http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็น ของมูลนิธิจุฬาภรณ์) เศรษฐกิจ-สังคม 2. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 3. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุข (โครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติ บำราศนราดูร) 4. เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป กระทรวงยุติธรรม 5. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 6. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C 7. เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) วงเงิน 18,000 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 8. เรื่อง ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการ งบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทาง หลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 9. เรื่อง การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาต เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อ ทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้าง แรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ 10. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ และส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงาน 11. เรื่อง รายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะเสนอคำของบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 12. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับ รายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์) 13. เรื่อง การขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มี วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงมหาดไทย ต่างประเทศ 14. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการรับรองร่างแถลงการณ์ Statement of ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry to reduce the use of Harmful Agrochemicals to ensure Food Safety , Public Health, Occupational Safety and Environmental Protection แต่งตั้ง 15. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม) 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) 18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม)
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 27. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง
(สำนักนายกรัฐมนตรี)
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) 30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม) 31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) 32. เรื่อง การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (กระทรวงการคลัง) 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) 34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม) 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) 36. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ 37. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์) 38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง) 39. เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ 40. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รอง นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รอง ประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 41. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 254/2566 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค 42. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรี และสิทธิเด็กในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี
? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 1. มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 843 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (วันที่ 20 มีนาคม 2566) พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกกฎหมายที่ดินโดยไม่ต้องออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม และให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าอากรแสตมป์โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร โดยราคาประเมินของกรมที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 843 สำหรับใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอยู่ที่ 159,024,500 บาท และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ได้ว่าจ้างผู้ประเมินราคาภายนอกประเมินมูลค่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 843 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างอยู่ที่ 1,553,397,000 บาท 2. การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์ ตามข้อ 1. มีภาระที่จะต้องชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้ 2.1 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรในอัตราร้อยละ 3.3 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตามมาตรา 91/2 (6) ประกอบมาตรา 91/1 (4) มาตรา 91/5 (6) และมาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 2.2 มูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นผู้ออกใบรับตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28 (ข) ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาทของจำนวนเงินทุก 200 บาทหรือเศษของ 200 บาท เฉพาะกรณีจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป 3. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นองค์การสาธารณกุศลตามข้อ 3 (80) ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรและมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และมูลนิธิจุฬาภรณ์จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 4. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 และเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เห็นควรยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์ จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ 5. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยรายได้ภาษีอากรจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อย่างไรก็ดี หากมิได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ จะสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 59,029,086 บาท แต่จะช่วยสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศร่วมกับสถาบันวิจัยของมูลนิธิจุฬาภรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัวและมีความเป็นอิสระทั้งทางวิชาการและทางการบริหารงาน สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์ (ที่ดินโฉนดเลขที่ 843 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566) สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป เศรษฐกิจ-สังคม 2. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สศช. รายงานว่า 1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2566 สรุปได้ ดังนี้ 1.1 สถานการณ์ด้านแรงงาน มีผู้มีงานทำจำนวน 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 เนื่องจากการขยายตัวของสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวเล็กน้อยจากปี 2565 เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่วนค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างในภาพรวมและภาคเอกชน อยู่ที่ 15,412 และ 14,023 บาทต่อคนต่อเดือน และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น โดยลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 ซึ่งมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.3 แสนคน ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ และ (3) ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมือเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่อ การอุปโภคและบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) หนี้เสียและความเสี่ยงของ การเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และ (3) การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง 1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.76 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) สุขภาพของคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และ (2) โรคคอมพิวเตอร์วิชัน ซินโดรม 1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนทำให้ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้อง เฝ้าระวัง ได้แก่ (1) ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ (2) การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี 1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 88,719 คดี ลดลงร้อยละ 17.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีคดีอาญารวม 104,108 คดี) โดยมีคดียาเสพติดลดลงแต่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนด้านอุบัติเหตุทางถนน (มีผู้ประสบภัยรวม 198,685 ราย) ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีผู้ประสบภัยรวม 208,542 ราย) ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การหลอกลวงทางโทรศัพท์ (2) การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนที่ใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการและ (3) การบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว 1.6 การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 โดยเป็นการร้องเรียนด้านสัญญามากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติลดลงร้อยละ 40.5 โดยเป็น การร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด และ (2) ประชาชนบางส่วนถูกนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว 2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ 2.1 การย้ายถิ่น1ของประชากรช่วง COVID-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงปี 2563-2565 ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นของประชากรซึ่งเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานไปยังพื้นที่อื่นเนื่องจากโรงงานและสถานประกอบการปิดกิจการ และจากข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรระหว่างปี 2562-2565 พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น โดยมีลักษณะการย้ายออกจากพื้นที่/จังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดงาน เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีการย้ายเข้าในพื้นที่ส่วนภูมิภาค คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และในปี 2565 จากประชากรจำนวน 2.1 ล้านคน ที่มีการย้ายมาอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี พบว่า ประชากรจำนวน 1.1 ล้านคน ต้องการอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันตลอดไปหรือเป็นประชากรย้ายถิ่นถาวร ขณะที่ประชากรอีก 1 ล้านคน เป็นประชากรย้ายถิ่นชั่วคราวและยังไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่า (1) การคาดหวังให้แรงงานเคลื่อนย้ายช่วงโควิด-19 กลับมาชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (2) แรงงานที่กลับภูมิลำเนาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น (3) แรงงานที่เคลื่อนย้ายในช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ส่งผลให้ครอบครัวของแรงงานขาดหลักประกันทางสังคม และ (4) การคืนถิ่นช่วยสร้างผลกระทบที่ดีเชิงสังคม เช่น ช่วยให้เด็กได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น ทั้งนี้ มีแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การเก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (2) การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่น (3) การส่งสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม และ (4) การขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น 2.2 จัดการซากรถยนต์อย่างไรเมื่อรถ EV มาแทนที่ ปัจจุบันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์สันดาปถูกแทนที่และมีการเลิกใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2565 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานกว่า 2.7 แสนคัน ขณะที่รถยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบันมากกว่า 5 ล้านคัน เป็นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ดังนั้น การมีซากรถยนต์หรือรถเลิกใช้งานเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมซึ่งการจัดการซากรถยนต์ในไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะการจัดการของเสียจากกระบวนการรื้อถอดชิ้นส่วน/การจัดการของเสียอันตราย การแยกส่วนประกอบโดยชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชนและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ถูกวิธีของโรงงานนอกระบบ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายเป็นภาระของท้องถิ่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการจัดการซากรถยนต์บนหลักการของการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมให้มีสถานประกอบการจัดการซากรถยนต์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน (2) ผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซากรถยนต์ให้กับผู้บริโภคส่งผลให้ต้นทุนการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น และ (3) การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเรื่องการผลิตรถยนต์ การจดทะเบียนรถยนต์ รวมถึงการจัดการซากรถยนต์และของเสียอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว 3. LGBTQ+ :หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลจาก LGBT Capital2 และ Ipsos3 ในปี 2566 คาดว่าไทยจะมีจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 4.2 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีการผลักดันกฎหมายส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังคงพบปัญหาการเลือกปฏิบัติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายด้านโดยเฉพาะทางด้านอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างการยอมรับและการสนับสนุนตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม เป็นต้น 3. บทความ ?หนี้สินคนไทย: ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร? การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและกระทบต่อการจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือน และครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลเครดิตบูโร4 ในไตรมาสหนึ่งปี 2566 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนกลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบว่า มีการก่อหนี้ประเภทอื่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ หนี้เพื่อการประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และหนี้ที่ไม่สามารถจำแนกประเกทได้ ซึ่งกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี มีการก่อหนี้ประเภทนี้มากที่สุดและเป็นกลุ่มอายุที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ขณะที่กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า (1) หนี้จำนวนมากยังไม่ได้นำเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร ส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ (2) หนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสูงกว่าหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ (3) กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้นและกลุ่มผู้สูงอายุ และ (4) หนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมีแนวทางในการดำเนินการ ได้แก่ (1) ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร (2) กำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด (3) หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง (4) ส่งเสริมการปลูกฝังความรู้เรื่องทางการเงินและวินัยทางการเงินที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย และ (5) ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน ?_______________________________________ 1 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กำหนดนิยามของ ?การย้ายถิ่น? หมายถึง การย้ายสถานที่ที่อยู่อาศัยจากเขตเทศบาลอื่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อื่นซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยครั้งสุดท้ายมายังเทศบาลอื่นหรือ อบต. อื่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนเขตเทศบาลหรือ อบต. เนื่องจากการขยายเขตเทศบาลหรือแยกหมู่บ้านโดยที่บุคคลหรือครัวเรือนนั้นยังอยู่ที่เดิมและการย้ายสถานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาไม่นับว่าเป็นการย้ายถิ่น 2 LGBT Capital (เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินสำหรับกลุ่มเพศทางเลือกหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ของสหราชอาณาจักร 3 อิปซอสส์ (Ipsos) เป็นบริษัทด้านการสำรวจและวิจัยตลาดระดับโลกของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งได้จัดทำผลสำรวจออนไลน์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22,514 คน อายุระหว่าง 16-74 ปี 4 เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นบริษัทกลางที่ทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อของบุคคล 3. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุข (โครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร (National Center for Emerging and Infectious Diseases : NCEID) วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,229,843,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 445,968,600 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 1,783,874,400 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ? 2570 ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญ โครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร (National Center for Emerging & Infectious Diseases : NCEID) เป็นโครงการก่อสร้างอาคารหอผู้ป่วยแยกโรค จำนวน 11 ชั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านโรคและภัยสุขภาพ เพิ่มคุณภาพของการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ - อุบัติซ้ำ และโรคดื้อยารักษายาก ให้สามารถเข้าถึงบริการการดูแลรักษาอย่างปลอดภัย ลดอัตราป่วย อัตราตาย และให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อสำคัญได้เพิ่มขึ้นอีก 200,000 ราย/ปี รวมทั้งยกระดับศักยภาพของประเทศในการตอบโต้และรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยโครงการตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ของสถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 2.8 ไร่ พื้นที่ใช้สอยโดยประมาณ 62,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 11 ชั้น แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนปฏิบัติการรองรับโรคติดต่อร้ายแรงและฉุกเฉิน ประกอบด้วย แผนกฉุกเฉิน ส่วนให้บริการผู้ป่วยนอก ส่วนรังสีวิทยา ห้องตรวจพิเศษ และห้องหัตถการ 2. ส่วนหอผู้ป่วยใน ประกอบด้วย หอผู้ป่วยในที่มีทั้งโครงสร้างและระบบการจัดการอากาศ หอผู้ป่วยแยกโรคศักยภาพสูง (High Level Isolation Unit: HLIU) หอผู้ป่วยรวม (Cohort Ward) และหอผู้ป่วยแยกโรคแบบห้องเดี่ยว (Isolation Ward) 3. ส่วนสนับสนุนบริการ ประกอบด้วย ศูนย์กลางงานปราศจากเชื้อ หน่วยงานเครื่องมือแพทย์ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ศูนย์สารสนเทศ และสำนักงานพัฒนาวิชาการด้านโรคติดเชื้อ 4. อาคารจอดรถ ประมาณ 300 คัน (ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เช่น เกิดการระบาดของโรค สามารถขยายรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 450 ราย) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 960 วัน (จำนวน 32 งวดงาน) แหล่งเงินและวงเงินลงทุน ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ? 2569 รวมทั้งสิ้น 2,229,843,000 บาท ทั้งนี้ โครงการได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานแสดงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและมาตรฐานซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล 4. เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงยุติธรรม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 3 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 5,004,197,200 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,000,835,900 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 4,003,343,300 บาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้ 1. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,743,288,600 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 348,657,800 บาท (ปัดเศษ) ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,394,630,800 บาท 2. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,616,560,600 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 323,312,200 บาท (ปัดเศษ) ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,293,248,400 บาท 3. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดชัยนาท พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,644,330,00 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 328,866,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,315,464,000 บาท ทั้งนี้ ยธ. แจ้งว่า การก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่จะช่วยให้เรือนจำทั้ง 3 แห่ง สามารถควบคุมและป้องกันการหลบหนีของผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงจะช่วยให้เรือนจำมีสถานที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปมีความรู้ความสามารถเลี้ยงดูตนเองด้วยอาชีพสุจริตได้ โดยไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม นอกจากนี้ ยังทำให้เรือนจำมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและน้ำเสีย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษรบกวนชุมชนด้วย 5. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเสนอรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 24,032,304,900 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณ ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ อว. ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของ อว. จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 24,032,304,900 บาท เป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 21,944,725,800 บาท และเงินนอกงบประมาณสมทบ จำนวน 2,087,579,100 บาท ดังนี้ 1. โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2567 ? 2570) 2. โครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต (พ.ศ. 2567 ? 2570) 3. โครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2567 ? 2572) 4. โครงการผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ระยะที่ 1 พ.ศ. 2567 ? 2571 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์/สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5. โครงการพัฒนาและผลิตยา เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ (พ.ศ. 2567 ? 2576) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์/สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 6. เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงการคลังนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พื้นที่โซน C เพื่อเป็นค่าเช่าอาคารให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เป็นเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่า 390 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน หรือปีละ 2,386,800 บาท และปรับปรุงอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ของอัตราค่าเช่าเดิมทุก 3 ปี รวม 30 ปี วงเงินรวมทั้งสิ้น 98,931,293,982 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 7. เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) วงเงิน 18,000 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท. จะดำเนินการ กู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว สำหรับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับเงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 18,000 ล้านบาท 8. เรื่อง ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม (คค.) นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 53 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 146,803.4450 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 24,605.689 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญ คค. โดย ทล. ทช. ทย. และ รฟม. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 53 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 - 2576 รวมวงเงินทั้งสิ้น 146,803.4450 ล้านบาทโดยวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 24,605.6890 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สรุปได้ดังนี้ 1. ทล. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 - 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 91,643.4450 ล้านบาท1 โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 42 โครงการ วงเงินรวม 83,957.7053 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 7,685.7397 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย และสามารถรองรับปริมาณการจราจรในปัจจุบันและอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ ทล. มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 18,328.6890 ล้านบาท 2. ทช. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 3 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2567 - 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,510 ล้านบาท2 โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ ทช. มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 902 ล้านบาท 3. ทย. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 2 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2567 - 2570 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ ทย. มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 620 ล้านบาท 4. รฟม. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 2 รายการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ปี 2566 - 2576 วงเงินรวมทั้งสิ้น 47,550 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ทั้งนี้ รฟม. มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 4,755 ล้านบาท 1 การขอตั้งงบประมาณปี 2567 ได้มีการเพิ่มโครงการประเภททางแยกต่างระดับ จำนวน 1 โครงการ ส่งผลให้วงเงินเพิ่มขึ้นจากที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติ (24 มกราคม 2566) จำนวน 2,380 ล้านบาท 2 การขอตั้งงบประมาณปี 2567 ได้มีการปรับลดวงเงินโครงการก่อสร้างถนนใหม่ จาก 1,800 ล้านบาท เป็น 1,600 ล้านบาท ส่งผลให้วงเงินลดลงจากที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติ (24 มกราคม 2566) 200 ล้านบาท 9. เรื่อง การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ เรื่อง การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้ 1. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ในอัตรา 500 บาท โดยมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 4 ปี ซึ่ง มท. ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ?. ตามหลักการดังกล่าว 2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว 3. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยทั่วถึง เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ 10. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงาน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง) เสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ดังนี้ 1. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และร่างประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ได้แก่ 1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ... 1.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 (เดิม 30 กันยายน 2566) และหากดำเนินการขออนุญาตทำงานแล้วเสร็จ จะสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 2. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนด่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี และ ร่างประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ได้แก่ 2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ... 2.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2566 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 3. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อ ความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 กลุ่มคนต่างด้าวตามแนวทาง - คนต่างด้าวซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ตามข้อ 2.1 ขั้นตอนการดำเนินการ - ผ่อนผันให้คนต่างด้าวสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 (เดิมอยู่ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566) - ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1. คนต่างด้าวดำเนินการตรวจโรคต้องห้าม และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือทำประกันสุขภาพ 2. นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด 3. คนต่างด้าวดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษญ์บุคคล และตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด 4. คนต่างด้าวดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์การบริหารทะเบียนภาค สาขาจังหวัด - เมื่อคนต่างด้าวและนายจ้างดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ติดตาม (บุตร) ของคนต่างด้าว - บุตรของคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งได้แจ้งรายชื่อไว้แล้ว มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าวซึ่งเป็นบิดาหรือมารดา - หากต่อมาบุตรมีอายุครบ 18 ปี และประสงค์จะทำงานในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ให้บุตรอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก 60 วันนับแต่มีอายุครบ 18 ปี เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักร แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี กลุ่มคนต่างด้าวตามแนวทาง - คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี และคนต่างด้าวตาม MOU ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรต่อไปตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 2.2 ซึ่งวาระการจ้างงานหรือระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ขั้นตอนการดำเนินการ - ผ่อนผันให้คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยหากคนต่างด้าวประสงค์จะทำงานไปพลางก่อนในระยะเวลาดังกล่าว ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด - ในกรณีที่คนต่างด้าวประสงค์จะทำงานในราชอาณาจักรต่อไป ให้นายจ้างดำเนินการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานตาม MOU ต่อไป 11. เรื่อง รายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 รายการ เพื่อเป็นค่าเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 รายการ และจัดหารถจักรยานยนต์ พร้อมอุปกรณ์ 1 รายการ จำนวนรวม 15,332 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,856,442,800 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 446,888,000 บาท และส่วนที่เหลืออีก จำนวน 2,409,554,800 บาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2571 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอดังนี้ 1. โครงการเช่ารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ (ทดแทน) เพื่อใช้ในภารกิจงานสืบสวนสะกดรอยติดตามจับกุมคนร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนในสถานีตำรวจ 890 คัน วงเงิน 1,010,755,200 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,750,400 บาท และส่วนที่เหลืออีก จำนวน 933,004,800 บาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2571 2. โครงการรถจักรยานยนต์งานสายตรวจ พร้อมอุปกรณ์ (ทดแทน) ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจงานสายตรวจในสถานีตำรวจทั่วประเทศ 14,442 คัน วงเงิน 1,845,687,600 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 369,137,600 บาท และส่วนที่เหลืออีก จำนวน 1,476,550,000 บาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 12. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 โครงการ 7 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 13,834,253,400 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2,766,850,700 บาท และผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 อีกจำนวน 11,067,402,700 บาท ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดังนี้ 1. โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ รายการระบบส่งน้ำสายซอย พร้อมอาคารประกอบพื้นที่ฝั่งซ้าย สัญญาที่ 1 วงเงินทั้งสิ้น 2,050,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 410,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,640,000,000 บาท 2. โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน รายการเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น วงเงินทั้งสิ้น 2,441,653,400 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 488,330,700 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,953,322,700 บาท 3. โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 3 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 6,492,600,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,298,520,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 5,194,080,000 บาท ประกอบด้วย 3.1 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา วงเงินทั้งสิ้น 2,070,100,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 414,020,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,656,080,000 บาท 3.2 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา (สัญญาที่ 2) วงเงินทั้งสิ้น 2,106,100,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 421,220,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,684,880,000 บาท 3.3 รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา (สัญญาที่ 3) วงเงินทั้งสิ้น 2,316,400,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 463,280,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,853,120,000 บาท 4. โครงการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ จังหวัดปทุมธานี รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ จังหวัดปทุมธานี (สัญญาที่ 1) วงเงินทั้งสิ้น 1,500,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 300,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 จำนวน 1,200,000,000 บาท 5. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ จังหวัดสระบุรี รายการกำแพงป้องกันน้ำท่วมพร้อมอาคารประกอบ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สัญญาที่ 1) วงเงินทั้งสิ้น 1,350,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 270,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,080,000,000 บาท 13. เรื่อง การขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของ 3 หน่วยงาน จำนวน 4 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 10,636.2438 ล้านบาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เรื่อง การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมแนวทางการจัดงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้ 1. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 วงเงินทั้งสิ้น 3,344.3738 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 668.8748 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 2,675.4990 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 2. การประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา - ภูเก็ต ระยะที่ 1 อำเภอเมือง - ตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต วงเงินทั้งสิ้น 3,269.8700 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณ จำนวน 2,452.4025 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 490.4805 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2569 จำนวน 1,961.9220 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 817.4675 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินกู้ภายในประเทศ หรือเงินรายได้สมทบตามความเหมาะสมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3. กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,022.0000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินโครงการระหว่างเงินอุดหนุนรัฐบาลกับเงินรายได้กรุงเทพมหานคร ได้แก่ 3.1 โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,718.0000 ล้านบาท 3.2 โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 วงเงินทั้งสิ้น 2,304.0000 ล้านบาท ทั้ง 2 รายการดังกล่าวข้างต้น เห็นสมควรให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่เกี่ยวข้องในการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินการในแต่ละโครงการประกอบการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อย่างชัดเจนด้วย ต่างประเทศ 14. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการรับรองร่างแถลงการณ์ Statement of ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry to reduce the use of Harmful Agrochemicals to ensure Food Safety , Public Health, Occupational Safety and Environmental Protection คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ว่าด้วยการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายเพื่อประกันความปลอดภัยด้านอาหาร สาธารณสุขความปลอดภัยในการทำงาน และปกป้องสิ่งแวดล้อม (Statement of ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry to reduce the use of Harmful Agrochemicals to ensure Food Safety , Public Health, Occupational Safety and Environmental Protection) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สาระสำคัญ ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมดำเนินการ ดังนี้ 1. ระบุสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายสูงตามคำจำกัดความของหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยการจัดการสารกำจัดศัตรูพืชของ FAO/MHO ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความเป็นอันตรายเฉียบพลันหรือเรื้อรังต่อสุขภาพในระดับสูง ตามระบบการจำแนกประเภทที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือระบบการจำแนกประเภท และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก หรือตามรายการในข้อตกลงหรือนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงหรือไม่สามารถรักษาให้หายได้โดยอิงจากการประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงโดยโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius) อาจได้รับการพิจารณาหรือจำแนกว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่ง 2. สนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านการจัดทำรายชื่อสารกำจัดศัตรูพืชเป็นอันตรายสูง (HHP) ที่จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 3. ทบทวนความต้องการการใช้ HHP เหล่านี้ หากเป็นไปได้ โดยวางมาตรการลดความเสี่ยงซี่งรวมถึงการจำกัดการใช้งาน (ประเภท และ/หรือ พื้นที่การใช้งาน) เพื่อลดการใช้ HHP ดังนั้น จึงลดการสัมผัส HHP ของเกษตรกรและผู้บริโภคให้เหลือน้อยที่สุด 4. ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เช่น การใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและลดความเสี่ยง 5. เพิ่มขีดความสามารถในประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการศัตรูพืชอย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย การใช้ผลิตภัณฑ์หรือแนวทางทางเลือกแทนสารกำจัดศัตรูพืช เช่น สารชีวภัณฑ์ และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ฯ เน้นความร่วมมือกันในการที่จะลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายสูงแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้การบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่งตั้ง 15. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1. องค์ประกอบ (1) นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ (2) รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ คนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (3) รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ คนที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (4) รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ คนที่ 3 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รองประธานกรรมการ คนที่ 4 ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (6) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ (นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ) (7) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) (8) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการ (9) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) (10) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ (11) ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ (12) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ (13) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ กรรมการ และสังคมแห่งชาติ (14) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ (15) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ (16) อัยการสูงสุด กรรมการ (17) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ (18) ประธานกรรมการสมาคม กรรมการ สถาบันการเงินของรัฐ (19) ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ (20) ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Wallet กรรมการ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง (21) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการคลัง กรรมการ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง (22) ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Blockchain กรรมการ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง (23) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการและเลขานุการร่วม (24) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการและเลขานุการร่วม (25) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ (26) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการ (27) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยเลขานุการ ที่ได้รับมอบหมาย (28) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ 2. หน้าที่และอำนาจ (1) กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (3) กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จและเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (4) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ (5) ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (6) รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน (7) กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น (9) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ (10) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวพยุง วงษ์น้อย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (วิจัยและพัฒนาโบราณคดี) (นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์) (นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวภคนันท์ ศิลาอาสน์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองงานนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นางพันพร โตวิริยะเวช ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พลตำรวจโท อภิรัต นิยมการ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายภุชงค์ วรศรี ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1) นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ 2) น.ส.ธนาพร จีนจะโปะ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายวิชัย ไชยมงคล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง กรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ 2. นางสาวรังสิมา รอดรัศมี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง 27. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย ตามข้อ 3 (1) ของความตกลงว่าด้วยธรรมนูญการจัดตั้งองค์กรร่วมฯ พ.ศ. 2533 และกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย พ.ศ. 2533 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 อนึ่ง สำหรับสมาชิกอื่น (ฝ่ายไทย) อีกหกคน ในองค์กรร่วมไทย ? มาเลเซีย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้คงองค์ประกอบเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอแต่งตั้ง นายเอกชัย เกษมสุขธวัช ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อทดแทนดำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 8 ราย ดังนี้ 1. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม 2. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม 3. นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม 4. นางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร) (ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม 5. นางจิรภา สินธุนาวา ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม 6. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 7. นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม 8. นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อทดแทน ผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 32. เรื่อง การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายชูฉัตร ประมูลผล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 2. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 3. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4. นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการและเพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2. นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 3. นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 4. นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 11 ราย ดังนี้ 1. นายธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3. นายพงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 4. นายยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 5. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข 6. นายณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 7. นางอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 8. นายภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข 9. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข 10. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข 11. นายพงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ (ด้านสาธารณสุข) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป 36. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้ 1. นายนวนิตย์ พลเคน พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง (แทนตำแหน่งเกษียณ) 2. นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง (แทนลำดับที่ 3) 3. นายพีรพันธ์ คอทอง พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมส่งเสริมการเกษตร (แทนตำแหน่งเกษียณ) 4. พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมหม่อนไหม (แทนตำแหน่งเกษียณ) 5. นายชูชาติ รักจิตร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมชลประทาน (แทนตำแหน่งเกษียณ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป 37. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียนในคราวเดียวกัน จำนวน 5 ราย ดังนี้ 1. แต่งตั้ง นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 2. แต่งตั้ง นายอนันต์ ดนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3. แต่งตั้ง นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 4. แต่งตั้ง นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5. แต่งตั้ง นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้โอน/ย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 13 ราย ดังนี้ 1. โอน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง 2. โอน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 3. โอน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 4. โอน นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง 5. ย้าย นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 6. โอน นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 7. โอน นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 8. โอน นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 9. โอน นายธิบดี วัฒนกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง 10. โอน นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 11. โอน นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 12. โอน นายธีรลักษ์ แสงสนิท ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง 13. โอน นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 39. เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการฝ่าย ต่าง ๆ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สปน. รายงานว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลจึงเห็นสมควรดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ) และเพื่อให้การดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในภารกิจด้านต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. นายกรัฐมนตรีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (คณะกรรมการอำนวยการฯ) มีองค์ประกอบและหน้าที่ ดังนี้ 1.1 องค์ประกอบ เช่น (1) ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษา (2) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (3) รองนายกรัฐมนตรีทุกท่านเป็นรองประธานกรรมการ (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย เป็นกรรมการ และ (4) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ 1.2 หน้าที่และอำนาจ เช่น (1) พิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ รวมทั้งอำนวยการและสั่งการให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (2) ให้ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นแทนการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ (3) ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณาการดำเนินงาน การประสานงาน ติดตาม เร่งรัด และขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยราชการในพระองค์ ตลอดจนพิจารณาดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่อาจจะเกิดขึ้น และ (4) แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม 2. คณะกรรมการอำนวยการฯ ตั้งแต่งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ จำนวน 7 คณะ ดังนี้ 2.1 คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ และรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาและดำเนินงานการจัดงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานศาสนพิธี งานพิธี งานโครงการ และงานกิจกรรมต่าง ๆ ของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2.2 คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ และรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาดำเนินงานการจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณาหลักเกณฑ์และกลั่นกรองความเหมาะสมการจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการและกิจกรรมดำเนินการ 2.3 คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาและดำเนินงานการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ การถ่ายทอดสดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานศาสนพิธี งานพิธี งานโครงการ และงานกิจกรรมต่าง ๆ ของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2.4 คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจรงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกรรมการ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาและดำเนินงานการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และจัดการจราจรในการจัดงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานศาสนพิธี งานพิธี งานโครงการ และงานกิจกรรมต่าง ๆ ของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ รวมทั้งพิจารณาและดำเนินงานการจัดการบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2.5 คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกรรมการและอธิบดีกรมศิลปากร เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาและจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณาหลักเกณฑ์และกลั่นกรองความเหมาะสมของการจัดทำหนังสือที่ระลึกร่วมงานเฉลิมพระเกียรติฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานเจ้าของหนังสือที่ระลึก 2.6 คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักแผนงานและกิจการพิเศษ สปน.เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาหลักเกณฑ์และกลั่นกรองรายละเอียดการขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2.7 คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ) เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักแผนงานและกิจการพิเศษ สปน. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น พิจารณาหลักเกณฑ์และกลั่นกรองความเหมาะสมของการเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อการประดับหรือประดิษฐานในสิ่งของต่าง ๆ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 241/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง รัฐบาลจึงเห็นสมควรดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศทุกประการ
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจดังนี้
1. องค์ประกอบ
1.1 ประธานรัฐสภา ที่ปรึกษา 1.2 ประธานศาลฎีกา ที่ปรึกษา 1.3 ประธานวุฒิสภา ที่ปรึกษา 1.4 นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 1.5 รองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน รองประธานกรรมการ 1.6 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ 1.7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรรมการ 1.8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ 1.9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ 1.10 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ 1.11 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ 1.12 เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการ 1.13 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรรมการ 1.14 เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรรมการ 1.15 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ 1.16 ปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการ 1.17 ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ 1.18 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ 1.19 ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ 1.20 ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรรมการ 1.21 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ กรรมการ
วิจัยและนวัตกรรม
1.22 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ 1.23 ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ 1.24 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ 1.25 ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ 1.26 ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ 1.27 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ 1.28 ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ 1.29 ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ 1.30 ปลัดกระทรวงแรงงาน กรรมการ 1.31 ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ 1.32 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ 1.33 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ 1.34 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ 1.35 ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการ 1.36 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรรมการ 1.37 ผู้บัญชาการทหารบก กรรมการ 1.38 ผู้บัญชาการทหารเรือ กรรมการ 1.39 ผู้บัญชาการทหารอากาศ กรรมการ 1.40 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ 1.41 ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการ 1.42 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรรมการ 1.43 อธิบดีกรมการศาสนา กรรมการ 1.44 อธิบดีกรมศิลปากร กรรมการ 1.45 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรรมการ 1.46 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กรรมการ 1.47 นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ กรรมการ 1.48 รองศาสตราจารย์ชัชพล ไชยพร กรรมการ 1.49 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการ 1.50 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย กรรมการและ
ผู้ช่วยเลขานุการ
1.51 ผู้อำนวยการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กรรมการและ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยเลขานุการ
2. หน้าที่และอำนาจ
2.1 พิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งอำนวยการและสั่งการให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2.2 ให้ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นแทนการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
2.3 ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พิจารณาการดำเนินงาน การประสานงาน ติดตาม เร่งรัด และขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยราชการในพระองค์ ตลอดจนพิจารณาดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2.4 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความเหมาะสม
2.5 ดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมาย ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) 1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
1.1.1 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 1.1.2 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 1.1.3 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1.1.4 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 1.1.5 คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 1.1.6 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 1.1.7 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 1.1.8 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 1.1.9 คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 1.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.2.1 คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ 1.2.2 คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ 1.2.3 คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย
เพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
1.2.4 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ 1.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 1.3.1 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 1.3.2 คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 1.3.3 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1.3.4 คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1.3.5 คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ 1.3.6 คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ 1.3.7 คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ 1.3.8 คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ 1.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.4.1 คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการพัฒนาเพื่อเสริม
ความมั่นคงของชาติ
1.4.2 คณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ 1.4.3 คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน 1.4.4 คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ 1.4.5 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 1.4.6 คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน 1.4.7 คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ 1.4.8 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 1.4.9 คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค 1.5 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 1.5.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1.5.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ 1.5.3 รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 1.5.4 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 1.6 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.6.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ
ระหว่างประเทศ
1.6.2 รองประธานกรรมการคนที่ 1 ในคณะกรรมการพัฒนาการค้า ระหว่างประเทศ ส่วนที่ 2 2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) 2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 2.1.1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.1.2 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก 2.1.3 คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี 2.1.4 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.2.1 คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย
สำนักนายกรัฐมนตรี
2.2.2 คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ 2.2.3 คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและ
บริการของประเทศ
2.2.4 คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ 2.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมาย ดังนี้ 2.3.1 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 2.3.2 คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.3.3 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ 2.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.4.1 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ 2.4.2 คณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ 2.4.3 คณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ 2.4.4 คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ 2.4.5 คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.4.6 คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรี แห่งชาติ 2.4.7 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ 2.4.8 คณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหาย และการพิสูจน์ คนนิรนามและศพนิรนาม 2.4.9 คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ 2.5 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 2.5.1 อุปนายกสภาลูกเสือไทย 2.5.2 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 2.6 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.6.1 รองประธานกรรมการคนที่ 1 ในคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ 2.6.2 กรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน 2.6.3 กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ส่วนที่ 3 3. รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) 3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 3.1.1 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3.1.2 คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 3.1.3 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 3.1.4 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 3.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 3.2.1 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม 3.2.2 คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน 3.2.3 คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม 3.2.4 คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง 3.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 3.3.1 คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ 3.3.2 คณะกรรมการเร่งรัดการปฏิบัติราชการ 3.3.3 คณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน 3.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 3.4.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.4.2 รองประธานกรรมการคนที่ 3 ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 3.4.3 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3.4.4 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก 3.4.5 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 3.4.6 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 3.5 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 3.5.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหาร
จัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
3.5.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ 3.5.3 รองประธานกรรมการคนที่ 1 ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน 3.5.4 รองประธานกรรมการคนที่ 2 ในคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ 3.5.5 กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3.5.6 กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ส่วนที่ 4 4. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) 4.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 4.1.1 สภานายกสภาลูกเสือไทย 4.1.2 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4.1.3 คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 4.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ - คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 4.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 4.3.1 คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน 4.3.2 คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ 4.3.3 คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 4.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 4.4.1 คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
แห่งชาติ
4.4.2 คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการประปาแห่งชาติ 4.4.3 คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 4.4.4 คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 4.4.5 คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ 4.4.6 คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ 4.4.7 คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 4.5 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 4.5.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 4.5.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก 4.5.3 รองประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ 4.5.4 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 4.6 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 4.6.1 รองประธานกรรมการคนที่ 1 ในคณะกรรมการกองทุน เงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี 4.6.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4.6.3 กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ในภูมิภาค ส่วนที่ 5 5. รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) 5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 5.1.1 คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ 5.1.2 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ 5.1.3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
5.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
5.2.1 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ 5.2.2 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว 5.2.3 คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและ
ปราบปรามการค้ามนุษย์
5.2.4 คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 5.2.5 คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
5.2.6 คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 5.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 5.3.1 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม 5.3.2 คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ 5.3.3 คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ 5.3.4 คณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 5.3.5 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า 5.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ - กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 5.5 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ - กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ในภูมิภาค ส่วนที่ 6 6. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) 6.1 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ - คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ 6.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 6.2.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 6.2.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 6.2.3 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ 6.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 6.3.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ 6.3.2 กรรมการในคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ในภูมิภาค ส่วนที่ 7 7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) 7.1 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ - คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ 7.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ - คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ 7.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้ 7.3.1 กรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ 7.3.2 กรรมการในคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก 7.3.3 กรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 7.3.4 กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 7.3.5 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม 7.3.6 กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 7.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 7.4.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ 7.4.2 รองประธานกรรมการคนที่ 2 ในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 7.4.3 รองประธานกรรมการคนที่ 2 ในคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบ
สาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี
7.4.4 กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ 7.4.5 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ 7.4.6 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ 7.4.7 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 7.4.8 รองประธานกรรมการคนที่ 1 ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม 7.4.9 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน 7.4.10 รองประธานกรรมการคนที่ 2 ในคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ 7.4.11 รองประธานคนที่ 3 ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ส่วนที่ 8 8. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบทุกสามสิบวัน 9. ให้รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในคำสั่งนี้ พิจารณาความจำเป็นและ ความเหมาะสมในการยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าว หากเห็นว่าหมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น หรืออาจยุบรวมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว โดยการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง หรือจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยยึดหลักการมีผู้รับผิดชอบภารกิจอย่างชัดแจ้ง การไม่ปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน และการบูรณาการภารกิจให้เกิดการประสานและสอดคล้องรองรับกัน แล้วเสนอผลการพิจารณา และข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำขึ้นใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่เห็นควรให้คงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ๆ ไว้ตามเดิมให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นด้วยเช่นกัน 10. ในส่วนการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีคนใดดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการตามกฎหมายหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไป ตามกฎหมายหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนั้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 254/2566 เรื่อง มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค
ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 กันยายน 2566 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 221/2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่การตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ ลงวันที่ 10 กันยายน 2561 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ดังต่อไปนี้ 1. พื้นที่
1.1 รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) กำกับและติดตาม การปฏิบัติราชการ ดังนี้
1) เขตตรวจราชการที่ 2 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ 2) เขตตรวจราชการที่ 10 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี
3) เขตตรวจราชการที่ 14 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
1.2 รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) กำกับและติดตาม การปฏิบัติราชการ ดังนี้ 1) เขตตรวจราชการที่ 12 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด 2) เขตตรวจราชการที่ 17 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ 3) เขตตรวจราชการที่ 18 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร และ จังหวัดอุทัยธานี
1.3 รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) กำกับและติดตาม การปฏิบัติราชการ ดังนี้
1) เขตตรวจราชการที่ 6 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล
2) เขตตรวจราชการที่ 8 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
3) เขตตรวจราชการที่ 15 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน
1.4 รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กำกับและติดตาม การปฏิบัติราชการ ดังนี้ 1) เขตตรวจราชการที่ 5 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา 2) เขตตรวจราชการที่ 13 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์
3) เขตตรวจราชการที่ 16 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่
1.5 รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ดังนี้ 1) เขตตรวจราชการที่ 1 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง 2) เขตตรวจราชการที่ 3 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี
3) เขตตรวจราชการที่ 7 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
1.6 รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ดังนี้
1) เขตตรวจราชการที่ 4 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร
2) เขตตรวจราชการที่ 9 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว
3) เขตตรวจราชการที่ 11 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร
2. การกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคตามคำสั่งนี้ หมายถึง การตรวจราชการ การขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานเหตุการณ์และผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์จังหวัด การประสานราชการเพื่อให้เกิดการบูรณาการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์จังหวัด ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การเร่งรัด การติดตามผล การให้คำแนะนำช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ โดยให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย
3. ให้รองนายกรัฐมนตรีรายงานปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไข ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ อันเนื่องจากการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในเขตตรวจราชการหรือพื้นที่ในความรับผิดชอบต่อนายกรัฐมนตรี
4. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำเขตตรวจราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเลขานุการของรองนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีติดภารกิจจำเป็นเร่งด่วน สามารถมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำเขตตรวจราชการปฏิบัติหน้าที่แทนแล้วรายงานผลการปฏิบัติงานให้ทราบต่อไป
5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องเสนอข้อมูล อำนวยความสะดวก และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ด้วย
6. ให้เบิกค่าใช้จ่ายในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของ รองนายกรัฐมนตรี จากงบประมาณของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป โครงการเพิ่มขีดสมรรถนะในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของรองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก [ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: (ACWC)1 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ต่อไปอีก 3 ปี (วาระตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2569) เป็นวาระที่ 3
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศไทย (ASEAN Minister in Charge of Social Welfare and Development of Thailand) มีหนังสือแจ้งเรื่องการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีต่อไปอีก 3 ปี ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ในโอกาสแรก ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. ข้อกำหนดของ ACWC กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศแต่งตั้งผู้แทนจำนวน 2 คน โดยเป็นผู้แทนด้านสิทธิสตรี 1 คน และผู้แทนด้านสิทธิเด็ก 1 คน ทั้งนี้ มาตรา 6.5 ของขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของ ACWC ดังกล่าวกำหนดให้ผู้แทน ACWC แต่ละคนมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลของรัฐสมาชิกนั้น ๆ ให้ดำรงตำแหน่งในวาระต่อไปได้อีก ซึ่งปัจจุบันนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี จะครบวาระการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ดังนั้น พม. ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal point) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนและ ACWC ของประเทศไทย มีหน้าที่ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล รวมทั้งพิจารณาการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี (วาระตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2566 - 6 ตุลาคม 2569) และจะต้องแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC เพื่อดำเนินการและคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC ซึ่งต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC ได้มีมติเห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ด้านความต่อเนื่องของการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตลอดจนการผลักดันและพัฒนาแผนงาน/โครงการของประเทศไทยจนแล้วเสร็จ ประกอบกับที่ผ่านมานางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์สืบเนื่องจากวาระก่อน เช่น 1) การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียน (WEE) การสร้างขีดความสามารถ: การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานเพื่อตอบสนองต่อ COVID - 19 และอนาคตการเกิดระบาดใหญ่ รวมถึงวิธีการที่ละเอียดอ่อนทางเพศและทักษะสีเขียว2 2) รายงานการทบทวนระยะกลางและความคืบหน้าระดับภูมิภาคเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี พ.ศ. 2559 - 2568 และ 3) การปรับปรุงการปฏิบัติต่อสตรีและสตรีที่ตอบสนองต่อเพศภาวะนักโทษในอาเซียน รวมทั้ง พม. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า นางสาวรัชดา ไชยคุปต์ จะเป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับองค์การต่างประเทศ เช่น UN-Women และประเทศสมาชิกอาเซียนในการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสตรี ซึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือ การรณรงค์ระดับภูมิภาคอาเซียนในการยุติการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานที่ทำงานตามเพศโดยมีการเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการแล้ว ทางเว็บไซต์ https://www.aseanwestrive.org/
2. พม. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตอบแทนการทำงานให้กับนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีใน ACWC (วาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 7 ตุลาคม 2566 - 6 ตุลาคม 2569) เดือนละ 20,000 บาท (ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท x 12 เดือน = 240,000 บาท) รวมตลอด 3 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 720,000 บาท สำหรับสนันสนุนการปฏิบัติงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนไทยใน ACWC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีตามระเบียบที่ราชการกำหนดให้กับผู้แทนดังกล่าว (แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการสำหรับค่าตอบแทนในการทำงานให้กับนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ พม.)
1 : ACWC ทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิเด็กและสตรีในอาเซียน ผ่านการริเริ่มดำเนินโครงการ กิจกรรมระหว่างประเทศสมาชิก องค์การระหว่างประเทศและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือสาธารณชนและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ รวมไปถึงมาตรการ กลไก และยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในด้านการป้องกันและขจัดการละเมิดสิทธิสตรีและเด็กในทุกรูปแบบ 2 : ทักษะสีเขียว (ทักษะการเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม) หมายถึง ความสามารถในการสร้างสรรค์ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน