สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 พฤษภาคม 2567

ข่าวการเมือง Tuesday May 14, 2024 17:50 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

เศรษฐกิจ-สังคม
ท2 เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 มอบหมายให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการรักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ในความรับผิดชอบให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง เช่น ถนน พื้นที่ทางเท้า สวนสาธารณะ แหล่งน้ำ บริเวณที่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล เพื่อให้การตกแต่งสถานที่ ประดับไฟและธงเฉลิมพระเกียรติและการใช้ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นระเบียบเรียบร้อย เหมาะสมและสมพระเกียรติ และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนักโทษที่กรมราชทัณฑ์พิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ นอกเรือนจำ ตามความเหมาะสม เช่น การขุดลอกคูคลอง การลอกท่อระบายน้ำ ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรม จัดกิจกรรมแสดงพลังในการทำความดีของกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์และผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในลักษณะที่เป็นงานบริการสาธารณะ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เคยได้กระทำกลับคืนสู่สังคม พร้อมให้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลุ่มผู้ต้องขังร่วมดำเนินกิจกรรม เช่น ปลูกป่า เก็บขยะพื้นที่ชายฝั่งทะเล ขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ เพื่อแสดงพลังในการทำความดีเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ในการนี้ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตลอดปี พ.ศ. 2567 เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้ชดเชยความเสียหายที่เคยได้กระทำให้กับสังคม อีกทั้งได้เพิ่มพูนทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมหลักของโครงการฯ จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่

1) กิจกรรมปลูกป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

2) กิจกรรมการเก็บขยะชายฝั่ง

3) กิจกรรมขุดลอกคูคลองพัฒนาแหล่งน้ำและการขุดดลอกท่อระบายน้ำ

4) กิจกรรม Green Justice ยุติธรรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

5) กิจกรรมการอบรมให้ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์หลักสูตรสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย ผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกคุมประพฤติของกรมคุมประพฤติ และเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้กำหนดวันเริ่มต้นโครงการร่วมใจภักดิ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567 และมีกำหนดจัดพิธีเปิดโครงการฯ ในวันดังกล่าว ณ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จังหวัดนครราชสีมา โดยได้กราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

พจ1 เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโปรแห่งสาธารณรัฐโครเอเชียว่าด้วยการหารือทางการเมือง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปแห่งสาธารณรัฐโครเอเชีย (โครเอเชีย) ว่าด้วยการหารือทางการเมือง (Memorandum of understanding between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Foreign and European Affairs of the Republic of Croatia on Political Consultations) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

สาระสำคัญ

กต. รายงานว่า

1. ประเทศไทยกับโครเอเชียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 แต่ไทยและโครเอเชียยังไม่มีกลไกส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ขี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกลไกการหารือทางการเมืองระหว่างกัน และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันอันจะเป็นพื้นฐานสำหรับการขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศไทยและโครเอเชียในอนาคต โดยบันทึกความเข้าใจ มีรายละเอียดดังนี้

หัวข้อ          รายละเอียด
วัตถุประสงค์          1) เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีอยู่ระหว่างกันให้แน่นแฟันยิ่งขึ้น
2) เพื่อจัดตั้งกลไกการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระดับต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเพิ่มขึ้น
ประเด็น
การหารือ
ทางการเมือง          การหารือทางการเมืองจะครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
1) พัฒนาการความสัมพันธ์ทวิภาคีในประเด็นด้านการเมือง
2) การประสานท่าทีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สนใจร่วมกันภายใต้กรอบองค์การระหว่างประเทศที่รัฐผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
3) ประเด็นอื่น ๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมตัดสินใจ
การจัดการหารือ
ทางการเมือง          การหารือทางการเมืองอาจจัดขึ้นทุกปี หรือบ่อยกว่านั้นตามความจำเป็น ซึ่งผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของผู้เข้าร่วมจะเป็นหัวหน้าคณะในการหารือทางการเมือง
ค่าใช้จ่าย          ผู้เข้าร่วมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของฝ่ายตน (ค่าที่พักและค่าเดินทางไป - กลับระหว่างประเทศไปยังสถานที่ประชุม) สำหรับการเข้าร่วมการหารือทางการเมือง โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายเจ้าภาพจะจัดหาสถานที่และการเดินทางภายในประเทศที่จำเป็น
การแก้ไขปัญหา
ข้อขัดแย้ง          ข้อขัดแย้งใด ๆ ที่เกิดจากการตีความหรือการบรรลุบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างฉันมิตรผ่านการหารือของผู้เข้าร่วม
การแก้ไข
บันทึกความเข้าใจฯ          การแก้ไขบันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจกระทำได้โดยความเห็นชอบร่วมกันของผู้เข้าร่วมเป็นลายลักษณ์อักษร
ผลบังคับใช้          - มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่มีการลงนาม โดยจะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งจะแจ้งเจตจำนงที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนผ่านช่องทางการทูต
- บันทึกความเข้าใจฯ ไม่เป็นเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันใด ๆ ทางกฎหมายระหว่างประเทศแก่ผู้เข้าร่วม

2. กต. แจ้งว่า การจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะช่วยส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและโครเอเชียในภาพรวมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่จะมุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศต่อผู้เข้าร่วม จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พจ3 เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย พบ.1010 แยก ทล.4 - บ้านหนองโรง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 1 แห่ง ของกรมทางหลวงชนบท

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย พบ.1010 แยก ทล.4 - บ้านหนองโรง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 1 แห่ง ของกรมทางหลวงชนบท (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ) จากเดิม จำนวน 138.60 ล้านบาท เป็น จำนวน 152.67 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.07 ล้านบาท) และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 -2562 เป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2569

เรื่องเดิม

คณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ตุลาคม 2559) อนุมัติให้หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมต่ำกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 1,278 รายการ ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ1 วงเงินรวม 138.60 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเบิกจ่าย ดังนี้

รายการ          เป็นเงิน (ล้านบาท)
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560          26.40
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561          52.80
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562          52.80
เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด          6.60
รวมวงเงินภาระผูกพัน          138.60

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. กรมทางหลวงชนบทได้ว่าจ้างเอกชนให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ วงเงินค่างานตามสัญญา 111.9 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 ซึ่งอยู่ภายในวงเงินที่สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้เห็นชอบความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างรายการดังกล่าว จำนวน 111.9 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน (เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 มิถุนายน 2560 และกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562) แต่เนื่องจากผู้รับจ้างดำเนินการล่าช้ากว่าแผนและไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเงื่อนไขสัญญา กรมทางหลวงขนบทจึงได้บอกยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้าง ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้เบิกจ่ายให้ผู้รับจ้างไปแล้ว 28.38 ล้านบาท ทั้งนี้กรมทางหลวงชนบทได้ตรวจสอบผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว มีงานบางส่วนไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมกับปริมาณงานส่วนที่เหลือที่ต้องการดำเนินการเพิ่มเติมตามความจำเป็น กรมทางหลวงชนบทจึงได้ประมาณการราคากลางใหม่ วงเงิน 135.38 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 690 วัน

2. ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 และจัดจ้างเอกชนเพื่อมาดำเนินโครงการก่สร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ ต่อ ในวงเงิน 124.29 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเป็นจำนวน 11.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.19 (ราคากลาง 135.38 ล้านบาท) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 690 วัน ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้มีหนังสือถึง สงป. ขอให้พิจารณาความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างดังกล่าวแล้วด้วย

3. สงป. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากกรมทางหลวงชนบทได้ตรวจสอบผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และปริมาณงานส่วนที่เหลือต่อเนื่องจากผู้รับจ้างรายเดิมที่บอกเลิกสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างละเอียดรอบคอบและถูกต้อง เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และประโยชน์สูงสุดของทางราชการที่จะได้รับและไม่ทำให้ทางราชการเสียประโยขน์ และได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน จึงเห็นชอบความเหมาะสมของราคารายการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ (ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ) ในวงเงิน 124.29 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 74.38 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 49.91 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เมื่อรวมกับวงเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 28.38 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 152.67 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินและระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ (วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ จำนวน 138.60 ล้านบาท เกินวงเงิน จำนวน 14.07 ล้านบาท) จึงขอให้กรมทางหลวงชนบทนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2562 เป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2569 ก่อนลงนามในสัญญาจ้าง ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 อนึ่ง กรณีที่บอกเลิกสัญญาและแจ้งให้ผู้รับจ้างรายเดิมเป็นผู้ทิ้งงานทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นดังกล่าว กรมทางหลวงชนบทจะต้องตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

1 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟฯ เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามที่จุดตัดถนนและทางรถไฟ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับยานพาหนะ เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง


ต่างประเทศ
พจ 6 เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567 [2024 APEC Women and the Economy Forum (WEF) Statement]
                    คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
                    1.เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (ร่างแถลงการณ์ฯ) ประจำปี 2567 [2024 APEC Women and the Economy Forum Statement] โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ พม. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                    2.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ในการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรี               และเศรษฐกิจ (High-Level Policy Dialogue on Woman and the Economy : HLPDWE) ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอาเรกิปา สาธารณรัฐเปรู
                    สาระสำคัญ
                    พม. รายงานว่า
                    1.สำนักเลขาธิการเอเปค โดยฝ่ายเลขานุการในส่วนของภารกิจหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ (PPWE) ได้มีหนังสือเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจประจำปี 2567 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอาเรกิปา สาธารณรัฐเปรู ในส่วนของการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (HLPDWE) เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการเร่งเสริมสร้างพลังสตรีในทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อการสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองและเป็นธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม
                    2.ร่างแถลงการณ์ฯ เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างพลังสตรีในทางเศรษฐกิจใน APEC มีสาระสำคัญ ดังนี้
                              2.1 การส่งเสริมสตรีในอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) โดยตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในอาชีพด้าน STEM มากขึ้น เช่น การพัฒนาโปรแกรมการศึกษาที่ส่งเสริมความสนใจของเด็กผู้หญิงในเรื่อง STEM ตั้งแต่วัยเยาว์รวมถึงการส่งเสริมให้มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจในด้าน STEM ศึกษา ซึ่งจะเป็นรากฐานในอนาคตที่แสดงถึงความเท่าเทียมของผู้หญิง
                              2.2 การสร้างโอกาส : ความครอบคลุมทางการเงินในฐานะเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ตระหนักว่าการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบการเงินเป็นเสาหลักพื้นฐานสำหรับการเติบโต                ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านการเข้าถึงทุนและตลาด การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและโอกาสในการเรียนรู้ในด้านทักษะและสมรรถนะด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถเสริมสร้างความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ
                              2.3 การสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม: การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการป้องกันและจัดการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่ๆ ในยุคดิจิตอลเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเหยื่อหรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินความร่วมมือกับระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค  เพื่อเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมกันและสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับ APEC ที่ยุติธรรมด้วยการขจัดอุปสรรคที่เกิดจากความรุนแรงที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มรูปแบบของสตรี

ความร่วมมือเอเปค มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ประชารัฐออสเตรเลียสมาพันธ์รัฐแคนาดาประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประเทศไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สาธารณรัฐชิลี สหรัฐเม็กซิโก รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐเปรู สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

พจ2 เรื่อง การเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชียของประเทศไทยและการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียในปี 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
          1. เห็นชอบการเสนอตัวเป็นประธานการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) วาระปี 2567 ? 2568 ของประเทศไทย เพื่อขอรับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก ACD ต่อไป
                    2. เห็นชอบในหลักการการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธาน ACD ซึ่งรวมถึง (1) การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (2) การประชุมระดับรัฐมนตรีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (3) การประชุมระดับรัฐมนตรี และ (4) การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ไทยจะเสนอตัวเป็นประธาน ACD ให้แก่ประเทศสมาชิกพิจารณาในการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (อิหร่าน) จะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 11 ? 12 มิถุนายน 2567 และจะมีการส่งมอบตำแหน่งประธาน ACD ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงเดือนกันยายน 2567)
                    เรื่องเดิม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ACD ซึ่งประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน ACD 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ วาระปี 2545 ? 2546 โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 ? 19 มิถุนายน 2545 ณ จังหวัดเพชรบุรี และการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 ? 22 มิถุนายน 2546 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่สอง คือ วาระปี 2558 ? 2559 โดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 9 ? 11 มีนาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 ? 10 ตุลาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กต. รายงานว่า
                    1. กรอบ ACD จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของประเทศไทยเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายของภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในเอเชีย โดยปัจจุบันกรอบ ACD มีสมาชิกรวม 35 ประเทศ จากอนุภูมิภาคทั้งหมดของเอเชีย1 ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทนำในกรอบ ACD ในฐานะผู้ริเริ่มจัดตั้งกรอบ ACD และเป็นประเทศผู้ประสานงาน ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน ACD และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 ครั้ง
                    2. ปัจจุบันอิหร่านดำรงตำแหน่งประธาน ACD วาระปี 2566 ? 2567 และยังไม่มีประเทศสมาชิกใดแสดงความประสงค์ดำรงตำแหน่งประธาน ACD ต่อจากอิหร่าน และโดยที่กรอบ ACD ไม่มีข้อกำหนดหรือระเบียบปฏิบัติในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ดังนั้นการดำรงตำแหน่งประธาน ACD จึงเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศสมาชิก กต. จึงเสนอให้ประเทศไทยเป็นประธาน ACD และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียในปี 2568 และประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงการเป็นประธาน ACD ของประเทศไทย
                    ประโยชน์ที่จะได้รับ
                    1. การเป็นประธาน ACD จะช่วยส่งเสริมบทบาทนำของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือในภูมิภาค สะท้อนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเวทีดังกล่าวที่ครอบคลุมรัฐสมาชิกในเอเชียมากที่สุด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย
                    2. สามารถใช้โอกาสจากเวที ACD ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีของไทยกับประเทศสมาชิก ACD ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างเครือข่ายและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนและขยายความร่วมมือในระดับรัฐบาลระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น
  หมายเหตุ: ACD มีสมาชิก 35 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ราชอาณาจักรบาห์เรน สาธารณรัฐบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐเกาหลี รัฐคูเวต สาธารณรัฐคีร์กีช สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเขีย มองโกเลีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล รัฐสุลต่านโอมาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน รัฐปาเลสไตน์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐกาตาร์ สหพันธรัฐรัสเชีย ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

พจ 4 เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กษ. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กษ. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
                    1. เมื่อปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยได้ตกลงให้จัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ ซึ่งต่อมาได้มีการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องและสามารถหาข้อยุติร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในสาขาเกษตรและพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาคเกษตรบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทั้งสองฝ่าย
หน่วยงานประสานงานหลัก          - กษ. (สำนักงานปลัดกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์)
- ผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย
สาขาความร่วมมือ          (1) การผลิตพืชผล
(2) ปศุสัตว์
(3) ประมง
(4) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
(5) ความปลอดภัยอาหาร
(6) การแปรรูปอาหาร
(7) การจัดการน้ำและที่ดิน
(8) เครื่องจักรกลการเกษตร
(9) การใช้เทคโนโลยีทันสมัยในสาขาเกษตรและเทคนิคการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร
(10) การแลกเปลี่ยนการค้าสินค้าเกษตร
(11) ระบบกฎระเบียบด้านการเกษตร
(12) การประกันภัยการเกษตร
(13) สาขาอื่น ๆ ที่เห็นชอบร่วมกัน
รูปแบบการดำเนินการ          (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติ เทคนิค และวิทยาศาสตร์
(2) การจัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านการวิจัย
(3) การแลกเปลี่ยนการเยือนของข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาเกษตร
(4) การจัดการประชุมระหว่างข้าราชการ และระหว่างผู้เชี่ยวชาญในสาขาเกษตรและการค้า
(5) การจัดการศึกษาและวิจัยร่วมที่เกี่ยวกับสาขาเกษตรที่มีความสนใจร่วมกัน
(6) การจัดการสัมมนา การฝึกอบรม และการปฏิบัติงานในสาขาเกษตร
(7) การจัดและสนับสนุนงานจัดแสดงสินค้าและสินค้าเกษตร
(8) การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือโดยตรงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(9) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในสาขาที่มีความสนใจร่วมกันโดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความมั่นคงทางอาหาร และระบบการเกษตร และอาหารที่ยั่งยืน
(10) รูปแบบอื่น ๆ ที่คู่ภาคีเห็นชอบร่วมกัน
การจัดตั้งคณะทำงาน          ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือถึงขั้นตอนและมาตรการที่จำเป็นสำหรับการยกระดับและพัฒนาความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ โดยคณะทำงานร่วมจะจัดการประชุมตามความเหมาะสม โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
งบประมาณ          ทั้งสองฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองตามข้อผูกพันในบันทึกความเข้าใจฯ
สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา          ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาในกรอบบันทึกความเข้าใจฯ ตามกฎหมายของประเทศตนเอง และความตกลงระหว่างประเทศที่แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วม โดยก่อนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการจัดทำข้อตกลงแยกที่ระบุความเป็นเจ้าของและการจัดการสิทธิตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย และข้อผูกพันที่ระบุไว้ในความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ แต่ละฝ่ายจะไม่ใช้สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาร่วมที่เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจฯ โดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากอีกฝ่ายหนึ่ง
การแลกเปลี่ยนข้อมูล          ทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้ข้อมูลหรือเอกสารที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้ว และจะไม่ส่งต่อให้ฝ่ายที่สาม โดยปราศจากความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลนั้น ๆ ทั้งนี้ ข้อกำหนดนี้จะยังมีผลบังคับใช้หลังจากการยุติหรือการไม่ขยายระยะเวลาบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจฯ
พันธกรณีและผลผูกพัน          (1) ข้อกำหนดของบันทึกความเข้าใจฯ ไม่กระทบต่อพันธกรณีของแต่ละฝ่าย รวมทั้งสิทธิและเอกสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากความตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
(2) บันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีที่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่ออีกฝ่าย โดยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการตีความหรือการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯ จะได้รับการแก้ไขอย่างฉันมิตรผ่านการหารือระหว่างคู่ภาคีเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม
ผลบังคับใช้          (1) บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ทำการแจ้งครั้งสุดท้ายระหว่างกัน ผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในทางกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว
(2) บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติต่อเนื่องเป็นระยะเวลาทำนองเดียวกัน เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านช่องทางการทูตถึงเจตนารมณ์ที่จะยกเลิกหรือไม่ต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวันที่บันทึกความเข้าใจนี้จะสิ้นสุดลง
การปรับปรุงแก้ไขและยกเลิก          (1) บันทึกความเข้าใจฯ สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร และการปรับปรุงแก้ไขนั้นจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ทำการแจ้งครั้งสุดท้ายระหว่างกันผ่านช่องทางการทูต
(2) การยกเลิกหรือการไม่ต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่ส่งผลต่อการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามข้อกำหนดนี้

พจ5 เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนว่าด้วยการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ (ASEAN Recommendations on Quality Health Care)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนว่าด้วยการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ (ร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนฯ) และหากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สธ. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมรับรองร่างเอกสารตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
                    1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสาธารณสุขครั้งที่ 18 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤษภาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในที่ประชุมดังกล่าวจะมีการรายงานความคืบหน้าการรับรองเอกสารต่าง ๆ ทั้งในระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้น สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียน ให้รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนพิจารณาให้การรับรองร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนฯ ซึ่งร่างเอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นตามแผนงานของกลุ่มประเด็นสาธารณสุขอาเซียนที่ 31 การเสริมสร้างระบบสาธารณสุข และการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ (ASEAN Health Cluster 3: Strengthening Health System and Access to Care) เพื่อมุ่งให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิและการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงการเข้าถึงระบบการให้บริการสุขภาพถ้วนหน้าและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพโดยร่างเอกสารข้อเสนอแนะอาเซียนฯ เป็นการเสนอแนวทางที่สำคัญในการยกระดับและส่งเสริมการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและในภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เป้าหมาย ?อาเซียน สุขภาพดี เอาใจใส่ และยั่งยืน? ประกอบด้วย ด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิและด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ด้านการดำเนินการ          แนวทางการดำเนินการ
ด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ          (1) ส่งเสริมการวางแผนและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ในรูปแบบการบูรณาการและตรงต่อความต้องการ เพื่อใช้ประโยชน์จากการผสมผสานของทักษะและสมรรถนะของทีมกำลังคนด้านสุขภาพในการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
(2) ส่งเสริมศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการแผนการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องภายในสถานบริการและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ(3) ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพปฐมภูมิที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ผ่านการเข้าถึงบุคลากรที่ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่สถานบริการปฐมภูมิในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันอย่างเหมาะสม
(4) ใช้ข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพ และข้อมูลที่มีการจำแนกตามเพศ ประเภท สังกัด และภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการพัฒนานโยบายและแผนงานด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ในระดับชาติและระดับอาเซียน
(5) ส่งเสริมการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในระดับภูมิภาค เช่น การวางแผนและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง
ด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม2          (1) พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมาย นโยบาย และแผนงานด้านการแพทย์ดั้งเดิม และการแพทย์เสริมในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ดั้งเดิมและแพทย์เสริมที่มีประสิทธิผล ปลอดภัย และมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อการสนับสนุนการผนวกการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เข้าไปอยู่ในระบบบริการสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต
(2) สนับสนุนการวางแผนการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ สถานบริการสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ที่จำเป็น การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมในระบบบริการสุขภาพภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลระดับชาติสำหรับการติดตามและประเมินผลการให้บริการด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริมในระบบบริการสุขภาพตามความเหมาะสม
(3) สนับสนุนการรับรองคุณภาพของสถาบันและระบบการฝึกอบรมการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการฝึกอบรมและหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักศึกษา บุคลากรผู้ให้บริการ นักการศึกษา และบุคลากรอื่น ๆ ด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม
(4) เสริมสร้างร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น การประชุมแบ่งปันข้อมูล และการพัฒนาหลักสูตรเพื่อปรับปรุงสมรรถนะของบุคลากรผู้ให้บริการด้านการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม นักการศึกษาและนักวิจัยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน


                    2. การดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีการวางแผนและการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกฎหมาย นโยบาย แผนงาน และการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์เสริมในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการยกระดับการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพแก่ประชาชนไทย

1 แผนงานของกลุ่มประเด็นสาธารณสุขอาเซียน มีจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเด็นที่ 1 การส่งเสริมวิถีการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพดี (Promoting healthy lifestyle) กลุ่มประเด็นที่ 2 การโต้ตอบอันตรายและภัยคุกคามต่าง ๆ (Responding to all hazards and emerging threats) กลุ่มประเด็นที่ 3 การเสริมสร้างระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ (Strengthening health system and access to care) และกลุ่มประเด็นที่ 4 ความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร (Ensuring food safety)
2 การแพทย์ดั้งเดิม คือ องค์ความรู้ ทักษะที่ใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศนั้น ๆ มาอย่างยาวนาน เช่น การแพทย์ดั้งเดิมของประเทศไทย คือ การแพทย์แผนไทย การแพทย์เสริม หรือการแพทย์ทางเลือก คือ องค์ความรู้ ทักษะที่ใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับมาจากประเทศอื่น ๆ เช่น การแพทย์เสริมของประเทศไทย คือ การแพทย์แผนจีน


แต่งตั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ