กรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 15, 2008 11:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2552 ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 79,197 ล้านบาท โดยสามารถจัดหาเงินสดเพื่อใช้ลงทุนได้ประมาณ 228,784 ล้านบาท รวมทั้งรับทราบแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2553-2555 ของรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 313,045 ล้านบาทหรือเฉลี่ยประมาณปีละ 104,348 ล้านบาท และการเบิกจ่ายลงทุนรวม จำนวน 817,354 ล้านบาทหรือเฉลี่ยประมาณปีละ 272,451 ล้านบาท

2. เห็นชอบกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2552 วงเงินดำเนินการจำนวน 478,600 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 237,142 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 ของ GDP ประกอบด้วย

2.1 การลงทุนที่มีความพร้อม (งานต่อเนื่อง/ภารกิจปกติ) วงเงินดำเนินการ จำนวน 410,735 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 204,096 ล้านบาท

2.2 การลงทุนที่ต้องรอขออนุมัติตามขั้นตอน วงเงินดำเนินการ จำนวน 67,865 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 33,046 ล้านบาท แบ่งเป็น

1) โครงการลงทุนที่รอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี วงเงินดำเนินการ จำนวน 62,840 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 28,021 ล้านบาท

2) การลงทุนที่จะขอเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการและเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 5,025 ล้านบาท โดยมอบให้สำนักงานฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการลงทุน

สำหรับโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เห็นควรให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอน ทั้งนี้ ให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนตามเป้าหมายร้อยละ 90 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่าย

3. เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับองค์กรไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนในปีงบประมาณ 2552 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง

4. เห็นชอบในหลักการให้สำนักงานฯ ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2552 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระดับกระทรวง และระดับองค์กร

จากการพิจารณาผลการดำเนินงานและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2552 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนื้

1. การปรับโครงสร้างองค์กร

รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างมากและต่อเนื่อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 คาดว่าจะมีผลขาดทุนจากการประกอบการไม่น้อยกว่า 27,000 ล้านบาท โดยปรับโครงสร้างการบริหารงาน การดำเนินการ และการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มขาดทุนหรือมีแนวโน้มจะมีปัญหาด้านการเงิน เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อมิให้ประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรงในอนาคต

2. การจัดทำแผนการลงทุน

1) รัฐวิสาหกิจควรทบทวนและจัดทำแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการพัฒนาด้านโลจิสติกส์และพลังงาน เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกรอบงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 237,142 ล้านบาท ต่ำกว่าปีงบประมาณ 2551 ที่มีกรอบงบประมาณ 289,756 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มที่ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ โดยมีสาเหตุมาจากไม่ได้รวมการลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมการ เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องบิน จำนวน 20 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นต้น

2) รัฐวิสาหกิจควรเพิ่มการลงทุนด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการวิจัยพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันรัฐวิสาหกิจยังให้ความสำคัญและลงทุนค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

3. การกำกับดูแลการเบิกจ่ายลงทุน

1) เห็นควรมอบหมายให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ กำกับ ดูแล และรับผิดชอบการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การเบิกจ่ายลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ลงทุนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อองค์กรและประเทศ

2) ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำแผนดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนที่ขออนุมัติรายปี ซึ่งเป็นรายการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ โดยให้จัดหาผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ นอกจากนี้ ให้เร่งจัดทำรายละเอียดโครงการที่ต้องขออนุมัติในปีงบประมาณ 2552 เสนอกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ เพื่อให้การเบิกจ่ายลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย

4. การสรรหากรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ

ให้กระทรวงเจ้าสังกัดเร่งสรรหากรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและการบริหารงานมีความต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งขาดกรรมการและผู้บริหารในการบริหารการดำเนินงานขององค์กร

5. การจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจองค์กร

1) จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายฐานและความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง เพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการ ประหยัดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงาน สร้างผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำมูลค่าสูงเพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน และพร้อมแข่งขันกับภายนอก รวมทั้งการบริหารจัดการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น โดยจัดส่งแผนพัฒนาธุรกิจองค์กรประกอบการพิจารณางบประมาณประจำปี

2) ศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินงานและจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวม โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนการลงทุนและการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรของรัฐวิสาหกิจ

3) รัฐวิสาหกิจที่ผลประกอบการมีกำไร ควรเพิ่มบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ให้มากขึ้น โดยจัดทำแผนดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

6. การจัดทำรายงานการประเมินผลแผนงาน/โครงการ

ห้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานการประเมินผลแผนงาน/โครงการ ทั้งในระหว่างดำเนินการและเมื่อแล้วเสร็จเพื่อประมวลปัญหาอุปสรรคและผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์โครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

7. การบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาล

ให้รัฐวิสาหกิจนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยระบบการบริหารงานต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม

8. การปรับปรุงการดำเนินงาน

ให้รัฐวิสาหกิจเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุนการผลิต การลดรายจ่าย การสร้างรายได้ และการบริหารจัดการที่เหมาะสมของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ