รายงานความก้าวหน้า 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ครั้งที่ 2 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้

1.1 ความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการ หน่วยงานรับผิดชอบได้ดำเนินการตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายเดินทางของประชาชนในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงจากร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในเดือนสิงหาคม และร้อยละ 6.0 ในเดือนกันยายน โดยสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงาน ดังนี้

1.1.1 มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เริ่มดำเนินมาตรการตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ซึ่งผลของมาตรการที่ให้ลดภาษีสรรพสามิตลง ประมาณ 3 บาท/ลิตร และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ได้ปรับลดลงจากช่วงก่อนดำเนินมาตรการถึง 13.70 และ 20.20 บาทต่อลิตร ตามลำดับ

1.1.2 มาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน ได้ดำเนินการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งในส่วนของภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นราคาก๊าซ โดยกระทรวงพลังงาน

1.1.3 มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ครอบคลุมผู้ใช้น้ำครัวเรือนประมาณ 3.24 ล้านราย ประกอบด้วย

1) เขตนครหลวง (กปน.) ครอบคลุมผู้ใช้น้ำครัวเรือน จำนวน 1.22 ล้านราย จากครัวเรือนทั้งหมด 1.38 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 88 ของครัวเรือนทั้งหมด สำหรับอาคารชุดหรือห้องเช่ามีผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 3,159 ราย

2) เขตภูมิภาค (กปภ.) ครอบคลุมผู้ใช้น้ำครัวเรือน จำนวน 2.02 ล้านราย จากครัวเรือนทั้งหมด 2.76 ล้านราย คิดเป็น ร้อยละ 73 ของครัวเรือนทั้งหมด สำหรับอาคารชุดหรือห้องเช่ามีผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 2,445 ราย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขยายมาตรการด้านน้ำประปาให้ครอบคลุมผู้ใช้น้ำที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยการสำรวจเฉพาะระบบประปาเทศบาล จำนวน 709 แห่ง มีผู้ใช้น้ำ ในช่วง 0-50 ลบ.ม. ประมาณ 698,386 ราย วงเงินประมาณ 85 ล้านบาท ต่อเดือน คิดเป็นวงเงินประมาณ 540 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน

1.1.4 มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนประมาณ 10.75 ล้านราย ประกอบด้วย

1) เขตนครหลวง (กฟน.) จำนวน 0.81 ล้านราย จากครัวเรือนทั้งหมด 2.2 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 37 ของครัวเรือนทั้งหมด

2) เขตภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 9.94 ล้านราย จากครัวเรือนทั้งหมด 13.2 ล้านครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 75 ของครัวเรือนทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟผ. อีกจำนวน 2,353 ราย

1.1.5 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ให้บริการรถโดยสารประจำทางฟรีในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 800 คัน ใน 73 เส้นทาง มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวัน 431,437 คน/วัน (ก่อนมีมาตรการ 419,877 คน/วัน)

1.1.6 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3

1) ให้บริการรถไฟเชิงสังคม ในเส้นทางสายเหนือ สาย ต.อ. สาย ต.อ./เหนือ และสายใต้ รวม 164 ขบวน โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 3.2 ล้านคน ในเดือนกันยายน 2551 สำหรับการให้บริการในช่วงเร่งด่วนได้เพิ่มรถพ่วง ในเส้นทางเร่งด่วนและท่องเที่ยว เฉลี่ย 15 คัน/วันด้วย

2) คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 ให้ยกเว้นค่าบริการโดยสารขบวนรถเร็วที่ให้บริการจากสถานีต้นทางกรุงเทพ จนถึงสถานีปลายทางในแต่ละเส้นทาง ๆ ละ 2 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) รวมทั้งสิ้น 8 ขบวน ได้แก่ 1) เส้นทางสายเหนือ (กรุงเทพ-เชียงใหม่) 2) เส้นทางสายอีสาน (กรุงเทพ-หนองคาย) 3) เส้นทางสายอีสานใต้ (กรุงเทพ-อุบลราชธานี) และ 4) เส้นทางสายใต้ (กรุงเทพ-สุไหงโกลก) ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินชดเชยเพิ่มเติมเฉลี่ย 28 ล้านบาทต่อเดือน

2. เห็นชอบการยืนยันการดำเนินมาตรการจนสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือน

3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ก๊าซ LPG ดังนี้

3.1 พิจารณาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินมาตรการในเดือนมกราคม 2552

3.2 พิจารณาปรับราคาก๊าซ LPG ให้สอดคล้องกับกลไกตลาด

4. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาปรับปรุงมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน โดยทบทวนหลักเกณฑ์ปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 50 ลบ.ม./ครัวเรือน/เดือน เป็น 30 ลบ.ม./ครัวเรือน/เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานและหลักความประหยัด รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินชดเชยการให้บริการเชิงสังคมของ กปภ. ในปัจจุบัน

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเร่งรัดการเบิกจ่ายชดเชยเงินชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551

6. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) กำกับดูแลการดำเนินการตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน

7. เห็นชอบปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดงาน “มั่นใจไทยแลนด์ : การลงทุนเพื่ออนาคตของคนไทย” วงเงินรวม 40 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ชะลอการจัดงานออกไป ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

7.1 โอนรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 30 ล้านบาท สำหรับการจัดจ้าง บริษัทจัดงานมั่นใจไทยแลนด์ฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมประเทศไทย

7.2 ให้ สศช. ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 10 ล้านบาท สำหรับการจัดหาสถานที่จัดงานมั่นใจไทยแลนด์ฯ และการประชาสัมพันธ์บางส่วน ไปดำเนินการในภารกิจเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ข้อ 1.16 ในการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก การผันผวนของราคาพลังงาน และวิกฤตอาหารของโลกแทน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ