http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (11 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ
แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม
กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง
พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลา การใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนด เขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ ทำการประมงหรือเรือขนส่งถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. .... 6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะสุกร จังหวัดตรัง พ.ศ. .... 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขต เศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... 8. เรื่อง รายงานผลการตรากฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวน
และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
เศรษฐกิจ สังคม
9. เรื่อง โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน 10. เรื่อง ขออนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ ฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ (ครั้งที่ 3) 11. เรื่อง หลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 12. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการ กรณี ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วย
การกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม
และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
13. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถี
ใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยซน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค
วุฒิสภา
14. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่
ครั้งที่ 1/2565
15. เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนัก
นายกรัฐมนตรีกับหน่วยงานเครือข่าย
16. เรื่อง ผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการ
ท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
17. เรื่อง โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค 18. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ชายเลนเพื่อก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 19. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ชายเลนเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย
20. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน เพื่อดำเนินงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 21. เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับ
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ
ต่างประเทศ
22. เรื่อง การสนับสนุนกำลังพลกองทัพไทย เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังชั่วคราวรักษา ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับเอบิเย 23. เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับ สาธารณรัฐเยเมน 24. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งเยาวชนอาเซียน พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมสร้าง บทบาทของเยาวชนในการสร้างประชาคมอาเซียน 25. เรื่อง ร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางอากาศและทางทะเล 26. เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์
ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced
Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6
27. เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน ของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอต เตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตราย และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้าง ยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face 28. เรื่อง การขอความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคม สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the Twenty- Eighth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) 29. เรื่อง ขอความเห็นชอบการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษา อาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง 30. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำ
การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 6
31. เรื่อง การร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28
และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
แต่งตั้ง
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ
ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง
(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
34. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (กระทรวงพลังงาน) 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป และรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ มท. เสนอว่า 1. สืบเนื่องจาก กทม. ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจ และเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน ซึ่งระยะเวลาบังคับใช้มีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยโครงการดังกล่าวแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง รวมระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ดังนี้ 1.1 ช่วงถนนทวีวัฒนาถึงซอยเพชรเกษม 69 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ (แนวเหนือ ? ใต้) ข้ามซอยเพชรเกษมตามแนวถนนทวีวัฒนาและซอยเพชรเกษม 69 1.2 ช่วงซอยเพชรเกษม 69 ถึงถนนบางบอน 3 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) ขยายช่องทางจราจรบริเวณสะพานข้ามคลองภาษีเจริญ จากเดิม 2 ช่องทางจราจร ขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร 2) ขยายช่องจราจรบริเวณซอยเพชรเกษม 69 และถนนบางบอน 3 จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องทางจราจร 3) ขยายเส้นทางจราจรบริเวณแยกจุดตัดของถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือและฝั่งใต้เป็น 5 ช่องทางจราจร เพื่อให้รถสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดบริเวณแยกจุดตัดทั้ง 2 ได้ 2. ปัจจุบันโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ระหว่างการสำรวจและดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2561 สาเหตุเนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างถูกเวนคืนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ได้ประกาศใช้อันเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทำให้การดำเนินการเวนคืนต่อไป ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ส่งผลให้การจัดกรรมสิทธิ์เพื่อให้ได้ที่ดินทั้งหมดมาดำเนินโครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป อีกทั้งด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ไม่สามารถเข้าสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีที่ดินที่จะถูกเวนคืนประมาณ 172 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 130 รายการ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสำรวจที่ดิน 26 แปลง และโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 20 รายการ ยังคงเหลืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงโดยแน่ชัดเป็นที่ดินประมาณ 146 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 110 รายการ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. ที่ยังดำเนินการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มายังไม่แล้วเสร็จ กทม. จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน 3. กทม. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยวิธีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะเวนคืนและบริเวณใกล้เคียงก่อนการเสนอตราพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยผลสรุปประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีความพึงพอใจต่อโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร อยู่ในระดับมากที่สุด 4. สำนักงบประมาณ แจ้งว่า กทม. มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ? 22 พฤศจิกายน 2569) ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์ จำนวน 509,212,000 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม. ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ กทม. จะต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงความเสี่ยง ความเสียหาย และภาระเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบด้วย 5. มท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) [เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] แล้ว โดยกรมการปกครองแจ้งว่าไม่ได้รับผิดชอบเขตการปกครองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตการปกครองที่ปรากฏในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ได้ ทั้งนี้ กทม. ได้ตรวจสอบความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองแล้ว สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการดำเนินการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัดต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 พ.ศ. 2561 ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ อก. รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ อก. เสนอว่า 1. กฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร พ.ศ. 2564 ข้อ 12 กำหนดว่า ?เมื่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ได้กำหนดเขตพื้นที่ประทานบัตรแล้ว ให้แจ้งผู้ขอรับประทานบัตรดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ? ข้อ 13 กำหนดว่า ?การพิจารณาออกประทานบัตรให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ ฯลฯ? และข้อ 14 กำหนดว่า ?เมื่อดำเนินการตามข้อ 13 แล้ว เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร? 2. แต่โดยที่ความในข้อ 13 ของกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาออกประทานบัตร โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ จึงทำให้ขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไม่สอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ หากดำเนินการตามข้อ 14 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งให้เสนอความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 3. ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตอาชญาบัตรและประทานบัตรอันเป็นการปฏิบัติตามภารกิจของส่วนราชการในการบริการประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมาย ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในภายหลัง อก. พิจารณาแล้ว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งปรับปรุงจากกฎกระทรวงเดิม ดังนี้ ประเด็น กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 64 ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ อก. เสนอ หมายเหตุ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ - ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการของเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมประจำท้องที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศที่ออกตามมาตรา 37 (ข้อ 8 วรรคสอง) - ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการของเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศที่ออกตามมาตรา 37 - ยกเลิกความในข้อ 8 วรรคสอง โดยเพิ่มเติมตำแหน่งเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ขั้นตอนการออกประทานบัตร - เมื่อดำเนินการตามข้อ 13 แล้ว ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร (ข้อ 14 วรรคหนึ่ง) - ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการของเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมประจำท้องที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศที่ออกตามมาตรา 37 (ข้อ 14 วรรคสอง) - เมื่อดำเนินการตามข้อ 12 แล้ว ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร (ข้อ 13 วรรคหนึ่ง) - ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการของเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศที่ออกตามมาตรา 37 (ข้อ 13 วรรคสอง) - ยกเลิกความในข้อ 14 เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงาน สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตรตามกฎกระทรวงการขอและการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. แก้ไขตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร จากเดิม ?เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมประทำท้องที่? เป็น ?เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่? 2. ปรับปรุงขั้นตอนในการออกประทานบัตร จาก การที่ต้องดำเนินการพิจารณาออกประทานบัตรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในข้อ 13 ของกฎกระทรวงฯ ก่อน แล้วจึงให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร เป็น การดำเนินการเมื่อเจ้าพนักงานแร่ประจำท้องที่ได้กำหนดเขตพื้นที่ประทานบัตรแล้ว ให้แจ้งผู้ขอรับประทานบัตรดำเนินการ ตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 12 ของกฎกระทรวงฯ ก่อน แล้วจึงให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาออกประทานบัตร 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ สลค. เสนอว่า 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 กรกฎาคม 2562) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้ ปีที่ สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง 1 22 พฤษภาคม 2562 ? 18 กันยายน 2562 1 พฤศจิกายน 2562 ? 28 กุมภาพันธ์ 2563 2 22 พฤษภาคม 2563 ? 18 กันยายน 2563 1 พฤศจิกายน 2563 ? 28 กุมภาพันธ์ 2564 3 22 พฤษภาคม 2564 ? 18 กันยายน 2564 1 พฤศจิกายน 2564 ? 28 กุมภาพันธ์ 2565 4 22 พฤษภาคม 2565 ? 18 กันยายน 2565 1 พฤศจิกายน 2565 ? 28 กุมภาพันธ์ 2566 2. โดยที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565 ดังนั้น จึงสมควรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองสำหรับปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างประกาศ เป็นการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ต่อไปอีกสองปีนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจัดทำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) 5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนส่งถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเป็นการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดวิธีการปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำเกี่ยวกับการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง การแจ้งเข้าออกท่าเทียบเรือ และวิธีปฏิบัติอื่น ๆ ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น กล่าวคือ เจ้าของเรือสนับสนุนต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงและดูแลรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา (กรณีที่เป็นเรือสนับสนุน หรือเรือจดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือเป็นเรือสนับสนุน เรือสนับสนุนต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ) โดยต้องมีการแจ้งการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงเมื่อแล้วเสร็จและตำแหน่งจุดจอดเรือเพื่อตรวจสอบการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และต้องแจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือทุกครั้ง รวมทั้งต้องดำเนินการเพื่อให้ระบบติดตามเรือประมงส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดเชิงหน้าที่ของระบบติดตามเรือประมงทุก 1 ชั่วโมง (กรณีงดใช้เรือเป็นการชั่วคราว สามารถยื่นคำร้องขอปรับลดจำนวนครั้งในการส่งข้อมูลระบบติดตามเรือประมงได้) ตลอดจนกรณีที่มีระบบติดตามเรือประมงขัดข้อง ให้เจ้าของเรือสนับสนุนแต่ละประเภทดำเนินการแก้ไขระบบติดตามเรือประมงให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถแก้ไขได้ให้นำเรือสนับสนุนกลับเข้าเขตท่าเทียบเรือทันที และกรณีเข้าไปทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่องค์การระหว่างประเทศนั้นกำหนด สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดวิธีการปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. กำหนดเงื่อนไขการเป็นเรือสนับสนุนประมงที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ คือ เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือกลเดินทะเลที่มีขนาดตั้งแต่ 30 กรอสขึ้นไป ที่มีประเภทการใช้เรือดังต่อไปนี้ เป็นเรือสนับสนุน (1) เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น (2) เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง (3) เรือบรรทุกน้ำจืด (4) เรือบรรทุกน้ำจืดเพื่อการประมง (5) เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส และ (6) เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส 2. กำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือสนับสนุนต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงและดูแลรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ 2.1 เรือสนับสนุนต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ 2.2 เรือสนับสนุนที่จดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือเป็นเรือสนับสนุน ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ 2.3 เรือสนับสนุนที่ประสงค์เข้าไปทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศ ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงให้แล้วเสร็จก่อนที่กรมประมงจะส่งรายชื่อเรือสนับสนุนไปยังองค์การระหว่างประเทศ เพื่อระบุลงในบัญชีรายชื่อขององค์การระหว่างประเทศ หรือก่อนออกไปทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศ 3. เจ้าของเรือสนับสนุนที่ได้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมงดังกล่าวแล้วจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 3.1 แจ้งการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และตำแหน่งจุดจอดเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการภายใน 7 วันนับแต่วันที่ติดตั้งระบบติดตามเรือประมงแล้วเสร็จ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก เพื่อตรวจสอบการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง สายสัญญาณ และสายไฟที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง 3.2 แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือทุกครั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3.3 ดำเนินการเพื่อให้ระบบติดตามเรือประมงส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดเชิงหน้าที่ของระบบติดตามเรือประมงทุก 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะนำเรือสนับสนุนออกจากท่าเทียบเรือหรือขณะจอดเทียบท่า 3.4 กรณีมีเหตุต้องซ่อมแซม เปลี่ยนอุปกรณ์ หรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงและอุปกรณ์ต่อพ่วง ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกได้ล็อคตรึงและตีตราไว้ ให้ยื่นคำร้องขอตัดอุปกรณ์ล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง สายสัญญาณ และสายไฟที่เชื่อมต่อเข้าอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง 3.5 กรณีปิดระบบติดตามเรือประมง อันเนื่องมาจากเรือสนับสนุนชำรุดเสียหายหรืออุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงชำรุดและอยู่ระหว่างซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงหรือเรือสนับสนุนอับปาง ให้ยื่นคำร้องขอปิดสัญญาณอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงชั่วคราว 3.6 กรณีประสงค์จะหยุดออกไปทำกิจกรรมชั่วคราว ซึ่งได้แจ้งงดใช้เรือต่อกรมเจ้าท่าเรียบร้อยแล้ว เจ้าของเรือสนับสนุนดังกล่าวสามารถปรับลดจำนวนครั้งในการส่งข้อมูลระบบติดตามเรือประมงได้ โดยสามารถจัดให้ระบบติดตามเรือประมงส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดเชิงหน้าที่ของระบบติดตามเรือประมงทุก 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ให้ยื่นคำร้องขอปรับลดจำนวนครั้งในการส่งสัญญาณอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงชั่วคราวตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการก่อนดำเนินการดังกล่าว 3.7 กรณีที่มีระบบติดตามเรือประมงขัดข้อง ให้เจ้าของเรือสนับสนุนแต่ละประเภทดำเนินการแก้ไขระบบติดตามเรือประมงให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด เช่น กรณีเรือสนับสนุนซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง หรือเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมัน ให้เจ้าของเรือสนับสนุน แก้ไขระบบติดตามเรือประมงให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติภายใน 30 วันนับจากเวลาที่ได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการในครั้งแรก โดยในระหว่างที่สัญญาณระบบติดตามเรือประมงขาดหาย ให้เจ้าของเรือสนับสนุนบันทึกตำแหน่งเรือสนับสนุนทุก 1 ชั่วโมง และให้เจ้าของเรือสนับสนุนรายงานวัน เวลา และตำแหน่ง เป็นรายชั่วโมงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการทราบทุก 24 ชั่วโมง แบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ หากไม่สามารถแก้ไขระบบติดตามเรือประมงให้เป็นปกติภายในระยะเวลาดังกล่าวให้นำเรือสนับสนุนกลับเข้าเขตท่าเทียบเรือทันที 3.8 กรณีเข้าไปทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่องค์การระหว่างประเทศนั้นกำหนด 4. กำหนดบทเฉพาะกาล ในกรณีดังต่อไปนี้ 4.1 เรือสนับสนุนได้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมงตามมาตรฐานสมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกำหนดเชิงหน้าที่ของระบบติดตามเรือประมงแนบท้ายประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงและดูแลรักษาระบบติดตามเรือประมงของเรือประมงพาณิชย์ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา พ.ศ. 2558 ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้สามารถยังคงใช้ระบบติดตามเรือประมงดังกล่าวต่อไปได้ 4.2 เรือสนับสนุนที่มีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงที่ได้ออกจากท่าเทียบเรือไปก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังไม่ได้ดำเนินการล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งรายสัญญาณ และสายไฟที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง (ปัจจุบันตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2550ฯ มิได้มีการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงฯ) ให้เจ้าของเรือสนับสนุนดังกล่าวดำเนินการแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกเพื่อดำเนินการล็อคตรึงและตีตราอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมง สายสัญญาณ และสายไฟที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ 6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะสุกรจังหวัดตรัง พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนเกาะสุกรจังหวัดตรัง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งสอดคล้องกับการส่งเสริมให้เกาะสุกรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดตรัง โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 11 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้น ๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างประกาศ กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนเกาะสุกร จังหวัดตรัง มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1.1 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย การบริการ การคมนาคมและขนส่งให้เพียงพอ และได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจของเกาะสุกร 1.2 ส่งเสริมและพัฒนาให้เกาะสุกรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัดตรัง 1.3 ดำรงรักษารูปแบบการตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 1.4 สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.5 สงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ 2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 11 ประเภท ดังนี้ ประเภท วัตถุประสงค์ 1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) - เป็นพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางพาณิชยกรรมและพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตชุมชนเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป็นเขตที่พักอาศัยและรองรับการขยายตัวของที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยในอนาคต ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หอพัก อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดขนาดพื้นที่อาคารอยู่อาศัยต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน ได้แก่ คลังน้ำมัน เพื่อการจำหน่ายคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สุสานและฌาปนสถาน โรงฆ่าสัตว์ โดยในส่วนของโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ต้องอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 200 เมตร และไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ เช่น การทำน้ำแข็ง การซ่อมรถจักรยานยนต์ หรือการซักรีดหรือซักแห้ง เป็นต้น 2. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) - เป็นพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมเดิมของชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลักของชุมชน ประกอบด้วย ตลาด ร้านค้า โรงแรม โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดพื้นที่และความสูงของอาคาร รวมทั้งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าวสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณพาณิชยกรรมและชุมชน ได้แก่ คลังน้ำมัน เพื่อการจำหน่าย คลังก๊าซ ปิโตรเลียมเหลว สุสานและ ฌาปนสถาน โรงฆ่าสัตว์ โดยในส่วนของโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ต้องอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 200 เมตร และไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ เช่น การทำน้ำแข็ง หรือการซักรีดหรือซักแห้ง เป็นต้น 3. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) - เป็นพื้นที่กันชนโดยรอบพื้นที่ชุมชนครอบคลุมพื้นที่ชุมชนการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การทำนา เลี้ยงสัตว์ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย โดยในส่วนของโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ต้องอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 200 เมตร และไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ เช่น การทำแผ่นยางพารา 4. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) - เป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพของดินเหมาะสมเพื่อการเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์อาชีพเกษตรกรรมให้มั่นคง และอนุรักษ์ทรัพยากรดินที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี ซึ่งมีการทำนา และปลูกพืชเศรษฐกิจหมุนเวียนระยะสั้น คือ แตงโมพันธุ์เกาะสุกร สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่าย การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 5. ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีขาว) - เป็นพื้นที่บริเวณที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในบริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทราย หาดกรวด และหาดหินที่เชื่อมโยงกับพื้นที่หลังหาดเกาะสุกร มีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว นันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเลให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน คลังน้ำมัน เพื่อการจำหน่าย การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 6. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) - เป็นพื้นที่บริเวณแนวคลองทั้งสองฝั่ง และพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลโดยรอบเกาะสุกรในระยะ 30 เมตร ตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งเป็นระยะห่างที่ปราศจากอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่โล่งสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการ การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวที่ไม่ใช่การจัดสรรที่ดินเกษตรกรรม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และให้มีที่ว่างตามแนวขนานแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 30 เมตร 7. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) - เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าควนหาดทรายยาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าควนใต้ ป่าบ้านเสียมไหม และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้ มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ ได้แก่ การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว การประกอบพาณิชยกรรม ที่ไม่ใช่ห้องแถวหรือตึกแถว โรงแรมประเภท 1 และโรงแรมประเภท 2 สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใด ๆ ในระยะ 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร และในระยะที่เกินกว่า 50 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้มีพื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร และให้มีที่ว่างตามแนวขนานแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 30 เมตร โดยห้ามกิจการที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน คลังน้ำมันเชื้อเพลิง คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นต้น 8. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาในบริเวณที่เป็นโรงเรียน ตามสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ได้แก่ โรงเรียนบ้านหาดทรายทอง และโรงเรียนบ้านแหลม 9. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีฟ้า) - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดบริเวณพื้นที่ทางทะเลและเกาะโดยรอบเกาะสุกรในระยะ 1,000 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงชายฝั่ง หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น 10. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) - มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับการศาสนาตามสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน โดยกำหนดไว้ในบริเวณที่ตั้งของมัสยิดย้ามีล้าตุล มัสยิดอัสซอลาหุดดีน และมัสยิดบ้านแหลม 11. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) - มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะของรัฐ โดยกำหนดไว้ในบริเวณที่มีหลักฐานตามกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นที่สาธารณะ ที่ราชพัสดุและบริเวณพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ราชการในปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาย่อยตำบลเกาะสุกร ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะสุกร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเกาะสุกร 3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท 4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก ถนนสาย ข ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง 4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคาร ไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ 7. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญ 1. การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญของประเทศ และเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างประเทศทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมและนักท่องเที่ยวทั่วไป 2. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวตามรูปแบบที่ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กำหนดให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 เป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทธรรมดา จำนวนผลิตไม่เกิน 1,000,000 เหรียญ (หนึ่งล้านเหรียญ) 8. เรื่อง รายงานผลการตรากฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการตรากฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้เป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง รายงานผลการตรากฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการรายงานผลตามบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา 116 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่ง หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ครบกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ โดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีกฎหมายลำดับรองที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 75 ฉบับ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14 ฉบับ และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 81 ฉบับ เนื่องจากกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นระบบของการอนุญาต ที่กำหนดมาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลการทำกิจกรรมหรือการประกอบธุรกิจของประชาชนที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า ทำให้การออกกฎหมายส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการร่างกฎหมายลำดับรองและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ไม่สามารถดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้ทันกำหนดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดได้ เศรษฐกิจ สังคม 9. เรื่อง โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้ 1. โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันในวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116,262,532 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้ ปีงบประมาณ พ.ศ. วงเงิน (บาท) 2566 1,291,049,290 2567 1,656,586,967 2568 1,476,662,940 2569 498,152,458 2570 193,810,877 รวม 5,116,262,532 2. การยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 และกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายในวันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยขอผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - 2570 รวมงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 5,116,262,532 บาท โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เช่น 1) เพื่อเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และอื่น ๆ 2) เป็นสถานที่ทำการวิจัย พัฒนาด้านวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน 3) ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันเกี่ยวกับการดูแล ตรวจรักษา และรักษาโรคซับซ้อน 4) สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและชาวต่างชาติในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย และ 5) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ (International Health and Science Collage) (ปรับปรุงอาคาร) งบประมาณจำนวน 212,500,000 บาท โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต (InternationalHospital) (ก่อสร้างอาคารใหม่) งบประมาณจำนวน 4,762,262,532 บาท และศูนย์สุขภาพนานาชาติ (International Wellness Center) โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเฉพาะศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล สงขลานครินทร์ (International Dental Center) (ปรับปรุงอาคาร) งบประมาณจำนวน 141,500,000 บาท เนื่องจากมีความพร้อม ส่วนกิจกรรม Wellness ด้านอื่น ๆ จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการประชุม ครั้งที่ 416 (6/2563) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ และให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เช่น แผนงาน แผนเงิน แผนดำเนินงาน เป็นต้น และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน และเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เห็นสมควรกำหนดเพิ่มวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัดระดับโครงการ และตัวชี้วัดที่สะท้อนผลสำเร็จของกิจกรรมที่จะส่งผลสัมฤทธิ์ระดับโครงการ ซึ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สธ. เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ อว. และ สธ. ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน และโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อให้เกิดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10. เรื่อง ขออนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จังหวัด ศรีสะเกษ (ครั้งที่ 3) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติให้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้าย (ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ) ตามผลการตรวจสอบของคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ระดับอำเภอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามรับรองจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับจังหวัดศรีสะเกษแล้ว จำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765-3-35.10 ไร่ วงเงินจำนวน 52,340,918.75 บาท 2. เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร เห็นสมควรอนมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลที่มีสิทธิและควบคุมการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย (1) ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานกรรมการ (2) อัยการจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (3) คลังจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (4) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (5) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (6) ปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (7) นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (8) นายอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (9) นายอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (10) นายอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (11) นายอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ (12)-(14) ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน กรรมการ (15)-(17) ผู้แทนกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการ (18) ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาหัวนา กรรมการและเลขานุการ (19) หัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดินที่ 4 ส่วนจัดหาที่ดินที่ 2 กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 3. ในการจ่ายเงินเห็นสมควรให้จ่ายโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิหรือทายาทของบุคคลดังกล่าว โดยถือความเห็นของคณะกรรมการฯ (ตามข้อ 2) เป็นหลักฐานการจ่ายเงิน และให้ระบุในหลักฐานการรับเงินด้วยว่า ?ข้าพเจ้ายินยอมรับเงินค่าทดแทนในครั้งนี้ และจะไม่เรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนาจากทางราชการอีก? สาระสำคัญของเรื่อง เรื่องนี้เดิมคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา ตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา (คณะกรรมการฯ) มาแล้ว 2 ครั้ง สำหรับครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ คือที่ดินมีเอกสารสิทธิอัตราไร่ละ 125,000 บาท ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิอัตราไร่ละ 45,000 บาท รวมจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765-3-35.10 ไร่ วงเงินจำนวน 52,340,918.75 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายค่าทดแทนในอัตราเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติให้จ่ายสำหรับกรณีโครงการฝายหัวนา สรุปได้ ดังนี้ ครั้งที่ จำนวน (แปลง) เนื้อที่ (ไร่) ค่าทดแทน (บาท) ครั้งที่ 1 (มติคณะรัฐมนตรี 18 พฤษภาคม 2564) 104 628-3-17-00 62,078,662.50 ครั้งที่ 2 (มติคณะรัฐมนตรี 1 กุมภาพันธ์ 2565) 350 770-1-59.00 34,667,887.50 ข้อเสนอในครั้งนี้ 433 765-3-35.10 52,340,918.75 รวม 887 2,165-0-11.10 149,087,468.75 ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติการจ่ายค่าทดแทนในครั้งนี้แล้ว จะยังคงเหลือที่ดินที่ราษฎรได้ยื่นคำร้องและคำขอ อีกจำนวน 548 แปลง ซึ่งกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดที่ดิน และจะนำเสนอคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับจังหวัดศรีสะเกษเพื่อพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป 11. เรื่อง หลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ข้อเสนอแนะของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาประกอบการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและแนวทางการดำเนินการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนแจ้งส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสรุปได้ ดังนี้ 1. ข้อเสนอกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเด็น สาระสำคัญ 1. หลักการ ยกระดับการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมค่านิยมการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส กล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 2. วัตถุประสงค์ - พัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีกรอบความคิด (Mindset) และค่านิยม (Value) ของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีแนวทางการตัดสินใจต่อประเด็นปัญหาทางจริยธรรมในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกต้อง เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 - สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของบทบาทตนเองในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม - ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีภาวะผู้นำทางจริยธรรม สร้างศรัทธาจูงใจให้ทีมงานเกิดความร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติงานตามภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ - พัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐและการนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล - สร้างสังคม-วัฒนธรรมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมจากประชาชนในการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ายืนหยัดและแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง รวมทั้งเข้าใจเข้าถึงการแจ้งเบาะแสและพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน ผลักดันกระบวนการคุ้มครองสำหรับผู้แจ้งเบาะแสและผู้เฝ้าระวังให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังพฤติกรรมทางจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. กลุ่มเป้าหมาย การกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ยึดโยงกับการจัดกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามแนวทางการพัฒนาบุคลากกรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 25641 ซึ่งได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 5 ระดับ คือ (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐแรกบรรจุ (2) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีประสบการณ์ที่ผ่านการปฏิบัติงานมาแล้วเกิน 1 ปี (3) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน (4) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า และ (5) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือรองหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ 4. กรอบหลักสูตร ประกอบด้วย 5 หลักสูตร ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายข้างต้น โดยได้พัฒนาและออกแบบการดำเนินการจัดอบรมที่มีความหลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ และมุ่งเน้นให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบ Classroom เป็นหัวข้อวิชาที่ต้องให้ผู้เรียนทุกคนได้มาพบปะกัน สร้างความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายต่อไป เรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้สอนในห้องเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ส่วนวิชาที่สามารถใช้รูปแบบ Online ให้เป็นหัวข้อวิชาที่ผู้สอนสามารถสอบผ่าน online ตามสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและใช้เวลาเรียนแบบ E-learning 2. ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 2.1 หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมเป็นประจำจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการต้นแบบจากผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐและเน้นให้มี Role Model หรือแบบอย่างที่ดี เพราะการมีต้นแบบที่ดีจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย 2.2 เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับควรมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน Skillsets และ Mindsets อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับสามารถสร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานและการเรียนรู้การพัฒนาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบรรจุในช่องทางการเรียนรู้ทางไกลของเครือข่ายสำนักงาน ก.พ. (OCSC Learning Portal) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าถึงหลักสูตรได้ง่าย 2.3 ควรให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแจ้งเบาะแสและการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสแก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าระวังทางจริยธรรม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายชุมชน รวมทั้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนจริยธรรมกับหน่วยงานในกำกับด้วย 2.4 ควรมีการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ โดยหน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีการอบรม/สัมมนาวิทยากรให้เป็นผู้อำนวยการกลุ่ม2 สร้างความเข้าใจถึงรูปแบบ วิธีการ และการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับวิทยากร เพราะการเรียนการสอนเน้นให้มีส่วนร่วม โดยวิทยากรต้องปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยกลุ่มมากกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ 2.5 ควรจัดให้มีกิจกรรมการสร้างพันธะสัญญาในช่วงท้ายของการอบรม เช่น ให้มีการระบุถึงการทำดีตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปสร้างพฤติกรรมได้ หรืออาจมีแนวทางการรวมกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และรายงานผลเพื่อให้เป็นตัวอย่าง เกิดการต่อยอดความคิดและมีความภาคภูมิใจ โดยอาจมีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตามหรือนำไปประยุกต์ใช้ 2.6 ควรมีการติดตาม ประเมินผลผู้เข้ารับการอบรมอย่างจริงจัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการรักษาจริยธรรมและแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องและไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม รวมถึงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างได้รับรางวัล 2.7 หน่วยงานของรัฐควรมีการจัดทำกรณีศึกษาหรือตัวอย่างการประพฤติปฏิบัติตนที่เกิดขึ้นจริงทั้งพฤติกรรมเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงโทษหรือข้อเสียของการไม่ประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม และให้ผู้เข้าอบรมได้รับรู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติที่ต้องระมัดระวังและโทษของการทำผิด นอกจากนี้ การใช้กรณีศึกษาควรบ่งชี้ให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และระบุถึงผลเสียหรือโทษ ทั้งในด้านการผิดจริยธรรม ผิดวินัย หรือในบางกรณีอาจผิดถึงกฎหมายอาญา 2.8 เห็นควรให้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานทางจริยธรรมในระดับเดียวกัน 3. ความเห็นและข้อเสนอแนะของ ก.ม.จ. ดังนี้ 3.1 เห็นควรให้นำกรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสอดแทรกไว้ในหลักสูตรต่าง ๆ ของหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น หลักสูตรปฐมนิเทศสำหรับบุคลากรแรกบรรจุ หลักสูตรการอบรมสำหรับบุคลากรที่มีประสบการณ์ หัวหน้างาน ผู้อำนวยการ และผู้บริหาร เช่น หลักสูตรนักบริหารระดับสูง หรือหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยให้สอดแทรกเนื้อหาในหลักสูตรของภาคเอกชนเพื่อให้การพัฒนาจริยธรรมเป็นมาตรฐานเดียวกัน 3.2 ในแต่ละหลักสูตรควรจะมีเครื่องมือในลักษณะ Digital Media หรือคลิปวีดิโอ ต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าอบรมรับรู้พฤติกรรมเชิงบวกมากยิ่งขึ้น 3.3 ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคลากรของข้าราชการพลเรือนจัดทำเนื้อหาหลักสูตรนำร่อง เพื่อใช้อบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายใต้ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และเป็นตัวอย่างการจัดทำหลักสูตรให้แก่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย 3.4 เห็นควรนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำกรอบหลักสูตรพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานจริยธรรมในระดับเดียวกัน 1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 ตุลาคม 2563) เห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 2565 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ 2 ผู้อำนวยกลุ่ม (Facilitator) คือ ผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ 12. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการ กรณี ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการ กรณี ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงยุติธรรมได้เสนอรายงานผลการดำเนินการ กรณี ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปผลการประชุมได้ ดังนี้ ด้านกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ในประมวลกฎหมายอาญาโดยให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักนำร่างบทบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางด้านข้อมูลและพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูล โดยกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการติดตามและการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งได้ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย โดยรัฐจะจัดระบบการบริหารทรัพยากรบุคลากรในหน่วยงานและขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และระดับปฏิบัติการ โดยจัดรูปแบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน พัฒนาบุคลากรและเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และปรับองค์ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้านสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อนำไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการปราบปรามคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติระยะที่ 1 (ปี 2563 ? 2565 โครงการ ?โรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์? การพัฒนา ซอฟแวร์ E - learning จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน และศูนย์ Fake news เพื่อตรวจสอบความเท็จจริงของข่าว และด้านการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสร้างความตระหนักรู้ โดยมีเนื้อหาที่นำมาให้ความรู้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลความรู้เกี่ยวกับกรณีเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด รวมทั้งมีการปิดกั้นช่องทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ที่มีต่อเด็กและเยาวชน และในส่วนของข้อเสนอแนะให้มีวันการใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ (National Safer Internet Day) นั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือต่อไป 13. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยซน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาสภาพการบังคับใช้ของกฎหมายที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคในสภาพบริบทวิถีใหม่และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภควิถีใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรมีหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ 2) ควรมีการพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบัน 3) หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ ควรพัฒนาระบบการสร้างฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบ หรือส่งเสริมให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมาย 4) ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบธุรกิจที่โฆษณาหลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซค์หรือสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 5) ควรมีศูนย์ข้อมูลเพื่อผู้บริโภคในการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในระดับชาติ 2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สคบ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง สคบ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปได้ดังนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ผลการพิจารณา 1. ควรมีหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ - ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีหน่วยงานกลางเพื่อควบคุมกำกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์จะทำให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมีเอกภาพ มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2. ควรมีการพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบัน - การพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพบริบทวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบันมีความสำคัญ อย่างยิ่ง การมีกฎหมายเพื่อบังคับใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภท ต่าง ๆ ควรพัฒนาระบบการสร้างฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบหรือส่งเสริมให้รูปแบบการซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมาย - การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ ทุกระดับเพื่อติดตาม ตรวจสอบ หรือส่งเสริมให้รูปแบบ การซื้อขายสินค้าหรือบริการเป็นไปตามกฎหมายจึงเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังและตรวจสอบของภาครัฐได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย 4. ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบธุรกิจที่โฆษณาหลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ - การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ ยังขาดเครื่องมือที่ทันสมัยและขาดการบูรณาการในการตรวจสอบร่วมกัน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีดิจิทัลให้สามารถตรวจสอบโฆษณาที่ไม่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 5. ควรมีศูนย์ข้อมูลเพื่อผู้บริโภคในการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในระดับชาติ - การบูรณาการข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในการส่งต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานรวมถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสารและการให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้บริโภคอีกด้วย 14. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ครั้งที่ 1/2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ครั้งที่ 1/2565 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่มอบหมายให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับ ติดตามการดำเนินนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่และให้ กษ. รวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือน] โดย กษ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มการผลิต มีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ในทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สามารถลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและจัดการด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้ 1. ความก้าวหน้าการดำเนินการ ด้าน ผลการดำเนินการ (1) การรับรองและขึ้นทะเบียนแปลงใหญ่ รับรองและขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 8,955 แปลง เกษตรกร 497,802 ราย และพื้นที่ 8,031,656 ไร่ (2) การสร้างมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนการผลิต 31,145.73 ล้านบาท และการเพิ่มผลผลิต 40,429.37 ล้านบาท รวม 71,575.10 ล้านบาท (3) การพัฒนาคุณภาพ เกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร รวม 188,493 ราย ดังนี้ 1) การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices: GAP) จำนวน 148,479 ราย 2) เกษตรอินทรีย์ จำนวน 22,589 ราย 3) การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) จำนวน 3,323 ราย 4) ระบบชุมชนรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) จำนวน 14,102 ราย (4) การตลาด มีการเชื่อมโยงการตลาดของเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่แบบข้อตกลงล่วงหน้า จำนวน 921 แปลง ตลาดอื่น ๆ จำนวน 8,045 แปลง และตลาดออนไลน์ จำนวน 489 แปลง นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีกใหม่ (Modern Trade) และตลาดออนไลน์ จำนวน 17 แปลง (5) แหล่งน้ำในแปลงใหญ่ ได้รับการสนับสนุนแหล่งน้ำจากกรมชลประทาน จำนวน 80 แห่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 138 แห่ง และกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 127 แห่ง (6) การต่อยอดสู่โครงการระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด แปลงใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว จำนวน 3,377 แปลงทั่วประเทศ 2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย เครื่องจักรกลทางการเกษตรเริ่มเกิดการชำรุดรอการซ่อมบำรุง และเกษตรส่วนใหญ่ไม่ผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเนื่องจากขาดแรงจูงใจจากราคาจำหน่ายที่ไม่แตกต่างจากการผลิตแบบทั่วไป ประกอบกับเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้การซื้อขายภายนอกประเทศเกิดความเสียหาย 3. ข้อเสนอแนะ 3.1 กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีใช้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ 3.2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ควรหาตลาดที่สามารถขายสินค้าเกษตรปลอดภัยในราคาที่แตกต่างจากการผลิตแบบทั่วไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น 15. เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับหน่วยงานเครือข่าย คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของ สปน. กับหน่วยงานเครือข่าย 2. มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ ดังนี้ 2.1 ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งจะช่วยให้ลดเวลารอคอยและลดการติดตามเรื่องกับผู้ปฏิบัติงาน 2.2 ผลักดันให้เกิดการขยายผลและเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการจัดการเรื่องร้องทุกข์ไปยังระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการดูแลแก้ไขอย่างครอบคลุมและเป็นธรรม สาระสำคัญของเรื่อง สปน. รายงานว่า ศูนย์บริการประชาชนในฐานะเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลได้มีการสำรวจความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งดำเนินการผ่านโครงการการประชุมสัมมนาผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer: CCEO) และโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานเรื่องราวร้องทุกข์ (Contact Point) พบว่า สภาพปัญหาของประชาชนผู้รับบริการและหน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ประชาชนต้องการทราบถึงระยะเวลาแล้วเสร็จ และความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งขอให้มีช่องทางการติดตามเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการติดตามความคืบหน้า และขอให้มีการพัฒนาช่องทางการร้องทุกข์ที่สะดวกและเพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดทำสรุปผลการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของ สปน. กับหน่วยงานเครือข่าย รวมทั้งข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสรุปได้ ดังนี้ 1. พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ 1.1 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบการจัดการเรื่องราวทุกข์ ได้แก่ (1) ระบบการรายงานผลที่สามารถแสดงผลข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ สำหรับใช้ในการกำกับติดตามและกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน (2) ระบบติดตามผลเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ได้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (3) ระบบการสำรวจความต้องการจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือติดตามความต้องการหรือข้อคิดเห็นของประชาชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายหรือวางแผนรองรับการแก้ไขปัญหา และ (4) ระบบการประเมินติดตามผลความพึงพอใจ เพื่อประเมินความพึงพอใจหลังจากการให้บริการ โดยประชาชนสามารถประเมินผลความพึงพอใจให้กับหน่วยงานได้ทันที 1.2 ด้านกระบวนการและฐานข้อมูล ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้เกิดระบบศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบสถานะ และรับแจ้งผลการร้องเรียนได้ทุกที่ทั่วประเทศ โดยบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานราชการกับระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ดังนี้ (1) ดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในปี 2562-2564 จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานประกันสังคม และกรมบังคับคดี (2) กำหนดกลุ่มเป้าหมายการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูล แล้วเสร็จ 4 หน่วยงาน ยกเว้น มท. (3) กำหนดกลุ่มเป้าหมายเชื่อมโยงฐานข้อมูล ในปี 2566-2567 จำนวน 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กษ. พน. กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2. ด้านกลไกและวิธีการจัดการเรื่องร้องทุกข์ 2.1 จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ ได้แก่ (1) จุดบริการประชาชน 1111 (2) ตู้ ป.ณ. 1111 (3) สายด่วนของรัฐบาล 1111 (4) เว็บไซต์ www.1111.go.th และ (5) โมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111 นอกจากนี้ได้พัฒนาให้มีช่องทางการร้องทุกข์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ?@PSC1111? ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่พัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center: NECTEC) 2.2 บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ผ่านเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ ในระดับกระทรวง/กรม จังหวัด รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอิสระ 330 หน่วยงาน เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการดูแลแก้ไขด้วยความเป็นธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ส่วนราชการมีผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน CCEO เพื่อทำหน้าที่วางแผนการจัดการเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล กำกับดูแลการจัดการเรื่องร้องทุกข์รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และนำเสนอผลการดำเนินการในภาพรวมของหน่วยงาน ปัจจุบันมี CCEO ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัด 102 คน 2.3 การปรับเปลี่ยนแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สปน. โดยศูนย์บริการประชาชนได้มีการประสานงานส่งเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ตช. ให้สำนักงานจเรตำรวจพิจารณาดำเนินการผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์โดยส่งเรื่องต่อให้กองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาคดำเนินการและติดตามเรื่องร้องทุกข์เพื่อรายงานผลให้ทราบ ซึ่งเป็นแนวทางการประสานงานที่ ตช. กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา ?ระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงานจเรตำรวจออนไลน์? (Jaray Complaint Management System: JCOMS) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย สปน. ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์ร่วมกันและเสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว ดังนี้ (1) กรณีเรื่องร้องเรียนกล่าวหา/กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ประสานส่งไปยัง ตช. (สำนักงานจเรตำรวจ) (2) กรณีเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ/แจ้งเบาะแส/แนะนำและดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้ประสานส่งเรื่องไปยังกองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาคในพื้นที่โดยตรง พร้อมทั้งส่งให้ ตช. (สำนักงานจเรตำรวจ) ทราบอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อใช้เป้นข้อมูลในการกำกับติดตาม และรายงานผลให้ สปน. ทราบต่อไป 2.4 การกำหนดระยเวลาแล้วเสร็จของงาน โดย สปน. ขอความร่วมมือให้หน่วยงานกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ในการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ หากมีกฎหมาย ระเบียบกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้หน่วยงานพิจารณาการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นลำดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่แจ้งข้อมูลระยะเวลาแล้วเสร็จ 18 หน่วยงาน ได้แก่ กค. กต. (กรมการกงสุล) พม. กระทรวงการอุดมการณ์ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กษ. คค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทส. พน. กระทรวงพาณิชย์ มท. ยธ. กระทรวงแรงงาน สธ. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และ กทม. สรุปได้ ดังนี้ (1) กรณีเรื่องร้องเรียนทั่วไป หน่วยงานของรัฐจะแจ้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในเบื้องต้น 15 วันทำการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเรื่อง (2) กรณีเรื่องร้องเรียนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน เนื่องจากจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานและข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัย รวมถึงต้องใช้เวลาดำเนินการตรวจสอบกับหลายหน่วยงาน เช่น เรื่องร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาที่ดิน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องทราบเป็นระยะ (3) กรณีการกำหนดระยะเวลาเป็นภาพรวม เช่น พน. และสำนักงาน ป.ป.ท. กำหนดระยะเวลาดำเนินการเรื่องร้องทุกข์/ร้องเรียนทุกกรณีเป็น 30 วันทำการ และ กษ. กำหนดระยะเวลาการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์/ร้องเรียนทุกกรณีเป็น 20 วันทำการ 3. ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร 3.1 พัฒนาและเพิ่มขีดสมรรถนะด้านการให้บริการแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง เพื่อเสริมสร้างขีดสมรรถนะองค์กรให้สามารถรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ/กิจกรรม เช่น จัดอบรมเทคนิคการพัฒนาความคิดเชิงบวก จัดอบรมหลักสูตร ?จิตวิทยาในการบริการและการจัดการความเครียดในยุคโควิด-19? และจัดอบรมการบริหารจัดการความขัดแย้งและเทคนิคการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมทั้งแสวงหาหลักสูตรที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน 3.2 เสริมสร้างความรู้ความสามารถ ทักษะ และถ่ายทอดประสบการณ์ที่จำเป็นให้แก่บุคลากรขององค์กร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลายในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำ/ปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานทบทวนและปรับปรุงข้อมูลองค์ความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้เป็นปัจจุบันและเผยแพร่ในหลายช่องทาง เพื่อให้สะดวกต่อการสืบค้นข้อมูล 16. เรื่อง ผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมหารือร่วมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้ เรื่องเดิม นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้าร่วมการประชุมหารือกับผู้บริหารท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2565 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ร่วมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการและผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติงานที่ดีของท่าเรือและบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเชื่อมโยงพื้นที่หลังท่า ท่าเรือสีเขียว ตลอดจนปฏิบัติงานของท่าเรือสิงคโปร์ เพื่อนำกรอบแนวความคิดและวิธีปฏิบัติจากท่าเรือชั้นนำระดับโลกมาต่อยอดและสนับสนุนการกำกับนโยบายและวางแผนการพัฒนาการขนส่งไทยให้มีประสิทธิภาพอย่างไร้รอยต่อ สาระสำคัญของผลการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะได้ร่วมประชุมหารือกับ Port Singapore Authority หรือ PSA หน่วยงานด้านการบริหารท่าเรือชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางยุทธศาสตร์หลักด้านการขนส่งทางน้ำและธุรกิจท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางท่าเรือถ่ายลำ ทำให้ท่าเรือ PSA เป็นผู้นำอันดับ 1 ในการให้บริการขนส่งของโลกโดยมีเครือข่ายการให้บริการมากกว่า 255 แห่ง ใน 41 ประเทศทั่วโลก และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 92 ล้านตู้ (ทีอียู) ทั้งนี้ ท่าเรือปาเซอปัญจังซึ่งเป็นท่าเรือ ของ PSA เพียงแห่งเดียว ในสิงคโปร์ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ากว่า 37.2 ล้าน ทีอียู นับว่าสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ามากกว่าท่าเรือแหลมฉบังกว่า 4 เท่า 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะได้เยี่ยมชมท่าเรือ Tuas ท่าเรือแห่งใหม่ที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 3 ปี บนพื้นที่ถมทะเลกว่า 13 ตารางกิโลเมตร โดยมีมูลค่าการลงทุน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ การพัฒนาท่าเรือ Tuas แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 สามารถรองรับตู้สินค้าจำนวน 18 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือทั้ง 4 ระยะมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2583 ซึ่งจะทำให้ท่าเรือ Tuas เป็นท่าเทียบเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 65 ล้านทีอียู โดยมีระยะเวลาการคืนทุนภายใน 7 ปี หลังการเปิดให้บริการ 3. PSA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือ โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้รถลำเลียงอัตโนมัติโดยใช้พลังงานไฟฟ้า (Automated Guided Vehicle) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 50 และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารสำนักงานเพื่อลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 58 ความเห็น/ข้อสังเกต จากผลการเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือให้มีมาตรฐานระดับโลก ควบคู่กับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้างท่าเรือบกหรือศูนย์กระจายสินค้า ที่จะทำให้ท่าเรือพัฒนาสู่การเป็น Gateway สำคัญสนับสนุนความได้เปรียบด้านตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ สามารถเป็นศูนย์กลางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงไทยสู่กลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีนตอนใต้ อีกทั้งการพัฒนาศักยภาพท่าเรือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ตลอดจนโครงการ Southern Land Bridge เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน อันจะเป็นทางเลือกในการขนส่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและสายเรือ เพื่อทดแทนการขนส่งผ่านเส้นทางช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน ในการนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการพัฒนาท่าเรือตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคต่อไป 17. เรื่อง โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 (โครงการฯ ปี 2564) ของ กปภ. รวมทั้งสิ้น 19 โครงการ [ประกอบด้วย (1) แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. จำนวน 16 โครงการ (แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยายและแผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย) และ (2) แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 3 โครงการ] วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,077.808 ล้านบาท ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท แผนงาน/โครงการ แผนงานก่อสร้าง ปรับปรุงขยาย แผนการบริหาร จัดการลด น้ำสูญเสีย รวม เงินอุดหนุน จากรัฐบาล เงินกู้ ในประเทศ เงินรายได้ กปภ. (1) แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. 3,140.265 1,046.755 1,693.243 5,880.263 1. สาขาทุ่งสง 162.242 54.080 187.320 403.642 2. สาขาเชียงราย 443.183 147.728 179.580 770.491 3. สาขานครพนม 250.439 83.480 56.636 390.555 4. สาขาปักธงชัย ? โชคชัย 831.607 277.202 249.381 1358.190 5. สาขาเชียงคาน 48.200 16.067 19.400 83.667 6. สาขาแพร่ ? เด่นชัย (สูงเม่น) 109.737 36.646 221.720 368.303 7. สาขาโพนทอง 137.459 45.820 35.830 219.109 8. สาขากบินทร์บุรี 90.847 30.282 54.720 175.849 9. สาขาบำเหน็จณรงค์ 244.492 81.498 34.020 360.010 10. สาขาบ้านดุง ? (เพ็ญ-บ้านธาตุ) ? (บ้านม่วง) 107.473 35.824 71.230 214.527 11. สาขาบ้านผือ ? (กลางใหญ่) ? (น้ำโสม) ? (กุดจับ) 73.792 24.598 22.620 121.010 12. สาขาปากพนัง 357.949 119.316 84.478 561.743 13. สาขาชัยบาดาล ? (สระโบสถ์) 158.656 52.885 140.447 351.988 14. สาขาศรีเชียงใหม่ 63.892 21.297 20.760 105.949 15. สาขาเกาะพะงัน 60.097 20.032 6.348 86.477 16. สาขาชุมพร - - 308.753 308.753 (2) แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา อปท. กปภ. 148.159 49.386 - 197.545 1. สาขามหาชนะชัย (เทศบาลตำบลค้อวัง) 62.635 20.878 - 83.513 2. สาขาบ้านฉาง (เทศบาลตำบลมะขามคู่) 62.222 20.741 - 82.963 3. สาขาพนมสารคาม (เทศบาลตำบลเขาหินซ้อน) 23.302 7.767 - 31.069 รวมทั้ง 19 โครงการ 3,288.424 (ร้อยละ54.10) 1,096.141 (ร้อยละ 18.04) 1,693.243 (ร้อยละ 27.86) 6,077.808 (ร้อยละ 100) สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ กปภ. ดำเนินโครางการเพื่อการพัฒนาปี 2564 จำนวน 19 โครงการ (โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย จำนวน 16 โครงการ และโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3 โครงการ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,077.808 ล้านบาท โดยในการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้ (1) แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. ซึ่งเป็นการปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบน้ำดิบ (เช่น ปรับปรุงโรงสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดต่าง ๆ วางท่อน้ำดิบขุดสระพักน้ำดิบ) ระบบการผลิตน้ำ (เช่น ก่อสร้างระบบผลิตน้ำ ก่อสร้างโรงเก็บจ่ายสารเคมีพร้อมติดตั้งเครื่องจ่ายสารเคมีและเครื่องจ่ายแก๊สคลอรีน) ระบบการจ่ายน้ำ (เช่น ก่อสร้างโรงสูบน้ำแรงสูง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ก่อสร้างหอถังสูง ติดตั้ง Flow Meter เปลี่ยนท่อจ่ายน้ำและวางท่อจ่ายน้ำขนาดต่าง ๆ) ระบบงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ถมดินและปรับบริเวณ ก่อสร้างรั้วลวดหนาม ประตู และป้าย ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างรางระบายตะกอนและสระระบายตะกอน ติดตั้งระบบไฟฟ้าและแสงสว่างภายใน) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในแต่ละพื้นที่และการขยายตัวของเมือง รวมทั้งเพื่อปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย (2) แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การบริหารจัดการแรงดัน การซ่อมท่อที่รวดเร็ว การสำรวจหาน้ำสูญเสียเชิงรุก การบริหารจัดการมาตรวัดน้ำ และให้ความสำคัญกับการปรังปรุงเส้นท่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำสูญเสียทั้งหมด ทั้งนี้ มีรายละเอียดงบประมาณของแต่ละโครงการสรุปได้ ดังนี้ โครงการ แหล่งเงินลงทุน (ล้านบาท) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินกู้ภาย ในประเทศ เงินรายได้ของ กปภ. รวม 1. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย (16 โครงการ) 3,140.265 1,046.755 1,693.243 5,880.263 1.1 แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย 3,140.265 1,046.755 - 4,187.020 1.2 แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย - - 1,693.243 1,693.243 2. โครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา อปท. (3 โครงการ) 148.159 49.386 - 197.545 รวม 3,288.424 1,096.141 1,693.243 6,077.808 ร้อยละ 54.10 18.04 27.86 100 ทั้งนี้ โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติด้วยแล้ว 18. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2527 วันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหยง ท้องที่จังหวัดพังงา (เนื้อที่ 28 ? 3 ? 14 ไร่) และป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองมะพร้าวท้องที่จังหวัดภูเก็ต (เนื้อที่ 83 ? 0 ? 25 ไร่) รวมทั้งสิ้นจำนวน 2 ป่า เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถเข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ จุดเชื่อมพังงา 2 ? ภูเก็ต 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ 19. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่ห้ามมิให้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าบางปะกง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (เนื้อที่ 1 ? 0 ? 40.09 ไร่) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ในครั้งนี้ เป็นการขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่ห้ามมิให้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนทุกกรณี เพื่อเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (เนื้อที่ 1 ? 0 -40.09 ไร่) เป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าบางปะกง เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงมีพื้นที่ก่อสร้าง จำนวน 1,558 ไร่ ซึ่งรวมที่ดินสาธารณประโยชน์ จำนวน 22 - 2 ? 37.5 ไร่ ต่อมาในปี 2547 กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวปฏิบัติกรณีหน่วยงานที่มีความประสงค์จะใช้ที่ดินของรัฐจะต้องแจ้งขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นเสียก่อน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จึงได้ดำเนินการขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยในขั้นตอนการตรวจสอบพื้นที่ในปี 2561 พบว่า มีพื้นที่ซึ่งเป็นป่าชายเลนจำนวน 4 แปลง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น การขออนุมัติผ่อนผันในครั้งนี้เป็นการขอให้มีผลย้อนหลังเนื่องจากเป็นพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกงตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2521 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2525 (ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติห้ามมิให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนในปี 2530) ทั้งนี้ ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 5 และอาคารหล่อเย็นที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการของโรงไฟฟ้าบางปะกงซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักในการจ่ายไฟฟ้าให้แก่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งมีผลต่อการรักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภายในประเทศ 20. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน เพื่อดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอ 1. วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 (เรื่อง รายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ) 2. วันที่ 22 สิงหาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน) 3. วันที่ 17 ตุลาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543) เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน) เพื่อเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบน และป่าอ่าวแขมหนู ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รอบที่ 2 เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกไม้ยืนต้นรอบอ่าวคุ้งกระเบนในท้องที่ดังกล่าว (เนื้อที่ 1,650 ไร่) สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน กปร. รายงานว่า 1. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรวงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทันสมัยทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งทำการประมงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีพระราชดำริในการศึกษาพัฒนาพื้นที่ในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยในปี 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีว่า ?ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและด้านการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี? จึงได้เริ่มมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในปี 2525 โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น (1) ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการประมง การป่าไม้ รวมทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมในลักษณะผสมผสานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ (2) ศึกษาการพัฒนาด้านการประมง เช่น การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศน์ 2. ในปี 2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบนและป่าอ่าวแขมหนูซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอท่าใหม่ ตำบลคลองขุด และกิ่งอำเภอนายายอาม ตำบลสนามไชย จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 1,650 ไร่ เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปลูกไม้ยืนต้นตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2530 - 16 เมษายน 2560 รวมระยะเวลา 30 ปี (รอบที่ 1) (ตามหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ เล่มที่ 7 ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 เมษายน 2530) โดยศูนย์ศึกษาฯ ได้จัดสรรการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) พื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลในพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ประมาณ 728 ไร่ (2) พื้นที่ฟื้นฟูป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้ง ประมาณ 312 ไร่ โดยพื้นที่ตามข้อ (1) และ (2) ได้จัดสรรให้เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลและปลูกป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้ง 104 แปลง แปลงละ 10 ไร่ และ (3) พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนที่เหลืออยู่รอบอ่าวคุ้งกระเบน 610 ไร่ พร้อมคัดเลือกประชาชนในพื้นที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยมอบเอกสารสิทธิที่ดินในรูปแบบสิทธิทำกิน พร้อมจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาตามโครงการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่าชายเลน การบำรุงรักษาคลองส่งและระบายน้ำ และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ โดยในปี 2530 มีประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นสมาชิกโครงการเพื่อเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอนุรักษ์ป่าชายเลน 114 ครัวเรือน และในปี 2540 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 208 ครัวเรือน* 3. การดำเนินโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ 3.1 สามารถป้องกันการบุกรุกป่าชายเลน โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในการป้องกันและอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน ประมาณ 610 ไร่ ให้คงความสมบูณ์ตลอดไป 3.2 สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนจากพื้นที่ป่าชายเลน 610 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ไร่ และเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ 3.3 เป็นแบบอย่างการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนผสมผสานกับการปลูกป่าชายเลน ตลอดจนการบำบัดน้ำทะเลที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยป่าชายเลน 3.4 พื้นฟูป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนในอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชนในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ 3.5 ลดภาวะโลกร้อน โดยป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนสามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 54,621 ตัน หรือ 2,023 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี 3.6 รูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นมิตรกับป่าชายเลน ลดข้อกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า กรณีกล่าวอ้างถึงการเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยทำลายป่าชายเลน 3.7 เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของจังหวัดจันทบุรี โดยพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนควบคู่กับการอนุรักษ์ ตลอดจนบริหารจัดการเพิ่มมูลค่าป่าชายเลนด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่แหล่งชุมชนในพื้นที่ ทำให้ศูนย์ศึกษาฯ ได้รับรางวัลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัลการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สะพานทางเดินป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรางวัลการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก 4. ปัจจุบันการขอเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว(ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2560) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีความประสงค์จะขอทำประโยชน์พื้นที่เดิมดังกล่าว รอบที่ 2 เป็นระยะเวลาอีก 30 ปี เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกไม้ยืนต้นรอบอ่าวคุ้งกระเบน ในท้องที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรีจึงได้ส่งเรื่องการขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาและได้รับแจ้งว่า พื้นที่ที่ขออนุญาตอยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการขออนุญาตจะต้องดำเนินการขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาดก่อนเพื่อสามารถดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 เกี่ยวกับการผ่อนผันให้ส่วนราชการที่ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริและโครงการเพื่อความมั่นคง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ขออนุญาตเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รับอนุญาต ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (19 มกราคม 2560) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (12 พฤศจิกายน 2563) และสภาเทศบาลตำบลสนามไชย อำเภอนายายอามจังหวัดจันทบุรี (28 มกราคม 2564) มีมติเห็นชอบการขออนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อไปอีก 30 ปี ด้วยแล้ว 5. สำนักงาน กปร. ได้มีหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ทส. แจ้งว่า (1) หากสำนักงาน กปร. มีความประสงค์เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเสนอขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 ฉบับ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมไม่น้อยกว่า 20 เท่าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ ตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินการโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2556 อย่างเคร่งครัด และ (2) เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเว้นแล้ว จึงเสนอเรื่องต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าชายเลนตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม * ปี 2540 ? ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกคงที่ประมาณ 200 ครัวเรือน เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่ 21. เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้ 1. รับทราบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต งบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ 2. รับทราบผลการพิจารณาต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการรายงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ มาเพื่อดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในภาพรวมหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมหารือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการของมาตรการดังกล่าว โดยมีข้อเสนอแนะต่อมาตรการบางประการ เช่น มาตรการของคณะกรรมการฯ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ประเด็นที่ 1 : ระบบการบริหารจัดการข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา ? ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลนักเรียนที่ครอบคลุมสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เงินอุดหนุนนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย ? ควรกำหนดให้ใช้เลข 13 หลัก ในการลงทะเบียน ซึ่งผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนได้เพียงระบบเดียว/สถานศึกษาเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของจำนวนผู้เรียนในแต่ละสถานศึกษา ประเด็นที่ 2 : ระบบการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณ ? กรณีการจ่ายงบเงินอุดหนุนของสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีความทุรกันดารหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้วิธีการเบิกเงินผ่านบัญชี กระทรวงการคลังจะกำหนดแนวทางในการจ่ายเงินอุดหนุนผ่านบัญชีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปเพื่อให้การจ่ายเงินมีความสะดวกและสามารถตรวจสอบได้ ประเด็นที่ 3 : ระบบการควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ? ควรเผยแพร่งบแสดงฐานะการเงินหรือรายงานทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการรับและการใช้จ่ายของสถานศึกษาผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่มีข้อมูลทันสมัย ตรวจสอบได้และสะท้อนรายละเอียดการรับและการใช้จ่ายของสถานศึกษาอย่างแท้จริง ? ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการสุ่มตรวจสถานศึกษาในสังกัดเป็นระยะด้วยมาตรการเชิงป้องปรามจัดทำรายงานผลการดำเนินการสุ่มตรวจเป็นระยะด้วยมาตรการเชิงป้องปราม และจัดทำรายงานผลการดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นประจำทุกปี ต่างประเทศ 22. เรื่อง การสนับสนุนกำลังพลกองทัพไทย เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังชั่วคราวรักษาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับเอบิเย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห) เสนอ ดังนี้ 1. การสนับสนุนกำลังพลกองทัพไทย ประเภทบุคคล เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังชั่วคราวรักษาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับเอบิเย (United Nations Interim Security Force for Abyei : UNISFA) จำนวน 2 นาย และสนับสนุนกำลังพลเพิ่มเติมเมื่อมีคำขอของสหประชาชาติ (United Nations : UN) ในภารกิจเดียวกัน 2. กำลังพลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้รับสิทธิเกี่ยวกับการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน พ.ศ. 2529 ตลอดช่วงเวลาปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยถือเป็นการปฏิบัติราชการพิเศษตามที่ กห. กำหนด สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงกลาโหม (กห.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการสนับสนุนกำลังพลกองทัพไทย ประเภทบุคคล เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังชั่วคราวรักษาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับ เอบิเย (United Nations Interim Security Force for Abyei : UNISFA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเผ่า Misseriya และเผ่า Dinka บริเวณชายแดนระหว่างสาธารณรัฐซูดานและสาธารณรัฐเซาห์ซูดาน จำนวน 2 นาย (ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้สังเกตการณ์ทางทหารในภารกิจ UNISFA) และสนับสนุนกำลังพลเพิ่มเติมเมื่อมีคำขอของสหประชาชาติ (United Nations : UN) ในภารกิจเดียวกัน โดยให้กำลังพลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้รับสิทธิเกี่ยวกับการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพิจารณาบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉิน พ.ศ. 2529 ตลอดช่วงเวลาปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยถือเป็นการปฏิบัติราชการพิเศษตามที่ กห. กำหนด ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจสังเกตการณ์ตามข้อตกลงหยุดยิงและใช้กำลังเมื่อจำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหยุดยิงและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนและผู้พลัดถิ่นในพื้นที่เอบิเย โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ 12เดือน โดย UN จะสนับสนุนงบประมาณในการปฏิบัติการทั้งหมด ยกเว้นบำเหน็จพิเศษในเวลาเหตุฉุกเฉินที่จะต้องใช้เงินงบประมาณจาก กห. เมื่อกำลังพลดังกล่าวได้กลับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการส่งกำลังพลในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงการยอมรับในขีดความสามารถกำลังรักษาสันติภาพของกองทัพไทยและเป็นโอกาสอันดีในการเพิ่มบทบาทด้านการรักษาสันติภาพของประเทศไทยในเวทีสากลตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการรักษาบทบาทของประเทศไทยบนเวทีประชาคมโลกในฐานะประเทศสมาชิก UN และรักษาระดับการมีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสันติภาพของ UN ทั้งนี้ สภากลาโหมในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว 23. เรื่อง การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสาธารณรัฐเยเมน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council - UNSC) ที่ 2624 (ค.ศ. 2022) เกี่ยวกับสาธารณรัฐเยเมน (ข้อมติ UNSC ที่ 2624ฯ) 2. เห็นชอบการดำเนินการตามข้อมติดังกล่าวจนกว่า UNSC จะรับรองข้อมติเพื่อเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือยกเลิกมาตรการลงโทษกรณีสาธารณรัฐเยเมน ซึ่ง กต. จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อมีการรับรองข้อมติที่เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรการลงโทษกรณีสาธารณรัฐเยเมนต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจาก UNSC ได้ออกข้อมติเพื่อคงไว้ซึ่งมาตรการลงโทษเกี่ยวกับสาธารณรัฐเยเมน (เยเมน) เป็นประจำทุกปี และเนื้อหาของข้อมติใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของมาตรการลงโทษที่มีอยู่เดิม 3. มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือปฏิบัติ และปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการลงโทษเยเมน โดยเฉพาะรายชื่อบุคคลและองค์กรที่ต้องถูกมาตรการลงโทษให้ทันสมัยตามข้อมูลเว็บไชต์ของสหประชาชาติ (https://www.un.org/securitycouncil/sanctions/2140/materials) รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ กต. ทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป ทั้งนี้ สหประชาชาติจะปรับปรุงรายชื่อบุคคล องค์กรภายใต้หัวข้อ ?Sanctions List Materials? เป็นระยะ สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council - UNSC) ที่ 2624 (ค.ศ. 2022) (ข้อมติ UNSC ที่ 2624ฯ) ซึ่งข้อมติ UNSC ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการต่ออายุและเพิ่มเติมมาตรการตามข้อมติ UNSC ที่ 2140 (ค.ศ. 2014) และข้อมติ UNSC ที่ 2216 (ค.ศ. 2015) ที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อประเทศไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) การเพิ่มกลุ่มฮูษีในรายชื่อบุคคลและองค์กรที่ถูกมาตรการลงโทษทางอาวุธตามข้อมติเดิม [2216 (ค.ศ. 2015)] (2) ประณามการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายฮูษีที่โจมตีซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3) ย้ำว่าการแก้ไขปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้โดยวิธีการทางการทหารแต่จะต้องมีการหารือและปรองดองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (4) การต่ออายุมาตรการที่ให้ทุกรัฐสมาชิกดำเนินการเช่น การอายัดทรัพย์สิน การห้ามเดินทาง การห้ามส่งออก/ส่งผ่านอาวุธไปยังเยเมน ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 (5) การเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการลักลอบนำเข้าอาวุธและส่วนประกอบผ่านเส้นทางทางบกและทางทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำข้อมติ UNSC ดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และโดยที่ UNSC ได้ออกข้อมติเพื่อคงไว้ซึ่งมาตรการลงโทษเกี่ยวกับสาธารณรัฐเยเมนเป็นประจำทุกปี และเนื้อหาของข้อมติใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของมาตรการลงโทษที่มีอยู่เดิม กต. จึงเสนอขอหลักการให้ดำเนินการตามข้อมติดังกล่าวจนกว่า UNSC จะรับรองข้อมติเพื่อเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือยกเลิกมาตรการลงโทษกรณีสาธารณรัฐเยเมน ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้อง/ไม่ขัดข้องในหลักการตามที่ กต. เสนอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติ UNSC ดังกล่าว 24. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งเยาวชนอาเซียน พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมสร้างบทบาทของเยาวชนในการสร้างประชาคมอาเซียน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อถ้อยคำและสารัตะของร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งเยาวชนอาเซียน พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมสร้างบทบาทของเยาวชนในการสร้างประชาคมเซียน (ASEAN Leaders? Statement on the Year of ASEAN Youth to Strengthen the Role of Youth in ASEAN Community - Building) (ร่างถ้อยแถลงฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา (คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง พม. รายงานว่า สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนร่างถ้อยแถลงฯ ซึ่งจะเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและให้ความสำคัญแก่เยาวชนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประชาคมอาเซียน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ต่อยอดความมุ่งมั่นของปฏิญญาว่าด้วยการรับรองดัชนีการพัฒนาเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Development Index: YDI) 20171 โดยสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ดัชนี YDI อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนานโยบายและแผนงานซึ่งจะระบุประเด็นและข้อกังวลที่มีผลต่อเยาวชนอย่างน้อยใน 5 ประเด็น คือ (1) การศึกษา (2) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (3) การจ้างงานและโอกาส (4) การมีส่วนร่วม และ (5) ความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและอัตลักษณ์อาเซียน 2. ตระหนักว่าเยาวชนในภูมิภาคนับเป็นร้อยละ 34 ของประชากรอาเซียนทั้งหมด 654 ล้านคน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสนใจและการลงทุนกับเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาเซียนในด้านต่าง ๆ 3. กำหนดประเด็นความร่วมมือในการเสริมสร้างบทบาทของเยาวชน เช่น (1) ประกาศให้ปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นปีเยาวชนอาเซียน เพื่อสร้างแรงผลักดันในการเสริมสร้างความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความครอบคลุม มีภูมิคุ้มกัน มีพลวัต และมีความกลมเกลียวร่วมกับเยาวชน (2) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชนในงานของอาเซียนและเปิดโอกาสให้เยาวชนอาเซียนได้มีส่วนร่วมในช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย และ (3) กระชับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนอาเซียนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยน การให้ทุนการศึกษา การฝึกงาน และโครงการมิตรภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ มอบหมายให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านเยาวชน โดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านเยาวชน และกลไกอาเซียนระดับรัฐมนตรีอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนงานตามถ้อยแถลงนี้ ???????????______________________ 1ดัชนี YDI ใช้ในการกำหนดนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในอาเซียน ประกอบด้วย 18 ตัวชี้วัด ใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การศึกษา เช่น การลงทะเบียนเรียนในระดับมัธยมศึกษา อัตราการรู้หนังสือ เป็นต้น (2) ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น จำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสารเสพติดและแอลกอฮอลล์ อัตราการติดเชื้อ HIV เป็นต้น (3) ด้านโอกาสและการจ้างงาน เช่น อัตราการคลอดบุตรในช่วงวัยรุ่น จำนวนบัญชีในสถาบันการเงิน เป็นต้น และ (4) ด้านการมีส่วนร่วม เช่น การทำกิจกรรมจิตอาสา การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น 25. เรื่อง ร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเล คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเล (ร่างความตกลงฯ) ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงฯ ดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองและร่วมลงนามในร่างความตกลงฯ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ (จะมีการลงนามร่างความตกลงฯ ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 16 - 17 ตุลาคม 2565 ณ ประเทศอินโดนีเซีย) สาระสำคัญของเรื่อง คค. รายงานว่า 1. ที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคอาเซียนเคยมีการทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและช่วยเหลือบุคคล/เรือ/และอากาศยานที่ประสบภัยระหว่างกัน ได้แก่ 1.1 ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้นหาอากาศยานที่ประสบภัยและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากอากาศยานประสบภัย ลงนามเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 1.2 ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้นหาเรือที่ประสบภัยและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือประสบภัย ลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2518 (ทั้งสองฉบับเป็นความตกลงระหว่าง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) 2. ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ (1) ทบทวนปรับปรุงความตกลงทั้งสองฉบับข้างต้น (ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2) และ (2) จัดตั้งเวทีการประชุมหารือด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียน (ASEAN Transport Search and Rescue Forum: ATSF) เพื่อพิจารณาร่างความตกลงฯ ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมการค้นหาและช่วยเหลือบุคคล อากาศยาน และเรือที่ประสบภัย โดยที่ประชุมด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการขนส่งของกลุ่มประเทศอาเซียน ในคราวประชุมครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ซึ่งประเทศบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพ มีมติเห็นชอบร่างความตกลงฯ แล้ว และกำหนดการลงนามร่างความตกลงฯ ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 ในเดือนตุลาคม 2565 (ระหว่างวันที่ 16 - 17 ตุลาคม 2565) 3. ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเลระหว่างรัฐสมาชิกต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง ขอบเขตของความร่วมมือ รัฐสมาชิกต่าง ๆ 1) ต้องร่วมมือกันในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น (1) การฝึกซ้อมและการฝึกอบรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกัน (2) การให้การช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อยกระดับความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ และนโยบายแห่งชาติที่มีผลบังคับใช้ที่เกี่ยวกับความร่วมมือและปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของแต่ละประเทศ 2) ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลที่อาจมีประโยชน์ต่อปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น (1) รายละเอียดของเหตุที่เกิดขึ้น (2) ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (3) แผนปฏิบัติการการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 3) พิจารณาตามควรที่จะส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มเติมผ่านการดำเนินการ เช่น (1) การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างบุคลากรด้านการค้นหาและช่วยเหลือ (2) แลกเปลี่ยนระบบการรายงานของเรือที่มีอยู่ทั้งหมด (Ship Reporting System) (3) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน (4) ฝึกซ้อมการติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ร่างความตกลกฯ ไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการกำหนดเขตการค้นหาและช่วยเหลือ และไม่ขัดขวางรัฐสมาชิกในการจัดทำความตกลงทวิภาคีในเรื่องเขตการค้นหาและช่วยเหลือ ขอบเขตการบังคับใช้ ร่างความตกลงฉบับนี้บังคับใช้กับบุคคล เรือหรือยานพาหนะทางน้ำอื่น ๆ รวมถึงอากาศยานที่ประสบภัยใด ๆ ภายในภูมิภาคอาเซียน 26. เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 (ตามข้อ 2) เพื่อให้คณะผู้แทนไทยซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนเป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ใช้เป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์และรับรองเอกสารผลการประชุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 2 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ (การประชุม STEER ครั้งที่ 6 มีกำหนดจัดประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร) สาระสำคัญของเรื่อง พณ. รายงานว่า 1. การประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (STEER) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่ายไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งที่ผ่านมาการประชุม STEER จัดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง โดยในการประชุม STEER ครั้งที่ 6 จะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สองของสิงคโปร์ (H.E. Dr. Tan See Leng) เป็นประธานร่วม 2. พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อพิจารณาประเด็นที่ควรยกขึ้นหารือกับสิงคโปร์ รวมทั้งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสร่วมกับฝ่ายสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 เพื่อพิจารณาประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะผลักดันสำหรับการประชุม STEER ครั้งที่ 6 ได้แก่ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือด้านการลงทุน ความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการบิน ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือสาขาใหม่ ทั้งนี้ จะมีการจัดทำเอกสารผลการประชุม (Joint Record) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ในโอกาสเดียวกันนี้ พณ. จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสิงคโปร์ 3. ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในโลก และอันดับที่ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียน (รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย) โดยในปี 2564 การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 520,220.78 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.93 โดยไทยยังเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 52,421.90 ล้านบาท ทั้งนี้ การประชุม STEER ครั้งที่ 6 จะเป็นโอกาสให้ไทยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมถึงเชิญชวนให้สิงคโปร์ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ในระยะยาว นอกจากนี้ สิงคโปร์มีความก้าวหน้าในด้านระบบเศรษฐกิจการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุม STEER ครั้ งที่ 6 จะเป็นโอกาสให้ไทยมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของสิงคโปร์เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้ก้าวสู่การค้ายุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 27. เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face ระหว่างวันที่ 6-17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (30 พฤษภาคม 2565) รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face และเห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ในรูปแบบ face-to-face] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ เช่น 1.1 รับรองการแก้ไขภาคผนวกที่ 2 ภาคผนวก 8 และภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม รัฐผู้ส่งออก รัฐผู้นำเข้า และรัฐที่นำผ่านแดนจะต้องดำเนินการตามกระบวนการแจ้งความยินยอมล่วงหน้า 1.2 รับรองแนวทางเกี่ยวกับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คู่มือปฏิบัติฉบับแก้ไขสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้แน่ใจว่าการแจ้งการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนเป็นไปตามข้อกำหนดการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.3 รับรองแนวทางด้านเทคนิควิชาการ ได้แก่ (1) การจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยปรอท หรือสารประกอบปรอทอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) การเผาของเสียอันตรายและของเสียอื่นที่ครอบคุลมการดำเนินการกำจัดด้วยวิธีการเผาบนดินและการใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวิธีการอื่นที่ให้พลังงาน และ (4) การกำจัดของเสียอันตรายและของเสียอื่นด้วยการฝังกลบอย่างถูกหลักวิศวกรรม 1.4 เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางด้านเทคนิควิชาการต่าง ๆ ได้แก่ (1) การจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว (3) การจัดการของเสียที่เป็นแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด และแบตเตอรี่อื่นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) การจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้วและของเสียประเภทยางนอกชนิดอัดลมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (5) การเพิ่มเติมสาร Perfluorohexane sulfonic acid (PFHxS), its salts and PFHxS-related compounds1 ที่ได้รับการรับรองสำหรับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน 2. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ เช่น 2.1 เห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสารเคมีประเภทสารเคมีอุตสาหกรรม จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ สาร Decabromodiphenyl ether2 และสาร Perfluorooctanoic acid (PFOA)3 ในภาคผนวก 3 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป 2.2 พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี 17 คน จากผู้แทนของภูมิภาคต่าง ๆ โดยนางพาลาภ สิงหเสนี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมในคณะกรรมการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565-2569 2.3 รับรองแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ระหว่างปี 2565-25664 เช่น การจัดประชุมสัมมนา การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การเสริมสร้างศักยภาพ การฝึกอบรม การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และการจัดการความรู้ด้านสารสนเทศ 3. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ได้แก่ 3.1 เห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสาร PFHxS ภายใต้ภาคผนวก เอ ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษ ซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินมาตรการในการห้ามการผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออกสารดังกล่าว 3.2 เห็นชอบให้ยกเลิกข้อยกเว้นพิเศษสำหรับการผลิตและการใช้สาร Hexabromocyclododecane5 สาร Pentachlorophenol6 และสาร Technical endosulfan7 และให้ประเทศภาคียกเลิกการใช้สาร Polychlorinated biphenyl (PCBs)8 ในอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในปี 2568 และมีการจัดการของเสียที่ปนเปื้อนสาร PCBs อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2571 4. ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการ มีดังนี้ 4.1 เตรียมความพร้อมของประเทศไทย กรณีการแก้ไขภาคผนวก 2 ภาคผนวก 8 และภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตการปฏิบัติงานตามกฎหมายภายในประเทศ เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการแก้ไขภาคผนวกดังกล่าว 4.2 นำแนวทางด้านเทคนิควิชาการสำหรับการจัดการของเสียต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ มาประยุกต์ใช้ภายในประเทศพร้อมทั้งเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 4.3 ควบคุมสารเคมีที่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ให้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่น สาร PFOA และ สาร PFHxS 4.4 ดำเนินกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างให้มีการดำเนินการตามอนุสัญญาร่วมกับสำนักเลขาธิการร่วมของอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และภาคีสมาชิกอื่น ๆ 4.5 จัดประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาประเด็นการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ และข้อเสนอแนะของไทยในการประชุมรัฐภาคีสมัยต่อไป 1 PFHxS เป็นสารที่ใช้ในการผลิตโฟมดับเพลิง ลดแรงตึงผิวในการชุบโลหะ ใช้เป็นสารทำความสะอาด เคลือบ และขัดผิวพรม กระดาษ หนังและสิ่งทอ เพื่อป้องกันน้ำและคราบสกปรก 2 Decabromodiphenyl ether เป็นสารที่ใช้เพื่อหน่วงการติดไฟในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พลาสติก กาว ยาแนว สารเคลือบผิวและหมึกพิมพ์ 3 PFOA เป็นสารกันน้ำ ลดแรงตึงผิว ใช้เป็นสารเคลือบให้ผิวลื่นในผลิตภัณฑ์ภาชนะ สิ่งทอ รองเท้า ปลอกหุ้มสายไฟ และเทปพันท่อน้ำ 4 ข้อมูลจากการประสาน ทส. เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 5 Hexabromocyclododecane เป็นสารหน่วงการติดไฟในสิ่งทอและวัสดุก่อสร้าง 6 Pentachlorophenol เป็นสารกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช และยาฆ่าเชื้อ 7 Endosulfan เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช 8 PCBs เป็นสารที่มีคลอรีน ไฮโดรเจน และคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งพบได้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าและสารกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช 28. เรื่อง การขอความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the Twenty-Eighth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the Twenty-Eighth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (28th ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council Meeting) ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชาตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 มีสาระสำคัญเพื่อสนับสนุนและชื่นชมความก้าวหน้าและความสำเร็จในการดำเนินงานภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้แนวคิด ?อาเซียน เอ ซี ที การจัดการกับความท้าทายร่วมกัน? ?ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together? ตลอดจนการรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เช่น การดำเนินงานตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 การดำเนินงานด้านเยาวชน ด้านการศึกษา ด้านสตรี ด้านการคุ้มครองทางสังคม ด้านการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน ด้านเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้านกีฬา ด้านการเปลี่ยนแปลง ด้านสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ การเยือนติมอร์-เลสเตเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และการครบวาระการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 29. เรื่อง ขอความเห็นชอบการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 (Joint Statement of the Twelveth ASEAN Education Ministers Meeting) 2) ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 6 (Joint Statement of the Sixth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting) 3) ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 Joint Statement of the Sixth East Asia Summit Education Ministers Meeting) 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนให้ความเห็นชอบ และรับรอง ร่างแถลงการณ์ร่วมทั้ง 3 ฉบับข้างต้น สาระสำคัญเอกสารผลลัพธ์การประชุม ฯ จำนวน 3 ฉบับ มีดังนี้ 1. ร่างเอกสารแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 (Joint Statement of the Twelveth ASEAN Education Ministers Meeting) สาระสำคัญ คือ - รับทราบถึงวิกฤตการเรียนรู้และผลกระทบต่อนักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและขอให้อาเซียนเพิ่มความพยายามและจัดการกับวิกฤตด้วยแนวทางที่ครอบคลุมและยั่งยืน - ขอบคุณประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และภาคีเครือข่ายต่อการพัฒนา ?แนวทางการเปิดเรียนพื้นฟูและปรับตัวด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเชียน? และ ?ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน? - การนำความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนและฮังการี ที่ได้รับรองในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเชีย พ.ศ. 2565-2569 ไปปฏิบัติ 2. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 6 (Joint Statement of the Sixth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting) สาระสำคัญ คือ - สนับสนุนประเด็นสำคัญของเวียดนาม ?Joint efforts to reimagine learning and building resilience of education systems in ASEAN and beyond in the new context? - สนับสนุนบทบาทของอาเซียนบวกสามในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเรียนรู้ รวมทั้ง ความจำเป็นในการเร่งพื้นฟูการเรียนและสร้างความยืดหยุ่นในการศึกษาภายหลังโควิด-19 - รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2561 - 2568 และชื่นชมความร่วมมือของประเทศอาเซียนบวกสามในการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ ฯ อย่างต่อเนื่อง 3. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 (Joint Statement of the Sixth East Asia Summit Education Ministers Meeting) สาระสำคัญ คือ - รับทราบการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก EAS ในการดำเนินงานร่วมกันด้านการศึกษา - รับทราบการรับรองโดยหลักการแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2565-2569 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากประเทศสมาชิกอาเซียน - สนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2563 - ความร่วมมือและการสนับสนุนในกรอบอ้างอิงคุณวุฒิอาเซียนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ - การเปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน-อินเดีย ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 - ความมุ่งมั่นในการบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการศึกษา โดยเน้นการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก 30. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 6 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ CICA กฎระเบียบว่าด้วยกองทุนของ CICA (Draft Decision of the CICA Summit Meeting Regulations of the Fund of the Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia) 2) ร่างถ้อยแถลงผู้นำ CICA เรื่องความร่วมมือในสาขาความมั่นคงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (Draft CICA Leader?s Statement on Cooperation in the Field of Security of and in the Use of Information and Communication Technologies) 3) ร่างแผนปฏิบัติการของ CICA ว่าด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกของสหประชาชาติ (Draft CICA Plan of Action on the Implementation of the United Nations Global Counter-Terrorism Strategy) 4) ร่างแถลงการณ์กรุงอัสตานาว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของ CICA (Draft Astana Statement on CICA Transformation) 5) ร่างสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำ CICA ครั้งที่ 6 (Draft Conclusions of the 6th CICA Summit) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสามารถพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก 2. อนุมัติให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ CICA ครั้งที่ 6 ร่วมรับรองเอกสาร จำนวน 5 ฉบับดังกล่าว สาระสำคัญ 1. ร่างเอกสารทั้ง 5 ฉบับไม่มีถ้อยคำ หรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฯ 2. ร่างเอกสารทั้ง 5 ฉบับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิกของ CICA ดังนั้น จึงต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 3. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรองโดยที่ประชุมสุดยอดผู้นำของ CICA ครั้งที่ 6 จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ CICA กฎระเบียบว่าด้วยกองทุนของ CICA (Draft Decision of the CICA Summit Meeting Regulations of the Fund of the Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia) มีสาระสำคัญในการกำหนดกรอบการดำเนินงานทางด้านการเงินของเงินกองทุนของ CICA ในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือของ CICA อาทิ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกองทุน การกำหนดแหล่งที่มาของเงินกองทุนให้ประเทศสมาชิกสามารถบริจาคเงินเข้ากองทุนได้ บนพื้นฐานของความสมัครใจ การกำหนดกลไก การตรวจสอบการใช้เงินกองทุน 2) ร่างถ้อยแถลงผู้นำ CICA เรื่องความร่วมมือในสาขาความมั่นคงและการใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารและการสารสนเทศ (Draft CICA Leader?s Statement on Cooperation in the Field of Security of and in the Use of Information and Communication Technologies) มีสาระสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภาคี CICA ด้านความมั่นคงและการใช้ข้อมูล การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ข้อมูลและช่องทางการสื่อสารผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุนการก่อการร้าย รวมทั้งการกระทำความผิดต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก CICA กำหนดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับความปลอดภัย การป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก CICA โดยการเสริมสร้างศักยภาพและความรู้ทางด้านความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลสารสนเทศ 3) ร่างแผนปฏิบัติการของ CICA ว่าด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกของสหประชาชาติ (Draft CICA Plan of Action on the Implementation of the United Nations Global Counter-Terrorism Strategy) มีสาระสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิก CICA ในการกำหนดแผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกของสหประชาชาติ (United Nations Global Counter-Terrorism Strategy (UNGCTS)) โดยการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ 4) ร่างแถลงการณ์กรุงอัสตานาว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของ CICA (Draft Astana Statement on CICA Transformation) มีสาระสำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองต่อแผนการดำเนินการยกระดับ CICA ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ ?Organization for Interaction and Cooperation in Asia - OICA 5) ร่างสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำ CICA ครั้งที่ 6 (Draft Conclusions of the 6th CICA Summit) เป็นร่างเอกสารที่ประธาน CICA (สาธารณรัฐคาซัคสถาน) ประสงค์ให้เป็นการหาทางออกในประเด็นที่ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเอกสารตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 และ 4 รวมถึงการนำประเด็นที่ประเทศสมาชิกประสบความสำเร็จในการร่วมดำเนินการมาบรรจุในเอกสารฉบับนี้ 31. เรื่อง การร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างกรอบการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนและบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน (Draft Implementation Framework on Enhancing Container Processing and Circulation in ASEAN Member States) 2) ร่างเอกสารอ้างอิงทางเทคนิคด้านการบำรุงรักษาสะพานสำหรับแนวเส้นทางการขนส่งข้ามพรมแดนของอาเซียน (Technical Reference for Bridge Maintenance in ASEAN Cross - Border Corridors (Draft)) 3) ร่างหลักการสำหรับการจัดทำกฎระเบียบว่าด้วยการบริการด้านการขนส่งโดยการใช้แอปพลิเคชันสำหรับการขนส่งผู้โดยสารในอาเซียน (Draft Guiding Principles for the Regulation of Application - based Mobility Services for Passenger Transport in ASEAN) 4) ร่างคู่มือแนวปฏิบัติด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าเรือสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการตรวจสอบการอบรม (Booklet of Best Practices in Port Security Measures for Training of Trainer (ToT) Manual and Model Audit Training Program (Draft)) 5) ร่างสุดท้าย-คู่มืออาเซียนว่าด้วยระบบการจัดการสิ่งแสดล้อมท่าอากาศยาน (ASEAN Guideline on Airport Environmental Management System (AIRPORT EMS) Final Draft) 6) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twenty - Eighth ASEAN Transport Ministers (28th ATM) Meeting) 7) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - จีน ครั้งที่ 21 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twenty - First ASEAN - China Transport Ministers (21st ATM - China) Meeting) 8) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 20 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twentieth ASEAN - Japan (20th ATM - Japan) Meeting) 9) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 13 (Draft Joint Ministerial Statement for the Thirteenth ASEAN - Republic of Korea Transport Ministers (13th ATM - ROK) Meeting) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง 2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสาร จำนวน 9 ฉบับดังกล่าว สาระสำคัญของร่างเอกสารต่าง ๆ กระทรวงคมนาคมขอเสนอเอกสารจำนวน 9 ฉบับ ที่จะมีการรับรองในช่วงการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้ 1. ร่างกรอบการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนและบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน (Draft Implementation Framework on Enhancing Container Processing and Circulation in ASEAN Member States) เป็นเอกสารเชิงกลยุทธ์สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ส่งเสริมความสามารถในการจัดการวิกฤตการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ (2) เสริมสร้างขีดความสามารถและความยืดหยุ่นในการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในระยะยาวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (3) จัดทำแนวทางปรับปรุงบริการที่เกี่ยวกับสินค้าคอนเทนเนอร์และส่งเสริมการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ในภูมิภาคอาเซียน และ (4) สนับสนุนการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับตู้สินค้า/คอนเทนเนอร์ 2. ร่างเอกสารอ้างอิงทางเทคนิคด้านการบำรุงรักษาสะพานสำหรับแนวเส้นทางการขนส่งข้ามพรมแดนของอาเซียน (Technical Reference for Bridge Maintenance in ASEAN Cross - Border Corridors (Draft)) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในด้านการบำรุงรักษาสะพาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน 3. ร่างหลักการสำหรับการจัดทำกฎระเบียบว่าด้วยการบริการด้านการขนส่งโดยการใช้แอปพลิเคชันสำหรับการขนส่งผู้โดยสารในอาเซียน (Draft Guiding Principles for the Regulation of Application - based Mobility Services for Passenger Transport in ASEAN) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนากรอบกฎหมายสำหรับการขนส่งโดยการใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสม เพื่อรองรับเทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบดิจิทัลในภาคการขนส่ง 4. ร่างคู่มือแนวปฏิบัติด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าเรือสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการตรวจสอบการอบรม (Booklet of Best Practices in Port Security Measures for Training of Trainer (ToT) Manual and Model Audit Training Program (Draft)) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำเอกสารคู่มือสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าเรือสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการตรวจสอบการอบรมของประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น 5. ร่างสุดท้าย-คู่มืออาเซียนว่าด้วยระบบการจัดการสิ่งแสดล้อมท่าอากาศยาน (ASEAN Guideline on Airport Environmental Management System (AIRPORT EMS) Final Draft) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมของท่าอากาศยานในอาเซียน เป็นระบบการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับท่าอากาศยานโดยเฉพาะ และไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการท่าอากาศยาน 6. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twenty - Eighth ASEAN Transport Ministers (28th ATM) Meeting) มีสาระสำคัญ ได้แก่ การลงนามความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเล และความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียน - สหภาพยุโรป การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม การเสริมสร้างการเป็นตลาดการบินร่วมอาเซียน ที่มีมาตรฐานการให้บริการเดินอากาศ การตรวจความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยด้านการบิน และความยั่งยืนด้านการบิน เป็นไปตามมาตรฐานสากล การรับทราบความคืบหน้าดำเนินการเพื่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าภายในอาเซียน และความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสาธารณรัฐเกาหลี 7. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - จีน ครั้งที่ 21 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twenty - First ASEAN - China Transport Ministers (21st ATM - China) Meeting) มีสาระสำคัญ ได้แก่ ความยินดีต่อการลงนามที่สมบูรณ์ของพิธีสาร 3 แนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน - จีน รับทราบผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน - จีน ฉบับปรับปรุง ปี 2564 - 2568 และแผนงานสำคัญที่จะดำเนินการในปี 2565 และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟใน สปป.ลาว โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟในมาเลเซีย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และการก่อสร้างทางหลวงพิเศษในกัมพูชา เป็นต้น 8. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 20 (Draft Joint Ministerial Statement for the Twentieth ASEAN - Japan (20th ATM - Japan) Meeting) มีสาระสำคัญ ได้แก่ การรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความร่วมมือว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ปี 2563 - 2564 การรับรอง (1) คู่มือแนวปฏิบัติด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าเรือสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการตรวจสอบการอบรม (2) เอกสารอ้างอิงทางเทคนิคด้านการบำรุงรักษาสะพานสำหรับแนวเส้นทางการขนส่งข้ามพรมแดนของอาเซียน และ (3) แผนงานความร่วมมือว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ปี 2564 - 2565 และรับทราบข้อเสนอโครงการใหม่ เรื่องการรักษาความปลอดภัยด้านการบินระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ปี 2566 - 2570 และความคืบหน้าการจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคระหว่างอาเซียน ? ญี่ปุ่น 9. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 13 (Draft Joint Ministerial Statement for the Thirteenth ASEAN - Republic of Korea Transport Ministers (13th ATM - ROK) Meeting) มีสาระสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งอัจฉริยะ การดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี และความคาดหวังให้เกิดผลสำเร็จของการเป็นตลาดการขนส่งทางน้ำร่วมอาเซียน และการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี โดยเร็วต่อไป แต่งตั้ง 32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป และส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 34. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (กระทรวงพลังงาน) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2566 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396