สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ชุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร(นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568

ข่าวการเมือง Tuesday February 18, 2025 16:43 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

วันนี้ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย

                    1.            เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินจะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่                                         จังหวัดสงขลา พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ-สังคม

                    2.           เรื่อง           ขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดน                                        ภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567 ? 2571)
                    3.           เรื่อง           ขอความเห็นชอบกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา                                         (พ.ศ. 2567-2571)
                    4.           เรื่อง           ข้อเสนอโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค                                                   สาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน
                    5.           เรื่อง           ผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่ง                                                  อ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 และวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568

ต่างประเทศ

                    6.           เรื่อง           ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์

แต่งตั้ง
                    7.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                                                (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
                    8.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                    9.           เรื่อง           ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง                                        ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
                    10.           เรื่อง           ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง                                        ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

?

กฎหมาย

1.  เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินจะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา    พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่              ตำบลพะตง  อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำคลองตง อันเป็นประโยชน์แก่การชลประทาน สำหรับพื้นที่การเกษตร การอุปโภคและบริโภค การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนว   เขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 160 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และเมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสามารถเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางการคมนาคมเข้าพื้นที่เกษตรกรรมเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น และส่งเสริมกิจกรรมและประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง เทศกาล              แข่งเรือ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเขตที่ดินที่จะเวนคืน มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย ค่าซื้อที่ดินจำนวน 83 แปลง เนื้อที่ประมาณ 91-1-21.5 ไร่ เป็นเงินประมาณ 150,651,187.50 บาท ค่าทดแทนต้นไม้หรือต้นผลไม้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเป็นเงินประมาณ 93,000,000 บาท ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เป็นเงินประมาณ 4,873,023.75 บาท ที่งอกริมตลิ่งเนื้อที่ประมาณ 6-0-22.8 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 4,723,443.04 บาท ค่าทดแทนทรัพย์สินทั้งโครงการคิดเป็นเงินประมาณ 253,247,654.29 บาท รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยกรมการปกครองได้ตรวจแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว

เศรษฐกิจ-สังคม

2. เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567 ? 2571)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (โครงการจัดส่งนักศึกษาฯ) ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567 ? 2571) ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 32,630,000 บาท ตามที่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    เนื่องจากการดำเนินโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (โครงการจัดส่งนักศึกษาฯ) ระยะที่ 10 ได้สิ้นสุดลงในปี 2566 กระทรวงมหาดไทย (มท.) จึงเสนอขออนุมัติ
การดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567 - 2571) ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 32,630,000 บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาให้เยาวชนที่ได้รับความเสียหายหรือที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา
ในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพมากขึ้น  และหากสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาไปปฏิบัติงานและพัฒนาพื้นที่ภูมิลำเนาของตนได้  โดยโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการ 3 ด้าน ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                    (1) ด้านการคัดเลือกนักศึกษา กรมการปกครองดำเนินการร่วมกับ คกก. กลั่นกรองคุณสมบัติผู้สมัครรับทุนการศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ พิจารณาคัดเลือกนักศึกษาตามระเบียบ มท. ว่าด้วยเงินทุนอุดหนุนการศึกษาแก่นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายหรือที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 (ระเบียบ มท. ว่าด้วยเงินทุนอุดหนุนการศึกษาฯ) และหลักเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น ผู้ขอรับเงินทุนอุดหนุนการศึกษาต้องมีภูมิลำเนา และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อนับรวมกันจนถึงวันประกาศรับสมัครแล้วต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ รวมถึงมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่รับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย คุณสมบัติของแต่ละคณะ/สาขาวิชา และอัตรารับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย
                    (2) ด้านการจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา กรมการปกครองจัดสรรงบฯ รายจ่ายประจำปี ปีละ 44 ทุน จำแนกเป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 27 ทุน ทุนละ 40,000 บาท/ปี และสาขาวิชาสังคมศาสตร์
17 ทุน ทุนละ 30,000 บาท/ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สตูล และ
จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย) ซึ่งในปี 2567 - 2571 มท. ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับเงินทุนอุดหนุนการศึกษา สำหรับทุนการศึกษา ปีละ 44 ทุน (รวม 5 ปี 220 ทุน แบ่งเป็นสายวิทยาศาสตร์ จำนวน 135 ทุน และสายสังคมศาสตร์ จำนวน 85 ทุน) เป็นเงินทั้งสิ้น 32.63 ล้านบาท ดังนี้
งบฯ ปี          เงินอุดหนุนทุนการศึกษา (ล้านบาท)
          นักศึกษาทุนต่อเนื่อง          นักศึกษาคัดเลือกใหม่          รวม
2567          4.06          1.59          5.65
2568          3.61          1.59          5.20
2569          4.24          1.59          5.83
2570          5.59          1.59          7.18
2571          7.18          1.59          8.77
รวม          24.68          7.95          32.63
ทั้งนี้ สำหรับเงินทุนอุดหนุนการศึกษาในปี 2567 ? 2568  มท. ได้รับการจัดสรรเงินทุนดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. งบฯ              ปี 2567 และ พ.ร.บ. งบฯ 2568 เรียบร้อยแล้ว
                    (3) ด้านการสงวนอัตราเข้ารับราชการ ดำเนินการตามมติ ครม. (30 ก.ย. 2546) ที่กำหนดให้กระทรวง กรมต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงวนอัตราเพื่อรองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาตามโครงการดังกล่าว เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ผ่านการคัดเลือกของส่วนราชการในการเข้ารับราชการในพื้นที่ โดยให้ มท. ศธ. สธ. และ กษ. สงวนอัตรากระทรวงละ 4 อัตรา สำหรับส่วนราชการอื่นที่มีหน่วยงานในพื้นที่ให้สงวนอัตราไว้อย่างน้อยกระทรวงละ 1 อัตรา
                    การดำเนินการตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ระยะที่ 11 จะทำให้นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับประโยชน์ เช่น (1) นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น (2) ผู้สำเร็จการศึกษาตามโครงการดังกล่าวมีโอกาสได้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ด้านการศึกษาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

3. เรื่อง ขอความเห็นชอบกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ. 2567-2571)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                    1. อนุมัติกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ) ในระยะ 5 ปีแรก วงเงิน 402.818 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอ มอบหมายให้หน่วยงานผู้ดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมงเสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ/หรือแหล่งเงินอื่นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานที่รับผิดชอบต่อไป
                    2. มอบหมายให้ กค. นำขอบเขตงาน ตัวชี้วัด และกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ในระยะ 5 ปีแรก ดำเนินการเจรจาเงินกู้กับธนาคารโลก พร้อมจัดทำรายละเอียดของเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้หน่วยงานดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการสะพาน ข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง (โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาฯ) ของกรมทางหลวงชนบท
                    สาระสำคัญของแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ประกอบไปด้วย 6 แผนงาน 15 โครงการ จำนวน
36 กิจกรรม ดังนี้  (1) การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย (3 โครงการ/8 กิจกรรม) เช่น การจัดทำแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีที่ชัดเจน การประกาศเขตพื้นที่ห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดี (2) การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ
(1 โครงการ/1 กิจกรรม) เช่น การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งบริเวณที่รับผิดชอบของชุมชนประมงท้องถิ่น (3) การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (2 โครงการ/5 กิจกรรม) เช่น การสำรวจการแพร่กระจายและจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา  (4) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา  (1 โครงการ/1 กิจกรรม) เช่น การศึกษาพันธุกรรมของโลมาอิรวดีและการศึกษาดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการอนุรักษ์ที่เหมาะสม  (5) การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน (7 โครงการ/17 กิจกรรม) เช่น การติดตามผลกระทบต่อโลมาอิรวดีจากการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอาชีพชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา                   (6) การบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (1 โครงการ/4 กิจกรรม)  เช่น การบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา
                    ทั้งนี้ แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ จะช่วยลดสาเหตุการตายและภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดี ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรโลมาอิรวดีผ่านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ

4. เรื่อง ข้อเสนอโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน
                      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ที่เห็นควรสนับสนุน จำนวน                   22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304,795,400 บาท โดยให้จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้สำนักงบประมาณตรวจสอบความซ้ำซ้อนของโครงการและงบประมาณต่อไป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
                      สาระสำคัญของเรื่อง
                      จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม 2567 นับเป็นสถานการณ์รุนแรงที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุหลักเนื่องมาจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซียเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และปริมาณฝนที่ตกสะสมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา
ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำ และท่วมขังในพื้นพื้นที่เมืองและเขตเศรษฐกิจสำคัญ
                      ทั้งนี้ ข้อเสนอของโครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานที่รับความเสียหาย
จากอุทกภัยได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ
ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจ
แก่ประชาชนและภาคส่วนในพื้นที่ในการดำเนินชีวิตประจำวันและประกอบกิจการได้อย่างปลอดภัย

5. เรื่อง ผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา
สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 และวันจันทร์ที่                   17 กุมภาพันธ์ 2568
                    คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
                    1. รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 และวันจันทร์ที่
17 กุมภาพันธ์ 2568
                    2. เห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 23 โครงการ กรอบวงเงิน 300,000,000 บาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อม ความคุ้มค่าของโครงการและความเหมาะสมของวงเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
                    3. เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงิน 300,000,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ
                    4. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ในส่วนที่เหลือจำนวน                 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

ต่างประเทศ

6. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
                      1. อนุมัติขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 (เรื่อง แนวทางการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์) ในประเด็น การกำหนดสายการบินในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ จาก กำหนดให้สายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบียมอบหมาย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. การบินไทย) รับผิดชอบในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทยแบบเช่าเหมาลำตามความตกลงระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) กับกระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ และกรมการบินพลเรือนซาอุดีอาระเบีย ที่จะมีขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป เป็น การขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทยให้ดำเนินการตามความตกลงระหว่างคณะกรรมการฯ กับกระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ และสำนักงานการบินพลเรือนซาอุดีอาระเบียที่จะมีขึ้นในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2569 เป็นต้นไป
                      2. อนุมัติขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 (เรื่อง แนวทางการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์)
                      สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. เดิมกรมการบินพลเรือนซาอุดีอาระเบียได้กำหนดให้การดำเนินการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์               ชาวไทย ดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติของประเทศไทยและประเทศซาอุดีอาระเบียฝ่ายละครึ่งหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (3 กรกฎาคม 2561) เห็นชอบให้สายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบียมอบหมายและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. การบินไทย) รับผิดชอบในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทยแบบเช่าเหมาลำ ต่อมา บมจ. การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมีสถานภาพเป็นสายการบินของเอกชน    ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของกรมการบินพลเรือนซาอุดีอาระเบียที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ                                (20 เมษายน 2564) เห็นชอบให้ บมจ. การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติของไทย ในการดำเนินภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย
                      2. ในการประชุมเตรียมการฮัจย์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่                 8 - 18 มกราคม 2566 สำนักงานการบินพลเรือนซาอุดีอาระเบีย แจ้งว่า ประเทศไทยสามารถแจ้งกำหนดสายการบินเพิ่มเติมได้ โดยขอให้แจ้งกำหนดสายการบินมาอย่างเป็นทางการ ประกอบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แสวงบุญที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีที่ค่าบัตรโดยสารในการเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบียและค่าโหลดน้ำหนักสัมภาระมีราคาแพง ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ให้เสนอขอทบทวนและขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
                              2.1 ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 (จาก ให้สายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบียมอบหมาย และ บมจ. การบินไทยรับผิดชอบในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทยแบบเช่าเหมาลำ เป็น ให้สายการบินที่มาจากความตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศซาอุดีอาระเบียที่จะจัดทำขึ้นเป็นรายปีต่อไปรับผิดชอบในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์)
                              2.2 ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 (ให้ บมจ. การบินไทยเป็น             สายการบินแห่งชาติของไทย ในการดำเนินภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย)
                    การดำเนินการในเรื่องนี้จะเปิดโอกาสให้มีสายการบินในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์เพิ่มมากขึ้น                ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าบัตรโดยสารถูกลงรวมถึงคุณภาพและการให้บริการดีขึ้นเนื่องจากเกิดการแข่งขันทางการค้าและด้านราคาของสายการบิน โดยประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกสายการบินในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ใน              ปี 2569 เป็นต้นไป (ปี 2568 ยังคงให้ บมจ. การบินไทยทำการบินแบบเช่าเหมาลำเช่นเดิม)

แต่งตั้ง
7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                        (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
                    1. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง            สำนักงานปลัดกระทรวง
                    2. นายนิกร ศิรโรจนานนท์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง               สำนักงานปลัดกระทรวง
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี นายมงคล วิมลรัตน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

9. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568
ต่อไปอีก (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ฯ
จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2568

10. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ (ชื่อสกุลเดิม นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร) ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2569

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ