http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (13 สิงหาคม 2567) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบจังหวัดสงขลา พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล พ.ศ. ....
9. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
10. เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ-สังคม
11. เรื่อง แนวคิดการจัดตั้งองค์กรการค้ำประกันเครดิต General credit Guarantee Facility (GCGF) Concept Paper
12. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ
13. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ 2567
14. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค
15. เรื่อง การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป
ต่างประเทศ
16. เรื่อง ร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (ค.ศ. 2024 - 2026)
17. เรื่อง การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9
18. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
19. เรื่อง ร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในช่วงการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2024
20. เรื่อง ผลการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลกครั้งที่ 7 และการรับรองข้อเสนอโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (GBFF)
21. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14
22. เรื่อง ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ
23. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน) 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) 29. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ)
? กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... 1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัวและมีธรรมาภิบาล สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูปการอุดมศึกษา 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 1. ร่างพระราชบัญญัติที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว และยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. สถานะ วัตถุประสงค์ และการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย ร่างพระราชบัญญัติ ฯ มีการปรับเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจากส่วนราชการเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และได้แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา รวมทั้งแสดงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาคนเพื่อการพัฒนาคนในท้องถิ่น ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแบ่งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น 2. อำนาจหน้าที่และรายได้ของมหาวิทยาลัย ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดอำนาจหน้าและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีความชัดเจนและเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัย 3. การดำเนินการของมหาวิทยาลัย ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ยังคงกำหนดให้สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยโดยมีการแก้ไของค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดว่าสภามหาวิทยาลัยควรมีสัดส่วนกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้มีสภาวิชาการและคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัย 4. การประกันคุณภาพและการประเมิน ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา 5. การบัญชีและการตรวจสอบ ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบัญชีและการตรวจสอบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการวางและรักษาระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการทางบัญชีที่ดี รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ 6. การกำกับดูแล ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสถานะมหาวิทยาลัยมาเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ 7. บทเฉพาะกาล ? ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน งบประมาณ และรายได้ รวมทั้งบรรดาข้าราชการลูกจ้าง และพนักงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามพระราชบัญญัติเดิม ไปเป็นของมหาวิทยาลัยตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ? ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น สภามหาวิทยาลัย ยังคงดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนั้นตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ? ให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเดิมยังคงมีใช้บังคับต่อไปได้ จนกว่าจะมีการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศตามร่างพระราชบัญญัติ 2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบ การเพาะปลูกและสารสกัดจากพืชดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 55 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสารสำคัญที่ได้จากฝิ่น ได้แก่ กำหนดพื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพจติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และกำหนดพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม เช่น อาคารฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ เป็นพื้นที่ทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย 2. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยกำหนดให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาคารสุขประชา วาจานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่และโรงเรือนของหมวดพืชผัก สาขา พืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ห้อง MD 346 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากเห็ดขี้ควาย 3. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกฝิ่น โดยกำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกฝิ่น เพื่อส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมสกัดสารสำคัญ เพื่อประโยชน์ทางการวิจัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยต้องมีมาตรการควบคุม เช่น ที่มาของฝิ่นที่จะเพาะปลูก ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สถานที่เพาะปลูกต้องจัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน 4. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกเห็ดขี้ควาย โดยกำหนดให้นำมาตรการควบคุม การเพาะปลูกฝิ่น มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควายโดยอนุโลม 5. การกำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากฝิ่น กำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานที่สกัดต้องจัดทำป้ายระบุว่าเป็นสถานที่สกัดพืชฝุ่นตาม พระราชกฤษฎีกานี้ แสดงแบบแปลนอาคาร จัดให้มีประตูเข้าออกที่มีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น 6. มาตรการควบคุมการเพาะปลูกและสารสกัดสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายของสถาบันการศึกษา กำหนดให้อธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย และให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น และมาตรการควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญ มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม 7. สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.lawgo.th) ระหว่างวันที่ 12 - 16 เมษายน 2567 และหนังสือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมระยะเวลาที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งสิ้น จำนวน 15 วัน 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ..... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา สำนักงาน กกต. เสนอว่า 1. เนื่องด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบ พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ดังนี้ 1.1 ให้ยุบพรรคก้าวไกลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) 1.2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล 1.3 ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล 2. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเป็นธรรม และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในช่วงเวลาดังกล่าวและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามข้อ 1.2 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) 3. ดังนั้น เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงและต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2567 4. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกเขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรว่างลง (ภายในวันที่ 20 กันยายน 2567) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567) ซึ่ง กกต. คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2567 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ 4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง สธ. เสนอว่า 1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 63/15 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินได้ โดย ?หน่วยงานของรัฐ? ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 2. สำหรับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในการกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมิได้เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น (ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามบทนิยามคำว่า ?หน่วยงานของรัฐ? ตามมาตรา 63/15 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ) ทำให้ไม่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ ประกอบกับการบังคับคดีให้ชำระค่าปรับทางปกครองกับผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 และมาตรา 40 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสมควรกำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ ตามมาตรา 63/15 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ 5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง สธ. พิจารณาแล้วยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 สรุปได้ดังนี้ 1. กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต ดังนี้ 1.1 ผู้ขออนุญาตผลิต ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา ในหมวดยาเดียวกันกับที่ขออนุญาตนั้น 1.2 ผู้ขออนุญาตนำเข้า ต้องได้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา 1.3 ผู้ขออนุญาตส่งออก ต้องได้รับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 1.4 ผู้ขออนุญาตจำหน่าย ต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา 1.5 ผู้ขออนุญาตจำหน่ายโดยการขายส่ง ต้องได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้า ทั้งนี้ ให้ถือว่าผู้รับอนุญาตจำหน่ายเป็นผู้รับอนุญาตจำหน่ายโดยการขายส่งด้วย 2. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ที่จะมีการนำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออก 3. กำหนดกระบวนการพิจารณาอนุญาต ดังนี้ 3.1 การยื่นคำขอ การแจ้ง หรือการติดต่อใด ๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต และการชำระค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการดังกล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการ อย. กำหนด 3.2 เมื่อได้รับคำขอ ให้ผู้อนุญาต ตรวจสอบคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากคำขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานใด ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมหรือส่งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วน และเมื่อเห็นว่าคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนแล้วให้ออกหลักฐานการรับคำขอให้แก่ผู้ขออนุญาต และแจ้งให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือค่าตอบแทนตามมาตรา 20 (เช่น ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่น ๆ ตาม (18) ของบัญชีท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด) ภายในระยะเวลาที่กำหนด 3.3 เมื่อคำขอ รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนแล้ว และผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมตามมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้ว ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวครบถ้วน ในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และเมื่อผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขออนุญาต สำหรับกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ 3.4 กำหนดให้ใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย หรือใบอนุญาตจำหน่ายโดยการขายส่ง ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต หากผู้รับอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานตามกำหนด และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาตจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น 3.5 กำหนดหน้าที่ผู้รับอนุญาต เช่น จัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตนำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้วัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนำไปใช้โดย มิชอบ จัดทำบัญชีเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ และรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือน ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน รวมถึงจัดให้มีเภสัชกรและดูแลให้เภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ เป็นต้น 3.6 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ดังนี้ 3.6.1 ใบอนุญาตผลิต ฉบับละ 10,000 บาท 3.6.2 ใบอนุญาตนำเข้า ฉบับละ 10,000 บาท 3.6.3 ใบอนุญาตส่งออก ฉบับละ 1,000 บาท 3.6.4 ใบอนุญาตจำหน่าย ฉบับละ 1,000 บาท 3.6.5 ใบอนุญาตจำหน่าย โดยการขายส่ง ฉบับละ 1,000 บาท 3.6.6 ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 500 บาท 3.6.7 การต่ออายุใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียม สำหรับใบอนุญาตนั้น ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย และองค์การมหาชนและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข 3.7 กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. 2562 กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. 2563 ตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. 2548 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยกลิ่น ให้มีความถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานผลิตยาง ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ 1. อก. จึงจำเป็นต้องยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. 2548 และยกร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.1 แก้ไขรายละเอียดถ้อยคำในส่วนของบทนิยาม ให้มีความชัดเจน และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 1.2 เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "โรงงาน" เพื่อให้ครอบคลุมการประกอบกิจการโรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ครบถ้วน 1.3 เพิ่มประเภทของโรงงานที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง รายการที่ 23 ?โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับยางอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่าง เฉพาะที่ใช้ยางธรรมชาติ? เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานผลิตยาง ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่มีการกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานผลิตยางออกสู่บรรยากาศ 1.4 แก้ไขวิธีการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่น จากเดิมใช้วิธีการตามที่ American Society for Testing and Materials (ASTM) หรือ Japanese Industrial Standard (JIS) กำหนดไว้ เป็น วิธีการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (sensory tests) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎกระทรวงเดิม และร่างกฎกระทรวงฯ ที่เสนอ มีความแตกต่างกันสรุปได้ ดังนี้ กฎกระทรวงเดิม ร่างกฎกระทรวงที่เสนอ ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบกลิ่นในอากาศจากโรงงาน พ.ศ. 2548 ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ ?กลิ่น? หมายความว่า สิ่งเจือปนในอากาศที่รู้ได้จมูกของคนหรือเครื่องมือวิเคราะห์ ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ ?กลิ่น? หมายความว่า สิ่งเจือปนในอากาศที่รู้ได้ด้วยจมูกของคนหรือวัดได้จากเครื่องมือวิเคราะห์ ?ตัวอย่างกลิ่น? หมายความว่า ตัวอย่างอากาศที่มีกลิ่น บริเวณแหล่งกำเนิดกลิ่น ซึ่งได้จากการเก็บตัวอย่างอากาศขณะที่ได้รับกลิ่นตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 4 หรือข้อ 7 แล้วแต่กรณี ?ตัวอย่างกลิ่น? หมายความว่า ตัวอย่างอากาศที่มีกลิ่น บริเวณแหล่งกำเนิดกลิ่น ซึ่งได้จากการเก็บตัวอย่างอากาศขณะที่ได้รับกลิ่น ?ค่าความเข้มกลิ่น? (odour concentration) หมายความว่า ค่าแสดงสภาพกลิ่นซึ่งเป็นอัตราส่วนการเจือจางตัวอย่างอากาศที่มีกลิ่นด้วยอากาศบริสุทธิ์จนเกือบจะไม่สามารถรับกลิ่นได้ กลิ่นที่แรงกว่าจะมีค่าความเข้มกลิ่นมากกว่า เพราะต้องเจือจางด้วยอากาศบริสุทธิ์ปริมาตรมากกว่า โดยทำการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (sensory test) ตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 7 ?ค่าความเข้มกลิ่น? (odour concentration) หมายความว่า ค่าแสดงสภาพกลิ่นซึ่งเป็นอัตราส่วนการเจือจางตัวอย่างอากาศที่มีกลิ่นด้วยอากาศบริสุทธิ์ที่รู้ได้ด้วยจมูกของคนหรือค่าที่วัดได้จากเครื่องมือวิเคราะห์ -ไม่มี- ?โรงงาน? หมายความว่า โรงงานในประเภท ชนิด หรือขนาดของโรงงานตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 7 (เพิ่มเติมประเภทโรงงาน) ?เขตอุตสาหกรรม? หมายความว่า เขตพื้นที่ที่มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการการผังเมือง หรือนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ?เขตอุตสาหกรรม? หมายความว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วย ว่าด้วยโรงงาน หรือโครงการจัดสรรที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ?นอกเขตอุตสาหกรรม? หมายความว่า พื้นที่อื่น นอกเหนือจากพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ?นอกเขตอุตสาหกรรม? หมายความว่า พื้นที่อื่น นอกเหนือจากพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับกับโรงงานตามที่ระบุไว้ ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับกับโรงงานในประเภท ชนิด หรือขนาดของโรงงาน ตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 7 ตามที่ระบุในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงนี้ (เพิ่มประเภทโรงงาน รายการที่ 23 โรงผลิตยางที่ใช้ยางธรรมชาติ) ข้อ 4 ตัวอย่างกลิ่นจากโรงงานต้องมีค่าความเข้มกลิ่นไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ ที่ตั้งโรงงาน ค่าความเข้มกลิ่นที่บริเวณรั้วหรือขอบเขตภายในโรงงาน ค่าความเข้มกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศของโรงงาน เขตอุตสาหกรรม 30 1,000 นอกเขตอุตสาหกรรม 15 300 การตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นที่บริเวณรั้วหรือขอบเขตภายในโรงงาน ให้เก็บตัวอย่างกลิ่นที่จุดห่างรั้วโรงงานหรือขอบเขตโรงงาน 1 เมตรในตำแหน่งใต้ทิศทางลมซึ่งพัดผ่านจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดกลิ่น สำหรับการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศของโรงงานให้เก็บตัวอย่างกลิ่น ตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 7 ข้อ 5 อากาศที่ระบายออกจากโรงงานตามบัญชีในข้อ 3 ต้องมีค่าความเข้มของกลิ่นตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 5.1 กลิ่นจากโรงงานในรายการที่ 1 - 22 และ 24 ต้องมีค่าความเข้มกลิ่น ดังนี้ 5.1.1 กรณีในเขตอุตสาหกรรม ต้องมี (1) ค่าความเข้มกลิ่นที่บริเวณรั้วหรือขอบเขต อุตสาหกรรม ภายในโรงงานไม่เกิน 30 (2) ค่าความเข้มกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศของโรงงานไม่เกิน 1,000 5.1.2 กรณีนอกเขตอุตสาหกรรม ต้องมี (1) ค่าความเข้มกลิ่นที่บริเวณรั้วหรือขอบเขตโรงงาน ไม่เกิน 15 (2) ค่าความเข้มกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศของโรงงาน ไม่เกิน 300 5.2 โรงงานในรายการที่ 23 ต้องมีค่าความเข้มกลิ่นที่บริเวณรั้วหรือขอบเขตภายในโรงงานไม่เกิน 30 ค่าความเข้มกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศของโรงงาน ไม่เกิน 2,500 (เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562) ข้อ 5 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดให้มีการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นในอากาศจากโรงงานนั้น หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมสงสัยว่าเป็นโรงงาน ที่ระบายอากาศที่มีกลิ่นเกินมาตรฐานที่กำหนด ในข้อ 4 เว้นแต่ในกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวสำหรับโรงงานใด อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ทดสอบหรือในกรณีที่ไม่มีผู้ทดสอบ (นำไปกำหนดในกฎหมายลำดับรอง) ข้อ 6 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการทดสอบกลิ่นขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นในอากาศจากโรงงาน ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการทดสอบกลิ่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง (นำไปกำหนดในกฎหมายลำดับรอง) ข้อ 7 การตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นตามข้อ 4 ให้ใช้วิธีการตามที่ American Society for Testing and Materials (ASTM) หรือ Japanese Industrial Standard (JIS) ที่ได้กำหนดไว้ หรือวิธีการอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ 6 การตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นตามกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้วิธี sensory tests ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา การตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบจังหวัดสงขลา พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบ้านประกอบ จังหวัดสงขลา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ สาระสำคัญ กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายและมาตรการในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นด่านถาวรที่มีมาตรฐานสากลและพัฒนาชุมชนชายแดนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับบทบาทชุมชนชายแดนบ้านประกอบ รวมทั้งการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและ ป่าไม้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ 1.1 พัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเป็นด่านถาวรที่มีมาตรฐานสากลและพัฒนาชุมชนชายแดน 1.2 ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับบทบาทของชุมชนชายแดนบ้านประกอบและการขยายตัวของชุมชน การค้า และการขนส่ง 1.3 พัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอและได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นชุมชนน่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดี 1.4 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย 1.5 รักษาพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ 2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้ ประเภท วัตถุประสงค์ 1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) - เป็นพื้นที่โดยรอบชุมชนเดิมของตำบลทับข้าง และตำบลประกอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบาง มีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถวและให้สร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวมได้บางบริเวณเพื่อรองรับแรงงาน รวมทั้งให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงแรมประเภท 1 และโรงแรมประเภท 2 ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดเล็กได้บางบริเวณ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและผู้สัญจร โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ 2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) - เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในชุมชนเดิมบ้านทับข้าง โดยเป็นพื้นที่ต่อเนื่องหรือล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ปานกลางและรองรับพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชย กรรมมีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารชุดหอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดเรื่อง ความสูงและขนาดของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) - เป็นศูนย์กลางของพื้นที่และบริเวณโดยรอบของชุมชนเดิมของตำบลทับช้าง และตำบลประกอบ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นบริเวณประกอบพาณิชยกรรม ธุรกิจการค้า ประกอบด้วยศูนย์การค้า ตลาด โรงมหรสพ โรงแรม สำนักงาน ศูนย์ประชุม และกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับกิจการดังกล่าว โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารเกี่ยวกับการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูง 4. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) - มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมให้ยังคงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ 5. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) - เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 6. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) - เป็นที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ และที่ดินของเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ดินของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวกันชนชายแดนและความมั่นคงของชาติ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินของเอกชนกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจำกัด เช่น เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์ 7. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยง สีขาว) - เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำรงอยู่ได้ เช่น การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่อาคารเกี่ยวกับการอยู่อาศัย ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร หรือมีความสูงของอาคารไม่เกิน 6 เมตร 8. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านประกอบ 9. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัด มัสยิด 10. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณปการ (สีน้ำเงิน) - มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาล ด่านศุลกากร ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านประกอบ 3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท 4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ข 6 ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ก ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 4 และถนนสาย ข 5 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง 4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ 8. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขชื่อเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในแผนที่และแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทท้ายประกาศฯ ตามความเห็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญ 1. ร่างประกาศดังกล่าว เป็นการวางและจัดทำผังเมืองรวม ชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นผังเมืองรวมชุมชนเปิดใหม่ มีพื้นที่วางผังประมาณ 131.82 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฉลุง ตำบลเกตรี และตำบลบ้านควน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา การดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธาธารณะและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 2. มท. โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังลับผังเมืองรวมชุมชนฉลุง จังหวัดสตูล พ.ศ. .... ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า ?ผังเมืองรวมที่คณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบแล้ว ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยการให้ใช้บังคับผังเมืองรวมนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจะดำเนินการเพื่อออกประกาศกระทรวงมหาดไทย? ทั้งนี้ ในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว 9. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบรายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 2. เห็นชอบผลการพิจารณากลั่นกรองการขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 3. อนุมัติหลักการ 3.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2525 พ.ศ. .... 3.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดการอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 7 พ.ศ. .... 3.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเอกสารสำคัญที่ไม่อาจแสดงเป็น ภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของ กระทรวงกลาโหมและความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขข้อความในบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงกำหนดการอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 7 พ.ศ. .... ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ 3.4 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1.1 ผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 16 นั้น จากข้อมูลการสำรวจสถานะของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในระยะแรก ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2567 สามารถสรุปสถานะในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐซึ่งจำแนกตามประเภทหน่วยงานของรัฐได้ ดังนี้ ประเภทหน่วยงาน จำนวนหน่วยงานทั้งหมด ข้อมูลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ตามข้อ 2.4 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ข้อมูลที่รายงานในครั้งนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2567) ดำเนินการแล้ว(หน่วยงาน) ร้อยละ ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน) ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน) ร้อยละ ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน) ประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการตามมาตรา 10 แล้ว 1. ส่วนราชการ 160 160 100 - 160 100 - 2. จังหวัด 76 76 100 - 76 100 - 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 6,351 81 1,499 6,662 85 1,188 4. องค์การมหาชน 61 61 100 - 61 100 - 5. รัฐวิสาหกิจ (ยกเว้นที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด) 41 41 100 - 41 100 - 6. มหาวิทยาลัยรัฐ 88 77 88 11 78 89 10 7. หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ 13 11 85 2 12 92 1 8. หน่วยงานอื่นของรัฐ 5 5 100 - 5 100 - รวม 8,294 6,782 82 1,512 7,095 85 1,199 ประเภทหน่วยงาน จำนวนหน่วยงานทั้งหมด ข้อมูลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ตามข้อ 2.4 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ข้อมูลที่รายงานในครั้งนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2567) ดำเนินการแล้ว(หน่วยงาน) ร้อยละ ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน) ดำเนินการแล้ว (หน่วยงาน) ร้อยละ ยังไม่ดำเนินการ (หน่วยงาน) กำหนดระบบการปฏิบัติหน้าที่โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 16 แล้ว 1. ส่วนราชการ 160 160 100 - 160 100 - 2. จังหวัด 76 76 100 - 76 100 - 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 6,210 79 1,640 6,542 83 1,308 4. องค์การมหาชน 61 61 100 - 61 100 - 5. รัฐวิสาหกิจ (ยกเว้นที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด) 41 41 100 - 41 100 - 6. มหาวิทยาลัยรัฐ 88 67 76 21 69 79 19 7. หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ 13 11 85 2 12 92 1 8. หน่วยงานอื่นของรัฐ 5 5 100 - 5 100 - รวม 8,294 6,631 80 1,663 6,966 84 1,328 นอกจากนี้ การเผยแพร่ทะเบียนที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานในเว็บไซต์ของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ณ วันที่ 18 มีนาคม 2567 พบว่า ส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ได้ลงทะเบียนที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ครบแล้วทุกหน่วยงาน ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทะเบียนแล้วจำนวน 5,749 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 1.2 การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 (1) พระราชบัญญัติการทางการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายกลางที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลดปัญหาและอุปสรรคทางข้อกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐให้สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่การยื่นเรื่อง/รับเรื่อง การติดต่อราชการ การส่ง/รับเอกสาร การแสดงเอกสารหลักฐาน การจัดทำ/ตรวจสอบฐานข้อมูลใบอนุญาต และการจัดเก็บเอกสารราชการ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถขอยกเว้นการดำเนินการ ดังกล่าวได้ใน 3 มาตรา? ได้แก่ (1) มาตรา 4 การขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ (2) มาตรา 7 การขอยกเว้นการยื่นคำขอรับบริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ขอรับบริการ ต้องดำเนินการเองเฉพาะตัว และ (3) มาตรา 14 การขอยกเว้นการแสดงใบอนุญาตหรือเอกสาร หลักฐานเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น (2) ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ ได้มีหน่วยงานเสนอขอยกเว้นการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการกงสุล กรมการปกครอง สำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพากร กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รวม 355 เรื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สคก. สำนักงานพัฒนา ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และ สพร. ร่วมกลั่นกรองและพิจารณาการขอยกเว้นดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานดังกล่าวได้พิจารณาการขอยกเว้นดังกล่าวแล้ว โดยเห็นควร ยกเว้น 51 เรื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ หน่วยงานของรัฐ จำนวนที่ข้อยกเว้น ผลการพิจารณา เห็นควรยกเว้น ไม่เห็นควร/ไม่เข้าข่ายยกเว้น 1. กรมการกงสุล 2 2 - 2. กรมการปกครอง 71 15 56 3. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สำนักงานอัยการทหาร) 1 1 - 4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 2 189 5. กรมสรรพากร 18 - 18 6. กรมที่ดิน 66 27 39 7. ธนาคารแห่งประเทศไทย 5 4 1 8. สำนักงานปลัดกระทรวงงวัฒนธรรม 1 - 1 รวม 355 51 304 ทั้งนี้ ผลการพิจารณาดังกล่าวเห็นควรยกเว้น เช่น การตรวจอนุญาตผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออก ราชอาณาจักร เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถยื่นคำขอล่วงหน้าได้ และเมื่อยื่นคำขอแล้วจะต้องมีการพิสูจน์หรือยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ โดยผู้ยื่นคำขอสามารถรอรับการอนุญาตได้เลย และมีระยะเวลาการให้บริการตลอดทั้งกระบวนการไม่เกิน 1 วัน เป็นต้น และไม่เห็นควรยกเว้น เช่น งานตรวจลงตราและงานใบสำคัญถิ่นที่อยู่ เนื่องจากเป็นกระบวนการภายหลังการยื่นคำขอแล้ว การอุทธรณ์ เนื่องจากมีระยะเวลาการให้บริการเกิน 1 วัน และไม่สามารถรอรับการอนุญาตได้ เป็นต้น (3) สคก. ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงตามผลการพิจารณา การขอยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในข้อ 1.2 (2) แล้ว จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (3.1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ไม่ใช้บังคับแก่อัยการทหาร ในสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) (3.2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดการอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 7 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดการดำเนินการ ที่ประชาชนจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง โดยไม่อาจดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 38 รายการ (3.3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเอกสารสำคัญที่ไม่อาจแสดงมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้หนังสือเดินทางเป็นเอกสารสำคัญที่ไม่อาจแสดงเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น 2. การดำเนินการในระยะต่อไป 2.1 สำนักงาน ก.พ.ร. จะติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อราชการ และกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครบถ้วนโดยเร็ว 2.2 สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. ได้สื่อสาร สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ผ่านระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบวงจร และเป็นช่องทางสำหรับหน่วยงานของรัฐในการรายงานผลการดำเนินการดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วัน 10. เรื่อง ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ 1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เสนอ 2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 1 เป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 3. ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง สผ. เสนอว่า ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้เสนอ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ สรุปได้ ดังนี้ 1. ควรพิจารณาแก้ไขของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้มีความเป็นกลางทางเพศยิ่งขึ้น เป็นดังนี้ ?เหตุผล โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิดหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชาย และหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้? 2. ควรเร่งรัดการพิจารณาและออกกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก โดยให้ใช้คำว่า ?บุคคล? แทนคำว่า ?หญิง? และคำว่า ?ชาย? เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีความหมายที่เป็นกลางทางเพศและครอบคลุมบุคคลทุกเพศ เช่น 1) การแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในมาตรา 1453 โดยแก้ไขคำว่า ?หญิง? เป็น ?หญิงหรือบุคคลที่ตั้งครรภ์ได้? รวมทั้งมาตรา 1504 และมาตรา 1510 ที่มีการใช้ คำว่า ?หญิงมีครรภ์? เป็น ?หญิงมีครรภ์หรือบุคคลมีครรภ์? เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในการตั้งครรภ์และมีบุตรของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเนื่องจากผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นผู้ชายข้ามเพศ ทอม เควียร์ และนอนไบนารี ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพตามธรรมชาติที่สามารถ ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้และเพื่อรองรับสิทธิให้แก่ผู้หญิงข้ามเพศ เควียร์ และนอนไบนารี ที่มีการปลูกถ่ายมดลูกแล้วสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ในอนาคต 2) การแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 1536 มาตรา 1537 มาตรา 1538 มาตรา 1539 มาตรา 1541 มาตรา 1542 มาตรา 1543 และมาตรา 1544 ที่มีการใช้คำว่า ?ชาย? ให้แก้ไขเป็นคำว่า ?บุคคล? ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายเป็นกลางทางเพศ และครอบคลุมถึงบุคคลทุกเพศ 3) ควรเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้ รวมทั้งควรยกเลิกเงื่อนไขให้ผู้เข้ารับบริการเกี่ยวกับการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่อาจตั้งครรภ์เองได้ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของทุกคนอย่างเท่าเทียม 4) ควรเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทบทวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ โดยคำนึงถึงวิถีทางเพศอัตลักษณ์ทางเพศสภาพการแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล เพื่อให้บุคคลทุกเพศได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง และให้หมายความรวมถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเคารพและคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย 5) ควรเร่งรัดและให้การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการอบรม เผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แก่บุคคลของตน รวมทั้งการจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสและครอบครัวหลากหลายทางเพศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน เศรษฐกิจ-สังคม 11. เรื่อง แนวคิดการจัดตั้งองค์กรการค้ำประกันเครดิต General credit Guarantee Facility (GCGF) Concept Paper คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของร่างแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ National Credit Guarantee Agency (NaCGA) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ กค. รายงานว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และยาวนานและนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจจากความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะวิกฤตได้อย่างทันการณ์ เพียงพอและครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อให้ระบบการเงินทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ ภาครัฐจึงพัฒนาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการคลังตามร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA ซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ 8 การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงระบบการเงินที่มีต้นทุนต่ำและทำธุรกิจได้เร็วขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand vision ?Ignite Thailand? ของนายกรัฐมนตรี ร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA มีสาระสำคัญ เช่น NaCGA มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และจะทำหน้าที่หลักในการค้ำประกันสินเชื่อและธุรกรรมต่างๆ ของสถาบันการเงินและ Non-Banks รวมถึงค้ำประกันหลักทรัพย์และการออกหลักทรัพย์ ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและรวดเร็ว วิธีและรูปแบบการค้ำประกันจะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดย NaCGA เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ำประกันทั้งหมด สำหรับแหล่งเงินทุนของ NaCGA ประกอบด้วย (1) เงินสมทบจากรัฐบาล (2) เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ และ (3) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ให้กระทรวงการคลังวางแผนการดำเนินการ โดยแสดงแหล่งเงินทุนที่จะใช้สำหรับการดำเนินการของ NaCGA ให้ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต และ (2) กรณีที่กระทรวงการคลังจะจัดทำและนำร่างกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น เห็นควรต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่นของรัฐและหลักความจำเป็นในการตรากฎหมาย เป็นต้น 12. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ตามข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ พร้อมขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 429,757,831 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ดังนี้ 1. ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน ชนิดเชื้อเป็น จำนวน 7,850,000 โด๊ส เป็นเงิน 421,020,000 บาท ประกอบด้วย 1.1 วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค-กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 10 โด๊ส/ขวด จำนวน 5,000,000 โด๊ส เป็นเงิน 315,000,000 บาท 1.2 วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค - กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 25 โด๊ส/ขวด จำนวน 2,850,000 โด๊ส เป็นเงิน 106,020,000 บาท 2. ค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์สำหรับฉีดวัคซีนและการรักษา จำนวน 8,737,831 บาท สาระสำคัญ การใช้วัคซีนลัมปี สกินสำหรับป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย 1) เปรียบเทียบปริมาณการใช้วัคซีนลัมปี สกิน สำหรับป้องกันควบคุมโรคกับจำนวนประชากร โค - กระบือ ในปีงบประมาณ 2564 ? 2567 แสดงดังตาราง ดังนี้ ปีงบประมาณ ปริมาณวัคซีน (โด๊ส/ตัว) จำนวนประชากรโค-กระบือ (ตัว) ร้อยละปริมาณวัคซีน/จำนวนประชากรโค-กระบือ 2564 - 2565 6,032,000 9,913,938 60.84 2566 6,368,250 11,947,487 53.3 2567 750,000 12,214,001 6.14 2) ปีงบประมาณ 2564 - 2565 วัคซีนชนิดเชื้อเป็น จำนวน 6,032,000 โด๊ส แยกเป็น - กรมปศุสัตว์จัดซื้อจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ จำนวน 5,000,000 โด๊ส ซึ่งสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่ได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 99.74 ของจำนวนวัคซีน - กรมปศุสัตว์จัดซื้อจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 360,000 โด๊ส และมีการดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่ได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 99.50 ของจำนวนวัคซีน - เอกชนบริจาค จำนวน 672,000 โด๊ส 3) ปีงบประมาณ 2566 - วัคซีนชนิดเชื้อเป็น จำนวน 6,300,000 โด๊ส จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ซึ่งมีผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือในพื้นที่จำนวนทั้งหมดร้อยละ 99.52 ของจำนวนวัคซีน - วัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตโดยสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 136,500 โด๊ส โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายใช้ฉีดเพื่อป้องกันโรคปีละ 2 ครั้ง ดังนั้นสามารถใช้ฉีดในโค กระบือได้จำนวน 68,250 ตัว 4) ปีงบประมาณ 2567 ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับจัดซื้อวัคซีนชนิดเชื้อตาย จำนวน 1,500,000 โด๊ส โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายใช้ฉีดเพื่อป้องกันโรค ปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น สามารถใช้ฉีดในโค กระบือได้จำนวน 750,000 ตัว การดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในประเทศโดยใช้วัคซีนเป็นมาตรการหลัก ซึ่งตามแผนการใช้วัคซีนในสัตว์จะต้องฉีดวัคซีนต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และมีข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินในสัตว์ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การเข้มงวดควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะนำโรค รวมทั้ง การเฝ้าระวังและการรายงานการเกิดโรคที่รวดเร็ว ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบมีรายงานโคป่วยตาย ซึ่งส่วนใหญ่พบการเกิดโรคในกลุ่มลูกโคที่เกิดใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในแนวทางการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกินในประเทศไทยต่อไป กรมปศุสัตว์จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมีข้อพิจารณาให้มีการกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวต่อไป ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด เป็นต้น ด้วย 13. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 867,812,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 รวม 227 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สาระสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า 1. กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867,812,000 บาท ดังนี้ 1.1 วัตถุประสงค์ (1) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทาน ที่ได้รับความเสียหาย จากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้ (2) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1.2 แผนงานโครงการ ขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 867,812,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ลำดับ ประเภทรายการ จำนวน (รายการ) งบประมาณ (บาท) 1 ซ่อมแซม/ปรับปรุง อาคารชลประทาน 227 867,812,000 รวมทั้งสิ้น 227 867,812,000 1.3 ผลลัพธ์ของโครงการ กรมชลประทาน จะมีอาคารชลประทาน จำนวน 227 รายการที่มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 14. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค (โครงการฯ) จำนวน 3,032 รายการ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญ 1. สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับโครงการฯ ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการ จำนวน 24,928 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 64,983.1969 ล้านบาท ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 2. สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามโครงการและรายการตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 3,032 รายการ ภายในกรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนี้ หน่วยงาน จำนวนรายการ วงเงิน (ล้านบาท) 1) กระทรวงมหาดไทย - จังหวัด - องค์การบริหารส่วนจังหวัด - เทศบาลเมือง - เทศบาลตำบล - องค์การบริหารส่วนตำบล - การประปาส่วนภูมิภาค 2,143 188 425 2 399 1,104 25 5,616.0499 136.6231 551.7747 70.1500 1,293.7810 3,413.9676 149.7535 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) 669 2,566.0029 3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - กรมทรัพยากรน้ำ -กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 220 158 62 1,005.3934 773.7916 231.6018 รวม 3,032 9,187.4462 และให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 2.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2.2 ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ภายในเดือนกันยายน 2567 และเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นต่อไป 2.3 ให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย 15. เรื่อง การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป คณะรัฐมนตรีรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (กองทุนฯ) ให้กับ นักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นการรายงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ประสบความสำเร็จต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบหลักการการกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขในการดำเนินการเสนอขาย หน่วยลงทุนประเภท ก. และการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ สรุปได้ ดังนี้ รายการ รูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. มูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ไม่เกิน 10 ปี โดยกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ดังกล่าวเมื่อครบกำหนด ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ เป็นต้น ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. หน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยมีกรอบแนวทางในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ดังนี้ 1) อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีการปรับปรุงส่วนต่างตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี 2) อัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตราสารทุนและมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ จะมีการพิจารณากำหนดอัตราผลตอบแทนดังกล่าวตามกรอบแนวทางข้างต้นต่อไป กลไกการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. การคุ้มครองเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนฯ จะบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio) โดยในกรณีที่ Asset Coverage Ratio ลดลงเกินกว่าสัดส่วนขั้นต่ำที่กองทุนฯ กำหนด กองทุนฯ จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเงินลงทุนขอผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนหรือได้รับเงินปันผล หาก NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ข. ต่ำกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับฯ ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ต่อไป การชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. หน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall โดยเมื่อครบระยะเวลาการลงทุน กองทุนฯ จะรับชื่อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ตามแนวทางและวิธีที่กำหนด ตลาดรอง หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถทำการซื้อขายผ่าน ตลท. ทั้งนี้ ภายหลังจากเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป กองทุนฯ จะลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) และยังคงลงทุนส่วนใหญ่ใน ตราสารทุนที่จดทะเบียนใน ตลท. โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ และคณะกรรมการการลงทุนของกองทุนฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดในการลงทุนต่อไป กำหนดเวลาในการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไปในเบื้องต้น กิจกรรม ช่วงเวลา 1) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ วันที่ 13 สิงหาคม 2567 2) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. ตลท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้นเพื่อให้การระดมทุนของกองทุนฯ เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนสิงหาคม 2567 3) นำเสนอคณะกรรมการกำกับๆ พิจารณาในเรื่องที่สำคัญ เช่น การกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง การกำหนด NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. และการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนแต่ละประเภท เป็นต้น ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๗ 4) ดำเนินการแก้ไขรายละเอียดโครงการ 5) เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. 6) หน่วยลงทุนประเภท ก. เริ่มทำการซื้อขายใน ตลท. ประโยชน์และผลกระทบ การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป จะเกิดประโยชน์ ดังนี้ 1. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท. ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่างประเทศ 16. เรื่อง ร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (ค.ศ. 2024 - 2026) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพ ในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (ค.ศ. 2024 - 2026) [Three-Year Plan of Action on Lancang - Mekong Production Capacity Cooperation (2024 - 2026)] (ร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และให้เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีหนังสือแจ้งให้การรับรองร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ ตามที่ประเทศสมาชิกมี ฉันทามติ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ คราวประชุมคณะทำงานร่วมสาขาศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ประเทศสมาชิกได้เจรจาจัดทำร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต สรุปได้ ดังนี้ ประเด็น สาระสำคัญ วัตถุประสงค์ - ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบ ด้านอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศและแสวงหาศักยภาพของความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผลักดันความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตเชิงลึกและมีคุณภาพสูง และยกระดับอุตสาหกรรมให้ทันสมัยและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล - ขยายความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ในสาขาการเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกของจีนและข้อริเริ่มระดับภูมิภาคและระดับโลกอื่น ๆ - แสวงหาแนวทางเพื่อยกระดับสถานะของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง อย่างครอบคลุมในห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาคและโลก ผ่านการกระจายการผลิตภายในภูมิภาค การสร้างงาน การบรรเทาความยากจนและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อสร้างประชาคมแห่งอนาคตที่มีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองและใกล้ชิดกันมากขึ้น หลักการสำหรับ ความร่วมมือ - การหารืออย่างกว้างขวางและการมีส่วนร่วมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและความร่วมมือที่ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยประเทศสมาชิกจะหารือเกี่ยวกับโครงการ ความร่วมมือต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์และพิจารณาข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายและสร้างเวทีความร่วมมือและแบ่งปันผลลัพธ์ของความร่วมมือ โดยการดำเนินการจะสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นภาคี รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในของประเทศสมาชิกด้วย - การส่งเสริมความร่วมมือที่มีการประสานงานบนพื้นฐานของเงื่อนไขท้องถิ่น ให้คำนึงถึงของทุนทรัพยากรและระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศสมาชิก พร้อมทั้งปรับรูปแบบความร่วมมือและโครงสร้างอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความได้เปรียบที่เกื้อกูลกันของภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง - การชี้นำของรัฐบาลและการเน้นบทบาทของตลาด ผลักดันให้มีการสื่อสารและการประสานงานเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลเพื่อให้ภาครัฐมีบทบาทนำในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน และสร้างเวทีความร่วมมือสำหรับองค์กรและสถาบันการเงิน รวมถึงดำเนินความร่วมมือตามกลไกตลาดและขับเคลื่อนโดยวิสาหกิจตามแนวปฏิบัติสากล - การพัฒนาที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานสีเขียว โดยสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศสมาชิก และความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความมั่นคงของมนุษย์ - การหารืออย่างใกล้ชิด การสอดประสาน และประสิทธิภาพขั้นสูง การดำเนินงานตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะมีการหารืออย่างใกล้ชิดและสอดประสานการทำงานกับคณะทำงานร่วมอื่น ๆ ในสาขาความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อหลีกเลี่ยงซ้ำซ้อนและปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โครงสร้างการดำเนินงาน - คณะทำงานร่วมสาขาความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นกลไกขับเคลื่อนและประสานการดำเนินการตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมของคณะทำงานร่วมฯ ปีละ 1 ครั้ง โดยประเทศสมาชิกจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตามลำดับตัวอักษร - คณะทำงานร่วมฯ จะกำหนดจุดประสานงาน (Focal Point for Coordinating) กับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยมีรายละเอียดจุดประสานงานของแต่ละประเทศ มีดังนี้ ประเทศสมาชิก จุดประสานงาน ไทย กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กต. จีน ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กัมพูชา กรมประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนของคณะกรรมการการลงทุนภายใต้สภาการพัฒนากัมพูชา สปป.ลาว กรมเจรจาการค้าและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เมียนมา กรมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เวียดนาม องค์การการลงทุนจากต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ทั้งนี้ จุดประสานงานของแต่ละประเทศควรส่งเสริมการทำวิจัยร่วมและการลงทุนสำหรับสมาคมธุรกิจ วิสาหกิจ สถาบันการเงิน และหน่วยงานคลังสมอง (Think Tank) ทั้งในและนอกภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก ความร่วมมือ เชิงปฏิบัติที่สำคัญ - การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต เป็นต้น - การแสวงหาความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ในรูปแบบ ?หลายประเทศและหลายนิคมอุตสาหกรรม (Multi - Country and Multi - Park)? โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบ ?หลายประเทศและหลายนิคมอุตสาหกรรม? - การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือสาขาศักยภาพในการผลิตแม่โขง - ล้านช้าง (Lancang-Mekong Production Capacity Cooperation Fund) และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการสำคัญ - การทำวิจัยร่วม พิจารณาแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความร่วมมือ ด้านศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Expert Committee on Lancang-Mekong Production Capacity Cooperation) (คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ) ทั้งนี้ ทุนสำหรับการวิจัยจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) และช่องทางอื่น ๆ - การสร้างแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนข้อมูล พิจารณาให้ความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นแพลตฟอร์มหลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดตั้งเว็บไซต์ทางการเพื่อให้บริการแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูลอย่างทันท่วงที - การอบรมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้าง ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมด้านการบริการและเชิงเทคนิค และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฝึกอบรมพิเศษในกระบวนการดำเนินโครงการการผลิตและการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่สำคัญ - ด้านคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน วิสาหกิจจะได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อาทิ ทางรถไฟสายหลัก ระบบขนส่งมวลชนทางราง ทางหลวง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน โลจิสติกส์ ไฟฟ้า สายใยแก้วนำแสง โกดัง และโครงการอื่น ๆ ของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และลดความซับซ้อนในกระบวนการขนส่ง - ด้านเทคโนโลยีสีเขียว สะอาด และประหยัดพลังงาน ไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ความปลอดภัยของเขื่อน และโครงการพลังงานสะอาดอื่น ๆ อาทิ พลังงานชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electric EV) และแบตเตอรี่ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ กระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) และระบบ กักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพื่อการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนและการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ - ด้านอุตสาหกรรมการผลิต แลกเปลี่ยนและร่วมมือในด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเคมี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ - ด้านข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร เสริมสร้างความร่วมมือด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เครือข่ายข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร และศูนย์ข้อมูลและจุดให้บริการ (Point of Presences: POPs) ตามความต้องการของตลาดท้องถิ่น พร้อมทั้งสำรวจรูปแบบการดำเนินงานของเคเบิลภาคพื้นดินข้ามประเทศและส่งเสริมการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล - ความร่วมมือด้านการเกษตร ส่งเสริมการสร้างโครงการสาธิตเทคโนโลยีการเกษตร การดำเนินโครงการสาธิตการเกษตรคุณภาพสูงและที่ให้ผลตอบแทนสูง และจัดตั้งนิคมความร่วมมือทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์และผลิตภัณฑ์ประมงให้มากขึ้น การรับรองและดำเนินการตามร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต อุตสาหกรรมและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ผลักดันความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานภายในอนุภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการฟื้นตัวและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค 17. เรื่อง การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 9 จำนวน 4 ฉบับ (1) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านข้าง ครั้งที่ 9 (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง (3) ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง และ (4) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง 2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 4 ฉบับ ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างครั้งที่ 9 สาระสำคัญ 1. กรอบ MLC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ 2. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานร่วมกรอบ MLC ได้จัดการประชุมคณะทำงานร่วมทางการทูตกรอบ MLC ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ครั้งที่ 9 ซึ่งต่อมาประธานร่วมกรอบ MLC ได้เสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 4 ฉบับ สำหรับการรับรองในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศดังกล่าว ได้แก่ 1) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการของกรอบ MLC และแสดงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือใน 3 เสา และ 5 สาขาความร่วมมือหลักและความร่วมมือด้านอื่น ๆ 2) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของฝ่ายไทย เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก MLC ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ตามที่ได้เห็นพ้องร่วมกันในการประชุมผู้นำกรอบ MLC ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม 2566 และสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง หรือกองทุนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักรู้ของสาธารณชน บทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศสมาชิกกรอบ MLC ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3) ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งเป็นเอกสารที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบ MLC โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานหลักสำหรับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ค.ศ. 2023-2027 4) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรม ข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของฝ่ายไทย เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน ตามที่ได้เห็นพ้องร่วมกันในการประชุมผู้นำกรอบ MLC ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยเฉพาะการสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกที่มีอยู่ของกรอบ MLC และกลไกอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงภายใต้กรอบ MLC ภายในปี 2567 หรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 4. ประโยชน์และผลกระทบ การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ทั้ง 4 ฉบับจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC สอดคล้องกับผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทยและตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าทายปัจจุบันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 18. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 (ร่างปฏิญญาฯ) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กษ. รายงานว่า เปรูในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคประจำปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ในวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ณ เมืองทรูจิลโล โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 2 ฉบับ ระหว่างการประชุมซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ ร่างเอกสาร รายละเอียด ร่างปฏิญญาฯ (1) สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2567 ที่ว่าด้วยการ ?เสริมสร้าง ครอบคลุม เติบโต? มุ่งเน้นในประเด็น ?การเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยืดหยุ่น? รวมถึงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี 2573 (2) เป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการของอาหารในปริมาณที่เพียงพอเพื่อให้มั่นใจถึงความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ (3) สนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และเทคโนโลยีโดรนเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร ป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและ ขยะอาหาร (4) สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปคดำเนินนโยบายเพื่อปรับปรุงระบบอาหาร ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (5) ดำเนินการตามแผนเอเปคว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ขยะทะเล การทำประมงขนาดเล็ก และการเพาะเลี้ยง (6) สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจใช้ระบบการค้าพหุภาคี ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลกเพื่อส่งเสริมการเติบโตทียั่งยืนและครอบคลุม เพิ่มความสามารถในการคาดการณ์ตลาดและลดการบิดเบือนทางการค้า (7) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) สตรี เยาวขน และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย เช่น คนพื้นเมือง คนพิการและคนจากชุมชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลและเขตชนบท (8) ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร เน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต ร่างเอกสารหลักการการป้องกันและการลด การสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปค (ร่างเอกสารหลักการฯ) เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจยึดถือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน ปรับปรุงโภชนาการและความมั่นคงอาหารของประชากรที่สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ. 2573 มีหลักการสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ หลักการที่ ๑ เสริมสร้างโครงสร้างสถาบันให้มีความแข็งแกร่ง หลักการที่ ๒ ส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม ดิจิทัลและเทคโนโลยี หลักการที่๓ สนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความตระหนักรู้ และการศึกษา หลักการที่ 4 ปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลและการจัดการองค์ความรู้ หลักการที่ 5 ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน หลักการที่ 6 สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้ออำนวย หลักการที่ 7 ส่งเสริมการจัดการอาหารส่วนเกินและการบริจาคอาหาร ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องจะมีการรับรองโดยไม่มีการลงนามและไม่มีข้อกำหนดให้มีการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ 19. เรื่อง ร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในช่วงการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2024 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ลิมา การประชุมรัฐมตรีพลังงานเอเปคประจำปี ค.ศ. 2024 (Lima Statement 2024 APEC Energy Ministerial Meeting) และร่างแนวนโยบายเอเปคเพื่อพัฒนาและปรับใช้กรอบนโยบายด้านไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Policy Guidance to Develop and Implement Low ? Carbon Hydrogen Policy Frameworks in the Asia - Pacific) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 14 สาระสำคัญ 1. การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 14 (APEC Energy Ministerial Meeting: APEC EMM 14) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 16 สิงหาคม 2567 ณ เมืองลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก ?Empower Include Grow? ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีพลังงานเขตเศรษฐกิจเอเปคในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต การผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของเอเปคและการส่งเสริมการค้าการลงทุนใน ภาคพลังงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานภายในภูมิภาคเอเปค ซึ่งในระหว่างการประชุมดังกล่าว สมาชิกของเขตเศรษฐกิจเอเปคจะต้องให้การรับรองร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ลิมา การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปคประจำปี ค.ศ. 2024 (Lima Statement 2024 APEC Energy Ministerial Meeting) และ (2) ร่างแนวนโยบายเอเปค เพื่อพัฒนาและปรับใช้กรอบนโยบายด้านไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก(APEC Policy Guidance to Develop and Implement Low-Carbon Hydrogen Policy Frameworks in the Asia - Pacific) ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพลังงานเอเปคในการกำหนดทิศทางและวางกรอบนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกันและเป็นเอกสารที่กำหนดกรอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม สำหรับการผลิต การขนส่ง และการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนร่วมกันในภูมิภาคเอเปคอีกด้วย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1) ร่างแถลงการณ์ลิมา การประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2024 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพลังงานเอเปคในการผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานภายในภูมิภาคเอเปค เช่น (1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน รวมทั้งปรับใช้การดำเนินนโยบายและเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการจัดหาและการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (2) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน (3) ผลักดันโครงการ/กิจกรรมความร่วมมือในการปรับใช้เทคโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพ (4) ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดและโครงการสนับสนุนด้านพลังงาน 2) ร่างแนวนโยบายเอเปคเพื่อพัฒนาและปรับใช้กรอบนโยบายด้านไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชีย ? แปซิฟิก เป็นเอกสารแนวทางผลักดันความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจเอเปคในการพัฒนาไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำโดยใช้กลไกของคณะทำงานด้านพลังงานเอเปคในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น (1) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (2) หารือแนวทางการพัฒนามาตรฐานและความปลอดภัยของไฮโดรเจน (3) ส่งเสริมการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานและตลาดโฮโดรเจนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง 2. การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2024 ที่ พน. เสนอในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยสามารถกำหนดทิศทางและวางกรอบนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานของไทยร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานของเอเปค (APEC Energy Goals) ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและประสิทธิภาพพลังงาน และร่วมกันผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาภาคพลังงานของสมาชิกต่อไป 20. เรื่อง ผลการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลกครั้งที่ 7 และการรับรองข้อเสนอโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (GBFF) คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบผลการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF Assembly) ครั้งที่ 7 2. มอบหมายให้ปลัด ทส. ปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานกลางประสาน การดำเนินงานของกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (กองทุน GBFF) ของประเทศไทย มีอำนาจในการพิจารณาให้การรับรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุน จากกองทุน GBFF 3. ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน GBFF นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการลงนามในข้อตกลงทางการเงิน สำหรับกรณีที่โครงการได้รับอนุมัติสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน GBFF และมีข้อผูกพัน ทางการเงินที่เป็นตัวเงิน (In Cash) ร่วมสนับสนุนในการดำเนินโครงการ สาระสำคัญของเรื่อง 1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 สิงหาคม 2566) เห็นชอบในหลักการต่อเอกสารการจัดตั้งและกรอบการสนับสนุนของกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (กองทุน GBFF) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ) ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าร่วมประชุม GEF Assembly ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2560 ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งในการประชุมดังกล่าว มีประเด็นที่สำคัญ คือ การรับรองข้อมติเรื่องการจัดตั้งกองทุน GBFF โดยประเทศแคนาดาจะบริจาคเงินเข้ากองทุน GBFF จำนวน 200 ล้านดอลลาร์แคนาดา และสหราชอาณาจักร จะบริจาคเงินเข้ากองทุน GBFF จำนวน 10 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง นอกจากนี้ ธนาคารโลกในฐานะ Trustee ของกองทุน GBFF จะเร่งจัดตั้งกองทุน GBFF ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 (ในปัจจุบันกองทุน GBFF ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการ ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน GBFF 2. กองทุน GBFF เป็นกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ (เป็นกรอบงานระยะ 10 ปี (ปี 2564 ? 2573) ที่เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP15)] มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ โดยกองทุนดังกล่าว แตกต่างจากกองทุน Global Environment Facility (กองทุน GEF) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบความแตกต่างของทั้งสองกองทุน สรุป ดังนี้ ประเด็น กองทุน GEF กองทุน GEF ที่มาและการจัดตั้ง เป็นกองทุนภายใต้ธนาคารโลก (World Bank) และต่อมาที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UNCED) ได้ปรับโครงสร้างของ GEF ให้แยกจากธนาคารโลก เมื่อปี 2535 โดยให้ธนาคารโลกเป็นผู้จัดการดูแล(Trustee) กองทุน GEF เป็นกองทุนเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมติที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP15) เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุม GEF Assembly ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยธนาคารโลกเป็นผู้จัดการดูแล (Trustee) หน่วยงานเลขานุการ สำนักงานเลขาธิการกองทุน GEF วัตถุประสงค์ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ ตามเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลฯ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลาย ทางชีวภาพ ภายในปี 2573 ระยะเวลาดำเนินงาน ไม่มีกำหนด กองทุน GBFF มีระยะเวลาการดำเนินงาน ถึงปี 2573 (เท่ากับระยะเวลาของ กรอบงานคุนหมิง ? มอนทรีออลฯ) รอบการสนับสนุน กองทุน GEF แบ่งการสนับสนุนเป็นรอบ รอบละ 4 ปี โดยปัจจุบันอยู่ในรอบที่ 8 หรือ GEF-8 (กรกฏาคม ? 2565 ? มิถุยายน 2569) ยังไม่มีกำนด การพิจารณาข้อเสนอโครงการ คณะมนตรีกองทุน GEF (GEF Council) มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสุนนจากกองทุน GEF โดยจะมีการประชุม GEF Council ปีละ 2 ครั้ง คณะมนตรีกองทุน GEF (GEF Council) มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการ ที่ขอรับการสนับสุนนจากกองทุน GEF โดยจะมีการประชุม GEF Council ปีละ 2 ครั้ง (ในห้วงเวลาเดียวกับ การประชุม GEF Council) กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำเอกสารความตกลงการร่วมดำเนินโครงการและมีข้อผูกพันที่จะต้องร่วมสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบเป็นตัวเงิน (In Cash) ซึ่งจะมีผลผูกพันงบประมาณของหน่วยงานตลอดช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการ (โดยประมาณ 2 - 4 ปี) และไม่เข้าลักษณะตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2546 (เรื่อง การขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ) และ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 (เรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ) ที่ให้หน่วยงานของรัฐรับหรือขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศได้เฉพาะที่ไม่มีเงื่อนไข ข้อผูกพัน หรือพันธกรณีที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบยกเว้นการให้การช่วยเหลือในลักษณะที่เกิดประโยชน์แก่ภูมิภาค และมิได้ผูกพันกับประเทศไทยโดยตรง นอกเหนือจากนั้นให้เสนอเรื่องพร้อมเหตุผลความจำเป็นให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด เห็นชอบและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ในการนี้ ทส. จึงเสนอแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน GBFF ที่มีข้อผูกพันที่จะต้องร่วมสนับสนุน งบประมาณในการดำเนินโครงการในรูปแบบเป็นตัวเงิน (In Cash) ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการลงนามในข้อตกลงทางการเงินของโครงการ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในลักษณะเดียวกับแนวทางการขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 [เรื่อง การรับรองข้อเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF)] เห็นชอบให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจาก GEF นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบก่อนลงนามในข้อตกลงทางการเงิน สำหรับกรณีที่โครงการได้รับอนุมัติสนับสนุนทางการเงินจาก GEF และมีข้อผูกพันทางการเงินที่เป็นตัวเงิน (In Cash) ร่วมสนับสนุนในการดำเนินโครงการ 21. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14 (ร่างถ้อยแถลงฯ) และหากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทนร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ สาระสำคัญ ร่างถ้อยแถลงฯ เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14 มีสาระสำคัญเป็นการสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค* เสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มโดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ เช่น 1. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน เตรียมพร้อมและรับมือกับโรคระบาดและภัยต่อสุขภาพที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติในอนาคต เช่น การเตือนภัยด้านระบาดวิทยา โดยเฉพาะโรคติดต่อที่มีพาหะจากแมลง 2. การส่งเสริมบทบาทและความเท่าเทียมทางเพศภาวะ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ เช่น การดำเนินการเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้หญิงมีสุขภาพที่ดีและสามารถมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ 3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพจิต โดยส่งเสริมกลยุทธ์ที่ครอบคลุมถึงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์สำหรับการดูแลสุขจิตรวมถึงส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนการทำงานของศูนย์ดิจิทัลด้านสุขภาพจิตของเอเปค เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ต่อไป 4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น เช่น การลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเอเปคว่าด้วยการฉีดวัคซีนตลอดช่วงชีวิต 5. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการศักยภาพของกำลังคนด้านสุขภาพในระบบสุขภาพ และการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ * เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ปัจจุบันประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ เช่น เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐเปรู สหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศไทย 22. เรื่อง ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-คาซัคสถาน รวมทั้งอนุมัติการลงนามในร่างความตกลงฯ โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ให้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ สาระสำคัญ 1. ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์และหลักการสำคัญ เพื่อส่งเสริม อำนวยความสะดวก และยกระดับความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันในระยะยาวและอย่างมั่นคง ทั้งนี้ การดำเนินการค้าระหว่างกันให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามความตกลงฉบับนี้ 2. ความร่วมมือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่าง ๆ เช่น งานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ และการสัมมนาที่เกี่ยวข้อง และหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น (1) อาหารและการเกษตร (2) สินแร่ (3) เครื่องจักรกล (4) รถยนต์และชิ้นส่วน (5) อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (6) น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ (7) การก่อสร้างและที่อยู่อาศัยและ งานบริการสังคม (8) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (9) เศรษฐกิจสีเขียว และ (10) ความปลอดภัยทางอาหาร 3. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า โดยมีผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากแต่ละฝ่ายในระดับที่เหมาะสมตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเป็นประธานร่วม ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมฯ มีหน้าที่ ดังนี้ (1) ทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี (2) กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการตามความตกลงฯ (3) แสวงหาโอกาสในการขยายและกระจายการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย (4) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมการร่วมฯ จะกำหนดขึ้นตามเวลาและสถานที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน 4. ประโยชน์และผลกระทบ: การลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับคาซัคสถาน โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยในการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้า โดยจะช่วยสนับสนุนการนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ตอบสนองต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งเป็นการวางรากฐานเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีร่วมกันในอนาคตกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งมีคาชัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสำคัญ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม 2567 โดยฝ่ายคาซัคสถานกำหนดจัดพิธีลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 23. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สาระสำคัญ 1. เป็นกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรระดับกระทรวง ลงนามโดยรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่กระทบต่อภาระผูกพันภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่ และไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสิทธิ หรือภาระผู้พันทางกฎหมายของทั้งสองฝ่าย 2. วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างและส่งเสริมการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการในสาขาการเกษตรระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ซึ่งอาจมีการพิจารณาในอนาคต อาทิ การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักวิจัย การวิจัยร่วมด้านการเกษตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมการติดต่อระหว่างหน่วยงานและองค์กรของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตร การพัฒนาด้านการตลาดและการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ครอบคลุมการพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งสัตว์ ประมง พืช การชลประทาน การบริหารจัดการดินและน้ำ และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร การพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางอาหาร รวมทั้งสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรฐานอาหาร เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน 3. กลไกการดำเนินการ มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร (Joint Agriculture Working Group: JAWG) เป็นกลไกหารือเป็นประจำทุก 2 ปี โดยประธานทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้บริหารระดับสูงเพื่อหารือกิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ แต่งตั้ง 24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิจำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 1. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566 2. นายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ รับโอนนางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 13 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้ 1. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอนามัย 2. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 3. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์ 4. นายภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค 5. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต 6. นายภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนับสนับสนุนบริการสุขภาพ 7. นายสมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 8. นายภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 9. นายมณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 10. นายศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 11. นายวีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 12. นายปรีชา เปรมปรี สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 13. นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข (นักวิชาการอาหารและยาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 29. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้ 1. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ 2. ศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. ศาสตราจารย์พิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. นายพิศณุ ศรีพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7. ศาสตราจารย์สุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป