http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (13 กันยายน 2566) เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลาการลดอัตรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม) 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เศรษฐกิจ-สังคม 3. เรื่อง ขออนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อ การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 4. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณ รายจ่ายบูรณาการและมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 5. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ฉบับทบทวน ต่างประเทศ 6. เรื่อง ขอรับความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฮาวานาว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการ พัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 7. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีนและสัญชาติคาซัคสถาน เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว 8. เรื่อง การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สาธสารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับการ พำนักระยะสั้นแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ 9. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ร่างปฏิญญาทางการเมือง และร่างประเด็นในประกาศความ มุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่า ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมี ผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ แต่งตั้ง 10. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี 11. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ) 13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม) 14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) 15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์) 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย) 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน) 18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข) 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง) 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์) 22. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง) 24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน) 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม) 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม) 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ) 29. เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี 30. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย 31. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 228/2566 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รอง นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติ ราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง 32. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รอง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี
? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาเป็นการล่วงหน้า และให้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปีต่อไปมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ จากข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 มีการขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้ากว่าปกติ ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ เห็นควรขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังได้พิจารณาประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วพบว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐเพิ่มเติมและจะได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. ประมาณการการสูญเสียรายได้ 1.1 การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี หากไม่มีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากรร้อยละ 11.11 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 380,000 ล้านบาทต่อปี 1.2 การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เนื่องจากได้ประมาณการรายได้โดยใช้อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 2.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศและเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 2.2 ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 2.3 อัตราภาษีไม่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโนบายเร่งด่วนในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดมีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาอยู่ที่ 87.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ปรับเพิ่มขึ้นจาก 71.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนมกราคม 2566) อย่างไรก็ดี กลไกในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีสรรพสามิต ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า น้ำมันดีเซลถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นต้นทุนในภาคการผลิตสินค้า ไฟฟ้า และภาคการขนส่งในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงจนอาจกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน จึงควรดำเนินมาตรการทางภาษีโดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตลดลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามที่นำเสนอแล้ว กระทรวงการคลังจะพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตต่อไปเพื่อให้ฐานะทางการคลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถัน และรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยกำหนดให้มีอัตราภาษี ดังนี้ 1. น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.940 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท 2. น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.940 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท 3. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ไม่เกินร้อยละ 4 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.940 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท 4. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.670 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.990 บาท 5. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.630 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.930 บาท 6. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 9 แต่ไม่เกินร้อยละ14 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.550 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.800 บาท 7. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 14 แต่ไม่เกินร้อยละ 19 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.360 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.480 บาท 8. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 19 แต่ไม่เกินร้อยละ 24 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 3.153 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.153 บาท เศรษฐกิจ-สังคม 3. เรื่อง ขออนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 998,442,000 บาท เพื่อเป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่จะได้รับเงินต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 2,254,534 คน (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566) โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ 4. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้ 1. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 2. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยกเลิกมติคณะรัฐนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 3. แผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมทั้งหน่วยรับงบประมาณสามารถดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่าย บูรณาการให้แล้วเสร็จตามการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงบประมาณจึงกำหนดให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 10 แผนงานบูรณาการซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ แผนงานบูรณาการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ปรับเปลี่ยนเป็นแผนงานยุทธศาสตร์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1 แผนงาน ได้แก่ แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 4. มอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการจำนวน 10 แผนงาน ดังกล่าว โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยให้มีคณะกรรมการ จำนวนทั้งสิ้น 6 คณะ (โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ต่อไป) ดังนี้ 4.1 องค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ประกอบด้วย 4.1.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการ ดังนี้ (1) ประธานกรรมการ : รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงาน เจ้าภาพหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (2) รองประธานกรรมการ : รัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานเจ้าภาพ (3) กรรมการ : (3.1) ปลัดกระทรวงของหน่วยงาน เจ้าภาพและหัวหน้าของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3.2) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (3.3) เลขาธิการสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (3.4) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา ระบบราชการ (3.5) เลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ (4) กรรมการและแลขานุการร่วม : (4.1) หัวหน้า/ผู้แทนหน่วยงานเจ้าภาพ (4.2) ผู้แทนสำนักงบประมาณ (4.3) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (4.4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ 4.1.2 คณะกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) กำหนดหลักเกณฑ์ วัตถุประสงค์ ขอบเขตภารกิจ เป้าหมายร่วม แนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเป้าหมาย และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม ครบถ้วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ (2) ประสานหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้จัดทำโครงการกิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามความจำเป็นและเหมาะสม (3) พิจารณาโครงการ กิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของแผนงานบูรณาการที่ได้รับมอบหมาย (4) จัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณตามกรอบระยะเวลาของการดำเนินการ พร้อมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่งสำนักงบประมาณ โดยให้ประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1) บริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริต รวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ 2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานในการปฏิบัติงาน เชิญหน่วยรับงบประมาณมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ชี้แจงรายละเอียดและข้อคิดเห็นได้ตามความจำเป็น 3) ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 4.2 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ดังนี้ 4.2.1 นายภูมิธรรม เวชยชัย จำนวน 2 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 4.2.2 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จำนวน 2 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 2) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 4.2.3 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร จำนวน 3 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล 4.2.4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 1 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4.2.5 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำนวน 1 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4.2.6 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จำนวน 1 แผนงาน คือ 1) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแผนงานบูรณาการตามที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่และอำนาจบริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริต รวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและเกิดผสสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 และระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 5. เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ฉบับทบทวน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2569 - 2570 ในส่วนของ GDP Deflator ในปี 2568 - 2570 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 2. สถานะและการประมาณการการคลัง 2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 - 2570 เท่ากับ 2,787,000 2,899,000 2,985,000 และ 3,074,000 ล้านบาท ตามลำดับ 2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 - 2570 เท่ากับ 3,480,000 3,591,000 3,706,000 และ 3,825,000 ล้านบาท ตามลำดับ 2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567 - 2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000 692,000 721,000 และ 751,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.63 3.43 3.40 และ 3.36 ต่อ GDP ตามลำดับ 2.4 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 -2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 64.65 64.93 และ 64.81 ตามลำดับ 3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันของภาคการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยึดหลัก ?Sound Strong Sustained? ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้ หน่วย: ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 2567 2568 2569 2570 รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,490,000 2,787,000 2,899,000 2,985,000 3,074,000 อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 3.8 11.9 4.0 3.0 3.0 งบประมาณรายจ่าย 3,185,000 3,480,000 3,591,000 3,706,000 3,825,000 อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 2.7 9.3 3.2 3.2 3.2 ดุลการคลัง (695,000) (693,000) (692,000) (721,000) (751,000) ดุลการคลังต่อ GDP (ร้อยละ) (3.83) (3.63) (3.43) (3.40) (3.36) หนี้สาธารณะคงค้าง 11,254,544 12,089,379 12,897,716 13,652,385 14,363,204 หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) 62.97 64.00 64.65 64.93 64.81 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 18,169,267 19,077,730 20,146,083 21,233,972 22,380,606 หมายเหตุ: อัตราการเพิ่มของรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566 เทียบประมาณการปีงบประมาณ 2565 ตามเอกสารงบประมาณโดยสังเขป ที่มา: กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม ต่างประเทศ 6. เรื่อง ขอรับความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฮาวานาว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการพัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฮาวานาว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการพัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Havana Declaration on Current Development Challenges: the Role of Science, Technology and Innovation) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก รวมทั้งให้ผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาฮาวานาว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการพัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ ร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำกลุ่ม 77 และจีนในการเน้นย้ำบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการระดมทุนเพื่อการพัฒนาการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยคาดว่าประเทศสมาชิกน่าจะสามารถมีฉันทามติรับรองร่างปฏิญญาฯ ได้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสอดคล้องกับท่าที่ของกลุ่ม 77 และจีน ในเวทีการประชุมสหประชาชาติที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาธารณรัฐคิวบาในฐานะประธานกลุ่ม 77 และจีน มีกำหนดจัดการประชุมผู้นำกลุ่ม 77 และจีน (Group of 77 and China) ว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการพัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Summit of Heads of State and Government of the Group of G77 and China on ?Current Development Challenges: the Role of Science, Technology and Innovation?)ณ กรุงฮาวานา ระหว่างวันที่ 15 - 16 กันยายน 2566 โดยมีร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะรับรองในการประชุมฯได้แก่ ร่างปฏิญญาฮาวานาว่าด้วยความท้าทายในปัจจุบันต่อการพัฒนา: บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Havana Declaration on Current Development Challenges: the Role of Science,Technology and Innovation) ซึ่งกลุ่ม 77 และจีนได้เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว ผ่านคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก 7. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีนและสัญชาติคาซัคสถาน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้ ?สาธารณรัฐประชาชนจีน? และ ?สาธารณรัฐคาซัคสถาน? เป็นรายชื่อประเทศ ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยมีเงื่อนไขให้มีผลใช้บังคับชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัศสถานในภาพรวม โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสองประเทศที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเปียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อนึ่งกระทรวงมหาดไทยร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ด้วยแล้ว 3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคง กำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวมหาดไทยฉบับนี้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้ 1. เรื่องเดิม 1.1 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว ด้วยการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ผ.30) อันเป็นไปตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยปัจจุบันมีรายชื่อประเทศจำนวน 57 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งล่าสุดคือการเพิ่มราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย 1.2 กรณีสาธารณรัฐประชาชนจีน นักท่องเที่ยวซาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลักของไทย ซึ่งก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในปี 2566 แม้สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงมากและนับเป็นเพียงโรคประจำถิ่นแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าเป้าหมายที่หน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ไว้ที่ 4.3 ล้านคน (ปรับลดจาก 5.3 ล้านคน) โดยมีเพียงประมาณ 2 ล้านคน (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566) 1.3 กรณีสาธารณรัฐคาซัคสถาน นักท่องเที่ยวชาวคาซัคสถานเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดใหม่ของไทย โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวคาชัคสถานมายังประเทศไทยประมาณ 100,000 คน (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566) 1.4 การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยมีเป้าหมายจากการท่องเที่ยวในภาพรวมไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566) 2. สาระสำคัญ 2.1 ปัจจุบันผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางชาวจีนและชาวคาซัคสถานสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (รหัส TR) จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งจะสามารถพำนักในราชอาณาจักรได้ 60 วัน และขอขยายระยะเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อีก 30 วัน รวมทั้งสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA) โดยสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 15 วัน ทั้งนี้ ในกรณีชาวจีนที่เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นการขอรับการตรวจลงตราผ่านระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) 2.2 ทั้งชาวจีนและชาวคาซัคสถานที่ประสงค์มาท่องเที่ยวในราชอาณาจักร ยังไม่ใด้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว จึงยังจำเป็นที่จะต้องขอรับการตรวจลงตราตามนัยข้อ 2.1 8. เรื่อง การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธสารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับการพำนักระยะสั้นแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับการพำนักระยะสั้นแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว รวมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงกรต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ 1. ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุใช้ได้และออกให้นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ในการเดินทางเข้าแวะผ่าน และพำนักอยู่ในดินแดนที่กำหนดของอีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับการพำนักอย่างต่อเนื่องหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง รวมระยะเวลาพำนักไม่เกิน 90 (เก้าสิบ) วัน ตลอดระยะเวลา 180 (หนึ่งร้อยแปดสิบ) วัน นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่ดินแดนที่กำหนดของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเหล่านั้นจะไม่ทำงานแม้ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง 2. คนชาติของภาคีแต่ละฝ่ายที่ถือหนังสือเดินทางราชการต้องได้รับการตรวจลงตราสำหรับการพำนักหนึ่งครั้งหรือมากกว่า สำหรับระยะเวลาพำนักเกินกว่าที่ได้ระบุไว้ในข้อ 1 3. ภาคีแต่ละฝ่ายอาจยกเลิกความตกลงนี้ได้เมื่อใดก็ตาม โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง 90 (เก้าสิบ) วัน ก่อนการยกเลิกมีผล โดยผ่านช่องทางการทูต 4. ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถระงับการบังคับใช้ความตกลงฉบับนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน การระงับและการยกเลิกการระงับ จะต้องแจ้งผ่านช่องทางการทูต โดยความตกลงนี้จะระงับการบังคับใช้ เมื่อได้รับการแจ้งล่วงหน้า 15 (สิบห้า) วัน 5. ความตกลงฉบับนี้อาจถูกแก้ไข และเพิ่มเติมด้วยความเห็นชอบร่วมกันของคู่ภาคี โดยการจัดทำเป็นพิธีสารแยก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้ 6. ความตกลงฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นโดยมีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้สองปี โดยต่ออายุได้โดยการจัดทำเป็นหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างภาคีทั้งสองฝ่ายอย่างชัดแจ้ง ภายในระยะเวลาสามเดือนก่อนความตกลงจะหมดอายุ 7. ความตกลงฉบับนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันแรกของเดือนที่สองภายหลังได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายผ่านช่องทางการทูตยืนยันว่าได้ดำเนินการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นสำหรับการมีผลบังคับใช้เสร็จสิ้นแล้ว 9. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ร่างปฏิญญาทางการเมือง และร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (The 78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Summit: SDG Summit) และร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Final Declaration and Measures to Promote the Entry into Force of the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างเอกสารทั้งสี่ฉบับในส่วนที่มีใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขออนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณและดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก 2. เห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Summit: SDG Summit) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และประกาศความมุ่งมั่นของไทยบนพื้นฐานของร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3. เห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Conference on Facilitating the Entry into Force of the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty - CTBT Article XIV Conference) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ สาระสำคัญ 1. ร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุม UNGA78 ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตามร่างระเบียบวาระการประชุม UNGA78 ซึ่งประกอบด้วย 177 ระเบียบวาระ ภายใต้ 9 หมวด ได้แก่ 1) หมวด A การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติและผลการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง 2) หมวด B การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 3) หมวด C การพัฒนาในทวีปแอฟริกา 4) หมาด D การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 5) หมวด E การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 6) หมวด E การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ 7) หมวด G การลดอาวุธ 8) หมวด H การควบคุมยาเสพติด การป้องกันอาชญากรรมและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศทุกรูปแบบ และ 8) หมวด I การบริหารองค์การและอื่น ๆ 2. ร่างปฏิญณาทางการเมืองของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัตนาที่ยั่งยืน(SDG summit) เป็นผลจากกระบวนการเจรจาระหว่างคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก โดยร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำ มีสาระสำคัญกล่าวถึงการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ ตลอดจนการดำเนินการในการขจัดความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ ความยากจน วิกฤตด้านอาหาร ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงผลพวงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 3. ร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ครอบคลุมประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงกับหมุดหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ในสามหัวข้อหลัก ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายต่าง ๆ อาทิ (1) เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (2) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (3) เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และ (4) เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ จัดให้มีพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เสถียร และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เวียนเอกสารดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมพิจารณาด้วยแล้ว 4. ร่างปฏิญญา CTBT Article XIV Conference มีพื้นฐานจากร่างปฏิญญาฯ ฉบับปี ค.ศ. 2021 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ให้ไทยร่วมรับรอง โดยมีสาระสำคัญ (1) ย้ำความสำคัญของ CTBT ในฐานะกลไกพหุภาคีหลักของระบอบการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความจำเป็นเร่งด่วนของการมีผลใช้บังคับของ CTBT (2) แสดงความยินดีที่มีรัฐผู้ลงนามและให้สัตยาบันเพิ่มขึ้น (3) สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty - CTBTO) เพื่อให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้อง และ (4) จำกัดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ อยู่ระหว่างการเจรจาของประเทศต่าง ๆ แต่งตั้ง 10. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบให้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม จำนวน 174 คณะ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และหลังจากนั้นให้คณะกรรมการดังกล่าว จำนวน 174 คณะ สิ้นสุดลง 2. ในกรณีที่ส่วนราชการใดพิจารณาเห็นว่าคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวคณะใดยังคงมีภารกิจสำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะนั้น ๆ ขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันแล้วส่งไปยัง สลค. โดยด่วน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 (เรื่อง แนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล) อย่างเคร่งครัด และหากเป็นกรณีที่มีการเสนอแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่จะเสนอแต่งตั้งด้วย ให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องระบุชื่อ/ชื่อสกุล และตำแหน่ง (ถ้ามี) ของบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้ 2.1 แบบสรุปประวัติของผู้ที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนั้น ๆ 2.2 แบบตรวจสอบประวัติบุคคลเพื่อประกอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวข้างต้นให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และไม่ต้องออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีหรือของส่วนราชการเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก สาระสำคัญของเรื่อง โดยที่คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีชุดเดิม จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 6) เรื่องเสร็จที่ 511/2533 ซึ่งได้พิจารณาเรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการการเมือง โดยมีความเห็นว่า คณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งขึ้น หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยมิใช่เป็นคณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามระเบียบปฏิบัติราชการประจำนั้น เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุด และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดินไปเมื่อใด คณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวย่อมพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย โดยจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่เช่นเดียวกัน จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวจึงส่งผลให้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม จำนวน 174 คณะ สิ้นสุดลง ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมแต่งตั้งไว้ ซึ่งคณะกรรมการบางคณะยังมีภารกิจสำคัญและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป สลค. จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้ และเห็นชอบแนวทางการเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 (เรื่อง แนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล) ที่เห็นชอบแนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ โดยกรณีการจัดตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหารให้ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย อย่างเคร่งครัดโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ระบบคณะกรรมการในกฎหมายที่ก่อให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ระบบคณะกรรมการโดยไม่จำเป็น 1.1 ทำให้คณะกรรมการเป็นผู้บริหารงานโดยตรงหรือรับผิดชอบต่อการบริหารงานโดยตรง เว้นแต่เป็นผู้ควบคุมกำกับผู้บริหารในมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน 1.2 ทำให้คณะกรรมการมีหน้าที่หรืออำนาจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหรือคณะกรรมการอื่น 1.3 ทำให้การบริการประชาชนหรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดขั้นตอนมากขึ้นหรือเกิดความล่าช้า 1.4 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนมากร่วมเป็นกรรมการด้วย 1.5 ทำให้เกิดผลเป็นการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบ (accountability) ในผลของการกระทำได้โดยง่าย 1.6 เป็นการตัดอำนาจของคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการแทนคณะรัฐมนตรี 2. ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย เนื่องจากมติของคณะกรรมการจะมีผลผูกพันหน่วยงานที่มีผู้แทนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย หน่วยงานของรัฐจึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 2.1 ควรหลีกเลี่ยงการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เว้นแต่กฎหมายนั้นเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญหรือนโยบายระดับชาติ 2.2 กรรมการโดยตำแหน่งให้กำหนดเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่จำเป็นต้องมีกรรมการดังกล่าว ควรกำหนดเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการนั้นโดยตรง 2.3 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้กำหนดเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่จำเป็นต้องมีกรรมการดังกล่าว ควรกำหนดเฉพาะด้านที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการนั้นโดยตรง 3. การแต่งตั้งกรรมการต้องไม่แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีชุดเดิม ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2566 ประกอบด้วย 25 ส่วนราชการ รวม 174 คณะกรรมการ ดังนี้ กระทรวงการต่างประเทศ 49 คณะ กระทรวงกลาโหม 19 คณะ กระทรวงการคลัง 1 คณะ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3 คณะ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3 คณะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10 คณะ กระทรวงคมนาคม 6 คณะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4 คณะ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5 คณะ กระทรวงพาณิชย์ 4 คณะ กระทรวงมหาดไทย 10 คณะ กระทรวงยุติธรรม 1 คณะ กระทรวงแรงงาน 5 คณะ กระทรวงวัฒนธรรม 10 คณะ กระทรวงศึกษาธิการ 15 คณะ กระทรวงสาธารณสุข 10 คณะ กระทรวงอุตสาหกรรม 4 คณะ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2 คณะ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2 คณะ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4 คณะ สำนักงาน ก.พ. 2 คณะ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 1 คณะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 คณะ สำนักงานอัยการสูงสุด 1 คณะ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 1 คณะ 11. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ 12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 1. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2. นายธนรัช จงสุทธนามณี ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 3. นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2. นายวัลลภ รุจิรากร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายกองตรี พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2. นายปัญญา ชวนบุญ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) 3. นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4. นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 1. นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2. นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการแต่งตั้ง นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 1. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2. นาวาอากาศตรี พลเทพ สุนทโร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายสมคิด เชื้อคง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 2. นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 3. นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 4. นายชัย วัชรงค์ ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้ 1. นายมานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3. นายณัฏฐ์พัฒน์ รัฐผไท ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง คือ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 22. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอเลื่อน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี (ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอการแต่งตั้ง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2. นายกิตติ เชาวน์ดี ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2. นายวิศรุต ปู่เพ็ง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3. นายนพ ชีวานันท์ ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4. นายพิษณุ พลธี ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 29. เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ 1. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ 1.1 นายภูมิธรรม เวชยชัย 1.2 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 1.3 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 1.4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 1.5 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 1.6 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 2. ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน 30. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 31. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 228/2566 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 228/2566 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 กันยายน 2566 นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 48 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ส่วนที่ 1 คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี 1. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ 1.1 นายภูมิธรรม เวชยชัย 1.2 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 1.3 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 1.4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 1.5 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 1.6 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 2. ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ส่วนที่ 2 นายกรัฐมนตรีมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่งไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ ลำดับที่ รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนกันตามลำดับ 1 นายภูมิธรรม เวชยชัย 1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 2. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 2 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 1. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 3 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2. พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล 1. พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 2. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 5 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 1. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 2. นายภูมิธรรม เวชยชัย 6 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย 2. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส่วนที่ 3 นายกรัฐมนตรีมอบหมายและมอบอำนาจให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มี ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนกันตามลำดับ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด 1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 2. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป 32. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 กันยายน 2566 นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และกำกับดูแลแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ส่วนที่ 1 นิยาม ในคำสั่งนี้ ?กำกับการบริหารราชการ? หมายความว่า กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินของส่วนราชการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้ส่วนราชการชี้แจงแสดงความคิดเห็นหรือรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรือ การปฏิบัติงาน สั่งสอบสวนข้อเท็จจริง ตลอดจนอนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และอนุมัติ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ที่ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีอนุญาตหรืออนุมัติเรื่องต่าง ๆ ของส่วนราชการในกำกับการบริหารราชการไปก่อนได้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ ?สั่งและปฏิบัติราชการ? หมายความว่า สั่ง อนุญาต หรืออนุมัติให้ส่วนราชการ หรือข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ ปฏิบัติราชการหรือดำเนินการใด ๆ ได้ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชา รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ?กำกับดูแล? หมายความว่า กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสั่งให้รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการ ส่วนที่ 2 1. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) 1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.1.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.1.2 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 1.1.3 กระทรวงพาณิชย์ 1.1.4 กระทรวงสาธารณสุข 1.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.2.1 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 1.2.2 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 1.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 1.3.1 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) 1.3.2 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1.3.3 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1.3.4 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 1.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 1.1 ? ข้อ 1.3 ยกเว้น 1.4.1 เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย 1.4.2 การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์ 1.4.3 การแต่งตั้ง ในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ 1.4.4 การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล 1.4.5 การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี 1.4.6 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ 1.4.7 เรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม ส่วนที่ 3 2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) 2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.1.1 กระทรวงคมนาคม 2.1.2 กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ) 2.1.3 กรมประชาสัมพันธ์ 2.1.4 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 2.1.5 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2.1.6 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รวมทั้งราชการของราชบัณฑิตยสภา) 2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่ง และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.2.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.2.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2.2.3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2.2.4 สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และ การสร้างความสามัคคีปรองดอง 2.2.5 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใน ภาครัฐ 2.2.6 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.3 การดำเนินคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครองกรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี 2.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 2.1 - ข้อ 2.2 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 - ข้อ 1.4.7 ส่วนที่ 4 3. รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) 3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 3.1.1 กระทรวงการต่างประเทศ 3.1.2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3.1.3 กระทรวงวัฒนธรรม 3.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่ง และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 3.2.1 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 3.2.2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3.2.3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ 3.2.4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3.3 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 3.1 - ข้อ 3.2 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 - ข้อ 1.4.7 ส่วนที่ 5 4. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) 4.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 4.1.1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4.1.2 กระทรวงมหาดไทย 4.1.3 กระทรวงแรงงาน 4.1.4 กระทรวงศึกษาธิการ 4.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ - สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 4.3 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 4.1 - ข้อ 4.2 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 - ข้อ 1.4.7 ส่วนที่ 6 5. รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) 5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 5.1.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5.1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.2 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนัก นายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 5.1 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณี ในข้อ 1.4.1 - ข้อ 1.4.7 ส่วนที่ 7 6. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) 6.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 6.1.1 กระทรวงพลังงาน 6.1.2 กระทรวงอุตสาหกรรม 6.2 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 6.1 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณี ในข้อ 1.4.1 - ข้อ 1.4.7 ส่วนที่ 8 7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) 7.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 7.1.1 กรมประชาสัมพันธ์ 7.1.2 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 7.1.3 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 7.1.4 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รวมทั้งราชการของราชบัณฑิตยสภา) 7.2 การมอบหมายให้กำกับรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ - บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 7.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ 7.3.1 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) 7.3.2 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) 7.3.3 สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ส่วนที่ 9 8. รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี หรือประกาศเกี่ยวกับเรื่องของหน่วยงานนั้น ๆ ดังนี้ 8.1 การแต่งตั้งบุคคลหรือกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น 8.2 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศ ยกเว้น เป็นเรื่องระดับผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐต่างประเทศ 8.3 การให้ความเห็นชอบในการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราจากต่างประเทศ 8.4 การประกาศภาพเครื่องหมายราชการ 9. รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจปฏิบัติแทนนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการ ในหน่วยงานที่สั่งและปฏิบัติราชการ 10. ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการใด เป็นประธาน อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงของส่วนราชการนั้นด้วย ยกเว้น อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน 11. ราชการที่รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ หากรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นส่วนรวม หรือต้องสั่งการแก่หลายส่วนราชการหรือหลายรัฐวิสาหกิจแต่บางส่วนมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่กำกับการบริหารราชการของรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยสั่งการ 12. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม 13. ในการปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรีบริหารราชการโดยมุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป