ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 05:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนประชาชนเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 5,800 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1-12 กันยายน 2551 ตามนโยบาย “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน” โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจ ภายหลังจากที่รัฐบาลชุดที่ 25 ได้ดำเนินนโยบายมาแล้ว ประมาณ 1 เดือน โดยมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้

1. การได้รับประโยชน์จากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ประชาชน ร้อยละ 85.1 ระบุว่าได้รับประโยชน์ มีเพียงร้อยละ 14.9 ที่ไม่ได้รับประโยชน์ โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์เห็นว่าภาพรวมของนโยบายนี้ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 เดือน ทำให้ครัวเรือนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 537 บาท สำหรับมาตรการที่ครัวเรือนได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ มาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน (ร้อยละ 72.7) ตามด้วย มาตรการลดราคาน้ำมัน (ร้อยละ 68.8) ซึ่งมาตรการนี้ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 520 บาท

สำหรับมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี 80 หน่วย/เดือน และจ่ายค่าไฟฟ้าครึ่งราคา เมื่อใช้ไฟฟ้า 81-150 หน่วย/เดือน ทำให้ครัวเรือน ร้อยละ 35.1 ได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าฟรี ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 142 บาท และร้อยละ 23.7 ได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้า 81-150 หน่วย/เดือน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนได้เฉลี่ยเดือนละ 166 บาท และมาตรการใช้น้ำประปาฟรี 50 ลูกบาศก์เมตร/เดือน ทำให้ครัวเรือนได้รับประโยชน์ ร้อยละ 26.2 โดยครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์เห็นว่ามาตรการนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 141 และมาตรการใช้รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศฟรี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เพียงร้อยละ 9.8 โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์เห็นว่ามาตรการนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 269 บาท

ในขณะที่มาตรการใช้รถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรีทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเพียงร้อยละ 3.4 ได้รับประโยชน์ โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์เห็นว่ามาตรการนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 201 บาท

2. ความพึงพอใจในนโยบาย 6 มาตรการของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 96.2 ระบุว่าพึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 3.8 ที่ไม่พึงพอใจ โดยผู้ที่พึงพอใจระบุว่ามาก ร้อยละ 36.1 ปานกลาง ร้อยละ 49.3 และน้อย ร้อยละ 10.8 ในมาตรการ 6 มาตรการนี้ ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป พึงพอใจในมาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือนมากที่สุด ตามด้วย มาตรการลดราคาน้ำมัน และมาตรการใช้รถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรี ทั่วประเทศ รวมทั้งมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี 80 หน่วย/เดือน และจ่ายค่าไฟฟ้าครึ่งราคา เมื่อใช้ไฟฟ้า 81-150 หน่วย/เดือน ในขณะที่มาตรการใช้น้ำประปาฟรี 50 ลูกบาศก์เมตร/เดือน และมาตรการใช้รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศฟรี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีประชาชนระบุว่าพึงพอใจ ร้อยละ 89.5 และ 87.8 ตามลำดับ

3. ผลดีจากการดำเนินนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 94.2 เห็นว่าเกิดผลดี มีเพียงร้อยละ 5.8 เห็นว่าไม่เกิดผลดี โดยผลดีที่เกิดขึ้นจะทำให้ค่าครองชีพถูกลง (ร้อยละ 44.1) ตามด้วย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ (ร้อยละ 30.9) และทำให้ประหยัดพลังงาน (ร้อยละ 15.4)

4. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ 6 มาตรการของรัฐบาลภายหลัง 6 เดือน ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินมาตรการทั้ง 6 มาตรการต่อไปอีก

5. มาตรการลดราคาน้ำมัน ประชาชนร้อยละ 30.4 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่าควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ ปรับราคาให้ลดลงกว่าเดิม (ร้อยละ 21.5) ควบคุมราคาให้เป็นมาตรฐาน (ร้อยละ 7.1) และควบคุมการให้บริการของปั๊มน้ำมัน (ร้อยละ 2.1) เป็นต้น

6. มาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน ประชาชนร้อยละ 21.5 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่าควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ ควรขยายระยะเวลาออกไปอีก (ร้อยละ 18.2) และควบคุมราคาให้เป็นมาตรฐาน (ร้อยละ 3.7) เป็นต้น

7. มาตรการใช้น้ำประปาฟรี 50 ลูกบาศก์เมตร/เดือน ประชาชนร้อยละ 23.8 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่า ควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ ให้ทุกครัวเรือนได้รับส่วนลด (ร้อยละ 15.1) ควรเพิ่มปริมาณน้ำให้ใช้ฟรี (ร้อยละ 4.7) และควรขยายระยะเวลาของมาตรการนี้ออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน (ร้อยละ 3.3) เป็นต้น

8. มาตรการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนฟรี 80 หน่วย/เดือน และจ่ายค่าไฟฟ้าครึ่งราคา เมื่อใช้ไฟฟ้า 81-150 หน่วย/เดือน ประชาชน ร้อยละ 21.3 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่าควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ ควรเพิ่มปริมาณไฟฟ้าฟรีให้บ้านที่อยู่หลายครัวเรือน (ร้อยละ 10.1) ควรขยายระยะเวลาออกไปอีก (ร้อยละ 5.9) และให้ทุกครัวเรือนได้รับส่วนลด (ร้อยละ 5.3) เป็นต้น

9. มาตรการใช้รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศฟรีในเขต กทม.และปริมณฑล ประชาชนร้อยละ 20.8 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่าควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ ควรขยายบริการไปทั่วประเทศ (ร้อยละ 9.6) ควรเพิ่มจำนวน รถฟรี (ร้อยละ 9.4) และควรขยายระยะเวลาออกไปอีก (ร้อยละ 1.3) เป็นต้น

10. มาตรการใช้รถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรีทั่วประเทศ ประชาชนร้อยละ 11.6 ได้แสดงความคิดเห็น และเห็นว่าควรปรับปรุงมาตรการ ดังนี้ เพิ่มขบวนรถไฟให้มากขึ้น (ร้อยละ 8.2) ควรขยายระยะเวลาออกไปอีก (ร้อยละ 1.7) และควรควบคุมความสะอาด (ร้อยละ 1.3) เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ