สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นายภูมิธรรม เวชยชัย(รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กันยายน 2567

ข่าวการเมือง Tuesday September 3, 2024 16:46 —มติคณะรัฐมนตรี

วันนี้ (3 กันยายน 2567) เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ซึ่งสรุปวาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ...

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. ....

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในโฆษณาเครื่องสำอาง

พ.ศ. ....

4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดในการประเมินเอกสาร วิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และขายเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. ....

5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....

6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....

7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....

8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....

9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ....

10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ....

11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ....

12. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....

13. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ-สังคม

14. เรื่อง การป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย

15. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการอาคารเรียน 212 ล./57-ข สำหรับก่อสร้างในเขตแผ่นดินไหว โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง จังหวัดตาก

16. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

17. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ

18. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K)
19. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
20. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำ
21. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 39 จังหวัด) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
22.  เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา                       ยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
23. เรื่อง ขออนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ต่างประเทศ
24. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
25. เรื่อง ร่างปฏิญญาอัสตานาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก
26. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ประจำปี 2567
27. เรื่อง การให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ
28. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย ? มาเลเซีย ? ไทย (IMT-GT)
?
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1.ปัจจุบันพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมาย
ยาเสพติด
                    2. โดยที่มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งในบัญชีท้ายๆ ตาม (11) ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และมาตรา 20 บัญญัติให้ค่าธรรมเนียมตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติด
ให้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (สำนักงาน อย.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น ค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
                              - ส่วนที่ 1 ค่าธรรมเนียมตาม (1) ถึง (16) ส่วนนี้จะเป็นรายได้แผ่นดิน
                              - ส่วนที่ 2 ค่าธรรมเนียมตาม (17) (18) (19) (20) และ (21) ส่วนนี้ให้ตกเป็นของสำนักงาน อย. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา 19 ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรเชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน
                    ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดของการกำหนดและการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สธ. ยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                              2.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ฉบับละ 3,000 บาท
                              2.2 กำหนดค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการสำหรับเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ค่าคำขอและการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ค่าประเมินเอกสารทางวิชาการ ค่าตรวจสถานประกอบการและค่าดำเนินการอื่น ๆ
                              2.3 ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งสถาบันภายใต้มูลนิธิซึ่งเป็นกลไกของส่วนราชการ
                    ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 22-8/2566 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
                    3. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญ
                    1. เดิมได้มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกำหนดค่าธรรมเนียม ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) กฎกระทรวงควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546 (2) กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 (3) กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 (4) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. 2553 และ (5) กฎกระทรวงกำหนดฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก พ.ศ. 2558 แต่โดยที่ปัจจุบันพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมาตรา 35 วรรคสาม มาตรา 36 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้บัญญัติให้การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาตการนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง การให้ผู้รับอนุญาต ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแล และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าว จึงสมควรออกกฎกระทรวงเพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
                    2. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว (เรื่องเสร็จที่ 455/2567) ซึ่งเป็นการออกกฎกระทรวงขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม
โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                    3. ร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น          รายละเอียด
1. วันบังคับใช้          - ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. ยกเลิกบทบัญญัติ          - ยกเลิกกฎกระทรวงควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับ ที่มี
โคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546
- ยกเลิกข้อ 2 (6) (7) (8) (9) (11) (15) และ (18) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือนำเข้าหรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
- ยกเลิกข้อ 3 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือนำเข้าหรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
- กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. 2553
- กฎกระทรวงกำหนดฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือ
คำเตือนหรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก พ.ศ. 2558
3. คำนิยาม          - กำหนดนิยามคำว่า ?ขายส่ง? หมายความว่า การจำหน่ายโดยตรงให้แก่
(1) ผู้รับอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือจำหน่าย โดยการขายส่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (สธ. ขอแก้ไขคำนิยามจากร่างที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วให้สอดคล้องกับร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. (เรื่องเสร็จที่ 631-362/2567)
(2) กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย และองค์การมหาชนและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข
(3) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง
4.คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต          - ผู้ขออนุญาตผลิตต้องได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยาในหมวดยาเดียวกันกับที่ขออนุญาตนั้น
- ผู้ขออนุญาตนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา
- ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
- ผู้ขออนุญาตจำหน่ายต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วย
ว่ายา
- ผู้ขออนุญาตจำหน่ายโดยการขายส่งต้องได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 3
5. การยื่นคำขอ          - การยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาต พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐาน เช่น เลขที่ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา เลขที่ใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยา และคำรับรองของเภสัชกรที่อยู่ประจำควบคุมกิจการของสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือสถานที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดยการขายส่ง แล้วแต่กรณี
- การยื่นคำขอ การแจ้ง และการติดต่อใด ๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ
ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหากมีเหตุไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าวได้ ให้ดำเนินการ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีผลิต นำเข้า หรือส่งออก ให้ดำเนินการ ณ สำนักงาน อย. สธ.
(2) กรณีจำหน่าย หรือจำหน่ายโดยการขายส่งให้ดำเนินการ ณ สำนักงาน อย. สธ. หรือให้ดำเนินการ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งท้องที่ที่สถานที่จำหน่าย หรือจำหน่าย โดยการขายส่งนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- แบบคำขอ คำรับรอง ใบอนุญาต และใบแทนให้เป็นไปตามที่เลขาธิการ อย. กำหนด
6. การพิจารณาคำขออนุญาต          - กรณีที่คำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูลและเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้
ผู้อนุญาต (เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย.) แจ้งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด หากไม่แก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป และให้
ผู้อนุญาตจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
- กรณีที่ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูลและเอกสารถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตออกหลักฐานการขอรับคำขอใบอนุญาต และแจ้งให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วน และในกรณีที่มีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต
- ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบพร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต
7. อายุใบอนุญาต          - ใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 โดยการขายส่ง ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต
8. การนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง          - กำหนดให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้ง โดยให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตพร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่ระบุไว้ในแบบคำขอ และเมื่อข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้า หรือส่งออกเฉพาะคราวซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ให้แก่ผู้ขออนุญาตภายใน 30 วัน และให้ผู้อนุญาตแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 นับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต
- กำหนดให้การออกใบอนุญาตให้ออกเป็นใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราว และให้มีสำเนาใบอนุญาตและคู่ฉบับใบอนุญาต รวมทั้งมีหมายเลขกำกับไว้ที่สำเนาและคู่ฉบับใบอนุญาตด้วย และกำหนดวิธีการดำเนินการของสำนักงาน อย. เมื่อออกใบอนุญาตนำเข้าเฉพาะคราวหรือส่งออกเฉพาะคราวให้แก่ผู้รับอนุญาต เช่น เก็บไว้เป็นหลักฐาน จัดส่งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออก นำไปยื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ
- กำหนดหน้าที่ของผู้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) นำยาเสพติดให้โทษที่ตนนำเข้าหรือส่งออกมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ
ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษ เพื่อตรวจสอบ
(2) นำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษตามชนิดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเฉพาะคราว และไม่เกินจำนวนหรือปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเฉพาะคราว ในกรณีที่ไม่สามารถส่งออกได้ตามจำนวนหรือปริมาณดังกล่าว ให้แจ้งต่อผู้อนุญาตเพื่อแก้ไขใบอนุญาตให้ถูกต้องตามจำนวนหรือปริมาณที่ส่งออกจริง
(3) ในกรณีที่เป็นการนำเข้า ให้จัดส่งสำเนาใบอนุญาตส่งออกหรือสำเนาหนังสือแสดงการอนุญาตส่งออกของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกมาพร้อมกับยาเสพติด
ให้โทษ 1 ฉบับ
9. การควบคุมกำกับดูแล          - กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออก และจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จะต้องดำเนินการตามข้อปฏิบัติต่าง ๆ เช่น
(1) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิต ด้วยวัตถุถาวรสีเขียวมีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า 10 x 60 เซนติเมตร และมีข้อความเป็นตัวอักษรไทยสีขาว สูงไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
(2) จัดให้มีป้ายแสดงชื่อและเวลาทำการของเภสัชกรผู้ควบคุมกิจการ ด้วยวัตถุถาวร
สีเขียวมีข้อความแสดงชื่อตัว ชื่อสกุล วิทยฐานะ และเวลาทำการของเภสัชกรเป็นอักษรไทยสีขาว ขนาดตัวอักษรสูง ไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร
(3) จัดทำบัญชีเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า การส่งออก และการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามที่ได้รับอนุญาต โดยต้องให้เก็บรักษาบัญชีไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลา อย่างน้อยภายใน 2 ปี นับวันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี
(4) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็น
รายเดือนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน
(5) จัดให้มีเภสัชกรและดูแลให้เภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต และควบคุมเภสัชกรให้มีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้
- กำหนดให้การจัดบัญชีและการจัดทำรายงานให้มีรายละเอียดตามแบบที่เลขาธิการ อย. กำหนด
- กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประสงค์จะเปลี่ยนตัวเภสัชกร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตและ
จะเปลี่ยนตัวได้เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว และหากเภสัชกรไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้เภสัชกรผู้นั้นแจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบหรือจะแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก็ได้
- กำหนดให้เลขาธิการ อย. มีอำนาจประกาศควบคุมการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันมิให้มีการนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ไปใช้ในทางที่ผิดหรือนอกวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้
10. ค่าธรรมเนียม          - ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังนี้
(1) ใบอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 6,000 บาท
(อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมสำหรับผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับละ 50,000 บาท)
(2) ใบอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 6,000 บาท (อัตรา
คงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 100,000 บาท)
(3) ใบอนุญาตส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 200 บาท
(อัตราคงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 10,000 บาท)
(4) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ฉบับละ 1,000 บาท (อัตรา
คงเดิมตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ และอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลกฎหมายฯ ฉบับละ 10,000 บาท)
(5) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้ให้โทษในประเภท 3 โดยการขายส่ง ฉบับละ 1,000 บาท (เดิมมิได้กำหนดไว้ แต่ได้กำหนดตามอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลฯ ฉบับละ 10,000 บาท)
(6) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวยาเสพติดให้โทษในประเภท 3  ฉบับละ 500 บาท (อัตราเพิ่มขึ้นซึ่งเดิมกำหนดไว้ในกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมฯ ฉบับละ
100 บาท และอัตราธรรมเนียมสูงสุดท้ายประมวลฯ ฉบับละ 20,000 บาท)
(7) การต่ออายุใบอนุญาตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น (กำหนดเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายฯ)
- ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์การมหาชน และหน่วยงานในกำกับของที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความคิดเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. เนื่องด้วยเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ข้อความโฆษณาเครื่องสำอาง ที่มีการแสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือ
ทำให้เข้าใจว่ามีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หรือมีผลต่อการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย
ที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้นเกินขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอางและอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในวิธีการใช้หรือทำให้ได้รับผลกระทบที่รุนแรงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ ไม่เกินจริงไม่เกินขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอาง อันจะนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อและใช้เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงกำหนดข้อความอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่ต้องห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง
พ.ศ. .... กำหนดข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอางเพิ่มเติมจากที่พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ ดังนี้
                              1.1 ข้อความที่สื่อความหมายถึงการใช้กับบริเวณภายในร่างกายมนุษย์ แต่ไม่รวมถึงข้อความที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยชนิดสอดหรือข้อความที่สื่อความหมายถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก
                              1.2 ข้อความที่สื่อให้เข้าใจว่า นำไปใช้ฉีด หรือใช้ร่วมกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย หรือเครื่องมือประกอบในการผลักดันสารเข้าสู่ร่างกาย เช่น Mesotherapy
                    2. สธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 26 มกราคม ? 12 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีหน่วยงานและประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอาง องค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯ และในคราวประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอางครั้งที่ 1/2567 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายว่าด้วยแล้ว
                    3. โดยที่ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดในการประเมินเอกสารวิชาการการตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และขายเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดในการประเมินเอกสารวิชาการการตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และขายเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                              สาระสำคัญของร่างประกาศ
                              1. กระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องมือแพทย์ได้แบ่งกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด และ 2) การกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด ซึ่งในการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ก่อนออกสู่ตลาดได้มีประกาศกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องมือแพทย์ และประกาศกำหนดอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดที่จะจัดเก็บในกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องมือแพทย์ สำหรับการกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาดในปัจจุบัน ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์หลังออกสู่ตลาด ซึ่งทำให้รัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบ หรือเฝ้าระวังในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์หลังออกสู่ตลาด อาทิ
ค่าตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการ ค่าวิเคราะห์เครื่องมือแพทย์ตามกิจกรรมการสำรวจและตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพค่าซื้อตัวอย่าง
เพื่อตรวจสอบ
                              2. โดยที่มาตรา 35/4 (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอผู้จดทะเบียนสถานประกอบการ
ผู้รับอนุญาต ผู้แจ้งรายการละเอียด ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเครื่องมือแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกรณีเมื่อเหตุอันสมควรว่าเครื่องมือแพทย์ใดอาจผิดมาตรฐานหรือไม่ปลอดภัยในการใช้ โดยให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์มีอำนาจประกาศกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้อื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับได้ ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อให้เครื่องมือแพทย์ที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพและความปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน สธ. จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดในการประเมินเอกสารวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสอบสถานประกอบการหรือการตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และขายเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดที่จะจัดเก็บในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวัง เพื่อควบคุม การผลิต นำเข้า และขายเครื่องมือแพทย์ เมื่อมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าเครื่องมือแพทย์ใดอาจผิดมาตรฐานหรือไม่ปลอดภัยในการใช้ โดยอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดตามร่างประกาศฉบับนี้เป็นเพียงอัตราสูงสุด ซึ่งอัตราค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บจริงจะมีการออกประกาศเพื่อกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บอักครั้งหนึ่งในภายหลัง โดยเป็นอัตราที่ไม่เกินตามที่กำหนดไว้ในร่างประกาศดังกล่าว และได้กำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดในบัญชีแนบท้ายร่างประกาศนี้ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุจำเป็น และในคราวประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวแล้ว
                              3. สธ. ได้วิเคราะห์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างประกาศในเรื่องนี้ โดยได้คำนึงถึงการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศและกำหนดขึ้น
ตามโครงสร้างต้นทุน โดยที่มาตรา 35/5 พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้ค่าใช้จ่ายและค่าขึ้นบัญชีที่จัดเก็บขึ้นได้ให้เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการออกประกาศในเรื่องนี้จะไม่ทำให้
รัฐสูญเสียรายได้เนื่องจากไม่เคยมีการจัดเก็บมาก่อน และยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของงบประมาณแผ่นดินเนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการนำงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายในการติดตาม ตรวจสอบ หรือเฝ้าระวังเครื่องมือแพทย์หลังออกสู่ตลาด

5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนโดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาการพยาบาลและแพทยสภา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    1. พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ และประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และทันการณ์ด้วยมาตรฐานการให้บริการอย่างเดียวกัน ซึ่งการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการให้บริการอาชีวเวชกรรม ต้องให้บริการอาชีวเวชกรรมตามที่กำหนดจำนวน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้บริการตรวจสุขภาพและการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพ ด้านบุคลากรผู้ให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม และด้านเครื่องมือสำหรับให้บริการอาชีวเวชกรรม สธ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการอาชีวเวชกรรมที่หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมต้องใช้ดำเนินการตรวจสุขภาพแก่ลูกจ้างหรือแรงงานนอกระบบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
                              1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                              1.2 กำหนดให้หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมมี 2 ประเภท ได้แก่ (1) หน่วยบริการอาชีว
เวชกรรมที่เป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลหรือสถานพยาบาลเคลื่อนที่ของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และ (2) หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมที่เป็นหน่วยงานหรือหน่วยบริการด้านสุขภาพ
ซึ่งดำเนินการภายในสถานประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล รวมถึงหน่วยบริการที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมกลุ่มของสถานประกอบกิจการ
                              1.3 กำหนดให้หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมให้บริการอาชีวเวชกรรมตามมาตรฐาน ได้แก่
(1) ด้านการให้บริการตรวจสุขภาพและการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพ (2) ด้านบุคลากรผู้ให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม และ (3) ด้านเครื่องมือสำหรับให้บริการอาชีวเวชกรรม
                              1.4 กำหนดมาตรฐานด้านการให้บริการตรวจสุขภาพและการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพ ดังนี้
                                        (1) มาตรฐานด้านการให้บริการตรวจสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง การตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับงาน และการตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน
                                        (2) มาตรฐานในการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพ ได้แก่ การควบคุมคุณภาพก่อนการวิเคราะห์ตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ และการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการ
                              1.5 กำหนดมาตรฐานด้านบุคลากรผู้ให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมโดยกำหนดให้มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสนับสนุนการให้บริการอาชีวเวชกรรมตามจำนวนและคุณสมบัติตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด เช่น กรณีเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ให้มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือแพทย์สาขาอื่น อย่างน้อย 1 คน พยาบาลอาชีวอนามัย อย่างน้อย 2 คน เป็นบุคลากรประจำการ โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต้องได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ จากแพทยสภา และแพทย์สาขาอื่นต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์หรือสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกำหนด หรือผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ของหน่วยงานอื่นที่กรมควบคุมโรครับรอง และกรณีพยาบาลอาชีวอนามัยต้องผ่านการฝึกอบรมที่สภาการพยาบาลอนุมัติหรือรับรอง เป็นต้น
                              1.6 กำหนดมาตรฐานด้านเครื่องมือสำหรับให้บริการอาชีวเวชกรรม โดยกำหนดให้มีเครื่องมือสำหรับให้บริการอาชีวเวชกรรมตามจำนวน และคุณสมบัติตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด เช่น เครื่องตรวจสมรรถภาพการได้ยิน อย่างน้อย 1 เครื่อง ซึ่งต้องมีคุณสมบัติส่งสัญญาณเสียงบริสุทธิ์และได้รับการรับรองตามมาตรฐาน American National Standards Institute (ANSI) S3.6-1996 หรือปีที่ใหม่กว่า เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อย 1 เครื่อง ซึ่งต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน American Thoracic Society (ATS) ปี ค.ศ. 1994 หรือปีที่ใหม่กว่า เป็นต้น รวมถึงต้องดำเนินการโดยบุคลากรผู้ให้บริการอาชีวเวชกรรมตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดด้วย เช่น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์จากแพทยสภา และพยาบาลอาชีวอนามัยที่ผ่านการฝึกอบรมที่สภาการพยาบาลอนุมัติหรือรับรอง เป็นต้น
                    2. ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....  ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาการพยาบาล ไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. สธ. เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรม สิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมที่หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมต้องใช้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เป็นระบบ ทันต่อสถานการณ์โรค มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน มีสาระสำคัญ ดังนี้
                              1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                              1.2 กำหนดให้หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมที่เป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
                              1.3 กำหนดให้หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม (2) ด้านการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพหรือสิ่งส่งตรวจอื่น (3) ด้านบุคลากรผู้ให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรม สิ่งแวดล้อม และ (4) ด้านเครื่องมือสำหรับให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม
                              1.4 กำหนดมาตรฐานด้านการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยบริการสิ่งแวดล้อมดำเนินการทบทวนข้อมูลการบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคจากสิ่งแวดล้อมเพื่อวางแผนการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ
                                        (1) ในกรณีที่พบว่าผลการประเมินระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงและสูงมากให้หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมดำเนินการกำหนดรายการตรวจสุขภาพ ประเมินสุขภาพและตรวจคัดกรองสุขภาพให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายและต้องแจ้งผลการประเมินสุขภาพผลการตรวจคัดกรอง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเพื่อลดการสัมผัสมลพิษแก่ประชาชนเป็นรายบุคคล
                                        (2) ในกรณีที่พบว่าผลการประเมินระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพอยู่ในระดับ
ปานกลางให้หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์และติดตามข้อมูลการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอย่างต่อเนื่อง
                              1.5 กำหนดมาตรฐานด้านการเก็บสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพหรือสิ่งส่งตรวจอื่น ๆ ดังนี้
                                        (1) มาตรฐานในการควบคุมคุณภาพก่อนการวิเคราะห์ตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ ให้บุคลากรผู้ให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมดำเนินการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน
                                        (2) มาตรฐานในการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการ ให้บุคลากรผู้ให้บริการ
เวชกรรมสิ่งแวดล้อมส่งตัวอย่างไปทำการวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง
                              1.6 กำหนดมาตรฐานด้านบุคลากรผู้ให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม
โดยกำหนดให้มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสนับสนุนการให้บริการเวชกรรม สิ่งแวดล้อมตามจำนวน เช่น ให้หน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมมีบุคลากร ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ หรือแพทย์สาขาอื่น อย่างน้อย 1 คน พยาบาลอาชีวอนามัยหรือพยาบาลวิชาชีพ อย่างน้อย 1 คน และมีคุณสมบัติตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด เช่น แพทย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมต้องผ่านหลักสูตรแพทยศาสตรมหาบัณฑิตหรือหลักสูตรแพทยศาสตร ดุษฎีบัณฑิตด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต้องได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ จากแพทยสภา แพทย์สาขาอื่นต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่กรมควบคุมโรคกำหนดหรือรับรอง พยาบาลอาชีวอนามัย ต้องผ่านหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาล
อาชีวอนามัยหรือสาขาการพยาบาลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน หรือหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพยาบาลอาชีว อนามัยหรือสาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติอาชีวอนามัย
                              1.7 กำหนดมาตรฐานด้านเครื่องมือสำหรับให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีเครื่องมือสำหรับให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามจำนวนและคุณสมบัติตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด ซึ่งต้องมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่ามาตรฐานระดับประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานของ American National Standards Institute (ANSI) มาตรฐานของ Occupational Safety and Health Administration (OSHA) มาตรฐานของ American Thoracic Society (ATS) หรือมาตรฐานของ European Respiratory Society Task Force (ATS/ERS) รวมถึงต้องดำเนินการโดยบุคลากรผู้ให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดด้วย เช่น แพทย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ หรือแพทย์สาขาอื่น พยาบาลอาชีวอนามัย
หรือพยาบาลวิชาชีพ ที่ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือสำหรับให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมที่กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์หรือสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกำหนด
                    ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ.ร. กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                    ปัจจุบันสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการประกอบอาชีพเช่น โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว โรคจากฝุ่นซิลิกา โรคจากภาวะอับอากาศ โรคจากแอสเบสตอส (ใยหิน) และโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคจากตะกั่วหรือสารตะกั่ว โรคที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มและความรุนแรงสูงขึ้นซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมหรือหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการตรวจสุขภาพหรือเฝ้าระวังสุขภาพของลูกจ้างแรงงานนอกระบบและประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษรวมถึงการประเมินคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการดังกล่าว
เพื่อคุ้มครองสุขภาพของลูกจ้างแรงงานนอกระบบ และประชาชนให้ได้รับบริการที่มีมาตรฐานจากหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม หรือหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ ?.
เป็นการดำเนินการตามมาตรา 25 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน อายุและการต่ออายุการขึ้นทะเบียน การออกใบแทนขึ้นทะเบียน การเพิกถอนทะเบียน และการประเมินคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการที่ประสงค์จะให้บริการอาชีวเวชกรรมหรือบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้หน่วยบริการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่อหน่วยงานรับขึ้นทะเบียน (กรมควบคุมโรคหรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด และได้กำหนดให้กรมควบคุมโรคเผยแพร่ รายชื่อหน่วยงานรับขึ้นทะเบียน) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือยื่นคำขอด้วยตนเอง หรือยื่นคำขอโดยวิธีการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และกำหนดให้อายุใบขึ้นทะเบียนหน่วยบริการมีอายุ 3 ปี รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในพื้นที่จังหวัดนั้น โดยคณะผู้ประเมินคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการควบคุมโรค
จากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและ
โรคจากสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และหากหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ และประชาชน ให้หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนของหน่วยบริการที่ได้รับขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ และประชาชนให้ได้รับการตรวจสุขภาพหรือเฝ้าระวังสุขภาพจากหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม หรือเวชกรรมสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐาน

8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
โดยให้รับความเห็นของกระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
ร่างกฎกระทรวง ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
                    1. กำหนดให้การเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ ให้แรงงาน
นอกระบบมีสิทธิได้รับการตรวจสุขภาพ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
                              1.1 การตรวจสุขภาพแรกเข้าทำงานภายในสามสิบวัน (Pre-placement examination) และตรวจสุขภาพเป็นระยะ (Periodic examination)
                              1.2 การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work examination) หลังจากเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายซึ่งอาจเป็นเหตุให้การเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายมีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือบุคคลอื่นหากกลับเข้าทำงาน
                              1.3 การตรวจสุขภาพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยไว้จะ
ก่อหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของแรงงานนอกระบบ
                              โดยให้กรมควบคุมโรคจัดทำและเผยแพร่คู่มือหรือแนวทางในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวให้แก่หน่วยบริการอาชีวเวชกรรม
                    2. กำหนดให้หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่แรงงานนอกระบบโดยวิธีการ ดังนี้
                              2.1 แจ้งโดยตรงต่อแรงงานนอกระบบ
                              2.2 แจ้งเป็นหนังสือ
                              2.3 แจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
                              2.4 วิธีการอื่นใดที่อธิบดีกรมควบคุมโรคกำหนดเพิ่มเติม
                    3. ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                    ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะ
จะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
ร่างกฎกระทรวงการแจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ..... เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อมิให้มีการแพร่ระบาดในราชอาณาจักรอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
                              1.1 กำหนดให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่
ที่พาหนะนั้นจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามแบบแนบท้ายกฎกระทรวงนี้ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
                                        (1) กรณีพาหนะทางน้ำ
                                                  (1.1) กรณีเรือระหว่างประเทศ ให้แจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ก่อนพาหนะนั้นจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามแบบรายการเกี่ยวกับพาหนะที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร (ต.1) แบบรายงานสุขลักษณะของพาหนะทางน้ำ (ต.2) และแบบเอกสารสำแดงสุขอนามัยของ
การเดินทางโดยพาหนะทางน้ำ (ต.3)
                                                  (1.2) กรณีเรือเดินลำน้ำระหว่างประเทศ ให้แจ้งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงก่อนพาหนะนั้นจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามแบบรายการเกี่ยวกับพาหนะที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร (ต.1) แบบรายงานสุขลักษณะของพาหนะทางน้ำ (ต.2) และแบบเอกสารสำแดงสุขอนามัยของ
การเดินทางโดยพาหนะทางน้ำ (ต.3)
                                        (2) กรณีพาหนะทางบก
                                                  (2.1) กรณีรถไฟ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกสินค้า ให้แจ้งไม่น้อยว่า 1 ชั่วโมงก่อนพาหนะนั้นจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามแบบรายการเกี่ยวกับพาหนะที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร (ต.1) เว้นแต่กรณีต้นทางนอกราชอาณาจักรที่พาหนะนั้นจะเข้ามาในราชอาณาจักรใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมงให้แจ้งทันทีที่พาหนะนั้นเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
                                                  (2.2) กรณีรถยนต์ส่วนบุคคลและรถพยาบาล ให้แจ้งทันทีที่พาหนะนั้นเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามแบบรายการเกี่ยวกับพาหนะที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร (ต.1)
                                        (3) กรณีพาหนะทางอากาศ ได้แก่ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์และอากาศยานอื่นที่รับขนส่งทางอากาศ ให้แจ้งภายใน 15 วันนับแต่พาหนะนั้นบินขึ้นเหนือพื้นดินตามแบบรายการเกี่ยวกับพาหนะที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร
                              1.2 กำหนดวิธีการแจ้ง ดังต่อไปนี้
                                        (1) แจ้งโดยตรงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
                                        (2) แจ้งทางโทรสาร
                                        (3) แจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่จัดทำหรือควบคุมโดยกรมควบคุมโรค
                                        (4) แจ้งโดยวิธีการอื่นใดที่อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศกำหนดเพิ่มเติม

10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 39 บัญญัติให้เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุสงสัยว่าพาหนะใดมาจากท้องที่หรือเมืองใดเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรที่มีโรคระบาด ให้เจ้าของพาหนะหรือ                     ผู้ควบคุมพาหนะยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศประจำด่านดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นการกำหนดมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations 2005 : IHR) ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง ฯ ดังกล่าว เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อมิให้มีการเผยแพร่ระบาดในราชอาณาจักร อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติ   สาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะยื่นเอกสารตามแบบแนบท้ายกฎกระทรวงนี้ต่อ
เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทันที ที่พาหนะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
                                        (1) กรณีพาหนะทางน้ำ ได้แก่ เรือระหว่างประเทศและเรือเดินล้ำน้ำระหว่างประเทศ ให้ยื่นเอกสาร ดังนี้
                                                  (1.1) แบบเอกสารรับรองการยกเว้นการควบคุมสุขาภิบาลเรือหรือเอกสารรับรองการควบคุมสุขาภิบาลเรือ (ต.4)
                                                  (1.2) แบบใบรับรองสุขลักษณะของคอนเทนเนอร์ (ต.5) ในกรณีที่บรรทุกคอนเทนเนอร์หรือตู้บรรทุกสินค้า
                                                  (1.3) แบบรายชื่อผู้เดินทาง (ต.6)
                                        (2) กรณีพาหนะทางบก ให้ยื่นเอกสาร ดังนี้
                                                  (2.1) กรณีรถไฟและรถบรรทุกสินค้า
                                                            (2.1.1) แบบใบรับรองสุขลักษณะของคอนเทนเนอร์ (ต.5) ในกรณีที่บรรทุกคอนเทนเนอร์หรือตู้บรรทุกสินค้า
                                                            (2.1.2) แบบรายชื่อผู้เดินทาง (ต.6)
                                                            (2.1.3) แบบรายงานเรื่องสุขภาพของผู้เดินทางโดยพาหนะทางบก (ต.7/1)
                                                  (2.2) กรณีรถโดยสารธารณะ รถพยาบาล และรถยนต์ส่วนบุคคล
                                                            (2.2.1) แบบรายชื่อผู้เดินทาง (ต.6)
                                                            (2.2.2) แบบรายงานเรื่องสุขภาพของผู้เดินทางโดยพาหนะทางบก (ต.7/1)
                                        (3) กรณีพาหนะทางอากาศ ได้แก่ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์และอากาศยานอื่นที่รับขนส่งทางอากาศ ให้ยื่นเอกสาร ดังนี้
                                                  (3.1) แบบใบรับรองสุขลักษณะของคอนเทนเนอร์ (ต.5) ในกรณีที่บรรทุกคอนเทนเนอร์หรือตู้บรรทุกสินค้า
                                                  (3.2) แบบรายชื่อผู้เดินทาง (ต.6)
                                                  (3.3) แบบรายงานเรื่องสุขภาพของผู้เดินทางโดยพาหนะทางอากาศ (ต.7)
                                                  2.1.2 กำหนดให้พาหนะที่มาจากท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรที่มีโรคระบาด ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ขององค์การอนามัยโลก (Weekly Epidemiological Record) ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะดำเนินการให้ผู้เดินทางกรอกข้อมูลในแบบคำถาม (ต.8) แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
                                                  2.1.3 กำหนดวิธีการยื่นเอกสาร ดังต่อไปนี้
                                                            (1) ยื่นโดยตรงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
                                                            (2) ยื่นทางโทรสาร
                                                            (3) ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่จัดทำหรือควบคุมโดยกรมควบคุมโรค
                                                            (4) ยื่นโดยวิธีการอื่นใดที่อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศกำหนดเพิ่มเติม

11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ....
                              คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                              สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
หลักเกณฑ์          รายละเอียด
1. คำนิยาม          ?          ?สถานประกอบทางนิวเคลียร์? ให้หมายความรวมถึงสถานที่จัดเก็บและสถานที่ประกอบกิจการที่มีวัสดุนิวเคลียร์
?          ?การรักษาความมั่นคงปลอดภัย? หมายความว่า การป้องกัน การตรวจจับและการตอบสนองต่อการก่อวินาศกกรรม การเข้าถึงโดยมิชอบ การเคลื่อนย้ายหรือการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ หรือการกระทำอื่นใดอันมีเจตนากระทำผิดกฎหมายต่อวัสดุนิวเคลียร์ สถานที่ประกอบกิจการที่มีวัสดุคิวเคลียร์หรือ
สถานประกอบการทางนิวเคลียร์
?          ?การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ? หมายความว่า การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือการกระทำความผิดอื่นใดที่เกี่ยวกับทรัพย์ต่อวัสดุนิวเคลียร์
?          ?การก่อวินาศกรรม? หมายความว่า การกระทำใด ๆ ต่อวัสดุนิวเคลียร์ สถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการที่มีวัสดุนิวเคลียร์ หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์โดยเจตนาให้เกิดอันตรายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลหรือต่อสิ่งแวดล้อม จากการรับรังสีหรือการแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์
?          ?ผู้รับใบอนุญาต? หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์ตามมาตรา 36 (1) และผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามมาตรา 55
?          ?ระบบการคุ้มครองทางกายภาพ? หมายความว่า การบูรณาการทั้งด้านบุคลากรวิธีการปฏิบัติ เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบและการก่อวินาศกรรม
2. แผนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์          ?          ต้องระบุสถานการณ์ที่เป็นไปได้โดยพิจารณาจากการประเมินภัยคุกคามหรือภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือที่อาจทำให้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือการก่อวินาศกรรมกระทำได้สำเร็จ แผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระบบการคุ้มครองทางกายภาพและแผนเผชิญเหตุที่สามารถตอบโต้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบและการก่อวินาศกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
?          ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสามารถปฏิบัติตามแผนได้
3. วิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัย          ?          วิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับวัสดุนิวเคลียร์หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ในระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้
?          ผู้รับใบอนุญาตต้องทบทวนและทดสอบวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินว่าวิธีการดังกล่าวยังคงมีประสิทธิภาพ
?          ผู้รับใบอนุญาตต้องดูแลอุปกรณ์และเครื่องมือที่กำหนดไว้ในวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
4. ระบบคุ้มครองทางกายภาพ           ?          ผู้รับใบอนุญาตต้องออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพให้สอดคล้องกับระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม โดยคำนึงถึงลักษณะพิเศษของการดำเนินการการป้องกันอัคคีภัย การป้องกันอันตรายจากรังสี และมาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
?          ในการออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องคำนึงถึง
 - การป้องกันมิให้ผู้ซึ่งประสงค์จะเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือการก่อวินาศกรรมเข้าถึงเป้าหมาย
 - การป้องกันมิให้บุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์มีโอกาสในการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือการก่อวินาศกรรม
 - การป้องกันสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากการโจมตีระยะไกล
5. พื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์          ?          ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดพื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
  (1) พื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่อง
กีดขวางหรืออุปกรณ์ป้องกันการเข้าถึงวัสดุนิวเคลียร์ที่เป็นเอกเทศมีทางเข้าออกทางเดียว
  (2) พื้นที่หวงห้าม ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางอย่างน้อย 2 ชั้น มีทางเข้าออกเท่าที่จำเป็นและมีการรักษาการทุกแห่งมีการลาดตระเวนตรวจตราเป็นระยะ ๆ
  (3) พื้นที่หวงกัน ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางล้อมอยู่โดยรอบ มีระบบสัญญาณเตือนภัยเพื่อเตือนให้ทราบเมื่อมีการเข้าใกล้
6.สถานีเตือนภัย          ?          ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่หวงห้าม
?          มีหน้าที่เฝ้าระวัง บันทึกและประเมินสัญญาณเตือนภัย ตอบสนองต่อสัญญาณเตือนและติดต่อสื่อสารกับหน่วยกำลังตอบโต้และผู้เกี่ยวข้อง
?          ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการทดสอบ ประเมินประสิทธิภาพ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารและอุปกรณ์เตือนภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
7. ผู้มีสิทธิเข้าผ่านออกพื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์          ?          ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบและตรวจค้นบุคคลที่จะผ่านเข้าพื้นที่หวงกัน เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม การเข้าถึงโดยมิชอบ หรือการนำวัสดุหรืออุปกรณ์ต้องห้ามเข้าไปในพื้นที่หวงกัน
?          เพื่อป้องกันการลักลอบนำวัสดุนิวเคลียร์ออกไปจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจค้นบุคคลทุกคนที่ออกจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดอย่างน้อย 2 รอบ
?          ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบสิ่งของที่จะผ่านเข้าไปในพื้นที่หวงกันและห้ามอนุญาตให้นำสิ่งของใด ๆ เข้าไปในพื้นที่หวงกัน ยกเว้นสิ่งของที่กำหนดไว้แล้วในตารางงานของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และมิใช่สิ่งของต้องห้าม
8. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์          ?          ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย บัญชีควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ และระบบสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องสามารถรับมือได้ตามภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือ
9.การค้นหาและเอากลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ          ?          ผู้รับใบอนุญาตและผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต้องจัดให้มีวิธีการที่ทำให้ตรวจพบการสูญหายของวัสดุนิวเคลียร์ได้โดยเร็ว
?          ต้องรายงานการสูญหายต่อสำนักงาน ทันทีที่ทราบถึงการสูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ
?          ต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมสำหรับค้นหาวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายไปโดยเร็วทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการทางนิวเคลียร์
?          เมื่อพบวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ ให้แจ้งสำนักงานทันทีที่พบและจัดการดูแลรักษาวัสดุนิวเคลียร์นั้นให้อยู่ในสภาพเดิมในสถานที่ที่พบ
?          ต้องให้ความร่วมมือกับสำนักงานและหน่วยงานอื่นของรัฐในการค้นหาและการเอากลับมา รวมถึงการสืบสวนและการดำเนินคดี

12. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ?. ที่กระทรวงแรงงานเสนอเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย    อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข คุณสมบัติและอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้าง ให้คำแนะนำและรับรองผลการดำเนินการของนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และจัดทำแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ อันจะส่งผลให้ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการมีความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายด้วยแล้ว
                    2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น          รายละเอียด
บทนิยาม          - ?ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน? หมายความว่า ผู้ใดได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
หมวด 1 การขออนุญาต และการอนุญาต          - กำหนดคุณสมบัติของผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต้องมีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขากำหนดหรือเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคหรือระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพในสถานประกอบกิจการ และมีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมและผ่านการประเมินในหลักสูตรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด
- ในกรณีที่เอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน ให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
- ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
หมวด 2 การขอต่อใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาต          - กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาตต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่กำหนดต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่า 90 วัน
หมวด 3 การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต          - กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามข้อปฏิบัติในการปฏิบัติงาน ให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ไม่เกิน 60 วัน
- กำหนดเหตุแห่งการถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เช่น ขาดคุณสมบัติของผู้ชำนาญการ จัดทำรายงานหรือให้การรับรองอันเป็นเท็จ
หมวด 4 การควบคุมการปฏิบัติงาน          - กำหนดข้อปฏิบัติในการปฏิบัติงานของผู้ที่ได้รับอนุญาต เช่น ให้คำแนะนำ รับรองและจัดทำผลการประเมินอันตราย ศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และแผนควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบการ ไม่เปิดเผยความลับของนายจ้างซึ่งล่วงรู้หรือได้มาจากการปฏิบัติงาน
- กำหนดให้ผู้ชำนาญการต้องได้รับการฝึกอบรมหรือเพิ่มเติมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่
                    3. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้
ค่าธรรมเนียม          อัตราท้าย พ.ร.บ. ฉบับละ/บาท          อัตราตามร่างกฎฯ
 ฉบับละ/บาท
1. ใบอนุญาตผู้ชำนาญการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน          5,000          5,000
2. ใบแทนใบอนุญาต          500          500
3. การต่ออายุใบอนุญาต          5,000          5,000
หมายเหตุ       ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่บุคคลผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีคุณสมบัติตามร่างข้อ 5 (9)

13. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
                    สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นการป้องกัน สงวนรักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติเกิดความต่อเนื่องและคงความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาจากประกาศ ปี 2560 สรุปได้ ดังนี้
                    1. กำหนดให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคารและเขตควบคุมมลพิษในจังหวัดภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 8 บริเวณ (เดิมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 บริเวณ)
                    2. กำหนดให้ก่อสร้างอาคารในพื้นที่ลาดเชิงเขาให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง (กำหนดขึ้นใหม่)
                    3. กำหนดมาตรการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ ป้องกัน และลดผลกระทบจากการพัฒนาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและการก่อสร้างโรงงาน (กำหนดขึ้นใหม่) เช่น โรงงานต้องจัดให้มีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มาตรการพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ การปลูกต้นไม้หรือจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่าง และปรับปรุงมาตรการให้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ ซึ่งต้องได้รับความเห็นจากจังหวัดภูเก็ต (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เช่น กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ (เดิมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภูเก็ต)
                    4. กำหนดมาตรการห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น การทำให้เกิดมลพิษ การทอดสมอเรือและการกระทำที่อาจเกิดอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง รวมทั้งห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงามตามบัญชีท้าย (ปลาขี้ตังเป็ด ปลาวัว ปลาตั๊กแตนหิน ปลาผีเสื้อ) (คงเดิม)
                    5. เพิ่มขนาดจำนวนห้องพักของโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามข้อกำหนดท้ายประกาศ (11 ถึง 49 ห้อง เดิม 10 ถึง 29 ห้อง) และที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (50 ถึง 79 ห้อง เดิม 30 ถึง 79 ห้อง)
                    6. พัฒนากลไกการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตเป็นหน่วยงานประสานงานในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ แทนการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น
                    7. กำหนดให้ร่างประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ 5 ปี (คงเดิม)


เศรษฐกิจ-สังคม
14. เรื่อง การป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. สืบเนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจและสินค้าจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เหตุดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจและสินค้าต่างชาติได้ ตลอดจนความห่วงใยที่ผู้บริโภคจะได้รับบริการและสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานด้วย
                    2. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เสนอเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 22 หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวม 30 กลุ่มธุรกิจ และธุรกิจบริการ (ขนส่งและโลจิสติกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) จำนวน 10 หน่วยงาน เพื่อหารือข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการ/แนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย
                    3. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ จำนวน 28 หน่วยงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
(นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เข้าร่วม เพื่อติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่
13 สิงหาคม 2567 และกำหนดมาตรการ/แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหา การนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยที่ประชุมมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
                              การดำเนินการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งระบบในทุกมิติกับการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผ่านระบบการค้าออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนปัญหาการประกอบธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริโภคในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเห็นควรกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตาม 63 แผนปฏิบัติการ
                                        (1) ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้นข้น อาทิ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี
                                        (2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต อาทิ กำหนด
เงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ?ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย? พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด
                                        (3) มาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น และปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG
                                        (4) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce
                                        (5) สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน
E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ
E-Commerce ในระดับภูมิภาค
                                        โดยที่ประชุมมีมติให้ทุกหน่วยต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ทันที โดยให้รายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ และจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นตามสถานการณ์อาจพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    การดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก ( 63 แผนปฏิบัติการ) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปราบปราม และกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนความปลอดภัยของผู้บริโภคไทยในประเทศที่ได้รับบริการและสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน

15. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการอาคารเรียน 212 ล./57-ข สำหรับก่อสร้างในเขตแผ่นดินไหว โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง จังหวัดตาก
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างและขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพัน
ข้ามปีงบประมาณ รายการอาคารเรียน 212 ล./57-ข สำหรับก่อสร้างในเขตแผ่นดินไหว โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง
ตำบลอุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 1 หลัง วงเงิน 20,789,000 บาท ระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
พ.ศ. 2566-2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 ตุลาคม 2565) อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตามข้อ 2 โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผางได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดได้เสนอราคาในวงเงิน 20,789,000 บาท แต่ราคาดังกล่าวสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ (19,915,350 บาท) จำนวน 873,650 บาท ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างได้ต่อรองราคาแล้วผู้รับจ้างดังกล่าวขอยืนราคาเดิมและชี้แจงที่มาของรายการค่าใช้จ่ายพิเศษ (ต้นทุนในการขนส่งวัสดุก่อสร้างอาคารที่สูงกว่าการก่อสร้างในพื้นที่ปกติเนื่องจากโรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผางตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก)
                    2. สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นชอบความเหมาะสมของราคาค่าก่อสร้างรายการอาคารเรียน 212 ล./57-ข สำหรับก่อสร้างในเขตแผ่นดินไหว โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผาง ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 1 หลัง ในวงเงิน 20,789,000 บาท ตามที่ขอทำความตกลงไปได้ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,793,000 บาท ที่ได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว ส่วนที่เหลือ จำนวน 16,995,600 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2569 โดยให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับให้ครบวงเงินค่างานตามสัญญาต่อไป แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ จึงขอให้ สพฐ. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ให้ สพฐ. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญและต่อรองราคาจนถึงที่สุดด้วย
                    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
                    โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้มผางซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย ?1 อำเภอ
1 โรงเรียนคุณภาพ? และเป็นสถานศึกษาที่ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ มีความพร้อมในการเป็นโรงเรียนหลักที่สามารถรองรับโรงเรียนเครือข่ายในการจัดการสอนให้กับนักเรียน และเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการจัดอบรมหรือจัดกิจกรรมให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนแบ่งปันและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ จะได้มีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ

16. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 250,000,000 บาท  ให้กองทัพอากาศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทหาร เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 1 รายการ ต่อไป ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. กองทัพอากาศได้จัดทำรายละเอียดความต้องการงบประมาณเครื่องมือทางการแพทย์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทหาร เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายรัฐบาลโดยเป็นรายการเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาค (แบบที่ 1) จำนวน 1 เครื่อง วงเงิน 250,000,000 บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพสูงรองรับการฉายรังสีศัลยกรรม และทดแทนเครื่องเดิมที่มีสภาพชำรุด
                    2. สำนักงบประมาณมีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแจ้งให้ทราบว่าสำนักงบประมาณได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาเห็นชอบให้กองทัพอากาศใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 250,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทหาร เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ และขอให้กระทรวงกลาโหมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

17. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณ งบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวน 2 รายการ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
                    1. รายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี  จากเดิมวงเงิน 82,500,000 บาท (วงเงินรวมเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด 86,625,000 บาท) เป็นวงเงิน 89,500,000 บาท ผูกพันงบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 ? พ.ศ. 2569
                    2. รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จากเดิมวงเงิน 4,331,200 บาท (วงเงินรวมเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด 4,547,760 บาท) ผูกพันงบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 ? พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 4,698,700 บาท ผูกพันงบประมาณ ปี พ.ศ. 2567 ? พ.ศ. 2569
                    การดำเนินงานรายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ต้องขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเกินกว่าวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่
20 ตุลาคม 2563 รวมถึงต้องขอขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ? พ.ศ. 2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ? พ.ศ. 2569  เพื่อให้ก่อสร้างที่ทำการ ฯ เป็นไปอย่างเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นต้องขอเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (รวมเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด) จากเดิมก่อสร้างอาคารในวงเงิน 86,625,000 บาท เป็นวงเงิน 89,500,000 บาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง ฯ ในวงเงิน 4,557,760 บาท เป็นวงเงิน 4,698,700 บาท รวมถึงต้องขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564- พ.ศ. 2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564- พ.ศ. 2569 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ข้อ 7 (3) ที่กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงรายการหรือการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ให้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีโดยต้องส่งผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย
                    สำนักงบประมาณเห็นชอบความเหมาะสมของราคารายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการฯ ในวงเงิน 89,500,000 โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 25,850,000 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว ส่วนที่เหลือจำนวน 63,650,000 ล้านบาท ผูกพันปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ? พ.ศ.  2569 โดยให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับให้ครบวงเงินค่างานตามสัญญาต่อไป

18. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 334,001,353.61 บาท สำหรับจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) จำนวน
70 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                    ข้อเท็จจริง
                    กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องเสนอขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจ่ายเป็นชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) จำนวน 70 รายการ เป็นเงินรวม 334,001,353.61 บาท ดังนี้
                              1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้
(ค่า K) ของกรมชลประทาน จำนวน 70 รายการ
                              1.2 แผนงานโครงการ ขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 334,001,353.61 บาท ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ลำดับ          ประเภทรายการ          จำนวน
(รายการ)          งบประมาณ (บาท)
1          เงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K)           70          337,001,353.61
รวมทั้งสิ้น          70          337,001,353.61
                    2. สำนักงบประมาณได้มีหนังสือ ที่ นร 0707/9374 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 334,001,353.61 บาท เพื่อจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) จำนวน 70 รายการ โดยเบิกจ่ายในงบลงทุนลักษณะค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินที่เห็นควรอนุมัติเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท กรมชลประทานจึงต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการกรณีเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี ตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

19. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 247,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    ความสอดคล้องกับแผนระดับชาติเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) พัฒนาการท่องเที่ยวไทย ให้เน้นคุณภาพและความยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว และเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับกรอบสมรรถนะบุคลากรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียนและสากล พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่ทันสมัย เน้น Upskill และ Reskill ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการเรียนรู้
                    อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนและระดับสากล โดยเป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้คือการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะก่อให้เกิดผลประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในระยะยาวหลายประการ อาทิ ยกระดับคุณภาพแรงงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย ส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

20. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำ
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,072 รายการ วงเงิน 2,289,382,200 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1,072 รายการ วงเงิน 2,289,382,200 บาท ดังนี้
                    1. วัตถุประสงค์
                              (1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำในความรับผิดชอบของกรมชลประทานให้สามารถดำเนินภารกิจของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ และป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ
                              (2) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารและระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้
                              (3) เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยจากน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่ที่อยู่อาศัยพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
                              (4) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำด้านอุทกภัยและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
                              (5) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค ? บริโภค และ
เพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    2. แผนงานโครงการ ขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,289,382,200 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567)
ลำดับ          ประเภทรายการ          จำนวน (โครงการ)          งบประมาณ (บาท)
1          พัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ          1,072          2,289,382,200
รวมทั้งสิ้น          1,072          2,289,382,200
                    3. ผลลัพธ์ของโครงการ
                    กรมชลประทานจะมีอาคารชลประทาน ที่มีสภาพพร้อมใช้งานสำหรับการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ กิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในอนาคต

21. เรื่อง  ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 39 จังหวัด) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 1,849.55 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนขบทจำนวน 1,167.84 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 39 จังหวัด) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน
39 จังหวัด) สรุปได้ ดังนี้
                    1. ตามที่ได้เกิดอุทกภัยและภัยพิบัติจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - มกราคม 2567 ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งกรมทางหลวงและ
กรมทางหลวงชนบทได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และซ่อมแซมเส้นทางเพื่อให้การจราจรผ่านได้ในระยะเร่งด่วนแล้ว
                    2. กรมทางหลวง เสนอขอรับการจัดสรรบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 207 รายการ วงเงิน 3,813.75 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน 26 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ
7 จังหวัด (เชียงราย เขียงใหม่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสองสอน สุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
10 จังหวัด (ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครรราชสีมา มหาสารคาม มุกดาหาร สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี)  ภาคตะวันตก 1 จังหวัด (ตาก) ภาคตะวันออก 1 จังหวัด (ปราจีนบุรี) และภาคใต้ 7 จังหวัด (นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซ่มให้กลับคืบคืนสู่สภาพเดิมและปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                    3. กรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 101 รายการ วงเงิน 1,667.25
ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน 30 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 10 จังหวัด (ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด (ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เลย ยโสธร อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ นครพนม) ภาคกลาง 7 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี) และภาคใต้
4 จังหวัด (ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซ่มให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                    4. กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 308 รายการ วงเงิน 5,481.00 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 207 รายการ วงเงิน 3,813.75 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 101 รายการ วงเงิน 1,667.25 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (จำนวน 41 จังหวัด) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการต่อไป
                    5. สำนักงบประมาณได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่องตามข้อ 4 โดยสำนักงบประมาณได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงินทั้งสิ้น 3,017.39 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ
ในพื้นที่ 39 จังหวัด ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 137 รายการ วงเงิน 1,849.55 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท จำนวน 80 รายการ วงเงิน 1,167.84 ล้านบาท  โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินที่เห็นควรอนุมัติเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท  ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการนำเรื่องดังกล่าวเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับแผนงานบูรณาการกรณีเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี ตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขอให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนจ่ายงบประมาณพร้อมทั้งแบบรูปรายการและประมาณการก่อสร้างเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
                    6. กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ขอเสนอขอรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 217 รายการ
วงเงิน 3,017.39 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ จำนวน
39 จังหวัด ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทแล้ว
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเส้นทางคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง

22. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
                    คณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635,000,000 บาท สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่ พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. นายกรัฐมนตรี มีบัญชา ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ท้ายหนังสือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ด่วนที่สุด ที่ 0010.163/3656 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635,000,000 บาท สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่ พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช 0010.163/2902 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567 แจ้ง สำนักงบประมาณเพื่อทราบ
                    2. หนังสือ สำนักงบประมาณ ด่วนที่สุดที่ นร 0705/9901 ลงวันที่ 3 กันยายน 2567 แจ้งว่า นายกรัฐมนตรี มีบัญชาเห็นชอบให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 635,000,000 บาท เพื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย จำนวน 5 ชุด โดยให้เบิกจ่ายในงบลงทุนค่าครุภัณฑ์ และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

23. เรื่อง ขออนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กแรกเกิดสัญชาติไทยที่บิดาหรือมารดามีสัญชาติไทย เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ? 30 กันยายน 2559 และอยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี โดยอุดหนุนรายละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนตั้งแต่แรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี (36 เดือน) และเพิ่มวงเงินจากรายละ 400 บาท เป็นรายละ 600 บาท
                    2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี และขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป รายละ 600 บาท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ทำให้มีจำนวนผู้มาลงทะเบียนขอรับสิทธิเพิ่มมากขึ้น
                    3. สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบอุดหนุนเฉพาะกิจ (เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด) เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2,556,723 ราย เป็นเงิน 16,494,605,600 บาท เงินกันเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี่ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวนเงิน 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 16,494,614,600 บาท และชดใช้เงินยืมทดรองราชการ จำนวน 148,731,000 บาท คงเหลือจำนวน 16,345,883,600 บาท
                    4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,302,466,400 บาท (หนึ่งพันสามร้อยสองล้านสี่แสนหกหมื่นหกพันสี่ร้อยบาทถ้วน) โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ มุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต
การได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลส่งผ่านพ่อ แม่
หรือผู้ปกครองไปยังเด็กแรกเกิด โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนโดยหากไม่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ครอบครัวของเด็กแรกเกิดได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพและเหมาะสมตามวัย

ต่างประเทศ
24. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ ดศ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจๆ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
                    ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น          สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์          เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในสาขาต่าง ๆ ได้แก่
(1) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital platform services)
(2) สินค้าและบริการของรัฐบาลดิจิทัล (Digital government products and services)
(3) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital transformation)
(4) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม (Digital inclusion)
(5) กำลังคนทางดิจิทัล (Digital manpower)
(6) ความปลอดภัยทางออนไลน์และการป้องกันการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Online Safety and Anti - online scamming)
(7) ความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายตกลงร่วม
การดำเนินการร่วมกัน          - จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อดำเนินความร่วมมือและประสานงาน ดังนี้
(1) แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค แนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์ระหว่างกัน
(2) แบ่งปันข้อมูลนโยบายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
(3) จัดประชุม/โครงการฝึกอบรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการสัมมนา
(4) แลกเปลี่ยนการเยือน/การประชุม และการให้คำปรึกษาระหว่างกัน
(5) จัดตั้งช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน
(6) ร่วมมือกันทำงานในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน
- จัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรต่างหากสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายใต้วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายภายในประเทศ ข้อบังคับ และพันธ์กรณีระหว่างประเทศ

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ นี้เพื่อใช้แทนที่บันทึกความเข้าใจฉบับเดิม (บันทึกความเข้าใจระหว่าง ดศ. แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากบันทึกความเข้าใจฉบับเดิมกำหนดขอบเขตความร่วมมือไว้เพียงเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องให้ขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเพิ่มเติมในเรื่องของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการและกำลังคนทางดิจิทัล เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา5 ปี ในการนี้ ดศ. จึงขออนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา ระหว่างวันที่
10 - 12 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร

25.  เรื่อง ร่างปฏิญญาอัสตานาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบร่างปฏิญญาอัสตานาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                    2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างปฏิญญาอัสตานาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1.  คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกหรือเอสแคป มีกำหนดจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ระหว่างวันที่ 3 - 5 กันยายน 2567 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ซึ่งจัดขึ้นตามข้อมติของเอสแคปที่ 79/10  ที่กำหนดให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยที่ประชุมฯ จะมีการรับรองร่างปฏิญญาอัสตานาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความครอบคลุมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Astana Ministerial Declaration on Digital Inclusion and Transformation in Asia and the Pacific) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
                    2. ฝ่ายเอสแคปได้มีการจัดการประชุมหารือระหว่างประเทศสมาชิกเอสแคปเพื่อจัดทำร่างปฏิญญาฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน - เดือนสิงหาคม 2567 มาแล้วหลายครั้ง ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบในร่างฉบับสุดท้าย  (final draft) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567  และฝ่ายเลขานุการเอสแคปได้แจ้งเวียนให้ประเทศสมาชิกเอสแคปดำเนินการภายในเพื่อขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฯ ก่อนการรับรองในที่ประชุมฯ ต่อไป
                    3. สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับด้านความเท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยระบุถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และดิจิทัล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ? แปซิฟิก โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในทุกกลุ่ม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล และกระตุ้นการเติบโตที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การยกระดับความเชื่อมโยงทางดิจิทัล การสร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมเกี่ยวกับดิจิทัลโซลูชั่นและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ และให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบายและเชิงเทคนิค โดยคำนึงถึงโอกาส ความเสี่ยง และความท้าทายในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030
                    4. ประโยชน์และผลกระทบ
                    ร่างปฏิญญาฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการเร่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกมิติของประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) โดยการดำเนินความร่วมมือภายใต้ร่างปฏิญญาฯ จะสนับสนุนการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ICT และนวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
การบริการภาครัฐ การเพิ่มศักยภาพ ความรู้ และความสามารถด้านดิจิทัลให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย ? แปซิฟิก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุมมั่นคงปลอดภัย และยั่งยืน

26. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ประจำปี 2567
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ประจำปี 2567 (ร่างแถลงการณ์ฯ) โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ สสว. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก  รวมทั้งให้รัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) หรือ
ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สสว. รายงานว่า
                    1. เปรูในฐานะเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ในวันที่ 13 กันยายน 2567 ณ เมืองปูคาลปา เปรู ทั้งนี้ จะมีการรับรอง
ร่างแถลงการณ์ฯ โดยไม่มีการลงนาม และไม่มีข้อกำหนดให้มีการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

สาระสำคัญ
          (1) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise : MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับ MSMEs  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกครอบคลุม เช่น สตรี คนพื้นเมืองตามที่เหมาะสม ผู้ทุพพลภาพ และผู้ที่มาจากชุมชนห่างไกลและในชนบท โดยจะมีการดำเนินการ เช่น การอำนวยความสะดวก                  การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ MSMEs การฝึกอบรมความรู้ทางการเงิน การแบ่งปัน               แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ระหว่าง MSMEs เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและแข่งขัน ยกระดับองค์ความรู้ เพื่อกระตุ้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง ยกระดับการดำเนินการตามหลักการว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างองค์ความรู้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยง และความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญในตลาดท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก เป็นต้น
          (2) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย รวมทั้งดำเนินให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
          (3) ส่งเสริมนโยบายการค้าแบบเปิด รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนา MSMEs ในการมีส่วนร่วนของตลาดโลก ตลอดจนให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานในวาระของ MSMEs มีคุณค่าและได้รับการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้น
                    2. ร่างแถลงการณ์ฯ เป็นการส่งสัญญาณถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
ในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสานต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ด้วย

27. เรื่อง การให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM)  ครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ (1) ร่างผลลัพธ์การจัดทำตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาเซียน (ASEAN SME Policy Index 2024) และ (2) ร่างกรอบแบบจำลองสำหรับระบบการรับรองธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในอาเซียน (Model Framework for an Inclusive Business Accreditation System in ASEAN)  ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย มอบหมายให้ สสว. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ
โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก  รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในการประชุมหรือในห้วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                    สสว. ขอเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 2 ฉบับ ที่จะให้ความเห็นชอบในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 56  สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ร่างผลลัพธ์การจัดทำตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาเซียน (ASEAN SME Policy Index 2024) เป็นร่างผลลัพธ์ในการจัดทำตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสาระสำคัญเป็นการนำเสนอผลลัพธ์จากการศึกษารวบรวมและประเมินข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อระบุช่องว่างในการพัฒนานโยบายรวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนโยบายพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียนต่อไป
                    2. ร่างกรอบแบบจำลองสำหรับระบบการรับรองธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในอาเซียน (Model Framework for an Inclusive Business Accreditation System in ASEAN)  เป็นคู่มือเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาระบบการรับรองธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรองเศรษฐกิจฐานราก โดยจัดทำเป็นแนวทางในการดำเนินการ ระบุการประเมินและการตั้งค่าระบบการรับรอง ตลอดจนกระบวนการสำหรับการรับรองธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในอาเซียน
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นเอกสารผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจซึ่งมีสาระสำคัญเป็นข้อเสนอแนะ
เพื่อวางแผนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาทิ การผลักดันพัฒนาการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ผ่านการปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องจากผลลัพธ์การจัดทำตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาเซียน (ASEAN SME Policy Index 2024) และการสร้างระบบรับรองธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (Inclusive Business Accreditation System) ทั้งนี้ ร่างเอกสารดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบโดยไม่มีการลงนาม และไม่มีข้อกำหนดให้มีการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ

28. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย ? มาเลเซีย ? ไทย (IMT-GT)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย ? มาเลเซีย ? ไทย (IMT-GT) และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
                    2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2567
                    3. เห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ได้ร่วมกับรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของประเทศสมาชิก ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยไม่มีการลงนาม
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT เช่น
1) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อการบรรลุความมั่นคงทางอาหารที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการเกษตรและสวัสดิภาพของเกษตรกรเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรรุ่นเยาว์อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือกับคณะทำงานสาขาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรระหว่างเมืองเพื่อพัฒนาการเข้าถึงของเกษตรกรและเพิ่มปริมาณการค้า 2) คำนึงถึงศักยภาพที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมฮาลาลในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเส้นทางฮาลาล โครงการศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล และโครงการสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมฮาลาล
3) ชื่นชมความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาให้อนุภูมิภาค IMT-GT
เป็นจุดหมายปลายทางแห่งเดียวกันและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 4) ชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพภายในอนุภูมิภาคซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความเชื่อมโยง 5) ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมดิจิทัลในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมในอนุภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความแตกแยกทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  การใช้งานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง  การเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ 6) รับทราบถึงความเร่งด่วนในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน 7) เน้นย้ำการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกันและส่งเสริมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ 8) ตระหนักถึงความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชน รัฐบาลท้องถิ่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานสาขาต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค
                              ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จากฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็น ในประเด็นการลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร
การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ เนื่องจากประเทศสมาชิกมีมติให้เลื่อนกำหนดการลงนามดังกล่าวไปเป็นช่วงการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 16 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน
ในปี 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย
                    ประโยชน์และผลกระทบ
                    1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องกันของไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นในทุกสาขาและความร่วมมือและสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการที่สอดดคล้องกับประเด็นที่ระดับภูมิภาคให้ความสำคัญ
                    2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
                    3. สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน โดยมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การดำเนินโครงการปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ายางพาราภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง และการดำเนินการตามกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ