สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มิถุนายน 2565

ข่าวการเมือง Tuesday June 28, 2022 17:55 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (28 มิถุนายน 2565)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                      เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น                                                  ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการ

ศูนย์ข้อมูล (Data Centre)]

                    2.           เรื่อง           ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร

ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)

                    3.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร

ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว

ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลพนานิคม ตำบลมะขามคู่

ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่

คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....

                    4.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. .... (การกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีประจำศาลยุติธรรม)

                    5.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับหลอด                                        ฟลูออเรสเซนซ์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    6.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ต้องเป็นไปตาม

มาตรฐาน พ.ศ. ....

                    7.           เรื่อง           (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน

การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูล

คอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....

                    8.           เรื่อง           ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตรา

ค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม

รวม 3 ฉบับ

เศรษฐกิจ สังคม

                    9.           เรื่อง           โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี
                    10.           เรื่อง           สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการ

นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 13 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ? 30 เมษายน 2565)

                    11.           เรื่อง           สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2565

                    12.           เรื่อง           รายงานการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์                                                   ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564
                    13.           เรื่อง           ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม

2565

                    14.           เรื่อง           รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ

รอบ 12 เดือน ปี 2564

                    15.           เรื่อง           รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
                    16.           เรื่อง           สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2565
                    17.           เรื่อง          รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2565 และแนวโน้มไตรมาส

ที่ 2/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2565

                    18.           เรื่อง           ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ครั้งที่ 1/2565 เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570

                    19.           เรื่อง           การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้า

และบริการ พ.ศ. 2542

ต่างประเทศ

                    20.            เรื่อง           หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฮังการีเพื่อการยกเว้นภาษี

และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ในการได้มา

ซึ่งที่ดิน อาคาร และห้องชุด สำหรับใช้เป็นที่พำนักและที่ทำการ

ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในดินแดนของแต่ละฝ่าย

                    21.           เรื่อง           การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีกรณีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา

สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาล

แห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์

                    22.          เรื่อง           ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ

ทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ครั้งที่ 3

                    23.          เรื่อง          ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือ

แม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 7

                    24.          เรื่อง          ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving                                                   Global Road Safety
                    25.          เรื่อง          การรับรองร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์

และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์

                    26.          เรื่อง          ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 16 และผลการประชุมที่เกี่ยวข้อง

แต่งตั้ง

                    27.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ

ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                    28.           เรื่อง           การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม
                    29.           เรื่อง           การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อน
                                        การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง                                                   (สำนักงาน ป.ย.ป.)
                    30.           เรื่อง           การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนัก

นายกรัฐมนตรี

                    31.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

(กระทรวงการต่างประเทศ)

                    32.           เรื่อง           การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต
                    33.           เรื่อง           แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                    34.           เรื่อง           การแต่งตั้งประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
                    35.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารศึกษาในคณะกรรมการ

อาหารแห่งชาติ

                    36.           เรื่อง           ผลการสรรหากรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre)]
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                     1. กค. พิจารณาแล้วเห็นควรกำหนดมาตรการเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ธันวาคม 2564 และวันที่ 24 มกราคม 2565) ทั้งนี้ กรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้พิจารณาในรายละเอียด หลักการ นิยาม ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจนได้ข้อยุติแล้ว
                     2. กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการคาดการณ์ว่า ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการนี้จะเป็นกิจการ Data Centre ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ โดยจะสูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มปีละประมาณ 500 ล้านบาท และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
                               2.1 การลงทุนในกิจการ Data Centre และกิจการเกี่ยวเนื่อง เช่น Cloud Computing  ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับ Hyperscale
                               2.2 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Hub)
                               2.3 รายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลประกอบการของผู้ประกอบกิจการ Data Centre  ในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของกิจการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                     1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ (จากเดิมเสียภาษีอัตราร้อยละ 7)
                               1.1 การให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการจัดเก็บ ประมวลผล และเชื่อมต่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
                               1.2 การให้บริการสนับสนุนการให้บริการตามข้อ 1.1 ดังต่อไปนี้
                                           (1) การให้บริการสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันเหตุขัดข้องอันทำให้ข้อมูลเกิดความเสียหาย (Disaster Recovery Site)
                                        (2) การให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือผู้ให้บริการคลาวด์ หรือ
                                         (3) การให้บริการบริหารจัดการระบบและการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศ
                     2. กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ  1. ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) ที่มีคุณสมบัติและได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขครบถ้วนตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และได้แจ้งความประสงค์เพื่อขอใช้สิทธิต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ
                     3. กำหนดให้การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1. ให้เริ่มได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติจากกรมสรรพากร

2. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
                      1. เนื่องจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มาตรา 7 ได้กำหนดให้ในขณะขับรถยนต์ คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งหากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่                 7 พฤษภาคม 2565 มีผลใช้บังคับวันที่ 4 กันยายน 2565)
                     2. โดยที่ปัจจุบันตลาดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และ              มีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจำนวนน้อยราย กค. ได้ประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศแล้ว พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้ผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก แต่เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศมีจำนวนไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการลงทุนในการผลิตสินค้า แต่หลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 แล้ว คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้น และมีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจในการลงทุน เพื่อผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้                     สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้แจ้งข้อคิดเห็นว่าการลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสนับสนุนการลดราคาให้กับผู้บริโภค จะทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถประเมินศักยภาพในการผลิตและความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการลดอัตราอากรดังกล่าว จะได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการภายในประเทศเพื่อประเมินศักยภาพในการผลิตต่อไป
                     3. กค. โดยกรมศุลกากรพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเริ่มต้นของการใช้กฎหมายจราจรทางบก และสนับสนุนความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนตามข้อ 2.  จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศลดอัตราอากรสำหรับของ             ใด ๆ จากอัตราที่กำหนดไว้ได้ หรือยกเว้นอากรสำหรับของใด ๆ หรือเรียกเก็บอากรพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับของใด ๆ ไม่เกินร้อยละห้าสิบของอัตราอากรที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับของนั้น โดย กค. ได้ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) เพื่อยกเว้นอากรสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) ตามประเภทย่อย 9401.80.00 รหัสย่อย 01 เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้ามาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
                    4. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยพิจารณาจากมูลค่าอากรขาเข้าที่จัดเก็บ ตั้งแต่             ปี 2562 ? 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณ 555,000 บาทต่อปี และการสูญเสียรายได้ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนด้านความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและการปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 4 กันยายน 2565
                    สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    1. กำหนดให้ยกเว้นอากรสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) ตามประเภทย่อย 9401.80.00 รหัสย่อย 01 เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนำเข้ามา โดยให้ยกเว้นอากรจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (จากเดิมจัดเก็บอัตราอากรร้อยละ 20) และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บอัตราอากรร้อยละ 20
                     3. กำหนดให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร  ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลพนานิคม ตำบลมะขามคู่ ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลพนานิคม ตำบลมะขามคู่ ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่  ทส. เสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดให้พื้นที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลพนานิคม ตำบลมะขามคู่ ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย ประกอบกับปัจจุบันชุมชนขยายตัว มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม อันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษแก่อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตรกรรมของประชาชน
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. กำหนดให้พื้นที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลพนานิคม                    ตำบลมะขามคู่ ตำบลนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยจำแนกพื้นที่เป็น 6 บริเวณ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ดังนี้
                               1.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำและพื้นที่ในบริเวณแนวขนาน ระยะ 100 เมตร              กับพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย รวมทั้งพื้นที่ลำน้ำและพื้นที่ในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับแนวริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของลำน้ำ
                               1.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ในท้องที่ตำบลหนองไร่ อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย และตำบลมะขามดู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง
                              1.3 บริเวณที่ 3 ได้แก่ บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ในท้องที่ตำบลหนองไร่ ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย และตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง และพื้นที่ภายในแนวเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในท้องที่ตำบลตาสิทธิ์ ตำบลหนองไร่ ตำบลปลวกแดง ตำบลละหาร อำเภอปลวกแดง และตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1
                              1.4 บริเวณที่ 4 ได้แก่ เขตนิคมอุตสาหกรรม เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1
                               1.5 บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่เขตเทศบาลตำบลบ้านปลวกแดง เทศบาลตำบลจอมพลเจ้าพระยา และพื้นที่ตำบลมะขามคู่ ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า และตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1 ถึงบริเวณที่ 4
                              1.6 บริเวณที่ 6 ได้แก่ พื้นที่นอกจากบริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 บริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 5
                    2. กำหนดให้พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมห้ามกระทำการหรือประกอบกิจการ เช่น การทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือกำจัดมูลฝอยรวม การจัดสรรที่ดินทุกประเภท การทำสนามกอล์ฟ เป็นต้น
                     3. กำหนดให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสานงาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และประสานจังหวัดระยอง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ จัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือแผนงานและงบประมาณของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    4. กำหนดให้การกระทำกิจกรรมหรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามกฎกระทรวงนี้ ถ้าได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตหรือจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้             ใช้บังคับ

4. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีประจำศาลยุติธรรม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดและสนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทังนี้ ศย. เสนอว่า
                    1. โดยที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีผู้บริโภคและคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่ศาลมอบหมาย เช่น การไกล่เกลี่ย การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน และการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง ศย. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดี พ.ศ. 2551 กำหนดคุณสมบัติของเจ้าพนักงานคดี และสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ โดยที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีเป็นแบบกึ่งตุลาการซึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคดี ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล อันเป็นการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ซึ่งไม่ใช่งานสนับสนุนทางธุรการ เป็นการช่วยเหลือศาลและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกระบวนพิจารณา สมควรให้มีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าพนักงานคดีให้มีความแตกต่างไปจากมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางธุรการ แต่เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543                  ยังไม่ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของเจ้าพนักงานคดีในสำนักงานศาลยุติธรรมให้มีความชัดเจน อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีเป็นแบบกึ่งตุลาการที่ต้องกำหนดเรื่องของมาตรฐานทางจริยธรรมไว้โดยเฉพาะ จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานคดีประจำศาลยุติธรรมเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการยกฐานะของเจ้าพนักงานคดีให้มีความชัดเจนไว้ในกฎหมาย
                    2. ศย. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว                              ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2564 วันที่ 29 พฤศจิกายน2564 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมอบหมายให้ ศย. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและเสนอร่างกฎหมายไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
                    3. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ศย. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ https://lawsurvey.coj.go.th หรือเว็บไซต์ ศย. https://www.coj.go.th หัวข้อ ร่างกฎหมายที่รับฟังความคิดเห็น หรือเว็บไซต์สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม https://jla.coj.go.th หัวข้อ รับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมาย และประกาศรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายผ่านระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 รวม 16 วัน นอกจากนี้ ได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานกิจการยุติธรรม และสำนักงบประมาณ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้และจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ https://lawsurvey.coj.go.th และระบบกลางทางกฎหมาย https://www.law.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                    1. กำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีประจำศาลยุติธรรมเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการไกล่เกลี่ย การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน การปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด และการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดซึ่งไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลมอบหมายตามหลักเกณฑ์ที่ประธานศาลฎีกากำหนด รวมทั้งให้เจ้าพนักงานคดีหมายความรวมถึงเจ้าพนักงานคดีที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายอื่นด้วย
                    2. กำหนดให้มีคุณสมบัติของเจ้าพนักงานคดีไว้ตามที่กำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดเป็นเจ้าพนักงานคดี ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) กำหนด
                    3. กำหนดให้เจ้าพนักงานคดีต้องถือปฏิบัติตามระเบียบและประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และให้นำจริยธรรมข้าราชการตุลาการในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
                    4. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้สมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ โดยกำหนดเพิ่มให้มีตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี

5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ                         ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับฟลูออเรสเซนซ์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 183 - 2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6166 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโกลว์สตาร์ตเตอร์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนซ์ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์รวม 5 มาตรฐาน ได้แก่ สีไดเร็กต์ สีรีแอกทีฟ สีแวต สีซัลเฟอร์ และสีแอซิด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ ได้แก่ สีไดเร็กต์ สีรีแอกทีฟ สีแวต สีซัลเฟอร์ และสีแอซิดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
ผลิตภัณฑ์สีสังเคราะห์          มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
1. สีไดเร็กต์          - ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 739 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6390 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีย้อมสังเคราะห์ : สีไดเร็กต์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ : สีไดเร็กต์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
2. สีรีแอกทีฟ          - ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 740 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6391 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีย้อมสังเคราะห์ : สีรีแอกทีฟ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ : สีรีแอกทีฟ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
3. สีแวต          - ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 760 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6392 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีย้อมสังเคราะห์ : สีแวต และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ : สีแวต ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
4. สีซัลเฟอร์          - ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2344 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6393 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีย้อมสังเคราะห์ : สีซัลเฟอร์ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ : สีซัลเฟอร์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
5. สีแอซิด          - ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2532 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6394 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีย้อมสังเคราะห์ : สีแอซิด และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีสังเคราะห์ : สีแอซิด ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
                    2. กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

7. เรื่อง (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ก่อนการประกาศใช้บังคับต่อไป ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                    กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
                    มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
                    ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์
                    ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
                    2.  (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....                      มีสาระสำคัญดังนี้
                              2.1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
                              2.2 กำหนดเพิ่มเติมคำนิยามที่สำคัญให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับอื่นที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
                              ?สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)? หมายความว่า สื่อหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Intermediary) ที่เน้นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน (Creation and Exchange of User-generated Content) หรือสนับสนุนการสื่อสารสองทาง หรือการนำเสนอและเผยแพร่เนื้อหาในวงกว้างได้ด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชัน กระดานข่าว เครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อสำหรับการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ภาพนิ่ง เสียง วีดิทัศน์ หรือแฟ้มข้อมูล หรือให้บริการเก็บเนื้อที่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต บล็อก blogs เว็บไซต์ (สำหรับการสร้างและแก้ไขเนื้อหาร่วมกัน) เกมส์ออนไลน์หรือโลกเสมือนที่มีผู้ใช้งานหลายคน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อออนไลน์อื่นในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันที่เปิดให้ใช้งาน เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มบุคคล หรือกับสาธารณะ
                              ?ตำแหน่งข้อมูลที่ผิดกฎหมาย? หมายความว่า ตำแหน่งหรือแหล่งที่อยู่ของข้อมูล (Related Online Location) อาทิเช่น ยูอาร์แอล (Related URL) ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต (Related IP Address) ชื่อโดเมน (Related Domain Name) เว็บเพจ (Related web page) ของแหล่งข้อมูลหรือตำแหน่งที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Related Electronic Address) ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้น
                              2.3 กำหนดประเภทและลักษณะการให้บริการของผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์                    ที่สามารถพิสูจน์ถึงการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ เพื่อไม่ต้องรับโทษฐานให้ความร่วมมือให้ความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ได้แก่
                                        (1) ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง (Intermediary) ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม การสื่อสารกิจการกระจายภาพ กระจายเสียง กิจการอินเทอร์เน็ต รวมถึงการรับส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายหรือระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ หรือบริการอำนวยความสะดวกในการส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านเส้นทางจราจรทางคอมพิวเตอร์บนอินเทอร์เน็ต (routing) หรือ จัดให้บริการคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เกิดการรับส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Transitory Communication ? mere conduit) โดยที่ผู้ให้บริการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมใด ๆ ในการรับส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีการเลือกคัดสรรข้อมูลหรือเนื้อหา การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือเนื้อหาของข้อมูลเก็บไว้ในลักษณะถาวรในระบบคอมพิวเตอร์ หรือในลักษณะที่เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลของเครือข่ายของผู้ให้บริการของตนในลักษณะที่บุคคลทั่วไปอาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ในภายหลัง ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือเนื้อหาของข้อมูลนั้นโดยผู้ให้บริการ และไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อมจากการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย
                                        (2) ผู้ให้บริการที่เก็บหรือพักข้อมูลคอมพิวเตอร์ชั่วคราว (system caching) ในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการควบคุมการส่งผ่านเนื้อหาข้อมูลทั้งหมดโดยผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอก หรือโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ด้วยกัน หรือโดยการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์โดยอัตโนมัติซึ่งผู้ให้บริการไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้ควบคุมการจัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์
                                        (3) ผู้ให้บริการซึ่งเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายระบบของคอมพิวเตอร์ของตนเองเพื่อให้ผู้ใช้บริการดำเนินการบริหารจัดการข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วยตนเอง (Information Residing on systems or network at direction of users) ที่ผู้ให้บริการไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ หรือเกี่ยวข้องรวมถึงไม่ทราบถึงการกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมายของผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอก และผู้ให้บริการไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย
                                        (4) ผู้ให้บริการทางเทคนิคเพื่อเป็นที่ตั้งหรือที่พักของแหล่งข้อมูล (Information Location Tools) ที่ไม่มีการเชื่อมต่อ (Linking) ไปยังแหล่งข้อมูลที่ผิดกฎหมายแก่บุคคลภายนอกด้วยตนเอง และผู้ให้บริการไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย
                                        (5) สื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นสื่อหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่การดำเนินการโพสต์ แก้ไขเปลี่ยนแปลง เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ทั้งหมดกระทำโดยผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอก หรือโดยอัตโนมัติผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่ใช่โดยผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการไม่ได้รับค่าตอบแทนผลประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม จากการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย
                                        (6) ผู้ให้บริการที่ไม่ได้มีลักษณะหรือที่ไม่ได้ระบุไว้ใน (1) (2) (3) (4) และ (5) ซึ่งให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันได้โดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์
                              2.4 กำหนดมาตรการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายด้วยตนเอง (Notice & Takedown Policy) ที่ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ต้องจัดให้มีเพื่อไม่ต้องรับโทษฐานให้ความร่วมมือ ให้ความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด
                                        (1) ขั้นตอนการแจ้งเตือน
                                             ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ต้องจัดทำนโยบายการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูล (Notice & Take Down Policy) หรือหนังสือแจ้งเตือน (Take Down Notice) ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบ โดยอาจดำเนินการด้วยวิธีการทางเทคนิคหรือวิธีการอื่นเพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแจ้งเตือนผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนได้
                                        (2) การแจ้งเตือนของผู้ใช้บริการ
                                             เมื่อผู้ใช้บริการหรือบุคคลใดตรวจพบว่า ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกสามารถแจ้งเตือนผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อขอให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายได้โดยการลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเป็นหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ตามแบบฟอร์มข้อร้องเรียน (Complaint Form) ที่ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์กำหนด ยื่นต่อผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์นั้น
                              (3) วิธีการระงับหรือนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์
                                   เมื่อผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ได้รับข้อร้องเรียนตามแบบฟอร์มข้อร้องเรียน (Complaint Form) และเอกสารที่เกี่ยวข้องจากผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแล้ว ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ต้องดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลาย ลบ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ผิดกฎหมายเพื่อไม่ให้แพร่หลายต่อไป และจัดทำสำเนาข้อร้องเรียนรวมถึงรายละเอียดข้อร้องเรียนของบุคคลที่ร้องเรียนดังกล่าวส่งให้กับผู้ใช้บริการหรือสมาชิกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในความควบคุมของผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์โดยทันที เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และเมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอัน             มิอาจก้าวล่วงได้สิ้นสุดลง ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ต้องดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลดังกล่าวโดยทันที แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน
                              2.5 กำหนดมาตรการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายโดยคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อพบการกระทำความผิดหรือได้รับข้อมูล ข้อร้องเรียน เอกสารหรือหลักฐานจากผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือบุคคลใด ๆ ว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายอยู่ในความควบคุมของผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอาจมีคำสั่งไปยังผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้ดำเนินการระงับการแพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายได้ เมื่อผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ได้รับคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ต้องดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลาย ลบ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ผิดกฎหมายที่อยู่ในความควบคุมของผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อไม่ให้แพร่หลายต่อไปโดยทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วแต่กรณี โดยให้ดำเนินการด้วยมาตรการทางเทคนิคใด ๆ (Technical Measure) ที่ได้มาตรฐานตามสภาพของการให้บริการแต่ละประเภท
                              2.6 กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์และการเพิกถอนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ใช้สิทธิในการโต้แย้งคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
                              2.7 กำหนดแนวทางการดำเนินคดี ในกรณีที่ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์เพิกเฉยไม่ดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลาย ลบ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตามที่ประกาศนี้กำหนด โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ โดยแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเนินคดีกับผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ในฐานร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดในมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินการประสานงานกับสำนักงาน กสทช. หรือหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลดำเนินการกับผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    ทั้งนี้ (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยยังคงมาตรการระงับการเผยแพร่ของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลที่ผิดกฎหมายด้วยตนเอง (Notice & Takedown Policy) ตามประกาศฉบับปัจจุบัน และเพิ่มเติมมาตรการเพื่อให้มีช่องทางการแจ้งเตือนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีกับผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นทางเลือกและเป็นการช่วยลดภาระของประชาชนหรือผู้เสียหายในการดำเนินการแจ้งเตือนต่อผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ได้หลายช่องทางทั้งการดำเนินการด้วยตนเองหรือแจ้งผ่านช่องทางของหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ อันเป็นการช่วยคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

8. เรื่อง ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ ตามนัยมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                    ทั้งนี้ คค. เสนอว่า โดยที่สัญญาสัมปทานโครงการถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) ได้กำหนดให้ดำเนินการปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน และอัตราค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญา ในวันที่                          2 กรกฎาคม 2565 ฉะนั้น จึงเห็นควรนำร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    1. อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จะครบกำหนดบังคับใช้ตามสัญญา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงได้คำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งได้รับแจ้งจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาจะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
จำนวนสถานี          1          2          3          4          5          6          7          8          9          10          11          12 ขึ้นไป
อัตราค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้า (บาท) ตั้งแต่วันที่             3 กรกฎาคม 2565          17          19          21          24          26          29          31          33          36          38          41          43

อัตราเดิม (บาท)          17          19          21          24          26          28          31          33          35          38          40          42
พร้อมทั้งปรับปรุงร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดผลิตภัณฑ์ของตั๋วโดยสาร เช่น ตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด
                    2. เนื่องจากได้มีการปรับปรุงร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... กรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
                    3. เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าสายอื่นและเพื่อกำหนดผลิตภัณฑ์ทางการตลาดของตั๋วโดยสารร่วม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประทศไทยจึงได้จัดทำร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. ....
                    4. คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม
                    ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรม และอัตราค่าโดยสารร่วม รวม 3 ฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้
                    (1) ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. ....  มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยอัตราค่าโดยสารใหม่จะมีอัตราเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท โดยสถานีที่ 6, 9 , 11 และ 12 ขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท อีกทั้ง ยังกำหนดให้คณะกรรมการ รฟม. อาจประกาศกำหนดผลิตภัณฑ์ของตั๋วโดยสาร เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารเพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด
                    (2) ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยไม่มีการปรับอัตราค่าโดยสาร
                    (3) ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าสายอื่น



เศรษฐกิจ สังคม

9. เรื่อง โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก). เสนอดังนี้
                    1. รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ก่อนการดำเนินการคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทั้ง 4 แปลง ในขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ต่อไป
                    2. เห็นชอบทบทวนเพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้นำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งในการอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น
                    สาระสำคัญ
                    1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 ธันวาคม 2557) รับทราบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยว่า มีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชจำนวน 3 ราย และผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท และให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทชในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ผลดีและประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ในอนาคต และให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรีโดยจะต้องมีความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (29 ธันวาคม 2558) รับทราบผลการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 โดย อก. รายงานว่าได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชแล้ว จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด และ อก. ได้เสนอผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โพแทช เฉพาะของ 2 บริษัท ดังกล่าว ยังเหลือผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นในอีก 1 ราย คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่
                    2. อก. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ภายหลังจากออกอนุญาตประทานบัตรให้บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด แล้วพบว่าทั้ง 2 บริษัท ประสบปัญหาในการดำเนินงานและยังไม่สามารถขุดแร่ขึ้นมาใช้ได้ ดังนี้
บริษัท          ปัญหา
บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด
(มหาชน) มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี          ไม่สามารถระดมทุนเพื่อนำมาประกอบกิจการได้ ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานได้กำหนดสัดส่วนหุ้นของบริษัทมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร้อยละ 20 ภาคเอกชนของไทย ร้อยละ 20 และหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ร้อยละ 20 รวมทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ซึ่งถือหุ้นในนามของประเทศไทยก็ยังไม่สามารถจัดหางบประมาณสำหรับร่วมทุนในการดำเนินการดังกล่าวได้
บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี           ได้ดำเนินงานโดยได้ขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินแล้ว แต่เกิดปัญหามีน้ำรั่วเข้ามาในอุโมงค์และไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ จึงมีแผนจะย้ายจุดขุดอุโมงค์ออกไปจากจุดเดิมในการดำเนินงานระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม พื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 2 รายข้างต้น ถือเป็นพื้นที่ที่มีแร่โพแทชคุณภาพต่ำ โดยมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 6 ส่วน ซึ่งต่างจากพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เสนอมาในครั้งนี้ ซึ่งมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วน และยังถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในจำนวนคำขอทั้งหมด 3 ราย คือ 2 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท คือ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด คำขอดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว และ อก.                       อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชดังกล่าว
                    3. ในครั้งนี้ อก. ได้เสนอผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตรและผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทที่เหลือซึ่งยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งก่อนคือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป (ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตร) ซึ่งภายหลังจากเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะกรรมการแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน) จะได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
                    4. นอกจากนี้ อก. เสนอขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่กำหนดให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการสร้างความเข้าใจกับประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากเห็นว่ามีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เงื่อนไขเกี่ยวกับทำเหมืองแร่และการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น กำหนดให้การอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตในแต่ละประทานบัตรอยู่ด้วยแล้ว

10. เรื่อง สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 13  (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ? 30 เมษายน 2565)
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและ             ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ  สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 13  (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ? 30 เมษายน 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. นโยบายหลัก 11 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก          มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์          1.1) จัดงาน ?ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์? ระหว่างวันที่ 20-24
เมษายน 2565 มีผู้รับชมกิจกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ19,778,800 คน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดการจัดงาน 314,500 คน ก่อให้เกิด
การกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้หมุนเวียนมูลค่ารวม 50.45 ล้านบาท
1.2) จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติราชจักรีวงศ์ ?ตามรอยพระยุคลบาททั่วหล้า
สงเคราะห์ประชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน? มีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและรับชมผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อออนไลน์อื่น ๆ 20,161 คน
2) การสร้างความมั่นคงความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ          2.1) ขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ด้านแรงงานไปสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบนโยบาย 5P (Policy, Prevention,
Prosecution, Protection และ Partnership) โดยจัดทำแผนบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และตรวจบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการในสถานประกอบการ             3,979 แห่ง แรงงานได้รับการตรวจเฝ้าระวัง  86,748 คน
2.2) ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย (กิจกรรม : ตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน) มีสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจ 3,875 แห่ง ลูกจ้าง 132,737 คน โดยมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3,664 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 120,646 คน ทั้งนี้ ได้มีการติดตามให้นายจ้างปฏิบัติถูกต้องแล้ว 3,648 แห่ง
2.3) คุ้มครองสิทธิแรงงานประมงทะเล (กิจกรรม : บูรณาการตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเลในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล) มีเรือประมงผ่านการตรวจ 829 ลำ ลูกจ้าง 12,150 คน ปฏิบัติถูกต้อง จำนวน 861 ลำ
3) การทำนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม          ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 โดยมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 12 คน (สาขาทัศนศิลป์ 4 คน สาขาวรรณศิลป์ 2 คน และสาขาศิลปะการแสดง 6 คน)

4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก           4.1) เข้าร่วมประชุมเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยโรคไม่ติดต่อและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงกำหนดให้การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพ การบรรจุเรื่องการป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อในแผนการเตรียมความพร้อมด้านภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ และการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและเข้มแข็งจะช่วยสนับสนุนการจัดการและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ
4.2) เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง เช่น ไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำภายในปี ค.ศ. 2030 บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ และนำระบบเตือนภัยล่วงหน้าเข้ามาใช้เพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางน้ำ รวมทั้งเน้นย้ำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย          5.1) เศรษฐกิจมหภาค การเงินและการคลัง โดยมาตรการด้านการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) เช่น (1) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยของธนาคารออมสิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 6,588 ราย วงเงิน 2,831 ล้านบาท                (2) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู อนุมัติสินเชื่อ/ผ่านเกณฑ์ 49,758 ราย วงเงิน 163,435 ล้านบาท และ (3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อนุมัติสินเชื่อ/ผ่านเกณฑ์ 23,802 ราย                      วงเงิน 103,300 ล้านบาท รวมทั้งได้ผลักดันโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้เห็นชอบโครงการแล้ว 4 โครงการ มูลค่าการลงทุน 24,028 ล้านบาท เช่น โครงการทางพิเศษสายกะทู้ -ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และโครงการศึกษาการบริหารจัดการท่าเทียบสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไปของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5.2) พัฒนาภาคเกษตร เช่น (1) จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดีผ่านศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 แห่ง ในการผลิตต้นกล้ากระท่อมพันธุ์ดี 210,000 ต้น พร้อมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ (2) จัดงานมหกรรมอาหาร 2 ทะเล 3 น้ำ และการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565 (3) จัดงาน ?Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลทุเรียนหมอนทองตะวันออกดีเลิศที่คุณภาพดีเยี่ยมเพื่อส่งออก? พร้อมคุมเข้มมาตรการ Zero Covid ผลไม้ไทยทั้งระบบด้วยมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus ณ จังหวัดจันทบุรี และ (4) ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (19 เมษายน 2565) อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 159.69 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการ      ลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทยแล้ว
5.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น จัดประชุมชี้แจงการจัดเก็บค่าธรรมเนียม           การท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางโดยท่าอากาศยาน และพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน
5.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและ               การลงทุนในภูมิภาค เช่น ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-เตลังคานา (สาธารณรัฐอินเดีย) และไทย-กานซู่ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เพื่อ ?บุกตลาด เมืองรอง? และเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-เวียดนาม
และไทย-ภูฏาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งด้านการค้าและการลงทุน
5.5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ เช่น ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (โครงการเน็ตประชารัฐ) เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายสาธารณะ 1 จุด/หมู่บ้าน 24,700 หมู่บ้าน มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการสะสมกว่า 10.87 ล้านคน
5.6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม เช่น จัดมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Fair 2022) พัฒนา ?ไวรัสตัวแทน? ทดสอบสูตรวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 แบบ                     เชิงรุก ดำเนินโครงการ HACKaTHAILAND เพื่อยกระดับองค์ความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และดำเนินโครงการ ?ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด? เพื่อนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เพื่อเสริมศักยภาพการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยให้มีความแม่นยำและรวดเร็ว
6) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญ                สู่ภูมิภาค          มีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งแต่ปี 2561- เดือนมีนาคม 2565 เกิดการลงทุนรวมมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท และมีการขอรับ                     การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมมูลค่า 1.38 ล้านล้านบาท โดยเป็นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมร้อยละ 32 เพิ่มอุตสาหกรรมใหม่                New S-curve ร้อยละ 30 และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ร้อยละ 38 ทั้งนี้ การลงทุน              ในกลุ่ม New S-cuve เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ กิจการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมการแพทย์
7) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก           7.1) สนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นแกนนำในการสร้างพลเมืองคุณภาพระดับชุมชน
7.2) จัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ยากจนแล้วเสร็จ 1,356 แปลง 1,010 ครัวเรือน (เป้าหมาย 2,100 แปลง 1,050 ครัวเรือน)
7.3) ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนด้วยระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) และพัฒนาระบบ Thai QM เพื่อใช้ในการสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ระบบ          เป้าหมาย (ครัวเรือน)          สำรวจแล้ว (ครัวเรือน)           ร้อยละ
Thai QM           24,634,827          2,121,160          8.61
TPMAP          619,111          651,448          105.22
7.4) ส่งเสริมวิถีชีวิตความเป็นไทย โดยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เช่น ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และผ้าไทยภายใต้โครงการ ?ผ้าไทยใส่ให้สนุก? โดยมียอดจำหน่าย 22.90 ล้านบาท 735.89 ล้านบาท และ 15.63 ล้านบาท ตามลำดับ
8) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย          8.1) เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-Site หรือจัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษาให้มากที่สุด ดำเนินการฉีดวัคซีนให้นักเรียนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงมากที่สุดและสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่กำหนด
8.2) สร้างผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาสให้เป็นกำลังคนดิจิทัลสู้ภัยไซเบอร์เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล สื่อสารหรือแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย                 ภัยและการป้องกันภัยออนไลน์ และยกระดับองค์ความรู้และเสริมทักษะการใช้ดิจิทัลยุคชีวิตวิถีใหม่
9) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม          องค์การอนามัยโลกให้ความเชื่อมั่นประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 3 เข้าร่วมจัดกิจกรรมนำร่องทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้าในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกและเพื่อพัฒนาเครื่อง   มือรองรับวิกฤตด้านสาธารณสุขทั่วโลก
10) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน           โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ของประเทศไทยเป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียเข้ารับรางวัล ?World No Tobacco Day Awards 2022? กับองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ได้มีการรับรางวัลฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 แล้ว

11) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ          พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐ : พัฒนาระบบคลาวค์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) เพื่อรองรับการใช้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และระบบประมวลผลของหน่วยงานภาครัฐ และขยายการให้บริการให้ระบบ GDCC รองรับการใช้บริการ Platform as a Service เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการบริการประชาชนด้านต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการ 283 กรม 868 หน่วยงาน 2,926 ระบบงาน เช่น แอปพลิเคชัน ?หมอพร้อม? และแอปพลิเคชัน ThailandPlus สำหรับนักท่องเที่ยว


                              2. นโยบายเร่งด่วน 6 เรื่อง ประกอบด้วย

นโยบายเร่งด่วน          มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน          1.1) ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีผลการอนุมัติสินเชื่อฯ รวม 1,394 ราย วงเงิน 903.49 ล้านบาท
1.2) แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.05-1.0 มีครูได้รับประโยชน์ 460,000 คน และสหกรณ์ฯ 11 แห่ง ปรับลดดอกเบี้ยให้ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัดทั่วประเทศ และประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ด้านการเงินแก่ครู มีลูกหนี้ หน่วยงานและสถาบันการเงินลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งหมด 41,128 ราย มูลค่าหนี้ 58,835.2 ล้านบาท
1.3) จัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ยากจน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีพื้นที่ดำเนินการรวม 17 พื้นที่ 9 จังหวัด (จังหวัดขอนแก่น เชียงราย ตรัง บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สงขลา และสุรินทร์) สามารถรังวัดวางผังแนวเขตการครอบครอง 417 แปลง  295 ครัวเรือน (เป้าหมาย 1,300 แปลง 800 ครัวเรือน) และจัดที่ดินให้เกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 12,175 ราย (เป้าหมาย 23,500 ราย) คิดเป็นร้อยละ 51.81
1.4) ให้การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตรได้รับการลดภาระดอกเบี้ย 976 แห่ง 353,274 ราย (เป้าหมาย 979 แห่ง 358,036 ราย) คิดเป็นร้อยละ 98.67

2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน          2.1) โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ได้โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 เมษายน 2565 รวมทั้งสิ้น 28,568.08 ล้านบาท แบ่งเป็นสวัสดิการที่ให้เป็นวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 25,951.51 ล้านบาท และสวัสดิการที่ให้ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (e-Money) 2,616.57 ล้านบาท
2.2) จ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 เมษายน 2565 รวมทั้งสิ้น 80,565.18 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทเงินจ่ายต่อเนื่องรายเดือน                           (5 สวัสดิการ) 76,943.76 ล้านบาท และประเภทเงินจ่ายไม่ต่อเนื่อง (2 สวัสดิการ) 3,621.22 ล้านบาท
2.3) พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลแล้ว 5,363 ศูนย์ ใน 76 จังหวัด ประชาชนได้รับบริการ 128,840  ราย และมีครัวเรือนเปราะบางที่ได้รับบริการ 22,863 ครัวเรือน
3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน          3.1) พัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าสูงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น จัดฝึกอบรมทักษะแรงงานหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับพนักงานโรงแรม การยกระดับคุณภาพงานบริการที่เป็นเลิศ มีผู้เข้ารับการฝึก 415 คน และผู้ผ่านการฝึกร้อยละ 87.87 และมีงานทำและรายได้เฉลี่ย 12,567 บาท/คน/เดือน
3.2)  พัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ                  โรคโควิด-19 เช่น จัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบกิจการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบสมองกลฝังตัวในอุตสาหกรรมมีผู้ผ่านการฝึกอบรมและมีงานทำ 40,655 คน (เป้าหมาย 73,004 คน) และมีรายได้เฉลี่ย 15,153 บาท/คน/ปี
3.3) ส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนในอัตรา 3,000 บาพคน/เดือน ระยะเวลา 3 เดือนให้แก่นายจ้าง 246,099 แห่ง สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย                     3,039,214 คน เป็นเงิน 26,494.32 ล้านบาท และส่งเสริมการจ้างงานใหม่ นายจ้าง 66,201 แห่ง ลูกจ้างสัญชาติไทย 177,063 คน เป็นเงิน 531.19 ล้านบาท
3.4) ส่งเสริมแรงงานนอกระบบในการประกอบอาชีพ โดยฝึกอบรมหลักสูตรตามความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ เช่น เทคนิคการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโซลาเซลล์แสงอาทิตย์ ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 11,799 คน ผู้ผ่านการฝึกมีงานทำ ร้อยละ                79.80 มีรายได้เฉลี่ย 8,889 บาท/คน/เดือน
3.5) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 2,546,138ราย เป็นเงิน 19,865.71 ล้านบาท และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ โดยผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 2,301,032 ราย เป็นเงิน 54,198.06 ล้านบาท
4) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21           โครงการการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ได้ยกร่างหลักสูตรสมรรถนะสำหรับอบรมครูแกนนำระดับประถมศึกษาและจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา 40,248 คน ได้แก่ หลักสูตร Scratch หลักสูตร Unplugged และหลักสูตร Coding for Teacher ระดับประถมศึกษา 2,544 คน และระดับมัธยมศึกษา 1,203 คน และจัดอบรมครูออนไลน์ด้านวิทยาการคำนวณ 36,501 คน
5) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน          โครงการ ?บอกดิน 3? เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนในการแจ้งตำแหน่งที่ดิน ทั้งนี้ ณ วันที่ 6 เมษายน 2565 มีประชาชนแจ้งตำแหน่งที่ดิน 99,440 ราย และเมื่อสิ้นสุดการรับแจ้งในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จะมีการนำข้อมูลมาตรวจสอบว่า ตำแหน่งที่ดินของประชาชนอยู่ในเขตที่ดินของรัฐ/นอกเขตที่ดินของรัฐ/เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำไปบริหารจัดการที่ดินตามนโยบายของรัฐบาลหรือจัดทำแผนงานโครงการเดินสำรวจต่อไป
6) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย          6.1) โครงการนักข่าวอาสาสาธารณภัย ได้ส่งเสริมให้ประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่ทุกหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการรายงานข่าวสาธารณภัยผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชันไลน์ @1784DDPM ปัจจุบันมีผู้สมัครเป็นนักข่าวอาสาสาธารณภัย                 1,838 คน (เป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านมีนักข่าวอาสาสาธารณภัยอย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชนละ 1 คน)
6.2) ระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและระบบที่ทันสมัยมาสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ พัฒนาระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์ ?ระบบรักษ์น้ำ? เพื่อบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และรายงานสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัยพิบัติจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเมื่อตรวจพบข้อมูลปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ                 แอปพลิเคชัน ThaiWater

11. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ  สรุปผลการประชุม กตน. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลและให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สรุปสาระสำคัญของเรื่อง
                    ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีประจำ                 สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
                    1. การบูรณาการปราบปรามมิจฉาชีพและอาชญากรรมออนไลน์
ประเด็นสำคัญเร่งด่วน/ผลการดำเนินงาน          ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม
กตน.
1) การปราบปรามมิจฉาชีพและอาชญากรรมออนไลน์
(เว็บพนันออนไลน์/แก๊งคอลเซ็นเตอร์)
          - กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนสอบสวนกรณีการพนันออนไลน์ ในปี 2560-2565 จำนวน 6 เรื่อง แล้วเสร็จ 2 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 เรื่อง  มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท และกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 7 เรื่อง แล้วเสร็จ 6 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคลิปวิดีโอเพลง ?อย่าโอน? เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน
          - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ได้จับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภทการหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงินและการพนันออนไลน์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563-เมษายน 2565  จำนวนคดี 1,694 ราย ผู้ต้องหา             2,263 คน และให้ติดตาม แก้ไข และให้ความช่วยเหลือประชาชนจากการถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเตือนภัย และกรณีประชาชนหลงเชื่อและโอนเงินให้กลุ่มคนร้ายสามารถแจ้งความออนไลน์ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์สายด่วน 1441 หรือ ศปอส.ตร. สายตรง 081-866-3000  หรือ
www.thaipoliceonline.com
          - สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง                    กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดทำแนวปฏิบัติการกำกับดูแลการให้บริการข้อความสั้น (SMS) เพื่อป้องกันมิให้มีการส่งข้อความที่มีลักษณะผิดกฎหมาย และดำเนินการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์หรือลามกอนาจารแล้วกว่า 980 เลขหมาย นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น ระงับทราฟฟิกการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ และให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ตรวจสอบหรือสนับสนุนการตรวจสอบการโทรเข้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายด้วยระบบ Test Call Generator (TCG)
2) การแก้ปัญหาบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) เช่น
          - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความตระหนักก่อนการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ
          - สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  (การกำหนดความ          ผิดกรณีใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของบุคคลอื่น หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของตน หรือเป็นตัวกลางในการจัดหาข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรม)  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3) การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เช่น อยู่ระหว่างยกร่างประกาศปรับปรุงประกาศ ดศ. ตามมาตรา 15 เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และแก้ไขปัญหาบัญชีอวตาร โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
4) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เช่น
          - ตช. เห็นควรมีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนในการป้องกัน ปราบปราม และประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และให้ความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล             ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
          - ยธ. เห็นควรเลือกใช้สื่อที่มีความหลากหลายซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้รับสารได้อย่างครอบคลุม และควรมีการติดตามผลของการรณรงค์โดยใช้ ?เพลงเป็นสื่อ?          ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :
(1) ให้ ยธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดศ. ตช. สำนักงาน กสทช. กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมประชาสัมพันธ์ เร่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนได้รับรู้ผลร้าย เข้าใจวิธีการของมิจฉาชีพโดยการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์และคำขวัญที่จดจำง่าย ?ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน? และเพลง ?อย่าโอน? ที่จดจำง่ายเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง
(2) ให้ ยธ. เร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้รณรงค์ ?เพลงเป็นสื่อ? สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแก็งคอลเซ็นเตอร์ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มจดจำได้ง่ายมากขึ้น
(3) ให้กรมประชาสัมพันธ์ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งทำความเข้าใจ ให้ประชาชนรับทราบถึงกลลวงและวิธีการของมิจฉาชีพในรูปแบบคอล            เซ็นเตอร์และทางออนไลน์
(4) ขอให้ ยธ. มท. ศธ. พม. ตช.                         กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการสั่งการและจับกุม เช่น ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล  เกินราคา การค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลออนไลน์โดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรทำหน้าที่เป็นผู้สอดส่องดูแลรับเรื่องราว                ร้องทุกข์ และประสานการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังอาชญากรรมทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคด้วย
มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะ ความเห็น และข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


                    2. การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและบุคลากรภาครัฐ

ประเด็นสำคัญเร่งด่วน/ผลการดำเนินงาน          ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม
กตน.
1) การสร้างโอกาสให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยในทุกระดับรายได้ โดย พม. ได้ดำเนินการ เช่น สร้างโอกาสให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยในทุกระดับรายได้ โดยส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน 14,703 หน่วย มีประชาชนได้รับประโยชน์ 44,109 คน ก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยแล้วเสร็จ 4,460 หน่วย ประชาชนได้รับประโยชน์ 13,380 คน และดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 1,472 ราย เป็นเงิน 954.58 ล้านบาท
2) การสร้างจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันของประชาชนในโครงการการเคหะแห่งชาติ โดย พม. ได้ดำเนินการเพื่อยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Smart Sustainable Community พัฒนาชุมชนในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 จำนวน 11 ชุมชน  2,570 ครัวเรือน และร่วมกับ ตช. ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ชุมชน  18 จังหวัด
3) การบรรเทาและป้องกันปัญหาคูคลองเน่าเสีย
          - มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำเทศบัญญัติเทศบาล/ข้อบัญญัติเมืองพัทยา/ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เรื่อง การติดตั้งบ่อดักไขมันบำบัดน้ำเสียในอาคาร พ.ศ. ?. บังคับใช้ในพื้นที่ดำเนินการแล้ว 1,582 แห่ง แจ้งแผนปฏิบัติการจัดการมูลฝอยชุมชน ?จังหวัดสะอาด? ปี 2564 และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้บริหารจัดการมูลฝอยทั่วไป โดยลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดผ่านโครงการต่าง ๆ เฉลี่ย 91.92 ตันต่อวัน และแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาคลองแสนแสบและคลองสาขาด้านการจัดการไขมัน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาคลองแสนแสบและคลองสาขาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เช่น
          - พม. เห็นควรบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง  และควรพิจารณานำที่ดินว่างเปล่าของรัฐและไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
          - กทม. เห็นควรให้ความสำคัญกับการติดตั้งถังดักไขมันโดยหารือร่วมกับชุมชนในการหาแนวทางการจัดหาที่ตั้งถังดักไขมันร่วมกัน                     ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :                การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญประกอบกับยังมีที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์จำนวนมาก จึงเห็นควรให้ พม. พิจารณาการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวโดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการพิจารณาแนวทางการนำที่ดินของวัดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้ประชาชนเช่า โดยให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    3. รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท            ขึ้นไป  ซึ่ง กตน. มีมติรับทราบ ดังนี้
                              3.1 ผลการใช้งบประมาณ ณ วันที่ 29 เมษายน 2565
                                        หน่วย:ล้านบาท
งบประมาณ
รายจ่าย          วงเงิน พ.ร.บ.
งบประมาณ          จัดสรร          แผนการใช้จ่ายงบประมาณ          ผลการใช้จ่ายงบประมาณ          สูง/                ต่ำกว่าแผน
ภาพรวม
ร้อยละ/พ.ร.บ.
ร้อยละ/จัดสรร

          3,100,000.0000          2,472,987.2967
79.77          2,102,731.9650
67.83
85.03          1,991,007.5996
64.23
80.51          -111,724.3653
-3.60
-4.52
รายจ่ายประจำ
ร้อยละ/พ.ร.บ.
ร้อยละ/จัดสรร          2,491,839.9733          1,925,321.4162

77.27          1,698,004.5696

68.14
88.20          1,584,344.5133

63.58
82.29          -113,700.0563

-4.56
-5.91
รายจ่ายลงทุน
ร้อยละ/พ.ร.บ.
ร้อยละ/จัดสรร           608,160.0267          547,665.8805
90.05          404,687.3954
66.54
73.89          406,663.0863
66.87
74.25          1,975.6909
0.32
0.36
                              3.2 สรุปรายการผูกพันใหม่ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ณ วันที่ 29 เม.ย. 2565 ของ 5 กระทรวง รวม 9 รายการ  วงเงิน 19,999.1455 ล้านบาท ได้แก่  กระทรวงกลาโหม 2 รายการ กระทรวงการคลัง 1 รายการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 รายการ กระทรวงคมนาคม 2 รายการ และ ยธ. 1 รายการ

12. เรื่อง รายงานการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอรายงานการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 สิงหาคม 2563) เห็นชอบร่างแผนฯ ซึ่งกำหนดให้ วธ. จัดทำสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมระดับชาติประจำปีงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในทุกสิ้นปีงบประมาณ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. สรุปภาพรวมผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้ขับเคลื่อนแผนฯ โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจากการประเมินผลสัมฤทธิ์สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน และการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐในการกำกับดูแลสื่อ ส่งผลให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม โดยสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์          ผลการดำเนินงาน เช่น
ยุทธศาสตร์ที่ 1
การสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์          - สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ครอบคลุมทุกพื้นที่ จำนวน 58,895 ชิ้นงาน จัดอบรมพัฒนาเครือข่ายและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั่วประเทศ จำนวน 20,066 ครั้ง จัดเวทีแลกเปลี่ยนและระดมสมองระหว่างผู้ผลิตสื่อและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เป็นแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรมและวิชาชีพทั่วประเทศกว่า 1,511 ครั้ง รวมทั้งผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์หรือสื่อเชิงนวัตกรรมสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ รวมจำนวน 123,433 ชิ้นงาน
- ผลการดำเนินงานพบว่า ยังควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ผลิตสื่อมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยประกาศเป็นวิสัยทัศน์ แนวทาง หรือนโยบายของหน่วยงาน ทั้งนี้ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แม้จะสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้เป็นวงกว้างทุกกลุ่มได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่อาจเกิดกระแสความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น การพูดถึงหรือบอกต่อกันแบบปากต่อปาก การแชร์ผ่านสื่อออนไลน์ประเด็นดังกล่าวจึงยังคงต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป
ยุทธศาสตร์ที่ 2
การส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ พฤติกรรมการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ เฝ้าระวัง และตรวจสอบสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์          - จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระหว่างภาคีเครือข่าย จำนวน 2,579 กิจกรรม กิจกรรมมุ่งสร้างวัฒนธรรมการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมและสื่อต่าง ๆ จำนวน 2,015 กิจกรรม/ชิ้น และเพิ่มเครือข่ายการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อไม่เหมาะสมให้มากขึ้นผ่านการฝึกอบรมและหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ จำนวน 1,773 เครื่องมือ/หลักสูตร
- ผลการดำเนินงานพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างมีความตระหนักรู้ เท่าทัน สามารถแยกแยะในการเลือกรับและส่งต่อสื่อต่าง ๆ ในระดับดีมาก อย่างไรก็ตาม ยังต้องพัฒนาเสริมสร้างประชาชนให้มีบทบาทในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สถาบันครอบครัว และชุมชน ไปจนถึงหน่วยสังคมที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ประชาชนเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งต่อที่รู้เท่าทันสื่อ
ยุทธศาสตร์ที่ 3
การบูรณาการกลไกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนผ่านการสื่อสารสาธารณะ          - บูรณาการกลไกการทำงานผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนก่อให้เกิดเวทีหรือพื้นที่ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ จำนวน 582 แห่ง มีการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้มีเวทีในการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน 621 ครั้ง และสร้างแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน 331 ฉบับ
- ผลการดำเนินงานพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตระหนักถึงการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้การบูรณาการดังกล่าวได้กำหนดเป็นนโยบาย แนวทาง หรือระเบียบปฏิบัติอย่างเปิดเผย ชัดเจนและตรวจสอบได้ในลำดับต่อไป
ยุทธศาสตร์ที่ 4
การพัฒนาและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์          - พัฒนากลไกการประสานงานที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายกับสื่อ จำนวน 88 รูปแบบ มีผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับการพัฒนาให้มีองค์ความรู้ด้านกฎหมายสื่อ จำนวน 16,609 ราย และมีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้ครอบคลุมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น การปรับปรุงและแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
- ผลการดำเนินงานพบว่า ประชาชนมีความเห็นว่าภาครัฐมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างเหมาะสมในระดับมาก เทียบเป็นร้อยละ 71.25 อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบติดตามผลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ยังคงต้องสนับสนุนผลักดันเครือข่ายในการตรวจสอบสื่อและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสื่อให้มีความเข้มแข็งและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป
                    2. แนวทาง/แผนการดำเนินงานต่อไป คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เห็นชอบกรอบแนวทางในการจัดทำแผนฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยให้มุ่งทำงานเชิงรุกและขยายผลการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและค่านิยมเชิงบวกสู่สังคมคุณธรรมในบริบทสังคมไทยและสังคมโลก ดังนี้ 1) การศึกษาทบทวนวรรณกรรม งานวิจัย และสถิติที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผลการประเมินผลสัมฤทธิ์แผนฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 2) การศึกษาตัวอย่างที่ดีในการวางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในภูมิภาคตะวันตกและตะวันออก 3) การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการวิพากษ์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 4) การวิเคราะห์สถานการณ์ 5) การศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอกในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎหมาย และ 6) การกำหนดฉากทัศน์ในอนาคต

13. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
                              1.1 สศช. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยดำเนินการตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลโดยใช้ห่วงโซ่คุณค่าแห่งประเทศไทยของ 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ ในการวิเคราะห์และจัดทำโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่พุ่งเป้าการพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันมีข้อมูลความเกี่ยวข้องของหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในแต่ละปัจจัย รวมถึงมีการกำหนดปัจจัยและประเด็นที่จำเป็นต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้บรรลุผลได้ตามเป้าหมายในปี 2566-2570 จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ?จัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567? เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ซึ่ง สศช. ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถวางแผนและจัดทำข้อเสนอโครงการได้ตรงโจทย์มากขึ้น
                              1.2 สศช. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ซึ่งยังคงไว้ทั้ง 23 ประเด็นแผนแม่บทฯ 37 เป้าหมายระดับประเด็น และ 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ โดยจะมุ่งเน้นการปรับปรุงตัวชี้วัดให้สามารถสะท้อนการบรรลุผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดบางส่วนไม่มีความต่อเนื่องและอาจไม่สะท้อนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงค่าเป้าหมายให้สอดคล้องตามตัวชี้วัดที่เปลี่ยนไป โดยค่าเป้าหมายจะต้องไม่น้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้ ในปี 2561-2565 และการปรับปรุงแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมบริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดรับกับองค์ประกอบและปัจจัยของห่วงโซ่คุณค่าฯ 140 เป้าหมาย แผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ ซึ่งการปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้สามารถวัดผลลัพธ์การบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ได้อย่างชัดเจน สามารถแปลงเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ สศช. จะเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
                              1.3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น 1) การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบในการขับเคลื่อนแต่ละหมุดหมาย ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาในแต่ละหมุดหมาย รวมทั้งกำหนดค่าเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของเป้าหมายหลักและเป้าหมายในระดับหมุดหมายเป็นรายปี และ 2) การติดตามและประเมินผล ควรจัดเก็บข้อมูลให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศช. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                              1.4 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนในทุกมิติ ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้ 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศเพื่อให้ ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน 2) แก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน ลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายวิกฤต และเยี่ยมบ้านเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายวิกฤตอยู่รอดและดำรงชีพได้ตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ 3) แก้ไขปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนผ่านการจัดทำแผนจังหวัด โครงการ และแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนมากกว่าการสงเคราะห์ช่วยเหลือ และ 4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มคนเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี1
                    2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ (รอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2565) มีกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่ดำเนินการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ที่ควรให้ความสำคัญในการติดตามและเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง 5 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้
ด้าน/กิจกรรม          ความคืบหน้า
ด้านการเมือง
กิจกรรมปฏิรูปที่ 3
การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ          สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองได้จัดจ้างที่ปรึกษาและจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานไว้แล้ว โดยจะศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งจัดทำสรุปผลและข้อเสนอให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป
ด้านกฎหมาย
กิจกรรมปฏิรูปที่ 2
จัดให้มีกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
กิจกรรมปฏิรูปที่ 5
จัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
- (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยโทษปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... อยู่ระหว่างพิจารณาของรัฐสภา (ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากการรายงานรอบที่แล้ว ณ เดือนเมษายน 2565)




- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. .... ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว2
ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
กิจกรรมปฏิรูปที่ 2
การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ          สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว และได้ส่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ สลค. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว3
ด้านกระบวนการยุติธรรม
กิจกรรมปฏิรูปที่ 3
การจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ          จัดให้มีทนายความให้คำปรึกษาในสถานีตำรวจ 203 สถานี จาก 1,482 สถานีทั่วประเทศ (ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม จากการรายงานรอบที่แล้ว ณ เดือนเมษายน 2565)
และในส่วนการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวนทั้งสิ้น 45 ฉบับ มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มขึ้น 2 ฉบับ4 ได้แก่ 1) ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework Guideline) โดยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และ 2) กฎ ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565
                    3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้เปิดใช้งาน ?ระบบวิเคราะห์ความคล้ายของโครงการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์? เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานที่ผ่านมาและนำไปกำหนดประเด็นในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ เพื่อให้สามารถจัดทำโครงการฯ ที่เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน และคุ้มค่ากับงบประมาณ โดยหน่วยงานสามารถเรียกดูข้อมูลโครงการที่มีความคล้ายกันได้ทั้งในมิติภาพรวมหรือในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งจากชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายเชิงผลผลิต กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ดำเนินการ
                    4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทบทวนปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินการให้ตอบโจทย์และพุ่งเป้าการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ในระดับโครงการ ซึ่งจะต้องรายงานความก้าวหน้าทุกสิ้นไตรมาส และผลสัมฤทธิ์ในระดับแผนระดับที่ 3 ทั้งแผนปฏิบัติราชการรายปี ราย 5 ปี และแผนปฏิบัติการด้าน... ซึ่งจะต้องรายงานผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฯ และต้องนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR ตามรอบการรายงานฯ ที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงแก้ไข พัฒนา และยกระดับกระบวนการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ได้อย่างเป้นรูปธรรมต่อไป
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 มิถุนายน 2565) เห็นชอบให้ ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการฯ หน่วยงานเจ้าภาพหลักและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามมติคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปอย่างเคร่งครัด
2 อยู่ระหว่างรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3 สลค. ได้ส่งคืน (ร่าง) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ สปน. เพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน
4 ณ ปัจจุบัน มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ รวม 4 ฉบับ [กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 และ (2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564]

14. รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2564
                    คณะรัฐมนตรีรีบทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของ คปภ. และสำนักงาน คปภ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 878,578 ล้านบาท ประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต 613,841 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.34 และเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 264,737 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.56 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ธุรกิจประกันภัยจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 0.84 ถึง 2.84 คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 870,381-887,644 ล้านบาท
                    2. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และตามนโยบายของรัฐบาล สรุปได้ ดังนี้
การดำเนินการ          ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยน : ปรับเปลี่ยนและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือความเสี่ยงใหม่และสอดคล้องกติกาสากล
1) ปรับเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแลเพื่อให้เกณฑ์การกำกับดูแลมีความยืดหยุ่น กำกับเท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกติกาสากล โดยดำเนินโครงการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ ปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย เป็นต้น
2) พัฒนาเครื่องมือและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทัน พร้อมป้องกัน และประเมินความเสี่ยงใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น เตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ระยะที่ 2 และศึกษาแนวทางการควบคุมคุณภาพการสอบบัญชีธุรกิจประกันภัย
3) สร้างกลไกและเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย เช่น ออกประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงานพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยสำหรับบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564
4) ส่งเสริมงานวิจัยและยกระดับองค์ความรู้ด้านการประกันภัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยหรือนวัตกรรม จัดสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยประจำปี 2564 และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย
5) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศอย่างบูรณาการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบประกันภัยและสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดประกันภัย เช่น ศึกษาแนวทางการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินสาขาประกันภัยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน          การออกหรือปรับกฎเกณฑ์ใหม่ต้องคำนึงถึงความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของภาคธุรกิจประกันภัยที่มีความแตกต่างกัน เช่น ขนาดธุรกิจ บุคลากร ระบบเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามได้
ยุทธศาสตร์ 2 เชื่อมั่น : สร้างความเชื่อมั่นและปลูกฝังค่านิยมด้านการประกันภัยด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและกลไกที่เป็นธรรม
1) เร่งสร้างความตระหนักถึงความรู้และความสำคัญด้านการประกันภัยด้วยเครื่องมือและช่องทางที่หลากหลาย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี เช่น จัดการอบรมความรู้ประกันภัยผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนและโครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย
2) ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นและใช้ในการวางแผนทางการเงินและการประกันภัย เช่น โครงการสร้างระบบการให้ความรู้ด้านการประกันภัยครบวงจร
3) ยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการประกันภัยและพฤติกรรมทางตลาดของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เช่น ปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต/วินาศภัย
4) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เช่น พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย          เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ต้องปรับกิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมความรู้ดานการประกันภัยเป็นการผลิตสื่อเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ เช่น การจัดทำสื่อวีดิทัศน์หรือคลิปเสียง เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ก้าวล้ำ : สนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวให้ทันกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้ระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น
1) เร่งผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ด้านกฎเกณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวเป็นดิจิทัล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง ความต้องการของลูกค้า และปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการกลั่นกรองการขึ้นทะเบียนการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ
2) พัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรูปแบบใหม่รองรับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยการกำหนดแนวทางและออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย
3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการประกันภัยและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย เช่น ขยายบทบาทศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านประกันภัยในการให้คำแนะนำแก่บริษัทประกันภัยและ Startups
4) สร้างกลไกความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เช่น จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย
5) ยกระดับความสามารถของธุรกิจประกันภัยในการป้องกันตรวจจับ และตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น การพัฒนาและส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ของธุรกิจ          ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายภาคส่วน จึงต้องใช้เวลาในการจัดทำฐานข้อมูลและสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนา : ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่รองรับความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย
2) ต่อยอดและขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การประกันภัยสำหรับรายย่อยและการประกันภัยพืชผล รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และผลักดันกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้อง
3) ผลักดันการประกันสุขภาพภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัยและจัดทำคู่มือประกอบการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพสำหรับประชาชน
4) ส่งเสริมให้การประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภาครัฐ เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564          ผู้บริโภคมีความต้องการความคุ้มครองเฉพาะรายและเฉพาะความเสี่ยงมากขึ้น บริษัทประกันภัยจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ทั้งนี้ อัตราการเจ็บป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด-19 อาจส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าที่คาดการณ์
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ บุคลากรมีศักยภาพสูง กระบวนการทำงานมีความคล่องตัวและขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
1) พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและสมรรถนะให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จัดอบรมหลักสูตรผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
2) วางโครงสร้างและรูปแบบการทำงานใหม่ รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานร่วมกัน เช่น โครงการศึกษาการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ Smart OIC* ระยะที่ 2
3) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับทิศทางและยุทธศาสตร์องค์กร เช่น การศึกษาแนวโน้มและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยไทย
4) ปรับกระบวนการทำงานและระบบงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการทำงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีความคล่องตัวสูง เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มระบบการให้บริการ การออกใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัยทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร
5) สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เปิดรับมุมมองจากทุกภาคส่วนและเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับสาธารณชนและภายในองค์กร โดยเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐผ่านการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้านการเงินที่ยั่งยืนในภาคการเงินไทย          -
                    3. มาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อผู้เอาประกันภัย ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
                              3.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น มาตรการให้บริษัทสามารถให้ส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 และขยายสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ
                              3.2 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัย เช่น มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงาน เช่น การยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัยโควิด-19
                              3.3 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับคนกลางประกันภัย เช่น กำหนดให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จัดอบรมแบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ขอรับความเห็นชอบในการจัดอบรมต่อสำนักงาน คปภ.
                              3.4 มาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. เช่น การออกประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการใช้จ่ายงบฉุกเฉินของสำนักงาน คปภ. สำหรับกรณีจำเป็นหรือมีเหตุอันสมควรเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
                    4. การประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของสำนักงาน คปภ. รอบ 12 เดือน ปี 2564 ซึ่งประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.70 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งได้ 4.625 คะแนน
                    5. ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,105 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพการให้บริการ การเข้าถึงบริการ และความเป็นธรรม มีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุดที่ร้อยละ 93.20 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 32.20
* Smart OIC คือแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันภัย ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งแนวโน้มรูปแบบธุรกิจเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

15. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของ             ปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ  ดังนี้
          สาระสำคัญ
          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
                    การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (782,146 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ท่ามกลางการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ยังอยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียนรวมทั้งมีความต้องการสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร
                    มูลค่าการค้ารวม
                    มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 การนำเข้า มีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.5 ดุลการค้าขาดดุล 1,908.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 การนำเข้า มีมูลค่า 99,975.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.2 ดุลการค้า ขาดดุล 2,852.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
                    มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 782,146 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.3 การนำเข้า มีมูลค่า 856,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.7 ดุลการค้า ขาดดุล 74,107                  ล้านบาท ขณะที่ ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 3,183,591 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 การนำเข้า มีมูลค่า 3,322,907 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.3 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2565 ขาดดุล 139,316 ล้านบาท
                     การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
                    มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.8 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 49.5 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 44.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เซเนกัล และโมซัมบิก) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 126.7 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม ญี่ปุ่น และกัมพูชา) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 87.9 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา และสิงคโปร์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 24.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 12.4 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น) ยางพารา หดตัวร้อยละ 8.6 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 14.5 (หดตัวในตลาดเมียนมา เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์) ไก่สด               แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 12.7 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ลาว และเมียนมา) นมและผลิตภัณฑ์นม หดตัวร้อยละ 25.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม) 4 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.6
                    การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
                    มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.3 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 19.9 (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 15.3 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 48.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 25.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 53.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม และจีน) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 30.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 8.1 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 8.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน) 4 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 13.3
                    ตลาดส่งออกสำคัญ
                    การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ชะลอตัวลง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนหดตัวเนื่องจากผลกระทบจากการใช้มาตรการ
ล็อกดาวน์ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 13.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 9.3 ขณะที่ตลาด จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 0.3 ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 12.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 33.9 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 25.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 14.9 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 2.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 4.5 และ 65.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 172.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 392.2
          2.  ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
                    มาตรการและแผนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ (1) ส่งเสริมการส่งออกข้าว ประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ (2) ขยายความร่วมมือทางการค้ากับตลาดใหม่ ๆ อาทิ การประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 ผลักดันการส่งออกสมุนไพรและยาแผนโบราณ การประชุม JTC
ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 เพื่อเจรจา การอำนวยความสะดวกการส่งออกผลไม้ไทยผ่านแดนเวียดนามไปจีน และขอให้เวียดนามยกเลิกระงับการนำเข้าเนื้อไก่ เงาะ และมะม่วง นอกจากนี้ มีการลงนาม Mini-FTA กับ อินเดีย
(รัฐเตลังคนา) และจีน (มณฑลกานซู่) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า รวมถึงการผลักดันการส่งออกในการหารือระดับรัฐมนตรีกับชาติต่างๆ อาทิ เปรู เวียดนาม ฮ่องกง และมองโกเลีย เป็นต้น และ (3) ส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศโดยตรง
                     แนวโน้มการส่งออกของไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ) ขณะเดียวกันการส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกในระยะถัดไป

16. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2565
          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2565  ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนพฤษภาคม 2565 ดังนี้
                              ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น  สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลก
                              อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.10               อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน และการศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 2.28 (YoY) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                              สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.10 (YoY)
?          กลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 37.24 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 35.89 ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 45.43 ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้นร้อยละ 8.00 จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565
?          กลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 6.18 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
?          สินค้าอื่น ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
?          กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.81 โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา
?          การศึกษา ลดลงร้อยละ 0.65 ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น
?          เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.06 (กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี) ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชั่นเป็นสำคัญ
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.40 (MoM) จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 5.19 (AoA)
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจากราคาพลังงาน ค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2. แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565
กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 - 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

17. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2565
และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2565 และแนวโน้มไตรมาส    ที่ 2/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2565 เมื่อพิจารณาจากดัขนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 4/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 1/2565 อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม เป็นผลจากนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดมากขึ้น หลังจากประชากรได้รับวัคซีนทั่วถึงและครอบคลุม ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รัฐยังคงนโยบายควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด น้ำตาล เนื่องจากปีนี้มีอ้อยเข้าโรงงานมากกว่าปีก่อน ยานยนต์ ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19                   ที่ทยอยคลี่คลาย และรายได้เกษตรกรในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากตลาดโลกยังคงมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตเบียร์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในภาคธุรกิจร้านอาหารและสถานบริการมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน รวมถึงผู้ผลิตได้ปรับขึ้นราคาเบียร์ ตามต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ร้านค้ามีการสำรองสินค้าไว้มากขึ้น
                    ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกรรม  (MPI) ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด -19 ทั้งในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนเมษายน 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. ยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 12.82 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก                ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น
                    2. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 12.53 จากเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่งเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น
                    3. ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ขยายตัวร้อยละ 23.41 ขยายตัวจากยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีแรงงานติดเชื้อทำให้มีการผลิตได้น้อยกว่าปกติ นอกจากนั้น ในปีนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้นทำให้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
                    4. เครื่องประดับแท้ ขยายตัวร้อยละ 35.95 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเปิดเมืองของหลายประเทศ การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางและจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น
                    5. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 6.22 ตามความต้องการในตลาดโลกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
                    แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2565
                    อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าต้นทุนวัตถุดิบในไตรมาสที่  2 ยังปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มทรงตัวในไตรมาสที่ 3 ประกอบกับต้นทุนพลังงานและการขนส่งในไตรมาสที่ 2 ที่ยังมีแนวโน้มสูง ทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคจึงชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตเหล็กในประเทศจีนที่ต่ำกว่าประเทศไทย อาจทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมากกว่าการซื้อในประเทศ
                    อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 และ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดโลกยังคงต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การผลิตสินค้าสมัยใหม่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                    อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่อง                             บรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษจะได้อานิสงค์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ ในส่วนการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ
                    อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการของรัฐ การมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น และปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าที่ส่งผลดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารและราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและกำลังซื้อของผู้บริโภค

18. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2565 เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก                 (สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอมติ กพอ. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (แผนปฏิบัติการฯ) พ.ศ. 2566-2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยกระดับระบบการขนส่งให้เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ และสนับสนุนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนในพื้นที่ EEC รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและประปา เพื่อรองรับการยกระดับขีดความสามารถของพื้นที่ EEC ให้สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เมืองใหม่ และกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วยโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคจำนวน 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโดยภาครัฐประมาณร้อยละ 53 และการลงทุนโดยเอกชน/การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ประมาณร้อยละ 47 โดยหน่วยงานรับผิดชอบโครงการนั้น ๆ จะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณจากแหล่งเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2566-2570 เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2560-2565 ซึ่งมีโครงการทั้งสิ้น 168 โครงการ โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว ณ เดือนกันยายน 2564 ประมาณร้อยละ 70 ดังนั้น ในการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2566-2570  จึงได้มีการพิจารณาตัดโครงการบางส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนา EEC ออก เช่น โครงข่ายทางสนับสนุนเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร - สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ) เป็นต้น และย้ายโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการแต่มีความจำเป็นเข้ามาบรรจุในแผนปัจจุบันด้วย เช่น โครงการ MR2 [ชื่อเดิม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี - นครราชสีมา ช่วงแหลมฉบัง - ปราจีนบุรี ทล. 359 (M61)] และโครงการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา - ศรีราชา (125 กิโลเมตร) และโครงการรถไฟทางคู่                 ช่วงศรีราชา - มาบตาพุด (70 กิโลเมตร) เป็นต้น รวมถึงได้นำปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับเดิม พิจารณาประกอบกับสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ EEC ในการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่นี้

19. เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2565 จำนวน 51 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    ในคราวประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้คงรายการสินค้าและบริการควบคุม ปี 2565 เช่นเดียวกับ ปี 2565 จำนวน 51 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า 5 บริการ กำหนดเป็น 10 หมวดสินค้า และ 1 หมวดบริการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
                    (1) หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (1) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (2) กระดาษพิมพ์และเขียน
                    (2) หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (3) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ (4) รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก
                    (3) หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (5) กากดีดีจีเอส (6) เครื่องสูบน้ำ (7) ปุ๋ย (8) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (9) รถเกี่ยวข้าว 10) รถไถนา (11) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
                    (4) หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (12) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (13) น้ำมันเชื้อเพลิง
                    (5) หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (14) ยารักษาโรค (15) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
                    (6) หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 4 รายการ ได้แก่ (16) ท่อพีวีซี (17) ปูนซีเมนต์ (18) สายไฟฟ้า (19) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
                    (7) หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (20) ข้าวเปลือก ข้าวสาร(21) ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ (22) ข้าวโพด (23) ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (24) ผลปาล์มน้ำมัน (25) มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์ (26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ
                    (8) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 7 รายการ ได้แก่ (27) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า (28) แชมพู (29) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก (30) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน (31) ผ้าอนามัย (32) ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ (33) สบู่ก้อน สบู่เหลว
                    (9) หมวดอาหาร จำนวน 12 รายการ ได้แก่ (34) กระเทียม (35) ไข่ไก่ (36) ทุเรียน (37) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว (38) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (39) แป้งสาลี (40) มังคุด (41) ลำไย (42) สุกร เนื้อสุกร (43) หอมหัวใหญ่ (44) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (45) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
                    (10) หมวดอื่นๆ จำนวน 1 รายการ ได้แก่ (46) เครื่องแบบนักเรียน
                    (11) หมวดบริการ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ (47) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (48) บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ (49) บริการทางการเกษตร (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค และ (51) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

ต่างประเทศ

20.  เรื่อง หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฮังการีเพื่อการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ในการได้มาซึ่งที่ดิน อาคาร และห้องชุด สำหรับใช้เป็นที่พำนักและที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในดินแดนของแต่ละฝ่าย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายที่ดิน อาคาร และห้องชุด (หนังสือแลกเปลี่ยนฯ) เพื่อใช้เป็นที่พำนักและที่ทำการของสถานเอกอัครราทูตและสถานกงสุลในดินแดนของแต่ละฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฮังการีบนหลักประติบัติต่างตอบแทน1 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูดาเปสต์ (สถานเอกอัครราชทูตฯ) ในปัจจุบันเป็นอาคารที่มีอาคารขนาดเล็กและมีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างจำกัด รวมทั้งมีที่ตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งถนนแคบและลาดชันมาก ส่งผลให้ไม่สะดวกต่อการเดินทางสัญจรของผู้ที่มาติดต่อราชการ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีหิมะตกทำให้ผู้มาติดต่อราชการได้รับอุบัติเหตุ ซึ่ง กต. เห็นว่าการซื้ออาคารที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตฯ มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาติดต่อราชการ
                    2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายที่ดิน อาคารและห้องชุด (หนังสือแลกเปลี่ยนฯ) เพื่อใช้เป็นที่พำนักและที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในดินแดนของแต่ละฝ่ายระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฮังการีบนหลักประติบัติต่างตอบแทน และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว โดยหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทยระบุเกี่ยวกับ (1) ให้รัฐบาลแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาคารและห้องชุดในดินแดนของอีกฝ่าย โดยเป็นไปตามหลักประติบัติต่างตอบแทน และ (2) แต่ละฝ่ายจะได้รับการยกเว้นภาษี ค่าบำรุง (Dues) และค่าธรรมเนียมการโอนทั้งปวงในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ตามหลักประติบัติต่างตอบแทน ทั้งนี้ หากร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทยเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลฮังการี และฝ่ายฮังการีมีหนังสือตอบรับกลับมายังฝ่ายไทยก็จะมีผลเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศในอันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันฝ่ายฮังการียังไม่มีแผนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย แต่ฝ่ายไทยมีอาคารเป้าหมายที่จะซื้อเป็นอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูดาเปสต์แห่งใหม่ ขนาด 1,150 ตารางเมตร ราคา 3.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 131.66 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565: 1 ยูโร เท่ากับ 37.6178 บาท) ซึ่งตามกฎหมายของฮังการีระบุให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของอาคารเป้าหมายวงเงินรวมประมาณ 40.82 ล้านบาท
                    ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ไทยจะได้รับการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายฮังการีเป็นจำนวน 40.82 ล้านบาท จากการจัดซื้ออาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบูดาเปสต์ ดังกล่าวโดยทันที ซึ่ง กต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อและปรับปรุงอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ จากเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการกงสุลปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 200 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ได้อนุมัติให้ กต. ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายและเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการกงสุลไปถึงเดือนกันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)  สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้องในหลักการตามที่ กต. เสนอ
1หลักประติบัติ/ปฏิบัติต่างตอบแทน หลักถ้อยทีถ้อยประติบัติ หรือหลักการต่างตอบแทน คือ ธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตในการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อแสดงไมตรีจิตและมิตรภาพระหว่างประเทศ

21. เรื่อง การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีกรณีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ (ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อาทิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ (ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ)  และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อาทิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (13 มกราคม 2558) เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ไปแล้ว แต่โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังมิได้มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าวฝ่ายฟินแลนด์จึงเสนอให้มีการปรับร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ เพื่อใช้ทดแทนฉบับเดิม เช่น กลุ่มเป้าหมาย สิทธิประโยชน์
                    2. กต. แจ้งว่า ปัจจุบันไทยและฟินแลนด์ได้เห็นชอบในสาระและถ้อยคำของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ           ร่วมกันแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หัวข้อ          รายละเอียด
กลุ่มเป้าหมาย          ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ (Official Passport/Service Passport) ที่มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 6 เดือน จำนวน 2 ประเภท
1. ประเภทที่มิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอาณาเขตของประเทศคู่ภาคี ซึ่งจะต้องไม่รับการจ้างงานใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพอิสระ หรือกิจกรรมส่วนตัวอื่น ๆ ในอาณาเขตของคู่ภาคี
2. ประเภทที่เป็นสมาชิกคณะผู้แทนทางการทูตและที่ทำการทางกงสุลหรือองค์การระหว่างประเทศภายในอาณาเขตของประเทศคู่ภาคี รวมทั้งบุคคลในครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นซึ่งพำนักอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยอาจขยายระยะเวลาการอนุญาตออกไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีคำร้องของรัฐผู้ส่ง
การให้สิทธิประโยชน์
          ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างกัน เดินทางเข้า เดินทางผ่าน พำนัก และออกจากอาณาเขตของประเทศคู่ภาคี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลา 180 วัน โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับที่บังคับใช้ในปัจจุบันในประเทศภาคีนั้นระหว่างที่พำนักอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศคู่ภาคีนั้น
เงื่อนไข          1. กรณีมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือเดินทางทูตหรือราชการ (เช่น การนำหนังสือเดินทางแบบใหม่มาใช้) จะต้องแจ้งคู่ภาคีอีกฝ่ายทราบภายใน 30 วัน
2. กรณีมีเหตุความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยและภาคีแต่ละฝ่ายสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธในการเดินทางเข้ามา/ลดระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนัก/ระงับความตกลงชั่วคราว โดยคู่ภาคีจะต้องแจ้งการระงับ/การสิ้นสุดการระงับความตกลงให้อีกฝ่ายทราบ ผ่านช่องทางการทูตภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนการมีผลบังคับใช้
กรณีพิพาท          ต้องได้รับการยุติอย่างฉันมิตร โดยการปรึกษาหารือหรือการเจรจา
การบังคับใช้          หนังสือแลกเปลี่ยนฯ จะมีผลใช้บังคับในเวลา 30 วัน นับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตอบยืนยันจากคู่ภาคีผ่านช่องทางทางการทูตและไม่มีกำหนดระยะเวลา และยุติผลใช้บังคับได้ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางทูตจากอีกฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับความประสงค์ที่จะสิ้นสุดความตกลงฉบับนี้

                    ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/ไม่ขัดข้องในหลักการตามที่ กต. เสนอ

22. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ครั้งที่ 3
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ครั้งที่ 3 เพื่อเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายฮังการีในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2565
                    2. อนุมัติให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวร่วมกับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี
                    ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ แต่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 3 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                    สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 3 มีสาระสำคัญเป็นการสรุปผลการหารือของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฮังการี โดยมีประธานร่วมกันในระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ ด้านพลังงาน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการเกษตร
                    ทั้งนี้ ร่างเอกสารผลลัพการประชุมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

23. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 7
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                      1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 7 ทั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 7 (Joint Press Communiqu? of the Seventh Mekong - Lancang Cooperation Foreign Ministers? Meeting) (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Joint Statement on Deepening Disaster Management Cooperation under the Mekong - Lancang Cooperation Framework) (3) ร่างแถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Joint Statement on Deepening Agricultural Cooperation and Ensuring Food Security under the Mekong - Lancang Cooperation Framework) (4) ร่างแถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านศุลกากรเพื่อการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Joint Statement on Deepening Customs Cooperation to Secure Trade and Facilitate Clearance under the Mekong - Lancang Cooperation Framework) (5) ร่างแถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (joint Statement on Deepening Exchanges and Mutual Learning among Civilizations under the Mekong - Lancang Cooperation Framework)
                    ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
                    2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ
                     สาระสำคัญของเรื่อง
                     กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 เพื่อจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง และได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2558 และเดือนมีนาคม 2559 ตามลำดับ ถือเป็นการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ   ทั้งนี้ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นประธานร่วมจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่เมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
                    สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงข่าวร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 7 (2) แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง (3) แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง (4) แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านศุลกากรเพื่อการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง และ (5) แถลงการณ์ร่วมเพื่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในระดับรัฐมนตรีระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการภัยพิบัติ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาระบบศุลกากร และการร่วมมือทางด้านนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

24. เรื่อง ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำหรือประเด็นที่มิใช่สาระสำคัญต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                    2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผู้แทนไทยร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety
                    3. รับทราบองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (High-level Meeting of the United Nations General Assembly on Improving Global Road Safety)
                    สาระสำคัญ
                    ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรรัสเซียประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรโกตดิวัวร์ประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้ประสานงานร่วม (co-facilitators: CoFs) ได้เวียน zero draft ของร่างปฏิญญาฯ ที่ได้ร่วมจัดทำกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ สรุปสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ ดังนี้
                              1. ที่มา ถ้อยคำส่วนใหญ่ zero draft มีพื้นฐานมาจากเอกสารด้านความปลอดภัยทางถนนต่าง ๆ อาทิ ข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เรื่อง Improving Global Road Safety เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม Global Ministerial Conference on Road Safety ค.ศ. 2020 (Stockholm Declaration) และข้อมติคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ด้านความปลอดภัยทางถนน รวมถึงข้อมูลจากกิจกรรมสนับสนุนการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565
                              2. ส่วนอารัมภบท (preambular part) กล่าวถึงสภาพปัญหาของความไม่ปลอดภัยทางถนน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงหลัก (major risk factors) ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
                              3. ส่วนปฏิบัติการ (operative part) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการและความมุ่งมั่นที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่ระบุไว้ในส่วนอารัมภบท อาทิ (1) การใช้แนวทาง whole-of-government/whole-of-society ในทุกระดับ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (2) การย้ำเป้าประสงค์ข้อ 3.6 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรื่องความปลอดภัยทางถนน (3) การส่งเสริมแนวทาง safe systems และ (4) การใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน อาทิ การวางผังเมืองการใช้เทคโนโลยี การเสริมสร้างระบบสาธารณสุข การแก้และบังคับใช้กฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
                              4. การติดตามผล เสนอให้ (1) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary General: UNSG) จัดทำรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตามปฏิญญาฯ และเสนอต่อการประชุม UNGA สมัยที่ 78 ในปี ค.ศ. 2024 และสมัยที่ 80 ในปี ค.ศ. 2026 และ (2) จัดการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety ในปี ค.ศ. 2026 เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามปฏิญญาฯ และให้เป็น mid-term review ของ Second Decade of Action for Road Safety ค.ศ. 2021 ? 2030 (ประกาศโดยข้อมติ UNGA ที่ 74/299)
                    ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติมีกำหนดจัดการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (High-level Meeting of the United Nations General Assembly on Improving Global Road Safety) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 - 18.00 น. (เวลานครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในรูปแบบร่วมประชุมด้วยตนเอง (in-person)

25. เรื่อง การรับรองร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ (Siem Reap Declaration on Promoting a Creative and Adaptive ASEAN Community to Support the Cultural
and Creative Economy)  รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริม
ประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ (Siem Reap Declaration on Promoting a Creative and Adaptive ASEAN Community to Support
the Cultural and Creative Economy) ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของเอกสารฉบับดังกล่าวข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ก่อนจะมีการรับรองหรือเห็นชอบเอกสารดังกล่าวให้กระทรวงวัฒนธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ (Siem Reap Declaration on Promoting a Creative
and Adaptive ASEAN Community to Support the Cultural and Creative Economy) มีสาระสำคัญ
ในการแสดงถึงความตระหนักในบทบาทอันสำคัญของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รวมถึงการแสวงหาการเพิ่มพูนความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของอาเซียน โดยร่างปฏิญญาฉบับนี้จะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นฟูของอาเซียนภายหลังสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นและสอดคล้องกับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) โดยหลังจากที่รัฐมนตรี AMCA ได้รับรองเอกสารดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะมีการเสนอเอกสารดังกล่าวให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 33 (33rd  Meeting of the Senior Officials Committee for the ASEAN Socio-Cultural Community (SOCA)) และที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (28th  ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council Meeting) เห็นชอบ จากนั้นจึงนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และครั้งที่ 41 (40th and 41st  ASEAN Summits) ให้การรับรองต่อไป
          อนึ่ง เอกสารฉบับดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดผลผูกพันภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

26. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 16 และผลการประชุมที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 16 (16th ASEAN Defence Ministers? Meeting: 16th ADMM) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง พร้อมวีดิทัศน์ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
                    สาระสำคัญ ผลการประชุม 16th  ADMM สรุปได้ดังนี้
                    1. การประชุม 16th  ADMM
                              1.1 ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเอกสารผลลัพธ์ปี 65 จำนวนทั้งสิ้น 8 ฉบับ
                                        1.1.1 รับรองเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารแนวความคิดว่าด้วย
การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกองทัพประเทศสมาชิกอาเซียนในการควบคุมโรคระบาดข้ามพรมแดน 2) เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการส่งเสริมกลไกสนับสนุนสตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพของอาเซียน 3) เอกสารแนวความคิคว่าด้วยการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการด้านการป้องกันประเทศของอาเซียน 4) ขอบเขตการปฏิบัติงานของศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านข้อมูลข่าวสารและความมั่นคงไซเบอร์อาเซียน 5) วิสัยทัศน์พนมเปญว่าด้วยบทบาทของฝ่ายทหารในการสนับสนุนการฟื้นฟูจาก COVID-19 และ 6) ปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อมิตรภาพด้านความมั่นคง
                                        1.1.2 รับทราบเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารเพื่อการหารือเรื่องการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา และ 2) เอกสารเพื่อการหารือ เรื่องการสะท้อนประวัติศาสตร์ทางทหารเพื่อการส่งเสริมสันติภาพอย่างยั่งยืน
                              1.2  ที่ประชุมฯ อนุมัติความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน + 1 อย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers?+1 Informal Meeting) กับประเทศคู่เจรจา จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย และสหรัฐอเมริกา และ 2) การฝึกผสมทางทะเลระหว่างอาเซียน - อินเดีย โดยให้ที่ประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนหารือเรื่องดังกล่าวต่อไป
                    2. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น อย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN-Japan Defence Ministers? Informal Meeting)
                              ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงของภูมิภาคและระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น สำหรับการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง รวมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ในวาระครบรอบ 50 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพอันดี และยาวนานระหว่างกัน ตลอดจนการส่งเสริมขีดความสามารถให้กับอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์เวียงจันทน์ 2.0 (Vientiane Vision 2.0) ซึ่งญี่ปุ่นได้ยืนยันเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนบนพื้นฐานของความเป็นแกนกลางของอาเซียน
                    3. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN-China Defence Ministers? Informal Meeting)
                              ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ชื่นชมความสัมพันธ์อาเซียน ? สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการรับมือ                           ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVD-19 อันสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างกัน ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียนในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการผลักดันการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้เน้นย้ำ
ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ เพื่อร่วมกันตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงในทุกมิติ บนหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการดำรงบทบาทนำของอาเซียนในสถาปัตยกรรมของภูมิภาค
                    4. รองนายกรัฐมนตรีได้ร่วมการเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และเข้าร่วมการหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ้ายราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน รวมทั้งมีความพร้อมรับมือกับพลวัตด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
                    ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะได้นำผลการประชุมไปดำเนินการตามความรับผิดชอบต่อไป

แต่งตั้ง

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางวารุณี               พรรณพานิช วานเดอพิทท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอการโอน นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์              รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

29. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

30. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายภูมินทร               ปลั่งสมบัติ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสม มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว

31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ             พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                     1. นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
                     2. นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
                    3. นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1 และ 3 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

32. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 2 ราย ดังนี้
                     1. นายณัฐพล ขันธหิรัญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปี               (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566
                     2. นายสุวัฒน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 และขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

33. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นางเจิมมาศ              จึงเลิศศิริ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

34. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เสนอแต่งตั้ง                   นายปรเมธี วิมลศิริ เป็นประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ แทนประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

35. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารศึกษาในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์สิรี ชัยเสรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านอาหารศึกษา) ในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเนื่องจากถึงแก่กรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน และในครั้งต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 (เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการตามกฎหมาย/กรรมการและผู้บริหารขององค์การมหาชน)

36. เรื่อง ผลการสรรหากรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ ตามที่คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกแล้ว แทน นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ รองประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ