http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (3 มกราคม 2566) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน ประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. .... 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. .... เศรษฐกิจ-สังคม 3. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 4. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 5. เรื่อง (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) 6. เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน 7. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือน พฤศจิกายน 2565 8. เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 17 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565) 9. เรื่อง (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 ? 2570) 10. เรื่อง แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ต่างประเทศ 11. เรื่อง การรับรองแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน ? สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2565 ? 2569 (ASEAN ? Russian Federation Plan of Action on Education 2022 - 2026) แต่งตั้ง 12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) 13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภบบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา 14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและ ใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. .... ที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ รง. เสนอว่า 1. ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดง การขึ้นทะเบียนประกันสังคม ฉบับละ 50 บาท และใบแทนบัตรประกันสังคมฉบับละ 10 บาท โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียน สำนักงานประกันสังคมจะออกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและบัตรประกันสังคม กรณีหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและบัตรประกันสังคมสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด หากจะขอรับใบแทนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ 2. สำนักงานประกันสังคมมีต้นทุนในการออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมประมาณการจากปี 2564 จำนวน 87,165.27 บาท มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จำนวน 52,000 บาท ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 35,165.27 บาท ส่วนการออกใบแทนบัตรประกันสังคมประมาณการจากปี 2564 มีต้นทุน จำนวน 78,097.08 บาท มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จำนวน 125,920 บาท มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 47,822.92 บาท รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบแทนบัตรประกันสังคม แม้สูงกว่าต้นทุนในการดำเนินการ แต่รายได้ที่จัดเก็บได้ไม่เกิน 500,000 บาท รง. พิจารณาเห็นวาค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และใบแทนบัตรประกันสังคมซึ่งจัดเก็บได้นั้นไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินงานของภาครัฐ เนื่องจากมีอัตราในการจัดเก็บต่ำ เห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และใบแทนบัตรประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 กล่าวคือ ในกรณีค่าธรรมเนียมใบคำขอและใบแทน หากรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนของภาครัฐในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ให้หน่วยงานพิจารณายกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าว หรืออัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 100 บาท รายได้จัดเก็บไม่เกิน 500,000 บาท ต่อใบอนุญาต รง. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. .... เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และค่าธรรมเนียมใบแทนบัตรประกันสังคมดังกล่าว 3. การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคมตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะทำรัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการยกเว้นค่าธรรมเนียม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ประมาณ 177,920 บาท ต่อปี สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ฉบับละ 50 บาท และค่าธรรมเนียมใบแทนบัตรประกันสังคม ฉบับละ 10 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุข รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า 1. เดิมใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะมีอายุตราบเท่าที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นผู้รับอนุญาตผลิตหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 มาตรา 86/2 บัญญัติให้ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาสิ้นอายุ เมื่อครบ 7 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาและให้การขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะกำหนดให้มีการทบทวนทะเบียนตำรับยาไว้ด้วยก็ได้ 2. เพื่อให้การต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งเป็นมาตรการที่ควบคุมและกำกับดูแลยาของหน่วยงานของรัฐให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการรับขึ้นทะเบียนตำรับยา ประกอบกับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2540 จะสิ้นอายุในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 (ครบ 5 ปี) สธ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยกำหนดให้ยื่นคำขอต่ออายุภายใน 1 ปี ก่อนวันที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาสิ้นอายุ และกำหนดให้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการยา ครั้งที่ 409-3/2565 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว 3. สธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยได้จัดประชุมและ รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเว็บไซต์ของกองยา และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมถึงเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญ การขึ้นทะเบียนตำรับยา สรุปได้ ดังนี้ 1. กำหนดให้ผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยายื่นคำขอต่ออายุภายใน 1 ปี ก่อนวันที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาสิ้นอายุ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแนบคำขอต่ออายุใบสำคัญ การขึ้นทะเบียนตำรับยา 2. กำหนดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้ (1) เมื่อผู้อนุญาตได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานแล้ว ผู้อนุญาตจะออกใบรับคำขอ และตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคำขอ หากไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตบันทึกความบกพร่องไว้และแจ้งให้ผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแก้ไขเพิ่มเติมคำขอหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วน ทั้งนี้ หากผู้รับอนุญาตไม่ดำเนินการจะถือว่าไม่ประสงค์จะต่ออายุและให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ (2) เมื่อผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาชำระค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ หากไม่ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ถือว่าไม่ประสงค์จะต่ออายุให้จำหน่ายเรื่องออกสารบบ (3) กรณีทะเบียนตำรับยาเป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ต่ออายุ ผู้อนุญาตจะมีหนังสือแจ้งคำสั่งอนุญาตให้ต่ออายุ และออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีเลขทะเบียนเดิมและกำหนดวันสิ้นอายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้เป็นไปตามมาตรา 86/2 (7 ปี) (4) กรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ ยาตามที่ผู้อนุญาตเสนอ ให้ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญฯ และให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด และให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้รับใบสำคัญฯ ทราบพร้อมด้วยเหตุผล (5) การแจ้งคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง และการแจ้งคำสั่งดังกล่าวจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมการออกหนังสือด้วยก็ได้ 3. กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้ (1) เอกสารการขึ้นทะเบียนตำรับยาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยต้องมีความถูกต้องเป็นปัจจุบันตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและ ยากำหนด (2) ข้อกำหนดมาตรฐานและวิธีวิเคราะห์ในทะเบียนตำรับยาเป็นไปตามตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศหรือฉบับที่ใหม่กว่า หรือเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน และวิธีวิเคราะห์ของผู้ผลิตยาที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าเทียบเท่ากัน แล้วแต่กรณี 4. กำหนดให้แบบคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด และกำหนดให้การยื่นคำขอตามกฎกระทรวงนี้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสถานที่อื่น ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด เศรษฐกิจ-สังคม 3. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชัน จำกัด และมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดฯ และได้ร่วมกันจัดทำรายงานการประเมินผลฯ ซึ่ง คปก. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,108 โครงการ 3 แผนงาน ประกอบด้วย (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ การประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน จำนวน 400 โครงการ โดยพิจารณาคัดเลือกโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 100 โครงการ กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวม 898,092.12ล้านบาท 2. คปก. ได้จัดทำรายงานการประเมินผลฯ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565 จำนวน 100 โครงการ ซึ่งมีกรอบวงเงินรวม 898,092.12 ล้านบาท ผลการเบิกจ่ายรวม 877,766.71 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 97.73 ของกรอบวงเงิน โดยทั้ง 100 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,916,074.47 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการเก็บภาษี จำนวน 562,869.84 ล้านบาท รวมถึงเกิดความคุ้มค่า 3.55 เท่า โดยมีผลการประเมินระดับแผนงาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 2.1 แผนงานที่ 1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 2.1.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 26 โครงการ กรอบวงเงินรวม 55,086.52 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 51,046.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.66 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน อยู่ในระดับดี 2.1.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน และโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม 35 ล้านโดส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการเก็บภาษี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 2.1.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) ฐานข้อมูลของ อสม. และระบบสารสนเทศงานสุขภาพประชาชนไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถโอนเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. (2) การส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 มีความซ้ำซ้อนและล่าช้า และ (3) ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของโครงการ 2.1.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลของ อสม. ให้มีความถี่มากขึ้น (2) จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศที่สามารถสนับสนุนการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อลดความซ้ำซ้อนและความล่าช้าในการส่งต่อผู้ป่วย (3) ควรมีการบูรณาการระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้สามารถตัดสินใจสั่งการและใช้ทรัพยากรร่วมกันได้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน และ (4) ควรกำหนดมาตรการการบริหารสื่อประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสารในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้การสื่อสารถึงประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันรวมถึงกำหนดมาตรการลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่ให้ข้อมูล ข่าวสาร หรือความเห็นที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด 2.2 แผนงานที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 2.2.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม 669,688.03 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 667,393.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.65 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิภาพ ด้านประสิทธิผล และด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี ส่วนด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับพอใช้เนื่องจากโครงการมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาในระยะสั้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีช่วงเวลาในการปรับตัวกับสถานการณ์แต่กลุ่มเป้าหมายปรับตัวกับสถานการณ์ได้เพียงส่วนน้อยจึงไม่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน 2.2.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,156,189.28 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการเก็บภาษี จำนวน 416,212.00 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ รักษาการจ้างงานของภาคธุรกิจและชะลอการเกิดหนี้เสียของภาคธุรกิจ 2.2.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) หน่วยงานดำเนินโครงการมีบทบาทและหน้าที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินโครงการ และไม่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรในการดำเนินโครงการ (2) การทุจริตของผู้เข้าร่วมโครงการ (3) การมีข้อจำกัดและความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (4) ฐานข้อมูลประชาชนของแต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกันและไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน และ (5) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีมุมมองว่าหากเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้และส่งผลให้ต้องเสียภาษี จึงหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมโครงการ 2.2.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการควรเตรียมความพร้อมและมีทรัพยากรที่เหมาะสมในการให้บริการประชาชน (2) ควรกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตโดยมีบทลงโทษที่รุนแรงและเห็นผลเร็ว (3) ควรมีหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินงานโครงการ เช่น การลงทะเบียน การกระจายข้อมูลข่าวสาร และการให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ (4) ควรมีระบบฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์และมีฐานข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และ (5) ควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและมีมาตรการทางภาษีที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตเพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าร่วมโครงการ 2.3 แผนงานที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 2.3.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 57 โครงการ กรอบวงเงินรวม 173,317.57 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 159,326.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.92 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิภาพ ด้านประสิทธิผล และด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี ส่วนด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะการพัฒนาอาชีพและการจ้างงานระยะสั้น กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจึงนำองค์ความรู้จากการพัฒนาอาชีพไปต่อยอดสร้างอาชีพได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ส่งผลให้โครงการไม่เกิดความยั่งยืน 2.3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ?โคก หนอง นา โมเดล? โครงการคนละครึ่ง และโครงการกำลังใจ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ จำนวน 696,325.45 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 134,390.81 ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม เช่น รักษาระดับการจ้างงาน เกิดแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและระบบชลประทาน 2.3.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) หน่วยงานมีภารกิจไม่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินโครงการและไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากร (2) ระบบในการให้บริการประชาชนมีความเสี่ยงเรื่องความไม่เสถียรเมื่อมีการใช้งานจำนวนมาก และ (3) การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการไม่ครบถ้วนถูกต้อง และผู้ประกอบการบางส่วนไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการเนื่องจากต้องเสียภาษี ทำให้มาตรการบางส่วนอาจไม่ประสบความสำเร็จ 2.3.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรมอบหมายหน่วยงานที่มีภารกิจให้บริการประชาชนซึ่งจะมีทรัพยากรที่พร้อมและเหมาะสม (2) ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก และให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีและการปกป้องข้อมูลของประชาชน และ (3) มุ่งเน้นการสื่อสารข้อมูลบนสื่อหลัก เช่น สื่อโทรทัศน์และวิทยุเพื่อป้องกันปัญหาการได้รับข้อมูลข่าวสารเท็จและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง 4. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สาระสำคัญ 1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนพฤศจิกายน 2565 ดังนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 เท่ากับ 107.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 102.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.55 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (จากร้อยละ 6.41 และ 5.98 ในเดือนกันยายน และตุลาคม 2565 ตามลำดับ) ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 8.40 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่สูงขึ้นร้อยละ 9.58 ตามราคาผักสดที่ลดลงค่อนข้างมาก (ผักกาดขาว ผักคะน้า ขึ้นฉ่าย ฟักทอง) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด ปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคาชะลอตัว รวมถึงเครื่องประกอบอาหารที่ราคาชะลอตัว และส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่สมดุลระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้บริโภค ของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.59 (YoY) ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 3.22 (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 3.17 (YoY) ตามต้นทุนการผลิตที่เกิดจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.13 (MoM) ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้สด (ผักบุ้ง ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) เนื้อสุกร ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.10 (AoA) อยู่ระดับใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ (ระหว่างร้อยละ 5.5 - 6.5 ค่ากลางร้อยละ 6.0) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 49.9 จากระดับ 47.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งใกล้จะเข้าสู่ช่วงความเชื่อมั่น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 38.7 มาอยู่ที่ระดับ 40.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.7 มาอยู่ที่ระดับ 56.3 อยู่ระดับที่มีความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ รวมถึงราคาสินค้าและบริการในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไป 2. แนวโน้มเงินเฟ้อ แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง อุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ฐานราคาที่ต่ำลงในเดือนธันวาคม 2565 ยังเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2565 อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5 - 6.5 (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย 5. เรื่อง (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) (ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ท.ท.ช. รายงานว่า 1. สืบเนื่องมาจากมาตรา 10 (2) และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติให้ ท.ท.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มี การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติมาแล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555 - 2559 (ฉบับที่ 1) (2) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 (ฉบับที่ 2) และ (3) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2565 (ฉบับปรับปรุง) 2. ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 ที่ ท.ท.ช. ได้เสนอมาในครั้งนี้ (ท.ท.ช. เห็นชอบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564) จะเป็นการยกระดับและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องและต่อยอดจากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาและจะเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนแก้ไขฟื้นฟูการท่องเที่ยว รวมถึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับภาวะความปกติถัดไป มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ภายในระยะเวลา 5 ปี คือ ?การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม (Rebuilding High Value Tourism Industry with Resilience, Sustainability and Inclusive Growth)? โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 2.1 เป้าหมาย พันธกิจ และตัวชี้วัด ประเด็น สาระสำคัญ เป้าหมาย เป้าหมายหลัก - การท่องเที่ยวไทยมีความเข้มแข็งและสมดุล (Resilience & Re-balancing Tourism) - การยกระดับความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว (Connectivity) - การสร้างความเชื่อมั่นและมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวคุณค่าสูง (Entrusted Experience) - การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เป้าหมายรอง - การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูงสำหรับทุกกลุ่ม (Supporting Elements) - เทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว (ICT Readiness) - ความพร้อมในการรับมือและจัดการกับความเสี่ยงทุกรูปแบบอยู่เสมอ (Risk Readiness) พันธกิจ - เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิต (Supply-side) ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว - พัฒนาปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น มาตรฐานสถานประกอบการแหล่งท่องเที่ยว และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง - พัฒนาและยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวตลอดเส้นทางอย่างครบวงจร - ส่งเสริมความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดหลักในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เช่น - สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 - จำนวนธุรกิจบริการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวได้รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Standard) และอาเซียน (Asean Standard) เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย - ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต่ำกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี - ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ต่ำกว่า 3 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 ต่อปี - สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรก (First Visit) และกลุ่มเดินทางซ้ำ (Revisit) เป็น 40 : 60 - อันดับผลการดำเนินงานภาพรวมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อยู่ใน 35 อันดับแรก 2.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนา แบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็ง ต่อยอดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับภาวะความปกติถัดไป (Next Normal) เพื่อการเติบโตอย่างครอบคลุม (Inclusive Growth) ด้วยการพัฒนาแบบ องค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Resilient Tourism) เป้าประสงค์ - อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น และมีศักยภาพพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย - การท่องเที่ยวไทยช่วยในการสร้างความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำทั่วทุกพื้นที่ โดยการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน - ประเทศไทยได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวไทยอย่างแท้จริง โดยการลดการรั่วไหลของรายได้ ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้วยการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ - การท่องเที่ยวไทยมีสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละประเทศ และส่งเสริมนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ตัวอย่างตัวชี้วัด - สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (TGDP/GDP) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2570 - อัตราการเติบโตของรายได้ในสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 12 สาขา เท่ากับร้อยละ 4.5 ในปี 2570 - จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับการยกระดับศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ จำนวน 12,500 ราย ในปี 2570 ตัวอย่างกลยุทธ์ - กระจายรายได้และความเจริญจากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ และลดการรั่วไหลในภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม - ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตัวอย่างแนวทางในการพัฒนา - กระจายจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและกระจายรายได้ - ปรับปรุงและทบทวนกฎหมายด้านการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว - ยกระดับการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงตามเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ - ส่งเสริมการตลาดที่ตรงใจกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่มีคุณภาพทั้งไทยและต่างชาติ ตัวอย่างโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ - โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อรองรับการตลาดท่องเที่ยวรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) - โครงการพัฒนาและส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์ม Online Travel Agency (OTA) สัญชาติไทย - โครงการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ผ่านตลาดมูลค่าสูง - โครงการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าเพิ่ม หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูง (Quality Tourism) เป้าประสงค์ - ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เชื่อมโยง มีคุณภาพและเพียงพอ สามารถรองรับการใช้งานของนักท่องเที่ยวครอบคลุมทั้งประเทศ - ประเทศไทยมีโครงสร้างด้านดิจิทัลและศูนย์กลางข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (One-Stop Tourism Database) ที่เชื่อมโยงอย่างแท้จริงและสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างตัวชี้วัด - คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว 7 ด้าน เพิ่มขึ้นทุกปี - จำนวนผู้ใช้บริการฐานข้อมูลจากศูนย์กลางข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต่อปี ในปี 2570 - อัตราการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 2570 ตัวอย่างกลยุทธ์ - พัฒนาความปลอดภัย สุขอนามัย และมาตรฐานการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว - ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศ - สนับสนุนการใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว (Tourism Economy) เพื่อการกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวระดับประเทศ และการวางแผนดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ตัวอย่างแนวทางในการพัฒนา - ควบคุม ดูแล และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเพื่อการท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างสม่ำเสมอ - สนับสนุนการขยายขอบเขตและคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบสื่อสารให้มีความเสถียร - สนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว ตัวอย่างโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ - โครงการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวไทยของผู้ประกอบการที่พัก และสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว - โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางการท่องเที่ยวของประเทศไทย และกระจายจุดรับข้อมูลอัตโนมัติตามพื้นที่นำร่อง (One - Stop -Tourism Database) - โครงการจัดทำแอปพลิเคชันด้านการคมนาคมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กก. กระทรวงคมนาคม (คค.) ดศ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Experience) เป้าประสงค์ - นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทย พร้อมได้รับประสบการณ์ที่สะดวก ปลอดภัย และบริการที่เป็นเลิศ - ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่โดดเด่น มีกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อรองรับความสนใจและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม - การสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวไทยมีประสิทธิภาพและโดดเด่น มอบข้อมูลด้านการท่องเที่ยวทุกช่องทาง ทุกที่และทุกเวลา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม ตัวอย่างตัวชี้วัด - ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในไทย เพิ่มขึ้น 0.05 คะแนน ในแต่ละปี - อัตราการเติบโตของรายได้จากรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี - อันดับ Global Wellness Travel โดย Global Wellness Institute อยู่ที่อันดับ 1 ใน 5 ภายในปี 2570 ตัวอย่างกลยุทธ์ - ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและสร้างสรรค์ของไทย - ส่งเสริมการตลาดเชิงรุกมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างแนวทางในการพัฒนา - ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ด้วยการออกแบบและผลักดันกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทยให้โดดเด่นและดึงดูดนักท่องเที่ยว - กระตุ้นนวัตกรรมทางการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยผ่านสื่อใหม่ และเสริมสร้างการตลาดทุกช่องทางและเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ตัวอย่างโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ - โครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน - โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด ?เที่ยวชุมชน ยลวิถี? - โครงการพัฒนาศูนย์บริการด้านการแพทย์แผนไทยในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ - โครงการการสร้างการสื่อสารเชิงรุกเพื่อการท่องเที่ยวคุณภาพสูงด้วยสื่อดิจิทัล หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กก. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป้าประสงค์ - การท่องเที่ยวของไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยว - วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และเอกลักษณ์ความเป็นไทยคงอยู่ในสังคมสืบต่อไป พร้อมทั้งมีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบอย่างสร้างสรรค์ - แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และชุมชนของประเทศไทยมีมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล ตัวอย่างตัวชี้วัด - ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 2 ในแต่ละปี - จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล (GSTC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ต่อปี ในปี 2570 - มูลค่าการลงทุนและสัดส่วนมูลค่าการสะสมทุนถาวรเพื่อการท่องเที่ยวในมิติวัฒนธรรมต่อมูลค่าการสะสมทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี ในปี 2570 ตัวอย่างกลยุทธ์ - เสริมสร้างความสมบูรณ์แก่สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ - ส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย - ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างแนวทางในการพัฒนา - ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ - ทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ตัวอย่างโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ - โครงการเพิ่มศักยภาพและฟื้นฟูพื้นที่แนวปะการังที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว - โครงการท่องเที่ยวด้วยขนส่งยั่งยืน ?Eco-friendly Transport? ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ - โครงการยกระดับดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง - โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในจังหวัดนำร่อง หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กก. คค. ทส. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 2.3 กลไกการขับเคลื่อนและการติดตามและประเมินผล ประเด็น สาระสำคัญ กลไก การขับเคลื่อนแผนพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ - ระดับนโยบาย ผ่าน ท.ท.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว - ระดับพื้นที่ ผ่าน คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว - ระดับชุมชน ผ่าน กลุ่ม/องค์กร หรือเครืองข่ายองค์กร เช่น วิสาหกิจชุมชน การติดตาม และประเมินผล - การติดตามผลรายปี ประกอบด้วย (1) การติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดหลัก (ภาพรวม) (2) การติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดแต่ละยุทธศาสตร์ (3) การติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดรายโครงการ - การประเมินผลในแต่ละระยะ แบ่งออกเป็น (1) การประเมินผลในระยะที่ 1 เป็นการประเมินผลความคืบหน้าหรือความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนในปีที่ 1 - 2 (พ.ศ. 2566 - 2567) (2) การประเมินผลในระยะที่ 2 เป็นการประเมินผลความคืบหน้าหรือความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนในปีที่ 3 - 5 (พ.ศ. 2567 - 2570) - การทบทวนแผนรายปี เป็นการทบทวนแผนรายปีให้การดำเนินงานยังสอดรับกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 4. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริบทและแนวโน้มการท่องเที่ยวในระยะถัดไป ควรบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนการรองรับความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา มุ่งเน้นให้คนในพื้นที่เป็นหลักในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ระบุแนวทางปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ชัดเจน และควรมีแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เปิดกว้างและสอดคล้องความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละประเภท รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ ซึ่ง กก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ท.ท.ช. ได้จัดทำคำชี้แจงและปรับปรุงร่างแผนดังกล่าวตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว 6. เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชนตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ ดังนี้ ?ของขวัญปีใหม่ 2566? ของรัฐบาล โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1. การพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 1) สนับสนุนอาหาร วิตามินเสริม และบริการทางสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหา ภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มสุขภาวะของประชาชน จำนวน 46,819 ราย 2) สนับสนุนอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามโครงการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อร่วมสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,875 แห่ง 171,324 คน 3) ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามาลายู ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาตุรเครีย แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต และการเตรียมภาษาให้กับนักศึกษาและผู้ที่ประสงค์จะไปศึกษา และทำงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกมุสลิม ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย 4) แก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนที่ยั่งยืน 5 ด้าน (ฐานข้อมูล TPMAP) ไม่น้อยกว่า 1,200 ครัวเรือน 2. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1) สนับสนุนงบประมาณแก่ผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหมู่บ้าน ชุมชน ทุกหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 200 องค์กร 3) จัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 3. การผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ ?มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาล สู่ ตลาดโลก? 1) การเพิ่มจำนวนฐานแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ตัว 2) การเพิ่มจำนวนฐานแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ตัว 3) ขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลก แบบครบวงจร เพิ่มจำนวนลูกปูเพาะพันธุ์ได้เองในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านตัว ครัวเรือน/กลุ่มอาชีพ มากกว่า 100 กลุ่ม และการท่องเที่ยวชุมชน 10 ชุมชน 4) เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ พืชพลังงานและผลไม้รองรับการพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ 4. การเสริมสร้างพหุสังคมที่เข้มแข็ง 1) การจัดวิ่งตามภูมิศาสตร์ ?Amazean Jungle Trail Edition? 2) ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม 12 เดือน 3) การซ่อมแซมและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีอายุเกิน 100 ปี โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยว 7. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การนำไปปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานของรัฐใช้ในการจัดทำโครงการที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของแผนระดับที่ 2 เพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญของ 17 นโยบายและแผนความมั่นคงตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติควบคู่กับประเด็นการพัฒนาตามแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อให้สามารถถ่ายระดับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สศช. ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนำเข้าข้อมูลสถิติ สถานการณ์ และงานวิจัยหรือข้อมูลอื่น ๆ ที่แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีก่อนหน้าในระบบฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open Data Portal for Monitoring and Evaluating Government Projects under National Strategy: Open-D) รวมทั้งจัดส่งรายการความเชื่อมโยงของการดำเนินงาน/โครงการภายใต้กรอบการวิจัยกับเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปีปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไป 1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ร่วมกับภาคีการพัฒนาต่าง ๆ และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children?s Fund: UNICEF) ออกแบบและพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูล (Dashboard) เพื่อใช้ในการติดตาม แก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของการพัฒนาคนทุกช่วงวัย รวมทั้งภูมิสังคมและทรัพยากรในพื้นที่ในลักษณะบูรณาการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ 2.1 รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้จัดทำรายงานความคืบหน้าฯ เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 เสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา โดยมีผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้ ด้าน ผลสัมฤทธิ์ (1) การเมือง ? ชุดความรู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือ ? หลักสูตรและมีการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ? ความรู้ในระดับพื้นที่ผ่านศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง (2) บริหารราชการแผ่นดิน ? งานบริการภาครัฐ e-Service อย่างน้อย 343 บริการ ? แพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ (3) กฎหมาย การบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปได้โดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น รวมทั้งพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป (4) กระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้พระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน (5) การศึกษา การบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 (6) เศรษฐกิจ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. .... เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งภาคการผลิตสินค้าการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ 2.2 การดำเนินการภายหลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กันยายน 2565) รับทราบแนวทางการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนการปฏิรูปประเทศ ในส่วนของการพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดรอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) โดย สศช. ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมจากสำนักงาน ป.ย.ป. ประกอบด้วย ข้อมูลโครงสร้าง อัตรากำลัง ภารกิจหน้าที่ และสรุปผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้าง และทรัพยากรของสำนักงาน ป.ย.ป. และจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่อไป 3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่ชุดข้อมูลโครงการจากระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) สิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งสิ้น 177,353 โครงการ โดยหน่วยงานของรัฐและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวมการดำเนินงานของทุกหน่วยงานของรัฐ และนำไปสู่การประมวลผลหาช่องว่างเชิงนโยบายและการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งการวางแผนการดำเนินงานในช่วงปีงบประมาณต่อ ๆ ไป 4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ ขอให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,026 โครงการ เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามโครงสร้างยุทธศาสตร์จัดสรรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยหน่วยงานผู้มีหน้าที่กำกับแผนงานบูรณาการหรืองานวิจัยต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณโครงการฯ ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ หากเป็นโครงการฯ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขในการเสนอขอตั้งผ่านช่องทางงบประมาณนั้น ๆ ให้เร่งประสานแจ้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการฯ รวมทั้งให้สำนักงานงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับโครงการฯ ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก 8. เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 17 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565) คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 17 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565) และเสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป รายงานดังกล่าวประกอบด้วยสาระสำคัญรวม 4 ส่วน ได้แก่ 1) สรุปความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ 2) ความคืบหน้าการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 3) ความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษ และ 4) การดำเนินการในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้ 1. สรุปความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้รวบรวมและประมวลผลข้อมูลการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ทั้ง 13 ด้าน ประกอบด้วย กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวมทั้งสิ้น 62 กิจกรรม และกฎหมายที่จัดทำ/ปรับปรุงใหม่ รวม 45 ฉบับ โดยมีการระบุเป้าหมายย่อยของความสำเร็จ (Milestone : MS) กรอบระยะเวลาแล้วเสร็จ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก และหน่วยงานร่วมดำเนินการไว้อย่างชัดเจนจากระบบติดตามและประเมินลผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศได้ทันสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รายงานความคืบหน้าฯ รอบเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 มีสถานการณ์ดำเนินการของกิจกรรม Big Rock เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ร้อยละ 88.71 โดยมีความคืบหน้ากว่ารอบรายงานรอบที่ผ่านมา และมีผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลตามมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญฯ อันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศตาม มาตรา 257 ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรม Big Rock ที่ยังมีความล่าช้ากว่ากรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการจะได้เร่งดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ต่อไป สรุปได้ดังนี้ 1.1 ด้านการเมือง มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0101) การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีการดำเนินการให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองฯ เช่น การจัดทำชุดความรู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือ จัดทำเป็นหลักสูตร และมีการออกแบบสื่อการเรียนการสอน (Tool kit) สำหรับเยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมีการนำหลักสูตรดังกล่าวไปเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ผ่านศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0201) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานและการบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล โดยมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของการทำงานและการให้บริการของภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยปัจจุบันมีงานบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวม 343 บริการ มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชน Citizen Portal ผ่านแอปพลิเคชัน ?ทางรัฐ? และแพลตฟอร์มกลางสำหรับภาคธุรกิจผ่านเว็บไซต์ (www.bizportal.go.th) 1.3 ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0301) มีกลไกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน โดยมีกลไกการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 และหลักสากล เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0401) การให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม โดยมี การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 และกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 ปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราว (BR0404) โดยการจัดให้มีระบบการปล่อยชั่วคราวได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด มีศาลยุติธรรมทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 171 แห่ง และมีการนำอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราว (Electronic Monitoring) แก่ผู้ต้องหา/จำเลยในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 1.5 ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0501) การสร้างเกษตรมูลค่าสูง (High Value Added) ซึ่งมีเป้าหมายเป็นการขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. FTA เพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ 1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมการปฏิรูปที่ 3 (BR0603) การบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยได้กำหนดให้มีระบบจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและยั่งยืน เช่น มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐที่สำคัญในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ 1.7 ด้านสาธารณสุข มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 (BR0704) การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นเอกภาพ บูรณาการ เป็นธรรม ทั่วถึง เพียงพอและยั่งยืนด้านการเงินการคลัง โดยการปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน เช่น มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทุกพื้นที่โดยครอบคลุมสิทธิการรักษา จำนวน 47,650,952 คน ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ ร้อยละ 99.61 1.8 ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR0801) การพัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการจัดการ Fake News โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center : AFNC) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น Website Line และ Facebook รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม 1.9 ด้านสังคม มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 (BR0905) การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน โดยการจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้ว 1,442 พื้นที่ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ มีเนื้อที่รวม 5,757,682 ไร่ และมีการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศได้จำนวน 69,368 ราย 1.10 ด้านพลังงาน มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR1001) ศูนย์อนุมัติอนุญาตเบ็ดเสร็จ One-Stop-Service ด้านกิจการไฟฟ้าที่แท้จริง โดยมีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) เพื่อปรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และปรับกระบวนการอนุมัติโครงการภาครัฐและเอกชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนทางด้านพลังงานของประเทศและลดต้นทุนที่เกิดจากระบบไม่มีประสิทธิภาพ 1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 (BR1102) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ โดยมีระบบแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ และพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Management System : WMS) แบบครบวงจร ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 โดยปัจจุบันผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 76 เรื่อง เป็นการแจ้งแบบปกปิดตัวตน จำนวน 66 เรื่อง และเป็นการแจ้งแบบเปิดเผยตัวตน จำนวน 10 เรื่อง 1.12 ด้านการศึกษา มีการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR1201) การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยได้มีการตรากฎหมายจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 (BR1202) การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามถนัด ภายใต้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 541 สถานศึกษา 1.13 ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผลการดำเนินการตามแผนฯ ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 (BR1301) การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในทุกช่วงวัย : ผ่านปฏิรูปอุตสาหกรรมบันเทิงและการใช้กลไกร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อน โดยมีการปฏิรูปสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย Soft Power และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (Soft Power) ภายใต้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการสนับสนุนให้มีการผลิตหรือร่วมผลิตสื่อบันเทิงบางประเภทกับภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย Soft Power 2. ความคืบหน้าการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 45 ฉบับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ซึ่งมีสถานะความคืบหน้าของกฎหมาย ประกอบด้วย (1) กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 9 ฉบับ โดยดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มเติมจากรอบก่อนหน้า จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และ 2) พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และ (2) กฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 36 ฉบับ โดยมีกฎหมายที่มีสถานะการจัดทำ/ปรับปรุงคืบหน้ากว่ารอบรายงานที่ผ่านมา จำนวน 6 ฉบับ ทั้งนี้ยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างหน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย จำนวน 23 ฉบับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการเร่งดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงให้แล้วเสร็จและนำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 3. ความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษ สศช. ได้สรุปรายงานตามประเด็นข้อเสนอแนะของสมาชิกวุฒิสภาในคราวประชุม เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ (เดือนมกราคม - มีนาคม 2565) เพื่อรายงานสรุปผลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้สรุปรายงานสถานะความคืบหน้าของกฎหมายที่วุฒิสภาเห็นควรให้ความสำคัญในการเร่งรัด ทั้ง 10 ฉบับ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 4. การดำเนินการในระยะต่อไป สศช. ได้มีการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 และ แผนระดับที่ 3 และการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานที่ได้เชื่อมโยงประเด็นปฏิรูปประเทศกับเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อย (Y1) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายระดับหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน เพื่อใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อน กำกับ และติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความต่อเนื่อง และผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญฯ อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศนั้น สศช. จะได้ดำเนินการจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ สำหรับรอบรายงานเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 เป็นรอบรายงานสุดท้าย รวมถึงจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565โดยใช้ข้อมูลผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 9. เรื่อง (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 ? 2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566 ? 2570) (แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ (คกช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง คกช. รายงานว่า 1. ที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาด้านการกีฬามาแล้ว 6 ฉบับ ตั้งแต่แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2531 ? 2539) จนถึงแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 ? 2564) โดยแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้งานแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ออกไปอีก 1 ปี โดยยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 กก. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (14) ศักยภาพการกีฬาแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 ? 2565 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562 ? 2565) และ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 ? 2570) รวมทั้งแผนระดับปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการกีฬา เพื่อให้ประเทศไทยมีทิศทางการพัฒนาการกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป ทั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากทุกภาคส่วนและในคราวประชุม คกช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 คกช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ด้วยแล้ว 2. สาระสำคัญของแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 มีฐานะเป็นแผนระดับที่ 3 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของแต่ละหน่วยงานเพื่อช่วยผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และตัวชี้วัดหลัก หัวข้อ สาระสำคัญ วิสัยทัศน์ กีฬาพัฒนาคน สังคม และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย พันธกิจ พันธกิจที่ 1 : การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม พันธกิจที่ 2 : การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ เป้าประสงค์ (1) ประชาชนทุกกลุ่ม (เด็ก เยาวชน และประชาชน) มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ (2) นักกีฬาผู้แทนของประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ (3) บุคลากรด้านการกีฬาทั่วประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้น (4) อุตสาหกรรมการกีฬามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ ตัวชี้วัดหลัก (1) ประชากรทุกภาคส่วนออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 (2) อันดับการแข่งขันกีฬาในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติของนักกีฬาไทย อยู่ในอันดับ 6 ในระดับเอเชียในรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ ภายในปี 2570 (3) บุคลากรด้านการกีฬาได้รับการรับรองมาตรฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี (4) มูลค่าอุตสาหกรรมการกีฬามีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (5) มีฐานข้อมูล องค์ความรู้ และแพลตฟอร์มการประมวลผลด้านการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพ (6) มีแผนการขับเคลื่อนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามประเด็นการพัฒนา และมีการรายงานตามแผนรายไตรมาสและรายปี (7) มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามประเด็นการพัฒนาในระยะครึ่งแผนพัฒนากีฬาฯ ฉบับที่ 7 และสิ้นแผนดังกล่าว (8) มีแผนการจัดการความเสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันผลกระทบที่เกิดจากความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาในแต่ละประเด็นพัฒนา 2.2 นโยบายพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 2.2.1 นโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย นโยบายที่ สาระสำคัญ นโยบายที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาการกีฬาที่มีการบริหารจัดการโดยคำนึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model) นโยบายที่ 2 สนับสุนนการสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ผู้พิการ บุคคลกลุ่มพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส นโยบายที่ 3 ส่งเสริมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา การจัดกิจกรรมกีฬา และการแข่งขันกีฬา ภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) นโยบายที่ 4 กำหนดให้ประเด็นการส่งเสริมการออกกำลังกายและการพัฒนาการกีฬาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในระดับจังหวัดและท้องถิ่น นโยบายที่ 5 ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากีฬาอย่างเป็นระบบโดยบูรณาการร่วมกับระบบการศึกษาของประเทศ 2.2.2 นโยบายในการขับเคลื่อนแผนระยะยาว ประกอบด้วย นโยบายที่ สาระสำคัญ นโยบายที่ 1 ส่งเสริมการเล่นกีฬาและการแข่งขันกีฬาตามความถนัดหรือความสนใจของเด็ก เยาวชน และประชาชน นโยบายที่ 2 ส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา นวัตกรรม และเทคโนโลยีการกีฬาในการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา รวมทั้งนักกีฬาคนพิการ นโยบายที่ 3 พัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน นโยบายที่ 4 ผลักดันและสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมกีฬาเชิงท่องเที่ยว (Sport Tourism) และมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ (Sports Mega-Events) ในประเทศไทย นโยบายที่ 5 พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมการกีฬา นโยบายที่ 6 พัฒนาแพลตฟอร์มและระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านกีฬา นโยบายที่ 7 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก นโยบายที่ 8 สร้างและพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬา สนามกีฬา ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา อุปกรณ์การกีฬาให้ได้มาตรฐานสากล นโยบายที่ 9 ยกระดับการบริหารจัดการกีฬาในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล 2.3 ประเด็นการพัฒนาการกีฬาในระยะแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ประกอบด้วย 5 ประเด็น ดังนี้ หัวข้อ สาระสำคัญ ประเด็นการพัฒนาที่ 1 : การส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน ตัวชี้วัด (1) เด็กและเยาวชนทั่วประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสมรรถภาพทางกาย (2) มีการนำหลักการวิทยาศาสตร์การกีฬาขั้นพื้นฐานและการฉลาดรู้ทางกาย (Physical Literacy) มาสอนในวิชาพลศึกษาหรือวิชาอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม (3) สถานศึกษาจัดให้มีวิชาพลศึกษาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (4) มีการจัดกิจกรรมกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาสำหรับเด็กและเยาวชนทุกโรงเรียน อย่างน้อยโรงเรียนละ 1 ครั้งต่อปี (5) มีการแข่งขันกีฬาที่มีมาตรฐานตามที่กำหนดสำหรับเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอทุกอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 ครั้งต่อปี และระดับจังหวัดทุกจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ครั้งต่อปี (6) มีการจัดเตรียมและพัฒนาสถานที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬาของเด็กและเยาวชนที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมในทุกโรงเรียนภายในปี 2570 แนวทางการพัฒนา (1) การสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และความต้องการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน (2) การสนับสนุนปัจจัยเอื้อเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน (3) การยกระดับการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาขั้นพื้นฐาน หน่วยงานหลัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ กก. [มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช.) และกรมพลศึกษา (กพล.)] หน่วยงานสนับสนุน เช่น กก. [สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สป.กก.) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)] กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นต้น โครงการสำคัญ เช่น (1) โครงการจัดกิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับกีฬา (มท. และ กทม.) (2) โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาอำเภอ (กก. มท. และ ศธ.) (3) โครงการจัดทำแพลตฟอร์มด้านการออกกำลังกายของเด็กและเยาวชน (กก.) ประเด็นการพัฒนาที่ 2 : การส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลขน ตัวชี้วัด (1) สัดส่วนของประชาชนทุกกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในระดับมาตรฐาน ดีขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี (2) มีการจัดกิจกรรมกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาสำหรับประชาชนทุกกลุ่มในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศโดยในภาพรวมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี (3) มีการยกระดับพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพในชุมชนเป็นลานกีฬาท้องถิ่นครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2570 (4) มีการสร้างหรือพัฒนาให้มีศูนย์ฝึกกีฬาที่มีมาตรฐานตามที่กำหนดประจำอำเภอ 1 แห่งต่ออำเภอ (5) มีประเด็นการส่งเสริมการออกกำลังกายและการพัฒนาการกีฬาในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่น ภายในปี 2566 แนวทางการพัฒนา (1) การสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และความต้องการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต (2) การสนับสนุนปัจจัยเอื้อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต (3) การยกระดับการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต หน่วยงานหลัก มท. พม. กก. (กพล.) หน่วยงานสนับสนุน เช่น กก. (สป.กก. มกช. และ กกท.) สธ. กระทรวงกลาโหม (กห.) อว. ดศ. และ กทม. เป็นต้น โครงการสำคัญ เช่น (1) โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาหมู่บ้าน 1 ตำบล 1 ชนิดกีฬา (One Tambol One Sport: OTOS) (กก. และ มท.) (2) โครงการยกระดับลานกีฬาท้องถิ่นจากพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพในพื้นที่ทุกชุมชน (มท.) (3) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการประมวลผลข้อมูลกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (CALORIES CREDIT CHALLENGE) (กก.) ประเด็นการพัฒนาที่ 3 : การส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ ตัวชี้วัด (1) มีจำนวนนักกีฬาหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในระดับชาติและ/หรือระดับนานาชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (2) มีจำนวนนักกีฬาอาชีพเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (3) จำนวนรายการการแข่งขันในระดับนานาชาติมีผลงานตั้งแต่อันดับที่สามของรายการขึ้นไป เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ของจำนวนรายการที่เข้าร่วมการแข่งขัน (4) อันดับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์อยู่ในอันดับ 1 (นับเฉพาะกีฬาสากล) (5) มีการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาให้มีมาตรฐานระดับอาเซียน จำนวนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ภายในปี 2570 (6) มีการพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล จำนวนไม่น้อยกว่า 12 แห่ง ภายในปี 2570 (7) จัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ (National Training Center: NTC) แห่งแรกได้สำเร็จ ภายในปี 2570 (8) มีองค์กรกีฬาเป็นเลิศและอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การบริหารจัดการองค์กรตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (9) มีหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการหรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นนักกีฬาในการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ภายในปี 2566 แนวทางการพัฒนา (1) การส่งเสริมความต้องการเพื่อพัฒนาการกีฬาความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อ การอาชีพ (2) การสนับสนุนปัจจัยเอื้อเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ (3) การยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ หน่วยงานหลัก กก. (กกท.) หน่วยงานสนับสนุน เช่น กก. (สป.กก. กพล. และ มกช.) มท. ศธ. กห. อว. และ กทม. เป็นต้น โครงการสำคัญ เช่น (1) โครงการสรรหาและคัดเลือกนักกีฬาเป็นเลิศเข้าสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ (กก.) (2) โครงการสร้างและพัฒนาศูนย์ฝึกกีฬาให้มีมาตรฐานสากล (กก.) (3) โครงการศึกษาและทบทวนมาตรฐานรายการแข่งขันกีฬาอาชีพ (กก.) ประเด็นการพัฒนาที่ 4 : การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรการกีฬา ตัวชี้วัด (1) ครูผู้สอนพลศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2570 (2) มีอาสาสมัครการกีฬาที่ได้รับการพัฒนาครบทุกหมู่บ้าน ภายในปี 2567 และได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำในการออกกำลังกายตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2570 (3) จำนวนหลักสูตรมาตรฐานเพื่อพัฒนาครูผู้สอนพลศึกษา ไม่น้อยกว่า 2 หลักสูตร ต่อปี (4) จำนวนหลักสูตรมาตรฐานเพื่อพัฒนาอาสาสมัครการกีฬา ไม่น้อยกว่า 2 หลักสูตรต่อปี (5) จำนวนหลักสูตรการอบรมเพื่อการพัฒนาบุคลากรการกีฬาที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ไม่น้อยกว่า 10 หลักสูตรต่อปี (6) จำนวนบุคลากรการกีฬา (ผู้ฝึกสอนกีฬา ผู้ตัดสินกีฬา ผู้บริหารการกีฬา) ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (7) จำนวนบุคลากรการกีฬาประเภทอื่น ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการกีฬา 5 ประเภท ธุรกิจผ่านการอบรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (8) มีจำนวนผลงานด้านวิจัยหรือนวัตกรรมด้านการพัฒนาการกีฬาที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการกีฬา อย่างน้อย 6 ผลงานต่อปี แนวทางการพัฒนา (1) การพัฒนาหลักสูตรสำหรับพัฒนาบุคลากรการกีฬาที่เป็นมาตรฐาน (2) การพัฒนาเพื่อยกระดับสมรรถนะของบุคลากรการกีฬา (3) การรับรองมาตรฐานบุคลากรการกีฬา (4) การยกระดับการบริหารจัดการเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรการกีฬา หน่วยงานหลัก กก. (สป.กก.) หน่วยงานสนับสนุน เช่น กก. (กพล.มกช. และ กกท.) มท. ศธ. สธ. อว. ดศ. และ กทม. เป็นต้น โครงการสำคัญ เช่น (1) โครงการจัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนพลศึกษา (กก.) (2) โครงการอบรมครูผู้สอนพลศึกษา (กก.) (3) โครงการจัดทำเกณฑ์เพื่อรับรองมาตรฐาน สำหรับครูผู้สอนพลศึกษา (กก.) (4) โครงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งสภาวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (กก. และ อว.) ประเด็นการพัฒนาที่ 5 : การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา ตัวชี้วัด (1) จำนวนและมูลค่ารายได้ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการกีฬามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (2) มูลค่าการส่งออกทางการกีฬาโดยรวมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (3) มูลค่าทางเศรษฐกิจในการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี (4) จำนวนกิจกรรมกีฬาเชิงท่องเที่ยวทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี (5) มีกิจกรรมกีฬาเชิงท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดทั่วประเทศ (ทุกจังหวัดภายในปี 2570) (6) มีมาตรการด้านการเงินและ/หรือภาษี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา (7) การลงทุนจากภาครัฐและ/หรือภาคเอกชนในการค้นคว้าและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมการกีฬามีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าอัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา (R&D) ในภาพรวมของประเทศในแต่ละปี (8) การยื่นจดอนุสิทธิบัตร สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ นวัตกรรมทางการกีฬาเชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ชิ้นงานต่อปี (9) การพัฒนาเมืองกีฬาให้สำเร็จและยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 1 แห่ง (10) มีการจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการกีฬา (Gross Domestic Sport Product: GDSP) และการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return On Investment: SROI) ที่เกี่ยวข้องภายในปี 2566 แนวทางการพัฒนา (1) การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรมการกีฬา (2) การสนับสนุนปัจจัยเอื้อ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา (3) การยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา หน่วยงานหลัก กก. (สป.กก.) หน่วยงานสนับสนุน เช่น กก. (กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กกท.) มท. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม (คค.) อว. ดศ. และ กทม. เป็นต้น โครงการสำคัญ เช่น (1) โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมกีฬาเชิงท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง (กก.) (2) โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลดิจิทัลด้านอุตสาหกรรมกีฬา (กก.) (3) โครงการสำรวจโครงสร้างและความต้องการของแรงงานในอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศไทย (กก.) 2.4 แนวทางการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ (1) ระดับนโยบาย คกช. เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายหรือให้ความเห็น กำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการกีฬา รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการตามนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบและสั่งการต่อไป (2) ระดับการขับเคลื่อนแผน คกช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำและติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติและผลักดัน ขับเคลื่อน ให้ข้อเสนอแนะ การพัฒนาตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดทำแผนปฏิบัติการขององค์กรและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ หน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละประเด็นการพัฒนาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสนับสนุนและเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาในส่วนภูมิภาคโดยกำหนดบทบาทการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา ได้แก่ การส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเผยแพร่ผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ (3) ระดับปฏิบัติการ ให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการกีฬาและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติการพัฒนาการกีฬาให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการกีฬาของประเทศ ดำเนินการตามนโยบายที่ คกช. มอบหมาย โดยการประสานงานและบูรณาการการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา 3. กก. ได้นำเสนอแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่งในคราวประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 โดยให้ กก. รับความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาเพิ่มเติมในรายละเอียดของแผนดังกล่าวด้วย เช่น ควรเพิ่มเติมความสอดคล้องของแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 กับ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อาทิ หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 มีประเด็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาฯ ควรมีการออกแบบหลักสูตรการออกกำลังกายและการกีฬาร่วมกับ ศธ. โดยพิจารณาจากศักยภาพและความพร้อมของสถาบันการศึกษาให้มีความเหมาะสมในแต่ละแห่ง ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางในการสนับสนุนนักกีฬาตลอดช่วงชีวิตโดยเฉพาะการให้สวัสดิการบุคลากรการกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติ ควรจัดหมวดหมู่ประเภทกีฬาที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมเพื่อสนับสนุนให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมการกีฬาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการกีฬาไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ควรมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการกีฬา เพื่อการพัฒนาการกีฬาแบบบูรณาการร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ กก. ได้เพิ่มเติมรายละเอียดของแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ เรียบร้อยแล้ว 10. เรื่อง แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566* และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจฯ ต่อไป ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เห็นชอบและมอบหมายให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษเสนอคณะรัฐมนตรี [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (27 มิถุนายน 2538) ที่ให้ถือว่าการประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี (1 พฤศจิกายน 2548) ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญและเรื่องที่ กก.วล. พิจารณาได้ข้อยุติแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] โดยแผนเฉพาะกิจฯ กำหนดขึ้นภายใต้กรอบ ?สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม? ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและเน้นย้ำการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ แนวทางการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ?1 สื่อสารเชิงรุก? 1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน ทุกพื้นที่ เช่น (1) สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองจากทุกภาคส่วนสู่ประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย (2) บูรณาการข้อมูลและซักซ้อมการนำเสนอข้อมูลเพื่อสื่อสารในช่วงวิกฤตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือและโต้ตอบ Fake News อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ และ (3) เน้นการสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น TikTok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน และยังคงช่องทางการสื่อสารเดิมที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครือข่าย และหอกระจายข่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ?5 ยกระดับปฏิบัติการ? 2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง? และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง/ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แต่ละระดับให้เป็นกลไกในการอำนวยการ สั่งการ และประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างมีเอกภาพ (2) เตรียมการรับมือสถานการณ์และเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์/เครื่องมือ ให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลาจัดชุดปฏิบัติการดับไฟป่า รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายในการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เสี่ยง และ (3) เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ โดยบูรณาการความร่วมมือภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการลดการระบายมลพิษจากภาคการจราจร เช่น การนำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต การบำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ และจากภาคอุตสาหกรรมโดยเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเน้นโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน 3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร [ชิงเก็บ ลดเผาและระบบบริการการเผาในที่โล่ง (Bum Check)**] เช่น (1) จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาหรือมีการเผาซ้ำซาก (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผาและ (3) บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้ประโยชน์เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาแบบครบวงจร อว. กษ. ทส. มท. กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม (อว.) 4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการเชิงรุก เพิ่มการลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์มศูนย์รวมข้อมูลหรือช่องทางที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ กระทรวงคมนาคม (คค.) ทส. มท. อก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร 5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ เช่น (1) เร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟเพื่อเป็นข้อมูลในการคาดการณ์การเคลื่อนที่หรือการลุกลามของไฟของเจ้าหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุหรือปฏิบัติการดับไฟในพื้นที่ (2) พัฒนา นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่เพียงพอมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนภารกิจการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมไฟป่า (3) สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่า และ (4) สำรวจและตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกัน และดับไฟป่าเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการเกิดไฟ กระทรวงกลาโหม (กห.) กษ. คค. อว. ทส. มท. อก. และ นร. 6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Road map และกำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนเพื่อลดจำนวนจุดความร้อนของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายและยกระดับความร่วมมือในกรอบคณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนานเพื่อกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเผา กห. กระทรวงการต่างประเทศ ทส. และ มห. ?1 สร้างการมีส่วนร่วม? 7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง โดยสร้างความเข้าใจกับประชาชน เปิดโอกาส/มีช่องทางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ในการวางแผนเสนอแนะแนวทางดำเนินการ ติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีช่องทางรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับร้องทุกข์ แจ้งเหตุการเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่ง ทส. และ มท. * แผนเฉพาะกิจฯ ปี 2566 เป็นการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2565 เพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยกระดับความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่เน้นการสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น รวมถึงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ต่างประเทศ 11. เรื่อง การรับรองแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน ? สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2565 ? 2569 (ASEAN ? Russian Federation Plan of Action on Education 2022 - 2026) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน ? สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2565 ? 2569 (ASEAN ? Russian Federation Plan of Action on Education 2022 - 2026) (แผนปฏิบัติการฯ) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงศึกษา (ศธ.) สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับรองแผนปฏิบัติการฯ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง เรื่องนี้เป็นการขอความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน - สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2565 - 2569 (ASEAN - Russian Federation Plan of Action on Education 2022 - 2026) จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน - รัสเซีย (คณะทำงานฯ) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซีย (จะมีการจัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งต่อไปในปี 2567 โดยประเทศไทยเป็นประธานร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย) โดยแผนปฏิบัติการฯ มีกิจกรรม/การดำเนินการที่สำคัญ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการบริหารจัดการการศึกษาและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการศึกษา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและนักวิชาการในการประชุมและงานสัมมนาต่าง ๆ การจัดตั้งพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างองค์กรด้านการศึกษาและภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ และมีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ได้แก่ นักเรียนและเยาวชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และทักษะในการใช้ชีวิต ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซีย แต่งตั้ง 12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ (สำนักงาน ก.พ.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 1. นางสาวอลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 2. นางสาววราภรณ์ ตั้งตระกูล ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภบบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการท่องเที่ยว เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง