แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 06:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 และมอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ตามขั้นตอนต่อไป

2. มอบหมายให้ส่วนราชการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 ไปประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณรับไปพิจารณาทางเลือกของแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดภาระด้านงบประมาณและรักษาวินัยการคลัง

4. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 สาระสำคัญของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554

1. แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 มีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1.1 แนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศ เป็นการสรุปวิสัยทัศน์ สถานการณ์ของประเทศ และกรอบการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

1.2 แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายรัฐบาล 8 นโยบาย เป็นการแสดงเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด และกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล

1.3 กลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ งบประมาณสนับสนุนตามนโยบาย และแนวทางการติดตามประเมินผล

1.4 แผนงาน/โครงการที่มีลำดับความสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งคัดเลือกจากแผนงาน/โครงการรายนโยบาย 8 นโยบาย

2. ประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบายรัฐบาล

2.1 ประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบายรัฐบาล ช่วงปี 2552-2554 เป็นข้อเสนอเบื้องต้นของส่วนราชการ โดยมีกรอบวงเงินตามความต้องใช้เงินรวม 7,102,698.27 ล้านบาท และประมาณการวงเงินรายได้สุทธิของรัฐบาลเท่ากับ 5,160,800.00 ล้านบาท ทั้งนี้ ประมาณการความต้องการใช้เงินที่ปรากฎในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ฯ ดังกล่าว จะใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนการปฏิบัติราชการสี่ปีและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการ เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป โดยแผนงาน/โครงการที่ระบุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ส่วนราชการเจ้าของแผนงาน/โครงการจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.2 ประมาณการความต้องการใช้เงินในช่วงปี 2552-2554 ดังกล่าว อาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขีดความสามารถในการก่อหนี้ของภาครัฐ ภายใต้กรอบการรักษาวินัยการคลัง จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณารายละเอียดความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้ง พิจารณาทางเลือกของแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อลดภาระด้านงบประมาณและรักษาวินัยการคลัง

3. แผนงานโครงการลงทุนที่มีความสำคัญตามนโยบายรัฐบาลฯ จากแผนงานโครงการทั้งหมด ในช่วงปี 2552-2554 วงเงิน 4,990,606.67 ล้านบาท มีแผนงานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ วงเงินรวม 1,609,426.43 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องและวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ได้แก่

3.1 การศึกษา ที่เน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ และการขยายบทบาทระบบเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในภูมิภาค วงเงินรวม 22,182.13 ล้านบาท

3.2 การสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทุกระดับ ระบบการส่งต่อ การพัฒนาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ ในภูมิภาค วงเงินรวม 78,611.56 ล้านบาท

3.3 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำและการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร และการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง วงเงินรวม 208,344.35 ล้านบาท

3.4 การขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การขนส่งระบบราง การขนส่งทางน้ำ ท่าอากาศยาน และระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง โดยคำนึงถึงการกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอย่างสมดุล วงเงินรวม 875,773.33 ล้านบาท

3.5 พลังงาน เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ การพัฒนาพลังงานทดแทน และการเตรียมความพร้อมสำหรับพลังงานทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง วงเงินรวม 367,153.99 ล้านบาท

3.6 การสื่อสารโทรคมนาคม เป็นการพัฒนาโครงข่ายโทรข่ายโทรทัศน์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 การขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์พื้นฐาน วงเงินรวม 52,194.14 ล้านบาท

3.7 การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยมีการศึกษากรอบทิศทางการพัฒนา ในภาพรวม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพในระยะยาว เช่น การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก การปรับปรุงท่าอากาศยาน และการศึกษาเตรียมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น วงเงินรวม 5,166.93 ล้านบาท

4. การติดตามประเมินผล แผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้กำหนดให้มีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ โดยเห็นควรมอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกับ ส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ รวมทั้งประเมินการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญ ที่อาจมีความจำเป็นต้องปรับแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ของกระทรวงการคลัง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ