1. ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ ระดับ 10 (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้แต่งตั้ง นายจำนงค์ ประยงค์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง) วิศวกรวิชาชีพ 9 วช. (วิศวกรรมโยธา) กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะ ด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง) วิศวกรวิชาชีพ 10 วช. (วิศวกรรมโยธา) กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
2. ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับ 11 (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้แต่งตั้ง นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร 10) สำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการขนส่ง (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 11 ชช.) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ดังนี้
1. คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)
1.1 องค์ประกอบ
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอโดยสมาคมธนาคารไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าไทย-จีน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.2 อำนาจหน้าที่
1.2.1 พิจารณาและเสนอแนะแนวทางและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของภาคเอกชน รวมทั้งร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรฐกิจให้เจริญเติบโตและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
1.2.2 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
1.2.3 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2. คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (กขต.)
2.1 องค์ประกอบ
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็น รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
2.2 อำนาจหน้าที่
2.2.1 พิจารณากำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับ ดูแล แผนงานการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในภาพรวมทั้งระบบ
2.2.2 ขับเคลื่อนนโยบายและเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการตามแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
2.2.3 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแทนกรรมการได้ตามความเหมาะสม
2.2.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีจะมอบหมาย
3. คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.)
3.1 องค์ประกอบ
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประธานสภาธุรกิจ ACMECS ประเทศไทย ผู้แทน GMS Business Forum ประเทศไทย ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ IMT-GT โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นกรรมการและเลขานุการและอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
3.2 อำนาจหน้าที่
3.2.1 กำหนดทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งการพัฒนาภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานความร่วมมือในกรอบ GMS ACMECS IMT-GT และ BIMSTEC ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพเพื่อความมั่นคง สันติสุข และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
3.2.2 เสนอแนะแนวทางให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาค
3.2.3 พิจารณา กลั่นกรอง และบูรณาการแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
3.2.4 กำกับดูแล ประสาน ผลักดัน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีเอกภาพ ตรงตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ตามทิศทางนโยบายรัฐบาล และสิ่งที่ไทยผูกพันไว้ในกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
3.2.5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือ คณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือ หรือปฏิบัติงานในเรื่องใดได้ตามความเหมาะสม
3.2.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
4. คณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล
4.1 องค์ประกอบ
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
4.2 อำนาจหน้าที่
4.2.1 พิจารณาและเสนอแนะแนวทางและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
4.2.2 กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายการลงทุนภาครัฐทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านคมนาคมขนส่ง ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด
4.2.3 แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อการดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสม
4.2.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 4 คณะดังกล่าว ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศช.
4. แต่งตั้งกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้แต่งตั้ง กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เนื่องจากกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 ดังนี้
1. กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 ราย ดังนี้ นายวิโรจน์ คงปัญญา นายประยุกต์ บุญยัง นายธวัชชัย พรหมพันธุ์ใจ นางธัญดา ปานขลิบ นางสาวสุภัสศรณ์ พงษ์พานิชย์ นางธนิยา ศรีสวัสดิ์ นายสมยศ วัฒนเวช นางพิมพ์ปฏิภาณ รู้บุญ นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ นางพรรณพร ชาญภิญโญ
2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ดังนี้ นายสมบัติ เลาหพงศ์ชนะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและอุตสาหกรรม
5. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2. พลเอก วรวัฒน์ อินทรทัต เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ดังนี้ 1. นายทนง พิทยะ เป็นประธานกรรมการแทนนายโอฬาร ไชยประวัติ 2. นายคิม ไชยแสนสุข เป็นกรรมการแทนนายอำพน กิตติอำพน 3. นายสุเมธ แย้มนุ่น เป็นกรรมการแทน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป
7. ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะระดับ 10 (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้แต่งตั้ง นายชิต พงษ์พิสันต์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษา) วิศวกรมวิชาชีพ 9 วช. (วิศวกรรมโยธา) กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษา) วิศวกรวิชาชีพ 10 วช. (วิศวกรรมโยธา) กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
8. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ประกอบกับเพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องนี้มีความเป็นกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรม ตลอดจนสร้างความเข้าใจอันดีและความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ ประกอบด้วย นายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา พลเรือเอก ชลินทร์ สาครสินธุ์ นายสหาย ทรัพย์สุนทร ศาสตราจารย์จรัส สุวรรณเวลา นายประเสริฐ บุญศรี คุณพรทิพย์ จาละ นายยุวรัตน์ กมลเวชช์ นายสมชาย ผลเอี่ยมเอก นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ โดยมีนายวิชัย ตันติกุลานันท์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
2. อำนาจหน้าที่ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. รวบรวมและตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
2. ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามคำสั่งนี้ ให้ทุกกระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการจัดส่งข้อมูลเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้คณะกรรมการ ให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการร้องขอ
3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานตามความจำเป็น เพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
4. จัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะ และมาตรการอื่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและความปรองดองสมานฉันท์
5. ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ให้กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่น ตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนระเบียบของทางราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
6. ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดหาสถานที่ปฏิบัติงานและสถานที่ประชุม รวมทั้งจัดหาเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
7. ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
9. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 238/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องก่อนหน้าและหลัง ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว นั้น
เพื่อเป็นการเยียวยาและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้เสียหายตลอดจนสร้างความเข้าใจอันดีและความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) กระทรวงสาธารณสุข เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำรองนายกรัฐมนตรี (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) นายชำนิ บูชาสุข โดยมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ และ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสำนักสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบและพัฒนา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. อำนาจหน้าที่ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. กำหนดกรอบการพิจารณาเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องก่อนหน้าและหลังนั้น ตามที่เห็นสมควร
2. รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง รายละเอียดต่าง ๆ รวททั้งรับฟังความความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ตามข้อ 1 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ
3. ตรวจสอบและรับรองบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ตามข้อ 1 ซึ่งสมควรได้รับการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ
4. ประสานงานหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับเหตุการณ์ตามข้อ 1 ในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย
5. เรียกเอกสารและเชิญเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และรายละเอียดต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการ
6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความจำเป็น เพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
7. รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ๆ
8. จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการอื่น ๆ ในการเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตามข้อ 1 ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามลำดับ และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
9. ให้คณะกรรมการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และคณะกรรมการอาจขอขยายเวลาดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีได้ตามความจำเป็น
10.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
11.ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ให้กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่น ตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนระเบียบของทางราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
12.ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ตุลาคม 2551--จบ--