http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... 3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐาน ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... เศรษฐกิจ-สังคม 4. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษา เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหาร และความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา 5. เรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ 6. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลาง ก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบใน ประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่างประเทศ 7. เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือ ระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือ ในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนา ทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 8. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting (Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders' Joint Statement) 9. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือ เดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อ ธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว 10. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) 11. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ? ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน ? ญี่ปุ่น 12. เรื่อง ร่างคำมั่นโดยสมัครใจของไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 13. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม แม่น้ำโขง 6ประเทศ ครั้งที่ 26 (The 26th GMS Ministerial Conference) 14. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความ ตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี
ครั้งที่ 8
แต่งตั้ง
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) 18. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) 20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์) 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) 22. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ 2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วซึ่งสาระสำคัญเป็นการกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) (ทำงานเต็มเวลา) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น โดยให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. รับเงินประจำตำแหน่ง 80,540 บาทต่อเดือน และรับเงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรรมการ ก.พ.ค.ตร. รับเงินประจำตำแหน่ง 76,800 บาทต่อเดือน และรับเงินเพิ่ม 41,500 บาท ต่อเดือน รวมทั้งมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล หรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และได้รับเงินบำเหน็จตอบแทนตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีหลักการและอัตราเช่นเดียวกับอัตราเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้รับตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2561 โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถถัวเฉลี่ยจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปีที่ได้รับจัดสรร (งบบุคลากร) จึงไม่กระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. สรุปได้ ดังนี้ 1. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ดังนี้ ตำแหน่ง เงินประจำตำแหน่ง (บาท/เดือน) เงินเพิ่ม (บาท/เดือน) ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. 80,540 42,500 กรรมการ ก.พ.ค.ตร. 76,800 41,500 2. กำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีและให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ค่ารักษาพยาบาลของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ตามพระราชกฤษฎีกานี้โดยอนุโลม 3. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุออกตามวาระ ลาออก และมีอายุครบ 75 ปี (อัตราเงินประจำตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง) ทั้งนี้ สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้ 4. ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค.ตร. พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตายไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีหรือไม่ ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งให้แก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย 5. กำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกานี้นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (เพิ่มเติมในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก.) 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งรางกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการปรับปรุงการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ ?คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม? เป็น ?คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม? เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและการดำเนินงานในปัจจุบันซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 (เรื่อง ขั้นตอนการแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันอุดมศึกษา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยแล้ว 3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอซึ่งออกตามความในมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยเฉพาะยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อาทิ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ที่กำหนดปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม โดยข้อสันนิษฐานดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อพิจารณาว่าผู้ที่ครอบครองยาเสพติดผู้ใดเป็นเพียงผู้เสพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยสามารถสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดได้โดยหากบุคคลดังกล่าวได้รับการบำบัดรักษาจนหายจากการติดยาเสพติดแล้วผู้นั้นก็จะไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในด้านความปลอดภัยที่รัฐบาลจะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ ?เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย? สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการดำเนินการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า) และที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติดตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เศรษฐกิจ-สังคม 4. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาศึกษาการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและสนับสนุนทุนและเงินอุดหนุนการศึกษาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และลดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการบ่มเพาะเด็กและเยาวชน1 ซึ่งมีข้อเสนเนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ (2) ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ 2. นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในขณะนั้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง ศอ.บต. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ผลการพิจารณา 1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี การจัดให้มีการประเมินสถานการณ์ กำหนดกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงโดยมุ่งผลลัพธ์ลดการบ่มเพาะ และการทบทวนการปรับค่าเป้าหมายและตัวชี้วัด รวมถึงการเพิ่มระดับการกำกับมาตรฐานสถานศึกษาเอกชน เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า รายงานในเรื่องนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565 - 2570 แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2566 - 2570 และจุดเน้นของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะ อาทิ การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี การประเมินสถานการณ์ตามห้วงระยะเวลา การกำหนดกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงที่มุ่งผลลัพธ์ในการลดการบ่มเพาะ ความร่วมมือทางด้านการศึกษากับต่างประเทศ การเพิ่มมาตรฐานการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติที่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนหรือยังดำเนินการไม่บรรลุเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบูรณาการและบรรลุเป้าหมายของการศึกษาเพื่อความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รายงานในเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงที่ไม่ได้นำแผนงานหรือโครงการมาระบุไว้ในรายงาน รวมทั้งวิธีการศึกษาที่นำกิจกรรมด้านการศึกษาฯ เฉพาะที่กำหนดไว้ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มาใช้ประกอบการจัดทำรายงานอาจไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพการขับเคลื่อนงานการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างครบถ้วน และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ควรเปิดกว้างให้ผู้รับทุนการศึกษาสามารถเดินทางไปศึกษาในประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศมุสลิม และควรสนับสนุนให้ผู้ได้รับทุนการศึกษาได้มีโอกาสเข้าทำงานในตำแหน่งที่สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการศึกษาในต่างประเทศมาถ่ายทอดสู่เยาวชนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. การจัดทำโครงการต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของสถาบันอุดมศึกษายังประสบปัญหาในหลายด้าน อาทิ ความเชื่อมั่นของผู้ปกครอง มาตรฐานของสถานศึกษาเอกชน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของภาครัฐ ดังนั้น ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น เช่น การหารือร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนให้เยาวชนได้เข้าศึกษาในสถาบันศึกษาต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ ยกระดับมาตรฐานของสถานศึกษาเอกชน สนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาในวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น 3. เพื่อให้รายงานในเรื่องนี้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นเห็นควรให้มีการปรับข้อความบางส่วน เช่น การใช้คำว่า ?การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด? แทน ?การลดการบ่มเพาะ? เป็นต้น 2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ เช่น การพิจารณาทบทวนงบประมาณที่ใช้จ่ายในแผนงานหรือโครงการให้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด การกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในแผนงานการบูรณาการ การพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ทุนการศึกษา และการเพิ่มมาตรฐานการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงควรสนับสนุนข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา เป็นต้น 1 การบ่มเพาะเด็กและเยาชน หมายถึง การอบรมสั่งสอนและการพัฒนาบุคคล ซึ่งพบว่าการใช้หลักการบ่มเพาะเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ใช้ในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยการบ่มเพาะความรุนแรงและปลูกฝังการต่อต้านอำนาจรัฐให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสาระสำคัญที่ใช้ในการบ่มเพาะ คือ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์ ทำให้หลงเชื่อและปฏิบัติตามแนวทางของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 5. เรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ (โครงการฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สาระสำคัญ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 ธันวาคม 2550) อนุมัติให้ กค. (โรงงานยาสูบ1) ดำเนินโครงการฯ2 ตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) และให้โรงงานยาสูบนำเสนอแนวทางและรายงานผลการดำเนินงาน ตามความเห็นของสภาพัฒนาฯ ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ในการนี้ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จึงขอรายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ยสท. ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ 1.1 ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติดังกล่าว ยสท. ได้เริ่มดำเนินแผนงานโครงการฯ โดยประกอบด้วยแผนงานหลัก จำนวน 6 แผน ได้แก่ แผนงานจัดซื้อที่ดิน แผนงานก่อสร้างอาคารและระบบในอาคาร แผนงานจัดหา ติดตั้ง ทดสอบและเดินเครื่องจักรใหม่ แผนงานซ่อมแซม ปรับปรุงสมรรถนะ ขนย้าย ติดตั้ง ทดสอบและเดินเครื่องจักรเก่า แผนงานจัดจ้างจัดการซากเครื่องจักรและอุปกรณ์เก่าที่ไม่ใช้ประโยชน์และแผนงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบ Logistic 1.2 ยสท. ได้พิจารณานำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) 3 ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (ข้อตกลงคุณธรรมฯ) มาใช้ในโครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ด้วยตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมยายน 2558 (เรื่อง การปรับแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ของโรงงานยาสูบ กค.) โดยต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ยสท. ได้รายงานผลการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรมฯ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จต่อคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตด้วยแล้ว 1.3 ยสท. ได้ดำเนินการตามแผนงานโครงการฯ โดยแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้แหล่งเงินลงทุนจากเงินรายได้ของ ยสท. ในการดำเนินโครงการฯ ภายใต้กรอบวงเงิน 15,952.96 ล้านบาท โดยมีวงเงินเบิกจ่ายจริงทั้งสิ้น 12,414.30 ล้านบาท (ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้ 3,538.65 ล้านบาท) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท รายการ วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ วงเงินเบิกจ่ายจริง (1) ค่าที่ดิน 536.97 536.97 (2) ค่างานอาคารและระบบสาธารณูปโภค 5,464.46 5,414.81 (3) ค่าขนย้ายเครื่องจักรเดิม 39.71 20.88 (4) ค่าปรับปรุงเครื่องจักรเดิม 1,214.00 760.71 (5) ค่าจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ 7,149.70 4,791.16 (6) ค่าที่ปรึกษา 756.00 796.54 (7) สำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 792.13 93.23 รวม 15,952.96 12,414.30 1.4 ยสท. เริ่มผลิตบุหรี่ซิกาแรตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 โดยปัจจุบันมีความสามารถผลิตบุหรี่ ดังนี้ กระบวนการ กำลังการผลิต (1) กระบวนการผลิตยาเส้น 12,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง (2) กระบวนการผลิตยาเส้นพอง 2,280 กิโลกรัมต่อชั่วโมง (3) กระบวนการมวนและบรรจุบุหรี่ 30,000 ล้านมวนต่อปี 1.5 ยสท. ได้พัฒนาพื้นที่ของ ยสท. เดิมในกรุงเทพมหานครให้เป็น สวนน้ำและส่วนป่า และสวนสาธารณะ ?เบญจกิติ? โดยกรมธนารักษ์ กค. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง และ ยสท. ได้สมทบเงินค่าก่อสร้างด้วย 2. ผลการดำเนินงานตามความเห็นของสภาพัฒนาฯ ยสท. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามความเห็นของสภาพัฒนาฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 สรุปได้ ดังนี้ ความเห็นสภาพัฒนาฯ ผลการดำเนินการ (1) เห็นควรให้ ยสท. นำปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายดำเนินงานมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานร่วมกับการพิจารณาด้านกายภาพด้วยเพื่อให้การคัดเลือกที่ดินโครงการมีความสมบูรณ์ ครบถ้วนในทุกมิติคุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรในระยะยาว ยสท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินและจ้างบริษัทผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินราคาที่ดินเพื่อพิจารณาวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ตั้งโรงงานและการใช้ประโยชน์พื้นที่ รวมถึงเพื่อให้การคัดเลือกที่ดิน โครงการฯ มีความสมบูรณ์ ครบถ้วนในทุกมิติ คุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดย ยสท. ได้ซื้อที่ดินสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา จำนวน 2 แปลง เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตยาสูบ จำนวน 220 ไร่ และสำหรับก่อสร้างที่พักอาศัย จำนวน 22 ไร่ (2) ยสท. ควรให้ความสำคัญในการจัดทำมาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศของโรงงานยาสูบแห่งใหม่โดยพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระด้านกลิ่นและฝุ่นอย่างเคร่งครัดให้เกิดผลในการปฏิบัติ ยสท. ได้นำเทคโนโลยีระบบกำจัดฝุ่นมาใช้ในการบำบัดมลภาวะทางอากาศ ก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ และนำเทคโนโลยีระบบปรับอากาศ โดยวิธีการพ่นสเปรย์น้ำ (Air Washer) เพื่อช่วยในการปรับอากาศและกำจัดฝุ่นผงใบยาที่คงเหลือในอากาศ อีกทั้งยังมีการออกแบบภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยในการกรองกลิ่น ฝุ่น เสียง และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงดูดซับสารพิษ (3) ยสท. ควรพิจารณาความเหมาะสมการใช้แหล่งเงินทุนอื่น แทนเงินนำส่งรัฐที่จะขอกันเพิ่มติม จำนวน 9,350 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ยสท. ได้พิจารณาแนวทางการใช้แหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากการนำเงินส่งรัฐแล้วพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 ธันวาคม 2553) อนุมัติให้ ยสท. ใช้แหล่งเงินลงทุนจากเงินรายได้ของ ยสท. ในการดำเนินการโครงการฯ โดยให้ กค. เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการลดอัตราการนำส่งรายได้แผ่นดินของ ยสท. (4) เนื่องจากกิจการยาสูบส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ยสท. ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น โดยสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การวิจัยพัฒนา และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์เพื่องดการสูบบุหรี่ ยสท. ได้ออกแบบกระบวนการผลิตบุหรี่ที่ส่งเสริมการเป็นโรงงานเชิงนิเวศน์ (Eco - factor) มีการช่วยเหลือและดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูกใบยา เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกใบยา และรับประกันราคาซื้อใบยาจากเกษตรกร เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพของยาสูบไทยแต่ละตราโดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ควบคุมนิโคตินในใบยาสูบ ควบคุมปริมาณสารตกค้างและทาร์ที่มีอยู่ในบุหรี่ เป็นต้น (5) ยสท. ควรพิจารณาแนวทางการปรับองค์กรให้สามารถดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการระดมทุน โดยเร่งแปลงสภาพเป็นนิติบุคคลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้ง พิจารณาแนวทางการลดบทบาท ภาครัฐในกิจการยาสูบในระยะต่อไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ยสท. ได้ยกฐานะเป็นองค์กรนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบุหรี่ ซิกาแรต ซึ่งเป็นกิจการผูกขาดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต และการกระทำกิจการอื่น 1 ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น การยาสูบแห่งประเทศไทย (ตามพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561) 2 โครงการฯ ก่อสร้างขึ้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 แปลง เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างอาคารโรงานผลิตยาสูบจำนวน 220 ไร่ และสำหรับก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวน 22 ไร่ ภายในกรอบวงเงิน 16,200 ล้านบาท ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 58 ปรับลดกรอบวงเงินตามแผนงานใหม่ เหลือ 15,592.96 ล้านบาท 3เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดให้มีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการเสนอราคา และผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ 6. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบประมาณจำนวน 750,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป สาระสำคัญ กระทรวงแรงงานเสนอโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ความเป็นมา : จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 และยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันได้มีการประเมินสถานการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลอาจขยายวงกว้าง รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานไทยซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล ทั้งนี้ ยังมีแรงงานบางส่วนที่ยังมีความกังวลถึงค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับหรือกังวลว่าจะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ภายหลังจากสถานการณ์สงบลงดังนั้น กระทรวงแรงงานยืนยันและให้ความมั่นใจว่าแรงงานทุกคนจะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนและจะสามารถกลับไปทำงานภายหลังสถานการณ์สงบได้อย่างแน่นอน จึงขอให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศโดยด่วนและเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ จำนวน 50,000 บาท/คน โดยประมาณการแรงงานไทยจำนวน 15,000 คน 2. วัตถุประสงค์ : เพื่อให้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้น รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง และเพื่อให้แรงงานไทยมีความเชื่อมั่นในการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล 3. กลุ่มเป้าหมาย : ประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 4 กลุ่ม ดังนี้ ที่ กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ จำนวน (คน) อัตราค่าใช้จ่าย/คน รวม 1. แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 9,475 50,000 473,750,000 2. แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล 39 50,000 1,950,000 3. แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้ Re-Entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล 960 50,000 48,000,000 4. ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน 4,526 50,000 226,300,000 รวมทั้งสิ้น 15,000 50,000 750,000,000 ข้อมูล ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 หมายเหตุ 1) Re-Entry Visa คือ แรงงานไทยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลได้คนละ 1 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน ซึ่งระหว่างระยะเวลาดังกล่าว หากแรงงานมีความประสงค์จะขอกลับประเทศไทยเพื่อกลับมาเยี่ยมบ้านสามารถทำได้โดยการขอ Re-Entry Visa เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยและต้องได้รับ Re-Entry Visa แล้วเท่านั้นจึงจะสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ต้องเดินทางกลับไปทำงาน ณ ประเทศอิสราเอล ภายในระยะเวลา 90 วัน (วันที่ 9 กรกฎาคม - 6 ตุลาคม 2566) มิฉะนั้นจะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้อีก ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดินทางกลับประเทศไทยก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศอิสราเอลโดยเป็นการเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 2) จำนวนกลุ่มเป้าหมายข้างต้นเป็นการประมาณการอาจมีปรับเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ 4. วิธีดำเนินการ : 4.1 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รับคำร้องขอรับเงินเยียวยาเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล 4.2 ตรวจสอบเอกสารข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานกำหนด 4.3 ดำเนินการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของแรงงานไทย 4.4 ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โดยผู้บริหารกระทรวงแรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 5. ระยะเวลาดำเนินการ : ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - กันยายน 2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ 6. งบประมาณ : จำนวน 750,000,000 บาท 7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 7.1 แรงงานไทยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐอย่างจริงจัง 7.2 เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่ได้รับการรับเยียวยาจากภาครัฐโดยได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 7.3 สร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล 8. การติดตามผล 8.1 การรายงานผลการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยเป็นประจำทุกวัน 8.2 การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โดยผู้บริหารกระทรวงแรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประโยชน์และผลกระทบ 1. การดำเนินโครงการฯ จะส่งผลทำให้แรงงานไทยกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15,000 คนและครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐโดยได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล 2. สถานการณ์แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล (ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566) แรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวน 29,900 คน แยกเป็น 1) เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 9,475 คน (เดินทางกลับหลังวันที่ 7 ธันวาคม 2566) 2) เสียชีวิต จำนวน 39 ราย และยังคงอยู่ในอิสราเอล จำนวน 20,386 คน ผลกระทบต่อแรงงานไทย แรงงานที่เดินทางกลับมาก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ด้วย inter visa และกำลังจะหมดอายุ รวมถึงไม่สามารถเลื่อนตั๋วเดินทางกลับอิสราเอลได้ ซึ่งแรงงานได้จ่ายค่าตั๋วไปเรียบร้อยแล้วทำให้ประสบความเดือดร้อนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว สำหรับในปี 2567 การจัดสรรโควตาแรงงานไทยภาคเกษตรอาจได้รับการจัดสรรน้อยลง เนื่องจากการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในอิสราเอล โดยมีการนำเข้าแรงงานชาติอื่นแทน ต่างประเทศ 7. เรื่อง การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิสร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 (หนังสือแสดงเจตจำนงฯ) (โครงการ PROMISE ระยะที่ 2) [Letter of Intent between Thailand International Cooperation Agency (TICA) and Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) with International Organization for Migration (IOM) on the Cooperation to Implement the Project on Poverty Reduction through Safe Migration, Skills Development, and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE II)] 2. อนุมัติให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ 3. หากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ถ้อยคำในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก (ไม่กำหนดวันลงนาม) สาระสำคัญของเรื่อง กต. รายงานว่า 1. กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนไตรภาคี [3 ฝ่าย ได้แก่ (1) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (กต. ฝ่ายไทย) (2) SDC (องค์การฝ่ายสมาพันธรัฐสวิส) และ (3) IOM (องค์การระหว่างประเทศ)] ภายใต้โครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2564 - สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 1* (ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ) ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานสัญชาติกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติ โดยโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 มีรายะเอียดสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด วัตถุประสงค์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั้งเพศชายและเพศหญิงจากกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในประเทศไทยตลอดจนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ได้รับการจ้างงานอย่างเหมาะสมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจน เป้าหมายของโครงการ (1) แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกว่า 450,000 ราย ใน 4 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย) จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ (2) แรงงานข้ามชาติ 150,000 ราย จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาและการรับรองทักษะฝีมือรวมถึงการส่งต่องาน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (3) แรงงานข้ามชาติ 300,000 ราย จะได้รับข้อมูลข่าวสาร การขยายเครือข่ายและการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น เพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสต่าง ๆ ที่มีอยู่ (4) นายจ้าง 300 ราย จะสร้างกลไกการจัดฝึกอบรมแก่แรงงานข้ามชาติภายในสถานประกอบการนั้น ๆ และได้รับการฝึกอบรม ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการคุ้มครองแรงงานในการโยกย้ายถิ่นฐาน (5) ผู้แทนจากภาครัฐ นายจ้าง และภาคประชาสังคม 400 ราย จะได้รับการฝึกอบรมด้านการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและมีความยุติธรรม ตลอดจนการตรวจสอบลักษณะการจ้างงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน การดำเนินโครงการ (1) ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อขยายการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิง (2) สนับสนุนการให้บริการด้านสิทธิแรงงานที่มีคุณภาพแก่แรงงานข้ามชาติ เช่น การให้คำบรึกษาการลงพื้นที่ชุมชน การส่งต่อแรงงานไปเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงโอกาสในการจ้างงาน (3) ปรับปรุงลู่ทางในการเข้าถึงการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและการพัฒนาทักษะฝีมือโดยอำนวยความสะดวกต่อการจัดฝึกอบรมและการทดสอบทักษะฝีมือ ตลอดจนการให้ข้อมูลด้านสิทธิแรงงานซึ่งรองรับความหลากหลายทางเพศ (4) ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวกในการจัดเวทีการประชุมหารือเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อการพัฒนาและปฏิบัตินโยบายธรรมาภิบาลในการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะฝีมือและการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม/มีจริยธรรม (5) การมีส่วนร่วมกับนายจ้างและสมาคมนายจ้างเพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้แก่แรงงานข้ามชาติ และช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านการคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดหางานที่เหมาะสม งบประมาณ เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจาก SDC จำนวน 7.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากไทยเข้าร่วมโครงการและมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของ กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) โดยจะพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นรายกรณีไป 2. หนังสือแสดงเจตจำนงฯ จัดทำขึ้นเพื่อวางกรอบการดำเนินความร่วมมือไตรภาคี (3 ฝ่าย) สำหรับการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด เจตจำนง ผู้เข้าร่วมโครงการมุ่งดำเนินงานร่วมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีและเป็นไปตามขอบเขตความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ขอบเขตความร่วมมือ (1) การประชุมหารือเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้มีการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในไทย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือและการจ้างงานให้แก่แรงงานข้ามชาติโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและเพศ (2) การเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย ในด้านต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (3) การสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ภายในเดือนตุลาคม 2566 (ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ) - เดือนสิงหาคม 2568 การจัดการในเชิงเทคนิคและด้านการบริหารโครงการ (1) กิจกรรมต่าง ๆ จะดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและ IOM ผ่านการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ SDC (2) การสนับสนุนงบประมาณและสิ่งของจะอยู่ในรูปแบบการร่วมให้เงินอุดหนุนตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย (3) ผู้เข้าร่วมโครงการจะลงนามในการเอกสารข้อตกลงย่อยเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งรวมถึงภาระทางการเงินที่แต่ละฝ่ายสามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ ข้อตกลงทั่วไป (1) หนังสือแสดงเจตจำนงฯ มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ลงนามไปจนกระทั่งสิ้นสุดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2568 และหนังสือใด ๆ ที่อ้างอิงถึงหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้เป็นการเฉพาะจะถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน (2) หนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้สามารถปรับแก้ไขได้หากมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละฝ่าย (3) ข้อขัดข้องหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันใด ๆ ควรได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการเจรจากันอย่างฉันมิตรและการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ (4) ข้อมูลใด ๆ ก็ตาม รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของผู้เข้าร่วมโครงการและมีความข้องเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ให้ถือเป็นความลับอย่างเข้มงวด และการเก็บรวบรวม การรับ การใช้ การส่งต่อ และการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละหน่วยงาน และไม่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบุคคลที่สามโดยปราศจากหนังสือแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมโครงการ (5) ไม่มีข้อความใดในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ที่เป็นการให้ข้อยกเว้น แสดงออก หรือบอกเป็นนัยเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่มอบให้แก่ IOM ในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (ไม่ได้ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ IOM ในฐานะองค์การระหว่างประเทศ) คำชี้แจงที่สำคัญ หนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้ไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเป็นเอกสารที่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย และมิได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใด ๆ ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น หนังสือแสดงเจตจำนงฯ จึงปราศจากข้อผูกมัดทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นไปตามความพร้อมด้านงบประมาณของแต่ละฝ่าย 3. การดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ไม่ได้มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ล่วงหน้า แต่จะพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นรายกรณีไป และจะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของ กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) หมวดงบเงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนโครงการความร่วมมือกับแหล่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ตามความพร้อมและข้อจำกัดด้านงบประมาณ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 4. ประโยชน์ที่จะได้รับ/ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 : โครงการดังกล่าวจะมีส่วนขับเคลื่อนงานการทูตเพื่อการพัฒนากับกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของไทยและผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของไทยให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้การรับรองในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และยังส่งเสริมการทำงานของกลไกในระดับภูมิภาคด้านแรงงานข้ามชาติ เช่น เวทีการประชุมอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ อันจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและได้รับการพัฒนาทักษะจนเป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันนำไปสู่การเติบโตที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และช่วยลดปัญหาความยากจนของภูมิภาคในระยะยาว 5. กต. แจ้งว่า กระทรวงแรงงาน (รง.) (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน) ไม่มีข้อขัดข้องต่อการเข้าเป็นหุ้นส่วนไตรภาคีภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฯ และเห็นว่าสอดคล้องกับภารกิจของ รง. ในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติที่ปลอดภัย การจัดหางานให้แก่แรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงโอกาสการจ้างงานผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือ 6. กต. แจ้งว่า ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ มิได้มีบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยได้ระบุว่า ไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเอกสารที่มีผลผูกผันทางกฎหมาย และมิได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใด ๆ ระหว่างกัน ตลอดจนมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันทางด้านเงินทุนหรืองบประมาณแก่ฝ่ายใด จึงไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมายเหตุ: * โครงการ PROMISE ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 - สิงหาคม 2564 8. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting (Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders' Joint Statement) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting (Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders' Joint Statement) 2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรี (หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ให้การรับรองร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ในระหว่างการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting 3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง สาระสำคัญ 1. Asia Zero Emission Community (AZEC) เป็นข้อริเริ่มของนายนิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ประกาศเมื่อปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวมกลุ่มประเทศพันธมิตรของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงาน รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบัน ประเทศสมาชิก AZEC ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นเมียนมา) และออสเตรเลีย โดยที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม the 1st AZEC Ministerial Meeting เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ในขณะนั้น) เข้าร่วมการประชุมฯ และได้ประกาศการเข้าร่วมเป็นสมาชิก AZEC ของไทยอย่างเป็นทางการ 2. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม AZEC Leaders Meeting โดยฝ่ายญี่ปุ่นมีกำหนดจัดการประชุม AZEC Leaders Meeting ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ณ ทำเนียบรัฐบาลญี่ปุ่น และจะได้มีการรับรองถ้อยแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting (Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders' Joint Statement) ในห้วงของการประชุมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว 3. ร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมของการประชุม Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders Meeting (Asia Zero Emission Community (AZEC) Leaders' Joint Statement) มีสาระสำคัญที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือของประเทศพันธมิตร AZEC โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวทางที่หลากหลาย และความสามารถในการปฏิบัติได้จริงตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ผ่านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้สามารถรองรับการเติบโตของการใช้พลังงานหมุนเวียน การแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การส่งเสริมเวทีหารือเชิงนโยบาย การแลกเปลี่ยนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน และการพัฒนาตลาดพลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศพันธมิตร AZEC ที่มีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกันของพันธมิตร AZEC ประโยชน์และผลกระทบ ร่างถ้อยแถลงการณ์ร่วมฯ มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเป็นช่องทางของการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางนโยบายด้านพลังงานของไทยในการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบความร่วมมือ AZEC จะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อีกทั้งจะเป็นโอกาสอันดีในการร่วมมือกันเพื่อผลักดันการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นในอนาคต 9. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้ญี่ปุ่นอยู่ในรายชื่อประเทศในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็น การชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ 2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ด้วยแล้ว 3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้ สาระสำคัญ 1. ฝ่ายไทยได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลา 30 วัน (ผ.30) โดยเป็นการให้ฝ่ายเดียว ตั้งแต่ปี 2538 ดังนั้น ในทางปฏิบัตินักธุรกิจญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการ ผ.30 เดินทางเข้าไทย โดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา แต่กรณีนักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ผ.30 ดังนั้น เมื่อปี 2565 สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอให้ไทยยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้นด้วย ส่วนญี่ปุ่นได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางไทย ซึ่งเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อการท่องเที่ยวและ/หรือติดต่อธุรกิจเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นมาตรการที่ให้แก่ไทยฝ่ายเดียวแบบชั่วคราว คราวละ 3 ปี ซึ่งล่าสุดมีการต่ออายุจนถึงปี 2568 2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้หยิบยกเรื่องนี้ในการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทุกระดับ อาทิ ในการหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ และในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่นครซานฟรานซิสโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่ามีประโยชน์ในภาพรวม โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มียอดลงทุนสะสมเป็นอันดับ 1 หลายทศวรรษ และปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย 3. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนของการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลไทยออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น โดยให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้ 3 ปี ตั้งแต่เดือน วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการกระตุ้นและพื้นฟูเศรษฐกิจของไทยโดยเร็ว ประโยชน์และผลกระทบ การกำหนดให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ จะช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาขยายความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเป้าจะส่งเสริม ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมสีเขียว (2) ยานยนต์ไฟฟ้า (3) การแพทย์ (4) ชีวภาพ (5) เศรษฐกิจดิจิทัล (6) โครงสร้างพื้นฐาน (7) การพัฒนาการเกษตร และ (8) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 10. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้ 1. เห็นชอบบัญชีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า1 (Product Specific Rules of Origin : PSRs) ในพิกัดศุลากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 [Harmonized System2 2022 (HS 2022)] ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (ASEAN - Australia - New Zealand Free Trade Area : AANZFTA) (ความตกลง AANZFTA) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก 2. อนุมัติให้ พณ. โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะคณะกรรมาธิการร่วมความตกลง AANZFTA (AANZFTA Joint Committee : JC) ของไทยแจ้งการให้ความเห็นชอบดังกล่าวต่อสมาชิกความตกลง AANZFTA 3. มอบหมายให้ พณ. และกระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้บัญชี PSRs ฉบับปี 2022 ภายใต้ความตกลง AANZFTA เริ่มมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2567 1 กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า คือ การกำหนดเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละชนิดขึ้นมาตามความเหมาะสมของสินค้าแต่ละชนิด โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น การผลิตหรือการได้มาจากวัตถุดิบในประเทศทั้งหมด การผลิตจากสัดส่วนของวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตในประเทศต่อราคาส่งออก เป็นต้น 2 Harmonized System (HS) คือ รหัสมาตรฐานสำหรับสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งใช้ในการกำหนดนิยามและคุณลักษณะสินค้าเพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร การคิดอัตราภาษีอากรสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ และการจัดเก็บสถิติการค้าระหว่างประเทศทำให้สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบสถิติการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าหรือคู่แข่งได้ โดยในปัจจุบันพิกัดศุลกากรของไทย ประกอบด้วย ตัวเลข 11 หลัก ซึ่งตัวเลข 6 หลักแรกถูกกำหนดโดยองค์การศุลกากรโลกเพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ตัวเลขหลักที่ 7 - 8 เป็นพิกัดศุลกากรที่ตกลงกันในกลุ่มสมาชิกอาเซียน (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature : AHTN) เพื่อเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และตัวเลข 3 หลักสุดท้าย เป็นรหัสสถิติที่กำหนดโดยกรมศุลกากรของไทยเพื่อให้สามารถจำแนกสินค้าได้ละเอียดขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติการค้าระหว่างประเทศ 11. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ? ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน ? ญี่ปุ่น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน ? ญี่ปุ่น สองฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน ? ญี่ปุ่น และร่างแผนดำเนินงานตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน ? ญี่ปุ่น โดยหากมีการแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้งสองฉบับในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอไห้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ สองฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ 1. ร่างแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน ? ญี่ปุ่น เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่น มีสาระสำคัญเป็นการกระชับความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน โดยแบ่งเป็นสามเสาหลัก ได้แก่ (1) หุ้นส่วนใจถึงใจจากรุ่นสู่รุ่น สนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนและประชาชนด้านวัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา และการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (2) หุ้นส่วนเพื่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตสนับสนุนเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน ความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านนวัตกรรม ห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร และ (3) หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สนับสนุนหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ 2. ร่างแผนดำเนินงานตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดและแนวทางความร่วมมือตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน พร้อมกำหนดแนวทางการประเมินผลการดำเนินการตามแผนดำเนินงานฯ ผ่านกลไกที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ Joint Cooperation Committee และ ASEAN-Japan Forum โดยจะร่วมกันจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเชียน - ญี่ปุ่นในทุก ๆ ปีต่อไป ประโยชน์และผลกระทบ ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ทั้งสองฉบับครอบคลุมความร่วมมือรอบด้านและเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์ทั้งระหว่างอาเชียนกับญี่ปุ่นและระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนและประชาชน การสนับสนุนเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน ความร่วมมือด้านความมั่นคง การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมความเชื่อมโยง ห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร 12. เรื่อง ร่างคำมั่นโดยสมัครใจของไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum: GRF) ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างคำมั่นของประเทศไทยฯ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขออนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาและดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกโดยให้รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ 1. ไทยได้ร่วมรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees: GCR) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดย GCR เป็นเอกสารที่ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ (1) ลดแรงกดดันที่มีต่อประเทศผู้รับผู้ลี้ภัย (2) ยกระดับศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของผู้ลี้ภัย (3) เพิ่มช่องทางในการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม และ (4) สนับสนุนเงื่อนไขในประเทศต้นทางเพื่อการส่งกลับอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ GCR เป็นเอกสารที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้นำและผู้แทนระดับสูง โดยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ 2. GCR กำหนดให้จัดการประชุม GRF ในระดับรัฐมนตรีทุก 4 ปี เพื่อทบทวนและติดตามผลการนำ GCR ไปปฏิบัติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี และร่วมกันประกาศคำมั่น ซึ่งอาจเป็นคำมั่นเชิงนโยบาย การดำเนินการ กระบวนการหรือการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของ GCR ข้างต้น 3. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างคำมั่นสำหรับการประชุม GRF ครั้งที่ 2 โดยพัฒนามาจากประเด็นที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุม GRF ครั้งที่ 1 หรือในกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นเรื่องที่ไทยมีนโยบายในหลักการอยู่แล้ว แต่ยังสามารถดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าเพิ่มเติมได้อีกและได้นำร่างคำมั่นเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานขับเคลื่อนการนำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยและข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ ไปปฏิบัติ1 ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม และเห็นพ้องให้เสนอคำมั่น 8 ข้อต่อที่ประชุม GRF ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ การประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2566 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ???????__________________________________ 1คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก 13. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6ประเทศ ครั้งที่ 26 (The 26th GMS Ministerial Conference) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 และ (2) ร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และขอความเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างข้อเสนอแนวคิดฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่การกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 3. ขอความเห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมายได้ร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรอง (1) แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 และ (2) ข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยไม่มีการลงนาม สาระสำคัญ 1) สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 (Joint Ministerial Statement) (1) รัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าสำคัญในสาขาความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ (2) รัฐมนตรีรับทราบและให้การรับรองแผนงาน การศึกษา และความก้าวหน้าต่าง ๆ ในประเด็นเชิงบูรณาการ (3) การดำเนินงานในระยะต่อไปของแผนงาน GMS 2) สาระสำคัญของร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (A Proposal to Develop a GMS Innovation Strategy for Development 2030) เช่น ข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2573 เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงควมสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน โดยความร่วมมือด้านนวัตกรรมจะเป็นโอกาสในการใช้ศักยภาพสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง บนพื้นฐานของความต้องการ ศักยภาพและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เพื่อลดความเหลือมล้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก ผ่านการพัฒนาและแบ่งปันความรู้ร่วมกัน โดยสร้างความเชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญและโครงการริเริ่มที่มีอยู่แล้วของแผนงาน GMS อาทิ การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมและการกำหนดนโยบายนวัตกรรม โดยจะพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ฯ ฉบับสมบูรณ์ และคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำแผนงาน GMS พ.ศ. 2567 เพื่อให้การรับรองแนวปฏิบัติได้ในห้วง พ.ศ. 2568 ? 2573 3) ประโยชน์และผลกระทบ การเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ของผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงการให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้ (1) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของอนุภูมิภาคในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้การดำเนินโครงการของแผนงาน GMS ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์และห่วงโช่มูลค่าของภูมิภาคบนฐานนวัตกรรม(3) ขับเคลื่อนการดำเนินงานของไทยภายใต้แผนงาน GMS ให้มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับหมุดหมายการพัฒนาของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) รวมถึงผลักดันให้แผนงาน GMS เป็นเวทีพหุภาคีที่เปิดกว้างและครอบคลุม โดยมีการประสานงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และภาคส่วนท้องถิ่นของไทยในการขับเคลื่อนแผนงาน 14. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 (The Eighth Meeting of the CBTA Joint Committee : 8th JC GMS CBTA) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 มีสาระสำคัญ (1) การกลับมาดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ ?ระยะแรก? ของความตกลง GMS CBTA อีกครั้ง (2) การขยายพิธีสาร 1 ของความตกลง GMS CBTA (เส้นทางและจุดผ่านแดน) (3) แผนดำเนินงาน GMS CBTA ปี 2567 ? 2571 การรับรองแผนดำเนินงาน GMS CBTA เช่น การดำเนินการและติดตามผลของบันทึกความเข้าใจ ?ระยะแรก? การรวบรวม วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า การจัดทำคู่มือเส้นทางเดินรถ (Corridor Handbook) ตามบันทึกความเข้าใจ ?ระยะแรก? การเข้าร่วมการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ ?ระยะแรก? ในอนาคตของเมียนมา เป็นต้น ประโยชน์และผลกระทบ ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในด้านความเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านและในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงเพื่อให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถกลับมาเดินรถระหว่างประเทศภายใต้บันทึกความเข้าใจ ?ระยะแรก? อีกครั้ง แต่งตั้ง 15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นางขนิษฐา วงศ์วัฒนารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พันธุกรรม (นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ) สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอารักขาพืช (นักวิชาการเกษตรทรงคุณวุฒิ) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และได้เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายธรรมรัตน์ รัตนมณี ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 18. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายอมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว) ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากลาออก โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป 19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้ง นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้ง นายชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป 21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายนนทภูมิ ตั้งปณิธานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป 22. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 358/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ดังนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป