ผลการประชุมเรื่องมาตรการรองรับวิกฤตการเงินโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 15, 2008 11:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติของที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ทั้ง 3 ข้อ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการป้องกันวิกฤตการเงินโลก และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปจัดทำรายละเอียดของแผนตามมาตรการ 6 ข้อ โดยให้รับความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายละเอียดของแผน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. มอบหมายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย รับความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้กับผู้ประกอบการและการเข้าถึงสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยพิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการและผู้ประกอบการรายย่อย

3. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็นประธานคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันวิกฤตการเงินโลก โดยมีรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

มาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1. มาตรการตลาดทุน เนื่องจากปัจจุบันในตลาดทุน มีหุ้นที่ถือโดยต่างชาติ จำนวน 110,000 ล้านบาท (3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนโดยเอกชนร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นการจัดตั้ง Matching Fund ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Matching Fund ระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับสถาบันการเงิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการการคลัง โดยขยายวงเงิน RMF/LTF จาก 500,000 บาท เป็น 700,000 บาท (ประมาณ 10,000 ล้านบาท)

2. มาตรการดูแลสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้กำหนดเป้าหมายให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมขยายสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 (หรือคิดเป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขยายสินเชื่ออีก 50,000 ล้านบาท (จาก 1.1 ล้านล้านบาท เป็น 1.15 ล้านล้านบาท) รวมเป็น 450,000 ล้านบาท

3. มาตรการเร่งรัดการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเพิ่มปริมาณการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างน้อยร้อยละ 5 คิดเป็นรายได้ส่งออกสินค้าประมาณ 300,000 ล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยว 60,000 ล้านบาท รวมเป็น 360,000 ล้านบาท โดยเน้นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การขยายตลาดในเอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา โดยใช้ทีมประเทศไทย (Team Thailand) รวมทั้งการขยายสินเชื่อเพื่อการส่งออก การรับซื้อพืชผล หลัก ๆ เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง อ้อย รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งที่เป็นธุรกิจเพื่อการส่งออกและผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ให้มีการสนับสนุนคนไทยท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุ และการท่องเที่ยวเชิงความรู้ของนักเรียนนักศึกษา

4. มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้ประชาชน โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เร่งรัดการเบิกจ่ายให้มากที่สุดภายในครึ่งแรกของปีงบประมาณให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 180,000 ล้านบาท

5. มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของงบลงทุน จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนประมาณ 60,000 ล้านบาท โครงการระบบขนส่งทั่วประเทศ 10,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนด้านพลังงานของ ปตท. 30,000 ล้านบาท

6. มาตรการสร้างประชาคมการเงินเอเซีย โดยสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินภายในภูมิภาคร่วมกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันการค้าภายในภูมิภาค โดยญี่ปุ่นและจีนจะต้องมีบทบาทนำระบบการเงินโลกในระยะต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ