ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน และระยะ 9 เดือนแรกของปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 15, 2008 11:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน และระยะ 9 เดือนแรกของปี 2551 ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2551 ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกันยายน 2551 เท่ากับ 124.5 (เดือนสิงหาคม 2551 คือ 124.2)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2551 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนสิงหาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.2

2.2 เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.0

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 9 เดือนแรก (มกราคม — กันยายน) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.5

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2551 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (สิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 3.0) สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาล แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศจะปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (เดือนสิงหาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.7) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผักและผลไม้ร้อยละ 7.4 ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักชี กะหล่ำปลี มะนาว ส้มเขียวหวาน มะม่วง องุ่น และทุเรียน เป็นต้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และเป็นช่วงปลายฤดูกาล นอกจากนี้ ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้นร้อยละ 1.5 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม เป็นต้น สูงขึ้นร้อยละ 0.6 อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้าวสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และแฮมเบอร์เกอร์) ขณะที่อาหารประเภทข้าว เนื้อสุกร และสัตว์ปีก มีแนวโน้มลดลง

3.2 ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงในอัตราที่ชะลอตัว ร้อยละ 0.8 (เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 6.2 ) สาเหตุสำคัญ เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงลดลง และผลจากการดำเนินนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 4.2 นอกจากนี้ผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวทำให้ค่าโดยสารรถไฟลดลงร้อยละ 51.4 ในขณะที่ค่าโดยสารรถประจำทางสูงขึ้นร้อยละ 7.2 เนื่องจากมีการยกเลิกการระงับขึ้นค่าโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ฯลฯ) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.2 รวมถึงของใช้ส่วนบุคคลประเภทสบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผม สูงขึ้น ร้อยละ 0.4

4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนกันยายน 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.0 ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 19.4 (เมื่อเปรียบเทียบกับราคาของปีก่อนหน้าซึ่งยังไม่ปรับตัวสูง) โดยดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 15.7 โดยเป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 27.1 ผักและผลไม้ร้อยละ 25.8 เครื่องประกอบอาหารร้อยละ 16.2 และเนื้อสัตว์เป็ดไก่และสัตว์น้ำร้อยละ 13.4

5. ถ้าพิจารณาเทียบดัชนีราคาเฉลี่ย 9 เดือนแรก (มกราคม —กันยายน 2550) สูงขึ้นร้อยละ 6.5 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 30.9 เป็นสำคัญ โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 10.7 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.1

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานจำนวน 108 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2551 เท่ากับ 108.5 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนสิงหาคม 2551 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

6.2 เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.6

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 9 เดือนแรก (มกราคม — กันยายน 2550) สูงขึ้นร้อยละ 2.5

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ