สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นัดพิเศษ ชุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร(นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2567

ข่าวการเมือง Monday September 9, 2024 12:30 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

กฎหมาย
                    1.          เรื่อง          แนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรีและการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี
                    2.           เรื่อง           การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็น                                        ผู้ตรวจพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรีและกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี
                    3.           เรื่อง           การจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

แต่งตั้ง
                    4.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง



























กฎหมาย
1. เรื่อง แนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรีและการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรี และการกำหนดวิธีการประชุมคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งตามนัย  พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 8 วรรคสาม บัญญัติให้วิธีการประชุมคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการโดยเชิญรัฐมนตรีมาร่วมประชุม ณ สถานที่ที่กำหนด หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งผู้ร่วมประชุมสามารถปรึกษาหารือกันได้ แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น สลค. จึงขอเสนอ วิธีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยยึดหลักความสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ดังนี้
                    1.1 วัน เวลา และสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
          1.1.1 จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการกรณีปกติ ในทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
          1.1.2 การประชุมคณะรัฐมนตรีกรณีปกติอาจเปลี่ยนแปลงวัน เวลาและสถานที่
ได้ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
          1.13 การประชุมคณะรัฐมนตรีกรณีปกติจะดำเนินการโดยเชิญรัฐมนตรีมาเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ 1.1.1 หรือ 1.1.2
                    1.2 องค์ประกอบของการประชุมคณะรัฐมนตรี
          1.2.1 องค์ประชุมคณะรัฐมนตรี
          (1) การประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีปกติให้ดำเนินการได้ เมื่อมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่มีอยู่ โดยจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมให้รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถปรึกษาหารือกันได้แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน
                              (2) ในกรณีจำเป็นเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์สำคัญของประเทศหรือมีกรณีฉุกเฉินหรือเพื่อประโยชน์ในการรักษาความลับ นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาเรื่องใดกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อมีมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นได้ และเมื่อมีการประชุมเป็นกรณีปกติ
ให้นายกรัฐมนตรี แจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย
                              1.2.2 ผู้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำระดับสูง ดังนี้
                    (1) ข้าราชการการเมือง ได้แก่
                    (1.1) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
                    (1.2) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
                                                  (2) ข้าราชการประจำระดับสูง ได้แก่
                    (2.1) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
                    (2.2) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                    (2.3) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
                    (2.4) ตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
                    1.2.3 ฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย
                    (1) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
                    (2) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย) ปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
                    (3) เจ้าหน้าที่ของ สลค. (ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย) ปฏิบัติหน้าที่ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี
                    1.3 ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
                    1.3.1 เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุม
                    1.3.2 เรื่องวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ถ้ามี)
                    1.3.3 เรื่องเพื่อพิจารณา
                                        1.3.4 เรื่องเพื่อทราบ (หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ)
                    1.3.5 เรื่องเพื่อทราบ
                    1.3.6 เรื่องอื่น ๆ
                    1.4 ประเภทแฟ้มระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
                    1.4.1 เรื่องเพื่อพิจารณา แฟ้มสีชมพู
                    1.4.2 เรื่องเพื่อทราบ (หากไม่มีข้อทักท้วงฯ) แฟ้มสีส้ม
                    1.4.3 เรื่องเพื่อทราบ แฟ้มสีฟ้า
                    1.5 การส่งระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี สลค.จะจัดส่งระเบียบวาระการประชุมฯ พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย สลค. จะจัดส่งระเบียบวาระการประชุมฯ ให้คณะรัฐมนตรี ดังนี้
                    1.5.1 การประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีปกติทุกวันอังคาร จะส่งระเบียบวาระการประชุมฯ (ปกติ) ให้คณะรัฐมนตรีในวันศุกร์ และส่งระเบียบวาระการประชุมฯ (เพิ่มเติม) ในวันจันทร์ ส่วนระเบียบวาระการประชุมฯ (วาระจร) จะจัดส่งในวันประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบเรียกดูระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยเครื่องแท็บเล็ต (M-VARA) เท่านั้น
                    1.5.2 กรณีที่มีการเลื่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรีจะส่งระเบียบวาระการประชุมฯ ให้คณะรัฐมนตรีล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วันก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี
                    ทั้งนี้ สลค. จะจัดส่งระเบียบวาระการประชุมฯ ในระบบ M-VARA อีกช่องทางหนึ่งด้วย
                    1.6 คณะกรรมการรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะบุคคล ประกอบด้วยรัฐมนตรี
ที่เกี่ยวข้องและบุคคลอื่นที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่จะพิจารณา เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องใดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีก็ได้ เพื่อให้เรื่องที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และประหยัดเวลาการประชุมคณะรัฐมนตรี
                    1.7 การลาประชุมคณะรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีแจ้ง สลค. เป็นหนังสือเพื่อแจ้งให้นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบ ซึ่งรวมถึงกรณีการลาประชุม เป็นช่วงเวลาหรือกรณีไม่สามารถ
เข้าร่วมจนสิ้นสุดการประชุมได้
                    1.8 สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเปิดเผย สลค.
จะจัดทำสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีการประชุม โดยจะจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และถ่ายโอนข้อมูลไปยังระบบ M-VARA แล้วแจ้งให้รัฐมนตรีทราบ กรณีมีข้อทักท้วงหรือแก้ไขประการใด สลค. จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว
          2. แนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี
และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6กันยายน 2566 มีความสมบูรณ์ชัดเจน สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสะดวกในการถือปฏิบัติ
3. แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐในการเสนอเรื่องในการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและการจัดการวาระเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเป็นวาระเพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี
ตามที่เสนอ เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มีความสมบูรณ์ชัดเจน สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและสะดวกในการถือปฏิบัติ

2. เรื่อง การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรีและกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค. ) เสนอ มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล) เป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรีและกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา (1) เรื่อง การดำเนินคดีในศาลปกครองในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องในคดีปกครองที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี
(2) เรื่อง การดำเนินคดีในศาลรัฐธธรรมนูญในกรณีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (3)  เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สลค. ขอเรียนว่า
                    1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติอนุมัติ ให้
ความเห็นชอบ หรือมีคำสั่งใด ๆ ในเรื่องต่าง ๆ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว สลค. จะจัดทำร่างมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ๆ แล้วเสนอให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจพิจารณาและลงนามรับรองความถูกต้องก่อน จึงจะถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่จะแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องและหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบถือปฏิบัติ หรือดำเนินการต่อไป
                    2. การมอบหมายให้มีผู้ตรวจพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในหน่วยงาน สลค. เป็นผู้ตรวรพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรีที่ สลค. เสนอ โดยในครั้งล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มอบหนายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี) เป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติคณะรัฐมนตรี
                    3. การพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติหรือการดำเนินคดีความต่าง ๆ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถูกฟ้อง จะต้องมีการตรวจสอบการดำเนินการ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างรอบด้านและเพื่อให้การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเป็นไปด้วยความรอบคอบ ประกอบกับในครั้งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี) เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่องลักษณะดังกล่าวก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา

3. เรื่อง การจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาและมอบหมายให้ สลค. รับไปประสานรวมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดพิมพ์และแจกจ่ายเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาต่อไป
                    2. กำหนดวันแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
                    3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแปลคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเป็นภาษาอังกฤษ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. หลักการการจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
                    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 162 บัญญัติให้ ?คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที? ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจะกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย มาตรา 51 - 63 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ประกอบด้วย มาตรา 64 - 78 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
                    2. ร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
                    คณะทำงานยกร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ได้ยกร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาแล้ว   ซึ่งเห็นควรมอบหมายให้ สลค. รับไปประสานรวมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดพิมพ์และแจกจ่ายเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาต่อไป
                    3. การกำหนดวันแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
                    เพื่อให้การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 162 กำหนด (ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่) จึงสมควรพิจารณากำหนดวันแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เพื่อ สลค. จะได้แจ้งกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและประสานการจัดทำคำแถลงนโยบายฯ ต่อไป
                    ทั้งนี้ การแจ้งกำหนดวันที่คณะรัฐมนตรีจะแถลงนโยบายฯ จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า ?การนัดประชุมรัฐสภาต้องทำเป็นหนังสือ... การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน โดยไม่นับรวมวันส่งหนังสือและวันประชุม แต่ถ้าประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้
ในกรณีเร่งด่วนแต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน?
                    อนึ่ง ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา สลค. จะร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนข้อมูลแก่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งจะได้ประสานส่วนราชการในการสนับสนุนข้อมูลให้แก่รัฐมนตรีต่อไปด้วย

แต่งตั้ง
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง
                    คณะรัฐมนตรีมมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอแต่งตั้ง
นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่
7 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ