คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ตามที่คณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง เสนอดังนี้
1. สถานการณ์และขอบข่ายการช่วยเหลือ ได้มีการพิจารณาสถานการณ์และขอบข่ายการช่วยเหลือ โดยศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รายงานว่า มีผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้
วันที่ 29 สิงหาคม 2551 สถานการณ์ : มีการสลายการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และเข้าไปในบริเวณทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 10.00 น. มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 70 ราย
วันที่ 2 กันยายน 2551 สถานการณ์ : เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เวลาประมาณ 00.30 น. มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 45 ราย และเสียชีวิต จำนวน 1 ราย
วันที่ 7 ตุลาคม 2551 สถานการณ์ : มีการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณประตูทางเข้ารัฐสภา บริเวณแยกขัตตานี เวลาประมาณ 6.10 น. ต่อเนื่องกับการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบรัฐสภาและพื้นที่ใกล้เคียง มีผู้บาด เจ็บ จำนวน 497 ราย และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย
รวมทั้ง 3 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 612 ราย และเสียชีวิต จำนวน 3 ราย
2. นโยบายการช่วยเหลือ
ให้การเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย หมายถึง “ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับบาดเจ็บและเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล” โดยการเยียวยาทั้งในรูปตัวเงินและในด้านจิตใจ
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าเพื่อให้เกิดความรอบคอบและประโยชน์แก่ผู้ได้รับความเสียหาย จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นเพื่อศึกษาระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ และมติคณะรัฐมนตรีในการจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาประกอบในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียหายต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายในรูปตัวเงิน และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ให้ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2551--จบ--