สรุปผลการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 77

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 77 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-15 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. วิกฤตการณ์การเงิน ซึ่งเริ่มจากปัญหา sub-prime loans ในสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจของโลก ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศพัฒนา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ตลอดจนถึงประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไอซ์แลนด์ และฮังการี เป็นต้น ผลของวิกฤตการณ์การเงินจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกซบเซาในปีหน้า โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากปัญหาของสถาบันการเงินจะหดตัวหรือไม่ขยายตัว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยจะชะลอลงอยู่ในช่วงร้อยละ 4-5 ปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาการชะลอตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ และหากไม่ระมัดระวังการชะลอตัวดังกล่าวในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงินของประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

2. การแก้ไขวิกฤตการเงินและป้องกันปัญหาต่อเนื่อง

2.1 ประเทศที่ประสบปัญหาของสถาบันการเงิน ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมถึงการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ฝากเงิน การดูแลสภาพคล่องของสถาบันการเงิน การเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน การแยกสินทรัพย์ที่เป็นพิษ (toxic assets) ออกจากธนาคาร และการแก้ไขให้ระบบการเงินสามารถทำหน้าที่ระดมทุนและให้กู้ยืมได้อย่างปกติ และควรร่วมมือกันประสานมาตรการแก้ไขปัญหาเนื่องจากมาตรการที่แต่ละประเทศดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง อาจไม่ได้ผลถ้าไม่ได้มีการประสานการดำเนินมาตรการเข้าด้วยกัน

2.2 ประเทศที่จะประสบปัญหาทางอ้อมจากภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจมีฐานะการคลังและการเงินต่างกัน ควรพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในการสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายของการดูแลเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังมีฐานะการคลัง อัตราดอกเบี้ย ทุนสำรองระหว่างประเทศและการออมของครัวเรือน ในระดับที่สามารถสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศได้

2.3 การแก้ไขระบบการเงินโลก วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความบกพร่องของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน และการกำกับดูแลเครื่องมือการเงินใหม่ ๆ ดังนั้น IMF จะเร่งศึกษาบทเรียนและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางแก้ไขระบบการเงินโลกในการประชุมครั้งต่อไป

3. ปัญหาอาหารและพลังงาน ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขณะนี้มาตรการเร่งด่วนของเศรษฐกิจโลก ได้แก่การแก้ไขวิกฤตการเงินและป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามต่อไป แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องอาหารและพลังงานก็ยังมีความสำคัญและจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว ถึงแม้ราคาน้ำมันและอาหารจะลดลงมากในช่วงนี้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอดีตมาก และยังส่งผลให้ความยากจน การขาดแคลนอาหาร การเจ็บป่วยและการตายในประเทศยากจนเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาราคาอาหารและพลังงาน ดังนั้น การพัฒนาในอดีตที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปิดเสรีการค้าและการเงินเท่านั้นจะไม่เพียงพออีกต่อไป การพัฒนาในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญแก่ประเด็นด้านอาหาร พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างจริงจัง ธนาคารโลกได้ตั้งกองทุนเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ประสบวิกฤตด้านอาหารในวงเงิน 1.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ วิกฤตการเงินอาจส่งผลให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศยากจนลดลง และความสำคัญที่ให้แก่การเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบโดฮาร์อาจน้อยลง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศกำลังพัฒนาในระยะยาว

4. การปรับปรุงการออกเสียงและการมีส่วนร่วม ธนาคารโลกได้ปรับปรุงการบริหารตามที่มีข้อเรียกร้องให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงให้สะท้อนถึงบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ในโลก ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเริ่มมีการก่อตั้งธนาคารอย่างมาก ธนาคารโลกจึงได้ปรับปรุงให้กลุ่มประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางมีหุ้นส่วนมากขึ้น มีระบบการออกเสียงที่เป็นธรรมมากขึ้น และมีความโปร่งใสของระบบการเลือกประธานองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าจะต้องมีระบบที่ยืดหยุ่นที่สามารถดึงองค์กรใหม่ ๆ ที่มีบทบาทสูงในยุคโลกาภิวัตน์ เช่น ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร และองค์กรภาคประชาชน เป็นต้น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนา โดยถือเป็นกระบวนการปรับการบริหารจัดการใหม่ของธนาคารโลกในศตวรรษที่ 21

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ