http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่ม (ฆ/4)
ว่าด้วยการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ)
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน และครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (กำหนดคุณสมบัติและตำแหน่งของผู้บริหารงาน และผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว) 3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดความผิดมูลฐานตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ 4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬเขต เลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... 5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ ใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และ ค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ พ.ศ. .... 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้ง การทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... 9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไป ตามมาตรฐาน พ.ศ. .... 10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติ วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... 12. เรื่อง ร่างอนุบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งหอการค้า และสมาคมการค้า เศรษฐกิจ-สังคม 13. เรื่อง แนวทางการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 14. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2568 15. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินงาน ขยายเขตไฟฟ้าตามแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนา เพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 16. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ภายใน เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพันนาและป่าดงพระเจ้า เพื่อสร้างวัดถ้ำพวง ท้องที่ ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 17. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและยังไม่ได้ยื่นคำ ขออนุญาตภายในระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 18. เรื่อง การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของ ราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่างประเทศ 19. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือทวิภาคี ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการ ต่างประเทศ การบูรณาการแอฟริกาและชาวโกตดิวัวร์ในต่างประเทศแห่ง สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ 20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วย ความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการป้องกันประเทศ 21. เรื่อง ร่างเอกสารแนวทางการเจรจายกระดับกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความ ร่วมมือ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (AFAIPC) และการร่วมประกาศเริ่มเจรจาฯ ใน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 31 22. เรื่อง รายงานผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่งตั้ง 23. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
24. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ) 29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม) 30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
32. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา
กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่ม (ฆ/4) ว่าด้วยการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ) คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและรับทราบแผนฯ ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้ 1. ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่ม (ฆ/4) ว่าด้วยการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ เรียกว่าคณะกรรมการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ (กชน.) มีหน้าที่และอำนาจในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แนวทาง มาตรการ และเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำของประเทศไทย กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยชีวิตอากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สำนักงาน กชย.) สำนักงานปลัด คค. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (หมายเหตุ: องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) จะเข้ามาตรวจประเมินการปฏิบัติงานด้านอากาศยานของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2568) สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 1. กำหนดนิยามคำว่า "การค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ หมายความว่า การค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ อันเกิดจากเรือหรือยานพาหนะที่ประสบภัย ซึ่งไม่ใช่อากาศยาน หรือเกิดจากเหตุหรือ สิ่งอื่นใด (ร่างมาตรา3 (เพิ่มมาตรา 120/51)) 2. คณะกรรมการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ (กชน.) 2.1 กำหนดให้คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือ อากาศยานประสบภัยแห่งชาติ (กชย.) ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ1 ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า ?กชน.? และให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเข้าร่วมเป็นกรรมการโดยให้ผู้อำนวยการ กชย. ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ กชน. (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/52)) 2.2 กำหนดให้ กชน. มีหน้าที่และอำนาจในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ และมีหน้าที่และอำนาจอื่น ๆ เช่น กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายแนวทาง มาตรการ และเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำของประเทศไทย เห็นชอบแผนการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานการให้บริการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ ระบบความปลอดภัยและการเตือนภัย ทางทะเลและทางนำ เป็นต้น (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/53)) 3. แผนการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดทำแผนการค้นหา และช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธ์ศาสตร์ นโยบาย แนวทาง และมาตรการในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำที่ กชน. กำหนดและจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เมื่อเกิดเหตุขึ้น กำหนดแนวทางและมาตรการในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ รวมทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการแจ้งข่าว การสื่อสาร และการประสานงานในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแนวทางในการเตรียมพร้อมด้านการฝึกอบรมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และระบบการปฏิบัติการในการดำเนินการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/57)) 4. ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ กำหนดให้สำนักงาน กชย. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ เช่น เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำของประเทศ เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและตรวจสอบ คัดกรองข่าวสารเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ วางแผนและประสานงานในการบูรณาการ กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเรือที่อยู่ในภาวะอันตรายหรือเรือที่สูญหายหรือขาดการติดต่อรวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/58)) 5. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบกิจการเดินเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือ คนประจำเรือนั้น มีหน้าที่ในการแจ้งเหตุต่อศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำทันที และกำหนดโทษทางอาญาในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในกรณีดังต่อไปนี้ 5.1 เมื่อเรือไทยหรือเรือต่างประเทศที่อยู่ภายในน่านน้ำไทย อยู่ในภาวะอันตราย สูญหาย หรือขาดการติดต่อ (ร่างมาตรา3 (เพิ่มมาตรา 120/59วรรคหนึ่ง)) หากไม่แจ้งเหตุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/73) 5.2 เมื่อเรือไทยที่อยู่ในทะเลนอกน่านน้ำไทยอยู่ใน ภาวะอันตราย สูญหาย หรือขาดการติดต่อ (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/59 วรรคสอง)) หากไม่แจ้งเหตุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/74) 5.3 เมื่อนายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือคนที่อยู่ในเรือ ไม่ว่าเรือไทยหรือเรือต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองท่าเรือหรือ ผู้ประกอบกิจการท่าเรือ พบเหตุว่ามีเรืออยู่ในภาวะอันตรายหรือมีผู้ประสบภัยทางน้ำ ภายในน่านน้ำไทย (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/60 วรรคหนึ่ง)) หากไม่แจ้งเหตุดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/75) 5.4 เมื่อนายเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือคนประจำเรือไทย พบเหตุว่ามีเรืออื่นอยู่ในภาวะอันตรายหรือมีผู้ประสบภัยทางน้ำในทะเลนอกน่านน้ำไทยให้แจ้งเหตุต่อศูนย์ประสานงานฯ ของประเทศที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที (ร่างมาตรา3 (เพิ่มมาตรา 120/60 วรรคสอง) หากไม่แจ้งเหตุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/76) 5.5 เมื่อนายเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือคนประจำเรือไทย ผู้ใดผู้หนึ่ง ได้แจ้งเหตุต่อศูนย์ประสานงานฯ แล้วผู้อื่นที่อยู่ในเรือดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุนั้นซ้ำอีก (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/61)) 6. กำหนดให้นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือคนประจำเรือ มีหน้าที่ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำตามความสามารถของตนที่จะกระทำได้ ในกรณีดังต่อไปนี้เช่น 6.1 เรือไทยหรือเรือต่างประเทศ หากพบผู้ประสบภัย ทางน้ำภายในน่านน้ำไทย และอาจช่วยได้โดยไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่เรือของตน คนประจำเรือหรือผู้อื่นที่อยู่ในเรือ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอัน มิอาจก้าวล่วงได้อย่างยิ่ง (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/62 วรรคหนึ่ง) หากไม่ช่วยเหลือ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/77) 6.2 หากพบผู้ประสบภัยทางน้ำในทะเลนอกน่านน้ำไทย และอาจช่วยได้โดยไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่เรือของตน คนประจำเรือ หรือผู้อื่นที่อยู่ในเรือ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้อย่างยิ่ง (ร่างมาตรา3 (เพิ่มมาตรา 120/62วรรคสอง)) หากไม่ช่วยเหลือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/78) 7. เมื่อเกิดเหตุเรือโดนกันในทะเลนอกน่านน้ำไทย โดยเรือลำหนึ่ง ลำใดเป็นเรือไทยและมีผู้ประสบภัยทางน้ำอันเกิดจากเรือโดนกัน หากนายเรือ ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือที่โดนกันนั้น และตนอาจช่วยได้โดยไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่เรือของตนคนประจำเรือ หรือผู้อื่นที่อยู่ในเรือ ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำนั้นตามความสามารถของตนที่จะกระทำได้ (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/63 วรรคหนึ่ง) หากไม่ช่วยเหลือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี ปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มมาตรา 120/79) 8. กำหนดให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ที่รับผิดชอบในการควบคุมและกำกับการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำให้เป็นไปตามแผนการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำแห่งชาติ ในกรณีที่มีเรืออยู่ในภาวะอันตราย สูญหาย หรือขาดการติดต่อ หรือมีผู้ประสบภัยทางน้ำ ภายในน่านน้ำไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และในกรณีที่เหตุเกิดขึ้นในทะเลนอกน่านน้ำไทยและอยู่ในเขตความรับผิดชอบในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำของประเทศไทยให้ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (ร่างมาตรา 3 (เพิ่มมาตรา 120/67 และมาตรา 120/68)) คค. โดย กรมเจ้าท่า ได้นำร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการตรวจพิจารณาของ สคก. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยได้รับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายผ่านเว็บไซต์กรมเจ้าท่า (www.md.go.th) ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 - 20 ธันวาคม 2566 ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยในหลักการและได้นำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ต่อประชาชนเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว 2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (กำหนดคุณสมบัติและตำแหน่งของผู้บริหารงานและผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว) คณะรัฐมนตรีอนุมัติ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัวและวิธีพิจารณาดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 โดยกำหนดให้มีอธิบดีผู้พิพากษาคดีเยาวชน และครอบครัวภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวภาค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านคดีเยาวชนและครอบครัวทำหน้าที่บริหารศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตอำนาจของตนเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารงานและผู้พิพากษาเยาวชนและครอบครัวไว้เป็นพิเศษ โดยมีคณะกรรมการนโยบายการปฏิบัติราชการของศาลเยาวชนและครอบครัวช่วยกำกับดูแลบริหารราชการของศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมในคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สาระสำคัญ 1. ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเพิ่มเติมให้มีอธิบดีผู้พิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวภาค ภาคละ 1 คน จำนวน 9 ภาค และรองอธิบดีผู้พิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวภาค ภาคละ 2 คน (รวม 27 คน) ทำหน้าที่บริหารงานศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตอำนาจของตนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางรับผิดชอบงานของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรเพียงคนเดียว และอธิบดีผู้พิพากษาภาคซึ่งต้องบริหารงานศาลอื่นมีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับศาลเยาวชนฯ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนด้วย ทำให้ผู้บริหารงานศาลเยาวชนและครอบครัวในส่วนภูมิภาคอาจยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านคดีเยาวชนฯ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีอธิบดีและรองอธิบดี ผู้พิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวภาคเป็นผู้บริหารงานศาลเยาวชนฯ ในภูมิภาคเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารงานและผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวเพิ่มเติมเป็นพิเศษให้ต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนฯ เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมมากขึ้นเนื่องจากการพิจารณาและพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวมิได้มุ่งพิจารณาถึงการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงสาเหตุของการกระทำความผิด วิธีการแก้ไขการบำบัดฟื้นฟูกระทำความผิด สวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงต้องมีการนำมาตรการพิเศษมาใช้ในแต่ละขั้นตอนและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ตลอดจนกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการปฏิบัติราชการของศาลเยาวชนและครอบครัว ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของศาลเยาวชนฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจาก ผู้บริหารงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านคดีเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว 2. สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตามแนวการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว และได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว 3. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลกระทบด้านงบประมาณ เนื่องจากกำหนดให้มีตำแหน่งอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวภาคขึ้น และเมื่อมีตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีบุคลากรสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานอธิบดีฯ อีกหลายอัตรา รวมทั้ง มีการจัดหาครุภัณฑ์และก่อสร้างอาคารสถานที่ อันเป็นการตรากฎหมายที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อสร้างให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของรัฐตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่าต้องใช้งบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในระยะ 3 ปีแรก จำนวน 1,645.33 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 594.87 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการจำนวน 107.03 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน จำนวน 943.43 ล้านบาท 3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (1) ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (2) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว 2 ฉบับ และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติตามข้อ (1) ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 1. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ?ความผิดมูลฐาน? และ ?สถาบันการเงิน? และเพิ่มบทนิยามคำว่า ?เครือข่ายอาชญากรรม? รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การรายงานการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ องค์ประกอบคณะกรรมการและการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และหลักเกณฑ์การดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และบทกำหนดโทษ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ?ความผิดมูลฐาน? โดยเพิ่มความผิดมูลฐาน ได้แก่ (1) ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา (2) ความผิดฐานปลอมเอกสาร (3) ความผิดเกี่ยวกับยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (4) ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (5) ความผิดเกี่ยวกับการร่วมกันหรือสมยอมในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดมูลฐานให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบันที่มีการแก้ไข หรือปรับปรุง เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 รวมทั้งยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เนื่องจากมีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และนำความผิดมูลฐานที่ไว้ในกฎหมายอื่นมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2564 ได้แก่ (1) ความผิดตามประมวลรัษฎากรที่ได้กระทำในลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรรมเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร (2) ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (3) ความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การ ก่อการร้าย หรือความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และ (4) ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ นอกจากนี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ?สถาบันการเงิน? และเพิ่มบทนิยามคำว่า ?เครือข่ายอาชญากรรม? 1.2 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การรายงานการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินและ ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องรายงานต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อทราบ เช่น 1) กำหนดหน้าที่ให้สถาบันการเงินรายงานข้อเท็จจริงในกรณี ที่ปรากฏต่อสถาบันการเงินว่าข้อเท็จจริงที่ได้รายงานไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ 2) กำหนดให้สหกรณ์การเกษตรที่มีทุนซึ่งมีมูลค่าหุ้นรวมตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป มีหน้าที่ดำเนินการเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน 3) กำหนดให้พนักงานศุลกากรจัดส่งรายการที่ได้รับแจ้งรายการเกี่ยวกับการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ เข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินไปยังสำนักงาน ปปง. ให้ครอบคลุมตราสารเปลี่ยนมือด้วย 4) กำหนดให้ทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนผู้ประกอบธุรกิจลีสซิ่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และผู้ประกอบอาชีพค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (คณะกรรมการ ปปง.) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของผู้ประกอบอาชีพโดยจำกัดแต่เฉพาะผู้ดำเนินกิจการที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการฟอกเงิน 5) กำหนดให้ในกรณีที่จำเป็น จะสั่งให้มูลนิธิ สมาคมหรือองค์กร ไม่แสวงหากำไรใดซึ่งรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือจากมูลนิธิสมาคม หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนรายปีมากกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง รายงานการรับบริจาคและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วยก็ได้ 6) แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดแบบ รายการ ระยะเวลา และวิธีการในการทำธุรกรรม รวมถึงการบันทึกข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกรรมจากเดิมที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็น ให้คณะกรรมการ ปปง. เป็นผู้กำหนด และแก้ไขเพิ่มให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมกับลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความ เสี่ยงสูง (เดิม สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง) 1.3 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการ ปปง. เช่น กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน แต่ไม่เกิน 4 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และกำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นกรรมการเพิ่มเติม เป็นต้น 1.4 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฟอกเงิน เช่น 1) กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้ทรัพย์สินนั้นถูกใช้หรือครอบครองไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินอาจยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดนั้นโดยพลัน และให้สำนักงาน ปปง. คืนทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าของโดยเร็ว 2) กำหนดเพิ่มเติมในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน และหากทรัพย์สินมีภาระจำนองหรือภาระอื่นใดทำนองเดียวกันหรืออยู่ในระหว่างขายฝากและผู้รับจำนองหรือผู้ทรงสิทธิ หรือผู้ซื้อตามสัญญาขายฝากรู้เห็นเป็นใจหรือจงใจยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนั้นอันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้เลขาธิการ ปปง. แจ้งต่อพนักงานอัยการเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนภาระจำนองหรือภาระอื่นใด หรือการขายฝากนั้นด้วย (เดิมมิได้กำหนดกรณี ที่ทรัพย์สินที่กระทำผิดมีภาระจำนองหรือการขายฝาก) ทั้งนี้ เมื่อทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาให้เลขาธิการ ปปง. ยื่นร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อขอศาลเพื่อขยายระยะเวลาการยึดหรืออายัด โดยวิธีพิจารณาของศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานของศาลฎีกา 3) กำหนดให้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าทรัพย์สินนั้น ไม่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดให้ศาลคืนทรัพย์สินนั้นไป และให้เจ้าของมีสิทธิมารับคืนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลสั่งคืน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ทรัพย์ตกเป็นของกองทุนแต่ไม่ตัดสิทธิที่จะขอมารับคืนภายหลังจากนั้น 1.5 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น กำหนดเพิ่มเติมในกรณีที่สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายอื่นใด ให้สำนักงาน ปปง. หรือคณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการดำเนินการหรือออกระเบียบ แล้วแต่กรณี เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นนั้นได้ด้วย (เดิมมิได้กำหนดไว้) และแก้ไขเพิ่มเติมให้เงินหรือทรัพย์สินที่เจ้าของไม่มารับคืนตามกำหนดเวลาตกเป็นของกองทุนด้วย 1.6 แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ เช่น กรณีไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งคำชี้แจง บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานะเฉพาะกรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควรและตัดบทกำหนดโทษกรณีที่ไม่ให้ความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการธุรกรรมเลขาธิการ ป.ป.ง. 2. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้ 2.1 มาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 2.2 มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 2.3 มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 2.4 มาตรา 25 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 3. ร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับดังกล่าว ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและ การเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายและเว็บไซต์ของ สคก. (www.krisdika.go.th) ทั้งนี้ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่องการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว 4. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 16 ฉบับ ได้แก่ร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 1 ฉบับ ร่างกฎกระทรวง จำนวน 5 ฉบับ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 ฉบับ และระเบียบคณะกรรมการ จำนวน 9 ฉบับ พร้อมกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองตามมติคณะรัฐมนตรี (24 มกราคม 2560) เรื่องการเสนอแผน กรอบสาระสำคัญ และระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวม 2 ฉบับ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยได้พิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ ในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 4. ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬเขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายสุวรรณา กุมภิโร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (5) ตามที่ สำนักคณะกรรมการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ สาระสำคัญ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬเขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง (ภายในวันที่ 3 เมษายน 2568) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 4 มีนาคม 2568) ซึ่ง กกต. คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 30 มีนาคม 2568 5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้สำนักงาน ก.พ.ร รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตฯ ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 เพื่อเพิ่มเติมรายชื่อพระราชบัญญัติและประเภทของใบอนุญาตที่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้ จำนวน 101 ใบอนุญาตภายใต้ พระราชบัญญัติ 21 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 ได้แก่ ใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่า พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ได้แก่ใบอนุสิทธิบัตร พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้แก่ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม เพื่อให้สามารถชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้ (ปัจจุบันมีเพียง 31 ใบอนุญาตภายใต้พระราชบัญญัติ 11 ฉบับ) รวมถึงกำหนดให้ผู้อนุญาตและพนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบการประกอบกิจการหรือการดำเนินกิจการของผู้รับใบอนุญาตซึ่งชำระค่าธรรมเนียมตามพระราชกฤษฎีกานี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตโดยเคร่งครัด และกำหนดให้ผู้อนุญาตจัดให้มีช่องทางสำหรับรองรับการชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งกำหนดรายละเอียด วิธีการชำระค่าธรรมเนียม และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 ด้วย* ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ และทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการลดภาระของประชาชนในการติดต่อราชการ ทั้งด้านระยะเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงทำให้การบริการของหน่วยงานภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องในหลักการของร่าง พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ *มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตให้ชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น ณ สถานที่ทำการของผู้อนุญาต หรือผ่านช่องทางหนึ่งช่องทางใดดังต่อไปนี้ (1) จุดบริการรับชำระค่าธรรมเนียม (2) ธนาคาร (3) ศูนย์บริการร่วมหรือศูนย์รับคำขออนุญาต (4) ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (5) ช่องทางอื่นใดที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ผู้อนุญาตจัดให้มีช่องทางสำหรับรองรับการชำระค่าธรรมเนียมตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) อย่างน้อยหนึ่งช่องทาง รวมทั้งกำหนดรายละเอียดวิธีการชำระค่าธรรมเนียม และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง ร่างกฎกระทรวงการยื่นคำขอ การกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติ พ.ศ. .... ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นคำขอสำหรับผู้ประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่าหรือเจ้าหน้าที่อื่นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชหรือกรมประมงปฏิบัติการนอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ เช่น ต้องการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่าตรวจการนำเข้า ส่งออก หรือการนำสัตว์ผ่านแดนเข้ามาในประเทศหรือออกนอกประเทศ ในวันหยุดราชการ หรือต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจ ณ สถานที่ที่สัตว์นั้นอยู่นอกเวลาราชการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนวันที่ประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างน้อย 5 วัน (เดิมไม่น้อยกว่า 3 วัน) หรือกรณียื่นคำขอต่อด่านตรวจสัตว์ป่าเพื่อให้ทำการตรวจปล่อย (การปล่อยให้ผ่านด่านหลังจากการที่ได้ตรวจสอบหรืออายัดกักกันแล้ว) ให้ยื่นคำขอก่อนการตรวจปล่อย และต้องยื่นคำขอ ณ สถานที่ที่กำหนด เช่น (1) ในกรุงเทพมหานครและนนทบุรี ให้ยื่น ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ตามที่สัตว์ป่านั้นอยู่ (3) กรณีดำเนินการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์ป่า ให้ยื่น ณ ด่านตรวจสัตว์ป่าที่จะดำเนินการ หรือกรณีสัตว์น้ำ ให้ยื่น ณ กรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดที่สัตว์น้ำนั้นอยู่ นอกจากนี้ ผู้ประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการดังกล่าวต้องชำระค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ค่าตอบแทนสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า กรณีวันทำการปกติ ให้จ่าย 200 บาทต่อคำขอ 1 ฉบับ (เดิม 100 บาท) กรณีวันหยุดราชการให้จ่าย 400 บาทต่อคำขอ 1 ฉบับ (เดิม 200 บาท) สำหรับเจ้าหน้าที่อื่นให้จ่ายตามจำนวนวันและจำนวนเจ้าหน้าที่ตามอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่กระทรวงการคลังกำหนด และเศษของ 24 ชั่วโมงให้นับเป็น 1 วัน รวมถึงกำหนดอัตราค่าพาหนะเดินทาง เช่น กรณีเดินทางไปปฏิบัติการในระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตรจากสถานที่ทำการให้จ่าย 100 บาท ตั้งแต่ 10 - 20 กิโลเมตรให้จ่าย 200 บาท เกินกว่า 20 กิโลเมตร - 40 กิโลเมตร ให้จ่าย 400 บาท และเกินกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไป ให้จ่าย 500 บาทหรือเท่าที่จ่ายจริง สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง (อัตราคงเดิม) ทั้งนี้ การออกร่างกฎกระทรวงนี้จะสอดคล้องกับลักษณะการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และขณะเดียวกันเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐนอกเวลาราชการและนอกสถานที่ทำการโดยปกติด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการของร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2563 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนและภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สาระสำคัญ 1. ปัจจุบันคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องได้รับใบอนุญาตทำงานก่อน โดยกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดช่องทางในการขอใบอนุญาตทำงานไว้หลายวิธี เช่น คนต่างด้าวมายื่นดำเนินการด้วยตนเอง นายจ้างมายื่นดำเนินการแทนคนต่างด้าวอย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ออกใบอนุญาตทำงานให้แล้วให้คนต่างด้าวที่ขอใบอนุญาตทำงานต้องมารับใบอนุญาตทำงานที่กรมการจัดหางานด้วยตนเอง ทำให้คนต่างด้าวไม่ได้รับความสะดวกในการรับใบอนุญาตและเป็นการเพิ่มภาระในการไปติดต่อราชการ อีกทั้ง ทำให้นายจ้างผู้ประกอบการต้องประสบกับปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทางของลูกจ้างต่างด้าว เพื่อไปรับใบอนุญาตทำงานหรือต้องหยุดกิจการเพื่อให้ลูกจ้างต่างด้าวเดินทางไปรับใบอนุญาตทำงาน ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวโดยปรับปรุงวิธีการรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรทุกประเภท รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ และการจัดงานเทศกาลดนตรี โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกการรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวจากที่กำหนดให้คนต่างด้าวต้องเดินทางมารับใบอนุญาตทำงานด้วยตนเองเท่านั้น และกรมการจัดหางานจะกำหนดวิธีการให้คนต่างด้าวสามารถรับใบอนุญาตทำงานได้ เช่น ให้คนต่างด้าวสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทน รับผ่านทางไปรษณีย์หรือทางออนไลน์ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและลดข้อจำกัดของการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าวและผู้ประกอบการให้คนต่างด้าวสามารถดำเนินการรับใบอนุญาตทำงานด้วยวิธีการที่สะดวกยิ่งขึ้น 8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง จำนวน 2 รายการ ได้แก่ คำขอรับใบรับรอง และใบรับรอง ตามมาตรา 28 จากจำนวนทั้งหมด 9 รายการ* ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 โดยคำขอรับใบรับรองฯ มีอัตราค่าธรรมเนียม ฉบับละ 1,000 บาท และใบรับรองฯ มีอัตราค่าธรรมเนียม ฉบับละ 10,000 บาท เช่น คำขอรับใบรับรองและใบรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 และระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำรายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 2,640,000 บาท แต่จะเกิดผลดีต่อหน่วยตรวจ หน่วยรับรอง และห้องปฏิบัติการ เนื่องจากเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างแรงจูงใจให้มีการยื่นขอใบอนุญาตและใบรับรองเพิ่มมากขึ้น * กระทรวงอุตสาหกรรมมีเหตุผลในการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 จำนวน 2 รายการ จาก 9 รายการ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการตรวจและรับรองบังคับ จึงยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามมาตรา 18 แต่อย่างใด ประกอบกับจากการตรวจสอบพบว่าในปี 2568 ไม่ปรากฏข้อมูลการต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 28 แต่ประการใด จึงขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเพียง 2 รายการข้างต้น 9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาตรฐานเลขที่ มอก. 2594 - 2556 เนื่องจากประกาศใช้เกิน 5 ปี (มาตรฐานบังคับ) ซึ่งเอกสารอ้างอิงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัยสอดคล้องกับการทำและการใช้งานในปัจจุบันและเพื่อสอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูงในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : PPU) คือ มาตรการทดแทนปูนเม็ด (Clinker Substitution) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทางผู้ผลิตได้มีการวิจัยและพัฒนาทางด้านวัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่าการผลิตปูนไฮดรอลิกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการผลิต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยพบว่าปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้ผู้ใช้ได้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของเรื่อง อก. เสนอว่า 1. เนื่องจากกฎกระทรวง พ.ศ. 2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และการขอต่ออายุใบอนุญาตให้สามารถดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายได้ซึ่งยังไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้การออกใบอนุญาต การขอและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตและการต่ออายุกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบวัตถุอันตราย ต่างก็ได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวแล้ว และจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้รองรับการดำเนินการของหน่วยงานได้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กันยายน 2563) ที่ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) 2. อก. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อ 1 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้ 2.1 กำหนดเพิ่มเติมให้ใบอนุญาตที่ออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความหรือสาระสำคัญตามที่ปรากฏในแบบใบอนุญาตท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555) และสามารถกำหนดข้อความอื่น หรือสัญลักษณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ เช่น QR code (เดิมไม่มี โดยเพิ่มวรรคสองของข้อ 15 แห่งกฎกระทรวง พ.ศ. 2537) 2.2 กำหนดให้ยกเลิกชื่อ ?หมวด 5 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงและต่ออายุใบอนุญาต? แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 และให้ใช้ชื่อนี้แทน ?หมวด 5 การยื่นคำขอการออกใบอนุญาต การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาต? เพื่อให้ครอบคลุมการยื่นคำขอ และการออกใบอนุญาต 2.3 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่ประสงค์จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตดังกล่าวให้ยื่นหนังสือพร้อมใบอนุญาตฉบับเดิมที่ได้รับอนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้น หรือหน่วยงานอื่นที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายประกาศกำหนด ทั้งนี้ การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อวัตถุอันตราย สูตรเคมี อัตราส่วน ลักษณะและสูตรของวัตถุอันตรายจะกระทำไม่ได้ และในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการให้บันทึกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงในใบอนุญาตหรือออกหนังสืออนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือออกใบอนุญาตให้ใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ยกเลิกข้อ 22 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 และให้ใช้ข้อความนี้แทน โดยเพิ่มเติม ?หน่วยงานอื่นที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายประกาศกำหนด?) 2.4 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ ในแบบคำขอ วอ. 9 ต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้น หรือหน่วยงานอื่นที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายประกาศกำหนด โดยให้นำหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตมาใช้บังคับแก่การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตให้แสดงการต่ออายุใบอนุญาตไว้ในรายการท้ายใบอนุญาตหรือจะออกใบอนุญาตให้ใหม่ก็ได้ (ยกเลิกข้อ 23 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 และข้อ 24 แห่งกฎกระทรวง พ.ศ. 2537 และให้ใช้ข้อความนี้แทน โดยเพิ่มเติม ?หน่วยงานอื่นที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายประกาศกำหนด?) 2.5 กำหนดเพิ่มเติมให้การยื่นคำขอ การออกใบอนุญาต การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการ ณ หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้น หรือหน่วยงานอื่นที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายประกาศกำหนด 3. ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินการเกี่ยวกับการขอและวิธีการออกใบอนุญาต การขอและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและการต่ออายุ ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายเป็นหลัก รวมถึงเป็นการรองรับสำหรับการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักด้วย 1วัตถุอันตราย หมายความว่า วัตถุดังต่อไปนี้ 1. วัตถุระเบิดได้ 2. วัตถุไวไฟ 3. วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ 4. วัตถุมีพิษ 5. วัตถุที่ทำให้เกิดโรค 6. วัตถุกัมมันตรังสี 7. วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 8. วัตถุกัดกร่อน 11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของเรื่อง 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการ 1.1 กำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคาห้าสิบบาท (ประเภทธรรมดา) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ 150 ปี กระทรวงการคลัง ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว 1.2 กำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท จำนวน 2 ประเภท (ประเภทธรรมดาและประขัดเงา) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 14 เมษายน 2568 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งเสริมการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ การมีบทบาท อำนาจต่อรอง ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันปัญหา ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศไทย และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สิน มีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 2. กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. .... และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 150 ปี กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ เป็นการล่วงหน้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 12. เรื่อง ร่างอนุบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งหอการค้าและสมาคมการค้า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งหอการค้า พ.ศ. .... และ 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้า พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อได้ สาระสำคัญของเรื่อง 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งหอการค้า พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งสมาคมการค้า พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตจัดตั้งหอการค้าและสมาคมการค้า [ยกเลิกการเรียกสำเนาทะเบียนบ้านจากผู้เริ่มก่อการที่มีสัญชาติไทย กำหนดช่องทางในการยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งหอการค้าและสมาคมการค้าให้สามารถยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเพิ่มบุคคลที่ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งหอการค้าและสมาคมการค้าจะลงลายมือชื่อต่อหน้าได้] เพื่อให้สอดคล้องกับการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ และปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเฉพาะกรณีหอการค้าให้สอดคล้องกับการยกเลิกค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยหอการค้าบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน เพิ่มความคล่องตัวในการจัดตั้งหอการค้าและสมาคมการค้า รวมทั้งลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้ว เห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อหลักการ ของร่างกฎกระทรวงฯ รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการกระตุ้นให้หอการค้าและสมาคมการค้ามีความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลการดำเนินกิจการของหอการค้าและสมาคมการค้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้องค์กรในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เศรษฐกิจ-สังคม 13. เรื่อง แนวทางการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการฯ) ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) 2.5* (บัตรสวัสดิการฯ Version 2.5) ที่ใช้เกินวงเงิน ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้ 1. ยกเลิกการชำระค่าโดยสารได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน โดยวงเงินที่เกินจะนำไปหักจากวงเงินในเดือนถัดไป [ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561] 2. ให้กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมบัญชีกลาง) ดำเนินการ ดังนี้ 2.1 ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ที่ใช้สิทธิเกินวงเงิน จำนวน 246 ราย จำนวนเงิน 12,496 บาท ให้กรมบัญชีกลางนำจำนวนเงินค่าโดยสารที่ใช้เกินข้างต้นเบิกจ่ายจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ) ชำระให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แทนผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติดังกล่าว 2.2 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนฯ 2565 ที่ใช้สิทธิ เกินวงเงินและยืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 356 ราย จำนวนเงิน 15,793 บาท ให้นำจำนวนเงินค่าโดยสารที่ใช้เกินไปหักจากวงเงินในเดือนถัดไป เรื่องเดิม คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 กรกฎาคม 2561) เห็นชอบให้ กค. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 (เรื่อง ประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการฯ) ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือจากเดิม วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ขสมก. ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้าจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นวงเงินค่าโดยสารรถ ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และอนุญาตให้จ่ายเงินชำระค่าโดยสารได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน โดยวงเงินที่เกินจะนำไปหักจากวงเงินในเดือนถัดไป สาระสำคัญของเรื่อง 1. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น) ได้มีข้อสั่งการให้ยกเลิกการอนุญาตให้จ่ายเงินชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน เมื่อโครงการลงทะเบียนฯ 2565 ได้เริ่มดำเนินการหรือเริ่มให้สิทธิสวัสดิการเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 และสำหรับภาระงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สิทธิเกินวงเงินในเดือนสุดท้าย ให้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ สงป. เพื่อดำเนินการต่อไป 2. คณะกรรมการฯ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 [รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสันติ พร้อมพัฒน์) ในขณะนั้น เป็นประธาน] มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้บัตรสวัสดิการฯ ตามโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2560 และปี 2561 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ Version 2.5 กับ รฟม. (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง) โดยให้ยกเลิกการชำระค่าโดยสารได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน และให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ประสานกรมบัญชีกลางและนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 3. เรื่องนี้คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน [เดิมคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561] สำหรับค่าโดยสารที่ใช้สิทธิเกินวงเงิน ให้กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมบัญชีกลาง) ดำเนินการ ดังนี้ (1) กรณีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรสวัสดิการฯ) ตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) 2.5 (บัตรสวัสดิการฯ Version 2.5) ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ให้นำจำนวนเงินค่าโดยสารที่ใช้เกินสิทธิในเดือนที่ผ่านมา ไปหักกลบจากวงเงินค่าเดินทางของสิทธิสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนฯ ใหม่ และ (2) กรณีผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ Version 2.5 ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ให้กรมบัญชีกลางนำจำนวนเงินค่าโดยสารที่ใช้เกินสิทธิในเดือนที่ผ่านมาเบิกจ่ายเงินจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมเพื่อชำระให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยแทนผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ Version 2.5 ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 [รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสันติ พร้อมพัฒน์) ในขณะนั้น เป็นประธาน] มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว ทั้งนี้ กค. กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น สศช. เห็นควรมอบหมายให้ กค. คค. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันพัฒนาบัตรประจำตัวประชาชนให้สามารถรองรับการบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะแบบทันที *บัตรสวัสดิการฯ Version 2.5 เป็นบัตรสวัสดิการฯ ประเภทเดียวที่สามารถแตะประตูอัตโนมัติ และสามารถจ่ายเงินชำระค่าโดยสารได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน โดยวงเงินที่เกินจะนำไปหักจากวงเงินในเดือนถัดไปได้ 14. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวนเงิน 200 ล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนและรับรองธุรกรรมการให้บริการรับจำนำแก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. สธค. คาดการณ์การเติบโตของมูลค่ารับจำนำในปีงบประมาณ 2568 โดยคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 1,198,947 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 35,088 ราย หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 3.01 และจำนวนเงินรับจำนำประมาณ 21,221.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 618.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3 เนื่องจากประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังคงต้องการเงินเพื่อใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโรงรับจำนำของรัฐบาลจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของภาครัฐในการเป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีเครดิตเพียงพอที่จะไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่น ประกอบกับในปีงบประมาณ 2568 สธค. มีแผนการขยายสาขาจำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาที่ 48 (จังหวัดนครปฐม) และสาขาที่ 49 (จังหวัดร้อยเอ็ด) 2. สธค. ได้จัดทำแผนความต้องการใช้เงินกู้ระยะยาวปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อรองรับสภาพคล่องทางการเงินขององค์กรในการใช้หมุนเวียนรับจำนำและอื่น ๆ และรองรับสาขาที่เปิดเพิ่มขึ้น ซึ่งหาก สธค. ไม่ดำเนินการกู้เงินระยะยาว สธค.จะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดติดลบ ดังนั้น สธค. จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนการกู้เงินระยะยาววงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อบริหารความเสี่ยงและบริหารสภาพคล่องทางการเงินของ สธค. ทั้งนี้ สธค. มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน ตามที่ กค. กำหนด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารทางการเงินการคลังของรัฐบาลในภาพรวมและคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน ธนานุเคราะห์ ในการประชุมครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติเห็นชอบแผนความต้องการใช้เงินกู้ระยะยาว ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 200 ล้านบาท รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เห็นชอบให้ พม. กู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของ สธค. ประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 200 ล้านบาท โดย กค. ไม่ค้ำประกัน นอกจากนี้ วงเงินดังกล่าวได้รับการบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ด้วยแล้ว 15. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินงานขยายเขตไฟฟ้าตามแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนา เพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอการขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 เรื่องขอผ่อนผันใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก และการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน) ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เห็นชอบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เพื่อดำเนินงานขยายเขตไฟฟ้าตามแผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สาระสำคัญของเรื่อง เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 รับทราบแผนแม่บทโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2557 - 2560) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงกลาโหม (กห.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบชุมชนและหมู่บ้านชายแดนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ และมีคุณภาพชีวิตระดับต่ำกว่ามาตรฐานในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ตลอดจนพัฒนา และยกระดับสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและหมู่บ้านเป้าหมายให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่อมา กห. (สำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคงกองทัพบก) ได้ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาขยายเขตการให้บริการไฟฟ้าแก่หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เป็นระยะทางรวม 78.03 กิโลเมตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งว่า ให้ กฟภ. ดำเนินการขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ที่กำหนดไม่ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อีกไม่ว่ากรณีใด ด้วย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ตามที่เสนอ 2. กห. ทส. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ให้ มท. (กฟภ.) นำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงการก่อสร้าง และดำเนินการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด 16. เรื่อง ขออนุมัติผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพันนาและป่าดงพระเจ้า เพื่อสร้างวัดถ้ำพวง ท้องที่ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ เพื่อสร้างวัดถ้ำพวง ท้องที่ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. โครงการจัดตั้งวัดถ้ำพวง (ปัจจุบันมีสถานะเป็นที่พักสงฆ์ถ้ำพวง) ท้องที่ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ในครั้งนี้ ตั้งอยู่ก่อนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ที่กำหนดให้พื้นที่โครงการฯ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ โดยมีความเป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ซึ่งพระอุดมสังวร วิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ได้นำพาคณะศิษยานุศิษย์ขึ้นมาริเริ่มพัฒนาที่พักสงฆ์ถ้ำพวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จ พระราชดำเนินมาถ้ำพวงใน พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2533 รวมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โครงการฯ ด้วย นอกจากนี้ โครงการฯ ยังส่งผลกระทบด้านบวกในพื้นที่หลายประการ เนื่องจากทางโครงการฯ ได้มีการปลูกป่าเพิ่มเติม มีการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจเยาวชนและชาวบ้านให้มีความรู้ต่าง ๆ ให้ชุมชนมีจิตสำนึก มีความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยกันปลูกป่าและอนุรักษ์ฟื้นฟูให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป 2. พื้นที่โครงการจัดตั้งวัดถ้ำพวงตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพันนาและป่าดงพระเจ้า และอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ที่เห็นชอบข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ที่ไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณี เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 กำหนดว่า ต่อไปจะไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อีก ไม่ว่ากรณีใด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงจำเป็นต้องได้รับการผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น เพื่อที่จะได้ดำเนินการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอความเห็นมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้วไม่ขัดขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น จะต้องดำเนินงานในพื้นที่เดิมและไม่ควรเปิดพื้นที่ใหม่ จะต้องกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ และมาตรการที่นำเสนอไว้ในรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (รายงาน EAR) อย่างเคร่งครัด 17. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตภายในระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 1. ผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตในระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 (สิ้นสุดวันที่ 7 กันยายน 2564) สามารถยื่นคำขออนุญาตได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ โดยโครงการที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตต้องเป็นโครงการที่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เท่านั้น หากยังพบว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใดยื่นคำขอไม่ทันอีก ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตดังกล่าว ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทนตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 2. อนุมัติให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (คณะกรรมการพิจารณาฯ) เป็นผู้อนุญาตให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และคำขออนุญาตที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 1 ใช้พื้นที่หรือเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกกำหนดเป็นเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 และ 17 มีนาคม 2535 [ปัจจุบันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาอนุญาต ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537] 3. ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 (เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง) โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และคำขออนุญาตที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 1 ใช้พื้นที่หรือเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกกำหนดเป็นเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ได้ โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting Report : EAR) กำหนด และต้องปฏิบัติตามมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อย่างเคร่งครัด 4. ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และคำขออนุญาตที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 1 ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้าไปปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ตามคำขออนุญาตที่ได้ยื่นไว้ ให้สามารถของบประมาณและเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมบำรุงและรักษาสิ่งปลูกสร้างได้ สาระสำคัญของเรื่อง เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 กำหนดให้ส่วนราชการที่ยังมิได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ให้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวภายใน 180 วัน และขยายระยะเวลาออกไปอีก 120 วัน (สิ้นสุดระยะเวลาการให้ยื่นขออนุญาตเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564) แต่จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันยังมีโครงการที่ดำเนินการในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตจำนวน 21,355 โครงการ ใน 68 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมป่าไม้ จึงขอขยายระยะเวลาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ โดยขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐสามารถยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ทั้งนี้ ต้องเป็นโครงการที่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เท่านั้น (ตามข้อ 1) โดยที่ ทส. เห็นว่า เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จึงขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาในครั้งนี้ด้วย ดังนี้ มติคณะรัฐมนตรี ที่ขอผ่อนผัน สาระสำคัญของมติคณะรัฐมนตรี รายละเอียดการขอผ่อนผัน 1) กรณีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) 13 กันยายน 2537 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกกำหนดเป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) ให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (คณะกรรมการพิจารณาฯ) เป็นผู้อนุญาตแทน เนื่องจากตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 บัญญัติให้อธิบดีกรมป่าไม้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาฯ เป็นผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการอนุญาต จึงขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาฯ พิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกกำหนดเป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) พร้อมกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในคราวเดียว 2) กรณีพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ 12 ธันวาคม 2532 ไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อีกไม่ว่า กรณีใด ขอผ่อนผันให้หน่วยงานของรัฐสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกกำหนดเป็นเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนี้เป็นรายกรณี เพื่อลดขั้นตอนและเพื่อความคล่องตัว รวมทั้งเพื่อลดภาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 3) กรณีที่ห้ามมิให้จัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ 23 มิถุนายน 2563 มิให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ขอผ่อนผันให้หน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเข้าไปปรับปรุงหรือซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ตามคำขออนุญาตที่ได้ยื่นไว้ ให้สามารถของบประมาณและเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างได้ (รองรับกรณี เช่น เกิดความเสียหายจากภัยพิบัติ) หมายเหตุ: การผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 วันที่ 12 ธันวาคม 2532 และวันที่ 23 มิถุนายน 2563 จะเป็นการผ่อนผันเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 รวมทั้งที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเพิ่มเติมตามที่คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในครั้งนี้ (ตามข้อ 1) เท่านั้น 4) การจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทน 29 มกราคม 2556 หน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาจัดสรร/อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนโดยถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของโครงการ นั้น ๆ ด้วย ขอผ่อนผันให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทนตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ หมายเหตุ: การผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 จะเป็นการผ่อนผันเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเพิ่มเติมตามที่คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในครั้งนี้ (ตามข้อ 1) เท่านั้น [ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จะเข้าข่ายโครงการบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทนตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ /ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น คค. ขอให้ ทส. พิจารณาเพิ่มช่องทางเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้กับทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง 18. เรื่อง การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ (การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ) บริเวณที่ 1 - 5 2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เร่งดำเนินงาน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ เนื่องจากมีราษฎรยื่นข้อร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ (เป็นกลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์) ซึ่งมีแนวเขตที่ดินทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรกรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการและสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ สรุปรายละเอียดทั้ง 5 บริเวณ ได้ดังนี้ บริเวณ แนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ บริเวณที่ 1 พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เนื้อที่ 100 ไร่ มีราษฎรทำประโยชน์ในที่ดิน จำนวน 7 ราย 10 แปลง ปรับพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ เฉพาะบริเวณที่ได้จัดที่ดินให้กับราษฎรแล้ว สำหรับบริเวณที่ยังไม่มีการจัดที่ดินและมีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ให้กันเป็นพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน บริเวณที่ 2 พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ทับซ้อน วนอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำลี เนื้อที่ 336 ไร่ ปรับพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่ของวนอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำลี โดยปรับเส้นแนวเขตตามสภาพภูมิประเทศคือ แนวถนนกันไฟ ร่องน้ำ และแปลงปลูกต้นสัก บริเวณที่ 3 พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ทับซ้อนเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับพื้นที่ช่องว่างเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยกเว้นแปลงที่ดินที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ออก น.ค.3 ให้ปรับเป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำ น่านฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของราษฎรดังกล่าว บริเวณที่ 4 พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ที่เป็นพื้นที่ป่าส่วนกลาง ร้อยละ 20 และเป็นพื้นที่ปลูกป่า พื้นที่ Forest Plantation Target (FPT) เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ตามเดิม ไม่มีการปรับปรุงเส้นแนวเขต บริเวณที่ 5 พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ซึ่งได้จัดที่ดินให้ราษฎร เนื่องจากเป็นผู้ได้รับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 39 แปลง (เป็นกลุ่มราษฎรที่ยื่นข้อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี) ปรับพื้นที่โดยเพิกถอนเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านฯ ให้ครอบคลุมที่ดินของราษฎรที่ตกสำรวจ จำนวน 39 แปลง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้อง โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และต้องคำนึงถึงการสร้างสมดุล การใช้ประโยชน์ที่ดิน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ต่างประเทศ 19. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศ การบูรณาการแอฟริกาและชาวโกตดิวัวร์ในต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศ การบูรณาการแอฟริกาและชาวโกตดิวัวร์ในต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (โกตดิวัวร์) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้ กต. พิจารณาและดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก 2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว สาระสำคัญของเรื่อง 1. ประเทศไทยและโกตดิวัวร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2509 และที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยล่าสุดรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การบูรณาการแอฟริกาและชาวโกตดิวัวร์ในต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ในห้วงการประชุมสุดยอดอิสลาม ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงบันจูล สาธารณรัฐแกมเบีย และต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ฝ่ายโกตดิวัวร์ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือทวิภาคี (Bilateral Consultations Mechanism) สำหรับการหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้เจรจาร่างบันทึกความเข้าใจฯ จนได้ข้อสรุปแล้ว 2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดกลไกสำหรับการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างคู่ภาคี โดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี พัฒนาความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น และอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนการเยือน ตลอดจนดำเนินการปรึกษาหารือระหว่างกันในทุกด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน การเงิน อุตสาหกรรม การศึกษา สังคม สุขภาพ ก็หา วิทยาศาสตร์ การศึกษา และเทคโนโลยี โดยกลไกการปรึกษาหารือ ทวิภาคี ประกอบด้วย อธิบดีหรือรองอธิบดีที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีของคู่ภาคีเป็นประธานร่วม และมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมด้วย 20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการป้องกันประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ในบริบทป้องกันประเทศ (แถลงการณ์ร่วมฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กห. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการป้องกันประเทศ ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25 ? 27 กุมภาพันธ์ 2568 ณ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในบริบทการป้องกันประเทศอย่างมีความรับผิดชอบ และสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ของหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและลดความแตกต่างทางศักยภาพในการใช้ AI เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีบนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกัน การสนับสนุนเทคนิคการฝึกอบรมและการวิจัยร่วมกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเห็นว่าไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 21. เรื่อง ร่างเอกสารแนวทางการเจรจายกระดับกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (AFAIPC) และการร่วมประกาศเริ่มเจรจาฯ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 31 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบร่างเอกสารแนวทางการเจรจายกระดับกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา [Guiding Principles for Negotiating the Upgraded ASEAN Framework Agreement on Intellectual Property Cooperation (AFAIPC)] (ร่างเอกสารแนวทางเจรจายกระดับ AFAIPC) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ พณ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก 2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมประกาศเริ่มเจรจายกระดับ AFAIPC หรือให้การรับรองร่างเอกสารแนวทางเจรจายกระดับ AFAIPC ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers Retreat: AEM Retreat) ครั้งที่ 31 สาระสำคัญของเรื่อง 1. ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคณะทำงานว่าด้วยความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation: AWGIPC) ได้เห็นชอบให้ยกระดับ AFAIPC ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2538 ซึ่งการยกระดับ AFAIPC นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้จัดทำร่างเอกสารแนวทางเจรจายกระดับ AFAIPC เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนถึงแนวทางการเจรจา ทั้งนี้ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ(Senior Economic Official Meeting: SEOM) ครั้งที่ 1/56 เมื่อวันที่ 22 - 24 มกราคม 2568 ณ เมืองกูชิง ประเทศมาเลเซีย ได้มีมติเสนอให้มีการประกาศเริ่มเจรจายกระดับ AFAIPC ในการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 - 28 กุมภาพันธ์ 2568 ณ รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย โดยในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของไทยจะประกาศเริ่มเจรจายกระดับ AFAIPC 2. ร่างเอกสารแนวทางเจรจายกระดับ AFAIPC มีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ เช่น (1) เพื่อเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน AFAIPC ฉบับปรับปรุง จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างกลไกทางกฎหมายและการบริหาร ปรับปรุง กระบวนการจดทะเบียน และการบังคับใช้สิทธิ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (2) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในระดับภูมิภาค AFAIPC ฉบับปรับปรุงจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือและความสอดคล้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน ปรับแนวนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองและเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาผ่านกลไกระดับภูมิภาค (3) เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาในการส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน AFAIPC ฉบับปรับปรุงจะผลักดันให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ เพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมการค้าและตลาดแบบบูรณาการในภูมิภาค 22. เรื่อง รายงานผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ สาระสำคัญ พณ. รายงานว่า 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเร่งขยายการค้าและสนับสนุนการส่งออกของไทย พร้อมขับเคลื่อน Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวทีโลก โดยมีภารกิจหลักในการเดินทางครั้งนี้ 4 ภารกิจ รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 1.1 การสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือด้านการค้า ได้แก่ 1.1.1 การประชุมร่วมกับผู้นำเข้าสินค้าไทยรายสำคัญในตลาดสหรัฐฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางการค้าของสหรัฐฯ โอกาสและผลกระทบของไทยจากนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีผู้นำเข้าจาก 3 บริษัท เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ประกอบด้วย (1) ประธานบริษัท Sun Lee, Inc. ที่ดำเนินธุรกิจนำเข้ากระจายสินค้า และค้าส่งสินค้าเกษตรแปรรูป โดยบริษัทเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพการเติบโตของสินค้าอาหารไทย และยินดีที่จะร่วมกับผู้ประกอบการไทยรายย่อยทั้ง OTOP และ SMEs ในการผลักดันสินค้าไทยมายังสหรัฐฯ ปัจจุบันบริษัทนำเข้าสินค้าไทย เฉลี่ยปีละประมาณ 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1,623 ล้านบาท) (2) ประธานบริษัท Land and House USA, Inc. ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (โรงแรมและอพาร์ตเมนท์) มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงกลาง ปี พ.ศ. 2567 บริษัทได้ริเริ่มจัดงาน Thai Festival in Portland โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส ในการประชาสัมพันธ์ตราสัญญาลักษณ์ Thai SELECT พร้อมเชิญชวนร้านอาหารไทยเข้าร่วมงาน มีมูลค่าการซื้อ - ขาย ภายในงานประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 17 ล้านบาท) และมีแผนที่จะจัดงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และ (3) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท SCG International USA, Inc. ผู้ดำเนินธุรกิจส่งออก ? นำเข้า วัสดุก่อสร้างและบรรจุภัณฑ์ ในสหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าซีเมนต์จากไทยและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เน้นความยั่งยืน อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าและการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะมีความเข้มข้นมากขึ้นโดยเฉพาะกับจีน จึงอาจเป็นโอกาสของไทยในการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และยินดีสนับสนุนความสะดวกในการขยายตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ 1.1.2 การเยี่ยมชมโรงงานและหารือกับผู้บริหารบริษัท Overhill Farms, Inc. (ในเครือ CP North America) บริษัทผู้ผลิตไก่ทอดกึ่งสุกและนำเข้าเกี๊ยวกุ้ง เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยปัจจุบันบริษัทได้ขยายการผลิตสู่อาหารไทยบรรจุกล่องเพื่อวางขายในห้างค้าปลีกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย ทั้งนี้ พณ. ยินดีที่จะช่วยประสานอุปทานสินค้าไทยเพื่อตอบสนองความต้องการการผลิตของโรงงาน 1.1.3 การเยี่ยมชม Port of Long Beach ซึ่งเป็นท่าเรือที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน มีสินค้าผ่านเข้า ? ออก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 6.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างท่าเรือกับจุดหมายปลายทาง รองรับปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปี พ.ศ. 2566 มีสินค้าจากไทยเข้า - ออก ท่าเรือดังกล่าวประมาณ 360,803 ตู้ 1.2 การส่งเสริม Soft Power ของไทยผ่านอาหารไทยและร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai.SELECT โดยการเข้าร่วมกิจกรรมผลักดันสินค้าและบริการสู่สากล ผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิดและสื่อบันเทิงระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการรับรู้สินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก โดย พณ. ได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณนาวดี เสด็จเป็นประธานในกิจกรรมและทรงร่วมทำอาหารกับเชฟชื่อดังระดับโลก นายวูล์ฟกัง พัค (Mr.Wolfgang Puck) และการเข้าร่วมกิจกรรม Sa Wad Dee Thai SELECT Festival ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม และยกระดับภาพลักษณ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 1.3 การส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า H Mart ซึ่งเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย (Products of Thailand) ภายใต้แนวคิด Thai Food at Home และ Thailand Kitchen of the World โดยมีสินค้าไทยเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 38 รายการ อาทิ ข้าวหอมมะลิ น้ำมะพร้าว กะทิ สาหร่ายอบกรอบ ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มผลไม้ และซอสปรุงรส เป็นต้น คาดการณ์มูลค่าการขายสินค้าไทยภายใน 1 ปี ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท 1.4 การประชุมติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกสินค้าไทยในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา ร่วมกับอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงต้น และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา พร้อมมอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดร่วมกันผลักดันการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยสถานการณ์การค้าของแต่ละตลาดประเทศ สามารถสรุปได้ ดังนี้ ประเทศ สถานการณ์การค้า สหรัฐฯ นโยบายการค้าจะมุ่งเน้นความสัมพันธ์ทางการค้าที่เท่าเทียมและต่างตอบแทนยิ่งขึ้น (Reciprocal Trade) ซึ่งภายใต้หลัก America Fist ไทยสามารถเป็นแหล่งผลิต เพื่อทดแทนจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งยังสามารถรักษา การเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้า ที่เชื่อมอยู่กับการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐฯ เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ บริการด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น แคนาดา ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอินโด ?แปซิฟิก จึงกำหนดแนวทาง ส่งเสริมความร่วมมือในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการค้า การลงทุนและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการพึ่งพานำเข้าจากจีน พร้อมสนับสนุนการใช้ FTA อาเซียน ? แคนาดา ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนจะนำคณะผู้แทนการค้าแคนาดา ประมาณ 100 บริษัท เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการจัดงานแสดงสินค้า THAIFEX - Anuga Asia 2025 โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพ คือ ข้าวหอมมะลิ สินค้าอาหาร อาหารฮาลาล อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องประดับเงิน - เม็กซิโก เน้นนโยบายการส่งเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Nearshoring) ดึงเงินลงทุนจากต่างชาติ และขยายแหล่งนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น และมีแนวโน้มการเติบโตของสินค้า และบริการที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง โดยไทยสามารถเป็นแหล่งนำเข้าของสินค้าอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง บราซิล นโยบายส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าและบริการไทยที่มีศักยภาพ ในตลาดบราซิล คือ อาหารไทยและร้านอาหารไทย ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับเงิน มวยไทย และซีรีส์วาย เป็นต้น ชิลี เน้นนโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสินค้าเสรี และให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น และสนับสนุนการค้าและการลงทุนต่างประเทศ ชิลีมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับเหมืองแร่ รถยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อาร์เจนตินา รัฐบาลผ่อนคลายด้านกฎระเบียบและเพิ่มความยืดหยุ่น เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยลดภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 89 รายการ ลดระยะเวลาในการชำระค่าสินค้านำเข้าและยกเลิกขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าจำนวนมากที่มีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวขึ้น โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ คือรถยนต์และส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. พณ. ได้เสนอแนวทางการดำเนินการต่อไป ดังนี้ (1) ต่อยอดการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทย โดยใช้อาหารไทยเป็น Soft Power เพื่อสื่อสารวัฒนธรรม ด้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และประโยชน์ต่อสุขภาพ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และ (2) ส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมอาหารไทยในฐานะครัวโลก เพื่อแสดงจุดแข็งด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหาร และแหล่งความมั่นคงทางอาหารของโลก รวมทั้งนำเสนอวัฒนธรรมด้านอาหารใหม่ ๆ ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารสำคัญในสหรัฐฯและงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX - Anuga Asia ตลอดจนการส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทย ร่วมกับผู้นำเข้าและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ แต่งตั้ง 23. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล) 2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป 24. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 คณะ ดังนี้ 1. คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็น ประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ และกรรมการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม) 1. กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการพัฒนาโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ในภาพรวม 2. เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ให้บรรลุตามนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ 3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ในการดำเนินงานโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ได้ตามความเหมาะสม 2. คณะกรรมการบริหารโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) มีองค์ประกอบ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กรรมการ ประกอบด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม) 1. กำหนดหลักการ หลักเกณฑ์ ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการดำเนินการโครงการ วมว. ระยะที่ 3 2. กำหนดแนวทางและกลไกการบริหารจัดการในภาพรวม เพื่อให้การดำเนินการของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมดำเนินงานโครงการ วมว. มีการจัดการหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3. กำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแนวทางและพัฒนากลไกบริหารจัดการให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น 5. ดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย 3. คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลสถาบันไทยโคเซ็น ประกอบด้วย องค์ประกอบคงเดิม (มติคณะรัฐมนตรี 18 มิถุนายน 2567) ดังนี้ เป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โดยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น สำนักงานประเทศไทย ประธานหอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพ ฯ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล รองศาสตราจารย์กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองศาสตราจารย์รัตติกร วรากูลศิริพันธุ์ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ โดยมีผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม) 1. กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และทิศทางในการพัฒนาสถาบันไทยโคเซ็น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 2. กำหนดแผนงานบริหารโครงการและงบประมาณในภาพรวมให้เป็นไปตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาสถาบันไทยโคเซ็น 3. กำกับดูแลการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลโครงการสถาบันไทยโคเซ็น 4. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ 5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลสถาบันไทยโคเซ็น รวมทั้งมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือบุคคลดังกล่าว ทำการแทนแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ 6. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ(กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาวอัจฉรา รอดเกิด ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงาน อายุรกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 1. นางสาวสุรีย์พร อินทุเศรษฐ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนัก 9 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 2. นายรัชภูมิ เวียงสิมา ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง พิจารณา นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดี กรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม) คณะรัฐมนตรีมีมตินุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายประภูศักดิ์ จินตะเวช เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป 30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง พลเอก ยุทธเกียรติ ล้วนไพรินทร์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านสังคม) ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล แทน พลเอก ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตนได้รับแต่งตั้งแทน 31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้ 1. นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ประธานกรรมการ 2. นายชิดชนก เหลือสินทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. นางสาวสิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป 32. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสะพานปลารวม 6 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้ 1. พลโท นุกูล นรฉันท์ ประธานกรรมการ 2. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กรรมการอื่น (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 3. นางธาราพร สิงหพันธุ์ มหิทธาฟองกุล กรรมการอื่น (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) 4. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ กรรมการอื่น 5. นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ กรรมการอื่น 6. นายศิริพงษ์ รัสมี กรรมการอื่น และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป