http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อ เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. .... 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 90 ปี กรมธนารักษ์ พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ-สังคม
3. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลัง การพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี 4. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงาน การประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 5. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566 6. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 7. เรื่อง แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 8. เรื่อง มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 9. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 10. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างประเทศ 11. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 42 12. เรื่อง การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) 13. เรื่อง ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินใน ภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น แต่งตั้ง 14. เรื่อง การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ การศึกษา ไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566-2567 15. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงาน
การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการ พลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เป็นการยกเลิกกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. 2552 และแก้ไขเพิ่มเติม และปรับปรุงให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกข้าราชการพลเรือนเป็นอนุกรรมการและการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อน ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และบทบัญญัติให้ส่วนราชการสามารถใช้วิธีการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้เห็นชอบแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการเลือกข้าราชการพลเรือนเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ ได้ ดังนี้ 1. กำหนดให้อนุกรรมการโดยตำแหน่งใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เป็น ผู้พิจารณากำหนดจำนวนอนุกรรมการ ดังนี้ (1) ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 15 (1) มาตรา 17 (1) และมาตรา 19 (1) ไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินสามคน (2) ข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 15 (2) ไม่น้อยกว่าสามคน แต่ไม่เกินห้าคน และจำนวนข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 17 (2) และมาตรา 19 (2) ไม่น้อยกว่าสามคน แต่ไม่เกินหกคน 2. กำหนดวิธีการเลือกข้าราชการพลเรือนเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ (1) การลงคะแนน ณ สถานที่ที่กำหนด (2) การลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (3) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (4) วิธีอื่นใดที่ ก.พ. กำหนดเพื่อให้เห็นวิธีการทั้งหมด ทั้งนี้ ?อย่างหนึ่งอย่างใด? รวมถึงวิธีเดียวหรือหลายวิธีก็ได้โดยให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการ 3. กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการ เพื่อให้การเลือกโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ โดยเพิ่มรายละเอียดบางประการ เช่น (1) การประกาศวิธีการเลือกให้ทราบ (2) เพิ่มระยะเวลาการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจาก 1 ปี เป็น 2 ปี 4. กำหนดวิธีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ต่าง ๆ และการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวจะต้องได้รับ การยินยอมจากผู้ทรงคุณวุฒิก่อน โดยเพิ่มเติมให้ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรับรองคุณสมบัติตามหนังสือรับรองตนที่กำหนดในแบบท้ายกฎ ก.พ. นี้ 5. ให้อนุกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและเมื่อครบกำหนดให้อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งอนุกรรมการใหม่ ให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ดำรงตำแหน่งตามวาระติดต่อกันในคณะเดิมได้ไม่เกินสองวาระและให้ดำรงตำแหน่งในเวลาเดียวกันได้ไม่เกินจำนวนสามคณะ 6. เพิ่มเติมเหตุการพ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนที่ได้รับคัดเลือก เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ ฯลฯ (4) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ (5) เป็นผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ฯลฯ (6) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (7) พ้นจากตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในกระทรวงตามมาตรา 15 (2) หรือตำแหน่งประเภทบริหารหรืออำนวยการในกรมตามมาตรา 17 (2) หรือประเภทบริหารหรืออำนวยการ ซึ่งกระทรวงหรือกรมแต่งตั้งให้ไปประจำจังหวัดนั้นตามมาตรา 19 (2) 7. เพิ่มเติมเหตุการพ้นจากตำแหน่งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญต่าง ๆ เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ ฯลฯ (4) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ (5) เป็นผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ฯลฯ (6) เป็นผู้ถูกลงโทษให้ออกจากหน่วยงานของเอกชน (7) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (8) ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. 8. กำหนดให้กรณีที่อนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ พ้นจากตำแหน่งตามวาระให้เลือกข้าราชการพลเรือนและสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญนั้น ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน หกสิบวัน กรณีพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดตามวาระ ให้แต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายในสามสิบ วันและให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ในกรณีที่วาระของอนุกรรมการดังกล่าวเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ประธาน อ.ก.พ. จะพิจารณาไม่แต่งตั้งอนุกรรมการแทนก็ได้ 9. กำหนดเพิ่มเติมการเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จอยู่ในวันก่อนวันที่ กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ส่วนระยะเวลาการขึ้นบัญชีให้เป็นไปตาม กฎ ก.พ. นี้ สำหรับกรณีที่ได้แต่งตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญต่าง ๆ แล้วเสร็จก่อนกฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ ให้อนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกซึ่งได้ขึ้นบัญชีไว้แล้ว ให้ระยะเวลาการขึ้นบัญชีดังกล่าวเป็นไปตาม กฎ ก.พ. เดิม 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 90 ปี กรมธนารักษ์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 90 ปี กรมธนารักษ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญ 1. การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 90 ปี กรมธนารักษ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในและนานาประเทศ และเป็นที่ระลึกรวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมธนารักษ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป 2. กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวตามรูปแบบที่ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าวให้ประชาชน ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบ 90 ปี กรมธนารักษ์ โดยเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ราคายี่สิบบาท สองชนิด ดังนี้ (1) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ราคา 20 บาท โลหะและอัตราเนื้อโลหะ นิกเกิลร้อยละ 25 ทองแดงร้อยละ 75 น้ำหนัก 15 กรัม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับเนื้อโลหะ ร้อยละ 1 สำหรับน้ำหนัก 15 เซ็นติกรัม ต่อ 1 เหรียญ ลวดลาย ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดสากล ทรงประดับเหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า ?พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว? ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปเครื่องหมายราชการของกรมธนารักษ์ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า ?90 ปี กรมธนารักษ์ 23 พฤษภาคม 2566? เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาว่า ?20 บาท? และข้อความว่า ?ประเทศไทย? โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง ลักษณะอื่น ๆ เป็นเหรียญกษาปณ์ขัดเงา วงขอบนอกมีเฟืองจักร (2) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ราคา 20 บาท โลหะและอัตราเนื้อโลหะ นิกเกิลร้อยละ 25 ทองแดงร้อยละ 75 น้ำหนัก 15 กรัม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับเนื้อโลหะ ร้อยละ 1 สำหรับน้ำหนัก 15 เซ็นติกรัม ต่อ 1 เหรียญ ลวดลาย ด้านหน้าและด้านหลัง มีลวดลายเช่นเดียวกับลวดลาย ของเหรียญกษาปณ์ ชนิดราคา 20 บาท ตาม (1) ลักษณะอื่น ๆ เป็นเหรียญกษาปณ์ ไม่ขัดเงา วงขอบนอกมีเฟืองจักร เศรษฐกิจ-สังคม 3. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีและให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566) รายงานว่า 1. ด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรไทยชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) จะครบวาระสี่ปี ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 (1) มาตรา 127 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4)1 ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 127 พ.ศ. 25632 โดยข้อ 3 (1) บัญญัติให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 126 (4) (2) มาตรา 128 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ทั้งนี้ วรรคสามบัญญัติให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลมโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 25633 3. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี ดังนี้ (1) เห็นควรให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 รวมถึงประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้อง กรณีภายหลังคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 167 และกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 เมื่อลาออก หรือด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณี ซึ่งยังอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 127 และมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ พ.ศ. 2561 อีกสองปี รวมถึงพิจารณาจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันการกระทำความผิดที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) (2) เห็นควรให้ สลค. เผยแพร่คู่มือการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 126 และมาตรา 127 และคู่มือการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 128 ให้กับคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 167 และรัฐมนตรีซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 เมื่อลาออก หรือด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณีซึ่งยังอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 127 และมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 อีกสองปี (3) กรณีหากมีประเด็นข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 สามารถสอบถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. (โทรศัพท์หมายเลข 0 2528 4800 ต่อ 4923 และ 4925) หรือทำหนังสือหารือมายังสำนักงาน ป.ป.ช. (เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000) 1มาตรา 126 (4) บัญญัติห้ามเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐ ผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วย โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ วันแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด 2 ข้อ 3 กำหนดให้ตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 126 (4) ประกอบด้วย (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา) และ (2) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน (หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม) และข้าราชการทหาร (ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) และผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด (เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา) 3ข้อ 6 กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังต่อไปนี้ (1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท และ (2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป ข้อ 7 กำหนดให้การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นงินได้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบัน หรือองค์กรที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ได้รับทรัพย์สินเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่มีผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจถอดถอนให้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือนและข้อ 9 ที่กำหนดให้ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดโครงการสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหรือมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือแผนงานโดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ1 ให้ คปก. จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รวมทั้งรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] ซึ่ง คปก. ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ 1.1 การประเมินผลโครงการในภาพรวมฯ จะประเมินภายใต้ 3 แผนงาน ประกอบด้วย (1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และ (3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยจะสุ่มตัวอย่างโครงการทั้งหมด 400 โครงการ (จากทั้งหมด 1,088 โครงการ) กรอบวงเงินตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จำนวน 980,812.25 ล้านบาท (จากรอบวงเงินรวม 982,228.52 ล้านบาท) ทั้งนี้ ในการประเมินผลโครงการในภาพรวมฯ พบว่า เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 3,184,358.34 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จำนวน 796,849.53 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 630,157.49 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานในช่วงที่มีการดำเนินโครงการสะสม จำนวน 20.51 ล้านอัตรา รวมทั้งเกิดการจ้างงาน การพัฒนาทักษะและการพัฒนาอาชีพ จำนวน 414,322 ราย นอกจากนี้ ผลการประเมินโครงการในภาพรวมตามหลักเกณฑ์การประเมินผล 5 ด้าน ประกอบด้วย ความสอดคล้องและความเชื่อมโยงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก 1.2 ผลการประเมินระดับแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ สรุปได้ ดังนี้ 1.2.1 แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 (1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 51 โครงการ กรอบวงเงินรวม 63,398.96 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 59,051.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.14 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ยกระดับการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีน และเพิ่มความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย (3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและอาสาสมัครสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทน เยียวยา และชดเชยค่าเสี่ยงภัย รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6,222.14 ล้านบาท สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 33,820 รายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจความดัน รถพยาบาล วัสดุทางการแพทย์ และประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 45.90 ล้านโดส 1.2.2 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 20 โครงการ กรอบวงเงินรวม 709,059.02 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 704,749.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.39 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนาน 2,304,509.85 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 444,837.87 ล้านบาท รวมทั้งช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียหรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน บรรเทาผลกระทบครอบครัวจากเงินช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ และลดความเครียด ความวิตกกังวลของประชาชน (3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ มีประชาชนได้รับ การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยรายได้ และบรรเทาค่าใช้จ่ายในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 704,749.72 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ เช่น ประชาชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะ จำนวน 32,866,393 ราย กลุ่มเปราะบาง จำนวน 6,663,602 ราย และเกษตรกร จำนวน 7,565,880 ราย 1.2.3 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 329 โครงการ กรอบวงเงินรวม 208,354.27 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 185,538.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.05 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 816,288.75 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 173,052.59 ล้านบาท รวมทั้งชะลอการว่างงาน การเลิกจ้างงาน และรักษาระดับการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น (3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น สนับสนุน การจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 237,884 ราย ยกระดับกำลังการผลิตผ่านการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และพื้นที่ต้นแบบ ?โคก หนอง นา?2 รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 55,651 แปลงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการปรับปรุง ซ่อมแซม ถนน จำนวน 548 แห่ง และจัดการแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งแหล่งน้ำชลประทาน แหล่งน้ำบาดาล และแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 782 แห่ง 2. รายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยใช้ 3 แบบจำลอง ดังนี้ 2.1 แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบจากการมีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ ว่าส่งผลต่อเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคอย่างไรแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ดังนี้ 2.1.1 ผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Gross domestic product GDP) การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ จำนวน 950,590.60 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่า GDP รวมตั้งแต่ปี 2563-2566 เพิ่มขึ้น 0.80 ล้านล้านบาท และเมื่อพิจารณาตามแผนงาน พบว่า การใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนงานที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุดจำนวน 0.59 ล้านล้านบาท 2.1.2 ผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ Real GDP Growth เพิ่มขึ้นทั้งหมดร้อยละ 4.89 โดยในปี 2564 อัตราเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 2.48 2.1.3 ผลกระทบต่อ GDP ของจังหวัด (Gross Provincial Product GPP) การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลต่อ GPP สูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 29,669.28 ล้านบาท) ชลบุรี (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 10,017.95 ล้านบาท) สมุทรปราการ (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 7,711.10 ล้านบาท) ปทุมธานี (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 7,169.12 ล้านบาท) และระยอง (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 4,134.43 ล้านบาท)3 2.1.4 ผลกระทบต่อการจ้างงาน การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้จำนวนการจ้างงานรวมตั้งแต่ปี 2563-2566 ของทุกสาขาการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวน 850,676 ราย โดยโครงการที่มีการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)4 โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน และโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษรทฤษฎีใหม่5 2.1.5 ผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลต่อผู้มีงานทำ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลต่อผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นรวมตั้งแต่ปี 2563-2566 จำนวน 39,738 บาท/คน โดยรายได้รัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ประมาณร้อยละ 88 มาจากภาษีอากร และประมาณร้อยละ 12 มาจากรายได้จากรัฐวิสาหกิจ 2.1.6 ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่ายเงินกู้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2563-2566 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ต่อปี โดยในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 0.08 ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าการดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อในปีที่มีโครงการโดยตรง 2.1.7 ผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านการคลัง การใช้จ่ายเงินกู้ ฯ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP รวมตั้งแต่ปี 2563-2566 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.54 ต่อปี แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 (ในปี 2566 มีสัดส่วนหนี้อยู่ที่ร้อยละ 63) 2.1.8 ผลกระทบต่อผลผลิตที่ระดับศักยภาพ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ผลผลิตที่ระดับศักยภาพหรือผลผลิตสูงสุดที่ประเทศสามารถผลิตได้รวมตั้งแต่ปี 2563-2570 เพิ่มขึ้นจำนวน 3,358,321.22 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2567-2570 ผลผลิตที่ระดับศักยภาพจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากการมีโครงการบางประเภท เช่น โครงการอบรมเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและโครงการที่มีการลงทุนซื้อเครื่องจักร ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานและผลิตภาพทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น แรงงานอาจยังไม่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ทันที แต่ในระยะยาวแรงงานจะเกิดความชำนาญจากการใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ที่สูงขึ้นและสามารถสร้างผลผลิตได้เพิ่มขึ้น 2.2 แบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเชิงพลวัต เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเชื่อมโยงภาคส่วนหลักต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนออกเป็นผลผลิตรายสาขาและผลิตทางสังคม ดังนี้ 2.2.1 มูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP6) (1) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการและไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกู้ฯ สูงที่สุด จำนวน 19 โครงการ ซึ่งการใช้จ่ายเงินกู้ฯ กรณีที่มีโครงการฯ ส่งผลให้ Real GDP รวมทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น จำนวน 171,741.53 ล้านบาท และมีอัตราการเจริญเติบโต Real GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่มีโครงการฯ จะทำให้มูลค่า Real GDP มีเพียง 12,653,517.43 ล้านบาท (2) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการเงินโอนเพื่อเยียวยาหรือกระตุ้นการใช้จ่ายและกรณีที่ไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการเงินโอนฯ จำนวน 11 โครงการ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการกำลังใจ และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้มูลค่า Real GDP รวมเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด จำนวน 146,189.33 ล้านบาท (3) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการที่มีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่โครงการเงินโอนฯ กับกรณีที่ไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการที่มีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่โครงการเงินโอนฯ จำนวน 8 โครงการ เช่น โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ?โคก หนอง นา โมเดล? และโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้มูลค่า Real GDP โดยรวมเพิ่มสูงขึ้น จำนวน 25,552.20 ล้านบาท 2.2.2 ผลผลิตรายสาขา การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ผลผลิตรายสาขาทั้งหมดจาก 88 สาขาการผลิต (แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคการเกษตร จำนวน 68 สาขา เช่น การทำนา การทำไร่ผัก และการทำสวนผลไม้ และกลุ่มนอกภาคการเกษตร จำนวน 20 สาขา เช่น การผลิตชา กาแฟ และเครื่องดื่มกึ่งสำเร็จรูป ต่าง ๆ สถาบันการเงิน และการขนส่ง) เพิ่มขึ้น 1,308,511.58 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาขาการผลิตที่มีมูลค่าผลผลิตมากที่สุดจากการใช้จ่ายเงินกู้ฯ คือ การค้าปลีก ซึ่งเพิ่มขึ้น 325,564.47 ล้านบาท 2.2.3 ผลผลิตทางสังคม แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านสาธารณสุข การใช้จ่ายงบประมาณของโครงการเกิดขึ้นในช่วงที่มีการผ่อนคลายนโยบายภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 (ช่วงวันที่เริ่มระบาด 1 มษายน 2564 เป็นต้นไป) โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข (2) ด้านการกระจายรายได้ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน โดยช่วยให้รายได้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ยทุกระดับชั้นไม่ลดลง และสามารถลดระดับความเหลื่อมล้ำในการกระจายได้เพียงเล็กน้อย 2.3 แบบจำลองปัจจัยการผลิต เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบว่าเมื่อเงินกู้ฯ ลงไปในแต่ละภาคการผลิตจะมีผลกระทบทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างไร เช่น การจ้างงานและค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยการประเมินโครงการได้สุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงานทั้งหมด 400 โครงการ (จากทั้งหมด 1,088 โครงการ) กรอบวงเงิน 980,812.25 ล้านบาท ซึ่งพบว่า เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 3,184,358.34 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จำนวน 756,849.53 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่าจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 630,157.49 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานในช่วงที่มีการดำเนินโครงการสะสม จำนวน 20.51 ล้านอัตรา รวมทั้งเกิดการจ้างงานการพัฒนาทักษะ และ การพัฒนาอาชีพ จำนวน 414,322 ราย 1จากการประสานงานกับ กค. กรณีดังกล่าวนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการขยายระยะเวลาโครงการ คือ 31 ธันวาคม 2565 2 ?โคก หนอง นา? เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งผสมผสานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โดยแบ่งพื้นที่ขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่ ร้อยละ 30 ทำนา ปลูกข้าว ร้อยละ 30 ทำโคกหรือป่า ร้อยละ 30 และทำที่อยู่อาศัย ร้อยละ 10 3จากการประสานงานกับ กค. พบว่า จังหวัดที่มี GPP ต่ำที่สุด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ระยอง และสมุทรสงคราม 4โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นโครงการจ้างนิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อไปทำงานร่วมกับชุมชนในตำบลทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและความยากจนของชุมชน 5โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการจ้างงานเกษตรกรเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 6Real GDP หมายถึงปริมาณผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงที่ประเทศผลิต โดยตัดผลกระทบ เช่น ค่าเงินเฟ้อ ออกไป 5. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ 1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนมีนาคม 2566 ดังนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ทำให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน นอกจากนี้ ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว สำหรับเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 3.88 อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ในเดือนนี้ เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.22 (YoY) ชะลอตัว ต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.74 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อย ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มชะลอตัว ข้าวสาร ตามโปรโมชัน ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำอัดลม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังสูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ประกอบกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า) ปรับขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.22 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.47 สินค้าที่ราคายังคงสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และสิ่งที่เกี่ยวกับความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) นอกจากนี้ ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมชะลอตัวค่อนข้างมาก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อผ้าบุรุษ หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.93 (YoY) ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.27 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลงร้อยละ 0.53 สินค้าที่ราคาลดลงอาทิ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผักและผลไม้สด (แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยหอม มะม่วง องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง น้ำมันพืช ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และอาหารโทรสั่ง (delivery) และสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.08 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเกท หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อบุรุษ/สตรี) เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว 2. แนวโน้มเงินเฟ้อ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่อ อุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากระหว่างร้อยละ 2.0 - 3.0 (ค่ากลาง 2.5) เป็นระหว่างร้อยละ 1.7 - 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 52.3 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) สาเหตุการปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นโดยรวมมาจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ (2) ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (3) มาตรการลดค่าครองชีพและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ การตรึงค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน และโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 และ (4) พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเพื่อเลือกตั้งในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาชนส่วนมากคาดหวังที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะต่อไป 6. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ 1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (730,123 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียงร้อยละ 0.05 เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้ง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้ง การส่งออกไปยังฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ การส่งออกไทย 2 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 4.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.4 มูลค่าการค้ารวม มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 45,865.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.7 การนำเข้า มีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 ดุลการค้า ขาดดุล 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 91,014.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.6 โดยการส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ดุลการค้า ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,506,548 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 730,123 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 การนำเข้า มีมูลค่า 776,425 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ดุลการค้า ขาดดุล 46,301 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 3,078,105 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการส่งออก มีมูลค่า 1,430,250 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 การนำเข้า มีมูลค่า 1,647,855 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ดุลการค้า ขาดดุล 217,605 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 21.4 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.2 (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และลาว) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 7.7 (ขยายตัวในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย เซเนกัล โมซัมบิก และแอฟริกาใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 95.0 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 171.4 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา เคนยา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 61.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 34.0 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 23.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และอิตาลี) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 23.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.6 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.2 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.6 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 81.7 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง แอฟริกาใต้ อาร์เจนติน่า จีน และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 60.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย แคนาดา และตุรกี) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ53.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 20.6 (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 22.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 12.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.8 ตลาดส่งออกสำคัญ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมยังหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะ การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางยังขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.9 หดตัวใน สหรัฐฯ ร้อยละ 9.5 จีน ร้อยละ 7.9 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.5 CLMV ร้อยละ 4.9 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.4 ขณะที่ สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยหดตัวในตลาดฮ่องกง ร้อยละ 28.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 23.8 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 11.2 แต่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.4 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.7 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 26.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 3.5 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 67.1 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 80.7 2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าทำตลาดข้าวผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ ตั้งเป้าการส่งออกปี 2566 ที่ 7.5 ล้านตัน ด้วยปัจจัยหนุนจากอินเดียและเวียดนามมีนโยบายเก็บสต๊อกข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคข้าวในอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น (2) การเดินหน้าสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Mini FTA) ระหว่างไทยและเซินเจิ้น ตั้งเป้าการค้าระหว่างกันอีก 43,000 ล้านบาท ในปี 2566 - 2567 เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของจีน รองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และมีขนาดเศรษฐกิจเกือบเท่าไทย และ (3) การเร่งเปิดเจรจา FTA คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเปิดการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยร่วมประชุมกับฝ่ายยูเออี เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเปิดโครงการไทยซุค (Thai Souq) ที่เป็นแหล่งรวมและกระจายสินค้าและบริการของไทยในเมืองดูไบ ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเป็นประตูเข้าสู่การค้าของกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีคาดว่า ช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป 7. เรื่อง แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้ 1. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบด้วยกรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรกตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 2. ให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) โดย 2.1 ให้หน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าว เป็นทางเลือกแรก 2.2 ให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วนำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง โดยมอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นผู้พิจารณากรอบเวลาดำเนินการสำหรับ 2 กรณีดังกล่าว และติดตามเป็นระยะ เพื่อให้งานบริการของรัฐอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า 1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับทุกมาตราเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เสนอมาในครั้งนี้ ดังนี้ 1.1 ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย (ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งหน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 4) 1.2 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้และปฏิบัติ โดยจะจัดแบ่งวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเริ่มต้นและระยะต่อ ๆ ไปก็ได้ แต่ระยะแรกสำหรับการเริ่มต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องจะทำให้แล้วเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ (ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2566) (มาตรา 19) 2. กรอบแนวคิดสำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามความพร้อมของหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 2.1 ระดับเริ่มต้น คือ หน่วยงานที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการอย่างง่ายโดยอาศัยช่องทางอีเมลหรือสื่อสังคมออนไลน์ เน้นการอำนวยความสะดวกเบื้องต้น เป็นธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและมีปริมาณรายการไม่มาก 2.2 ระดับมาตรฐาน คือ หน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณระดับมาตรฐาน สามารถจัดทำบริการรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) เน้นให้บริการได้แบบครบถ้วน (End-to-end)1 อาจใช้บริการ Backend2 จากแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบการให้บริการภาครัฐแก่นิติบุคคลแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) และพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชันทางรัฐ 2.3 ระดับสูง คือ หน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เทคโนโลยีและงบประมาณระดับสูง สามารถจัดทำบริการรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) โดยมีระบบ Backend ของตนเอง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น AI และ Machine Learning รองรับการประมวลผลที่ซับซ้อนมีจำนวนรายการมาก และมีความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องประเมินตนเองและกำหนดระดับที่สามารถดำเนินการได้ และพิจารณาดำเนินการในระดับที่สูงขึ้นเมื่อมีความพร้อมซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัล จำนวน 8 กระบวนการ ได้แก่ (1) การสืบค้นข้อมูล (2) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (3) การจัดทำแบบคำขอและยื่นคำขอ (4) การตรวจและพิจารณาคำขอ (5) การอนุมัติ (6) การชำระค่าธรรมเนียม (7) การออกใบอนุญาตและเอกสารอื่น และ (8) การจัดส่งใบอนุญาตหรือเอกสารอื่น 3. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สพธอ. และ สพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีความพร้อมในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ในระยะแรกจึงควรจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานก่อน ซึ่ง ก.พ.ร.ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้ 3.1 กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจต่อการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้โดยง่ายและเหมาะสมกับภารกิจหรืองานบริการของหน่วยงาน โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกของประชาชนในการติดต่อหรือขออนุญาต ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยลงไปจากเดิมประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 3.1.1 ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำแนะนำการใช้เครื่องมือตามความพร้อมของหน่วยงานทั้งในระดับเริ่มต้น เช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ไลน์ ระดับมาตรฐาน เช่น Facebook หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ และระดับสูง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้หน่วยงานทราบถึงภาพรวมการใช้เครื่องมือสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการติดต่อหรือขออนุมัติอนุญาตตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลจนถึงการจัดส่งใบอนุญาตและเอกสารอื่น รวมทั้งการติดตามสถานะหรือการแจ้งเตือน และการแสดงใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด 3.1.2 รายละเอียดการดำเนินการโดยสังเขปสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แจ้งให้หน่วยงานทราบถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดหาทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ (องค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ ฯลฯ) การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนข้อแนะนำ/ข้อพึงระวังของการใช้เครื่องมือ 3.2 วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจำแนกออกเป็น (1) วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายในระดับเริ่มต้นได้อย่างครบถ้วน และ (2) วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐานซึ่งเป็นการยกระดับสู่การใช้ระบบ e-Service ของหน่วยงานในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขออนุญาตหรือติดต่อราชการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน 1. การสร้างช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น วิธีการสำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรับเรื่องจากประชาชน โดยข้อแนะนำขั้นต้น คือ การสร้างอีเมลเพื่อเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรับเรื่องจากประชาชน ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการต่าง ๆ เช่น - การจดทะเบียนโดเมนเนมเพื่อนำไปใช้เป็นโดเมนเนมอีเมลของหน่วยงาน - การจัดตั้งและกำหนดชื่อบัญชีอีเมลกลางให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 - การมอบหมายเจ้าหน้าที่สารบรรณเป็นผู้ควบคุมดูแลบัญชีอีเมลกลาง และตรวจสอบอีเมลในแต่ละวัน วิธีการสำหรับหน่วยงานที่มีการพัฒนาระบบ e-Service สำหรับรับเรื่องจากประชาชนซึ่งอาจเป็นเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) หรือบริการภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการในแอปพลิเคชันทางรัฐ 2. การรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่สารบรรณเมื่อได้รับเรื่องจากประชาชนหรือหน่วยงานอื่นทางอีเมล เช่น การตรวจสอบหัวข้ออีเมล การแจ้งกลับผู้ส่งกรณีส่งผิดหน่วยงาน การตอบกลับเมื่อได้รับเรื่องแล้ว การดำเนินการหากมีการส่งเรื่องผิดช่องทางจากที่หัวหน้าหน่วยงานประกาศกำหนดไว้ เป็นต้น วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเมื่อได้รับเรื่องจากประชาชนหรือหน่วยงานอื่นทางระบบ e-Service เช่น การลงทะเบียนเรื่องเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล และส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การแจ้งกลับผู้ส่งกรณีส่งผิดหน่วยงาน การตอบกลับเมื่อได้รับเรื่องแล้วรวมทั้งการดำเนินการหากมีการส่งเรื่องผิดช่องทางจากที่หัวหน้าหน่วยงานประกาศกำหนดไว้ เป็นต้น 3. การดำเนินการภายในหน่วยงานหลังจากได้รับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเรื่องจากสารบรรณ เช่น การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน การดำเนินการหากไม่สามารถติดต่อกลับในกรณีคำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การรับเงินค่าคำขอ ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด จากประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงาน วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเรื่องส่งต่อจากระบบ e-Service เช่น การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน การดำเนินการหากไม่สามารถติดต่อกลับในกรณีคำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การรับเงินค่าคำขอค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดจากประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงาน ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการผ่านระบบ e-Service จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ และแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นกำหนดไว้ด้วย เช่น ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเวียนของกระทรวงการคลัง (กค.) เกี่ยวกับด้านการเงินการคลัง 4. การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณา หรือการออกหลักฐานอื่นใดให้ประชาชนที่ยื่นคำขอหรือติดต่อมาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการสำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับออกเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การแปลงจากเอกสารกระดาษให้อยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำแนะนำในการจัดหาและจดทะเบียนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ การทำให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าเชื่อถือ การจัดส่งใบอนุญาตหรือการแจ้งผลการพิจารณาผ่านทางอีเมล การจัดเก็บและสำรองข้อมูลของอีเมล วิธีการสำหรับหน่วยงานที่มีระบบสำหรับออกเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำแนะนำในการจัดหาและจดทะเบียนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์การทำให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าเชื่อถือ การจัดส่งใบอนุญาตหรือการแจ้งผลการพิจารณาผ่านระบบ e-Service ของหน่วยงาน การจัดเก็บและสำรองข้อมูลของระบบ e-Service 5. การจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย วิธีการจัดทำฐานข้อมูลผ่านโปรแกรมพื้นฐาน เช่น Microsoft Excel Google Sheets Apple Numbers หรือแอปพลิเคชันอื่นใด แนวทางการเผยแพร่ฐานข้อมูลดังกล่าว เช่น เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือหน่วยงานต้นสังกัด เผยแพร่ผ่านการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่หน่วยงานยังมิได้จัดทำฐานข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชน สืบค้นได้ วิธีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลไว้ในระบบ e-Service แนวทางการเผยแพร่ฐานข้อมูลดังกล่าว เช่น ส่งออกข้อมูลในรูปแบบไฟล์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัด เผยแพร่ผ่านการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่หน่วยงานยังมิได้จัดทำฐานข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชนสืบค้นได้ 6. เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การนำวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นไปใช้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ บุคลากร และขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี แต่มิได้จำกัดให้หน่วยงานที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเลือกใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนดไว้ในวิธีการฯ ระดับเริ่มต้น นอกจากนี้ได้กล่าวถึงช่องทางในการสอบถามข้อมูล หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ระบบ e-Service ของหน่วยงาน หากยังมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในภาคผนวกของวิธีการฯ ระดับมาตรฐาน หน่วยงานสามารถนำวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นมาใช้ได้โดยอนุโลม นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงช่องทางในการสอบถามข้อมูล หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ.ร. 3.3 การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อบูรณาการการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ตอบโจทย์ประชาชนในมิติต่าง ๆ 3.3.1 แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) (1) ระบบ Biz Portal เป็นแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์การประกอบอาชีพหรือธุรกิจของประชาชนและผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์ www.bizportal.go.th ซึ่งสามารถแบ่งการดำเนินงานออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) ส่วนการให้ข้อมูล (Information) ที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขออนุญาตตามคู่มือสำหรับประชาชนที่หน่วยงานภาครัฐจัดทำขึ้น และข้อมูลแบบบูรณาการที่มีการเชื่อมโยงจากผลศึกษาขั้นตอนการให้บริการแต่ละใบอนุญาตตามประเภทธุรกิจ และ 2) ส่วนการให้บริการ (Service) ที่จะให้บริการยื่นคำขออนุญาตแบบบูรณาการโดยใช้แบบฟอร์มคำขออนุญาตแบบ Single e-Form และส่งเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เพียงชุดเดียวโดยไม่ต้องส่งเอกสารต้นฉบับ รวมถึงมีการออกใบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ ซึ่งปัจจุบันมีงานบริการที่สามารถให้บริการในระบบได้ จำนวน 130 ใบอนุญาต มีตัวอย่างบริการ เช่น การขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียน SME เพื่อขอรับบริการภาครัฐ ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร การขอใบรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ (2) ระบบ Citizen Portal เป็นแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน โดยพัฒนางานบริการผ่านแอปพลิเคชัน ?ทางรัฐ? ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างครบถ้วน และครอบคลุมตลอดช่วงชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตามมิติ ?รู้ ยื่น จ่าย รับ? กล่าวคือ 1) รู้ หมายถึง การรู้ข้อมูลสิทธิที่พึงได้รับและรายละเอียดขั้นตอนของแต่ละงานบริการผ่านการแจ้งเตือนเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐผู้ให้บริการ 2) ยื่น หมายถึง สามารถยื่นคำขอหรือคำร้องได้อย่างสะดวก รวดเร็วลดภาระการกรอกเอกสารโดยการใช้ระบบ e-Form ที่เชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ 3) จ่าย หมายถึง สามารถชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการผ่านระบบ e- Payment ผ่านช่องทางที่หลากหลายในระบบ Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ) ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และ 4) รับหมายถึง การรับใบอนุญาต/เอกสาร ต่าง ๆ ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document ที่รวดเร็ว มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานในระดับสากล มีตัวอย่างบริการ เช่น การตรวจสอบรายละเอียดของหนังสือเดินทาง (Passport) และแจ้งเตือนก่อนวันหมดอายุ การแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป การตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาในระบบประกันสังคม 3.3.2 ข้อมูลงานบริการภาครัฐและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลงานบริการภาครัฐตามคู่มือมาตรฐานกลาง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานบริการ ทั้งหมด 3,830 งานบริการ งานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แบ่งเป็น 2,420 งานบริการ 1. งานบริการที่พัฒนาให้สามารถบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว 1,395 งานบริการ (ร้อยละ 57.64 ของงานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้) ให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว มาเชื่อมโยงกับระบบ Biz Portal หรือ Citizen Portal เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการกับประชาชนและนำระบบพื้นฐาน (Common Service) จากทั้งสองระบบมาให้บริการเพื่อยกระดับการให้บริการในขั้นตอนที่ยังไม่สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2. งานบริการที่ยังไม่มีช่องทางให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 1,025 งานบริการ (ร้อยละ 42.36 ของงานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้) ให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่ยังไม่มีช่องทางให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนาบนระบบBiz Portal และ Citizen Portalเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ลดภาระและค่าใช้จ่ายของหน่วยงานในการพัฒนาระบบรวมทั้งเป็นการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรฐานและความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับ 4. สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการ ยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องที่เสนอมานี้เป็นการดำเนินการในลักษณะงานปกติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (ตามข้อ 1.2) ไม่ได้เป็นการกำหนดนโยบายขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นการกระทำการสร้างความผูกผันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 1 บริการแบบ End-to-end หมายถึง บริการที่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการโดยผู้ใช้บริการไม่ต้องพึ่งพาบริการอื่น 2 Frontend (มักเรียกว่า ?หน้าบ้าน?) คือ ระบบในส่วนที่ผู้ใช้บริการเห็นและมีปฏิสัมพันธ์ได้ เช่น หน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ส่วน Backend (มักเรียกว่า ?หลังบ้าน?) คือ ระบบในส่วนที่เป็นการปฏิบัติงานของหน่วยงานซึ่งผู้ใช้บริการไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ระบบฐานข้อมูล ระบบประมวลผลข้อมูล มีสถานการณ์ตัวอย่าง เช่น หน่วยงานอาจมีหน้าเว็บไซต์ที่ให้บริการประชาชน (Frontend) ของตนเอง และใช้บริการประมวลข้อมูลรวมทั้งบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ (Backend) จากแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางของ สพร. 8. เรื่อง มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวโดยรายงานให้ กนช. ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง กนช. รายงานว่า กนช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 25661 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนมาตรการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับสถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ การดำเนินงาน/กลไก หน่วยงานที่รับผิดชอบ มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง (เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นไป) (1.1) ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในช่วงเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2566 และปรับปรุงข้อมูลทุกเดือนเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน (1.2) ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากช่วงฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับเตรียมดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) [สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)] - กระทรวงเกษตรกรรมและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทาน) - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) (กรมอุตุนิยมวิทยา) - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรน้ำ) - กรุงเทพมหานคร (กทม.) - สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาตรการที่ 2 บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนสิงหาคม 2566) (2.1) เตรียมความพร้อมการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ2ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนการระบายน้ำ/แผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ กทม. และปริมณฑล และพื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ (2.2) หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่เอกชน - กษ. (กรมชลประทาน) และกรมส่งเสริมการเกษตร) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - กระทรวงมหาดไทย (มท.) - กทม. มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ/เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดู) (3.1) ทบทวน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำสำหรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น เกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เกณฑ์การระบายน้ำเขื่อน/อาคารระบายน้ำ การคาดการณ์ฝนและปริมาณน้ำท่าในลำน้ำ ประเมินน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเกณฑ์ค่าเฝ้าระวังระดับเตือนภัย และเกณฑ์การบริหารจัดการ (กลไกการสั่งการ) - กษ. (กรมชลประทานและกรมประมง) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - กระทรวงพลังงาน (พน.) [การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน] - มท. [กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)] - สทนช. (3.2) การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่มลุ่มน้ำ ได้แก่ 1) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำในพื้นที่นำร่อง (ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก) 2) ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกขนาดเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่มลุ่มน้ำ และ 3) จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในช่วงภาวะวิกฤต เช่น แผนการระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ - กษ. (กรมชลประทานและกรมประมง) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - พน. (กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ) - มท. (สถ.) - สทนช. มาตรการที่ 4 เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) (4.1) เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ และระบบระบายน้ำให้พร้อมใช้งาน เช่น ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำกรณีมีอาคารไม่พร้อมใช้งานหรือเสียหายระหว่างฤดูฝนให้จัดทำแผนซ่อมแซมปรับปรุงและแผนปฏิบัติการสำรองการบริหารจัดการน้ำหลาก - กษ. (กรมชลประทาน) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - พน. (กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ) - มท. (สถ.) - กทม. (4.2) เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เช่น ตรวจสอบสถานีโทรมาตร ซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติในช่วงฤดูฝน รวมทั้งสามารถตรวจวัดแสดงผลและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา - อว. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ) - กษ. (กรมชลประทานและกรมประมง) - ดศ. (กรมอุตุนิยมวิทยา) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - พน. (กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ) - กทม. (4.3) ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทบทวน/ตรวจสอบสิ่งที่กีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำจากการศึกษาการจัดทำผังน้ำเพื่อจัดทำแผนปรับปรุงแก้ไข - กระทรวงกลาโหม (กห.) (กองทัพบก) - กษ. (กรมชลประทาน) - กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า และรถไฟแห่งประเทศไทย) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - มท. (สถ.) - กทม. - สทนช. มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) (5.1) เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น 1) เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย/แผนเผชิญเหตุในภาวะน้ำท่วมและช่วงฝนทิ้งช่วง 2) เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมและช่วงฝนทิ้งช่วง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง 3) เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ 4) วางแผนจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ที่เหมาะสม และ 5) ติดตามวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและช่วงฝนทิ้งช่วงด้วยภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งกำหนดแนวทางและเงื่อนไขของการแจ้งเตือนตามระดับความรุนแรง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น - กห. (กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ) - อว. [สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)] - กษ. (กรมชลประทาน) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล) - คค. (กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท) - มท. [สถ. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)] - กทม. - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (5.2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นเสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น 1) วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2) ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด และ 3) การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง - กษ. (กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล) - พน. (กฟผ.) - มท. [สถ. การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)] มาตรการที่ 6 ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) (6.1) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรง ของคันกั้นน้ำ ทำนบและพนังกั้นน้ำ พร้อมทั้งซ่อมแซมและปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งาน (6.2) เตรียมแผนเสริมความสูงหรือก่อสร้างคัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำชั่วคราว (หากจำเป็น) - อว. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ) - กษ. (กรมชลประทาน) - คค. (กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท) - พน. (กฟผ.) - มท. (กรมโยธาธิการและผังเมือง และ สถ.) มาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) (7.1) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักรเครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และขยะในลำน้ำ (7.2) ขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดแม่น้ำลำคลองและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (7.3) ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และขยะในลำน้ำ (7.4) มอบหมายคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ในช่วงก่อนฤดูฝนและระหว่างฤดูฝน ปี 2566 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 (7.5) จัดทำ Big Cleaning Day ในพื้นที่ลุ่มน้ำนำร่อง - อว. (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) - กษ. (กรมชลประทาน) - คค. (กรมเจ้าท่า) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - มท. (กรมโยธาธิการและผังเมือง สถ. และ ปภ.) - กทม. - สทนช. มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) (8.1) ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุจัดเตรียมพื้นที่อพยพ โดยบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับชาติและระดับพื้นที่ และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่อพยพ (อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่) - มท. [ปภ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)] - สทนช. (8.2) ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย โดยตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าสำหรับเผชิญเหตุเพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการสถานการณ์ และบูรณาการการทำงานร่วมกับกลไกการทำงานของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ - กห. (กองบัญชาการกองทัพไทย) - อว. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ) - กษ. (กรมชลประทาน) - ดศ. (กรมอุตุนิยมวิทยา) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - มท. (สถ. และ ปภ.) - สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (กรมประชาสัมพันธ์) - สทนช. - สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (8.3) จัดทำแผนการฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกลไกการทำงานของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และวางแผนกำหนดแนวทางการฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ - มท. (ปภ.) มาตรการที่ 9 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566) (9.1) เร่งเก็บน้ำ/สูบทอยน้ำส่วนเกิน ในช่วงปลายฤดูฝนไปเก็บในอ่างเก็บน้ำ/แหล่งน้ำธรรมชาติไว้ใช้ในฤดูแล้ง (9.2) บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ/แหล่งน้ำตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) หรือเต็มศักยภาพเก็บกัก (9.3) พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ และบ่อน้ำตื้น - กษ. (กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน) - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - มท. (ปภ. สถ. กปภ. และ กปน.) - พน. (กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ) มาตรการที่ 10 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) (10.1) อบรมการจัดการความรู้ สร้างองค์ความรู้แก่ปราชญ์ชุมชนและภาคประชาชน (10.2) ให้องค์ความรู้ภาคประชาชนในการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งข้อมูลในพื้นที่ (10.3) สร้างเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อแจ้งข้อมูลสถานการณ์ (10.4) สร้างช่องทางในการส่งข้อมูล/แจ้งข้อมูลสถานการณ์ - ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) - มท. (อปท. และ ปภ.) - สทนช. - กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรการที่ 11 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน ปี 2566 ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายต่าง ๆ และประชาชน - มท. (สถ.) - สปน. (กรมประชาสัมพันธ์) - สทนช. มาตรการที่ 12 ติดตาม ประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) (12.1) กำหนดประเด็นตัวชี้วัดการดำเนินการ (กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์) (12.2) ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด (12.3) ติดตามการดำเนินงานและสรุปผลเพื่อปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย - สทนช. 1 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 มีสาระสำคัญเหมือนกับมาตรการฯ ปี 2565 โดยปรับยุบรวมมาตรการตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยไปอยู่ภายใต้มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ 2 พื้นที่หน่วงน้ำ คือ พื้นที่สำหรับพักน้ำหรือเก็บกักน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะปล่อยระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ 9. เรื่อง รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัดและมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษาภายใต้โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 2,474 โครงการ ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ การประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน จำนวน 250 โครงการ 2. สบน. และกลุ่มงานที่ปรึกษาฯ ได้จัดทำรายงานผลฯ ซึ่ง คปก.ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 โดยพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้สูงหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญที่แล้วเสร็จ จำนวน 10 โครงการ มีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ รวม 184,410.22 ล้านบาท ผลการเบิกจ่ายรวม 183,491.30 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.50 ของกรอบวงเงิน โดยทั้ง 10 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 42,322.44 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 8,168.23 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการประเมินระดับแผนงาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 2.1 แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด ของโควิด-19 2.1.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (วัคซีนไฟเซอร์) กรอบวงเงินรวม 8,616.08 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่าย 8,616.08 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง (2) ประสิทธิภาพ (3) ประสิทธิผล (4) ผลกระทบ และ (5) ความยั่งยืน อยู่ในระดับดีมาก 2.1.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยฯ สามารถป้องกันการเสียชีวิตของประชาชน ป้องกันอาการป่วยรุนแรง ประหยัดค่ารักษาพยาบาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต 2.1.3 ปัญหาและอุปสรรค กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความล่าช้า โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้การได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าที่ควรจะเป็น 2.1.4 ข้อเสนอแนะ ควรมีการกระจายความเสี่ยงทางด้านวัคซีนโควิด-19 โดยการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ตามความเหมาะสม 2.2 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 2.2.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 6 โครงการ กรอบวงเงินรวม115,494.95 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายรวม 114,576.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.20 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานและผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับดีมาก 2.2.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โครงการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 42,292.35 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 8,162.42 ล้านบาทและส่งผลกระทบทางสังคม เช่น ลดความเครียดของประชาชนและชะลอการเกิดหนี้เสีย 2.2.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) ปัญหาการโอนเงินไม่สำเร็จและโอนเงินล่าช้าเนื่องจากข้อจำกัดของธนาคารกรุงไทยซึ่งทำรายการโอนเงินได้ไม่เกินวันละ2 ล้านราย (2) ปัญหาการทุจริตและบุคลากรไม่เพียงพอ (3) กรอบวงเงินกู้โครงการไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานและ (4) มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตน ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ไม่ได้รับสิทธิตามเงื้อนไขของโครงการ 2.2.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) หน่วยงานรับผิดชอบโครงการควรมีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารเพื่อลดปัญหาการโอนเงินไม่สำเร็จและการโอนซ้ำ และร่วมมือกับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เพื่อเพิ่มช่องทางในการโอนเงินให้เร็วขึ้น (2) ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับจ้างบุคลากรเพิ่มเติมชั่วคราวเพื่อช่วยในการตรวจสอบ และตอบข้อซักถามและข้อร้องเรียนต่าง ๆ (3) ควรมีการวางแผนการหารายได้และบริหารจัดการด้านการเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินกู้โดยไม่ผลักภาระให้กับประชาชน และ (4) ควรวิเคราะห์ประเด็นที่มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตนเพื่อนำไปปรับปรุงการสื่อสารและทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย 2.3 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 2.3.1 การประเมินผลโครงการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค และโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 กรอบวงเงินรวม 60,299.19 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่าย 60,299.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานและผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับดีมาก 2.3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 30.09 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี ที่คาดว่ารัฐจะได้กลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 5.81 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ เช่น ลดการเลิกจ้างงาน เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด 2.3.3 ปัญหาและอุปสรรค เช่น (1) นายจ้างบางส่วนไม่สามารถนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมเพื่อเข้าร่วมโครงการเนื่องจากไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีและบางรายไม่ส่งข้อมูลตามเงื่อนไข (2) หน่วยงานขาดความเข้าใจกฎและระเบียบในการใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ และ (3) บุคลากรและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขาดความพร้อมในการบริหารแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ 2.3.4 ข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรมีแผนสำรองให้กับนายจ้างที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบ e-Service ได้ เช่น การลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือโดยตรง และการหาแนวทางให้นายจ้างสามารถเข้าถึงระบบและปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้ในอนาคต (2) ควรมีการศึกษากฎ ระเบียบ และอำนาจในการอนุมัติหรือก่อหนี้ผูกพันของมหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์และมีการเตรียมแผนสำรองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ (3) ควรวางแผนการส่งมอบแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนาต่อ หรือจัดหาทุนวิจัยในการจัดทำโครงการเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้โครงการบรรลุซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรจำนวนมาก 10. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานประจำครึ่งปี (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61 ซึ่งบัญญัติให้ทุกหกเดือน ให้ ธปท.จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงาน และประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ภาวะเศรษฐกิจ 1.1 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในทุกหมวดหมู่สินค้า และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนการส่งออกบริการปรับตัวดีขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวทั้งจากการอุปโภค บริโภค และการลงทุนของภาครัฐ 1.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปีตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลงและมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 1.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6.54 เพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 5.61 ตามราคาอาหารสด อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีผู้ประกอบการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารสาธารณะ ทั้งนี้ จะต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น 1.4 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่ขาดดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลลดลงจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 2. การดำเนินงานของ ธปท. สรุปได้ ดังนี้ 2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน ประกอบด้วย 2.1.1 เป้าหมายนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2566 ต่อเนื่องจากปี 2565 2.1.2 การดำเนินนโยบายการเงิน (1) นโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กนง.ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 3 ครั้ง โดย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.25 ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการระดมทุนของภาคเอกชนโดยรวม ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม (2) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา โดยปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงแรกจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะชะลอการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของจีนในเดือนธันวาคม 2565 และการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศของจีนในเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้ยืดหยุ่นและคล่องตัวขึ้น เช่น การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมและการสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันและส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านเงินตราต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. เห็นความสำคัญของมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเปราะบางและอ่อนไหว รวมถึงภาระหนี้ที่สูงขึ้น กนง. จึงเห็นควรปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด 2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน สรุปได้ ดังนี้ 2.2.1 ด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงินและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม เช่น (1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล และกลไกการควบคุมภายในของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงินใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลเพื่อจัดหมวดหมู่และสร้างความยืดหยุ่นให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ 2) หลักเกณฑ์ด้านกลไกการควบคุมภายในเพื่อยกระดับแนวปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน (2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรมใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การขยายขอบเขตการบังคับใช้ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการภายใต้การกำกับของ ธปท. และ 2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยขยายขอบเขตหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมลูกหนี้รายใหญ่และบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มเติม และ (3) การประเมินธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ โดยจะทบทวนกรอบการประเมินธนาคารพาณิชย์ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทยและครอบคลุมถึงความเสี่ยงใหม่ ๆ เช่น ความเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) 2.2.2 ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ (1) แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะจัดทำเอกสารทิศทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ประกอบด้วย การบรรเทาภาระหนี้เดิมและการดูแลการปล่อยหนี้ให้มีคุณภาพ (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะจัดทำเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ซึ่งจะมีการวางรากฐานที่สำคัญ เช่น การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน การเร่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน และการยกระดับความรู้และความชำนาญของบุคลากรภาคการเงิน และ (3) กรอบหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดยจะมีผู้ให้บริการประเภทใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี บริการดิจิทัล และข้อมูลที่หลากหลาย มาพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SMEs 2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบชำระเงินเพื่อให้ระบบชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย และยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงาน เช่น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้ โดยจัดทำโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business เพื่อส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลและการชำระเงินด้วยดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมทั้งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 (2) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการการชำระเงินและการใช้เทคโนโลยีใหม่พัฒนานวัตกรรมการชำระเงินในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมการให้บริการ QR Code แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code เรียบร้อยแล้วกับราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม มาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (3) การขยายและส่งเสริมการชำระเงินด้วยดิจิทัลให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมให้ระบบขนส่งสาธารณะรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต รวมทั้งจะมีการเพิ่มช่องทางการชำระค่าโดยสารผ่านทางดิจิทัลต่อไป (4) การให้ความรู้เกี่ยวกับการชำระเงินด้วยดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดยมีการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการใช้งานธนบัตรอย่างถูกต้องปลอดภัยและและนำการใช้งานการชำระเงินด้วยดิจิทัลให้กับกลุ่มแม่ค้า และ (5) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคหรือมีขั้นตอนมากเกินจำเป็น และการวางกรอบกำกับดูแลให้เหมาะสมกับนวัตกรรมทางการเงินและการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแล โดยได้พัฒนาเครื่องมือในการกำกับตรวจสอบบนฐานความเสี่ยงและการกำกับตรวจสอบแบบต่อเนื่อง มีเครื่องมือที่นำมาใช้แล้ว ได้แก่ e-Payment Dashboard ที่สะท้อนความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และเครื่องมือเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลกิจการตามหลักการสอบทานและถ่วงดุล ต่างประเทศ 11. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารจำนวน 8 ฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Draft ASEAN Leaders? Statement Towards ASEAN Community?s Post-2025 Vision) (ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนต่อวิสัยทัศน์ฯ) 2. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพเชิงสถาบันของอาเซียน (Draft ASEAN Leaders? Statement on the Strengthening of ASEAN Capacity and Institutional Effectiveness) (ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถฯ) 3. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด (Draft ASEAN Leaders? Declaration on Combating Trafficking in Persons Caused by Abuse of Technology) (ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ฯ) 4. ร่างแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ - เลสเต (Draft Roadmap for Timor-Leste?s Membership in ASEAN) (ร่างแผนการดำเนินการฯ) 5. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียน (Draft ASEAN Leaders? Joint Statement on the Establishment of an ASEAN Villages Network) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) 6. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Draft ASEAN Declaration on the Protection of Migrant Workers and Family Members in Crisis Situation) (ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติฯ) 7. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง (Draft ASEAN Declaration on the Placement and Protection of Migrant Fishers) (ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานฯ) 8. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มสุขภาพหนึ่งเดียว (Draft ASEAN Leaders? Declaration on One Health Initiative) (ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสาร จำนวน 8 ฉบับ ดังกล่าว สาระสำคัญของเรื่อง สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 มีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการประชุมดังกล่าวผู้นำอาเซียนจะร่วมกันรับรอง (adopt) ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารที่ กต. ได้ประสานและรวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยการรับรองร่างเอกสารดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือและต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ และเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อประเทศไทยแต่อย่างใด เอกสาร สรุปสาระสำคัญ 1. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 เป็นเอกสารที่ย้ำความสำคัญของการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่มีความครอบคลุม เข้มแข็ง สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อรับมือกับความท้าทายของภูมิภาคทั้งในปัจจุบันและอนาคต 2. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพเชิงสถาบันของอาเซียน เน้นย้ำความพยายามของอาเซียนในการส่งเสริมความสามารถและประสิทธิภาพเชิงสถาบันของอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับความท้าทายและรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค 3. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ยืนยันความมุ่งมั่นของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีโดยผิดวัตถุประสงค์ โดยการพัฒนามาตรฐานระดับภูมิภาคในการปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์เพื่อมิให้เป็นเหยื่อซ้ำซ้อน 4. ร่างแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ - เลสเต กำหนดเกณฑ์การพิจารณารับติมอร์-เลสเต เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยประเด็นและข้อพิจารณาหลักที่ติมอร์ฯ ต้องดำเนินการ แนวทางการเตรียมการของฝ่ายติมอร์ฯ และกระบวนการรับติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน 5. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียน จะมีการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น การจัดให้มีเวทีสำหรับชุมชนและการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือและการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน เป็นต้น 6. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ อาทิ ในช่วงเกิดภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย 7. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในเรือประมงให้มีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมมีความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม 8. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อประกาศความมุ่งมั่นในข้อริเริ่มสุขภาพหนึ่งเดียวของผู้นำอาเซียน เช่น จัดตั้งเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวอาเซียน ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนบูรณาการงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวซึ่งรวมถึงการนำแนวทางและแผนปฏิบัติการไปปฏิบัติในกรอบความร่วมมือรายสาขาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 12. เรื่อง การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก 2. เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ได้ร่วมกับผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT 1. ยินดีต่อความสำเร็จที่สำคัญของ IMT-GT ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมบทบาทของประชาชนในความร่วมมืออนุภูมิภาค รวมทั้งการขยายความเชื่อมโยงจนครอบคลุม 35 รัฐและจังหวัด ผ่านระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว ภายใต้แผนงาน IMT-GT 2. ตระหนักถึงความท้าทายที่ยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาด พร้อมทั้งผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารในการพัฒนาของอนุภูมิภาคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 3. ยืนยันความพยายามในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาด โดยการเปิดตัวแคมเปญ ปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 เพื่อร่วมกันฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนจัดทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแคมเปญดังกล่าวเพื่อผลักดันให้อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งเดียวด้านการท่องเที่ยว 4. เน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อนุภูมิภาคในฐานะฐานการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ในระดับโลก ผ่านการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตรมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร และสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดร่วมมือกันยกระดับมูลค่าของสินค้าเกษตร เช่น น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ยางในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก 5. ยืนยันความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลระดับโลก เห็นควรให้ผู้เกี่ยวข้องริเริ่มโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศฮาลาลในอนุภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลสู่ตลาดฮาลาลแห่งใหม่ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งนำใช้เทคโนโลยีระบบการเก็บข้อมูลฮาลาล (Halal Blockchain) และส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล 6. เน้นย้ำความสำคัญของโครงการเชื่อมต่อทางกายภาพ (PCPs) โดยรับทราบถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการจำนวน 36 โครงการทั่วอนุภูมิภาค ซึ่งมีมูลค่ากว่า 57 พันล้านเหรียญ สรอ. และขอให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งติดตามการดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค 7. มุ่งแสวงหาเครือข่ายด้านการค้าและปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการหมุนเวียนของการลงทุน ผ่านการพัฒนาโครงการด้านการค้าและเขตอุตสาหกรรมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางอันเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมยางใน IMT-GT ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก 8. เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค โดยขอให้ยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในอนุภูมิภาคต่อไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่ครอบคลุม ตลอดจนส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิต 9. ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และหุ้นส่วนการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่มีต่อการเร่งรัดการดำเนินโครงการและการพัฒนาอนุภูมิภาคให้มีความก้าวหน้า โดยขอให้ภาคส่วนต่าง ๆ ริเริ่มโครงการพัฒนาแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างกันในอนุภูมิภาค ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้ 1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผ่นงาน IMT-GT ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ 2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน 3. มีบทบาทนำในด้านการท่องเที่ยวเนื่องมาจากการดำเนินโครงการภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT ในปี 2566 อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT (The 15thiMT-GT Summit) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเมอรุโอราห์ โคโมโด ลาบวน บาโจ (Meruorah Komodo Labuan Bajo) เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT (JointStatement of the 15t IMT-GT Summit) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างแถลงการณ์ฯ และเห็นว่าร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 13. เรื่อง ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น 2. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง 3. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะพิจารณารับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ ร่างปฏิญญาฯ จัดทำขึ้นตามเป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตามแผนงานประชาคมอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) กล่าวคือเศรษฐกิจอาเซียนรวมกลุ่มอย่างแน่นแฟ้น และแข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างยั่งยืน รวมถึงการมีภาคการเงินที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและมีเสถียรภาพ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ร่างปฏิญญาฯ มีเนื้อหาแสดงถึงการให้คำมั่นจะผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค โดยใช้นวัตกรรมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์และการส่งเสริม การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การชำระเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย 2. ผู้นำอาเซียนให้คำมั่นในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาค และสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานด้านการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Transaction Task Force) เพื่อศึกษาและพัฒนากรอบการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น รวมทั้งพิจารณาให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในภูมิภาคจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 3. ผู้นำอาเซียนมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนเป็นผู้ดูแลการดำเนินการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค และพิจารณาแนวทางพัฒนากรอบการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้มีการประสานกับคณะทำงานของภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่งตั้ง 14. เรื่อง การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษา ไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566-2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566 - 2567 รวม 7 คน โดยมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 - 2565 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้ 1. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ประธานกรรมการ 2. อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หรือผู้แทน กรรมการ 3. อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือผู้แทน กรรมการ 4. ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ 5. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กรรมการ 6. นายกสมาคมฟุลไบรท์ไทย กรรมการ 7. นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการ รองอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป 15. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง พลอากาศตรี จักรวัชร จงสืบสุข เป็นกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แทนกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) เดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป