สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2567

ข่าวการเมือง Monday March 4, 2024 09:41 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ (3 มีนาคม 2567) เวลา 13.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ?.
                    2.           เรื่อง           ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่าง                                                  พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. จำนวน 3 ฉบับ)

เศรษฐกิจ-สังคม
                    3.           เรื่อง           รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน                                                  แห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้                                        พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
                    4.           เรื่อง           รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม                                                   ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    5.           เรื่อง           ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับ                                        ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปี                                                  งบประมาณ พ.ศ. 2567

ต่างประเทศ
                    6.           เรื่อง           การปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International                                                   Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)
                    7.           เรื่อง           ร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยง                                                  โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the                                                             Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG                                         MOU)
                    8.           เรื่อง           การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน -                                                   ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์
                    9.           เรื่อง           ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทาง                                        ชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์

แต่งตั้ง
                    10.           เรื่อง           คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.)
                    11.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    12.           เรื่อง           การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่ง                                                  ประเทศไทย
                    13.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ                                        สร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
                    14.           เรื่อง           การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ?.
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ?.  ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
                      เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิมบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ. ดังกล่าวและได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เช่น แก้ไขคำนิยาม ?เครื่องดื่มแอลกอฮอล์? และ ?การสื่อสารการตลาด? และเพิ่มเติม คำนิยาม ?ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์? เพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
                      ทั้งนี้ ในเนื้อหา ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติ (ทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ) อย่างสมดุล โดยขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. จำนวน 3 ฉบับ)
                      คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ                  (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
                     1. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเจริญ เจริญชัย                กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)
                       2.  ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์               กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ) และ
                        3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
                    โดยให้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร พร้อมข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
(ครบกำหนดส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2567)
                       ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความสมดุล แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่างฯ ยังคงมีความแตกต่างกันมาก
                     ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..)     พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ พร้อมกับการพิจารณาคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


เศรษฐกิจ-สังคม
3. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ว่า เอกชนที่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่สาธารณะและก่อสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ท ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวเลได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมได้ ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วพบว่า แม้ว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงเพื่อตรวจสอบที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะทั้งหมดแล้ว แต่การแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังคงมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของเอกชนและ/หรือที่ดินของรัฐในพื้นที่ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ต่อคณะรัฐมนตรี
                    2. ที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า เมื่อได้รับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว ให้รายงานรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาสั่งการให้มีหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ ทส. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ทส. รายงานว่า ได้รวบรวมผลการพิจารณาของ กษ. มท. ยธ. วธ. สปน. กรมสอบสวนคดีพิเศษ      กรมที่ดิน จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อข้อเสนอแนะของ กสม. ดังกล่าวตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม.          สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม
1. ตรวจสอบพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว ให้แล้วเสร็จเพื่อสามารถเปิดทางน้ำได้          ? สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล) เป็นประธานกรรมการเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ และได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
? คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีมติให้ตรวจสอบทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาน้ำเสียเน่าขัง โดยอำเภอเมืองสตูลได้สำรวจพื้นที่ลำรางสาธารณประโยชน์แล้ว พบว่า มีลำรางที่น้ำไหลออกสู่ทะเลหลัก ๆ อยู่ 3 ลำราง คือ 1) ด้านหลังโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเอกชนจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีเอกสารใด ๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีลำรางอยู่ และภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2522 ไม่ปรากฏภาพลำรางบนเอกสารสิทธิแปลงดังกล่าว 2) บริเวณชุมชนอุเส็น ปัจจุบันไม่มีสภาพของลำรางตั้งอยู่ 3) ด้านหาดบันดาหยา (หาดพัทยา) ด้านข้างอาคีรารีสอร์ท ลำรางด้านนี้ไม่ได้ถูกปิดกั้น น้ำสามารถไหลออกสู่ทะเลได้ตามปกติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 424/2556 เพื่อทำการรังวัดพื้นที่สาธารณะให้ถูกต้องต่อไป
2. ตรวจสอบพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ภายในชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ และจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง          ? ปัญหาการปิดกั้นทางสาธารณะ เป็นกรณีข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ จำนวน 3 คณะ ดังนี้
1. คณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิในที่ดินกระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมปัญหาตรวจสอบสิทธิในที่ดิน กระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ      จังหวัดสตูล
2. คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีข้อพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดแผนการดำเนินการ อำนวยการ ตรวจสอบ สืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทในที่ดินพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ
3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ พิธีกรรมตามวิถีชีวิตได้โดยชอบและสอดคล้องกับสถานการณ์
? จังหวัดสตูลรายงานว่า พื้นที่สัญจรสาธารณะเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวเล เกาะหลีเป๊ะ และเจ้าของที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) และที่สาธารณะสุสานบรรพบุรุษ มีการทับซ้อนกับเอกสารสิทธิของเอกชน โดยทั้ง 2 กรณี กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวน สำหรับปัญหาจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมงเห็นควรให้มีการตรวจสอบการถือครองและสิทธิการครอบครองในพื้นที่บริเวณดังกล่าว กำหนดเขตชายฝั่งและกำหนดพื้นที่ถอยร่น และดำเนินการจัดทำผังเมือง เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทัพเรือภาคที่ 3 ได้มีการจัดระเบียบการจอดเรือหน้าหาดและวางทุ่นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ปะการัง โดยกำหนดอาณาเขตตามขนาดของพื้นที่ปะการังและคำนึงถึงความสะดวกของชาวประมง
3. จัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยสภาพหรือจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล          ? คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการวางผังเมืองและกำหนดเขตวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวเล แต่อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จก่อน
? จังหวัดสตูลได้มีการประกาศใช้ผังเมืองจังหวัดสตูลซึ่งครอบคลุมพื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะ และอยู่ระหว่างการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเกาะสาหร่าย - เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยอยู่ในขั้นตอนการประชุมเพื่อพิจารณาผังเมืองรวม
4. พิจารณาขอบเขตพื้นที่ วิธีการและช่วงระยะเวลาในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชาวเล เกาะหลีเป๊ะ โดยจัดทำข้อตกลงและกำหนดกติการ่วมกันในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ยั่งยืน          ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาของชาวเล รวมไปถึงปัญหาการทำประมง เนื่องจากพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งการใช้พื้นที่ตามวิถีชีวิตของชาวเลต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวเลและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเภทและชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ และลดการพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สรุปว่า มีหมู่บ้านที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล จำนวน 22 หมู่บ้าน และในเบื้องต้นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ มีจำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลา หอย ปู กุ้ง กั้ง หมึก แมงดาทะเลและแมงกะพรุน ลักษณะการเก็บหาเป็นการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ประมง เช่น เบ็ดตกปลา อวนปลาทู อวนปลาทราย อวนกุ้ง ลอบปู โดยจะเก็บเกี่ยวตามช่วงฤดูกาลคือ ช่วงมรสุม (พฤษภาคม - ตุลาคม) และช่วงแล้ง (พฤศจิกายน - เมษายน)

4. เรื่อง รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 ตั้งไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประกอบด้วยการจัดรัฐสวัสดิการให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 2 รูปแบบ ได้แก่ สวัสดิการที่ไม่กำหนดระยะเวลา ซึ่งจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพโดยเป็นวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและสวัสดิการที่กำหนดระยะเวลา ซึ่งเป็นสวัสดิการตามมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงเวลา เช่น มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ส่วนที่ 3 ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กองทุนฯ มีบทบาทอย่างมากต่อการบรรเทาภาระค่าครองชีพโดยช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนกว่า 13.2 ล้านคน (เฉลี่ย 1,333 บาทต่อคนต่อเดือน)                  และส่วนที่ 4 รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมแล้วรายงานว่ามีความถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 16,511.54 ล้านบาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 299.42 ล้านบาท รวมหนี้สินและสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 16,212.12 ล้านบาท งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมีรายได้จากเงินอุดหนุน รวม 30,000.00 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายในการประชุมการประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุน รวม 50,421.00 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 20,421.00 ล้านบาท

5. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
                    โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายโครงการจัดหาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ แบบครบวงจร เห็นควรให้กรมควบคุมมลพิษพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไปโดยคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน ความประหยัด ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                    1. ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยทั่วไปไฟป่าที่เกิดในประเทศส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งกำเนิดและกิจกรรมในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน
                    2. จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา      เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ด้านคุณภาพชีวิต คือ ชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะเพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนไทย พร้อมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน
                    3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5            ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
                    4. คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไปสู่การปฏิบัติการในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบกลาง จัดส่งรายละเอียดโครงการไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 โดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาไว้แล้วบางส่วน             ซึ่งเป็นงบประมาณในภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับระดับความสำคัญของปัญหาในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีปัญหาวิกฤติหมอกควันรุนแรง
                    5. สำนักงบประมาณ แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ จำนวน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 162,708,700 บาท
                    6. ประโยชน์ เป็นการยกระดับในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดไฟป่ารุนแรง โดยการจัดจ้างประชาชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดที่มีความเสี่ยง ทำให้สามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที และควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ไฟไม่ขยายวงกว้าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยแล้ง ลดความรุนแรงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ต่างประเทศ
6. เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ(International Sugar Agreement: ISA) (ความตกลง ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535            (ค.ศ. 1992) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
                    เรื่องเดิม
                    1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (26 มกราคม 2531) อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) และมอบหมายให้ กต. ดำเนินการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว โดยการภาคยานุวัติภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่      31 ธันวาคม 2535]
                    2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2535) ให้ส่งเรื่องการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาก่อน และให้ อก. เสนอข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) ผลดีผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และหากประเทศไทยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อไปจะมีผลกระทบอย่างใด รวมทั้งภาระผูกพันที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีความตกลง ISA เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
                    3. คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) และใช้บังคับความตกลงดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อน และให้ กต. ดำเนินการเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวโดยสมบูรณ์ในโอกาสที่เหมาะสม ตามที่ อก. เสนอ ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) มีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 เว้นแต่จะได้รับการขยายออกไปอีก หรือสิ้นสุดก่อนกำหนดเวลาก็ได้ ทั้งนี้ ความตกลง ISA ฉบับนี้มีบทบัญญัติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติอันเป็นภาระผูกพันในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฯ
                    สาระสำคัญ
                    กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)                     ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวแล้ว และให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะต้องแจ้งผลการพิจารณาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นเพียงการกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิกอำนาจ หน้าที่ รวมถึงองค์ประกอบการประชุมต่าง ๆ ภายใต้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางสถิติและการศึกษาการผลิต ราคา การส่งออกและนำเข้า การบริโภค และสต๊อกน้ำตาลของน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางด้านบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติทางด้านเศรษฐกิจ กฎข้อบังคับผูกพันในเรื่องโควตาการส่งออกและระบบการเก็บสต๊อกพิเศษแต่อย่างใด ประเทศสมาชิกสามารถส่งออกได้โดยเสรี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว การแก้ไขความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้ก็เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับบทบัญญัติเฉพาะทางด้านบริหาร ดังนี้
                              1) นิยามของ ?น้ำตาล? ให้ครอบคลุมถึงสารให้ความหวานพลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอล และไบโอรีไฟเนอรี เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเกี่ยวข้องกับสารให้ความหวาน พลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอล และไบโอรีไฟเนอรีมากขึ้น หรืออาจรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขขอบเขตความร่วมมือขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO) ให้ครอบคลุมถึงนิยามที่ปรับแก้ข้างต้นด้วย (ปรับแก้ข้อ 1 วัตถุประสงค์ ข้อ 32 การให้ข้อมูลเพื่อศึกษา ข้อ 33 ข้อมูลทางสถิติ      การบริโภคและแนวโน้มตลาดน้ำตาล ข้อ 34 การวิจัยและการพัฒนาของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]
                              2) วาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการบริหารในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการมีความชัดเจนและโปร่งใสจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขการคำนวณโหวต และค่าสมาชิกของประเทศสมาชิก เพื่อให้การคำนวณโหวตมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้นบนพื้นฐานสัดส่วนการส่งออก การนำเข้า การผลิต การบริโภคน้ำตาลทรายและความสามารถในการจ่ายเงินของประเทศสมาชิกในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จากเดิมที่คำนวณเฉพาะการส่งออกและนำเข้าในตลาดเสรีและตลาดพิเศษ [ปรับแก้ข้อ 23 การแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่ในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ และข้อ 25 การคำนวณโหวตและค่าสมาชิกของประเทศสมาชิกของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]
ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงความตกลงข้างต้นไม่มีประเด็นใดที่ขัดต่อกฎข้อบังคับหรือข้อผูกพันเกี่ยวกับปริมาณโควตาการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยตามพันธกรณีที่ได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งมิได้มีบทบัญญัติที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน

7. เรื่อง ร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU) (ร่างตราสารฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างตราสารฯ    ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ
                    3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)       ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ข้างต้น
[ร่างตราสารฯ เป็นการขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: APG MOU) (บันทึกความเข้าใจ APG) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มีนาคม 2567 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้แล้วเสร็จครบทุกประเทศก่อนวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วทั้งสิ้น 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) โดยประเทศมาเลเซียได้ส่งมอบ Full Powers เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการรอลงนาม]
                    สาระสำคัญ
                    1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 สิงหาคม 2550) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ APG ระหว่าง พน. และ พน. ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ณ สิงคโปร์ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2552 - 19 มีนาคม 2567 (15 ปี) โดยมีรายละเอียดของบันทึกความเข้าใจ APG ดังนี้
ประเด็น          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          เป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกในการประสานความร่วมมือเพื่อวางนโยบายร่วมกันในการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้า และนำไปสูโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนที่เป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป
การดำเนินการทั่วไป          - ร่วมมือกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน และทำให้โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
- ผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ
- ริเริ่มให้มีการศึกษาทบทวนกฎหมายและโครงสร้างของการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าและการซื้อ/ขายไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศ
- จัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
การดำเนินการ
ระหว่างประเทศ          - ประเทศสมาชิกจะทำการศึกษาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ด้านเทคนิค การเงิน โครงสร้างภาษีและพิกัดอัตราศุลกากร โครงสร้างทางกฎหมายและระเบียบ              การจัดการเพื่อให้บุคคลที่สาม1 สามารถใช้โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าได้
การยุติข้อขัดแย้ง          โดยการปรึกษาหารืออย่างฉันมิตรหรือหาแนวทางยุติปัญหากันเอง
การแก้ไข          ประเทศสมาชิกสามารถเสนอแก้ไขได้โดยจะมีผลเมื่อทุกประเทศเห็นชอบแล้ว
การเก็บความลับของข้อมูล          เอกสารและข้อมูลต่าง ๆ จะถือเป็นความลับในช่วงเวลาที่บันทึกความเข้าใจมีผลบังคับใช้ และช่วงที่สิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับ ยกเว้นจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
การบังคับใช้          - มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 15 ปี หลังจากประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันรับรองทุกประเทศแล้ว (19 มีนาคม 2552 - 19 มีนาคม 2567)
- สามารถแก้ไขขยายระยะเวลาการบังคับใช้ได้ โดยความเห็นชอบของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ

                    2. พน. แจ้งว่า ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ2 โดยมีกำลังส่งไฟฟ้ารวมประมาณ 7,700 เมกะวัตต์ และยังมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันซึ่งเป็นข้อตกลงเชิงธุรกิจระหว่างการไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนภารกิจของ APG ด้านการพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนโดยไม่ได้มีผลบังคับภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG และประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไปได้ตามความเหมาะสม เช่น (1) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย และมาเลเซีย ซึ่งหยุดดำเนินการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 (ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนแล้ว) (2) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2565 - 22 มิถุนายน 2567
                    3. อย่างไรก็ดีโดยที่ร่างบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 19 มีนาคม 2567 ประกอบกับที่ผ่านมาผู้นำอาเซียนได้เคยกล่าวถ้อยแถลงเรื่อง ?อาเซียน เอ.ซี.ที: รับมือความท้าทายร่วมกัน? ซึ่งได้มีการรับรองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยได้ยืนยันคำมั่นและความพยายามของอาเซียนในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียน จึงได้พิจารณาการขยายระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจ APG ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยจัดทำเป็นร่างตราสารฯ เพื่อขยายระยะเวลาดังกล่าว
                    4. ร่างตราสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจ APG ฉบับเดิมออกไปเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อสนับสนุนความพยายามของหัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการไฟฟ้าอาเซียนและคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของภูมิภาค     ให้สามารถยกระดับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันทรัพยากรของภูมิภาคด้วยการส่งพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้เสร็จสิ้นครบทุกประเทศก่อนที่ผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดลง
                    5. พน. แจ้งว่า การจัดทำร่างตราสารฯ จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทน พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมหารือเพื่อผลักดันข้อริเริ่มที่จะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงข่ายและซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งผลักดันข้อริเริ่มเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการรวมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ การร่วมลงนามในตราสารดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนเป็นไปด้วยความราบรื่น ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนวาระความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอาเซียนทั้งในเชิงศักยภาพในการพัฒนาและเชิงภูมิรัฐศาสตร์
1บุคคลที่สาม หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายอื่นที่ประสงค์เป็นผู้ใช้บริการ หรือผู้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายใต้ข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม
2ในส่วนของประเทศไทยมีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน จำนวน 4 โครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระหว่าง (1) ไทย - มาเลเซีย (2) ไทย - ลาว (3) ไทย - เมียนมา (4) ไทย - กัมพูชา โดยประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น (1) ความมั่นคงทางพลังงาน ในการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้งานในพื้นที่ไฟฟ้าขาดแคลนแต่มีความต้องการในพื้นที่ค่อนข้างสูง (2) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน (3) ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการไช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด

8. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
                    1. ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลียสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ (ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ) (การประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย) จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
                              1.1 ร่างวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลีย หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ร่างวิสัยทัศน์ฯ)
                              1.2 ร่างปฏิญญาเมลเบิร์น หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่ออนาคต (ร่างปฏิญญาเมลเบิร์นฯ)
                    ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                    2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
[จะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย)]
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กต. รายงานว่า
                    1. ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ในสถานะคู่เจรจากับอาเซียน (ปี 2517) และได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย เพื่อฉลองวาระครบรอบ 40 ปี (ปี 2557) ซึ่งในปีนี้ (ปี 2567) เป็นโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี ออสเตรเลียจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย        โดยการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมดังกล่าว ดังนี้
                              1.1 ร่างวิสัยทัศน์ฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียต่อเนื่องจากช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลางในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยใช้การเจรจาด้วยสันติวิธี เพื่อธำรงรักษาสันติภาพ ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนแสดงความมุ่งมั่นต่อความเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และมีผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของมิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีความสนใจร่วมกัน และวิสัยทัศน์เชิงบวก โดยอาเซียนและออสเตรเลียจะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และจะเร่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สามารถแข่งขันและร่วมกันรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความยากจน โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการแบ่งปันระหว่างกันที่ยุติธรรมครอบคลุม และเท่าเทียม เพื่อให้สามารถเสริมสร้างการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎ ระเบียบ หลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะส่งเสริมความร่วมมือและการปฏิสัมพันธ์ในเวทีที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อเกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีความใกล้ชิดมากขึ้น
                              1.2 ร่างปฏิญญาเมลเบิร์นฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน - ออสเตรเลีย          (1) ยินดีต่อความสำเร็จของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา และยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านของอาเซียน - ออสเตรเลีย ต่อไป
(2) ความเคารพซึ่งกันและกันต่อหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค การไม่แทรกแซงและความเป็นอิสระทางการเมืองของทุกชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในกฏบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)
(3) สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค
(4) มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติ
การปกป้องความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค           (1) ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและพหุภาคีในการส่งเสริมความร่วมมือสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองผ่านกลไกที่อาเชียนมีบทบาทนำ
(2) รับทราบถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ ในการส่งเสริมภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
(3) ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
(4) ให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้ในฐานะที่เป็นทะเลแห่งสันติภาพ
(5) การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
(6) ประณามการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
(7) ให้ความสำคัญกับการเจรจาโดยสันติอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
(8) กรณีสถานการณ์ในยูเครน
การนำมาซึ่งอนาคตที่รุ่งเรือง          (1) การดำเนินงานร่วมกันในการส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น
(2) การขยายการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย
(3) ให้ความสำคัญของการค้าเสรีและตลาดที่เปิดกว้าง
การส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน          (1) อาเซียนและออสเตรเลียมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(2) ตระหนักถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
(3) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น          (1) การมีส่วนร่วมของโครงการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา กีฬา ศิลปะ (เช่น โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย)
(2) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเสวนาระหว่างวัฒนธรรม
การมีอนาคตร่วมกัน          มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกันและการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในอนาคต
                    2. ประโยชน์ที่จะได้รับ : ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์และสานต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย และไทยกับออสเตรเลีย โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค เสถียรภาพ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการสร้างสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความเชื่อมโยงในภูมิภาค การรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน            โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ และการสนับสนุนการปฏิบัติตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก ต่อไป
                    3. กต. แจ้งว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

9. เรื่อง ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ (ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ)
                    2. หากมีการแก้ไขร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ ทส. พิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
                    3. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่วมหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
(ทส. แจ้งว่า จะมีการลงนามร่วมหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 8 - 12 มีนาคม 2567)
                    สาระสำคัญ
                    ทส. รายงานว่า
                    1. สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ประสาน ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพัฒนาหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ภายใต้ความร่วมมือแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 - 2024)1 ซึ่งแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสในระยะเวลา 3 ปี ประกอบด้วยความร่วมมือใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง (เช่น การต่อต้านภัยคุกคามไซเบอร์ การก่อการร้าย เป็นต้น) (2) การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน [เช่น การส่งเสริมการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)] (3) การเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน (มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น) และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระดับโลก (มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น)
                    2. ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและบูรณาการเชิงนโยบายระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสนับสนุนให้เกิดโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมโดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะดำเนินงานร่วมกันใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (2) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          รายละเอียด
กิจกรรมความร่วมมือ          ประเภทกิจกรรมความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน ได้แก่
(1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ
(2) การเยี่ยมเยือนของทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ระดับปฏิบัติ และระดับผู้เชี่ยวชาญ
(3) การจัดประชุมหรือสัมมนาร่วมกัน
(4) กิจกรรมความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ ที่ผ่านความเห็นซอบจากทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ควรให้มีการเจรจาหารือทวิภาคีไทย - ฝรั่งเศส ในระดับปลัดกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือตามช่วงเวลาที่ประเทศผู้ลงนามทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ โดยสับเปลี่ยนกันจัดที่ประเทศไทยและฝรั่งเศส
โครงการความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการ          ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดโครงการความร่วมมือที่ให้ความสำคัญไว้ในภาคผนวกของร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เช่น
ประเด็น          ตัวอย่างหัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ
(1) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ          1) การปรับปรุงแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ2 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก3 (กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ)
2) การดำเนินงานภายใต้เป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ ทั้งในประเด็นการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองและมาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่อื่น ๆ
3) การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมบทบาท และการมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยและชุมชนท้องถิ่น
4) การคุ้มครองและการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
5) การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม และการระดมทรัพยากรของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ (เช่น งบประมาณ เทคโนโลยี งานวิจัย เป็นต้น)
6) การต่อต้านอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม4 รวมถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า และการค้าไม้ผิดกฎหมาย
7) การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก5 การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแบ่งปันข้อมูล การพัฒนาเทคโนโลยีและฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ
(2) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน          1) การติดตามตรวจสอบ การป้องกัน และการลดมลพิษในทะเลที่มีแหล่งกำเนิดจากบนบก เช่น ขยะพลาสติก และสารกำจัดศัตรูพืช
2) การออกแบบและการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เช่น การจัดทำแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล6 การวิเคราะห์ประเมินองค์ประกอบทางนิเวศวิทยาและสังคม การประเมินประสิทธิภาพของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้จะไม่สร้างพันธกรณีหรือข้อผูกพันที่มีผลทางกฎหมายใด ๆ ให้แก่ประเทศผู้ลงนามทั้งสองฝ่าย ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
          3. ทส. แจ้งว่า การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ ความตกลงปารีสและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและมาตรการการอนุรักษ์เชิงพื้นที่อื่น ๆ ทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ทางบกและทางทะเล ภายในปี 2573
                    4. คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ [รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ และให้ สผ. ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 เมษายน 2564 และ 3 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบและรับทราบแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 - 2024)
2 ทส. แจ้งว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งเป็นแผนที่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทุกประเทศจะต้องจัดทำ [เดิมคณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (28 มีนาคม 2560) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งปัจจุบันสิ้นผลใช้บังคับไปแล้ว]
3 กรอบงานคุนหมิง - มอนหรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคือนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 7 - 19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ให้ประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี 2593
4 อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม คือ การแสวงหาประโยชน์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายหรือผลร้ายแก่ธรรมชาติ เช่น การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่า การละเมิดกฎระเบียบและข้อบังคับอันส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
5 บัญชีก๊าซเรือนกระจก คือ บัญชีแสดงปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ
6 ทส. แจ้งว่า ปัจจุบันไทยได้มีการจัดทำแผนการเตรียมจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2559 - 2568 เพื่อรองรับการดำเนินการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยคาดว่าจะมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 10,913 ตารางกิโลเมตร (ประมาณร้อยละ 3.37 ของพื้นที่ทางทะเลของไทย)

แต่งตั้ง
10. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 คณะ ดังนี้
                      1. คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
                      2. คณะกรรมการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน
                        ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
                      สาระสำคัญของเรื่อง
                      สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ได้พิจารณาคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม (รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จำนวน 2 คณะ โดยคณะกรรมการดังกล่าวทั้ง 2 คณะ ยังมีภารกิจที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไป โดยมีรายละเอียดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ดังนี้
                      1. คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
                                 องค์ประกอบชุดใหม่ที่เสนอแต่งตั้งในครั้งนี้
                                รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการ ก.พ.ร. เลขานุการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา นายนนทิกร กาญจนะจิตรา นายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และนายสมคิด จันทมฤก โดยมี ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ที่ได้รับมอบหมาย ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมาย ผู้แทนสำนักงบประมาณ ที่ได้รับมอบหมาย และผู้แทนกรมบัญชีกลาง ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
                                หน้าที่ และอำนาจ (คงเดิม)
                                 1) พิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์ และวิธีดำเนินการเพื่อให้กำลังคนภาครัฐมีจำนวนและคุณภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมีการใช้กำลังคนภาครัฐอย่างคุ้มค่า เต็มศักยภาพและได้ประโยชน์สูงสุดอย่างเหมาะสมกับภารกิจ และเกิดความสมดุลของกำลังคนภาครัฐในภาพรวม อันจะส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
                                 2) กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจัดสรรและยุบเลิกอัตราข้าราชการที่ว่างจากผลการเกษียณอายุราชการหรืออัตราว่างกรณีอื่น ตามเหตุผลความจำเป็นของส่วนราชการ การพิจารณาเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ การยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างลงจากผลการเกษียณอายุและว่างระหว่างปี รวมถึงการยกเว้นการยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างลงดังกล่าวในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น
                                3) เชิญข้าราชการและบุคลากรของส่วนราชการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบถาม หรือให้ข้อเท็จจริง หรือความเห็น รวมทั้งขอเอกสารจากส่วนราชการหรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ
                                4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานใด ๆ ตามที่คณะกรรมการ ฯ มอบหมาย
                                 5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
                       2. คณะกรรมการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน
                                องค์ประกอบชุดใหม่ที่เสนอแต่งตั้งในครั้งนี้
                               เลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการ ก.พ.ร. และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
                                หน้าที่ และอำนาจ (คงเดิม)
                               1) กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน โดยคำนึงถึงนโยบายรัฐบาล การเผยแพร่ผลงานของหน่วยราชการ ตลอดจนเอกลักษณ์ของข้าราชการ และการให้ส่วนราชการและข้าราชการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยทั่วถึง ประโยชน์ที่ข้าราชการและประชาชนจะได้รับจากการจัดงาน
                                2) ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน
                                 3) มอบหมายสั่งการให้หน่วยงานในความรับผิดชอบดำเนินการตามแผน
                               4) ติตตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ
                                5) จัดหารายได้เพื่อใช้สนับสนุนในการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน รวมทั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือข้าราชการ
                                6) ปฏิบัติภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง

11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ            พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                      1. นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก
                     2. นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการกงสุล
                     3. นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ อธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
                     4. นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต
                     5. นายพลพงศ์ วังแพน รองอธิบดีกรมอาเซียน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอาเซียน
                     6. นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
                     7. นางสาวกษมา สืบวิเศษ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                     8. นายภูบดี ลออเงิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                       ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศในลำดับที่ 1. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

12. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวม 11 คน เพื่อแทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ และขอลาออก ดังนี้
                      1. นายชยธรรม์ พรหมศร                                           ประธานกรรมการ
                     2. นายคุณดร งามธุระ                                          กรรมการ
                     3. นายจำเริญ โพธิยอด (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)           กรรมการ
                     4. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)          กรรมการ
                     5. นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่                               กรรมการ
                     6. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา                               กรรมการ
                     7. นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร                               กรรมการ
                     8. นายรุธิร์ พนมยงค์                                         กรรมการ
                      9. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ                     กรรมการ
                     10. นางสาวสุทิษา ประทุมกุล                               กรรมการ
                     11. นายอนันต์ แก้วกำเนิด                               กรรมการ
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

13. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายณัฐพัชร จันทรสูตร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย) ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากลาออก โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

14. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอการแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดิม ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ