รายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2008 16:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย สรุปได้ดังนี้

1. จังหวัดลพบุรี

บริเวณที่ประสบปัญหา คือ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี คุณภาพน้ำมีการปรับตัวดีขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 2.4 เป็น 3.1 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากช่วงแม่น้ำลพบุรีกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

2. จังหวัดปราจีนบุรี

บริเวณที่ประสบปัญหาได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง โดยมีการระบายน้ำเสียจากพื้นที่น้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก 2.5 - 3.8 เป็น 1.8 — 3.7 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะที่บริเวณตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำที่สุดคือ 1.8 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากน้ำในพื้นที่ท่วมขังลดระดับลงประกอบกับมีการระบายน้ำจากพื้นที่ท่วมขังทางตอนบนของแม่น้ำ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำปราจีนบุรีกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

3. จังหวัดพิษณุโลก

จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอเมือง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากช่วงแม่น้ำยมในจังหวัดพิษณุโลกกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

4. จังหวัดพิจิตร

จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอบางมูลนาก พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 3.7 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากช่วงแม่น้ำน่านในจังหวัดพิจิตรกำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

5. จังหวัดนครสวรรค์

จากการตรวจสอบบริเวณอำเภอชุมแสง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 3.9 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงอำเภอชุมแสง กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณอำเภอเมือง พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 4.2 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงอำเภอเมือง กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

6. จังหวัดสิงห์บุรี

จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณจังหวัดสิงห์บุรี พบว่า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่า 5.6 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดสิงห์บุรี กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

7. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บริเวณที่ประสบปัญหา ได้แก่ อำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร โดยที่อำเภอบางบาล ตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 3.9 เป็น 6.1 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงอำเภอบางบาล กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 2 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่อำเภอบางไทร พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าเพิ่มขึ้นจาก 3.9 เป็น 4.4 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงอำเภอบางไทร กำหนดมาตรฐานให้เป็นประเภทที่ 3 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาโดยภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนแม่น้ำปราจีนบุรี มีค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณน้อย แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

การดำเนินงานแก้ไขปัญหา

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินการจัดทำคู่มือการจัดการมลพิษทางน้ำในภาวะอุทกภัย รวมทั้งรับการสนับสนุนคู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคประชาชน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะนำไปเผยแพร่องค์ความรู้ในการลดผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยคาดการณ์ว่าจะนำไปมอบให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้

2. ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วมขังและเน่าเสีย เพื่อเป็นการลดผลกระทบทั้งเรื่องสีและกลิ่น และปรับปรุงคุณภาพน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดสรรน้ำสกัดชีวภาพ เพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นก่อนระบายน้ำออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานไปยังชลประทานในพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังออกสู่แหล่งน้ำลำคลองตามธรรมชาติ เพื่อลดและบรรเทาภาวะการเน่าเสียของน้ำในพื้นที่ท่วมขัง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ