สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ธันวาคม 2566

ข่าวการเมือง Monday December 4, 2023 18:33 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ (4 ธันวาคม 2566) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ หนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ-สังคม
                    2.           เรื่อง           โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5
                    3.           เรื่อง           ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี                                        งบประมาณ พ.ศ 2568
                    4.           เรื่อง           ขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิ                                                  ผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
                    5.           เรื่อง           ข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่า                                        ราชการจังหวัด
                    6.           เรื่อง           รายงานความก้าวหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569

ต่างประเทศ
                    7.           เรื่อง           ร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วย                                        สิทธิมนุษยชน
?
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                     สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                      เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม      โดยมีการแก้ไขในส่วนสำคัญ ดังนี้
                      1. แก้ไขเฉพาะถ้อยคำให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยยังคงสาระสำคัญตามกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น แก้ไขคำว่า ?น้ำมันเชื้อเพลิง? เป็น ?น้ำมัน? เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยคำตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556
                      2. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน สำหรับสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สาม (โรงงานหรือสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่) ดังนี้
                                (1) แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะและระยะปลอดภัยภายนอกของสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน เพื่อการจำหน่ายหรือเพื่อการใช้เอง ต้องอยู่ห่างจากเขตพระราชฐาน ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร หรือ 500 เมตร แล้วแต่กรณี โดยให้ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสำนักพระราชวัง (เดิมไม่ได้กำหนดข้อยกเว้น) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564
                               (2) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดเก็บภาชนะบรรจุน้ำมันภายในอาคารเก็บภาชนะบรรจุน้ำมัน โดยปรับปรุงข้อห้ามในการจัดเก็บภาชนะบรรจุน้ำมันภายในอาคารเก็บภาชนะบรรจุน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน NFPA 301 (Chapter 9) เช่น ห้ามตั้งขวดน้ำมัน กระป๋องน้ำมัน ถังน้ำมัน หรือถังเก็บน้ำมันขนาดเล็กที่บรรจุน้ำมันชนิดไวไฟมาก ยกเว้นถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่ติดตั้งไว้ในอาคารติดตั้งถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะ เป็นต้น (เดิมกำหนดข้อห้ามการจัดเก็บภาชนะบรรจุน้ำมันชนิดไวไฟมาก)
                                (3) กำหนดเพิ่ม ?อาคารติดตั้งถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะ? ที่เป็นรูปแบบใหม่ขึ้นอีกหนึ่งลักษณะ ให้สามารถติดตั้งถังเก็บน้ำมันภายในอาคาร โดยเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อคลุมพื้นที่ที่ติดตั้งถังเก็บน้ำมันไว้เป็นการเฉพาะ (จากเดิมมี 2 ลักษณะ คือ การติดตั้งถังเก็บน้ำมันเหนือพื้นดินและใต้พื้นดิน) เพื่อเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน NFPA 30 (Chapter 24) รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมการควบคุมที่จำเป็นในการป้องกันและระงับอัคคีภัยเพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีระบบตรวจจับและแจ้งเตือนน้ำมันรั่ว (leak detection and annunciation) ภายในสถานที่เก็บรักษาน้ำมันที่ติดตั้งถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) หรือธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินหรือธุรกิจอื่นในลักษณะเดียวกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม และสนามบิน
                     การปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐาน NFPA 30 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 และกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564 โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การชี้แจงขั้นตอนและรายงานผลการดำเนินการฯ เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสถานที่เก็บรักษาน้ำมันภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542) อันจะทำให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานระดับสากล สามารถสร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนธุรกิจจากต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center)2 ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และกระทรวงพลังงานได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว
1 มาตรฐาน NFPA กำหนดโดยสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association: NFPA) ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการป้องกันอัคคีภัยและลดความสูญเสียต่ออัคคีภัยให้มากที่สุด โดยมาตรฐาน NFPA 30 คือ การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของของเหลวไวไฟและติดไฟได้ (Flammable and Combustible Liquids Code) เพื่อลดอันตรายจากการจัดเก็บและการใช้งานของเหลวไวไฟหรือติดไฟได้
2  ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) เป็นธุรกิจที่ให้บริการสถานที่สำหรับจัดเก็บ ดำเนินการ และดูแลเครื่องมือในการให้บริการ Cloud ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ ไดรฟ์พื้นที่เก็บข้อมูล และอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลดิจิทัลของผู้ใช้บริการ Cloud ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งมีข้อมูลที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อน ดังนั้น Data Center จึงต้องมีความปลอดภัยสูง รวมถึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับจ่ายน้ำมันให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบทำความเย็น อาคาร และระบบปรับอากาศภายในห้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

เศรษฐกิจ-สังคม
2. เรื่อง โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 (โครงการฯ) กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
                    1. อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี1 และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด
                    2. ค่าใช้จ่ายโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เป็นจำนวนเงิน 7,775.01 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
                    3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. รวมจำนวนเงิน 215.59 ล้านบาท ดังนี้
รายละเอียด          จำนวนเงิน (ล้านบาท)
3.1 ชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.76 ต่อปี)          214.59
3.2 ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวน 200,000 ราย          1.00
รวม          215.59
                    สาระสำคัญ
                    อก. รายงานว่า
                    1. รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา) ระบุว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย และขอรับการจัดสรรงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาท
                    2. อก. จึงได้จัดทำโครงการฯ (ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566) เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.52 โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น       ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการที่เสนอมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการในลักษณะเดียวกันที่เคยดำเนินการในฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 และปี 2564/2565 (อัตราการให้ความช่วยเหลือ       120 บาทต่อตันเท่ากัน) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
2.1 วัตถุประสงค์          (1) สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี ลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านเกษตร
(2) แก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย และปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด
2.2 แนวทางการดำเนินงาน          (1) ช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ซึ่งในฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 มีปริมาณอ้อยสดคุณภาพดีทั้งสิ้นรวม 64.79 ล้านตัน (จากปริมาณอ้อยทั้งหมด 95.57 ล้านตัน) ดังนี้
ประเภทอ้อย          ปริมาณอ้อย          ปริมาณอ้อยไฟไหม้          ปริมาณอ้อยทั้งหมด
อ้อยที่ส่งโรงงานน้ำตาลตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527          63.11 ล้านตัน
(ร้อยละ 67.21)          30.78 ล้านตัน
(ร้อยละ 32.79)          93.89 ล้านตัน
อ้อยที่ปลูกส่งโรงงานเพื่อผลิตเป็นเอทานอล          1.60 ล้านตัน          -          1.60 ล้านตัน
อ้อยที่ปลูกเพื่อผลิตน้ำตาลทรายแดง          0.08 ล้านตัน          -          0.08 ล้านตัน
ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 รวมทั้งสิ้น          64.79 ล้านตัน
(ร้อยละ 67.80)          30.78 ล้านตัน
(ร้อยละ 32.20)          95.57 ล้านตัน
(2) สนับสนุนเงินช่วยเหลือในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย โดยคิดอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนจากสัดส่วนปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี [เช่น เกษตรกรส่งอ้อยสดคุณภาพดีเข้าโรงงานร้อยละ 80 - 89.99 ของจำนวนอ้อยทั้งหมดที่เกษตรกรรายดังกล่าวส่งเข้าโรงงานจะได้รับอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100 บาทต่อตัน รวมกับอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด 20 บาทต่อตัน ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนรวม 120 บาทต่อตัน (ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 และ 2564/2565)] ดังนี้
สัดส่วนปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี          อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนตามสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเพื่อดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสด (บาทต่อตัน)          อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนตามสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด* (บาทต่อตัน)
ร้อยละ 100          120          -
ร้อยละ 90 - 99.99          110          10
ร้อยละ 80 - 89.99          100          20
ร้อยละ 70 - 79.99          90          30
ร้อยละ 60 - 69.99          80          40
ร้อยละ 50 - 59.99          70          50
ร้อยละ 40 - 49.99          60          60
ร้อยละ 30 - 39.99          50          70
ร้อยละ 20 - 29.99          40          80
ร้อยละ 10 - 19.99          30          90
น้อยกว่าร้อยละ 10          20          100
หมายเหตุ : *การจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ให้เกษตรกรใช้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกลทางการเกษตรหรือการเตรียมร่องดินให้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวได้
(3) ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง โดยที่โรงงานจะต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาชาวไร่อ้อยพร้อมจำนวนตันอ้อยสดที่ส่งโรงงานและสำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่าง ๆ นั้น จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อยรายย่อยที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อยสด เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยรายย่อยโดยตรง
(4) กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนธันวาคม 2566 - เมษายน 2567
2.3 หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ          ชาวไร่อ้อยที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ดังนี้
(1) ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย
(2) ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอล หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
(3) ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กษ.
2.4 ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย          กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 7,990.60 ล้านบาท ดังนี้
(1) ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ จำนวน 7,775.01 ล้านบาท โดยมีปริมาณอ้อยคุณภาพดีทั้งสิ้น 64.79 ล้านตัน และให้ใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน
(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 215.59 ล้านบาท แบ่งเป็น
          - ชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส) ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.76 ต่อปี เป็นจำนวนเงิน 214.59 ล้านบาท
          - ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวน 200,000 ราย3 เป็นจำนวนเงิน 1    ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหารจัดการตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการจนกว่าจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น
2.5 พันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)           การขอรับเงินอุดหนุนโครงการฯ ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ WTO ในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร4 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า
1 อ้อยสดคุณภาพดี หมายถึง อ้อยสดที่ไม่ถูกไฟไหม้ ยอดไม่ยาว ไม่มีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อ้อยธรรมชาติปนเปื้อน เช่น ดิน ทราย กาบ ใบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งจะทำให้รายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง
2 ปัญหา PM2.5 จะเกิดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มีนาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวอ้อย
3 อก. (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) แจ้งว่า เป็นจำนวนที่ประมาณการไว้ โดย ธ.ก.ส. จะเบิกจ่ายงบประมาณตามจริง
4 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร คือ การอุดหนุนภายในประเทศที่ไม่บิดเบือนตลาด เนื่องจากเป็นการอุดหนุนที่ไม่มีผลต่อการผลิตและราคาสินค้า เช่น การอุดหนุนการผลิตเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยและการพัฒนา การปรับโครงสร้างการผลิตและการพัฒนาชนบท และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

3. เรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ) พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาในช่วงเดือนมกราคม 2567 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบรายละเอียดคำของบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ สงป. ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองจัดทำยุทธ์ศาสตร์การจัดสรรงบฯ พ.ศ. 2568 ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ ( พ.ศ. 2561 ? 2580 ) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2566 ? 2580)      (แผนแม่บทฯ) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ  เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศษฐกิจ การสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการให้ความสำคัญ           กับประเด็นการพัฒนาตามแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) จำนวน 85 ประเด็น ซึ่งนำเป้าหมายและตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ และแผนย่อยของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว มากำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ พ.ศ. 2568 ในแต่ละด้าน รวมทั้งนำนโยบายสำคัญของรัฐบาลและประเด็นสำคัญของแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มากำหนดเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการรองรับประเด็นดังกล่าวต่อไป
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ พ.ศ. 2568 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                              2.1 โครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ พ.ศ. 2568 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ประกอบด้วย
ตัวอย่างการดำเนินการการตามประเด็นเร่งด่วน          ตัวอย่างการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ
(1)  ยุทธศาสตร์ด้านความมั่งคง
 - สนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้หลักนิติธรรมและบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
 - ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและเพิ่มความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์
 - สร้างบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
 -รักษาบทบาทนำในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคและอนุภูมิภาค
 -อำนวยความสะดวกในการปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่าและยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายรวมทั้งการเจรจาเพื่อยกระดับหนังสือเดินทางไทย (Passport)            - มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
 - การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
 - ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความมั่นคงเศรษฐกิจ และสังคม
 - พัฒนาด้านการต่างประเทศให้มีเอกสภาพและมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน

(2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน เกษตรผสมผสานเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และเกษตรทฤษฎีใหม่
- สนับสนุนการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรม เกษตรแม่นยำ
- ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ
 - สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อน
 - สนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์อัพประยุกต์ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ทางวัฒธรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดให้เกิด 1 ครองครัว 1ทักษะซอฟต์พาวเวอร์
 - ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
 - ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐ            - พัฒนาการเกษตร เช่น เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น
 - ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
 - ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น
 - การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระบบโลจิสติกส์ พลังงานและดิจิทัล
(3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริงสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
 - รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมไทย ให้เป็นพื้นฐานของสังคมไทยและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการนำเสนอความเป็นไทยสู่สากล
 - สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
 - ยกระดับการผลิตและพัฒนาครู ปรับทบทบาทครูโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
 - ส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกีฬาที่เป็นที่นิยมในระดับสากล และการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อน           - ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมด้วยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม การมีจิตสาธารณะและการเป็นพลเมืองที่ดี
 - พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
 - สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์
 - การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัยได้มาตฐานกระจายบริการอย่างทั่วถึง
(4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
 - การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ   (ผู้ว่า CEO)
 - สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร
 - เพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
 - การพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม
 - มาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชน
 - พัฒนาและยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศโดยยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค
 - จัดทำข้อมูลกลางด้านสุขภาพ เพื่อจัดบริการและวางแผนกำลังคนในอนาคต           - เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเอง
 - ส่งเสริมศักยภาพบทบาทสตรีและสิทธิมนุษยชนให้ทุกเพศสภาพเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม
 - ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยยกระดับศักยภาพการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐาน
 - สร้างความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคมโดยเน้นคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและหลักประกันทางเศษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
 (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 - ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย
 - แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5
 - ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
 - สร้างระบบสาธารณูปโภคให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดีผ่านการพัฒนาระบบน้ำประปาเพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง           - สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศษฐกิจสีเขียวและสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
 - จัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย
 - เพิ่มประสิทธิภาพการส่งและการใช้น้ำทุกภาคส่วนพรัอมทั้งเพิ่มการเก็บกักน้ำในพื้นที่
 - ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศในทุกมิติ
(6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
 - ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน
 - ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรภาครัฐให้มีทักษะที่จำเป็นในการให้บริการภาครัฐดิจิทัลแบบองค์รวม
 - ส่งเสริมการจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
 - เปิดเผยข้อมูลผ่านเทคโนโลยีและช่องทางต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และตรวจสอบการดำเนินงาน ของหน่วยงานภาครัฐ
 - ยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นและพัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ
 - ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ           - พัฒนาบริการภาครัฐที่มีคุณค่าและปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล
 - พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
 - ปรับวิธีการทำงานเป็นการให้บริการที่ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ
 - เชื่อมโยงและบูรณาการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน
 - เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ
 - พัฒนาการบริหารจัดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ
                    2.2 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

4. เรื่อง ขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 359,352,000 บาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ให้ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติ อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทั้งนี้ ในขั้นตอนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงบประมาณได้เสนอตั้งงบประมาณโครงการดังกล่าวไว้แล้ว จำนวน 8,850,000 บาท ในลักษณะโครงการนำร่อง จึงเห็นควรให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงาน หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะต่อไป ก็เห็นควรให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการดังกล่าวตามภารกิจ ความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                     ทั้งนี้ พม. พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอเรื่อง โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อให้รองรับสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสมบูรณ์ คือ               มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งเพื่อสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในชุมชน (Ageing in Place) อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566           ณ มิถุนายน 2566 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สูงอายุทั้งหมด 4,053,610 คน คิดเป็นร้อยละ 18.64 และจากข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,188,077 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มติดสังคม จำนวน 3,089,474 คน (ร้อยละ 96.9) กลุ่มติดบ้าน จำนวน 84,945 คน (ร้อยละ 2.66) และกลุ่มติดเตียง จำนวน 13,658 คน      (ร้อยละ 0.42) และมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น สมาชิกในครอบครัวมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตระหนักถึงการสร้างกลไกในระดับพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ จึงขอนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ระหว่างวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
                      สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                      1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 (4) สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (5) ร่วมมือและประสานงานกับราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรอื่นในการจัดให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุน ตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
                     2. ในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 66,054,830 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12,814,778 คน คิดเป็น ร้อยละ 19.40 (ข้อมูลกรมการปกครอง เดือนมิถุนายน 2566) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สูงอายุทั้งหมด 4,053,610 คน จากข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,188,077 คน แบ่งเป็น กลุ่มติดสังคม จำนวน 3,089,474 คน (ร้อยละ 96.9) กลุ่มติดบ้าน จำนวน 84,945 คน (ร้อยละ 2.66) และกลุ่มติดเตียง จำนวน 13,658 คน (ร้อยละ 0.42) และพบว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวสูงขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการจัดทำแผนกลุ่มจังหวัด (ข้อมูลจากแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดังนี้
                                 (1) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ยุทธศาสตร์ 3 ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป้าประสงค์ 1) ยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย แนวทางการพัฒนาตามกลยุทธ์เชิงรุก สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น คลังสมองของผู้สูงวัย
                                 (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ประเด็น การพัฒนา 5 พัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับคุณภาพชีวิต
                                 (3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
                       3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน และการสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมบนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและการสร้างระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                                3.1 โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)           มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนและเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่             มิติทางด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศ
                                 3.2 กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 4,053,610 คน ประกอบด้วย
                                          (1) ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ พื้นที่ละ 2 คน จำนวน 322 พื้นที่ รวม 644 คน
                                         (2) ผู้สูงอายุที่ได้รับคัดกรองสุขภาพ จำนวน 3,188,077 คน ได้แก่ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง
                               3.3 พื้นที่ดำเนินการ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ในพื้นที่ 322 อำเภอ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี
                                3.4 ขั้นตอนการดำเนินงาน
                                         (1) เตรียมการ วางแผนการดำเนินงานในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น
                                          (2) การอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูง จำนวน 420 ชั่วโมง
                                          (3) ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุปฏิบัติงาน โดยการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และจัดกิจกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน
                                          (4) การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
                                3.5 งบประมาณรวมทั้งสิ้น 359,352,000 บาท แบ่งเป็น
                                           (1) งบดำเนินงาน 198,352,000 บาท ได้แก่ ค่าจัดอบรม ค่าตอบแทนผู้บริบาล     ค่าจัดกิจกรรม และค่าติดตามงาน
                                           (2) งบลงทุน 161,000,000 บาท ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
                       4. ประโยชน์และผลกระทบ
                                4.1 ผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เป้าหมายแผนพัฒนาภาคกลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
                               4.2 ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ
                               4.3 ลดภาระการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว
                               4.4 ส่งเสริมการมีรายได้ด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน

5. เรื่อง ข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
                    1. ให้จังหวัดเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพในการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี แผนพัฒนาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดได้
                    2. ให้กระทรวง/กรม ให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อเสนอโครงการและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด
                    3. ให้สำนักงบประมาณใช้แผนพัฒนาจังหวัดเป็นแนวทางในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของทุกหน่วยงานที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัด รวมทั้งรายงานผลการจัดสรรงบประมาณที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดตามแผนพัฒนาจังหวัด ให้คณะรัฐมนตรีทราบ หลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลใช้บังคับ
                    4. ให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมข้อเสนอแผนงานโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนจากกระทรวง/กรม (แบบ จ.3) แจ้งให้กระทรวง/กรมรับทราบ และพิจารณาบรรจุข้อเสนอแผนงานโครงการดังกล่าวไว้ในคำของบประมาณของกระทรวง/กรม และส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
                    5. ให้กระทรวง/กรม แจ้งแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือแผนปฏิบัติงานประจำปีของหน่วยงานในส่วนที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัด พร้อมทั้งระบุเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิบัติราชการประจำปี หรือแผนปฏิบัติงานประจำปีของหน่วยงาน          หรือระยะเวลาที่จะเริ่มดำเนินโครงการตามแผนดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบเพื่อปรับแผนหรือระยะเวลาให้เหมาะสมต่อไป
                    6. ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งกำหนดแนวปฏิบัติตามมาตรา 53 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีมอบอำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน การให้บำเหน็จความชอบ และการดำเนินการทางวินัยข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการและตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
                    7. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ของแต่ละจังหวัด ให้สามารถวัดผลการพัฒนาได้จริงและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การติดตามและประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    8. ให้กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ และขั้นตอนการดำเนินงานตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัด เกี่ยวกับการจัดทำแผน การขับเคลื่อนแผน การจัดทำโครงการและบริหารงบประมาณ และหลักสูตรอื่นที่เกี่ยวข้อง
                    สาระสำคัญ
                    ข้อเสนอการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด
                    ถึงแม้การบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการจะมีพัฒนาและปรับปรุงกลไกและวิธีดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 กลไกคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 และล่าสุดคือ คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ             (ก.น.บ.) ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ในการประสานและกำกับให้ส่วนราชการดำเนินการตามแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งควบคุมดูแลการบริหารงบประมาณของหน่วยงานในจังหวัด ให้เกิดการบูรณาการการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด
                    อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา พบว่า การบริหารงานของจังหวัดยังคงประสบปัญหาหลายประการ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ      การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนในพื้นที่จังหวัดยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ จังหวัดมีงบประมาณในการดำเนินงานค่อนข้างจำกัด ในขณะที่กระทรวง/กรม มีโครงการและงบประมาณจำนวนมากที่จัดสรรลงพื้นที่จังหวัด      แต่ยังไม่เชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ยังไม่ชัดเจน ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้บังคับและยังมีความจำเป็นต้องกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการต่าง ๆ มารองรับและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น
                    ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่า CEO) ของรัฐบาล จึงต้องปรับปรุงกลไกการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของจังหวัด โดยมีหลักการดังนี้
                    1. เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำกับการพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ด้วยการบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งงบประมาณที่มีการดำเนินงานในพื้นที่
                    2. สำนักงบประมาณควรยึดแผนพัฒนาจังหวัดเป็นหลักในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของทุกหน่วยงานที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัด เพื่อให้การจัดทำงบประมาณเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area - Based)     มีการบูรณาการกันอย่างแท้จริง
                    3. เร่งกำหนดแนวปฏิบัติตามมาตรา 53 ของพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีมอบอำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ การเลื่อนเงินเดือน การให้บำเหน็จความชอบ และการดำเนินการทางวินัยข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการและตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
                    4. จังหวัดต้องปรับปรุงการกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัด (KPIs) ให้สามารถวัดผลการพัฒนาได้จริงและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การติดตามและประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างช่วงเริ่มต้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เช่นเดียวกับการจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณากลั่นกรองขั้นต้นของ สศช. สำนักงบประมาณ และ กระทรวงมหาดไทย จึงควรประสานการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายข้างต้นโดยเร็ว

6. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569                                                  คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เพื่อให้สามารถดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้แก่สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ตามกำหนดกรอบระยะเวลาก่อน 6 เดือน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2569 และพิธีเปิดงาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ซึ่งเกิดประโยชน์กับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
                    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่และตรวจเยี่ยมจังหวัดอุดรธานี โดยขอให้ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ตามที่ ครม. อนุมัติ  และใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและคุ้มค่า และเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกรมวิชาการเกษตรและจังหวัดอุดรธานี ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ ให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ 2,500 ล้านบาท และในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มอบหมายให้                กรมวิชาการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการ รายงานความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี               พ.ศ. 2569 ในการตรวจราชการของคณะรัฐมนตรีสัญจร กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 เพื่อทราบ
                    สาระสำคัญ
                    1) การปรับผังแม่บท (Master plan) ให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ สืบเนื่องจากการจัดเตรียมผังแม่บท (Master Plan) โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการด้านสถานที่ ภูมิสถาปัตย์ และสิ่งก่อสร้าง ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธาน เมื่อวันที่    15 พฤศจิกายน 2566 และการประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี        พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 และการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในแบบผังแม่บทเบื้องต้น ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการออกแบบผังแม่บท (Master Plan) โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเพื่อพิจารณากลั่นกรองผังแม่บท (Master Plan) โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี        พ.ศ. 2569 ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้กรอบงบประมาณ 2,500 ล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพ ตามความเหมาะสมและคุ้มค่า ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินการเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2569
                              2) การขอใช้พื้นที่การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569
                              การดำเนินการขอใช้พื้นที่การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 นอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแดแล้ว ยังต้องดำเนินการขออนุญาตจากกรมป่าไม้     ในการเข้าใช้พื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสถานที่ ภูมิสถาปัตย์      และสิ่งก่อสร้าง ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) รายงานว่า กรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตให้จังหวัดอุดรธานี เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าแล้วซึ่งอยู่ระหว่างออกใบอนุญาตตามแบบ ป.84-4 พร้อมกับชำระเงินค่าบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าและค่าปลูกป่าทดแทน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565
                    ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กรมวิชาการเกษตรรายงานว่า ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ยืนยันแนวทางการดำเนินการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าพื้นที่จัดงานโครงการมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ กรมป่าไม้มีหนังสือตอบกลับแจ้งว่า จังหวัดอุดรธานี (ผู้รับอนุญาต) สามารถเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ขออนุญาตได้ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ไปติดต่อสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) เพื่อรับใบอนุญาต พร้อมกับชำระเงินค่าบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าและค่าปลูกป่าทดแทน กรณีจังหวัดอุดรธานีไม่ประสงค์หรือไม่สะดวกที่จะจัดตั้งงบประมาณ เพื่อปลูกป่าทดแทนได้ จ้งหวัดอุดรธานีจะต้องดำเนินการขอผ่อนผันการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 ผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการขอผ่อนผันการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวในโอกาสแรก
                              3) เรื่องอื่น ๆ
                              ความก้าวหน้าการเตรียมการยื่นประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก      จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
                              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในเอกสาร Questionnaire และหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง การลงนามในเอกสารประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในหนังสือยืนยันสนับสนุนการจัดงานและงบประมาณจากรัฐบาลไทย
                              หลังจากที่คณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้รับรองการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ของประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เห็นควรดำเนินการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศก่อนการนำเสนอยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งมีกำหนดการลงคะแนนคัดเลือกในการประชุม AIPH Spring Meeting ระหว่างวันที่ 3 - 7 มีนาคม 2569 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ต่างประเทศ และกิจกรรม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานต่อไป หลักจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือยืนยันสนับสนุนการจัดงานและงบประมาณจากรัฐบาลไทยแล้ว

ต่างประเทศ
7. เรื่อง ร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR)1 (ร่างคำมั่นฯ) เพื่อประกาศในกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างคำมั่นฯ  โดยหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้ กต. ดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก โดยให้รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบในภายหลัง
(จะมีการประกาศคำมั่นฯ ในกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์)
                     สาระสำคัญ
                      กต. รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) มีกำหนดจัดกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ระหว่างวันที่ 11 - 12 ธันวาคม 2566 ณ นครเจนีวา และจะมีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางระดับภูมิภาครวมถึงกรุงเทพมหานคร ผ่านช่องทางการประชุมทางไกลหรือการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
                     1. วันที่ 11 ธันวาคม 2566 จะมีการประกาศคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประกาศคำมั่นฯ ของไทย เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านช่องทางการประชุมทางไกล หรือการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า
                      2. วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ให้นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดกิจกรรมระดับสูงที่กรุงเทพมหานคร ผ่านช่องทางการประชุมทางไกล2 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดไปยังกิจกรรมระดับสูงที่จะจัดขึ้นที่นครเจนีวา
                      กต. ได้จัดทำร่างคำมั่นฯ ของประเทศไทยที่จะประกาศในกิจกรรมระดับสูงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                      1. ผลักดันความคืบหน้าของพันธกรณีและการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทย โดยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ3 ภายในต้นปี 2567 และเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 25654 รวมทั้งผลักดันให้ความเท่าเทียมทางเพศให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยการออกกฎหมายและการปรับแก้ไขเพื่อยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                     2. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการรับมือกับความท้าทายใหม่ในโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ และลงทุนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง5
                     3. ยกระดับคุณภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพของทุกคน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ปรับปรุงกลไกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการดูแลแบบประคับประคอง รวมทั้งรักษาระดับของอัตราครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 ให้ได้จนถึงปี 25706
                     4. จัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการและทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีการสนับสนุน ความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การที่เกี่ยวข้องภายใต้สหประชาชาติ
                     5. ให้ความสำคัญกับเยาวชน ผ่านกลไกและเวทีต่าง ๆ ของภาครัฐ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการมีบทบาทของเยาวชน อันมีส่วนช่วยสนับสนุนที่ดีต่อทั้งชุมชนและสังคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศและติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะภายใต้กลไก Universal Periodic Review ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างคำมั่นฯ ของประเทศไทย โดย กต. ได้ปรับแก้ร่างคำมั่นฯ ตามข้อพิจารณาของที่ประชุมฯ และที่ได้รับมาในภายหลังด้วยแล้ว
                      กต. แจ้งว่า ร่างคำมั่นฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ได้มีข้อมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งถือเป็นเอกสารในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก และเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน โดยถือเป็นมาตรฐานที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 48 แรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
2 นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับการกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการกล่าวถ้อยแถลง ความยาวประมาณ 5 นาที ในพิธีเปิดกิจกรรมของผู้นำ ผ่านระบบการประชุมทางไกลเพื่อถ่ายทอดสดไปยังนครเจนีวา ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น.     ณ ทำเนียบรัฐบาล
3อนุสัญญาฯ รับรองโดยข้อมติสมัชชาสามัญสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 61 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ (การอุ้มหาย) เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา (เน้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในนามเจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งกำหนดโทษของความผิดดังกล่าวด้วยความเหมาะสม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่     9 มกราคม 2555 และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี
4 พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่านช่องทางที่หลากหลาย
5 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เช่น การเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในหลายจังหวัด เพื่อสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริม และสนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. .... เป็นต้น
6 อัตราครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล คำนวณจากจำนวนครัวเรือนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน แต่ภายหลังจ่ายค่ารักษาพบาบาลแล้วครัวเรือนตกอยู่ใต้เส้นความยากจน โดยข้อมูลล่าสุดปี 2564 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 0.22 (ข้อมูลจากรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ