คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย สรุปได้ดังนี้
จังหวัดลพบุรี
บริเวณที่ประสบปัญหา คือ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมีการระบายน้ำเสียจากพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าสู่คลองชลประทานชัยนาท — ป่าสัก อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลงจาก 3.0 เป็น 2.4 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากในแม่น้ำปราจีนบุรีกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
จังหวัดปราจีนบุรี
บริเวณที่ประสบปัญหาได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง โดยมีการระบายน้ำเสียจากพื้นที่น้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก 3.1 - 4.5 เป็น 2.5 - 3.8 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากในแม่น้ำปราจีนบุรีกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จังหวัดพิษณุโลก
จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอเมือง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากในช่วงจังหวัดพิจิตรกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จังหวัดพิจิตร
จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอบางมูลนาก พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าลดลงจาก 3.8 เป็น 3.7 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากในช่วงจังหวัดพิจิตรกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จังหวัดนครสวรรค์
จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอชุมแสง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 3.7 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงอำเภอชุมแสง กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณอำเภอเมือง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 4.2 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงอำเภอเมือง กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จังหวัดสิงห์บุรี
จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณจังหวัดสิงห์บุรี พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 4.8 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดสิงห์บุรี กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บริเวณที่ประสบปัญหา ได้แก่ อำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร โดยที่อำเภอบางบาล ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 3.9 มิลลิกรัมต่อลิตร เกิดจากมวลน้ำเสียจากแม่น้ำตอนบนเคลื่อนตัวลงสู่ตอนล่าง คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงอำเภอบางบาล กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่อำเภอบางไทร พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำลงจาก 4.3 เป็น 3.9 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงอำเภอบางไทร กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยทั้ง 2 บริเวณยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณที่ยังคงมีน้ำท่วมขังและบริเวณที่ทิ้งขยะมาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความสกปรกของน้ำเสียรวมทั้งได้นำสารสกัดชีวภาพไปใส่ให้กับชุมชน หมู่ 4 ตำบลวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ซึ่งมีน้ำท่วมขังบริเวณดังกล่าวเริ่มเน่าเสีย และเกิดกลิ่นเหม็น
การดำเนินงานแก้ไขปัญหา
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่เอกสารผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการรั่วไหลของมลพิษจากเหตุการณ์อุทกภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและลดมลพิษกรณีอุทกภัย เพื่อใช้เป็นแนวทางให้แก่ประชาชนในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
2. ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วมขังและเน่าเสีย เพื่อเป็นการลดผลกระทบทั้งเรื่องสีและกลิ่น และปรับปรุงคุณภาพน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้คำแนะนำแก่จังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยให้ใช้น้ำสกัดชีวภาพในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นก่อนระบายน้ำออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งดำเนินการจัดหาน้ำสกัดชีวภาพเพิ่มเติมให้กับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่หากมีไม่เพียงพอ
3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานไปยังชลประทานในพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังออกสู่แหล่งน้ำลำคลองตามธรรมชาติ เพื่อลดและบรรเทาภาวะการเน่าเสียของน้ำในพื้นที่ท่วมขัง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2551--จบ--