มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2551 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธ.ก.ส.จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรลูกค้าที่ประสบอุทกภัยและได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ดังนี้

1.1 กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิต จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญโดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

1.2 กรณีเกษตรกรลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต

(1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย

1) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2551-2553

2) งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลตามอัตราดอกเบี้ย MRR (อัตราต่ำสุดที่เรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้า) ซึ่งขณะนี้มีอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

(2) การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

1) ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท

2) ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้า ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตาราร้อยละ 3 ต่อปี

3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้า โดย ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ได้แก่ กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนองเป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง และกรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท

1.3 ในปีบัญชี 2551 หากเกิดอุทกภัยในพื้นที่อื่น ๆ อีก ธ.ก.ส. จะขอใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าดังกล่าวเช่นเดียวกัน

1.4 สำหรับวงเงินที่จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในปีบัญชี 2551 ตามมาตรการที่กล่าวข้างต้น และมาตรการอื่นที่จะมีเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังจะได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป

2. ธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสินได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

2.1 สำหรับลูกค้าสินเชื่อเดิมของธนาคารและไม่มีหนี้ค้างชำระในงวดปัจจุบันที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเคหะ สินเชื่อโครงกาธนาคารประชาชน สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สินเชื่อมเพื่อพัฒนาชนบท (สพช.) สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทตามโครงการสินเชื่อ SML สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยของสมาชิกองค์กรชุมชน สินเชื่อธนาคารประชาชนแบบกลุ่ม และสินเชื่อเคหะเพื่อสมาชิก สพช.

(1) ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน กรณีมีผลกระทบรุนแรงให้ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี

(2) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือน กรณีมีผลกระทบรุนแรงให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ ยกเว้นสินเชื่อเคหะ

(3) ลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.00 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.50 ต่อเดือน

2.2 สำหรับประชาชนทั่วไปทั้งที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเดิมและลูกค้าสินเชื่อใหม่

(1) สินเชื่อรายย่อยเอนกประสงค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 5,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกัน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.00 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.50 ต่อเดือน และระยะเวลาชำระคืน ไม่เกิน 18 เดือน

(2) สินเชื่อนบำรุงขวัญ เพื่อนำไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย (วงเงินกู้ตามความจำเป็นและเหมาะสม) ให้วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกันและหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ MLR -1.75 ต่อปี

3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ธอส. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านที่อยู่อาศัย ดังนี้

3.1 กรณีลูกหนี้เดิมของ ธอส.

(1) ลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระ ดังนี้

1) ในปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% เดือนที่ 4-6 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 1.00 ต่อปี และผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย และเดือนที่ 7-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR — 2% ต่อปี

2) ในปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี

3) ในปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้เท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี

(2) ส่วนที่กู้เพิ่ม เพื่อต่อเติมซ่อมแซมอาคาร ดังนี้

1) ในปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% เดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -3% ต่อปี

2) ในปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี

3) ในปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี

3.2 กรณีกู้ใหม่ สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ประสบปัญหา

(1) ในปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% และเดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี

2) ในปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี

3) ในปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี

3.3 การให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ กรณีอาคารที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ตามการตรวจสอบของ ธอส. ธอส. จะพิจารณาปลอดภาระหนี้ตามยอดคงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ (ถ้ามี) ในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม

4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

ธพว. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

4.1 ดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นและหรือเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไม่เกิน 12 เดือน ตามประเภทธุรกิจ

4.2 มาตรการสนับสนุนวงเงินฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท ในวงเงินรวม 200 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ในระยะเวลา 5 ปี และระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี

5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

ธสน. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมและรายใหม่ที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

5.1 ด้านอัตราดอกเบี้ย ธสน. จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลดอัตราดอกเบี้ย 1% จากดอกเบี้ยที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยของกิจการ

5.2 ด้านเงินทุน ธสน. จะพิจารณาให้วงเงินหมุนเวียน (Working Capital) ตามภาวะความจำเป็นของธุรกิจ โดยเตรียมวงเงินรองรับ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ลูกค้ามีสภาพคล่องในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง

5.3 ด้านการชำระคืนเงินกู้ ธสน. จะพิจารณาให้ลูกค้าปลอดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ลูกค้ามีสภาพคล่องในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง

6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

ธอท. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

6.1 ลดจำนวนเงินผ่อนชำระในระยะแรก 1 ปี

6.2 ลดจำนวนเงินผ่อนชำระและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ

6.3 ลดอัตรากำไรจากปกติร้อยละ 8-9 เหลือเป็นร้อยละ 6 ในปีแรก สำหรับปีต่อไปจะพิจารณาเป็นรายปี

7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

บสย. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้

7.1 มาตรการลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสำหรับลูกค้าเดือนของ บสย. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2552 โดยลดค่าธรรมเนียมจากอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 1.00 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วน 6 เดือนหลังและปีต่อไปจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปีตามเดิม

7.2 ให้ความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปตามปกติ

7.3 มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และจะขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ โดยจะคิดค่าธรรมเนียม 6 เดือนแรกในอัตราพิเศษร้อยละ 1.00 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน สำหรับ 6 เดือนหลังและปีต่อไปจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปีตามเดิม และกำหนดวงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2,000,000 บาท

8. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)

บตท. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่ได้รับความเสียหายจริงจากสถานการณ์ประสบอุทกภัย โดยพักชำระหนี้ให้ไม่เกิน 3 เดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ