สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

ข่าวการเมือง Monday July 18, 2022 13:10 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (18 กรกฎาคม 2565)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออก                                                  ใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม และ                                                  กำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ-สังคม

                    2.           เรื่อง           ขออนุมัติดำเนินโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้า                                                  ทั่วไป
                    3.           เรื่อง           ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566                                         ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ต่างประเทศ
                    4.           เรื่อง          การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Ministerial Meeting on                                                   Women-AMMW)
                    5.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบในการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่ง                                        ประเทศไทยกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการ                                                  แลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทาง                                                  นิวเคลียร์
แต่งตั้ง
                    6.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ                                                  ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
?
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                     ทั้งนี้ คค. เสนอว่า ปัจจุบันหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2524) ออกตามความพระราชบัญญัติรถยนต์              พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ก่อนโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก คค. ตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารบางส่วนของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2530 ซึ่งมีการแก้ไขเฉพาะในส่วนของรูปแบบสมุดคู่มือประจำรถที่ใช้กับเครื่องหมายพิเศษ และลักษณะของเครื่องหมายพิเศษ ให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ของ ตช. มาเป็นของกรมการขนส่งทางบก กล่าวคือ ให้มีตรากรมการขนส่งทางบกและแก้ไขถ้อยคำในสมุดคู่มือประจำรถจาก                      ?กรมตำรวจ? เป็น ?กรมการขนส่งทางบก? และแก้ไขลักษณะของเครื่องหมายพิเศษให้มีเครื่องหมาย ?ขส? อยู่ในเครื่องหมายพิเศษ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
                     การควบคุมกำกับดูแลการใช้ใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม              ตามกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งการใช้สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ ยังมีปัญหาในหลายกรณี เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีการใช้บังคับมานานแล้ว เช่น การไม่กำหนดอายุของใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ทำให้ทางราชการไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงมีผู้ประกอบการจำนวนมากเลิกประกอบกิจการ แต่กฎกระทรวงดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้มาแจ้งเลิกกิจการกับนายทะเบียน เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ยอมคืนสมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษกับทางราชการ ซึ่งเป็นช่องทางให้นำสมุดคู่มือประจำรถ และเครื่องหมายพิเศษไปใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสาเหตุหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนรถหรือใช้รถโดยไม่เสียภาษีประจำปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก รวมถึงอาจเป็นช่องทางนำรถดังกล่าวไปใช้ในการกระทำผิดซึ่งยากแก่การตรวจสอบสืบหาเจ้าของรถ ก่อให้เกิดปัญหาความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล สมควรเพิ่มเติมหลักการให้การขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมสามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย คค. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ พ.ศ. .... ขึ้น
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม โดยยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และกำหนดเป็น                   ?ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือซ่อม และกำหนดแบบใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ                พ.ศ. ?.? เพื่อให้ทางราชการสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้เครื่องหมายพิเศษ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปัญหาการหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยไม่จดทะเบียน มีรายละเอียด ดังนี้
                     1. กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และเครื่องหมายพิเศษให้ชัดเจน (เดิมไม่ได้กำหนดไว้) โดยกำหนดให้ใบอนุญาต (ใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม)                สมุดคู่มือประจำรถ (สมุดคู่มือประจำรถที่นายทะเบียนออกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต) และเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดงที่นายทะเบียนออกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต) มีอายุ 5 ปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
                               2. กำหนดสถานที่ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ชัดเจน (เดิมไม่ได้กำหนดไว้) โดยกำหนดให้ผู้ที่มีรถยนต์ไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ถ้าจะขับเองหรือให้ผู้อื่นขับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ซึ่งสถานที่ประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ ในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอ ณ ส่วนควบคุมบัญชีรถและเครื่องยนต์               สำนักมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถ กรมการขนส่งทางบก ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา สาขาอำเภอเบตง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ สามารถยื่น           คำขอรับใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดได้
                      3. ปรับปรุงแบบใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษให้เป็นปัจจุบันและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดให้ในการออกใบอนุญาตให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษหนึ่งคู่ซึ่งมีหมายเลขเดียวกัน และสมุดคู่มือประจำรถ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                              3.1 แบบใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม มีการ        เพิ่มข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลและอีเมลของผู้ได้รับใบอนุญาต ระบุวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งใช้ตรากรมการขนส่งทางบกเป็นพื้นหลังใบอนุญาต
                               3.2 สมุดคู่มือประจำรถ เพิ่มคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สามารถตรวจสอบว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกสมุดคู่มือประจำรถนั้น ๆ
                               3.3 ลักษณะเครื่องหมายพิเศษ ปรับขนาดแผ่นป้ายให้มีขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร                   ยาว 30 เซนติเมตร (เดิมยาว 34 เซนติเมตร) และแผ่นป้ายแบบใหม่แบ่งออกเป็น 3 บรรทัด (เดิมแบ่งออกเป็น             2 บรรทัด) ดังนี้
                                         1) บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวเลขประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง และหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก (เดิมประกอบด้วยตัวอักษรบอกหมวด ขีดตามทางยาว และตามด้วยตัวเลข)
                                          2) บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรบอกชื่อจังหวัด เว้นแต่กรณีอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง
                                         3) บรรทัดที่ 3 เป็นตัวอักษรร ?เพื่อขายหรือซ่อม?
                     4. กำหนดเงื่อนไขการใช้และการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษของผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
                               4.1 ติดเครื่องหมายพิเศษที่ด้านหน้าและด้านท้ายรถด้านละหนึ่งแผ่นให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
                               4.2 จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไปใช้กับรถคันอื่น ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
ทั้งนี้ หากผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวให้นายทะเบียนมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต                (เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
                     5. การขอใบอนุญาตกรณีใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ทั้งนี้ ในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต นายทะเบียนต้องตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำขอได้จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไปใช้กับรถคัน                 อื่นหรือไม่

                     6. กำหนดเหตุที่ใบอนุญาตสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
                               6.1 ใบอนุญาตครบ 5 ปีนับแต่วันออกใบอนุญาต
                               6.2 ผู้ได้รับใบอนุญาตตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
                              6.3 ผู้ได้รับใบอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
                              6.4 กรมการขนส่งทางบกเพิกถอนใบอนุญาต
ในกรณีใบอนุญาตสิ้นสุดลง ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องส่งคืนใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถ                  ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุดลง
                     7. กำหนดเงื่อนไขการขอใบแทนใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ กรณีสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบถึงการสูญหายหรือชำรุดดังกล่าว
                     8. กำหนดบทเฉพาะกาลให้บรรดาใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ ที่จัดทำไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ซึ่งนายทะเบียนจะออกให้ หรือที่ได้ออกให้ไว้แล้วแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

เศรษฐกิจ-สังคม

2. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
                     1. อนุมัติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดย กนอ. จะมอบสิทธิให้เอกชนเพื่อดำเนินโครงการฯ และให้สิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของท่าเทียบเรือเพื่อดำเนินโครงการฯ รวมทั้งเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการบริหาร ประกอบการท่าเทียบเรือ ลงทุนในทรัพย์สินใหม่ และบำรุงรักษาทรัพย์สินของโครงการฯ โดย กนอ. ให้สิทธิสัมปทานระยะเวลาโครงการฯ 30 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed) ซึ่งภาครัฐจะไม่มีภาระการลงทุน และไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงินให้แก่เอกชนซึ่งมีรูปแบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในลักษณะของ Build ? Operate ? Transfer (BOT) โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนใหม่ให้แก่ กนอ. เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และรับความเสี่ยงด้านรายได้จากการให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด
                     2. มอบหมายให้ กนอ. อก. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาประกอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ตั้งอยู่ที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง และให้บริการเพื่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าประเภทของเหลว ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้าเทกอง ท่าเรือมาบตาพุด มีผู้ประกอบการ จำนวน 12 ราย (ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย) โดยเรื่องนี้เป็นกรณีท่าเทียบเรือสาธารณะของบริษัท ไทย คอนเน็คทิวิตี เทอมินอล จำกัด ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2535 (ดำเนินการก่อนพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน   พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2556) เป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ซึ่งที่ผ่านมาให้บริการขนถ่ายสินค้าทั่วไป (เช่น เหล็ก ไม้) และสินค้าเทกอง (เช่น แร่โพแทช สำหรับผลิตปุ๋ย) เป็นหลัก โดยยังไม่เคยมีผู้ใช้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์มาก่อน เนื่องจากท่าเทียบเรือดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์ เครื่องมือ และการให้บริการที่สนับสนุนการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เพียงพอ (เช่น เครนยกตู้คอนเทนเนอร์ บริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น) โดยท่าเทียบเรือดังกล่าวจะ                ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาในวันที่ 16 กันยายน 2565
                     2. เพื่อให้การดำเนินการท่าเทียบเรือดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กนอ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะดังกล่าว เพื่อเสนอโครงการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งจากผลการศึกษา กนอ. ควรมีการพัฒนาให้เป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์เช่นเดิม โดยเพิ่มเติมการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (เช่น ติดตั้งเครนยกตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเทียบเรือ การให้บริการซ่อมและทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ การพัฒนาพื้นที่ลานตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น) เพื่อให้มีผู้ประกอบการและสายเรือมาใช้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดระยะทางขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการร่วมลงทุนดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ          สาระสำคัญ
รูปแบบในการพัฒนาท่าเทียบเรือ           ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ที่มีการให้บริการขนถ่ายทั้งสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และสินค้าตู้คอนเทนเนอร์
รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน          รูปแบบการร่วมลงทุนเป็นดังนี้
หน้าที่ของรัฐ          หน้าที่ของเอกชน
- ให้สิทธิร่วมลงทุนแก่เอกชนคู่สัญญาในการดำเนินโครงการฯ และเข้าใช้ทรัพย์สินเดิม
- ภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนและไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงินให้แก่เอกชน          - เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการบริหาร ประกอบการท่าเทียบเรือ ลงทุนในทรัพย์สินใหม่ และบำรุงรักษาทรัพย์สินของโครงการฯ โดยรับความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานทั้งหมด และจัดสรรผลตอบแทนให้กับ กนอ. ตามที่ตกลงไว้ (PPP Net Cost)
- โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนใหม่ให้แก่ กนอ. เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา [Build ? Operate ? Transfer (BOT)]

ผลตอบแทนของ กนอ.           (1) ค่าเช่าพื้นที่หน้าท่าและหลังท่า
(2) ผลประโยชน์คงที่ 15 ล้านบาท ในปีแรก และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุก 5 ปี
(3) รายได้จากค่าภาระเรือเข้าท่าทั้งหมด (Port Dues)
(4) ส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินกิจการที่ยกเว้นค่าภาระเรือเข้าท่า (Non ? Port Dues) ร้อยละ 5
ระยะเวลาโครงการฯ           30 ปี
ประมาณการเงินลงทุน           3,221.64 ล้านบาท (เงินลงทุนภาครัฐ* 963.66 ล้านบาท) และเงินลงทุนภาคเอกชน 2,257.98 ล้านบาท)
ผลตอบแทน          - ผลตอบแทนด้านการเงิน : มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Project NPV) 2,234.93 ล้านบาท
- ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ : มูลค่าปัจจุบันสุทธิทางเศรษฐศาสตร์ (Economic NPV) 2,872.04 ล้านบาท)
??_________________________
* เงินลงทุนของภาครัฐในที่นี้เป็นการลงทุนด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ของโครงการเดิม ดังนั้น จึงไม่มีกระแสเงินสดจ่ายสำหรับการลงทุนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กนอ. เห็นว่า สินทรัพย์ที่มีอยู่ของ กนอ. และมูลค่าการให้สิทธิดังกล่าวเสมือนเป็นการลงทุนของ กนอ. เนื่องจากเมื่อ กนอ. ให้สิทธิเหล่านี้แก่เอกชน กนอ. จะไม่สามารถดำเนินการหรือสร้างรายได้ใด ๆ ในพื้นที่นั้นได้ การนำสินทรัพย์ที่เหลืออยู่และมูลค่าการให้สิทธิคิดเป็นการลงทุนของ กนอ. จึงเป็นการคำนวณในเชิงเปรียบเทียบถึงมูลค่าที่ กนอ. ต้องลงทุนและมูลค่าที่ กนอ. จะได้รับตลอดอายุสัญญา

3. เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ             (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมจำนวน 7,516.909 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน
                     สาระสำคัญ
                    คค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 7,516.909 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และเป็นเงินสดหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้ กค. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้และกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน ซึ่งการกู้เงินของ ขสมก. ในครั้งนี้ จะทำให้สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้ปีละ 180.955 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.78 ต่อปี (หากไม่กู้เงินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว จะต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระ จำนวน 221.279 ล้านบาท/ปี) โดย กค. สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ

ต่างประเทศ
4. เรื่อง การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Ministerial Meeting on Women-AMMW)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4 (ASEAN Ministerial Meeting on Women: AMMW) (การประชุม AMMW ครั้งที่ 4) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4 (Joint Statement of the Fourth ASEAN Ministerial Meeting on Women) (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) เพื่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะได้แจ้งรับรองไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. ได้เข้าร่วมการประชุมในระหว่างวันที่ 11 - 15 ตุลาคม 2564 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผ่านการประชุมทางไกลออนไลน์ ภายใต้หัวข้อหลัก ?เศรษฐกิจดิจิทัลและการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันของผู้หญิงในอาเซียน? โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน ประเทศภาคีคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ                           มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศในอาเซียน มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
การประชุม          รายละเอียด
รัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4          การกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกภายใต้หัวข้อหลักในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) การบูรณาการมาตรการการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในแผนพัฒนาของประเทศทั้งในแผนระยะกลางและระยะยาว             (2) การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ (3) การมีส่วนร่วมของสตรีในการเสริมศักยภาพให้กับสตรี (4) การมีส่วนร่วมการเข้าถึง และการใช้บริการทางการเงินที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
คณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี (ACW)          (1) การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนงานของ ACW              พ.ศ. 2559 ? 2563 สมาชิกอาเซียนได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมพลังสตรีและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จำนวน 21 กิจกรรม ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีในการขจัดอคติทางเพศในระบบการศึกษาในอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2562 ผลที่ได้รับคือ ตัวอย่างที่ดีในการขจัดอคติทางเพศ
ในระบบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในอาเซียน
(2) การรับรองแผนงานของ ACW พ.ศ. 2564 ? 2568 ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแผนงานของ ACW เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้เสนอโครงการต่อเนื่อง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาคู่มือการเรียนการสอนเพื่อขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการการศึกษาและโครงการพัฒนาแนวทางในการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในระบบการศึกษา
คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC)          การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง (แผนปฏิบัติการ EVAW โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกันระหว่าง ACW และผู้แทนไทยใน ACWC (ด้านสิทธิสตรี) ในการทบทวนแผนปฏิบัติการ EVAW โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก UN Women และสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ รายงานการประเมินผลครึ่งแผนของแผนปฏิบัติการ EVAW ได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว
และให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ)               ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น (1) การตระหนักถึงผลกระทบด้านเพศภาวะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อสตรีและเด็กหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างและงานการดูแลการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว และการลดลงของรายได้ในการดำรงชีวิตของสตรีและเด็กหญิงในภูมิภาค (2) การส่งเสริมสตรีในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการปรับปรุงการเข้าถึงการสนับสนุนและข้อมูลด้านการเงิน การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพ โอกาสด้านการตลาดและความเชื่อมโยงนโยบายอื่น ๆ และ (3) การมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดนโยบาย เป็นต้น ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมฯ แล้ว พม. จะได้มีหนังสือแจ้งรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวแก่สำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

5. เรื่อง ขอความเห็นชอบในการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งประเทศไทยกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติด (ปส.)                 แห่งประเทศไทย (ไทย) กับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission : USNRC) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (ความตกลงฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อไทยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่อง โดยเป็นที่ยอมรับกันระหว่างคู่ภาคี (ปส. และ USNRC) ว่าไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 พฤศจิกายน 2554 และ 10 มกราคม 2560) เห็นชอบความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แห่งประเทศไทย (ไทย) กับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์                       แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission: USNRC) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (ความตกลงฯ) ที่จัดทำขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล แลกเปลี่ยนมาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดหรือเสนอแนะโดยองค์การต่าง ๆ ของ ปส. และ USNRC เพื่อการกำกับดูแลความปลอดภัย และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2555 (มีอายุ 5 ปี) และได้มีการขยายระยะเวลาความตกลงฯ จนถึงเดือนมีนาคม 2565 โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการในด้านความมั่นคงและการพิทักษ์ทางนิวเคลียร์นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และได้มีการจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างความตกลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เรื่อง การประยุกต์ใช้และการบำรุงรักษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านเทอร์มัลไฮโดรลิกส์ ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับข้อผิดพลาดและความบกพร่องของรหัสคำสั่งและร่วมกันแก้ไข รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์การวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยใช้รหัสคำสั่งการวิเคราะห์เครื่องปฏิกรณ์ และการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการอุบัติเหตุ และ (2) ร่างความตกลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของ USNRC ในเรื่องการวิจัยอุบัติเหตุร้ายแรงทางนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกันในโครงการวิจัยอุบัติเหตุร้ายแรงที่สนับสนุนโดย USNRC และโครงการวิจัยในลักษณะเดียวกันที่สนับสนุนโดย ปส. ซึ่งความตกลงฯ ฉบับดังกล่าวได้หมดอายุแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการสานต่อความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ของทั้งสองฝ่าย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำความตกลงฯ (ฉบับใหม่) ซึ่งร่างความตกลงฯ ที่นำเสนอในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับความตกลงฉบับก่อนหน้า (ปรับถ้อยคำเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น) โดยเป็นเอกสารสัญญาที่กำหนดขอบข่ายและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคเกี่ยวกับกฎและระเบียบ ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย การพิทักษ์ความปลอดภัย การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ตลอดจนการจัดการกากกัมมันตรังสี การส่งเสริมความร่วมมือในการฝึกอบรมและการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) ขอบข่ายของความตกลงฯ (การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการที่ไม่เป็นความลับความร่วมมือในการวิจัยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์) (2) การบริหารจัดการ (การประสานงานสำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่แลกเปลี่ยนมาระหว่างคู่สัญญา) (3) การแลกเปลี่ยนและการใช้ข้อมูล (การบันทึกข้อมูลกรรมสิทธิ์) เป็นต้น

แต่งตั้ง
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาวเพ็ญแข ลาภยิ่ง ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ