบุคคลธรรมดา หรือเป็นสองเท่าของมูลค่าความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับของประเทศมาเลเซีย 3) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ควรขยายขอบเขตการกำหนดให้บุคคลที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานไปดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาในนิติบุคคลในกำกับภายในระยะเวลา 2 ปี หลังจากพ้นตำแหน่งตามมาตรา 126 และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ และควรกำหนดให้นิติบุคคลเปิดเผยรายชื่อบุคลากรภาครัฐที่เป็นพนักงานหรือที่ปรึกษาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและกำหนดโทษสำหรับนิติบุคคลที่มีการจ้างบุคลากรภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วย 1.3 ปรับปรุงกฎหมายภายในต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นสองเท่าของมูลค่าความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ข้อ 21 การให้สินบนในภาคเอกชน และข้อ 23 การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญา และเพิ่มบทลงโทษค่าปรับของกฎหมายภายในต่าง ๆ ให้เป็นสองเท่าของมูลค่าความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่ได้รับ 2) เพิ่มเติมโทษอื่นนอกจากโทษปรับสำหรับนิติบุคคลตามระดับความผิด เช่น (1) การสั่งยุบกิจการในกรณีที่มีความผิดที่มีระวางโทษจำคุกสูงกว่า 5 ปี (2) การห้ามประกอบกิจการโดยไม่มีกำหนดหรือมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี และ (3) การปิดกิจการโดยไม่มีกำหนด หรือมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี 3) ให้มีการจัดระดับชั้นความรุนแรงของความผิดเพื่อกำหนดโทษปรับโดยอาจเทียบเคียงหรือแปลงจากอัตราโทษจำคุก และกำหนดช่วงวันปรับที่ศาลอาจกำหนดได้ในแต่ละระดับชั้นความผิด 4) ให้มีกฎหมายเฉพาะในการให้อำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีบุคคลที่มีรายชื่อขึ้นบัญชีดำ (Black Lists) ตามกฎหมายให้ถือว่าผู้มีรายชื่อดังกล่าวไม่สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้ หรือไม่สามารถเป็นผู้ก่อการ และไม่สามารถเป็นกรรมการบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ 5) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้อำนาจกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการตรวจสอบความเหมาะสมของนิติบุคคลจากประวัติการกระทำความผิดหรือประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และขึ้นทะเบียนนิติบุคคลที่เคยกระทำความผิดที่ขึ้นบัญชีดำไว้เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และเชื่อมโยงข้อมูลกับบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมีอำนาจในการปฏิเสธการจดทะเบียนนิติบุคคล การตรวจสอบสถานะทางการเงิน การถอนการจดทะเบียน การตรวจสอบประวัตินิติบุคคล การขึ้นบัญชีดำและประวัติอาชญากรรมจนถึงการลงโทษตามกฎหมาย 6) ปรับปรุงกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้มีอำนาจ และอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงทั้งกระบวนการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หรืออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อหาแนวทางแก้ไขการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 7) กำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์ข้อมูล ผู้ถือหุ้นที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั้งหมด รวมถึงให้หน่วยงานรัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งในระบบออนไลน์และระบบปกติที่เป็นรูปแบบเดียวกัน 2. แนวทางในการป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของนิติบุคคล เช่น 2.1 กำหนดบทลงโทษและมาตรการในเรื่องการกระทำความผิดตามสัญญาคุณธรรมของผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลที่ชัดเจน และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงองค์กรคุณธรรม ให้สอดคล้องกับโทษที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2.2 กำหนดแนวทางและวิธีพิจารณาข้อมูลมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของผู้ประกอบการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 2.3 นำแนวทางข้อตกลง อนุสัญญา และแนวทางการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามาปรับใช้ รวมทั้งแนวทางการตรวจสอบและการป้องกัน เช่น กฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันข้ามชาติ ข้อตกลงผัดผ่อนการฟ้องคดีอาญา และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 2.4 นำวิธีการต่อรองคำรับสารภาพ (Plea Bargaining) มาใช้กับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด โดยอาจกำหนดโทษปรับเป็นจำนวน 2 หรือ 3 เท่าของผลประโยชน์บริษัทที่กระทำความผิดได้รับ 2.5 นำแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นการคอร์รัปชันในต่างประเทศของสหรัฐฯ มาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บภาษีและดำเนินการกับนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลที่เลี่ยงการจัดเก็บภาษี และอื่น ๆ 2.6 กำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เป็นเจ้าภาพในการจัดทำฐานข้อมูลกลาง (Big Data) และการเชื่อมโยงข้อมูลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลและการตรวจสอบผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงอย่างเป็นระบบทั้งฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตช. สำนักงาน ป.ป.ช. กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร และอื่น ๆ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้เชื่อมโยงเข้าถึงตามสิทธิที่สมควรจะเข้าได้ เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบ การเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติเป็นข้อความแจ้งให้แต่ละหน่วยงานทราบ และควรมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการใช้ฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 2.7 ในขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจการค้า ควรเพิ่มหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือจาก ตช. เพื่อตรวจสอบประวัติการกระทำความผิด โดยต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีอำนาจรองรับการดำเนินการดังกล่าว 2.8 จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงาน ปปง. กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร ตช. สำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน 2.9 ปรับปรุงกฎหมายที่จะต้องเชื่อมโยงกันในทางปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ตามระบบสากล เพื่อสร้างระบบการแจ้งเตือนหรือการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น 3 ข้อเสนอแนะในเชิงป้องกันและป้องปราม และแนวทางการหาผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เช่น 3.1 ผลักดันการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลแต่ละหน่วยงานให้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งระบบ 3.2 บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางของการดำเนินการของนิติบุคคลเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนนิติบุคคล 3.3 การทำ MOU หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดของนิติบุคคล และการติดตามทรัพย์สินคืนเมื่อมีการกระทำความผิดตั้งแต่ต้นทาง 3.4 ในการจดทะเบียนให้ลูกค้าระบุผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง และระบุแหล่งหรือเส้นทางการเงินของผู้รับผลประโยชน์ 3.5 สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่องกันมีการเปิดเผยข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน 3.6 อบรมให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ต่างประเทศ 11. เรื่อง ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าภายใต้แผนงาน The Programme for COVID-19 Crisis Response Emergency Support จากรัฐบาลญี่ปุ่น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง Exchange of Notes, Agreed Minutes on Procedural Details, Record of Discussions และ Note Verbale และหากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างหนังสือดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระสำคัญ ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจรณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศลงนามในเอกสาร Exchange of Notes, Agreed Minutes on Procedural Details, Record of Discussions และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำ Note Verbale แจ้งสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือผู้แทนสำหรับการลงนามในเอกสาร Exchange of Notes ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้ขอให้ฝ่ายไทยลงนามในเอกสารความตกลงและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการตอบรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้แผนงาน The Programme for COVID-19 Crisis Response Emergency Support โดยเป็นความช่วยเหลือเพื่อรับมือและดำเนินการรองรับสถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผ่านการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ของญี่ปุ่นและถ่ายโอนเทคโนโลยีของญี่ปุ่น 2. เอกสารความตกลงและเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ร่าง Exchange of Notes เป็นเอกสารความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการรับเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ การซื้อสินค้าและบริการที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency ?JICA) และมีพันธกรณีที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการตามในการรับเงินช่วยเหลือและจัดซื้อสินค้าและบริการ อาทิ การจัดทำสัญญาว่าจ้างกับตัวแทน การเปิดบัญชีกับธนาคารญี่ปุ่น การยกว้นภาษีอากร การจัดทำรายงานธุรกรรมทางการเงิน 2) ร่าง Agreed Minutes on Procedural Details เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศผู้รับความช่วยเหลือกับผู้แทนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนเวลาของการจัดทำ Employment Contract ภายใต้ข้อ 4 (1) ของร่าง Exchange of Notes 3) ร่าง Record of Discussions เป็นเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการที่จำเป็นของฝ่ายไทยเพื่อป้องกันการทุจริตในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตามร่าง Exchange of Notes 4) ร่าง Note Verbale เป็นการแสดงคำมั่นฝ่ายเดียวของไทยในระดับหน่วยงานผู้ปฏิบัติ (กระทรวงสาธารณสุข) ว่า จะไม่นำสินค้าและบริการที่จัดซื้อจัดจ้างภายใต้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร 12. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยและมองโกเลีย คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและมองโกเลีย (บันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย รวมทั้งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง คค. รายงานว่า 1. ประเทศไทยและมองโกเลียได้จัดทำความตกลงทวิภาคีว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเต็มเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 เพื่อใช้เป็นความตกลงฉบับแม่บทในความสัมพันธ์ด้านการบินระหว่างกัน ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ณ กรุงเทพมหานคร และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อยืนยันการปรับปรุงและการเพิ่มข้อบทและสิทธิการบินต่าง ๆ จากที่กำหนดไว้ในความตกลงฯ และบันทึกความเข้าใจลับ และคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยการปรับปรุงและการเพิ่มข้อบัญญัติและสิทธิการบินต่าง ๆ มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ รายการ (เลขที่ข้อในความตกลงฯ) ความตกลงฯ บันทึกความเข้าใจ คำจำกัดความ ?เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ? (ข้อ 1) ไทย ? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองโกเลีย ? สำนักงานการบินพลเรือนแหงมองโกเลีย ไทย ? สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มองโกเลีย ? กระทรวงการพัฒนาถนนและการขนส่งแห่งมองโกเลีย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศมองโกเลีย ข้อบัญญัติ เรื่อง ความปลอดภัย ไม่ระบุ เพิ่มเป็นข้อ 5 ทวิ ในความตกลงฯ โดยเป็นไปตามร่างข้อบทมาตรฐานของไทยเกี่ยวกับหลักการตรวจค้นอากาศยานภายใต้ข้อบท 16 ของอนุสัญญาชิคาโก พิกัดอัตราค่าขนส่ง (ข้อ 14) อัตราค่าขนส่งซึ่งสายการบินที่กำหนดจะเรียกเก็บจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มนำไปใช้ [หรือเรียกว่าระบบการเห็นชอบทั้งสองฝ่าย (Dual Approval)] สายการบินที่กำหนดสามารถกำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งเองได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ เพื่อให้ค่าขนส่งเป็นไปตามกลไกตลาด (หรือเรียกว่า ระบบเสรี) ใบพิกัดเส้นทางบิน (ภาคผนวก) ไทย ? กรุงเทพฯ -2 จุดระหว่างทางใด ๆ ที่จะเลือก ? อูลานบาตอร์ มองโกเลีย ? อูลานบาตอร์ ? 2 จุดระหว่างทางใด ๆ ที่จะเลือก ? กรุงเทพฯ ไทย ? จุดใด ๆ ในไทย ? 2 จุดระหว่างทางใด ๆ ที่จะเลือก ? จุดใด ๆ ในมองโกเลีย มองโกเลีย ? จุดใด ๆ ในมองโกเลีย ? เซี่ยงไฮ้ และ 1 จุดระหว่างทางที่จะเลือก ? จุดใด ๆ ในไทย (ลดการจำกัดจุดเริ่มต้นทำการบินและจุดลงจอดในประเทศคู่ภาคี) สิทธิความจุความถี่ (บันทึกความเข้าใจลับ) 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ ด้วยแบบอากาศยานใด ๆ บนเส้นทางบินที่ระบุไว้ สายการบินที่กำหนดทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินได้ ดังนี้ (1) เส้นทาง อูลานบาตอร์ ? กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ ? อูลานบาตอร์ : 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุด 850 ที่นั่ง และ (2) เส้นทางอื่นนอกเหนือจากข้อ (1) อันระบุไว้ในใบพิกัดเส้นทางบิน: 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุด 500 ที่นั่ง สิทธิรับขนการจราจร1 (บันทักความเข้าใจลับ) สายการบินที่กำหนดทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินโดยใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 ได้อย่างเต็มที่ แต่ห้ามทำการบินโดยใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 คงเดิม (ทั้งนี้ ไทยและมองโกเสียจะหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ร่วมกันในอนาคตต่อไป) การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ไม่ระบุ ระบุเพิ่มสิทธิในการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ดังนี้ (1) สายการบินสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินที่กำหนดของภาคีคู่สัญญาสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ และภายในประเทศ (ตราบเท่าที่เป็นบริการต่อเนื่องจากการจราจรระหว่างประเทศ) โดยจะไม่นับหักสิทธิของสายการบินผู้ทำการตลาด (2) สายการบินสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สามโดยจะต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ณ จุดขายว่าสายการบินใดทำการบินบนเส้นทางบินช่วงใด ทั้งนี้ การนับหักสิทธิจะนับหักทั้งสายการบิน ผู้ดำเนินบริการและสายการบินผู้ทำการตลาด 2. ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการหารือดังกล่าว การปรับปรุง/เพิ่มข้อบัญญัติและสิทธิการบินต่าง ๆ ข้างต้น เป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถขยายบริการและเครือข่ายการบินเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสายการบินในการกำหนดราคาและการวางแผนการให้บริการรวมถึงเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือในด้านมาตรฐานความปลอดภัยแก่อุตสาหกรรมการบินของไทยในเส้นทางนี้ อันเป็นการส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และบริการระหว่างประเทศทั้งสองประเทศต่อไป 3. บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างภาคีคู่สัญญา ในระหว่างที่รอให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยทันที 1สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพทางการบิน (Freedoms of the Air) หมายถึง สิทธิในการดำเนินบริการเดินอากาศแบบประจำระหว่างประเทศโดยแด่ละประเภทมีความหมาย ดังนี้ สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 1 อนุญาตให้สายการบินบินผ่านน่านฟ้า สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 2 อนุญาตให้สายการบินแวะจอด เช่น เดิมน้ำมันกรณีฉุกเฉิน สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศของตนไปยังประเทศอื่น สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 4 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศอื่นไปยังประเทศของตน สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศคู่ตกลงไปยังประเทศที่สาม 13. เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย ? เวียดนาม ครั้งที่ 4 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 เพื่อให้คณะผู้แทนไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนเป็นประธานฝ่ายไทยใช้หารือกับฝ่ายเวียดนาม ทั้งนี้ หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 2 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ (ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 ในระหว่างวันที่ 19 - 20 เมษายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร) สาระสำคัญของเรื่อง พณ. รายงานว่า 1. การประชุม JTC ไทย - เวียดนาม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยเป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย - เวียดนาม รวมถึงการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน พณ. จึงจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อท่าทีไทยสำหรับการประชุม JTC ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 เพื่อให้สามารถใช้ท่าทีดังกล่าวในการประชุมหารือกับเวียดนามและให้การรับรองเอกสารผลการประชุมดังกล่าวได้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานฝ่ายไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เป็นประธานฝ่ายเวียดนาม 2. พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 และมีหนังสือถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพิจารณาเสนอประเด็นที่ฝ่ายไทยประสงค์จะผลักดันในการประชุม JTC ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 สรุปได้ ดังนี้ 1) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคี ได้แก่ เป้าหมายการค้า ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านการเกษตร ด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า ด้านการส่งเสริมการค้า และด้านการเชื่อมโยงการขนส่ง 2) ความร่วมมือด้านการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ด้านการลงทุน ด้านการธนาคาร ด้านพลังงาน ด้านแรงงาน ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี และ 3 กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสเดียวกัน พณ. จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจควบคู่กับการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างเครื่อข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและเวียดนาม ทั้งนี้เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มอาเซียน (รองจากมาเลเซีย) ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 - 2564) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 17,767.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.32 ต่อปี โดยในปี 2564 การค้ารวมไทย - เวียดนาม มีมูลค่า 19,477.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.31 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 5,599.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ไทยจึงควรใช้โอกาสจากการประชุม JTC ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 4 ในการหารือแนวทางการส่งเสริม อำนวยความสะดวก และขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเพื่อสนับสนุนให้การค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน 14. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS) เนื่องจากร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวอาจยังมิใช่ร่างสุดท้าย ดังนั้น หากมีการปรับแก้ไขที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23 ? 24 เมษายน 2565 ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด หรือผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ? 24 เมษายน 2565 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ ?Water for Sustainable Development - Best Practices and the Next Generation? ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 23เมษายน 2565 โดยมีผู้นำของประเทศที่เข้าร่วมประชุมร่วมกล่าวถ้อยแถลง (Statement) และรับรองปฏิญญาคุมาโมโตะที่เป็นเอกสารของผลลัพธ์ของการประชุม ในวันที่ 24 เมบายน 2565 โดยร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วย ประเด็นสำคัญ จำนวน 4 ประการ ได้แก่ 1. ความท้าทายและการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติและการจัดหาน้ำ รวมทั้งการเข้าถึงน้ำที่สะอาดปลอดภัย และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ รวมทั้งในแง่ของสุขาภิบาล ประกอบกับอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยขัดขวางการต่อสู้กับโรคโควิด - 19 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งประสบความรุนแรงและขอบเขตของปัญหาแตกต่างกันไป 2. การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น การฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น เป็นสังคมที่ฟื้นตัวได้เร็ว ยั่งยืน และครอบคลุมโดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคส่วนน้ำ การเปลี่ยนแปลงนี้จะดำเนินการโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่เปิดกว้าง และโปร่งใส 3. การเร่งรัดการปฏิบัติ เพื่อตระหนักถึงสังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพและปรับปรุงมาตรฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อมูลของภาคส่วนน้ำ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการปรับปรุงธรรมาภิบาล การปิดช่องว่างทางการเงิน และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา 4. ผลลัพธ์การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 จะนำไปหารือในเวทีด้านน้ำระดับโลก อาทิ การประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษฯ (Midterm Review of the Water Action Decade) ของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมือง (High - level political Forum) การประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติ (Global Platform for Disaster Risk Reduction) การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) การประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 (G7 Summit) และการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 (G20 Summit) 15. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 (Joint Statement of the Third Meeting of BIMSTEC Ministers on Energy) พร้อมคำแปล 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวกับรัฐมนตรีพลังงานของประเทศสมาชิกได้ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน บิมสเทค ครั้งที่ 3 โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานสามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 สรุป ดังนี้ 1) แสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกบิมสเทคในการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค เพื่อความร่วมมือด้านพลังงานอย่างยั่งยืนสำหรับการบูรณาการด้านการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาค 2) เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและการซื้อขายพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อบรรลุความมั่นคงทางพลังงานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในภูมิภาค 3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าภายในภูมิภาค โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค (BIMSTEC Grid Interconnection Coordination Committee : BGICC) เพื่อดำเนินโครงการตามบทบัญญัติในบันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งโครงข่ายบิมสเทค ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 รวมทั้ง เร่งให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการเพื่อจัดทำการศึกษาแผนแม่บทโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค ซึ่งจะมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเป็นผู้สนับสนุนการจัดทำการศึกษาดังกล่าว 4) เร่งให้มีการหารือในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศูนย์พลังงานบิมสเทค อาทิ โครงสร้าง การทำงาน และเงินทุนในการจัดตั้งศูนย์ฯ โดยเร็ว ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการวิจัยและการแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพในด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกให้เป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ประเทศเนปาลในฐานะสมาชิกบิมสเทค มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 ในวันที่ 20 เมษายน 2565 เพื่อทบทวนและติดตามความคืบหน้าของการประชุมระดับย่อยในสาขาพลังงาน ที่ผ่านมา รวมทั้งรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 แต่งตั้ง 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ 1. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 2. นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป