สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กรกฎาคม 2567

ข่าวการเมือง Wednesday July 31, 2024 09:46 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ 30 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                 ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี                          โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
5. เรื่อง ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6.  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท พ.ศ. ....
7.  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัว

ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... 8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน

พุทธศักราช 2478

เศรษฐกิจ-สังคม
9. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย)
10. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2567
11. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนพฤษภาคมและ 5 เดือนแรกของปี 2567
12.เรื่อง ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี                     ครั้งที่ 3/2567
13. เรื่อง การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
14. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในวันที่
17 มิถุนายน 2567
15. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน
พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566
16. เรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5
17. เรื่อง การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567
18. เรื่อง การเรียกให้ทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน                  ปีบัญชี 2567


19. เรื่อง การพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือเอ 0       ณ ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
20. เรื่อง โครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570)
21. เรื่อง ขอความเห็นชอบดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)
22. เรื่อง มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ

ต่างประเทศ

23. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา                   (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62
24. เรื่อง ขอความเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและวาระการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)
25. เรื่อง ท่าทีการเจรจาร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC)  ครั้งที่ 15 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐมนตรี ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
26. เรื่อง ร่างหนังสือรับรองความรับผิดชอบในการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา

แต่งตั้ง

27. เรื่อง การขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1 (กระทรวงคมนาคม)
28. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง

(กระทรวงคมนาคม) 29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม) 30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม) 31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ

(กระทรวงการคลัง) 32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ

(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) 33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ

(สำนักนายกรัฐมนตรี) 34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

?
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                 ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
                     1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ               ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                      ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     อก. เสนอว่า
                     1. มาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรม                 วิธีจุ่มร้อน ได้ประกาศใช้ครั้งแรกเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียม/สังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน สำหรับงานทั่วไป งานขึ้นรูป และงานโครงสร้างทั่วไป มาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 2548 ต่อมาได้มีประกาศยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และกำหนดเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดเย็น เคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนแบบต่อเนื่องสำหรับงานทั่วไป             งานขึ้นรูป และงานโครงสร้าง มาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 2558 ขึ้นใหม่ (มาตรฐานทั่วไป)
                     2. ต่อมาได้มีประกาศแก้ไขเพิ่มเติมมาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 2558 โดยเปลี่ยนชื่อมาตรฐานจากเดิมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดเย็น เคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนแบบต่อเนื่องสำหรับงานทั่วไป งานขึ้นรูปและงานโครงสร้าง เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนแบบต่อเนื่อง และเปลี่ยนหมายเลขมาตรฐานเลขที่จากเดิม มอก. 2228 - 2558 เป็น มอก. 2228 - 2559 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม                      ฉบับที่ 4973 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนทรงแบนรีดเย็นเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนแบบต่อเนื่องสำหรับงานทั่วไป งานขึ้นรูป และงานโครงสร้าง (แก้ไขครั้งที่ 1) (มาตรฐานทั่วไป)
                     3. อก. โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานเหล็กกล้าทรงแบบเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนอย่างแพร่หลาย และเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการทำ รวมถึง                การใช้งานภายในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่  708 - 1/2565 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 เห็นชอบร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน มาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 25XX (ยกเลิกและกำหนด)                  และให้ สมอ. ดำเนินการต่อไป
                     4. สมอ. ได้ดำเนินการรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ลงวันที่                  1 มีนาคม 2565 ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ผ่านทางเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) และแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่าง ๆ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 61 ราย ซึ่งครบกำหนดแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 มีผู้แสดงความเห็นรวม 13 ราย เห็นชอบ 7 ราย                 มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม 2 ราย และไม่เห็นชอบเนื่องจากมีประเด็นทางวิชาการรวม 4 ราย รวมทั้งได้จัดทำรายงาน                         สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายแล้ว
                     5. สมอ. ได้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อคณะกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 1 และเสนอต่อที่ประชุม กมอ. ในการประชุมครั้งที่ 716 - 9/2565 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 โดย กมอ.                      มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 1 กรณีที่แก้ไขเพิ่มเติมในเงื่อนไขการทดสอบให้ชัดเจนขึ้น และเห็นชอบให้ สมอ. ดำเนินการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                 ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 2565 ต่อไป
                     6. อก. ได้จัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6869 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อนแบบต่อเนื่อง และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ซึ่งประกาศกระทรวงดังกล่าวให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                     โดยได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 270 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เป็นไปตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ระบุวันเริ่มใช้บังคับไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                     7. อก. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ โดย                      ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
                               7.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                     ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 ? 2565
                               7.2 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 270 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                     8. ประโยชน์และผลกระทบของร่างกฎกระทรวง
                               8.1 ประโยชน์
                               การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                                 ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2228 - 2565 เป็นการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี การทำ และการใช้งานภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค                  ให้มีความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว
                               8.2 ผลกระทบ
                               ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55%                ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน จะต้องได้รับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวตามมาตรา 20 หรือ 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาต และเป็นไปตามมาตรฐาน

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิด      ด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
                     ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                     อก. เสนอว่า
                     1. ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ                  จุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2555 (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2540 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4353 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกาย เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 8 ลงวันที่ 14 มิถุนายน                   พ.ศ. 2554 (สำหรับรถยนต์ที่จุดระเบิดด้วยน้ำมัน และใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ? เทียบเท่าระดับ EURO 4)1 และ               พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2555 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4416 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เฉพาะด้านความปลอดภัย :                     สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 (สำหรับรถยนต์ที่จุดระเบิดด้วยน้ำมัน และ                  ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง - เทียบเท่าระดับ EURO 4)
                    2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน                    วาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง? ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบบริหารการจัดการมลพิษควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดโดยใช้กลไกของกฎหมายในการกำกับดูแล โดยมีแผนการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ในระดับ EURO 52 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และให้บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษในระดับ EURO 63 โดยเร็ว
                     3. ต่อมา อก. โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เสนอให้แก้ไขการบังคับมาตรฐานดังกล่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล และเป็น                  การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยแก้ไขการบังคับจากเดิม บังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 4 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ มาตรฐานเลขที่ มอก. 2540 - 2554 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือ                    ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง มาตรฐานเลขที่มอก. 2555 - 2554 เป็นการบังคับมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศเทียบเท่าระดับ EURO 6 ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 มาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563
                     4. สมอ. ได้จัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5690 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ระดับที่ 10 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                     5. สมอ. ได้จัดทำประกาศ สมอ. เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน                พ.ศ. .... ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th) และได้แจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้า                         สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม สถาบันการศึกษา ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นผ่านแบบ                 รับฟังความเห็นออนไลน์ หรือทำหนังสือแจ้งต่อ สมอ. ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศ (วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2566) ปรากฏว่าไม่มีผู้คัดค้าน และได้มีการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT) ขององค์การการค้าโลก                           (World Trade Organization: WTO) โดยได้แจ้งเวียนรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ต่อประเทศสมาชิก WTO ปรากฏว่าไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม จึงได้รายงานผลดังกล่าวให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับทราบแล้ว
                     6. สมอ. ได้กำหนดระยะเวลาในการบังคับร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการระบายมลพิษในระดับ EURO 6 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
                     7. สมอ. ได้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ของ สมอ. (www.tisi.go.th)
                     8. อก. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว                     มีสาระสำคัญดังนี้
                               8.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5690 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
                               8.2 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
                     9. ประโยชน์และผลกระทบ
                               9.1 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 3017 - 2563 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง? และควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการกำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (EURO 6) และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
                               9.2 ผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับอนุญาต และเป็นไปตามมาตรฐาน
1 EURO 4 เกี่ยวกับการทดสอบหาปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดสอบที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากมลพิษ                          ด้วยการทดสอบหาปริมาณสารมลพิษไอเสียของรถยนต์ และกำหนดให้ปริมาณสารมลพิษไอเสียอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษใหม่
2 EURO 5 เป็นกฎระเบียบสำหรับควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะ เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้มลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถูกกำหนดโดยสหภาพในยุโรป โดยได้มีการกำหนดเกณฑ์ ตั้งแต่ EURO 1, EURO 2, EURO 3, EURO 4, EURO 5, EURO 6 ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกทำการพัฒนาเครื่องยนต์ ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุดนั้นเอง
3 EURO 6 มาตรฐานที่กำหนดให้รถยนต์ลดการปล่อยก๊าซต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ก๊าซไฮโดรคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่นละออง (PM 2.5) เพื่อลดมลพิษและประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี                          โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สศก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้



                      ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                      อก. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ที่ สศก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
                      1. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 50 - 2565 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6867 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
                     2. กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                     ประโยชน์และผลกระทบ
                      1. ประโยชน์ของการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน มีความครอบคลุมการทำเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นแผ่นม้วนความกว้างน้อยกว่า 600 มิลลิเมตร ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างทั่วถึงและครอบคลุมช่วงความหนาได้มากยิ่งขึ้น
                     2. ผู้ซึ่งได้ผลกระทบจากการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้แก่ ผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน โดยมีผลกระทบในด้านสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว เนื่องจากผู้ทำ หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวตามมาตรา 20 หรือ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                    สาระสำคัญ
                    1. ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)1 โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ทั้งนี้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน                         และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา              (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน) โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ                      ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
                    กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวง                      ตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย (ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา                ร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
                    2. กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000 - 14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัด ๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท) และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล 2) ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน และ 3) ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
1 กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) จะนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond)                 ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยเท่านั้น

5. เรื่อง ร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
                    ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างระเบียบ
                    สงป. เสนอว่า
                    1. โดยที่ระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการพิจารณาเพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการต่าง ๆ ที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือกรณีเงินเหลือจ่ายที่โอนให้หน่วยรับงบประมาณอื่นในแผนงานบูรณาการเดียวกัน โดยจะต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ (สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี)
                    2. เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 สงป. โดยอนุมัตินายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
                    3. เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 ได้กำหนดแผนงานบูรณาการ จำนวน 10 แผนงาน1 ซึ่งปัจจุบันหน่วยรับงบประมาณยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หากมีการโอนงบประมาณรายจ่ายระหว่างหน่วยรับงบประมาณอาจทำให้ระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณไม่เพียงพอให้ดำเนินการได้ทันตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาการโอนงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามข้อ 1 ได้ล่วงเลยระยะเวลามาแล้ว (สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567) ประกอบกับเหลือระยะเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกประมาณ 2 เดือน
                    4. สงป. พิจารณาแล้วเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 เมษายน 2567 จึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..)    พ.ศ. .... โดยเพิ่ม ข้อ 6 วรรคสอง และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้


ระเบียบการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่าง
หน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562          ร่างระเบียบการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
และงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่าง
หน่วยรับงบประมาณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนงบประมาณภายใต้ระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น กับให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้          ข้อ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนงบประมาณภายใต้ระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น กับให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
          ในกรณีที่มีความจำเป็นและไม่เกิดผลเสียหาย ต่อการบริหารงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการหรือแผนงานบุคลากรภาครัฐ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอาจยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้หรือดำเนินการที่แตกต่างไปจากระเบียบนี้เป็นรายกรณีก็ได้ และเมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
1 ได้แก่ (1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (3) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (4) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (6) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (7) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์                      (8) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (9) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล และ                   (10) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

6.  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    สธ. เสนอว่า ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วและยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวต่อไป โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมการนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท เพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมภายใต้การควบคุมกำกับดูแลที่เข้มงวด ป้องกันการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิดอันจะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน สรุปได้ดังนี้
ประเด็น          รายละเอียด
1. คุณสมบัติผู้ขออนุญาต           ? เป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเข้าหรือส่งออกยา ยารักษาโรค เภสัชภัณฑ์ หรือเกสัชเคมีภัณฑ์
? ได้รับอนุมัติเป็นผู้ขอผ่านแดน ผู้ขนส่งผ่านแดน หรือผู้ขอถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
2. การขออนุญาต          ? ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา) โดยระบุเหตุผลและความจำเป็นในการขออนุญาต พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร และหลักฐาน
? การยื่นคำขอ การแจ้ง และการติดต่อใด ๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหากมีเหตุไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าวได้ให้ดำเนินการ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด
3. การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต          ? กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยหากผู้ขออนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไปและให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
? กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานถูกต้องครบถ้วนให้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยให้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พิจารมาแล้วเสร็จ
4. การดำเนินการนำผ่าน           ? ผู้รับอนุญาตต้องนำใบอนุญาตส่งออกของประเทศที่ส่งออกพร้อมกับวัตถุออกฤทธิ์นั้นมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ โดยชนิดและปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนำผ่าน
? ผู้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้วัตถุออกฤทธิ์ที่นำผ่านสูญหายหรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ
? ในกรณีการนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ผู้รับอนุญาตต้องแจ้งให้ผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้บรรทุกทราบก่อนผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรและต้องกำกับให้ผู้ควบคุมยานพาหนะจัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้วัตถุออกฤทธิ์ที่นำผ่านสูญหายหรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ และในกรณีที่มีการขนถ่ายวัตถุออกฤทธิ์ไปยังยานพาหนะอื่น ต้องดำเนินการให้ผู้ควบคุมยานพาหนะแจ้งให้พนักงานศุลกากรทราบ และให้พนักงานศุลกากรมีหน้าที่ควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ในระหว่างขนถ่าย
? ผู้รับอนุญาตต้องส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่ระบุไว้ในใบอนุญาตส่งออกของประเทศที่ส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากประเทศผู้ออกใบอนุญาตนั้นและได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ทั้งนี้ หากไม่สามารถส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่กำหนดได้ ให้ผู้รับอนุญาตส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่วัตถุออกฤทธิ์เข้ามาในราชอาณาจักร
? ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในใบอนุญาตส่งออกของประเทศที่ส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องดำเนินการส่งวัตถุออกฤทธิ์ออกนอกราชอาณาจักรภายใน 30 วันนับแต่วันที่วัตถุออกฤทธิ์เข้ามาในราชอาณาจักร หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้วัตถุออกฤทธิ์นั้นตกเป็นของ สธ. และให้ สธ. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ตามระเบียบที่ สธ. กำหนด
5. ค่าธรรมเนียม          ? ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ ฉบับละ 500 บาท





7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    สธ. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
                    1. กำหนดให้ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและต้องใช้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ที่ประสงค์จะขออนุญาตนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาไม่เกิน 90 วัน ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่กำหนดต่อผู้อนุญาต (เลขาธิการ อย.) ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันที่จะนำติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
                    2. กำหนดให้เจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์ป่วยเดินทางระหว่างประเทศและต้องใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของสัตว์นั้นที่ประสงค์จะขออนุญาตนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาที่เกิน 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน ให้เจ้าของสัตว์ซึ่งมีอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันที่นำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
                    3.3 การดำเนินการตามกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
                    3.4 บุคคลดังต่อไปนี้อาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตแทนผู้ป่วยตามข้อ 3.1
                              (1) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นมีอายุไม่เกิน 18 ปี
                              (2) บิดา มารดา ผู้รับบุตรบญธรรม คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรรม พี่น้องผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ให้การรักษามีหนังสือรับรองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่รู้สึกตัว หรือไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงเจตนาได้
                    3.5 กำหนดให้ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาต ข้อมูอมูล เอกสาร หรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ ในกรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์
                    3.6 กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเกท 4 แล้วแต่กรณี
                    3.7 กำหนดให้คำขอตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาตให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้และให้ดำเนินการต่อไปตามกฎกระทรวงนี้ และในกรณีที่คำขอมีข้อความแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวงนี้ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติม                   คำขอและส่งข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ได้

8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                    ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอว่า
                    1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนันพุทธศักราช 2478 ข้อ 5 (ก) 1. การเล่นต่าง ๆ ซึ่งให้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งกัน ให้เล่นได้ภายในกำหนดเวลา 7 ถึง 19 นาฬิกา
                    2. นายกรัฐมนตรีได้มอบโยบายกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ มุ่งหวังกระตุ้นเมืองรองสู่การท่องเที่ยวเมืองหลัก จึงเน้นย้ำให้ช่วยกันคิด นำจุดเด่นแต่ละพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และกล่าวถึงแนวความคิดหลัก 4 แนวความคิด ได้แก่ 1) การส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง 2) การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น High Season ตลอดทั้งปี 3) พัฒนาการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยว และ 4) การทำให้นักท่องเที่ยวจับจ่าย ใช้สอยมากยิ่งขึ้น โดยเน้นนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาจจะเป็นสถานที่สวยงาม หรือผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ รวมถึงอาหารและวัฒนธรรมด้วย
                    3. ต่อมาจังหวัดเพชรบุรีเห็นว่า เวลาในการแข่งขันวัวลานไม่สอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่นซึ่งนิยมเล่นในเวลากลางคืน ควรแก้ไขจากเวลา 07.00 นาฬิกาถึง 19.00 นาฬิกา เป็นเวลา 19.00 นาฬิกา ถึง 01.00 นาฬิกา และได้มีการจัดประชุมซักซ้อมแนวทางการพิจารณาอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทแข่งขันสัตว์ (วัวลาน) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวลานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอข้อคิดเห็นว่าเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่นที่แท้จริงคือ เวลา 18.00 นาฬิกา ถึง 06.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งการพิจารณาปรับเวลาดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวลานและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบกับหากมีการอนุญาตให้มีการเล่นในเวลาที่สอดคล้องกับการละเล่นที่แท้จริงดังกล่าว ภาครัฐจะสามารถเข้าไปดูแลจัดการให้การเล่นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
                    4. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 พฤษภาคม 2567) รับทราบและเห็นชอบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 และวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 ในการประชุมหารือระหว่าง                  รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) กับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 โดยการแก้ไขกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการละเล่นวัวลานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี มอบหมายให้กรมการปกครองพิจารณาปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตระยะเวลาการละเล่นวัวลานให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน
                    5. อย่างไรก็ตาม แม้การพิจารณาปรับเวลาดังกล่าวอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการระบาดของยาเสพติด ปัญหาการมั่วสุมของเยาวชน ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาอุบัติเหตุด้านการจราจรในช่วงเวลากลางคืน ปัญหาด้านการสาธารณสุข ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง มท. จะได้แจ้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น (1) กำหนดขอบเขตพื้นที่จัดให้มีการเล่นแข่งขันวัวลานให้ชัดเจนสถานที่ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย (2) เจ้าของสถานที่ต้องจัดให้มีมาตรการคัดกรองเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เช่น จัดให้มีจุดตรวจเข้า - ออก บุคคลและยานพาหนะเพื่อป้องกันการพกพาอาวุธปืนหรือสิ่งผิดกฎหมายเข้าไปในสถานที่ (3) จังหวัดหรืออำเภอต้องจัดให้มีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจร่วมกันตรวจตรา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยอาจจัดให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุง สืบสาน และอนุรักษ์การเล่นวัวลานซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น แก้ไขปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่กรณีที่ต้องจัดให้มีการเล่นแข่งขันวัวลานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ภาครัฐจะสามารถเข้าไปดูแลจัดการให้การเล่นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัวลานและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
                    6. มท. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 15 ? 29 พฤษภาคม 2567 ด้วยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย (ร้อยละ 95)
ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้



กฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503)ฯ          ร่างกฎกระทรวงฯ
ข้อ 5 (ก) กำหนดใบอนุญาตให้เล่นการพนันตามบัญชี ข. ต้องไม่เกินจำนวนวันและต้องอยู่ภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
   1. การเล่นต่างๆ ซึ่งให้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งขัน ซึ่งไม่มีการเล่นโตแตไลเซเตอร์ สวีป บุ๊กเมกิง รวมอยู่ด้วย กำหนดเวลา 7 ถึง 19 นาฬิกา          ข้อ 1 ให้เพิมเติมความต่อไปนี้ เป็น 1/1 ของ ข้อ 5 (ก) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
   ?1/1 การเล่นแข่งวัวลาน กำหนดเวลา 18 ถึง 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น?


เศรษฐกิจ-สังคม
9. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย)
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (กรณีระเบียบกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมโดยไม่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกรณีระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการ                          ในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 (1) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย โดยผู้ร้องเห็นว่า ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ไม่สอดคล้องกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่บัญญัติให้การเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งผู้ประกันตนที่ชำระเงินสมทบในระบบประกันสังคม มีทั้งบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่ง กสม. เห็นว่า ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เป็นบทบัญญัติที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยัง รง. เพื่อให้แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ  และให้เร่งรัดจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม
                    2. ต่อมา รง. โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า สปส. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เฉพาะกิจ) ในการศึกษาและวิเคราะห์การใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและหลักการทางสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นควรให้คงข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ไว้ โดยไม่แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เนื่องจากได้นำหลักการและเหตุผลหลายปัจจัยมาพิจารณาด้วยแล้ว
                    3. กสม. เห็นว่า รง. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยไม่มีเหตุอันสมควรเนื่องจากกองทุนประกันสังคมได้จัดเก็บเงินสมทบในระบบประกันสังคมจากบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 8  แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ รง. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อไป
                    4. คณะรัฐมนตรีมีมติ (24 ตุลาคม 2566) รับทราบข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว ตามที่ กสม. เสนอ และมอบหมายให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้ รง. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    รง. รายงานว่า ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าว ตามข้อ 4 ร่วมกับ พม. มท. สธ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สคก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 วันที่ 31 มกราคม 2567 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 3 ครั้ง ซึ่งมีผลการพิจารณา ดังนี้
                    1. การพิจารณาว่าระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย หรือไม่ นั้น มีหลักในการพิจารณาที่สำคัญ 2 ประการ คือ หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันมีสิทธิได้รับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                              1.1 ประการที่ 1 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
                                        1.1.1 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 45/2546 วางแนวทางการวินิจฉัย เรื่อง การห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไว้สรุปได้ว่า การที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 20 กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลที่มีสัญชาติไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลต้องมีคุณสมบัติทางการศึกษาอันเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้น ตามเชื้อชาติของบุคคล ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีสัญชาติไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติแตกต่างกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีสถานะของบุคคลแตกต่างกันแต่อย่างใด ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในกฎหมาย อีกทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ  ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะเห็นได้ว่า การพิจารณาว่าบทบัญญัติใดเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาสถานะของบุคคลเสียก่อนว่าบุคคลนั้นอยู่ในสถานะเดียวกันหรือไม่ เช่น หากเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเดียวกันแต่มีเชื้อชาติแตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่หากบุคคลนั้นมีสถานะที่แตกต่างกัน เช่น เป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยกับแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่แรงงานทั้งสองประเกทได้รับก็ย่อมมีความแตกต่างกันตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีของคนต่างด้าวนั้นหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประสงค์จะให้สิทธิเสรีภาพแก่คนต่างด้าวไว้อย่างไร ก็จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะ แต่หากรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้บัญญัติไว้ คนต่างด้าวมีสิทธิเพียงใดย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญาและกฎหมายอื่นกำหนดไว้ นอกจากนั้นแม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในมาตราต่าง ๆ จะได้บัญญัติถ้อยคำไว้ว่า ?บุคคลย่อมมีสิทธิ? หรือ ?บุคคลย่อมมีเสรีภาพ? แต่คำว่า ?บุคคล? ในมาตราเหล่านั้นหมายถึง ?ชนชาวไทย? ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เนื่องจากต้องถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนสัญชาติของรัฐนั้นเอง ดังนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์รัฐบาลไทยกับคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ได้ขยายความไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยเหตุดังกล่าว บทบัญญัติข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย จึงไม่เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองคุ้มครองไว้ และการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด
                              1.1.2 หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วเห็นว่า ได้มีการกำหนดหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ?เชื้อชาติ? ไว้โดยชัดเจน ซึ่งความหมายของคำว่า ?เชื้อชาติ? นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับคำว่า ?สัญชาติ? ที่หมายความถึงสถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การพิจารณาว่า บทบัญญัติใดเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล หรือไม่ ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับ จึงต้องใช้หลักการเช่นเดียวกันกับการพิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ ต้องพิจารณาสถานะของบุคคลเสียก่อนว่าบุคคลนั้นอยู่ในสถานะเดียวกันหรือไม่ เช่น หากเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเดียวกัน แต่มีเชื้อชาติแตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเป็นการต้องห้าม แต่หากบุคคลนั้นมีสถานะที่ต่างกัน เช่น เป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยกับแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ซึ่งผู้ประกันตนทั้งสองประเภทนี้ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายที่แตกต่างกัน ตามที่กฎหมายภายในของรัฐนั้นกำหนด ดังนั้น บทบัญญัติข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย จึงไม่เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เนื่องจากมิได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติแต่อย่างใด และการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด
                              1.2 ประการที่ 2 การพิจารณาจากสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกับตนมีสิทธิได้รับสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                                        1.2.1 สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยที่กองทุนประกันสังคมมีเจตนารมณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกันตนภายใต้หลักการของการร่วมจ่ายเงินสมทบจากบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อนำเงินสมทบที่ได้มาจัดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน 7 กรณี ได้แก่ 1) ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค 2) ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร 3) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ 4) ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย 5) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร 6) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และ 7) ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานยกเว้นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีดังกล่าว เป็นสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกันตนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ประกันตนนั้นจะเป็นผู้ประกันตนสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ สปส. ได้มีแนวทางขยายความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
                                        1.2.2 สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ได้รับความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนใน 4 กรณี ได้แก่ 1) ค่ารักษาพยาบาล 2) ค่าทดแทนรายเดือน ซึ่งจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ                 เจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท) 3) ค่าทำศพ และ 4) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฯ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาคไม่ว่าลูกจ้างนั้น จะมีสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
                    2. เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับดังกล่าวข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า รง. โดย สปส. ได้จัดสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์ได้รับให้แก่ผู้ประกันตนอย่างเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าผู้ประกันตนนั้นจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน อันเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติแล้ว
                    3. สำหรับสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเพื่อเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน นั้น เนื่องจากสิทธิในกรณีดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น รง. โดย สปส. จึงจำเป็นต้องออกระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ในข้อ 16 (1) โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ต้องมีสัญชาติไทยเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ซึ่งการออกระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ได้พิจารณาจากความจำเป็นและความเหมาะสมเพื่อให้การบริหารราชการบรรลุเป้าหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และได้คำนึงถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วย เนื่องจากคณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญอันอาจมีผลต่อความมั่นคงของรัฐและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น  ระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ฉบับนี้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครองไว้ และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแต่อย่างใด
                    4. สำหรับข้อเสนอแนะของ กสม. ที่เสนอให้ รง. แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เพื่อมิให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายและหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามให้การรับรองและคุ้มครองไว้ นั้น รง. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การจะให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบกับความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจของประเทศ  จึงมิอาจดำเนินการเพียงแค่การแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานฯ เท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมว่าควรให้สิทธิแก่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมได้หรือไม่ เพียงใด โดย รง. ได้สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม.          สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม
1. ให้ รง. แก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ข้อ 16 (1) ที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย          ? เห็นควรคงระเบียบกระทรวงแรงงานฯ ข้อ 16 (1) เนื่องจากเห็นว่า ไม่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผล ดังนี้
          1. สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ประกันตนจะมีสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานข้ามชาติ
          2. สิทธิของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติในด้านอื่น ๆ จะมีสิทธิเพียงใด ย่อมเป็นไปตามอำนาจอธิปไตยของรัฐที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข              ต่าง ๆ โดยตราเป็นกฎหมายใช้บังคับตามความเหมาะสมกับสภาพสังคมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งต้องไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และแม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในมาตราต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ว่า ?บุคคลย่อมมีสิทธิ? หรือ ?บุคคลย่อมมีเสรีภาพ? แต่คำว่า ?บุคคล? ในมาตราเหล่านั้นหมายถึง ?ชนชาวไทย? ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
2. ให้ รง. เร่งรัดจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม          ? รง. ได้จัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566

10. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2567  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
                    สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                    ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการผลิตรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง มาจากตลาดผู้บริโภคภายในประเทศลดลง ปัญหาสภาพคล่องในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนค่าครองชีพสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์ดีต่อเนื่อง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                    1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 14.22 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
                    2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.16 จาก Integrated Circuits (IC) เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตลดลง
                    3. ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวร้อยละ 11.97 จากเสาเข็มคอนกรีต        พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง จึงชะลอคำสั่งซื้อ
                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                    1. น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 19.88 จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น หลังปาล์มสุกไวจากอากาศร้อนจัดในช่วงก่อนหน้า
                    2. อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 10.55 ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน ญี่ปุ่น และการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ
                    3. เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวร้อยละ 8.18 จากเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กเส้นข้ออ้อยเป็นหลัก เนื่องจากจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนผู้ผลิตเหล็กบางรายที่เลี่ยงชำระภาษีส่งออก จีนจึงชะลอการส่งออกเหล็ก

11. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนพฤษภาคมและ 5 เดือนแรกของปี 2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนพฤษภาคมและ 5 เดือนแรกของปี 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
          สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1.          สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2567
          การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (960,220 ล้านบาท) ขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.5 การส่งออกไทยทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.3
                    มูลค่าการค้ารวม
          มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม  51,782.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.2 การนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.7 ดุลการค้า เกินดุล 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 246,447.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 120,493.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 การนำเข้า มีมูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,907,226 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 960,220 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.1 การนำเข้า มีมูลค่า 947,007 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ดุลการค้า เกินดุล 13,214 ล้านบาท ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวม มีมูลค่า 8,840,471 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออก มีมูลค่า 4,298,248 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.1 การนำเข้า มีมูลค่า 4,542,224 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.8 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 243,976 ล้านบาท
                    การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 19.4 โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 36.5 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 128.0 (ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 46.6 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 39.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลี) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 10.2 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 95.7 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เกาหลีใต้ และเวียดนาม) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ลาว และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 6.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เมียนมา ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเวียดนาม) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 4.5 (หดตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และเนเธอร์แลนด์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 0.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชิลี และแอฟริกาใต้) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 46.1 (หดตัวในตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.2 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.7
                    การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
          มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.6 มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 44.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 110.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย) ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง ขยายตัวร้อยละ 33.9 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และญี่ปุ่น) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 8.8 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 11.9 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 14.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 27.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม อินเดีย และไต้หวัน) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.6 (หดตัวในตลาดเบลเยียม ญี่ปุ่น บราซิล ออสเตรเลีย และจีน) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.4
               ตลาดส่งออกสำคัญ
                    ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางดีขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน และตลาดสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 8.0 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 9.1 และ CLMV ร้อยละ 9.6 กลับมาขยายตัวในตลาดจีน ร้อยละ 31.2 ขณะที่กลับมาหดตัวในตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 0.6 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 5.4 แต่หดตัวต่อเนื่องในตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 1.0 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 22.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 14.8 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 2.7 ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 1.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 8.1 และแอฟริกา ร้อยละ 19.0 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 1.5 (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 11.5 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 28.1
2.          มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
                     การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนพฤษภาคม อาทิ                   (1) การส่งเสริมการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในด้านภาพยนตร์และอาหาร เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก Cannes Film Festival 2024 ที่เมืองคานส์ เพื่อเปิดตลาดภาพยนตร์ แอนิเมชัน ซีรีส์วายของไทยไปสู่ระดับโลก ร่วมมือกับ                 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในฝรั่งเศสเพื่อโปรโมตอาหารไทยและร้านอาหารไทย และเชิญผู้ประกอบการท้องถิ่นของฝรั่งเศสเยือนงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย               (2) การเสริมสร้างความมั่นใจในการเป็นครัวมาตรฐานโลกของไทย หารือกับเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย แสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะสามารถสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารให้แก่สิงคโปร์ และได้ผลักดันให้สิงคโปร์เร่งรัดขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิกของไทย เพื่อให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มเติมจากปัจจุบัน                          (3) การเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าผลไม้โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ โดยพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครกวางโจว จัดกิจกรรมร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์จากจีนในการ Live สด ขายทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี ตามนโยบายเพิ่มช่องทางการตลาดแบบใหม่โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ของกระทรวงพาณิชย์
                     กิจกรรมส่งเสริมการส่งออกครึ่งปีหลังของปี 2567 มีจำนวนกว่า 50 กิจกรรม คาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้ารวม 50,834 ล้านบาท มีกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ (1) เปิดประตูโอกาสทางการค้าเชิงรุก โดยจัดคณะผู้แทนการค้าระดับรัฐบาล (Goodwill Mission) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน (2) ขยายการค้าไปยังเมืองรองที่มีศักยภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ MOU กับมณฑลจีน จำนวน 7 ฉบับ (3) พัฒนาช่องทางการตลาดและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ SMEs Pro-active (4) ขับเคลื่อนการส่งออกใน 11 อุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์เป้าหมาย อาทิ จัด Festival ส่งเสริมมวยไทย โครงการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศด้วยพลังสร้างสรรค์ (Soft  Power) เป็นต้น (5) ใช้แพลตฟอร์ม Marketing Platform รูปแบบใหม่ อาทิ จัดมหกรรม International Live Commerce (6) ส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (cross-border e-commerce) โดยจัดตั้งร้าน TOP THAI บนแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างชาติพันธมิตร และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นระยะ มีแผนที่จะเปิดร้าน TOP THAI เพิ่มเติม บนแพลตฟอร์ม JD.com ของจีน นอกจากนี้มีแผนงานใหม่ ๆ อาทิ การยกระดับตรา Thai SELECT และโครงการสร้างแบรนด์ประเทศไทย ด้วยการสร้างเนื้อหา (Content) ต่อยอด Think Thailand เป็นต้น
                    แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังเติบโตได้ดีโดยได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า จากปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง อาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย
12. เรื่อง ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
                    สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                    กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ                    จันทรรวงทอง) เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมาคมโทรคมนาคมฯ) เพื่อบูรณาการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์


                    สำหรับ ผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้
                    1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์
                    ตร. ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 เทียบกับการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
                    1) การจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในเดือนมิถุนายน 2567
มีการจับกุมจำนวน 2,349 คน ซึ่งลดลงร้อยละ 5.86 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 2,495 คนต่อเดือน
                    2) การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการจับกุมจำนวน 1,082 ราย โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.69 โดยใกล้เคียงกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ที่มีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 1,064 คนต่อเดือน
                    3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการจับกุมจำนวน 160 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 33.33 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567จำนวน 240 คนต่อเดือน
                    4) การจับกุมครั้งสำคัญของ ตร. ในห้วงเดือนมิถุนายน 2567 อาทิ (1) การจับกุม 3 เครือข่ายเว็บพนันบอลยูโร เครือข่ายที่ 1 เว็บพนัน yeslotto online จับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 13 ราย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 4,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 80 ล้านบาท เครือข่ายที่ 2 เว็บพนัน 888henglotto.com จับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 16 ราย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 8,000 คน  มียอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 10 ล้านบาท เครือข่ายที่ 3 เว็บพนัน wm88 vip และ x-stand.com โดยจับกุมตัวการใหญ่ชาวจีนและผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวมจำนวน 64 ราย โดยพบว่ามีรายได้ในครึ่งปีถึง 1,400 ล้านบาท พร้อมตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินได้รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 287 ล้านบาท (2) การทลายจุดตั้ง SIMBOX ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยยึดอุปกรณ์ SIMBOX หรือ GSM Gateway ได้จำนวน 6 เครื่อง พบบุคคลต่างชาติชาวเวียดนามเกี่ยวข้อง จำนวน 1 ราย  (3) ปฏิบัติการ ?สกัดกั้น STARLINK, ซิมการ์ด และจุดตั้ง SIMBOX? ร่วมกับกรมศุลกากรซึ่งตรวจพบการนำเข้าเครื่อง STARLINK จำนวน 21 เครื่อง และซิมการ์ด จำนวนประมาณ 15,675 ชิ้น ที่มีลักษณะใช้งานแล้ว และพบว่าจุดหมายปลายทางอยู่บริเวณจังหวัดที่มีเขตติดต่อแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ขยายผลตรวจค้นเพิ่มเติม จำนวน 14 จุด พบเครื่อง STARLINK จำนวน 4 เครื่อง  อุปกรณ์ SIMBOX จำนวน 96 เครื่อง และซิมการ์ดทั้งของไทยและต่างประเทศกว่า 33,000 ชิ้น
                    สำหรับ DSI ได้ดำเนินการจับกุมคดีที่สำคัญ ในเดือนมิถุนายน 2567 ได้แก่ การจับกุมผู้จัดหาบัญชีม้าแล้วนำไปขายต่อให้กับตัวแทนเว็บไซต์พนันออนไลน์ต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ในความผิดฐานร่วมกัน               ฟอกเงิน และการจับกุมการลักลอบจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าโดยมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชี 20 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
                    ทั้งนี้ ในภาพรวมการจับกุมในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการจับกุมในช่วงก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 โดยเฉพาะการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า ที่ลดลงถึงร้อยละ 33.33 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
                    2. การปิดกั้นโซเซียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน
                    ดศ. ตร. และ DSI ได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ ดังนี้
                              1) ดศ. ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 14,363 รายการ เพิ่มขึ้น 5.2 เท่า จากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท จำนวน 2,763 รายการ
                              2) ดศ. ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 5,711  รายการ เพิ่มขึ้น 20.9 เท่า จากเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 276 รายการ
                    3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน
                              1) การระงับบัญชีม้าสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีการะงับบัญชีม้ารวมกว่า 900,000 บัญชีแบ่งเป็น สำนักงาน ปปง. ปิด 416,348 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC 1441) ระงับ 209,823 บัญชี
                              2) กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมายโดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคารจากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยในเดือนมิถุนายน 2567 มีการปิดบัญชีม้าไปแล้วจำนวน 72,269 บัญชี
                              3) การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ยกระดับการจัดการ ?บัญชี? เป็น ?บุคคล? ทุกธนาคารจัดการบัญชีม้าตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกันและมาตรการที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการ โดยมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถล็อคเงินในบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และปลดล็อคได้ยากขึ้น และ/หรือ ปรับลดจำนวนวงเงินในการสแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรมใน mobile banking รวมทั้ง การเสนอบริการเพิ่มเติม อาทิ การถอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorization) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
                    4. มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และซิมที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง
                    ผลการดำเนินงานสำคัญถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ดังนี้
1)          การระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน  จำนวน  50,736 เลขหมาย มี
ผู้มายืนยันยันตัวตน 418 เลขหมาย และไม่มายืนยันตัวตน 50,318 เลขหมาย
                    2) การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและผลการดำเนินงาน ดังนี้
                              2.1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีจำนวนเลขหมายที่เข้าข่าย จำนวน                    5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน                3.9 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 78 ของเลขหมายที่เข้าข่ายต้องมายืนยันตัวตนในกรณีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณ 1.3 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้คงเหลือที่ไม่มีผู้มายืนยันตัวตน จำนวน 1.1 ล้านเลขหมาย
                              2.2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย มีผู้มายืนตัวตนแล้ว 1.6 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 40 ของเลขหมายที่เข้าข่ายต้องมายืนยันตัวตนในกรณีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณ                           0.6 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ คงเหลือที่ไม่มีผู้มายืนยันตัวตน จำนวน 2.4 ล้านเลขหมาย
                    5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์                           ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
                    สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจเข้มพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน ลงพื้นที่จังหวัดตากรอบสอง      เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามการลักลอบลากสายสัญญาณโทรคมนาคมข้ามฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน                    ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมการหันเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้แล้วทั้ง 7 พื้นที่ คือ                (1) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (2) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (3) อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (4) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (5) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (6) อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และ                  (7) อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยทุกพื้นที่ที่มีการหันเสาออกนอกประเทศไทยได้มีการระงับสัญญาณรวมแล้ว                   366 สถานีฐาน และได้กำหนดพื้นที่เพิ่มเติมตามมาตรการระงับการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง ในอีก 4 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ (1) อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ จังหวัดตาก (2) อำเภอกาบเชิง                    จังหวัดสุรินทร์ และ (3) อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
                    6. การบูรณาการข้อมูล
                    ดศ. ได้ประชุมหารือแนวทางการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลของศูนย์ AOC 1441 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 โดยชี้แจงขั้นตอน แนวปฏิบัติภาพรวมของการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบูรณาการข้อมูลศูนย์ AOC 1441 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินการส่งข้อมูลการแจ้งความในระบบ Thaipoliceonline ระบบบัญชีธนาคาร (Banking) และข้อมูลระบบ CFR ย้อนหลังระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ให้กับทางศูนย์ AOC 1441 เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลของศูนย์ AOC 1441 และหาแนวทางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป
                    7. การแก้กฎหมายเร่งด่วน การประชาสัมพันธ์เชิงรุก
                              1) การแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ?เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567?  ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2567  โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงินพร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5  วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนโดยให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบว่าสินค้ามีปัญหาสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
                              2) การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดย ดศ. จะดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนจัดทำโครงการดิจิทัลวัคซีน เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันอาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยออนไลน์ไปจำนวนมาก หากแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการปรับรูปแบบเป็นการรณรงค์ระดับชาติ ที่มีการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ การแจ้งเตือนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ต้องมีความรวดเร็ว ทันสถานการณ์เนื่องจากการหลอกลวงออนไลน์สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และมีรูปแบบการหลอกลวงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการขอความร่วมมือกับเอกชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
                    ในภาพรวมการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ ผลงานมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสถิติการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้ามีจำนวนลดลงในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการพิจารณาและกำชับในเรื่องนี้ด้วยแล้ว โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเมินว่า จากการปรับปรุงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งลดข้อขัดข้องในด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงในระยะต่อไป



13. เรื่อง การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 56 วัด เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 (ระเบียบฯ) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    วธ. รายงานว่า
                    1. ระเบียบฯ ข้อ 16 ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก1 โดยกำหนดให้ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (วันที่ 15 มิถุนายน 2564) เมื่อปรากฏว่า มีวัดคาทอลิกอยู่ในวันก่อนที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและมิซซัง2 โดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก (คณะกรรมการฯ) พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองวัดคาทอลิกต่อไป
                    2. มิซซัง โดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นแบบ        คำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อกรมการศาสนา จำนวน 360 วัด (ยื่นคำขอก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2566) และที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รับรองเป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบฯ แล้ว จำนวน 245 วัด และในครั้งนี้กรมการศาสนาได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ วธ. ลงพื้นที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งวัด ที่ดินที่ตั้งวัด รายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำวัด ณ วัดคาทอลิกนั้น และข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรอง               วัดคาทอลิกเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น จำนวน 56 วัด (คงเหลือ 59 วัด ซึ่งอยู่ระหว่าง                 การพิจารณาของคณะกรรมการฯ) โดยคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบให้เสนอคำขอให้รับรองวัดคาทอลิก จำนวน 56 วัด ต่อคณะรัฐมนตรี โดยแยกเป็นรายจังหวัด จำนวน 18 จังหวัด ดังนี้
จังหวัด          จำนวนวัด          ตัวอย่างวัดคาทอลิก
กรุงเทพมหานคร          10          วัดนักบุญยอห์นบอสโก กรุงเทพ วัดพระมหาไถ่ (ซอยร่วมฤดี)
จังหวัดอ่างทอง          1          วัดนักบุญมีคาแอล (อ่างทอง)
จังหวัดราชบุรี          1          วัดแม่พระถวายองค์ในพระวิหาร (ลูกแก)
จังหวัดนครปฐม          4          วัดพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ (สามพราน) วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ (สามพราน)
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์          4          วัดนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู (หัวหิน) วัดพระวิสุทธิวงศ์ (ปราณบุรี)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี          5          วัดนักบุญอันนา (เกาะสมุย) วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ (เฉวง)
จังหวัดนครศรีธรรมราช          3          วัดนักบุญดอมินิก ซาวีโอ (ร่อนพิบูลย์) วัดนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล (พุดหง)
จังหวัดระนอง          1          วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า (ระนอง)
จังหวัดพังงา          1          วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน (ตะกั่วป่า)
จังหวัดกระบี่          1          วัดนักบุญอักแนส (กระบี่)
จังหวัดเชียงใหม่          2          วัดพระจิตเจ้า (สวนเจ็ดริน) วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร (แม่ริม)
จังหวัดแม่ฮ่องสอน          6          วัดพระแม่มารีย์ (หนองแห้ง) วัดนักบุญเปาโล (แม่สะเรียง)
จังหวัดขอนแก่น          2          วัดนักบุญเยราร์ด วัดนักบุญยากอบอัครสาวก
จังหวัดอุดรธานี          1          วัดนักบุญวินเซนเดอปอล (บ้านจิก)
จังหวัดหนองคาย          3          วัดนักบุญอัลฟอนโซ (หนองคาย) วัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ (หนองสองห้อง)
จังหวัดสกลนคร          7          วัดนักบุญปีโอ ที่ 10 ห้วยทราย วัดมรณสักขีทั้งเจ็ดแห่งสองคอน กุดจอกน้อย
จังหวัดนครพนม          1          วัดนักบุญอันนา บ้านแพง
จังหวัดมุกดาหาร          3          วัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ แก่งกะเบา วัดแม่พระฟาติมา ดอนตาล
รวม          56          -
                    3. โดยที่ระเบียบฯ กำหนดให้มิซซังฯ ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกซึ่งเป็นวัดคาทอลิกที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับภายในระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่ระเบียบฯ ใช้บังคับ (15 มิถุนายน 2564) เพื่อให้มีการดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกตามขั้นตอนที่ระเบียบฯ กำหนด ซึ่งระยะเวลาการยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกดังกล่าวได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 แต่การรับรองวัดคาทอลิกไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นทุกขั้นตอน วธ. (กรมการศาสนา) จึงได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อให้พิจารณาแนวทางดำเนินการรับรองวัดคาทอลิกหลังสิ้นสุดระยะเวลาสองปีตามที่ระเบียบฯ กำหนด ทั้งนี้ สคก. (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8) พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า กรณี                มิซซังโดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อกรมการศาสนาภายในกำหนดระยะเวลาสองปีโดยชอบแล้ว (ยื่นคำขอก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2566) กรมการศาสนาและพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมสามารถพิจารณาคำขอดังกล่าวที่ยื่นไว้และอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไปได้แม้จะพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 16 แห่งระเบียบฯ3 และผลการพิจารณาคำขอที่ออกภายหลังระยะเวลาดังกล่าว ไม่มีผลกระทบทางกฎหมายต่อสถานะของวัดคาทอลิกที่จะได้รับการรับรอง
                    4. ประโยชน์และผลกระทบ
                    การรับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบฯ ส่งผลให้วัดคาทอลิกในประเทศไทยได้รับฐานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง เป็นศาสนสถานที่มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ ช่วยให้การดำเนินงานของวัดในด้านต่าง ๆ เช่น การประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อ การศึกษาอบรมหลักคำสอน การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้แก่คนในสังคม การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น การสังคมสงเคราะห์ การจัดกิจกรรมศาสนสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง อุปถัมภ์ และทำนุบำรุงจากภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงของพระศาสนจักรคาทอลิกในดินแดนไทย ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกของโลก
1 การรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของคริสต์ศาสนิกชนที่บริจาคเงินให้แก่วัด
2 การบริหารของพระศาสนจักรคาทอลิกมีมิซซัง (สังฆมณฑล) เป็นองค์กรหลักและมีบิชอป (มุขนายก) เป็น                     ศาสนบริกร โดยอยู่ภายใต้องค์กรหลักหรือมิซซัง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย ลักษณ ฐานะ ของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม
3 ข้อ 16 แห่งระเบียบฯ กำหนดให้ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่า มีวัดคาทอลิกอยู่ในวันก่อนวันที่ ระเบียบนี้ใช้บังคับ และมิซซังยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกนั้น พร้อมด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งวัด ที่ดินที่ตั้งวัด รายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิกนั้นและข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิกนั้น
          เมื่อได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิก และให้คณะกรรมการฯ เสนอคำขอดังกล่าวพร้อมความเห็นประกอบไปยังรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองวัดคาทอลิกต่อไป

14. เรื่อง รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในวันที่ 17 มิถุนายน 2567
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    กค. รายงานว่า
                    1. กค. ได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 จำนวน 25,000 ล้านบาท (เป็นหนี้ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2545) ด้วยการการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 จำนวน 25,000 ล้านบาท มีรายละเอียดผลการกู้เงิน ดังนี้
วันที่ประมูล          วันที่เบิกเงินกู้          อายุ          วงเงิน
(ล้านบาท)          อัตราดอกเบี้ย
(ร้อยละต่อปี)
16 พฤษภาคม 2565          17 มิถุนายน 2567          1 ปี 10 เดือน 23 วัน          25,000          Compounded THOR1 + 0.01774
                    2. กค. ได้ดำเนินการออกประกาศ กค. เกี่ยวกับผลการกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 อนุมัติให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน ตามความเหมาะสมและจำเป็นโดยภายใต้แผนดังกล่าวมีการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้                  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 5 ที่ครบกำหนดในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 จำนวน 25,000 ล้านบาท ด้วย
1 Compounded THOR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร

15. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะ                 ทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2566 (รายงานฯ ประจำปี 2566) และโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 (แผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570) ประจำปี 2567 ที่หน่วยงานเสนอเพิ่มเติม (โครงการฯ ประจำปี 2567) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มิถุนายน 2565) เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570 ตามที่ กค. เสนอ ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าวได้กำหนดแผนงานให้ กค. จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี
                    2. ปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ผ่านกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 12,402 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ สรุปได้ ดังนี้
                    2.1 ภาพรวมคนไทยมีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.4 สูงขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 67.4 และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ในปี 2563 ที่ร้อยละ 60.5 ทั้งนี้ คะแนนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากทักษะทางการเงินในด้านความรู้ทางการเงิน1 และพฤติกรรมทางการเงิน2 ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 69.7 (จากร้อยละ 62.6) และร้อยละ 70.3 (จากร้อยละ 66.4) ตามลำดับ ขณะที่คะแนนด้านทัศนคติทางการเงิน3 มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 76.8 (จากร้อยละ 77.8) อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับระดับสากลจากการสำรวจของ OECD แล้ว ทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการสำรวจของ OECO
                              2.2 ทักษะทางการเงินกับสถานภาพ ในภาพรวมสรุปได้ดังนี้ (1) เพศ : เพศหญิงมีค่าเฉลี่ยระดับทักษะทางการเงินสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย (2) ช่วงอายุ : คนไทยในช่วงอายุ 30 - 39 ปี มีระดับทักษะทางการเงินที่สูงกว่าช่วงอายุอื่น ๆ (3) ระดับการศึกษา : ระดับทักษะทางการเงินมีความสอดคล้องกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้น (4) อาชีพ : คนไทยที่มีระดับทักษะทางการเงินสูงสุด 4 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอาชีพลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ อาชีพอื่น ๆ กลุ่มนายจ้าง และกลุ่มลูกจ้างรัฐบาลตามลำดับ (5) ประเภทอุตสาหกรรม : กลุ่มที่อยู่ในภาคการเงินมีระดับทักษะทางการเงินที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ (6) ภูมิภาค : ผู้ตอบแบบสำรวจในกรุงเทพมหานครมีระดับทักษะทางการเงินสูงที่สุด รองลงมาคือภาคใต้
                              2.3 ทักษะทางการเงินของคนไทยตามช่วงวัย พบว่า ทุกช่วงวัยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2563 โดย Gen Y (อายุ 22 - 41 ปี) มีระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75.7 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาพรวมคนไทยในทุกช่วงวัย และ Gen Baby Boomer (58 ปีขึ้นไป) มีระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทุกช่วงวัย ทั้งนี้ ทุกช่วงวัยควรตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงินและการเก็บออมสำหรับอนาคต เพื่อให้สามารถเก็บออมและมีเงินใช้จ่ายได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติของการออมพบว่า สัดส่วนคนไทยที่มีเงินออมในช่วงปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 87.5 ลดลงร้อยละ 2.7 จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 90.2 โดยคนไทยส่วนมากเลือกเก็บออมเป็นเงินสดและเก็บในบัญชีที่เปิดไว้สำหรับเพื่อออมโดยเฉพาะ ซึ่งการเก็บออมด้วยวิธีดังกล่าวอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยได้มาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งมีคนไทยเพียงร้อยละ 2.6 ที่เลือกเก็บออมผ่านการลงทุน และหากมองในมิติของการออมเผื่อเกษียณและการออมเผื่อฉุกเฉิน พบว่า (1) การออมเผื่อเกษียณมีคนไทยเพียงร้อยละ 15.7 วางแผนเกษียณและทำได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ Gen Baby Boomer ขึ้นไปมีสัดส่วนผู้ที่วางแผนเกษียณและทำได้ตามแผนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น ๆ แต่ก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 21.8 เท่านั้น และ (2) การออมเผื่อฉุกเฉิน มีสัดส่วนคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 71.6 แต่ถ้าพิจารณาสัดส่วนจำนวนผู้ที่มีเงินออมฉุกเฉินที่เหมาะสม (มีเงินเพื่อใช้จ่ายหากต้องหยุดงานกะทันหันตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป) มีเพียงร้อยละ 22.4 และเมื่อพิจารณาตามช่วงวัยกลับพบว่ามีสัดส่วนลดลงในทุกช่วงวัย
                              2.4 ทักษะทางการเงินดิจิทัล พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 73.3 ทราบว่าการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อออนไลน์มีความเสี่ยงที่มิจฉาชีพอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ และมีคนไทยเพียงร้อยละ 21 ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าถึงระบบออนไลน์เป็นประจำ สำหรับจุดอ่อนสำหรับคนไทยทุกช่วงวัย คือ ทัศนคติต่อการใช้ระบบ Wi-Fi สาธารณะเพื่อซื้อของออนไลน์ โดยมีเพียงร้อยละ 34.8 ที่ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวไม่ปลอดภัย ในส่วนของภัยทางการเงิน พบว่า การถูกหลอกให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นการหลอกลวงที่พบมากที่สุด รองลงมาคือการให้ข้อมูลทางการเงินแก่มิจฉาชีพผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ และหลอกให้เสียทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพทางออนไลน์ตามลำดับ
                              2.5 ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) สร้างเสริมความรู้ทางการเงินผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงด้านการเงิน โดยสร้างความเข้าใจตั้งแต่วัยเยาว์ผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย (2) ส่งเสริมทักษะทางการเงินที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยปรับเนื้อหาและกระบวนการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย (3) ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งการออมเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะสม คือ การมีเงินคงเหลือ 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน และ (4) การให้ความรู้เรื่องการเงินดิจิทัลและภัยทางการเงิน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีทัศนคติ ความรู้ และพฤติกรรมในการใช้งานบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
                    3. รายงานฯ ประจำปี 2566 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องในการวางรากฐานและเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งรายงานดังกล่าวประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ในภาพรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ได้แล้วเสร็จและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
                    4. โครงการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2565 - 2570 ประจำปี 2567 จะเป็นโครงการ (เดิม) ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2566 และโครงการที่หน่วยงานเสนอเพิ่มเติมจำนวน 9 โครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการดังกล่าวในการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการเงิน การผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา เช่น การออม การบริหารจัดการเงิน ภัยและกลโกงการเงิน เป็นต้น และการมีมาตรการสนับสนุนเพื่อให้องค์กรในภาคการเงินมีกิจกรรมด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ประกอบด้วย
                              4.1 โครงการภายใต้มาตรการที่ 4 ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา แผนงานที่ 4.2 ยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอน จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
                              4.2 โครงการภายใต้มาตรการที่ 5 พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชน ทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต แผนงานที่ 5 ดำเนินโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงิน รวมถึงการเงินดิจิทัล ภัยและกลโกงการเงิน และการป้องกันและจัดการความเสี่ยงให้ประชาชนทุกกลุ่ม จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาระบบองค์ความรู้ออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ SMEs (LMS) (กลุ่มผู้มีงานทำ) (2) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างวินัยการออม ชีวิตพร้อมเมื่อสูงวัย (กลุ่มภาครัฐ) (3) โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน (กลุ่มประชาชนระดับฐานราก) (4) โครงการส่งเสริมวินัยการเงินในชุมชนภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กลุ่มประชาชนระดับฐานราก) (5) โครงการหลักสูตร ?การเงิน การบัญชี และการบริหารสำหรับกรรมการสหกรณ์? (กลุ่มประชาชนทั่วไป) (6) โครงการส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการทางการเงินของครอบครัวและชุมชน (กลุ่มประชาชนทั่วไป) (7) ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ ?สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้? (กลุ่มประชาชนทั่วไป) และ (8) หลักสูตรผู้ให้คำปรึกษาหนี้ (กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางทางการเงินสูง)
1 ในภาพรวมคนไทยมีความเข้าใจในเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และความเสี่ยงและผลตอบแทน แต่ยังมีช่องว่างในการพัฒนาเรื่องคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น
2 ในภาพรวมคนไทยมีคะแนนพฤติกรรมดีที่สุดในเรื่องการตัดสินใจทางการเงิน รองลงมาคือการไตร่ตรองก่อนซื้อและการเลือกวิธีออมที่เหมาะสมตามลำดับ แต่มีคะแนนพฤติกรรมน้อยในเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินก่อนซื้อหรือใช้บริการ การบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการจัดสรรเงินก่อนใช้
3 คำถามด้านทัศนคติทางการเงิน ได้แก่ (1) มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้และไม่ได้คิดวางแผนเพื่ออนาคต และ (2) มีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออมเพื่ออนาคต ในภาพรวมคนไทยได้คะแนนคำถามทั้ง 2 ข้อไม่แตกต่างกัน คือ ได้คะแนนด้านทัศนคติในระดับสูง

16. เรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 (โครงการฯ) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. อก. รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ดำเนินโครงการฯ1                         ซึ่งมีการกำหนดอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนตามโครงการฯ โดยใช้ข้อมูลปริมาณอ้อยสดคุณภาพดีของฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน กรอบวงเงินงบประมาณสนับสนุนรวมจำนวน 7,775.01 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
สัดส่วนปริมาณอ้อยสด
คุณภาพดี          อัตราการจ่ายเงินสนับสนุน
ตามสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเพื่อดำเนินการ
เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี
(บาทต่อตัน)          อัตราการจ่ายเงินสนับสนุน
ตามสัดส่วนปริมาณอ้อยสด
เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ที่มีข้อจำกัดทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย
(บาทต่อตัน)
ร้อยละ 100          120          -
ร้อยละ 90 - 99.99          110          10
ร้อยละ 80 - 89.99          100          20
ร้อยละ 70 - 79.99          90          30
ร้อยละ 60 - 69.99          80          40
ร้อยละ 50 - 59.99          70          50
ร้อยละ 40 - 49.99          60          60
ร้อยละ 30 - 39.99          50          70
ร้อยละ 20 - 29.99          40          80
ร้อยละ 10 - 19.99          30          90
น้อยกว่าร้อยละ 10          20          100
                    2. โครงการดังกล่าวมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น จำนวน 125,163 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี จำนวน 64.52 ล้านตัน วงเงินสนับสนุนเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี จำนวน 6,894.43                ล้านบาท วงเงินที่จ่ายสนับสนุนนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย (วงเงินที่จ่ายสนับสนุนนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ฯ) จำนวน 847.52 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 7,741.95 ล้านบาท โดยจำแนกรายละเอียดได้ ดังนี้
ประเภทของโรงงาน          รายการ
          จำนวนผู้ขอรับ
เงินสนับสนุน
(ราย)          ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี
(ล้านตัน)          วงเงินสนับสนุน
เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี
(ล้านบาท)          วงเงินที่จ่ายสนับสนุนนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ฯ (ล้านบาท)
โรงงานผลิตน้ำตาลทราย          120,310          62.83          6,701.08          838.96
โรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง          98          0.09          9.80          0.84
โรงงานผลิตเอทานอล          4,755          1.59          183.55          7.71
รวม          125,163          64.52          6,894.43          847.52
                    3. อก. แจ้งว่า การดำเนินโครงการฯ ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก2 (PM2.5) รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย และเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยมุ่งมั่นที่จะตัดอ้อยสดเพิ่มขึ้น
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 ธันวาคม 2566) อนุมัติในหลักการโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน กรอบวงเงินรวม 7,990.61 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 215.59 ล้านบาท) โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
2 อก. แจ้งว่า มีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด ในช่วงเปิดหีบอ้อยเดือนธันวาคม 2566 - เดือนเมษายน 2567 ทั้งหมด 2,799 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 2.49 ลดลงจากช่วงเปิดหีบอ้อยเดือนธันวาคม 2565 - เดือนเมษายน 2566 ที่มี 3,321 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 5.90

17. เรื่อง การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 275.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. กก. โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล โดยจัดทำแผนโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER โดยมีเป้าหมายในการยกระดับมวยไทยจากศิลปะการต่อสู้ประจำชาติสู่การเป็นศิลปะการต่อสู้ระดับโลก สามารถให้นักมวยไทย ครูมวยไทย เทรนเนอร์มวยไทยรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจมวยไทยได้มีโอกาสแข่งขันและถ่ายทอดวิชาความรู้ เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มด้วยมาตรฐานระดับโลกสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ประกอบด้วยโครงการย่อยต่าง ๆ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้มวยไทย การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย การจัดการแข่งขันกีฬามวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ และการรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณของโครงการดังกล่าวของ กกท. ด้วยแล้ว
                    2. กก. (กกท.) มีงบประมาณในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567                   ไม่เพียงพอ จึงได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นโดยสำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กก. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในวงเงิน 275.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วยแล้วโดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
โครงการ          ตัวอย่างรายละเอียด
การดำเนินโครงการ          งบประมาณ
(ล้านบาท)
(1) การพัฒนาองค์ความรู้มวยไทย          จัดทำหลักสูตรมวยไทย 10 ขั้น          4.93
(2) การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย
          - จัดอบรมผู้ตัดสินและผู้ฝึกสอน
- จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ Anti Doping
- จัดคลินิกมวยไทย
- ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานสมรรถนะครูมวยไทย          46.60
(3) การจัดการแข่งขันมวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ
          - อุดหนุนค่ายมวยจัดแข่งขัน First Fight
- จัดการแข่งขันมวยไทยทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ
- จัดการแข่งขันประกวดคีตะมวยไทย          143.72
(4) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ          - จัดทำวิดีโอประชาสัมพันธ์
- จัดกิจกรรมเผยแพร่มวยไทย          23.64
(5) การรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ
          - จัดตั้งศูนย์ทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทย
- จัดคลินิก Muaythai Master Class
- ตรวจรับรองค่ายมวยในต่างประเทศ          51.04
(6) การกำกับ ติดตาม ประเมิน
และรายงานผล          กำกับติดตามการดำเนินงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
          5.72
รวมทั้งสิ้น          275.65
โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป และขอให้ กก. โดย กกท. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. รวมทั้งพิจารณากำหนดกลไกในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านกีฬา เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศรวมถึงการตรวจสอบและการติดตามและประเมินผลของโครงการ โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ประหยัด ความคุ้มค่าผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วย
                    3. การดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดรายได้จากการแข่งขันกีฬามวยไทยและการเจรจาธุรกิจอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการรับรองมาตรฐานและพัฒนาประสิทธิภาพบุคคลในวงการกีฬามวย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล โดยในปี 2567 จะมีนักมวยไทย (ชาวไทย) เพิ่มขึ้น 6,032 คน นักมวยไทย (ต่างชาติ) เพิ่มขึ้น 4,520 คน ผู้ฝึกสอนมวยไทย (ชาวไทย) เพิ่มขึ้น 700 คน ผู้ฝึกสอนมวยไทย (ต่างชาติ) เพิ่มขึ้น 120 คน ค่ายมวยมาตรฐาน (ในประเทศ) เพิ่มขึ้น 500 ค่าย และค่ายมวยมาตรฐาน (ต่างประเทศ)เพิ่มขึ้น 50 ค่ายทั่วโลก และจะสามารถสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 2,334 ล้านบาท และสร้างการรับรู้กิจกรรมมวยไทยในต่างประเทศ 190 ประเทศทั่วโลก

18. เรื่อง การเรียกให้ทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน                  ปีบัญชี 2567
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเรียกให้ทุนหมุนเวียน จำนวน 4 ทุน นำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน ปีบัญชี 2567 จำนวน 1,692.60 ล้านบาท ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ภายใน 60 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ

รายการทุนหมุนเวียน          จำนวนเงิน (ล้านบาท)
(1) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตรูปถ่ายทางอากาศ          17.64
(2) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ          23.30
(3) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน          1,632.66
(4) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย          19
รวม          1,692.60


19. เรื่อง การพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือเอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมของโครงการท่าเทียบเรือ เอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบังโดยการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไป ตามรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านการเงินและด้านกฎหมายตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการลงทุน บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ เอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (คณะกรรมการพิจารณาฯ) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 สิงหาคม 2553) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนในการดำเนินการตามกฎหมายของโครงการท่าเทียบเรือ และหากพบว่าโครงการใดมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมา คค. ตรวจสอบแล้วพบว่า โครงการท่าเทียบเรือ เอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นโครงการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำสัญญาลงทุน บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ เอ 0 (สัญญาลงทุนฯ) กับบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (บริษัทฯ) โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2577 และเป็นโครงการท่าเทียบเรือที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (ที่ใช้บังคับในขณะนั้น) ซึ่งมาตรา 72 บัญญัติให้ในกรณีที่ปรากฏว่าโครงการใดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการที่เหมาะสมในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แต่มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนในขั้นตอนใด ให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมซึ่งรวมถึงการยกเลิก การแก้ไขสัญญา และการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไป ดังนั้น กทท. จึงว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ด้านกฎหมายและด้านการเงินของโครงการดังกล่าวซึ่งที่ปรึกษาเห็นควรให้สัญญาลงทุนฯ มีผลใช้บังคับต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากโครงการท่าเทียบเรือ เอ 0 มีอัตราผลตอบแทน (Internal rate of return: IRR) สูงกว่าที่ กทท. คาดหวัง และการยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาอาจนำมาสู่ข้อพิพาทจนทำให้บริการสาธารณะหยุดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 72 ดังกล่าว (ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานโดยตำแหน่ง) มีมติเห็นชอบการให้สัญญามีผลใช้บังคับต่อไปด้วยแล้ว
                    สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า ตามที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2577 ซึ่งตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 บัญญัติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ดังนั้น คค. และ กทท. จึงควรศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการที่เป็นไปได้และเหมาะสมสำหรับสัญญาลงทุนดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่สัญญาลงทุนฯ จะสิ้นสุดลง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ



20. เรื่อง โครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์                    (ปีการศึกษา 25661-2570) (โครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                    สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ จำนวน 110,000 บาท/คน/ปี หรือ 440,000 บาท/คน/หลักสูตร ซึ่งเป็นอัตราค่าใช้จ่ายเดิมที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในโครงการเพิ่มการผลิตฯ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561 ? 2562) สำหรับวงเงินงบประมาณจนสิ้นสุดโครงการ จำนวน 7,033,400,000 บาท เห็นควรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงานงบประมาณ
                    สาระสำคัญ
                    กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินงานโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 15,958 คน ให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศในทุกภาคส่วนและเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลโดยมีเป้าหมายอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรเท่ากับ 1 : 326 ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในปี 2574 (อัตราส่วนปัจจุบัน ณ ปี 2566 เท่ากับ 1 : 365) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่ม ในอัตรา 110,000 บาท/คน/ปี หรือ 440,000 บาท/คน/หลักสูตร อัตราเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รวมวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 7,033.40 ล้านบาท เพื่อผลิตบัณฑิต จำนวน 15,985 คน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เห็นชอบโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2561-2565 เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561-2562) โดยสรุปแผนจำนวนการผลิตพยาบาลเพิ่มและงบประมาณดำเนินการจำแนกตามสังกัดสถาบันการศึกษา ดังนี้
สถาบันการศึกษา          พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม (คน)          งบประมาณ (ล้านบาท)
สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม           8,145          3,583.80
สังกัดกรุงเทพมหานคร (คณะพยาบาลศาสตร์ เกื้อการุณย์มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช)           500          220.00
สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สถาบันพระบรมราชชนก)           7,340          3,229.60
รวม          15,985          7,033.40
ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เห็นชอบโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว ประกอบกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย โดยกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำผลการติดตามและประเมินผลโครงการดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาการผลิตพยาบาลให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ และควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการรักษาบุคลากรพยาบาลวิชาชีพและสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐอย่างต่อเนื่อง
1 อว. แจ้งว่า ในปีการศึกษา 2566 และ 2567 สถาบันการศึกษาภายใต้โครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570 ได้ใช้งบประมาณของแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อรับนักศึกษาแล้ว จึงเสนอขอความเห็นชอบโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570 ต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ (ในส่วนของงบประมาณในปีการศึกษา 2566-2567 เป็นการขอรับจัดสรรงบประมาณย้อนหลัง)

21. เรื่อง ขอความเห็นชอบดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity (โครงการฯ) วงเงิน 15,000 ล้านบาท และให้ ธพว. แยกบัญชีการดำเนินโครงการฯ ออกจากการดำเนินการตามปกติเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) รวมทั้งสามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชุดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้
                    2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยขอรับงบประมาณชดเชยเป็นระยะเวลา 3 ปี ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,350 ล้านบาท
                    สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นควรให้ ธพว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    อก. รายงานว่า
                    1. เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานานโดยในปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.9 และในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SME) ต้องเผชิญกับความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกต่อเนื่อง จึงยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบางและมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loans : NPLs) อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ผู้ประกอบการ SME จึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ทำให้ที่ผ่านมาสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหดตัวต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรเพิ่มสภาพคล่องผ่านสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ ต่อมาคณะกรรมการ ธพว. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท เป็นโครงการสินเชื่อธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ผ่าน อก. เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
                    2. อก. โดยการบูรณาการร่วมกับ ธพว. (มี 96 สาขา ครอบคลุมทุกจังหวัด) เพื่อเป็นกลไกของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามศักยภาพ มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอที่จะสามารถฟื้นฟู ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ อก. จึงขอเสนอโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข          รายละเอียด
วัตถุประสงค์           สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SME เพื่อยกระดับและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันได้ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุเป้าหมายด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเป้าหมาย          ผู้ประกอบการ SME ประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนี้
(1) ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
(2) ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน
(3) ผู้ประกอบการ SME ที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
(4) ผู้ประกอบการ SME ที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานราชการหรือพันธมิตรที่ ธพว. กำหนด
ระยะเวลากู้ยืม          ระยะเวลากู้ 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้น (Grace Period) สูงสุด 1 ปี
วงเงินสินเชื่อโครงการ          15,000 ล้านบาท
วงเงินสินเชื่อต่อราย          ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท
วัตถุประสงค์การกู้           เพื่อเป็นเงินลุงทน และ/หรือ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน
ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ          ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบ โดยสิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน
อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อโครงการ           คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่จากผู้รู้ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก (จากร้อยละ 6 โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก) ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด
หลักประกัน           ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ) ค้ำประกัน และ/หรือ หลักประกันตามที่ ธพว. กำหนด
การขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล           รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธพว. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,350 ล้านบาท (วงเงิน 15,000 ล้านบาท x อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 x ระยะเวลา 3 ปี) โดย ธพว. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีต่อไป
เงื่อนไขอื่นๆ           (1) ธพว. แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)
(2) ธพว. สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้
(3) ธพว. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งของธนาคารได้
ประโยชน์           (1) ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ประมาณ 1,500 ราย เพื่อยกระดับผลิตภาพและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เกิดความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
(2) สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 อัตรา สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจ SME ได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี


22. เรื่อง มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ
                    2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
                    ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมายในเรื่องนี้
                    กค. เสนอว่า
                    1. จากการเผยแพร่รายงานของธนาคารโลกในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะระดับสูง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านและแรงงานที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอาจส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
                    2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวม จึงเห็นควรเสนอมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้จ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลธรรมดาที่เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น          รายละเอียด
1. วัตถุประสงค์          ? เพื่อดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้.
          1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
          2) พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560
          3) พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561
(อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็ได้มีการออกประกาศสำนักงาน/คณะกรรมการ โดยอาศัยอำนาจตามพะราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้ง 3 ฉบับ
2. กลุ่มเป้าหมาย          ? คนไทยซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศอย่างน้อย 2 ปี และวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี           3.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง)
          1) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
          ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้นั้น
          2) ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ ตาม 1) ไว้แล้วเมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษี ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตคืนภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
          ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้วด้วยและมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินดังกล่าวตามมาตรา 48 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิได้ เมื่อไม่นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน
และไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน
3.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง)
          ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดที่จ่ายไประหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า) ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
4. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข          4.1 กรณีผู้มีเงินได้ (ลูกจ้าง)
          1) ลูกจ้างจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
             1.1) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
             1.2) ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน
             1.3) ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
             1.4) เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
             1.5) ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิประโยชน์
             1.6) กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น
ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้น ๆ
             1.7) ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชัวระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิ จะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้
          2) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรกำหนด
          3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการนี้ กรมสรรพากรสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ตามสมควร
4.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง)
          บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามข้อ 3.2 ต้องแจ้งชื่อผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามข้อ 3.1 ซึ่งมีข้อความและเอกสารประกอบอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในวันสุดท้ายท้ายของปีภาษีแรกที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิลดอัตราภาษี และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องรับรองว่าข้อมูลและเอกสารที่แจ้งต่อกรมสรรพากรมีความถูกต้องและเป็นความจริง
5. ระยะเวลาดำเนินการ           ? วันที่มาตรการมีผลใช้บังคับ : วันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
? วันที่เริ่มต้นและวันที่สิ้นสุดในการเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
? ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
วันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศราชกิจจานุเบกษา          31 ธันวาคม 2568          31 ธันวาคม 2572
วันเริ่มต้นมาตรการและวันที่กฎหมายใช้บังคับ          วันสิ้นสุดในการเดินทางกลับเข้าประเทศ          วันสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์

6. ช่องทางในการประชาสัมพันธ์           ? มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ
? มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการประชาสัมพันธ์ให้บริษัทที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายรับทราบรายละเอียดของมาตรการนี้
ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ ซึ่ง กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาด้วยแล้ว
                    3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว
                              3.1 มาตรการภาษีดังกล่าวได้มีการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ โดยคาดการณ์ว่า
                                        1) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวจำนวนประมาณ 500 คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินมาตรการนี้อาจเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล
                                        2) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงางานในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนประมาณ 500 คน
                              3.2 มาตรการภาษีดังกล่าวมีประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
                                        1) เป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีความสอดคล้องกับ
ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ของ สกท. ที่มุ่งหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
                                        2) เป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีการสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนผู้ใช้สิทธิตามมาตรการ
                                        3) การดำเนินมาตรการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตลอดจนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอาจจ้างงานเฉพาะลูกจ้างคนไทยที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรการนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายได้เพิ่มเติม รวมถึงอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะสั้น กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการหมุนเวียนลูกจ้างของบริษัทในเครือกลับเข้ามา (Rotate) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์และเมื่อได้รับสิทธิประโยชน์แล้วก็เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศเช่นเดิม
                                        4) ปัจจุบันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ หรือพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ                        ภาคตะวันออกฯ ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวแล้ว อาจมีผลต่อการตัดสินใจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการเข้าร่วมมาตรการนี้

ต่างประเทศ

23. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา                   (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) (การประชุมประจำปีของ AALCO) สมัยที่ 62 ของประเทศไทย รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ประชุมและผู้แทนระดับรัฐมนตรีที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม การจัดการจราจรในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราและการเข้าออกเมืองแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. AALCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 (ค.ศ. 1956) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รวม 48 ประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐเคนยา และประเทศในอาเซียน ได้แก่    เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการของ AALCO ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
                    2. AALCO มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเซียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันพัฒนาการดังกล่าวให้สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียและแอฟริกา การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกจะอภิปรายแสดงความเห็นและท่าทีในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) และคณะกรรมการ 6 (กฎหมาย) ของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ AALCO ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันท่าทีประเทศไทยในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกา
                    3. การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นการประชุมที่มีหัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรี โดยมีกำหนดจัดการประชุมในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยในการประชุมประจำปี AALCO สมัยที่ 61 ระหว่างวันที่ 16 - 20 ตุลาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี
ของ AALCO ในสมัยที่ 62* โดย กต. เสนอให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567
                    4. เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เสนอขอความเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 ? 13 กันยายน 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 - 300 คน ทั้งนี้ กต. ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาระหว่างการประชุมประจำปีของ AALCO สมัยที่ 62 แล้ว เช่น (1) เรื่อง รายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (2) เรื่อง กฎหมายทะเล (3) เรื่อง กฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะมีหน้าที่ต่าง ๆ เช่น จัดเตรียมสถานที่ประชุม อำนวยความสะดวกด้านการรับรองที่พัก ยานพาหนะและการรักษาความปลอดภัยให้แก่หัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก การจัดกิจกรรมเสริมและการจัดทัศนศึกษาทางวัฒนธรรม การจัดรถรับส่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 27.41 ล้านบาท จะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของ กต. ที่ได้รับจัดสรรแล้ว รวมทั้งขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) อำนวยความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ประชุมและผู้แทนระดับรัฐมนตรีที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม การจัดการจราจรในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราและการเข้าออกเมืองแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

*ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO มาแล้ว 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 8 เมื่อปี 2509 และสมัยที่ 26 เมื่อปี 2530

24. เรื่อง ขอความเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและวาระการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (รายละเอียดความร่วมมือฯ) และวาระการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) (วาระการดำเนินงานฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งมอบหมาย พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำวาระการดำเนินงานฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

                    กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (1) รายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (รายละเอียดความร่วมมือฯ) และ (2) วาระการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) (วาระการดำเนินงานฯ) และมอบหมายกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำวาระการดำเนินงานฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ซึ่งร่างเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ1 (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ที่กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำรายละเอียดของสาขาความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกัน โดยรายละเอียดความร่วมมือฯ เป็นเอกสารที่ระบุสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะมีการหารือ พัฒนา/แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ 8 สาขา2  ส่วนวาระการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารที่ระบุกิจกรรมความร่วมมือตามสาขาที่ได้มีการระบุไว้ในรายละเอียดความร่วมมือฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย เช่น สาขาเกษตร มีการกำหนดกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับระบบอาหารการเกษตรยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและแลกเปลี่ยนเงื่อนไขด้านการนำเข้า โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น สาขาการท่องเที่ยว อาทิ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับออสเตรเลียด้านการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน/ผจญภัย/ยั่งยืน และการส่งเสริมความร่วมมือด้าน                   การท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และ             การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สาขาบริการสุขภาพ อาทิ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ (Digital Health) แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโทรเวช (Telemedicine)                  สร้างเครือข่ายและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการใช้ห้องปฏิบัติการสำหรับการกักเก็บให้มีความปลอดภัยและการวินิจฉัยและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านผลิตภัณฑ์การบำบัดโรค (therapeutic products) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น  สาขาการศึกษา อาทิ สนับสนุนโมเดลด้านนวัตกรรมเพื่อช่วยการรับรองความสามารถและความเป็นหุ้นส่วนด้านสถาบันและการวิจัย การเสริมสร้างความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาทักษะครู พัฒนาหลักสูตรข้ามพรมแดน และสนับสนุนนักวิจัยจากไทยเพื่อเข้าถึงการฝึกงานในออสเตรเลีย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น อว. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น  สาขาการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ แลกเปลี่ยนความเห็นต่อกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัล ส่งเสริมเครือข่าย Digital Start up แลกเปลี่ยน ข้อมูลแพลตฟอร์มออนไลน์ธุรกิจด้านอาหารและของอุปโภคบริโภค ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของแพลตฟอร์มออนไลน์ในการพัฒนาความรู้และทักษะสำหรับเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่อาชีพอิสระระหว่างไทยและออสเตรเลียโดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น พณ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงแรงแรงงาน เป็นต้น สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสาขาภาพยนตร์และเนื้อหาด้านดิจิทัล (Digital content) รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นต้น  สาขาการลงทุนระหว่างกันมีการกำหนดกิจกรรมในการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจด้านการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับทักษะแรงงานระหว่างกัน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใด ที่มุ่งจะเกิดผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็น สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2ได้แก่ (1) เกษตร เทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน (2) การท่องเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การลงทุนระหว่างกัน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน

25. เรื่อง ท่าทีการเจรจาร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 15 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐมนตรี ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อท่าทีการเจรจาร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ได้แก่ (๑) ท่าทีการเจรจาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 15 (2) ท่าทีการเจรจาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 6 และ (3) ร่างแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS Strategic Plan) ค.ศ. 2024 - 2027 ทั้งนี้ หากในการประชุมดังกล่าว  มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือทวิภาคีในประเด็นอื่น ๆ อันเป็นผลประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย ขอให้ผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
                    2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ได้แก่ (1) ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 15 (2) ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 6 และ (3) ร่างแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS Strategic Plan) ค.ศ. 2024 - 2027 ได้ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะนำเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งภายหลังการประชุมฯ
                    สาระสำคัญ
                    กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียจะเจรจาร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
                    1. ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิกาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC)  ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างรอบด้านและแสดงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกระดับ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยการผลักดันความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในสาขาที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น การส่งเสริมความมั่นคงบริเวณชายแดน ความร่วมมือด้านการทหาร การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบนำเข้ายาเสพติด และการสนับสนุนแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ของไทย (2) ด้านเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้บรรลุเป้าหมาย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 การส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว การเร่งรัดความคืบหน้าโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย - มาเลเซีย ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลและประมง การสนับสนุนให้แรงงานไทยทำงานในมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย การขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน และการแสวงหาความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น (3) ด้านสังคมและวัฒนธรรม อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา การกีฬา วัฒนธรรม และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (4) ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน เอเปค และแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย ? ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT - GT)
                    2. ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Committee on Joint Development Strategy for Border Areas: JDS) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ครั้งที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้กรอบ JDS ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และระดับคณะทำงาน รวมถึงการแสดงเจตนารมณ์ร่วมของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางพารา ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร
                    3. ร่างแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS Strategic Plan) ค.ศ. 2024 - 2027 ครอบคลุมโครงการความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยเฉพาะในช่วงเวลาของความท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิ โรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน (3Es approach) ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงบริเวณชายแดน (Enhancing the Connectivity) (2) การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน (Ensuring the Competitiveness) และ (3) การส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ (Enriching the Human Capital)
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 15 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐนตรีระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นการทบทวนพัฒนาการความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ และกำหนดทิศทางความร่วมมือในระยะต่อไประหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

26.  เรื่อง ร่างหนังสือรับรองความรับผิดชอบในการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือรับรองความรับผิดชอบในการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) (หนังสือรับรองฯ) ก่อนการลงนาม ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างหนังสือรับรองฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ ให้กระทรวงกลาโหม (กห.) พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ลงนามใบหนังสือรับรองฯ ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. กระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือรับรองความรับผิดชอบในการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) (หนังสือรับรองฯ) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบันทึกช่วยจำความมั่นคงแห่งชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองและความรับผิดชอบเกี่ยวกับการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และการบริการทางทหาร (บันทึกช่วยจำ NSM) ที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกำหนดให้มิตรประเทศทุกประเทศที่รับความช่วยเหลือทางทหารและการจัดหายุทโธปกรณ์ภายใต้งบประมาณจากสหรัฐฯ จะต้องจัดทำหนังสือรับรองฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อยืนยันที่จะใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและจะไม่ใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ ในพื้นที่ความขัดแย้ง
                    2. ประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ (ลงนามเมื่อวันที่ 17  ตุลาคม 2493) ที่ระบุให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยรับว่าจะใช้ความช่วยเหลือที่ใด้รับมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างมีประสิทธิภาพ และจะไม่ใช้ความช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อความมุ่งประสงค์อื่น นอกเหนือไปจากความมุ่งประสงค์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ                  ซึ่ง กห. ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติภารกิจทางทหารสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ1 และพันธกรณีระหว่างประเทศมาโดยตลออด
                    3. ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศบันทึกช่วยจำความมั่นคงแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองและความรับผิดชอบเกี่ยวกับการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และการบริการทางทหาร [National Security Memorandum (NSM) on Safeguards and Accountability With Respect to Transferred Defense Articles and Defense Services] (บันทึกช่วยจำ NSM) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกำหนดให้มิตรประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารและจัดหายุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อที่จะยังคงได้รับการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ              ซึ่งบันทึกช่วยจำ NSM มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
                              3.1 รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้มิตรประเทศผู้รับมอบยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ต้องให้คำมั่นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่น่าเชื่อถือได้ว่า
                                        3.1.1 ผู้รับมอบจะใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับอย่างสอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                                        3.1.2 ในพื้นที่ซึ่งเกิดสถานการณ์ขัดกันด้วยอาวุธผู้รับมอบจะใช้ยุทโธปกรณ์อย่างสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผู้รับมอบจะอำนวยความสะดวก และไม่ปฏิเสธโดยปราศจากเหตุผล จำกัด หรือขัดขวางโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อการขนส่ง การส่งมอบความช่วยเหลือ หรือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
                              3.2 ผู้ลงนามที่เหมาะสมสำหรับการให้คำรับรองนี้จากรัฐบาลหรือหน่วยงานควรอยู่ในระดับกระทรวงหรือสูงกว่า และมีอำนาจในการจัดทำหนังสือรับรองดังกล่าว หากผู้ลงนามที่ระบุไม่สามารถให้การรับรองสำหรับทั้งประเด็นการใช้ยุทโธปกรณ์และการขนส่งหรือการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ควรระบุผู้ลงนามคนที่สองซึ่งมีอำนาจเพียงพอสำหรับการให้คำรับรอง ทั้งนี้ การให้คำรับรองดังกล่าวจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร
                              3.3 การได้รับหนังสือรับรองฯ เป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่กำหนด จะอำนวยความสะดวกในการทบทวนรายละเอียดที่ถูกกำหนดในบันทึกช่วยจำ NSM ทั้งนี้ หากไม่ได้ให้การรับรองภายในระยะเวลาดังกล่าว การจัดหายุทโธปกรณ์ซึ่งถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้บันทึกช่วยจำ NSM อาจถูกระงับชั่วคราวจนกว่าจะมีการให้คำรับรอง
                    4. กห. จึงได้จัดทำร่างหนังสือรับรองฯ มีรายละเอียดสรุปได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยขอรับรองว่า กห. จะใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำหรับพื้นที่ความขัดแย้ง กห. จะได้ใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และจะอำนวยความสะดวกและไม่ปฏิเสธโดยพลการ จำกัด หรือขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขนส่งหรือการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหรัฐฯ หรือความพยายามระหว่างประเทศที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

?????????__________________________________
1ไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาเจนีวาเมื่อปี ค.ศ. 1949 มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับวิธีการทำสงครามและการปฏิบัติต่อพลรบและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรมในระหว่างการทำสงคราม โดยมีหลักการพื้นฐาน 5 หลัก ได้แก่ (1) หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (2) หลักการสัดส่วนการใช้กำลัง (3) หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (4) หลักความจำเป็นทางทหาร และ (5) หลักมนุษยธรรม (ข้อมูลจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2565 https//:treaties.mfa.go.th/th/content/กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ-2?cate=635b818fd2accd7e3e0acca3)

แต่งตั้ง

27. เรื่อง การขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1 (กระทรวงคมนาคม)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ

28. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
                      1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางบก ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
                     2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                       คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงให้ดำรงตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากผู้ครองตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และทดแทนตำแหน่งที่ว่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่                 12 พฤษภาคม 2535 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จำนวน 3 ราย ดังนี้
                      1. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวง ทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ
                      2. นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง                  ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ทดแทนตำแหน่งที่จะว่างในข้อ 1.
                     3. นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับต้นขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 และ ที่ นร 1003/ว 22 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 ราย ดังนี้
                     1. นายผดุงศักดิ์ สรุจิกำจรวัฒนะ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     2. นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                    1. นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
                    2. นางสาวภิญญู กำเนิดหล่ม ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการคอมพิวเตอร์) สูง] กองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                     (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ              มนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ                        (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายชัยธร สุวรรณอำภา ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนัก 5 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางทิพาภรณ์ ศรีพลลา                        (ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้น) เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แทน นายสุนทร ตาละลักษณ์ กรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากลาออก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ