การดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์สันติวิธี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 15:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ พ.10 / 2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์สันติวิธี ดังนี้

โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีมุ่งให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติในการป้องกันและจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ได้รับผลสำเร็จอย่างยั่งยืน จึงได้มีคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2544 ลงวันที่ 18 เมษายน 2544 แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และได้มีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม จนกำหนดสันติวิธีเป็นนโยบายเฉพาะหน้า และนโยบายทั่วไปไว้ในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2550 — 2554 แล้วตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ดังนั้นจึงสมควรพิจารณาปรับปรุงผู้รับผิดชอบการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์สันติวิธีดังกล่าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์และมีเอกภาพในการบริหารจัดการต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 จึงออกคำสั่งไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2544 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544 และคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องแก้ไขเพิ่มเติมหรือออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าว

ข้อ 2 การดำเนินการที่เกิดขึ้นตามคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2544 และคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องแก้ไขเพิ่มเติมหรือออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวที่ถูกยกเลิกไป ให้ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ ภารกิจ และการดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ 3 และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแต่กรณี

ข้อ 3 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์สันติวิธีขึ้นโดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

3.1 องค์ประกอบ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณา ที่ประธานกรรมการเห็นชอบจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยมี ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกิจการภายในประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

3.2 อำนาจหน้าที่

1) อำนวยการ ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งตามสถานการณ์

2) วิเคราะห์ ค้นคว้า วิจัยรูปแบบและวิธีการป้องกันและจัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ทั้งภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้าน

3) ประสานงาน ทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ และร่วมปรึกษาหารือแก่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี

4) ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อสั่งการให้ส่วนราชการนำไปพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

5) เป็นผู้บูรณาการในการเสนอแนะ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีต่อสังคม

6) ตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็น

7) สามารถเชิญบุคคลหรือผู้แทนส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

8) ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี/ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ข้อ 4 ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณามอบหมายหน่วยงานภายในตามความเหมาะสมดำเนินการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการ และฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตามข้อ 3 ต่อไป

ข้อ 5 ในกรณีมีข้อขัดข้องในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้เลขาธิการสภาความั่นคงแห่งชาติพิจารณาดำเนินการและประสานการแก้ไขปัญหาและรายงานนายกรัฐมนตรี/ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติต่อไป

ข้อ 6 ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ