http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (20 กันยายน 2565) เวลา 09.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. .... 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 3. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... และรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียน ของสำนักงาน ก.พ. 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... 5. เรื่อง (ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้
คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
6. เรื่อง การพิจารณายกเลิกการกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือ เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (ร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....)
เศรษฐกิจ-สังคม
7. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา คณะ แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2568 8. เรื่อง แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) 9. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.)
ครั้งที่ 1/2565
10. เรื่อง ขออนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมง ทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 11. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี 12. เรื่อง การจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 13. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2565 14. เรื่อง แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ 15. เรื่อง (ร่าง) นโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) 16. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสม ของเชื้อเพลิงชีวภาพ 17. เรื่อง กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 18. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บ ข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน 19. เรื่อง รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง ของประเทศ พ.ศ. 2564 20. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน
ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
21. เรื่อง กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 22. เรื่อง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดู การผลิต ปี 2564/2565 23. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม การสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร 24. เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามแนวทางการบริหาร งบประมาณรายจ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 25. เรื่อง เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ...
ต่างประเทศ 26. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง- ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 27. เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย 28. เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบการ ประชุมด้วยตนเอง (In-person) และความคืบหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีของ อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท 29. เรื่อง รายงานผลการติดตามและการประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) 30. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) 31. เรื่อง ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักร ไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน แอลจีเรีย 32. เรื่อง ขอความเห็นชอบในการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุม ระดับรัฐมนตรี Regional Cooperative Agreement (RCA) แต่งตั้ง 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง) 34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม) 36. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 37. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ คค. เสนอว่า 1. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 กับสถานีรถไฟนาทา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากศูนย์ขนส่งสินค้าบริเวณสถานีรถไฟนาทา เชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด่านผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - ลาว จังหวัดหนองคาย อีกทั้งเพิ่มโครงข่ายคมนาคม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ลดปัญหาการจราจรบนถนนมิตรภาพ และเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายด้านคมนาคมขนส่ง ช่วยทำให้เกิดการขนส่งในหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ระหว่างระบบรางและถนน เกิดความเชื่อมโยงต่อเนื่องสามารถรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. กรมทางหลวงชนบทได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า มูลค่าปัจจุบัน (NPV) มีค่า 1,199.78 ล้านบาท อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.43 อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์โครงการ (EIRR) มีค่า 16.72% ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตโครงการก็จะมีความเหมาะสมมากขึ้น 3. ลักษณะของโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 กับสถานีรถไฟนาทา เป็นถนนก่อสร้างใหม่ ชนิดผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางกว้าง 5.10 เมตร เขตทางกว้าง 40.00 เมตร มีระยะทางประมาณ 1.010 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 28 ไร่ (22 แปลง) มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 15 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 91 ล้านบาท (ค่าสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 1.5 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 43.5 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 46 ล้านบาท) กรมทางหลวงชนบทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการสร้างทางหลวงชนบทสายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งทางบกอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ 3.1 สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2566 3.2 กำหนดราคาและจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2567 3.3 ดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2568 - 2569 4. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งมีผู้เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวประมาณร้อยละ 98.50 5. สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว เห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี และจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบทตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่องนี้ใช้บังคับต่อไป 6. กรมการปกครองได้ตรวจสอบร่างแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว แนวเขต การปกครองที่ปรากฏในร่างแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาสอดคล้องกับคำบรรยายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอ ... จังหวัด ... ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 7. คค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาที่ดินเพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย ชื่อโครงการ รายละเอียดโครงการ แผนบริหารโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 กับสถานีรถไฟนาทา มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ป.ป.ง.) รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ เป็นการกำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น การรายงานการทำธุรกรรมตามมาตรา 13 และมาตรา 14 การจัดให้ลูกค้าต้องแสดงตนตามมาตรา 20 การกำหนดนโยบายการรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่ อาจเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามมาตรา 20/1 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเห็นชอบด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 3. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... และรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... และรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และรับทราบรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดโดยยกเลิกโรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่จะลดลงและใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ก็สามารถหายได้ และกำหนดเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ รวมทั้งรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการดำเนินการปรับปรุงหนังสือเวียนของ ก.พ. เพื่อการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความเหมาะสม ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. ได้เห็นชอบด้วยแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วย สาระสำคัญของเรื่อง 1. ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงการกำหนดโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน นอกจากไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนด ดังนี้ กฎ ก.พ. เดิม ร่างกฎ ก.พ. (ใหม่) ข้อ 2 โรคตามมาตรา 36 ข. (2) คือ (1) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ (2) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (3) โรคติดยาเสพติดให้โทษ (4) โรคพิษสุราเรื้อรัง (5) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ไม่มี ข้อ 4 โรคตามมาตรา 36 ข. (2) คือ 4.1 โรคทางกาย ได้แก่ - ยกเลิก คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม 4.2 โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ข้อ 5 วิธีการตรวจโรคตามข้อ 4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. กำหนด 2. รายงานผลการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. เป็นการดำเนินการปรับปรุงหนังสือเวียนของ ก.พ. ซึ่งมีผลใช้บังคับกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ (1) จัดประเภทหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ที่ออกก่อนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และหนังสือเวียนที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งยังบังคับใช้อยู่ (2) จัดทำฐานข้อมูลหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. ตามประเภท และหมวดหมู่ (3) ปรับปรุงหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ. โดยรวมหนังสือเวียนหลายฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกันให้คงเหลือฉบับเดียว และดำเนินการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่บังคับใช้มานาน รวมถึงหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... โดยปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญในการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 46 วรรคสาม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าครองชีพภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อนายจ้างและผู้ประกันตน สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบให้มีความเหมาะสม มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2565 (2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2565 ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ก. (3) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ข. ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนมีผลทำให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลดลงจากฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบลดลงจากในอัตราเดือนละ 432 บาท เหลือในอัตราเดือนละ 240 บาท ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 17,044 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 9,080 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง 7,964 ล้านบาท ภาพรวมเมื่อลดอัตราเงินสมทบรวมกัน 21 เดือน (รวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2563 ครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2564 ครั้งที่ 4 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2564 ครั้งที่ 5 ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2564 และครั้งที่ 6 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2565) เงินสมทบทั้งหมดจะลดลงประมาณ 160,250 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบลดลง 94,547 ล้านบาท ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบลดลง 65,703 ล้านบาท 5. เรื่อง (ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ (ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวระหว่างที่พำนักในราชอาณาจักร อันจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยการดำเนินการดังกล่าว มีความจำเป็นต้องออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว สาระสำคัญ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยมีหลักการสำคัญ เพื่อขยายระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้างบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้ 1. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ตามข้อ 6 วรรค 2 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 (คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on arrival) ให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกินสามสิบวัน 2. คนต่างด้าวผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้นได้ทำความตกลงไว้กับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นการตรวจลงตรา ระยะเวลาพำนักไม่เกินสามสิบวัน ตามข้อ 13 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 ให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกินสี่สิบห้าวัน 3. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราตามข้อ 13 (3) (ก) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 (คนต่างด้าวที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราประเภท ผ.30) ให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกินสี่สิบห้าวัน 4. ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเพิ่มค่าใช่จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 6. เรื่อง การพิจารณายกเลิกการกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (ร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 เพื่อยกเลิกการกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน ซึ่งได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จนสามารถผ่านปรนบรรดามาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศจากเดิมที่เคยกำหนดเป็นมาตรการสกัดกั้นเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน ประกอบกับในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 10/2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 รับทราบสรุปผลการประชุมดังกล่าวตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เสนอ ด้วยแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันใช้บังคับร่างกฎกระทรวง จากเดิมที่กำหนด ?ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป? เป็น ?ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป? ซึ่งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 เพื่อยกเลิกการกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้ กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ ในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... - โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร [มาตรา 12 (4)] คือ (1) โรคเรื้อน (2) วัณโรคในระยะอันตราย (3) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (4) โรคยาเสพติดให้โทษ (5) โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (6) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 - โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร [มาตรา 12 (4)] คือ คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม - ยกเลิก - - โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร [มาตรา 44 (2)] คือ (1) โรคเรื้อน (2) วัณโรคในระยะอันตราย (3) โรคเท้าช้าง (4) โรคยาเสพติดให้โทษ (5) โรคพิษสุราเรื้อรัง (6) โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (7) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 - โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร [มาตรา 44 (2)] คือ คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม คงเดิม - ยกเลิก - เศรษฐกิจ-สังคม 7. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (รพ. ม.บูรพา) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2568 (แผนอัตรากำลังฯ รพ. ม.บูรพา) จำนวน 1,934 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 641,718,840 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ ความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2568 (แผนอัตรากำลังฯ รพ. ม.บูรพา) จำนวน 1,934 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 641,718,840 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง ภายใน 3 ปี พัฒนาศักยภาพเป็นโรงพยาบาลหลักหรือสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักเพื่อจัดการเรียนการสอนในระดับหลังปริญญา แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงพัฒนาศักยภาพในการผลิต ผลงานวิจัยทางการแพทย์ การบริการวิชาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสู่ชุมชนและการบริการรักษาพยาบาลแบบครบวงจรในระดับตติยภูมิ ร่วมกับการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอแผนอัตรากำลังฯ รพ. ม.บูรพา ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป 8. เรื่อง แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนการส่งเสริม SMEฯ) ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [Small and Medium Enterprises (SME)] ของประเทศ และให้ใช้แผนการส่งเสริม SMEฯ เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนปฏิบัติการฯ) และการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริม SME โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. ให้ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี และงบประมาณ เพื่อการขับเคลื่อน โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ประสงค์ขอรับจัดสรรงบประมาณได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ ก่อนจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ 3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ต่อ สสว. โดยใช้หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ1 ในการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการและเข้ารับการบริการเป็นประจำทุกปี 1 หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ หรือ ONE Identification : ID One SMEs หมายถึง การบูรณาการความช่วยเหลือและการออกแบบมาตรการส่งเสริม SME ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากการมีข้อมูลเชิงลึกของ SME โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้รหัสผู้ประกอบการ SME เดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลประวัติโดยรวมของผู้ประกอบการที่ครบถ้วนสำหรับนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการ SME ที่เข้าร่วมโครงการหรือรับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดทำร่างแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ร่างแผนการส่งเสริม SMEฯ) ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [Small and Medium Enterprises (SME)] ของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยแผนฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ การเร่งสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาศักยภาพและการสร้างรายได้ของธุรกิจ SME โดยส่งเสริมให้ SME มีการพัฒนาผลิตภาพ พัฒนาทักษะความชำนาญของแรงงาน สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตทางธุรกิจ รวมทั้งเข้าถึงโอกาสด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างแผนดังกล่าวแล้ว โดยสภาพัฒนาฯ ให้ สสว. รับความเห็นไปพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดของแผน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง สสว. ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างแผนการส่งเสริม SMEฯ ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ เรียบร้อยแล้ว แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) มีเนื้อหาสาระที่เปลี่ยนแปลงจากแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 - 2564 ดังนี้ หัวข้อ แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 - 2564 แผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5 (ที่ สสว. เสนอในครั้งนี้) วิสัยทัศน์ SME ไทยเติบโตแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยมี SME ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันได้ เป้าหมาย/ตัวชี้วัด ของแผน การส่งเสริม SMEฯ มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME ต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2564 SME มีบทบาททางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นในทุกระดับ สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ในปี 2570 ยุทธศาสตร์/ ประเด็น การส่งเสริม SME 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมและพัฒนา SME (2) เสริมสร้างขีดความสามารถของ SME เฉพาะกลุ่ม และ (3) พัฒนากลไกเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริม SME อย่างเป็นระบบ 3 ประเด็นการส่งเสริม SME ประกอบด้วย (1) สร้างการเติบโตที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม (2) สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า และ (3) พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ (ในครั้งนี้ สสว. เปลี่ยนคำจากยุทธศาสตร์เป็นประเด็นการส่งเสริม SME) กลยุทธ์ และแนวทาง การขับเคลื่อน SME มีกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน SME 13 กลยุทธ์และแนวทาง ประกอบด้วย (1) พัฒนาธุรกิจในระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง (2) ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน (3) ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก (4) ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว (5) ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอด (6) สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น (7) ส่งเสริมการเข้าสู่สากล (8) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (9) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (10) มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลองค์ความรู้และบริการ (11) สร้างความพร้อมของบุคลากรและแรงงาน (12) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ (13) พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย เพิ่มเติมกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน SME จากแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 4 (13 กลยุทธ์และแนวทาง) จำนวน 2 กลยุทธ์และแนวทาง ประกอบด้วย (1) สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ (2) ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ หมายเหตุ : ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2565 สสว. ได้จัดทำแผนการส่งเสริม SMEฯ พ.ศ. 2564 - 2565 ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นที่จัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และในช่วงที่อยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนการส่งเสริม SMEฯ ฉบับที่ 5 9. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบผลการประชุม กพศ. ครั้งที่ 1/2565 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กพศ. ครั้งที่ 1/2565 2. เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ระเบียงฯ) ดังนี้ 2.1 ให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงฯ ภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA 2.2 ให้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เป็นระเบียงฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy 2.3 ให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงฯ ภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor: CWEC 2.4 ให้พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงฯ ภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC 10. เรื่อง ขออนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการโครงการ โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการชดเชยเรือประมง จำนวน 59 ลำ เป็นเงิน 287.18 ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สาระสำคัญของเรื่อง 1. ในปี 2558 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรปว่า กิจกรรมการประมงของประเทศไทยไม่เป็นไปตามกฎระเบียบคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ว่าด้วยการจัดตั้งระบบประชาคมยุโรปในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (การทำการประมง IUU) ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมง IUU และแผนบริหารจัดการประมงทะเลของไทย การกำหนดให้เรือประมงติดตั้งระบบติดตามเรือประมง การกำหนดเครื่องมือต้องห้ามในการทำการประมง การควบคุมปริมาณการจดทะเบียนเรือประมง เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การลดปริมาณเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2558 - 2564 จำนวนเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตการทำการประมงพาณิชย์ยังมีจำนวนที่มากเกินค่าเป้าหมาย 1 2. ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จึงได้จัดทำโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนขึ้น โดยนำเรือประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ (1) เรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตั้งแต่ปี 2558 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้ และ (2) เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์แล้ว แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง ซึ่ง กษ. จะจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเจ้าของเรือดังกล่าวเพื่อนำเรือดังกล่าวไปทำลาย โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 มีนาคม 2562) เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 1 โดยดำเนินการในส่วนของเรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตั้งแต่ปี 2558 ก่อน (ในส่วนของเรือที่เจ้าของเรือประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง จำนวน 2,513 ลำ จะดำเนินการต่อไปในภายหลัง) โดยในโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการกับเรือประมงจำนวน 305 ลำ (กษ. แจ้งว่า ภายหลังมีเรือที่โดนตัดสิทธิในการเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1 ลำ จึงมีเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 ทั้งสิ้น จำนวน 304 ลำ) จากเรือที่แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 570 ลำ ในส่วนโครงการระยะที่ 2 ที่ กษ. เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกับเรือประมงส่วนที่เหลือ จำนวน 263 ลำ (เจ้าของเรือประมงยกเลิกความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 2 ลำ จึงทำให้เรือประมงส่วนที่เหลือลดลงจาก 265 ลำ เป็น 263 ลำ) ซึ่งในจำนวนนี้มีเรือประมงที่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 59 ลำ คิดเป็นงบประมาณ 287.18 ล้านบาท ส่วนที่เหลือที่ไม่เข้าข่ายเข้าร่วมโครงการฯ ระยะนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จำนวน 171 ลำ ไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ และโดนตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการแล้ว และกลุ่มที่ 2 จำนวน 33 ลำ เป็นกลุ่มเรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและมาตรการของรัฐแต่สมควรที่จะได้รับการชดเชย เยียวยาในระยะต่อไป ซึ่งกลุ่มที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 3. กษ. แจ้งว่า การดำเนินการเพื่อทำลายเรือประมง จำนวน 570 ลำ ตามโครงการฯ ร่วมกับการทำลายเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง จำนวน 2,513 ลำ จะทำให้สัดส่วนเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม (ต่ำกว่า 8,517 ลำ) ซึ่งจะส่งผลให้ชาวประมงที่ยังประกอบอาชีพอยู่สามารถทำการประมงได้มากขึ้น ในขณะที่ปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด 1. วัตถุประสงค์ 1) เพื่อบริหารจัดการกองเรือประมงพาณิชย์ โดยรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 2) เพื่อชดเชยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้กับเจ้าของเรือประมงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของภาครัฐ 3) เพื่อให้ชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้มีโอกาสประกอบอาชีพอื่น 4) เพื่อนำเรือที่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาออกนอกระบบอย่างถาวร 2. เป้าหมาย เรือประมงกลุ่มที่เหลือจากการชดเชยเยียวยาในระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย คณะทำงานตรวจสอบประวัติ ความถูกต้อง และคุณสมบัติ เรือประมงและเจ้าของเรือและคณะทำงานประเมินราคาเรือประมง ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และผ่านการประเมินราคาค่าชดเชย จำนวน 59 ลำ 3. วิธีดำเนินงาน คณะทำงานจ่ายเงินเยียวยาเรือประมง โดยกรมประมงดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชย โดยนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของรัฐให้แก่เจ้าของเรือประมงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ดังนี้ 1) งวดที่ 1 จ่ายเงินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง 2) งวดที่ 2 จ่ายเงินจำนวนร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย หลังจากเจ้าของเรือประมงได้ดำเนินการแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว 4. ระยะเวลาดำเนินงาน ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (งบประมาณปี 2565) 5. งบประมาณ งบประมาณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเรือประมง จำนวน 59 ลำ งบประมาณ 287.18 ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (การจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวไม่ได้ใช้อัตราการชดเชยแบบคงที่ โดยเรือแต่ละลำได้รับการชดเชยตามราคาประเมิน ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะทำงานประเมินราคาเรือประมงภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว) 6. หน่วยงานรับผิดชอบ 1) กรมประมง กษ. 2) กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (คค.) 1 ปัจจุบัน เรือประมงไทยยังคงมีจำนวนที่มากเกินกว่าประมาณที่เหมาะสม โดยในรอบปีการประมง 2565 - 2566 มีเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ จำนวน 9,608 ลำ จากจำนวนเรือที่เหมาะสมในน่านน้ำไทย จำนวน 8,517 ลำ 11. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ 0 งาน 51 ตารางวา เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว กษ. จะแจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ 0 งาน 51 ตารางวา เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว จะแจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป โดยโครงการฯ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 บ้านน้ำยืน ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมของราษฎร โดยโครงการฯ เก็บกักน้ำได้ 6.015 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูฝน ประมาณ 5,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 9 หมู่บ้านของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในเขตอีสานตอนล่างบริเวณชายแดน ไทย - กัมพูชา มีแผนการดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2567 วงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 840 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567 ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง มีผลการดำเนินงานทั้งโครงการ ร้อยละ 18 โดยได้ก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่าง การก่อสร้างทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบ ส่วนการก่อสร้างระบบส่งน้ำ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมทบทวนแบบก่อสร้างคลองส่งน้ำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดินของเกษตรกรในปัจจุบัน 12. เรื่อง การจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ตามที่กระทรวงมหาไทย (มท.) เสนอ เรื่องเดิม 1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับ พระสงฆ์ไทยเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มีมติให้คณะสงฆ์สนับสนุน และขอความร่วมมือจากวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศจัดพิธีทอดผ้าป่าฯ ในวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระราชทานจัดตั้งโครงการฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมพระภิกษุและสามเณร ให้ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมอย่างลึกซึ้ง 2. การประชุมคณะกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ครั้งที่ 1/2565 ในวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมอาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมโดยที่ประชุมเห็นชอบรูปแบบการเป็นเจ้าภาพจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 เหมือนปีที่ผ่านมา และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเรียนเชิญส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า เหล่าทัพ องค์กรอิสระ และ กทม. จัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ ประจำปี 2565 รวมทั้งประสานสำนักงานทำเนียบองคมนตรี เพื่อปรับปรุงคำสั่งคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงให้เป็นปัจจุบัน เนื่องด้วยโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีทอดผ้าป่า เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประกอบกับมหาเถรสมาคมได้มีมติให้คณะสงฆ์สนับสนุนและขอความร่วมมือจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดพิธีทอดผ้าป่าฯ วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระราชทานจัดตั้งโครงการฯ โดยใน ปี 2565 พิธีทอดผ้าป่าโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ ในส่วนกลาง จะจัดในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนภูมิภาคและคณะหนทั้ง 4 หน จัดพิธีทอดผ้าป่าฯ ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและเพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ด้วยระยะเวลาการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ในปี 2565 จะเริ่มดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่วนกลาง ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และ (2) ส่วนภูมิภาคและคณะหนทั้ง 4 หน ในระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดที่กำหนด ซึ่งมีระยะเวลาก่อนการจัดพิธีทอดผ้าป่าฯ อีกไม่นาน การนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงมีความประสงค์นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ และเพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ข้อเท็จจริง ในปีที่ผ่านมา (ปี 2564) ได้ดำเนินการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยสรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้ 1. ประธานองคมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่ 4/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ลงวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยมีสมเด็จ พระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ปรึกษา/นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานกรรมการ/ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ โดยมีนายสมคิด จันทมฤก เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) ดำเนินการจัดพิธีทอดผ้าป่าประจำปี (2) ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร์โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย (3) เชื่อมสัมพันธ์ ศรัทธาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันสงฆ์ และประชาชน (4) รวบรวมหรือทรัพย์สินที่ได้จากการจัดงานพิธีทอดผ้าป่าส่งมอบให้โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย (5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ (6) ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรต่าง ๆ และ (7) ปฏิบัติหน้าที่ อื่น ตามที่ประธานคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยมอบหมาย 2. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่ 8/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ระดับจังหวัด ลงวันที่ 22 กันยายน 2564 โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ/รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ/หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่ (1) ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (2) ประชาสัมพันธ์โครงการประชาสัมพันธ์ และเผยแพรโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย (3) เชื่อมสัมพันธ์ ศรัทธาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันสงฆ์ และประชาชน (4) ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรต่าง ๆ และ (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่ประธานคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยมอบหมาย 3. การดำเนินการจัดพิธีทอดผ้าป่าสมทบทุนโครงการฯ ประจำปี 2564 ประกอบด้วย (1) ส่วนกลาง ดำเนินการในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และกระทรวงมหาดไทยจัดพิธีทอดผ้าป่าฯ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ (2) ส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยได้จัดพิธี มอบผ้าไตรพระราชทาน โดยแจ้งให้จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มจังหวัดมอบหมายผู้แทนมารับมอบผ้าไตรพระราชทาน และย่ามที่ระลึกโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2564 โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เพื่อนำไปมอบให้จังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ในการจัดพิธีทอดผ้าป่าฯ ณ วัดที่กำหนดในแต่ละจังหวัด ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน รวมทั้งคณะหนทั้ง 4 หน ได้จัดพิธีทอดผ้าป่าฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว ณ วัดต่าง ๆ ตามที่เจ้าคณะหนกำหนดด้วย 13. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ 1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (829,029 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 4.3 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยยังคงขยายตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ลดลงจากผลกระทบหลายปัจจัย อาทิ มาตรการจำกัดการส่งออกของต่างประเทศ เป็นต้น จึงทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ในฐานะเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเซมิคอนดักเตอร์เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น และผลจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีน อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าบางกลุ่มที่การส่งออกขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 7 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 11.5 มูลค่าการค้ารวม มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.3 การนำเข้า มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 23.9 ดุลการค้า ขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) การส่งออก มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.5 การนำเข้า มีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ดุลการค้า ขาดดุล 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 829,029 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.0 การนำเข้า มีมูลค่า 968,940 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.7 ดุลการค้า ขาดดุล 139,911 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) การส่งออก มีมูลค่า 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.2 การนำเข้า มีมูลค่า 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.0 ดุลการค้า ขาดดุล 417,939 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 12.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 258.8 (ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 35.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 16.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 21.5 (ขยายตัวในตลาดอิรัก โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ เซเนกัล และญี่ปุ่น) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอิตาลี) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และออสเตรเลีย) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 34.2 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด หดตัวร้อยละ 32.6 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา และสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 10.1 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน) สิ่งปรุงรสอาหาร หดตัวร้อยละ 5.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 16.7 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 19.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน และอินเดีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 34.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และมาเลเซีย) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 13.6 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และ เมียนมา) ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 21.4 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) เครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 10.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 2.9 (หดตัวในตลาดเวียดนาม และเม็กซิโก) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 21.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0 ตลาดส่งออกสำคัญ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่มีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ ขณะที่การส่งออกไปยังจีนและญี่ปุ่นหดตัวตามภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 4.7 อาเซียน (5) ร้อยละ 21.3 CLMV ร้อยละ 24.2 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 8.1 ขณะที่ตลาดจีน และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 20.6 และ 4.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 7.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 21.1 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 20.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 27.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 4.3 ขณะที่ลาตินอเมริกา และ รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 6.7 และ 39.7 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 58.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 64.4 2. ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าภายใต้ความร่วมมือมินิเอฟทีเอ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจกลุ่มสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับภายใต้มินิเอฟทีเอ ไทย-โคฟุ นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามมินิเอฟทีเอ ไทย-ปูซาน ซึ่งคาดว่าจะช่วยขยายการส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น (2) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทย-ซาอุดิอาระเบีย ในวาระโอกาสผู้แทนหอการค้ามณฑลริยาดเยือนประเทศไทย โดยมีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การลงนาม MoU ระหว่างภาคเอกชนไทยกับซาอุดิอาระเบีย (3) การเดินทางไปเจรจากับผู้บริหารศูนย์การค้าในยุโรป เพื่อสร้างโอกาสในการมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าในศูนย์การค้าของเดนมาร์ก และ สหราชอาณาจักร (4) การผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้า GI และ (5) การลงพื้นที่พบผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาด สู่ต่างประเทศ แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกของไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยไทยได้กระจายความเสี่ยงไปในหลายตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ยังมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าที่สนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลง การขนส่งสินค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามายังไทย และจำนวนเที่ยวเรือที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลให้ต้นทุนของ ผู้ส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้กำลังซื้อและปริมาณสินเชื่อเพื่อการบริโภคชะลอตัว 14. เรื่อง แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ?แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่? พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางฯ พร้อมคู่มือ ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า 1. ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น คล่องตัวให้สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ?กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 จัดโครงสร้างองค์กร และระบบงานภาครัฐให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์? โดยมีสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบจัดทำรูปแบบการปฏิบัติราชการที่รองรับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการให้กับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐต่อไป 2. สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางฯ พร้อมคู่มือ โดยศึกษารูปแบบและแนวปฏิบัติจากภาครัฐในต่างประเทศ และรวบรวมความคิดเห็นประชาชนและข้าราชการพลเรือนสามัญต่อการปฏิบัติงานภาครัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการถอดบทเรียนการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้แนวทางฯ มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุม สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทั้งสถานการณ์ในภาวะปกติและไม่ปกติ เช่น การแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมการยกระดับความสามารถหน่วยงานของรัฐและขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐสู่การปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Government Digital Transformation) ทั้งนี้ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 พิจารณาแล้วเห็นชอบและให้ปรับปรุงเพิ่มเติมในบางส่วนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้ปรับเพิ่มเติมแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 2.1 แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ นิยาม การปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ หมายถึง การปฏิบัติราชการรูปแบบใหม่ของภาครัฐที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับรูปแบบวิธีการทำงานและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงการปฏิบัติราชการภายใต้สถานการณ์ภาวะไม่ปกติที่ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐต้องปรับรูปแบบการปฏิบัติราชการให้เกิดความคล่องตัวและสามารถปรับตัวได้ทันต่อเหตุการณ์อีกด้วย หลักการ ? ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างคล่องตัวและทันการณ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรับบริการเป็นสำคัญ ? ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับรูปแบบการบริหารส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในภาพรวมในทุกมิติ เช่น ระบบและขั้นตอนการทำงานและการให้บริการประชาชน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ? เปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีคิดและกรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ? เปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างสมดุลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน วัตถุประสงค์ ? เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ให้สะดวก รวดเร็ว โดยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ในการให้บริการประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด ตลอดจนออกแบบและปรับปรุงการบริการภาครัฐรูปแบบใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ? เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเกิดความยึดหยุ่นและคล่องตัวสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานวิถีใหม่หรือกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ ฉุกเฉิน หรือเหตุวิกฤติอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตและการทำงาน ตลอดจนส่งเสริมแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางดำเนินการ ? การปรับรูปแบบและขั้นตอนวิธีการทำงานและรูปแบบการให้บริการประชาชน :ยกระดับมาตรฐานการทำงานภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความคาดหวังของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดขั้นตอนและกระบวนงานที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทดแทนการใช้กำลังคนปกติให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้ทุกวัน ? การพิจารณาลักษณะงานและภารกิจ: ปรับรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้รับบริการและสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และต้องไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยอาจพิจารณาจากภารกิจของหน่วยงาน เช่น ภารกิจการให้บริการหรืออำนวยความสะดวกประชาชน หรือพิจารณาจากชื่อตำแหน่งงาน เช่น ตำแหน่งงานที่ต้องติดต่อกับประชาชน และตำแหน่งงานที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เฉพาะ ? การนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน : ปรับเปลี่ยนงานภาครัฐที่สำคัญให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ (End-to-End Digital Services) เพื่อให้ประชาชนและผู้รับบริการสามารถดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐ เช่น ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) พัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการและการปฏิบัติงาน รวมถึงอาจนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัด และสามารถติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการสื่อสารและการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ และระบบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ? การบริหารจัดการภายในหน่วยงาน : ปรับรูปแบบและวิธีการในการปฏิบัติงานที่แตกต่างจากเดิม เพื่อให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานสอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งด้านการบริหารแผนงาน การบริหารงบประมาณเพื่อจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบริหารงานบุคคลให้มีการมอบหมายงาน ตรวจสอบ กำกับติดตามงานและบริหารผลการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมอบหมายและติดตามงานได้โดยไม่จำกัดรูปแบบและสถานที่ในการปฏิบัติงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กร และมีการรักษาวินัยและเสริมสร้างจริยธรรมที่เหมาะสม ตลอดจนรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเสียสละและมีอุดมการณ์ ตลอดจนมุ่งสร้างความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะปฏิบัติงานในที่ตั้งหรือนอกที่ตั้งก็ตาม รูปแบบ การปฏิบัติงาน รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่น กำหนดช่วงเวลาการเข้างาน-เลิกงาน 4 ช่วงเวลาตามที่หน่วยงานกำหนด แบ่งเป็น 07.30-15.30 น.08.00-16.00 น. 08.30-16.30 น. และ 09.30-17.30 น. รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการนับชั่วโมงทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถ เลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน อาจแบ่งเป็นวันจันทร์-อังคาร 09.30-15.30 น. (12 ชั่วโมง) วันพุธ-พฤหัสบดี 08.30-18.30 (20 ชั่วโมง) และวันศุกร์ 08.30-16.30 น. (8 ชั่วโมง) ทั้งนี้ เมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับ (ร่าง) ระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. ....(คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 โดยยังคงหลักการของร่างระเบียบฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565) ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2502 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเวลาและวันหยุดราชการไว้ ดังนี้ ? เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30?16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00?13.00 น. (รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง) ? วันหยุดราชการประจำสัปดาห์ คือ วันเสาร์และอาทิตย์ (หยุดราชการเต็ม 2 วัน) ? หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้ แต่เมื่อคำนวณเวลาทำงานรวมกันใน 1 สัปดาห์แล้วไม่น้อยกว่าจำนวนรวมเวลาราชการข้างต้น การดำเนินการ ของหน่วยงาน ? ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการภารกิจและลักษณะงานของหน่วยงานในภาพรวม รูปแบบ ขั้นตอนวิธีการทำงาน และรูปแบบการให้บริการประชาชน และเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ? ผู้บริหารหน่วยงานพิจารณามอบนโยบายหรือมีข้อสั่งการในการปฏิบัติงานตามรูปแบบการปฏิบัติงานที่กำหนด โดยเมื่อพิจารณาแล้วควรแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบและถือปฏิบัติ ซึ่งอาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การออกคำสั่งหรือประกาศ การจัดทำบันทึกข้อความแจ้งเวียนภายในหน่วยงาน การแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับบุคลากรภายในหน่วยงาน และพึงต้องติดตามและประเมินผลการดำเนินการเพื่อทบทวนการดำเนินการว่าส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างไร และพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมต่อไป 2.2 นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติราชการดังกล่าว โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างรูปแบบและวิธีการ รวมทั้งการกำหนดบทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และการถอดบทเรียนจากส่วนราชการ เพื่อให้หน่วยงานสามารถพิจารณานำไปปรับใช้ได้ตามความจำเป็นเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป 15. เรื่อง (ร่าง) นโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามและฟื้นฟูระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และ แผนระดับชาติและกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดย ร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ เป็นแผนระดับที่ 3 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) สร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (บุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี) (2) บูรณาการความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทางไซเบอร์และฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ (3) สร้างบริการภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ และ (4) สร้างศักยภาพของหน่วยงานระดับชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน 16. เรื่อง การขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอออกไปสองปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 และเห็นชอบร่างประกาศ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ สาระสำคัญ 1. คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 104/2565 (ครั้งที่ 136) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบแนวทางการขอขยายระยะเวลาดำเนินการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปสองปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 ตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอ และให้นำเสนอ กพช. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป 2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 6/2565 (ครั้งที่ 161) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีกสองปี ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีกสองปี และเห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2567 ซึ่งประกอบด้วย ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ 17. เรื่อง กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้ 1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 276,274 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,163,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 226,274 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน 2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2566ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ 3. มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) โดยประธานสภา พัฒนาฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว 4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวง เจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และเห็นควรให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2566 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง 5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 67,692 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2567 ? 2569ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 383,970 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 80,487 ล้านบาท 18. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 137,941,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ตช. รายงานว่า 1. ตช. (สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ) เป็นหน่วยงานหลักของ ตช. ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีหน่วยงานและนักวิทยาศาสตร์ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันผู้กระทำความผิด/ผู้ต้องขังจะถูกเก็บข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว ในฐานข้อมูลในทะเบียนประวัติอาชญากรเท่านั้นเนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดงบประมาณ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ในที่เกิดเหตุไม่พบรอยลายนิ้วมือแฝง หรือรอยแฝงที่พบเป็นรอยฝ่ามือ/สันมือ ทำให้ไม่สามารถตรวจพิสูจน์และจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร 2. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้รับการจัดสรรงบประมาณลักษณะบูรณาการด้านปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์รวมถึงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานและมีความทันสมัย โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้และการปฏิบัติในการตรวจเก็บดีเอ็นเอและลายพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว ฝ่ามือ สันมือ ของบุคคลให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตำรวจ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวของบุคคลกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่ถูกดำเนินการจับกุมในคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน และบุคคลพ้นโทษ พักโทษ) และถึงแม้ว่าการจัดทำฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันตัวบุคคลด้วยการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่การเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ผ่านมาทำให้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดทั้งคดีค้างเก่าและคดีที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเก็บฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลกลุ่มเสี่ยงของบุคคลพ้นโทษและพักโทษจึงเป็นยุทธศาสตร์และเครื่องมือที่สำคัญของ ตช. ในการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมเพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคม และคาดว่าจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการกระทำความผิดและการกระทำผิดซ้ำลดลง 3. ตช. ได้จัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทันฑสถาน (โครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ ประเด็น รายละเอียด วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ ตช. มีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษและพักโทษ จากเรือนจำ และทัณฑสถานเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและเชื่อมโยงคดี 2. เพื่อให้ ตช. เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ สามารถสืบค้นหาผู้กระทำความผิดทางคดีอาญาทั้งอาชญากรรมในประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ 3. เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอให้สามารถรองรับฐานข้อมูลดีเอ็นเอซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางและฐานข้อมูลส่วนภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง กิจกรรม กิจกรรม รายการ วงเงิน (บาท) 1 จัดหาวัสดุในการจัดเก็บดีเอ็นเอและวัสดุ/น้ำยาในการตรวจดีเอ็นเอ จำนวน 45 รายการ สำหรับเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษ จากเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 100,000 ราย (เช่น ก้านสำลีพันปลายไม้ชนิด Sterile ถุงมือไนโตรชนิดไม่มีแป้ง น้ำยาโพลีเมอร์/สารละลายแอโนดบัฟเฟอร์สำหรับเครื่องวิเคราะห์สารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ ชุดน้ำยาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลสำหรับจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ) 89,823,400 2 ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลดีเอ็นเอสำหรับจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ รวม 68 รายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย อุปกรณ์กระจายสัญญาณ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก อุปกรณ์ป้องกันเครือข่าย 48,118,400 รวมทั้งสิ้น 137,941,800 ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม 2565 ? เดือนกันยายน 2565 งบประมาณ 137,941,800 บาท การประเมินผล 1. ประเมินผลจากจำนวนข้อมูลดีเอ็นเอที่เก็บในฐานข้อมูลดีเอ็นเอ 2. ประเมินผลจากร้อยละการเชื่อมโยงคดีค้างเก่าและคดีค้างใหม่ ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง 2. อัตราการกระทำผิดและการกระทำผิดซ้ำจะลดลง 4. โดยที่โครงการจัดเก็บข้อมูลดีเด็นเอดังกล่าวต้องใช้วงเงินงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการฯ เป็นจำนวนมาก และเงินงบประมาณของ ตช. มีไม่เพียงพอสำหรับการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อมาดำเนินโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเด็นเอฯ ดังนั้น ตช. จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ตช. ประสานและบูรณาการข้อมูล นิติวิทยาศาสตร์กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กรณีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำ และทัณฑสถานดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งประเด็นการจัดเก็บและการตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องขังให้ได้ข้อยุติก่อน โดยขอให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ 5. ต่อมา ตช. ได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานข้างต้น (ตามข้อ 4) โดยได้ข้อสรุปว่าทั้ง 3 หน่วยงาน ไม่ขัดข้องในการบูรณาการความร่วมมือจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษจากเรือนจำและทัณฑสถาน โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและลดการกระทำผิดซ้ำด้วย ส่วนกรณีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการประสานด้านระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษในเรือนจำและทัณฑสถาน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ ระหว่าง ตช. กรมราชทัณฑ์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีหลายขั้นตอนจึงยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงจะจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอคู่ขนานไปกับการดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว 6. สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ตช. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในกรอบวงเงิน 137,941,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอฯ ทั้งนี้ ขอให้ ตช. เร่งดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ (ตามข้อ 5) โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอนและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญด้วย 19. เรื่อง รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบ (ร่าง) รายงานฯ และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง 1.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากร สถานภาพ 1. ปะการัง - โดยภาพรวมของประเทศมีแนวปะการังทั้งสิ้นประมาณ 149,182 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 52.3 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 23.7 และเสียหายร้อยละ 24 โดยมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 - สถานการณ์ปะการังฟอกขาว1 พบเกิดขึ้นเล็กน้อยบริเวณปะการังน้ำตื้นส่งผลให้ปะการังส่วนที่โผล่พ้นน้ำตายบางส่วน 2. หญ้าทะเล พบหญ้าทะเลเนื้อที่รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล โดยลดลงจากปี 2563 (104,778 ไร่) จำนวน 5,453 ไร่ หรือลดลงคิดเป็น ร้อยละ 5.2 3. สัตว์ทะเลหายาก : เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ และปลากระดูกอ่อน - จากการสำรวจพบว่า ในส่วนของการวางไข่ของเต่าทะเล จำนวนครั้งการวางไข่ของ เต่าตนุมีแนวโน้มลดลง ขณะที่เต่ากระและเต่ามะเฟืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนพะยูน ทั้งพื้นที่ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันประมาณประชากรจากข้อมูลการสำรวจในพื้นที่สำคัญได้ประมาณ 261 ตัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอดีตแต่ยังพบการเกยตื้นหรือ การตายของพะยูนที่มีอยู่ทุกปี จำนวนโลมาและวาฬมีจำนวน 2,273 ตัว โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงไม่สามารถดำเนินการสำรวจได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสำรวจพบปลากระดูกอ่อน ได้แก่ ฉลามวาฬ จำนวน 21 ตัว และกระเบนแมนต้า จำนวน 18 ตัว - ในอนาคตคาดว่าแต่ละปีจะมีแนวโน้มสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรมลง รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ เช่น การติดพันหรือ ถูกรัดด้วยขยะทะเลจำพวกอวน การติดเครื่องมือประมง และการโดนใบพัดเรือ 4. ป่าชายเลน จากข้อมูลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ในปี 2563 มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพทั้งหมดประมาณ 1.74 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 2.02 แสนไร่ เนื่องจากมีเทคโนโลยีการแปลภาพถ่ายที่แม่นยำมากขึ้น และเป็นผลจากมาตรการป้องกัน การบุกรุกทำลายป่า มีการรณรงค์ สนับสนุนปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การดำเนินการทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกเพื่อนำพื้นที่กลับมาปลูกฟื้นฟูจึงทำให้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและสมบูรณ์ 5. ป่าชายหาด มีพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 47,149.30 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายหาดมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา รองลงมา คือ จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ป่าชายหาดในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเหลือเป็นผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุรักษ์ 6. ป่าพรุ มีพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 37,139.56 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าพรุมากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส 1.2 สถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง สิ่งแวดล้อม สถานภาพ 1. คุณภาพน้ำทะเล คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 75 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 22 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 3 ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2557-2564 พบว่า โดยรวมคุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่ 2. น้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน2 เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน รวม 44 ครั้ง โดยจากการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดระยองและชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลจากการเดินเรือ เข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว รวมถึงการเดินเรือเพื่อขนส่งน้ำมัน 3. น้ำทะเลเปลี่ยนสี3 พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยรวม 25 ครั้ง (ส่วนใหญ่เกิดในจังหวัดชลบุรี) ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันไม่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี 4. แมงกะพรุนพิษ พบการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ระหว่างปี 2542-2564 รวม 46 ราย (ผู้เสียชีวิต จำนวน 10 ราย และบาดเจ็บรุนแรง จำนวน 36 ราย) ทั้งนี้ ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 5. ขยะทะเล ในปี 2564 สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม ขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว นอกจากนี้ พบขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52.65 ล้านชิ้น/ปี ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากกว่าในช่วงปี 2563 เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย และส่งผลให้จำนวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าปี 2563 1.3 สถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลพบว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาถูกกัดเซาะระยะทาง 822.81 กิโลเมตร เช่น จังหวัดสงขลา ปัตตานี ตราด และเพชรบุรี และพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่มีการกัดเซาะระยะทาง 2,328.32 กิโลเมตร แต่กลับพบปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ และการใช้ประโยชน์ที่ดินงอกใหม่หลังแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของหลายจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่และระดับนโยบายรวมถึงต้องมีการบูรณาการด้านข้อกฎหมายร่วมกันของทุกหน่วยงาน 2. สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลที่มีจำนวนครั้งมากขึ้น อาจเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดชะลอตัว ปราศจากการรบกวนสถานภาพแนวปะการังที่มีแนวโน้มสมบูรณ์ดีขึ้นจากการฟื้นตัวตามธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญรวมถึงได้รับการป้องกันและแก้ไข ได้แก่ การเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแทบทุกพื้นที่ ปัญหาขยะทะเลที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในหลายจังหวัด ปัญหาน้ำมันรั่วไหลและ ก้อนน้ำมันดิน ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และแมงกะพรุนพิษ 3. สาเหตุความเสื่อมโทรมและผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ (1) จากธรรมชาติ เช่น คลื่น ลมและมรสุม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (2) จากกิจกกรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ได้แก่ ปัญหาขยะทะเล การท่องเที่ยว และขยะจากประมงที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง ปัญหาจากการทำประมง เช่น การทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย/ทำลายล้าง และการระบายน้ำทิ้งทางทะเลจากชุมชนชายฝั่ง รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ทำลายระบบนิเวศ เช่น การตัดต้นไม้ และการจับสัตว์น้ำบางชนิดในป่าชายเลน ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่สำคัญและส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ ห่วงโซ่อาหาร การสูญเสียพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล รวมถึงอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารทะเลตามมาตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของชุมชนและประเทศ 4. ผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างปี 2563-2564 เช่น การปลูกปะการัง จำนวน 240,000 กิ่ง ครอบคลุมเนื้อที่ 150 ไร่ พบว่ามีอัตรารอด โดยเฉลี่ยร้อยละ 94 การดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการังและในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลสามารถเก็บขยะได้มากกว่า 27,700 กิโลกรัม ซึ่งขยะที่พบส่วนใหญ่ เช่น อวน เชือก เอ็นตกปลา และขวดพลาสติก การกำหนดแผนเผชิญเหตุในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดมลพิษและภัยพิบัติทางทะเลที่เป็นภัยต่อทรัพยากรทางทะเล การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงกะพรุนพิษและท่อบรรจุน้ำส้มสายชูในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ 7 จังหวัด และการดำเนินงานทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนที่ครอบครองพื้นที่ป่าแบบผิดกฎหมาย โดยสามารถทวงคืนผืนป่าชายเลน จำนวน 114 คดี ผู้ต้องหา 26 ราย เนื้อที่รวม 2,578.10 ไร่ 5. สรุปประเด็นสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น 1. มลพิษทางทะเล - ทบทวนสภาพปัญหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมลพิษในทะเลและชายฝั่ง - จัดทำระบบการตรวจสอบและติดตามคราบน้ำมันครบวงจรและทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนในและในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่ง - จัดทำระบบตรวจสอบ/ติดตาม/แจ้งเตือนมลพิษทางทะเลและสัตว์ทะเลมีพิษ 2. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ อันเกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง - ทบทวนสภาพปัญหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสรุปผลการดำเนินการและรายงานความก้าวหน้า - ศึกษาแนวทางการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามแนวคิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล และรวบรวมฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ต่าง ๆ - จัดทำร่างเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามหลักการทางวิชาการ 6. ประเด็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้ 6.1 ประเด็นเร่งด่วน ประเด็น การดำเนินงาน 1. ด้านมลพิษทางทะเล บูรณาการบริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ แหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน ได้แก่ แหล่งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และแหล่งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน เช่น การเกษตร 2. ด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและการวางแผนเชิงพื้นที่ เร่งขับเคลื่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล รวมทั้งเร่งดำเนินการวางแผน เชิงพื้นที่ของทะเลของประเทศไทย 3. ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง เร่งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการในระดับจังหวัดและพื้นที่ 4. ด้านการบริหารจัดการทางทะเลอย่างยั่งยืน สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 6.2 มาตรการและแผนงานจัดการทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง (ระยะยาว) เช่น มาตรการ แผนงาน 1. สร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร ศึกษาวิจัย ติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร รวมถึงประเมินผลการฟื้นฟูระบบนิเวศ และจัดทำสื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจ จัดตั้งเครือข่ายประชาชน สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 3. อนุรักษ์และเฝ้าตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตรวจตรา เฝ้าระวังเชิงพื้นที่แนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และป่าชายหาด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก และจัดทำแนวเขตพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป และความเค็มของน้ำทะเลลดลง 2ก้อนน้ำมันดิน คือ การแปรสภาพตามธรรมชาติของน้ำมันหรือคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของเรือเดินสมุทร หรือการรั่วไหลโดยธรรมชาติใต้ ท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไปคราบน้ำมันที่กระจายตัวอยู่บนผิวน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน ซึ่งมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีความหนืดสูง เนื่องจากองค์ประกอบส่วนเบาได้ระเหยไปบางส่วน เหลือส่วนหนักที่มีองค์ประกอบคล้ายยางมะตอย 3น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล เช่น ออกซิเจนและความเข้มของแสงที่ส่องผ่านในน้ำลดลง บางกรณีจำนวนแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและถ่ายทอดผ่านมาถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย 20. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อขอความร่วมมือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยให้ สปน. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการและสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2565) 1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการ ร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 19,193 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 17,070 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,123 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11 1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้ (1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,033 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 749 เรื่อง กระทรวงการคลัง 571 เรื่อง กระทรวงแรงงาน 403 เรื่อง และกระทรวงคมนาคม 350 เรื่อง (2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 224 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 108 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 108 เรื่อง ธนาคารออมสิน 89 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 88 เรื่อง และการประปานครหลวง 64 เรื่อง (3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 971 เรื่อง จังหวัดสมุทรปราการ 239 เรื่อง นนทบุรี 227 เรื่อง ชลบุรี 209 เรื่อง และปทุมธานี 189 เรื่อง 2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้ 2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเรื่องร้องทุกข์ 35,945 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 7,510 เรื่อง (มีเรื่องราวร้องทุกข์ 43,455 เรื่อง) 2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ (1) การเสนอและตรากฎหมาย เช่น ขอคัดค้านการจัดตั้งศาลอิสลามในประเทศไทย และขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งขอให้เพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้จุดพลุและดอกไม้ไฟ ดำเนินการจนได้ขอยุติ 2,390 เรื่อง (ร้อยละ 99.71) (2) การรักษาพยาบาล เช่น ขอให้มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล และขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,957 เรื่อง (ร้อยละ 92.22) (3) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน โดยขอให้แก้ปัญหามลภาวะทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,194 เรื่อง (ร้อยละ 96.14) (4) ไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 646 เรื่อง (ร้อยละ 93.76) (5) โทรศัพท์ โดยขอให้ปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์หมายเลขสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค หมายเลขสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคมและหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานของสำนักงานเขตและหน่วยงานอื่น ๆ ในส่วนภูมิภาค ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 586 เรื่อง (ร้อยละ 90.57) (6) น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อน และไม่มีคุณภาพ และขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 430 เรื่อง (ร้อยละ 92.67) (7) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซม/ก่อสร้างถนน พื้นผิวถนน สะพานกลับรถ บาทวิถี ตีเส้นแบ่งช่องการจราจร ขยายช่องทางจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร รวมทั้งขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 395 เรื่อง (ร้อยละ 89.16) (8) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกรณีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ และขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 337 เรื่อง (ร้อยละ 85.75) (9) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้ตรวจสอบ ระงับ ตัดสายกรณีเป็นสายโทรศัพท์จากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการโทรศัพท์แอบอ้างจากกลุ่มมิจฉาชีพ ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 285 เรื่อง (ร้อยละ 69.54) (10) บ่อนการพนัน โดยมีการแจ้งเบาะแสการลักลอบเปิดบ่อนและเล่นการพนันประเภทไพ่ ไฮโล ตู้ม้า ตู้สล๊อต บาคาร่า ถั่ว ไก่ชน โต๊ะสนุ๊กเกอร์ การพนันทายผลฟุตบอล หวยจับยี่กี และสลากกินรวบ ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 348 เรื่อง (ร้อยละ 95.60) 2.3 รายงานสรุปการสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุ ร้องขอความช่วยเหลือและเสนอข้อคิดเห็น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2565) ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นที่ประชาชนสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็นมากที่สุดเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ และมาตรการในการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ และประเด็นที่ประชาชนขอความช่วยเหลือมากที่สุดเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา สรุปได้ ดังนี้ หน่วย : เรื่อง ลำดับที่ ประเภทเรื่อง จำนวน ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ รอผล การพิจารณา 1 การสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็น 37,791 37,791 - 2 ขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ 3,488 3,142 346 รวมทั้งสิ้น 41,279 40,933 346 2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดขอโรคโควิด-19 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564-31 มีนาคม 2565) สรุปได้ ดังนี้ หน่วย : เรื่อง ลำดับที่ ประเภทเรื่อง จำนวน ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ รอผล การพิจารณา 1 แจ้งเบาะแสการกระทำผิดกรณีบ่อนการพนัน 1,228 840 388 2 แจ้งเบาะแสการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และแจ้งเบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย 312 517 195 รวมทั้งสิ้น 1,940 1,357 583 3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ สปน. พบว่า ปัญหาความเดือดร้อนขอประชาชนในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แม้ว่าจำนวนเรื่องร้องทุกข์จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แต่ผลการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับลดลง โดยอาจมีสาเหตุมาจาก (1) ประชาชนไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เช่น กรณีการปรับเปลี่ยนมาตรการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการจัดตั้งศาลอิสลาม (2) หน่วยงานของรัฐขาดการทำงานเชิงรุกในการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเสนอรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่ขาดความน่าสนใจและยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย (3) ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญและการถูกรบกวนจากเสียงของกลุ่มวัยรุ่น ร้านอาหารหรือจากสัตว์เลี้ยงบ่อยครั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการระงับเหตุเป็นรายกรณีเท่านั้นแต่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ และ (4) ประชาชนขอให้หน่วยงานมีการแจ้งผลให้ทราบเป็นระยะรวมทั้งต้องการทราบกรอบระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาและต้องการติดตามผลได้ด้วยตนเอง 4. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้ 4.1 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดจนพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับปัญหาหรือสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง 4.2 ขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย ตรงประเด็น เข้าใจง่าย รวมทั้งประชาสัมพันธ์เน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง 4.3 ควรมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเหตุเดือดร้อนรำคาญเรื่องเสียงดังรบกวนตั้งแต่การระงับเหตุ การบังคับใช้กฎหมาย และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 4.4 ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่มีความพร้อมและมีระบบสารสนเทศเรื่องร้องทุกข์บูรณาการฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์กับ สปน. และให้หน่วยงานกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ 21. เรื่อง กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กพยช. รายงานว่า 1. แนวคิดในการจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากกรอบการวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560) ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ประกอบกับพระราชบัญญัติกรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มีการปฏิรูประบบบริหารงานวิจัยของประเทศ โดยมีระบบบริหารงานวิจัยใหม่ที่เรียกว่า การปฏิรูประบบส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการวิจัยและขอรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากกองทุน ววน. ให้แยกคำของบประมาณวิจัยออกจากงบประมาณตามภารกิจ ดังนั้น การจัดทำกรอบวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมและแนวทางการจัดทำข้อเสนอวิจัยตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมฯ โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กพยช. ได้จัดทำกรอบการวิจัยฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีการบูรณาการการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมของประเทศ และมีการผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) (2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) (3) แผนปฏิรูปประเทศ (พ.ศ. 2561 - 2580) และ (4) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2569) รวมทั้งมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงการปฏิรูประบบส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถานการณ์อาชญากรรม เศรษฐกิจ สังคม และการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. กพยช. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 ซึ่งประกอบด้วย 5 กรอบการวิจัย ดังนี้ 2.1 กรอบการวิจัยที่ 1 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) การดำเนินงานในทุกขั้นตอนมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและมีระบบตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน (2) มีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้มีอรรถคดีให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาค และมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (3) มีกลไกบังคับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และนำมาตรการอื่นมาใช้แทนการควบคุมตัว จำคุก กักขัง และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม (2) ชุดโครงการเพื่อพัฒนามาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญที่เกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง และ (3) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการสืบสวน สอบสวน ฟ้องร้อง และการพิจารณาคดี เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ - เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล - ส่งเสริมสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม - ลดคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอัตรากระทำผิดซ้ำ - อัตราผู้กระทำผิดซ้ำลดลง - ร้อยละที่ลดลงของคดีอาญาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม - ร้อยละของระยะเวลาในการดำเนินคดีลดลง - ร้อยละของประชาชนที่มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมอาญา 2.2 กรอบการวิจัยที่ 2 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ปกครอง เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) การดำเนินงานในทุกขั้นตอนมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและมีระบบตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน (2) มีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้มีอรรถคดีให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาค และมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (3) มีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งอำนวยความยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และขจัดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยการยุติธรรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (2) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และ (3) การวิจัยเพื่อพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมการเยียวยาผู้เสียหาย การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองสิทธิ เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ - เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ทางปกครองที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล - ส่งเสริมสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข - ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี/การไกล่เกลี่ย ผู้ได้รับการเยียวยาข้อพิพาททางปกครองและได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า ... - จำนวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการงานยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมถึงความไม่ทันสมัยของกฎหมายที่ลดลง ... - การพิจารณาคดีทางแพ่ง ทางปกครองแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นร้อยละ ... - มีกระบวนการและกลไกส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม 2.3 กรอบการวิจัยที่ 3 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมาย ให้กฎหมายมีความทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น และมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2) ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน และ (3) มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการออกกฎหมาย (2) การวิจัยเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และ (3) การจัดทำแนวทางในการสังคายนากฎหมาย เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เพื่อพัฒนากฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรม (Rule of law) ทันสมัย รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ - จำนวนกฎหมายมีการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ ตลอดจนผ่านกระบวนการและกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย - จำนวนกฎหมายที่มีการประกาศใช้แล้ว มีการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเสมอ - มีกระบวนการส่งเสริมพัฒนากฎหมายใหม่ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการบังคับใช้กฎหมายต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน 2.4 กรอบการวิจัยที่ 4 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม ทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ ได้แก่ (1) ให้มีการปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนและมีความเป็นธรรม โดยมีการกำหนดโทษอาญาที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด มีการกระทำผิดซ้ำลดลง (2) พัฒนาระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด (3) บูรณาการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาและจำเลย และ (4) มีการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรม และ (2) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม (เช่น การพัฒนางานพิสูจน์หลักฐาน) เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ บูรณาการเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีนวัตกรรมสนับสนุนการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรม - มีระบบฐานข้อมูล มีการบูรณาการฐานข้อมูลกลางและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายและการบริหารงานยุติธรรม - มีการใช้นวัตกรรมสนับสนุนระบบการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม 2.5 กรอบการวิจัยที่ 5 กรอบการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีระบบบริหารจัดการที่ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) ชุดโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม (2) ชุดโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และ (3) ชุดโครงการเพื่อพัฒนาและจัดทำตัวชี้วัดกระบวนการยุติธรรม เป้าประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ - เพื่อส่งเสริมระบบบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ - ส่งเสริมความเป็นธรรม ความก้าวหน้า และการทำงานบูรณาการ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข - ร้อยละของการบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม - อัตราส่วนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้รับการพัฒนาศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ มีเส้นทางอาชีพ และมีสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจเข้มแข็ง - ตัวชี้วัดด้านกระบวนการยุติธรรมสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง - มีกระบวนการและกลไกจัดการองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมมีความครอบคลุมในทุกมิติ และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย 3. การบริหารจัดการงานวิจัยด้านการบริหารงานยุติธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย สกธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยในกระบวนการยุติธรรมได้พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย ประกอบด้วยการบูรณาการ 3 กระบวนการ ได้แก่ (1) กระบวนการต้นน้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย กำหนดกรอบแผนงานวิจัย พิจารณาหัวข้อโครงการ จัดทำข้อเสนอโครงการ และเสนอขอรับทุนวิจัยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำกรอบการวิจัยฯ ด้วย (2) กระบวนการกลางน้ำ โดยการบริหารและดำเนินโครงการวิจัยต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมหลังจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณ การจัดทำสัญญาและหานักวิจัย รวมถึงการติดตามการดำเนินโครงการ และ (3) กระบวนการปลายน้ำ โดยร่วมกันผลักดันให้นำการวิจัยที่แล้วเสร็จไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วยการจัดประชุมเวทีสัมมนาวิชาการและการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงงานวิจัยในปีต่อ ๆ ไป ให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น 22. เรื่อง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเป็นกรณีเฉพาะเป็นการชั่วคราว ภายในกรอบวงเงินโครงการ 8,319.24 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ประกอบด้วย 1. การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลัง (กค.) ได้ให้ความเห็นชอบความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายแล้ว ในวงเงิน 8,159.14 ล้านบาท 2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. สำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส) ปัจจุบันคิดเป็น ร้อยละ 1.95 ต่อปี และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท วงเงิน 160.10 ล้านบาท สาระสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ใช้จ่ายจากแหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชดเชยภาระทางการเงินให้แก่ ธ.ก.ส. ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป โดยโครงการฯ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงาน ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ โดย ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยโดยตรง ในอัตรา 120 บาทต่อตัน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยมีปริมาณอ้อยสดที่ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น จำนวน 67.99 ล้านตัน มีรูปแบบการดำเนินการและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับการดำเนินการในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าโครงการที่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจะไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามพันธกรณีในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน มีความเหมาะสม และได้รับแจ้งจาก ธ.ก.ส. ว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการสำรองจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ ไปพลางก่อน อีกทั้งโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ด้วยแล้ว โดยรูปแบบโครงการที่เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงตามปริมาณอ้อยตามเงื่อนไขที่กำหนดในครั้งนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2561/2562 23. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร วงเงิน 212,102,829.62 บาท ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยบริหารงบประมาณฯ รวมทั้งจะได้เร่งคืนเงินตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศทั้ง 6 เรื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ สาระสำคัญและข้อเท็จจริง 1. ตั้งแต่เริ่มต้นมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้ว จำนวน 43 เรื่อง เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ประมาณ 8,560 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ภายใต้มาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จำนวน 22 เรื่อง รวมเป็นเงินจำนวน 541,497,790.15 บาท โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณประจำปีของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบระหว่างเงินที่รัฐบาลคืนให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศกับจำนวนเงินที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศนำเข้ามาลงทุนและกระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง จำนวนตั้งแต่ 40 - 188 ล้านบาทต่อปี 2. ภาพยนตร์ต่างประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ได้ถ่ายทำเสร็จสิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564โดยนำเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย 1,191.84 ล้านบาท และกระจายรายได้ไปสู่ทีมงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 12,000 คน รวมถึงส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนสร้างผลกระทบในระบบเศรษฐกิจอัตราทวีคูณ (ประมาณ 2,384 ล้านบาท) ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวผ่านการตรวจสอบเอกสารทางการเงินและได้รับอนุมัติเงินคืนจากคณะกรรมการพิจารณาการคืนเงินสำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มีวงเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ดังกล่าว จำนวนเงินทั้งสิ้น 216,818,134.76 บาท รายละเอียดตามตาราง ต่อไปนี้ ที่ ชื่อภาพยนตร์ นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย วงเงินหลังตรวจสอบเอกสารทางการเงิน วงเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินคืน สถานะ การดำเนินการ 1 JM ฝรั่งเศส 140,002,923.81 134,660,848.77 26,932,169.75 อนุมัติเงินคืนแล้ว 20 ม.ค. 65 2 Forbidden สิงคโปร์ 73,852,439.62 71,960,257.00 12,952,846.26 อนุมัติเงินคืนแล้ว 28 มิ.ย. 65 3 Shantaram 1 สหรัฐอเมริกา 379,605,848.03 345,358,950.42 69,071,790.08 อนุมัติเงินคืนแล้ว 28 มิ.ย. 65 4 Shantaram 2 สหรัฐอเมริกา 243,638,151.86 231,417,891.06 46,283,578.21 อนุมัติเงินคืนแล้ว 28 มิ.ย. 65 5 Beer Run สหรัฐอเมริกา 255,427,243.41 237,403,335.30 47,480,667.06 อนุมัติเงินคืนแล้ว 28 มิ.ย. 65 6 Beer Run 2 สหรัฐอเมริกา 99,316,213.72 93,980,556.00 14,097,083.40 อนุมัติเงินคืนแล้ว 28 มิ.ย. 65 รวม 1,191,842,820.45 216,818,134.76 หมายเหตุ เรียงลำดับก่อน-หลัง ตามวันที่ส่งเอกสารทางการเงินและวันที่ได้รับอนุมัติเงินคืน ทั้งนี้ ภาพยนตร์ทั้ง 6 เรื่องดังกล่าวมีแผนออกฉายภายในปี พ.ศ 2565 ผ่านทางโรงภาพยนตร์และช่องทางออนไลน์ เช่น HBO, Paramount+, Apple TV โดยภาพยนตร์ทุกเรื่องมีการใส่เครดิตท้ายเรื่องว่ามีการถ่ายทำในประเทศไทย ได้รับเงินสนับสนุนและความร่วมมือจากประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งข้อความเหล่านี้จะได้รับการเผยแพร่ไปสู่สายตาผู้ชมและผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลก 3. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 รายการค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร วงเงินทั้งสิ้น 167,612,800 บาท โครงการดังกล่าวมีผลการเบิกจ่ายและผูกพันสัญญาแล้วทั้งสิ้น 154,940,289.86 บาท และมีแผนการใช้เงินในไตรมาสที่ 4 อีกจำนวน 7,957,204 บาท จึงคงเหลือเงินในโครงการดังกล่าวจำนวน 4,715,305.14 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินคืนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ได้รับการอนุมัติเงินคืนเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6 เรื่อง ตามข้อ 2 4. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรสำหรับจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ 6 เรื่อง จำนวนเงิน 212,102,829.62 บาท ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการต่อไป รายละเอียดปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 และกรมการท่องเที่ยวมีหนังสือลงวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 5. สำนักงบประมาณได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่อง ตามข้อ 4 โดยสำนักงบประมาณได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 212,102,829.62 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร 24. เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามแนวทางการบริหารงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนทั้งสิ้น 486,086,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลกรภาครัฐ ภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ 25. เรื่อง เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า 1. ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 มีผลให้คณะอนุกรรมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกที่ มท. กำหนดขึ้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 สิ้นสุดลงด้วย และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในระดับพื้นที่มีความต่อเนื่องและนำไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้มีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ 2. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ตามข้อ 1) ให้ มท. ปรับกลไกระดับจังหวัดที่มีอยู่เดิมจาก ?คณะอนุกรรมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด? เป็น ?คณะอนุกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบระดับจังหวัด? โดยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต* (คณะกรรมการ สปท.) ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแนวทางบูรณาการและการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อจัดทำร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... 3. คณะกรรมการ สปท. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 มีมติให้ปรับกลไกการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับจังหวัด จาก ?คณะอนุกรรมการ...? เป็น ?คณะกรรมการ...? และเห็นชอบร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... และให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 54/2565 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 3.1 องค์ประกอบ (1) ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการ (2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด กรรมการ (รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตจังหวัด) (3) ปลัดจังหวัด กรรมการ (4) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด กรรมการ (5) ท้องถิ่นจังหวัด กรรมการ (6) วัฒนธรรมจังหวัด กรรมการ (7) ศึกษาธิการจังหวัด กรรมการ (8) หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด กรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 15 คน (9) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรรมการ (10) นายกเทศมนตรี กรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน (11) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 3 คน (12) ประธานหอการค้าจังหวัด กรรมการ (13) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กรรมการ (14) ประธานชมรมธนาคารจังหวัด กรรมการ (15) ผู้แทนจากสถาบันทางวิชาการ กรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน (16) ผู้แทนคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด กรรมการ (17) ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน กรรมการ หรือภาคประชาสังคม ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน (18) ผู้แทนภาคสื่อสารมวลชนสาธารณะ กรรมการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน (19) ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. กรรมการ ประจำจังหวัด และเลขานุการร่วม (20) ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต กรรมการ หรือผู้แทน และเลขานุการ (21) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด กรรมการ และเลขานุการร่วม 3.2 หน้าที่และอำนาจ (1) จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศไทยปลอดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบและยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยให้มีการรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทุจริต เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง (3) ขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด (4) กำกับดูแล และติดตามการแก้ไขปัญหาการทุจริตในจังหวัดเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยนำสถิติคดี ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา (5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือที่ได้รับมอบหมาย (6) ปฏิบัติหน้าที่และรายงานผลตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ กำหนด (7) ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัดและรายงานผลต่อศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มท. เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นรายไตรมาส (8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ *คณะกรรมการ สปท. มีหน้าที่และอำนาจในการให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือ และร่วมมือกันดำเนินการกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต (2) ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือน กรณีพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงานของตน และ (3) ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง ต่างประเทศ 26. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (บันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ อก. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยขออนุมัติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อรับมอบงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการ 2 โครงการ วงเงินรวม 440,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16 ล้านบาท) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ โครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน วงเงิน 225,600 ดอลลาร์สหรัฐ (8.18 ล้านบาท) เพื่อฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และโครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคแม่โขง ? ล้านช้าง: การทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 215,000 ดอลลาร์สหรัฐ (7.82 ล้านบาท) เพื่อการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทานและจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในประเด็นดังกล่าว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบทั้ง 2 โครงการแล้ว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีหนังสือแจ้งเรื่องการอนุมัติโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง ? ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งโครงการของ อก. ที่ได้รับการอนุมัติมี 2 โครงการ รายละเอียดสรุป ดังนี้ (1) โครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน (Capacity Building on Food Security in Agro - Processing Industry among Mekong Countries and People?s Republic of China) มีวัตถุประสงค์ เสริมสร้างความรู้ และขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางอาหารในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ตลอดจนสร้างเครือข่ายการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public - Private Partnership: PPP) ระหว่างประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง ? ล้านช้าง โดยรูปแบบกิจกรรมคือการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การสัมมนา และ การวิจัยร่วมกัน ระยเวลาดำเนินการ 18 เดือน งบประมาณ 225,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.47 ล้านหยวน หรือประมาณ 8.18 ล้านบาท) หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันอาหาร (2) โครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง : การทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน (Circular Economy Capability Building in the Lancang - Mekong Region: Product Verification of Plastics Packaging in Supply Chains) มีวัตถุประสงค์ ถ่ายทอดความรู้ และยกระดับขีดความสามารถเกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทานจากประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยรูปแบบกิจกรรมคือ การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน ระยเวลาดำเนินการ 12 เดือน งบประมาณ 215,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.4 ล้านหยวน หรือประมาณ 7.82 ล้านบาท) หน่วยงานรับผิดชอบ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 3. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยประสงค์ให้ อก. ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อส่งมอบงบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าว อก. จึงจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ข้อเสนอในครั้งนี้) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยหลักการเบื้องต้น มุ่งบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้เกิดสันติภาพ ความมั่งคั่งต่อประเทศและเกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายต้องเคารพกฎหมายและกฎระเบียบของกันและกัน และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุนฯ ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยระยะเวลา มีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามเป็นเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีก 5 ปี ยกเว้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแจ้งยกเลิกให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวันหมดอายุ 27. เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และธนาคารแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือข้อขัดข้องหรืออุปสรรค์ในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. ภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaida) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 UNSC ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1368 (ค.ศ. 2001) ประณามการก่อการร้ายดังกล่าว และต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 UNSC ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1373 (ค.ศ. 2001) เรียกร้องให้รัฐสมาชิกป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง [คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 อนุมัติและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการตามข้อมติ UNSC ที่ 1373 (ค.ศ. 2001) แล้ว] 2. ที่ผ่านมา UNSC ได้มีการรับรองข้อมติ UNSC เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้ายหลายฉบับเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปและป้องกันภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และในการประชุมครั้งที่ 8934 ของ UNSC เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมฯ ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติจึงมีพันธกรณีที่ต้องดำเนินการตามข้อมติดังกล่าว เนื่องจากมีผลผูกพันไทยอย่างครบถ้วน และข้อมติ UNSC ฯ เป็นการระบุเกี่ยวกับการดำเนินการตามหมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ (การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพการละเมิดสันติภาพและการกระทำการรุกราน) 3. กระทรวงการต่างประเทศขอนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้ายโดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือข้อขัดข้องหรืออุปสรรคในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป ซึ่งข้อมติดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้ ข้อมติ UNSC ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เป็นการกำหนดให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติดำเนินการตามมาตรการในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันและตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น 1) การอายัดทรัพย์สิน :อายัดเงินทุนและสินทรัพย์ทางการเงินหรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของบุคคลกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์ (Islamic state in Iraq and the Levant: ISIL) และ Al-Qaida โดยทันที ซึ่งรวมถึงเงินทุนที่ได้มาจากทรัพย์สินที่บุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าของหรือควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อม และดำเนินการเพื่อประกันว่าเงินทุนเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว 2) การห้ามเดินทาง : การป้องกันการเข้าประเทศหรือการเดินทางผ่านของกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida โดยมีเงื่อนไขว่า มาตรการนี้จะไม่ใช้บังคับในกรณีที่การเข้าหรือผ่านนั้นเป็นไปเพื่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม 3) การค่ำบาตรทางอาวุธ : ป้องกันมิให้มีการจัดหา ขาย หรือถ่ายโอนอาวุธและอุปกรณ์ทุกประเภท รวมถึงคำแนะนำเชิงเทคนิค ความช่วยเหลือ หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหารไปยังบุคคล กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 4) เกณฑ์การขึ้นบัญชี : การกระทำหรือกิจกรรมของบุคคล กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่บ่งชี้ว่าสนับสนุนหรือมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ดังนี้ (1) การมีส่วนร่วมในการจัดหาเงินทุน วางแผน อำนวยความสะดวกทางสินทรัพย์ การงิน ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และธุรกรรมทางการเงินหรือกิจกรรมสร้างรายได้ใด ๆ ทุกประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มดังกล่าว เช่น การค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาวุธ วัตถุโบราณ ผลประโยชน์จากอาชญากรรม (2) การจัดหา ขาย หรือถ่ายโอนอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (3) การสรรหาสมาชิกหรือสนับสนุนการกระทำหรือกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าว หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่แยกแตกสาขา หรือพัฒนาจากกลุ่มเหล่านี้ บุคคลและกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องถูกจัดไว้ในบัญชีรายชื่อตามมาตรการลงโทษ กลุ่ม ISIL และ Al-Qaida (บัญชีรายชื่อฯ ) 28. เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In-person) และความคืบหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In-person) ระหว่างวันที่ 21 - 25 มีนาคม 2565 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และความคืบหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ โดยมีผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ทส. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 มีนาคม 2565) เห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทย รวมทั้งร่างปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In-person) 1.1 รับรองปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากร่างปฏิญญาฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 1.2 มติข้อตัดสินใจสำคัญที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหรือสามารถนำมาปรับใช้ประกอบด้วย (1) ข้อเสนอสำหรับการแก้ไขภาคผนวก เอ (ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท) ของอนุสัญญามินามาตะฯ เช่น เห็นชอบให้เพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท 8 รายการ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์แบบบัลลาสต์ภายใน สำหรับการใช้งานทั่วไป ขนาดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 วัตต์ และมีปรอทบรรจุไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อหลอด และฟิล์มและกระดาษถ่ายภาพ เห็นชอบให้นำผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติไปพิจารณาต่อในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 5 และเห็นชอบให้เพิ่มมาตรการลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรมอีก 2 มาตรการ แต่ยังไม่เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้ (2) ความเป็นไปได้ที่จะนำร่างแนวทางการใช้พิกัดศุลกากร ซึ่งมีตัวเลขมากกว่า 6 หลัก เพื่อตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทตามความสมัครใจ (3) การรับรองแนวทางของวิธีการจัดทำทำเนียบปรอทสำหรับรายการแหล่งกำเนิดที่ปล่อยปรอท และเชิญชวนภาคีปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวเพื่อจัดทำทำเนียบปรอทที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดที่เกี่ยวข้อง (4) การรับรองการปรับปรุงแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก โดยเรียกร้องการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและดำเนินการ (5) การเห็นชอบที่จะเริ่มประเมินความมีประสิทธิผลของอนุสัญญามินามาตะฯ ครั้งแรก คือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 และจะพิจารณากำหนดเวลาในการประเมินความมีประสิทธิผลในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 5 และ (6) วาระสำคัญอื่น ๆ เช่น กำหนดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 5 ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 2. สาระสำคัญที่มีความคืบหน้าและจะนำไปหารือต่อในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 5 เช่น การพิจารณาค่าขีดจำกัดขั้นต่ำของของเสียที่ปนเปื้อนปรอทหรือสารประกอบปรอท การทบทวนกลไกทางการเงิน และการเห็นชอบให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญามินามาตะฯ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการ (Inter-secretariat working groups) กับสำนักเลขาธิการฯ ของ 3 อนุสัญญา (อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตรายและการกำจัด อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศและอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน) (BRS Conventions) 3. หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุนร่างมติข้อตัดสินใจในการปรับปรุงความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอนุสัญญามินามาตะฯ และสำนักเลขาธิการ 3 อนุสัญญา (BRS Conventions) เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อนโยบายและการดำเนินงานในปัจจุบันของประเทศไทย 4. สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการ ตามมติข้อตัดสินใจ คือ (1) นำร่างแนวทางการใช้พิกัดศุลกากร ซึ่งมีตัวเลขมากกว่า 6 หลัก มาช่วยสนับสนุนการจำแนกผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทออกจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เติมปรอท ภายใต้การคำเนินงานของคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ และ (2) นำแนวทางของวิธีการจัดทำทำเนียบปรอทสำหรับรายการแหล่งกำเนิดที่ปล่อยปรอทมาปรับใช้ในการจัดทำทำเนียบปรอทของประเทศไทยและแผนระดับชาติด้านการจัดการปรอท ภายใต้โครงการ Advanced Minamata Assessment in Thailand ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ในรอบที่ 7 5. ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ตามแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ และข้อเสนอในการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อการภาคยานุวัติในอนุสัญญามินามาตะฯ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท (เช่น สวิตซ์ไฟฟ้า และหลอดฟลูออเรสเซนต์) และกรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการลดการใช้ปรอท 5 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 กำหนดวัตถุประสงค์ระดับชาติเพื่อป้องกันฟันผุและสนับสนุนการสร้างทันตสุขภาพที่ดีเพื่อลดความต้องการในการบูรณะฟัน มาตรการที่ 3 ส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุทดแทนอะมัลกัมในการบูรณะฟันน้ำนม มาตรการที่ 5 ยกเลิกการสอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพ หัวข้อทันตกรรมหัตถการอุดฟันด้วยอะมัลกัมในผู้ป่วยเด็ก มาตรการที่ 8 ห้ามการผลิต นำเข้า และส่งออกอะมัลกัมชนิดเม็ดในประเทศไทย และมาตรการที่ 9 สนับสนุนการใช้แนวปฏิบัติการจัดการขยะติดเชื้อและขยะปนเปื้อนปรอทจากคลินิกทันตกรรมเพื่อลดการปล่อยปรอทและสารประกอบปรอทลงสู่น้ำและดิน 29. เรื่อง รายงานผลการติดตามและการประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานผลการติดตามและการประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนากลไกเครดิตร่วมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 (เรื่อง การขยายระยะเวลาความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนา JCM) ให้ ทส. รายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้ JCM ให้คณะรัฐมนตรีทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. สถานภาพโครงการต้นแบบ JCM กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ให้เงินทุนสนับสนุนในการพัฒนโครงการต้นแบบ JCM ในประเทศไทย จำนวน 44 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2,528 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนร่วมภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มากกว่า 8,276 ล้านบาท และมีหน่วยงานผู้รับทุนเป็นบริษัทเอกชนไทย จำนวน 42 แห่ง โดยโครงการต้นแบบที่ได้รับทุนเป็นโครงการประเภทการผลิตพลังงานหมุนเวียน จำนวน 23 โครงการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 21 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 219,381 ตันคาร์บอนดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 2. สถานภาพโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน มีโครงการต้นแบบ JCM ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จำนวน 9 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 50,801 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ฝ่ายไทย 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฝ่ายญี่ปุ่น 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) 3. ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการ การพัฒนาโครงการต้นแบบ JCM ต้องมีผู้ร่วมพัฒนาโครงการฝ่ายญี่ปุ่น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้งานฐานข้อมูลจับคู่ทางธุรกิจ และร่วมกับสภาอุตสาหกรรมในการส่งเสริมให้ที่ปรึกษาของหน่วยงานให้ทุนฝ่ายญี่ปุ่นเข้าถึงผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนาโครงการต้นแบบ JCM 30. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ภายใต้หัวข้อ ?บทบาทของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในการฟื้นฟูทั่วโลกภายหลังการแพร่ระบาดครั้งใหญ่: หนทางสู่อนาคต? (The role for the Non-Aligned Movement in Post-Pandemic Global Recovery: The Way Forward) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ สาระสำคัญของร่างปฏิญญาทางการเมืองระบุวิสัยทัศน์และเป้าหมายของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่นำมาจากเอกสารปฏิญญาทางการเมืองที่ผ่านมา ดังปรากฎในข้อ 1 ? 4 โดยมีเนื้อหาเพิ่มเติมสำหรับร่างปฏิญญาทางการเมืองฉบับนี้ ดังปรากฎในข้อ 5 ดังนี้ 1. ย้ำถึงวิสัยทัศน์และหลักการของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ยึดมั่นในสันติภาพความเสมอภาคและความร่วมมือ ความเป็นอยู่ที่ดี การต่อต้านการแทรกแซง ครอบงำและยึดครองของต่างชาติและย้ำถึงจุดยืนทางการเมืองที่ประสงค์จะรักษาสมดุลทางอำนาจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ 2. ย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่นการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี และเรียกร้องให้รัฐสมาชิกกลุ่มประทศไม่ฝักใผ่ฝ่ายใดแสดงความเป็นเอกภาพภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่ท้าทายสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน 3. สนับสนุนให้ระบบพหภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสนับสนุนภารกิจเสาหลักทั้งสามของสหประชาชาติ ได้แก่ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน 4. ย้ำถึงสิทธิของรัฐสมาชิกในการกำหนดแนวท่างการพัฒนาประเทศและทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาระเบียบโลกให้นำมาซึ่งสันติภาพ ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรมเสมอภาค รวมทั้ง ประณามการใช้มาตรการบีบบังคับฝ่ายเดียวต่อรัฐสมาชิกของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ 5. ชื่นชมบทบาทของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ายใดที่อยู่ในศูนย์กลางของความพยายามในระดับพหุภาคีในการขจัดผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเสนอว่า กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดควรรักษาบทบาทนำด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายภายหลังการแพร่ระบาด ทั้งนี้ การประชุม NAM Ministerial Meeting มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 31. เรื่อง ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของฝ่ายไทยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ 1. ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) กระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรียได้ตกลงที่จะจัดการหารือระหว่างกัน ในประเด็นความร่วมมืออันมีผลประโยชน์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ 2) การหารือของทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและจัดสลับกันในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรียในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน 3) การแก้ไขร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯสามารถกระทำได้ หากได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายและในกรณีที่มีความแตกต่างในการตีความและ/หรือการปฏิบัติตามความตกลง ทั้งสองฝ่ายจะใช้วิธีเจรจาเพื่อหาข้อสรุป 4) ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการลงนาม และจะมีผลใช้ในช่วงแรกเป็นเวลาห้าปีโดยจะมีผลใช้บังคับต่อไปโดยอัตโนมัติอีกครั้งละห้าปี เว้นแต่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทราบถึงเจตนาที่จะยกเลิกร่างข้อตกลงฯ อย่างน้อยหกเดือนก่อนวันสิ้นสุดของร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ 2. ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างข้อตกลงว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 32. เรื่อง ขอความเห็นชอบในการรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี Regional Cooperative Agreement (RCA) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี Regional Cooperative Agreement (RCA) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี RCA ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง มอบหมายให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี RCA ร่วมลงนามรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี RCA ในวันที่ 26 กันยายน 256 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตามที่กระทรวงการอุคมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ สาระสำคัญ ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี RCA มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ (1) การตระหนักถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาและจัดการกับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การตระหนักถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (3) การตระหนักถึงความสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือ RCA ในการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในด้านต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (4) การตระหนักถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้กรอบความร่วมมือฯ ทั้งในระดับบุคคล คณะทำงาน และองค์กร (5) การเน้นย้ำถึงบทบาทของ IAEA ในการสนับสนุนด้านเทคนิคและงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือฯ และ (6) การส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของรัฐสมาชิกเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของภูมิภาคและสร้างความยั่งยืนให้กับกรอบความร่วมมือฯ ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ขอความอนุเคราะห์ให้เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นผู้แทนรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม RCA Ministerial Level Meeting ในวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย แต่งตั้ง 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายวัชระ เสือดี วิศวกรชลประทานเชี่ยวชาญ กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) (วิศวกรชลประทานทรงคุณวุฒิ) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 1. นางสาวลักษณวดี ธนามี ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 2. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 36. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้ 1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป 37. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ชุดใหม่ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้ 1. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป