คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ในห้วงวันที่ 11 กันยายน - 20 ตุลาคม 2551 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ข้อมูลถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2551) ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ(ระหว่างวันที่ 11 กันยายน - 20 ตุลาคม 2551)
1.1 พื้นที่ประสบภัย รวม 33 จังหวัด 283 อำเภอ 1,850 ตำบล 15,310 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 32 คน สูญหาย 1 คน (จ. พิษณุโลก) ราษฎรเดือดร้อน 697,457 ครัวเรือน 2,863,705 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 8 หลัง บางส่วน 9,483 หลัง ถนนเสียหาย 4,768 แห่ง สะพาน 113 สะพาน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 1,191,145 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 755,702,111 บาท
พื้นที่ประสบภัย ราษฎรประสบภัย ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รายชื่อจังหวัด ครัวเรือน คน เหนือ 10 54 217 1,109 ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ 59,638 195,647
นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย
พะเยา ลำปาง เชียงใหม่
และแม่ฮ่องสอน
ตะวันออก 13 159 1,172 11,405 เลย ขอนแก่น นครราชสีมา 553,482 2,437,302 เฉียงเหนือ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู
ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มุกดาหาร
มหาสารคาม ยโสธร
ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด
กลาง 3 33 266 1,574 ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา 48,730 131,690 ตะวันออก 7 37 195 1,222 นครนายก ปราจีนบุรี 35,607 99,066
ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด
จันทบุรี สระแก้ว
รวมทั้งประเทศ 33 283 1,850 15,310 697,457 2,863,705
1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายแล้ว 32 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ตาก พะเยา ลำปาง นครนายก เลย สุโขทัย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี พิจิตร สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี
ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นบางพื้นที่คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3- 4 วัน
1.3 การตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) และคณะ เดินทางไปตรวจราชการและติดตามการช่วย เหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดหนองคาย และมอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือให้แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้
- วันที่ 18 ตุลาคม 2551 จังหวัดชัยภูมิ ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านเขว้า จำนวน 1,000 ชุด หอประชุมที่ว่าการอำเภอ
- วันที่ 19 ตุลาคม 2551 จังหวัดหนองคาย ที่องค์การบริหารส่วนตำบลพระบาทนาสิงห์ อำเภอรัตนวาปี จำนวน 1,000 ชุด
ที่โรงเรียนประชาบดี ตำบลบ้านต้อน อำเภอรัตนวาปี จำนวน 1,000 ชุด หอประชุมที่ว่าการอำเภอโซ่พิสัย จำนวน 1,000 ชุด และองค์การบริหาร
ส่วนตำบลหนองหลวง อำเภอเฝ้าไร่ จำนวน 1,000 ชุด
2. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2551 - 2552
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปี 2551 - 2552 ว่าจะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ตุลาคม 2551 ถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ และทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงได้ในบางพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิ จะลดลงทำให้ภาค เหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก รวมทั้งบริเวณยอดดอยและยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะสิ้นสุดฤดูหนาว ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ.2551 - 2552 รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือและ บรรเทาความเดือดร้อน ให้แก่ผู้ประสบภัย การประสานการปฏิบัติ ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัด อำเภอ/และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้
1) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของจังหวัด ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำ ศูนย์ฯ โดยแบ่งมอบหน้าที่ให้มีผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ
2) สำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว โดยระบุจำนวนประชากรแยกรายครัวเรือนแต่ละอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านที่ประสบภัย หนาว หรือคาดว่าจะประสบภัยหนาว
3) ประสานและซักซ้อมหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการช่วยเหลือ ประชาชนตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเครื่องกันหนาว ผ้าห่ม เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค ตามความเหมาะสม
4) จัดเตรียมผ้าห่มและเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยหนาว โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 รวม ทั้งหลักเกณฑ์ที่กำหนด
5) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังอัคคีภัยจากสภาพอากาศแห้ง และอุบัติเหตุจากการเดินทางเนื่องจากหลายพื้นที่มักมีหมอก เกิดขึ้น รวมทั้งให้ดูแลรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ และเด็กเล็ก ซึ่งอาจเจ็บป่วยจากภาวะอากาศหนาวเย็น
6) กำชับให้เจ้าหน้าที่ ฯ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ภัยหนาวว่าประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยได้ทันทีและทั่วถึง
7) ให้รายงานสถานการณ์ภัยหนาวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สรุปสถานการณ์ ความเสียหายและการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่า สถานการณ์จะยุติ ตามระบบการรายงานที่กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจัดทำขึ้น
3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2551
3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า เว้นแต่ช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม 2551 อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา สำหรับร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบาง แห่ง เว้นแต่ช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม 2551 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยโดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จะสูง ประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม 2551 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ อาทิเช่น บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานีระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนชาวเรือขอให้ระวังอันตรายในการเดินเรือโดยเฉพาะในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ ด้วย
3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้จังหวัดภาคใต้ เตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดิน ถล่มซึ่งเกิดจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยและชาวเรือ โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดที่อาจจะได้รับผลกระทบ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นได้อย่างทัน ต่อเหตุการณ์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--