ขออนุมัติลงนามในบันทึกความเข้าใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 12:06 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กับ

Institute of Remote Sensing Applications (IRSA) สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยี

การสำรวจระยะไกลและการประยุกต์ใช้ และบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

(องค์การมหาชน) กับ National Geospatial — Intelligence Agency (NGA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กับ Institute of Remote Sensing Applications (IRSA) สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและการประยุกต์ใช้

2. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง สทอภ. กับ National Geospatial — Intelligence Agency (NGA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

3. อนุมัติให้ผู้อำนวยการ สทอภ. เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ผู้อำนวยการ สทอภ. สามารถเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรีได้ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่ผู้อำนวยการ สทอภ. เป็นผู้ลงนาม

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงายว่า

1. บันทึกความเข้าใจ ฯ ระหว่าง สทอภ. กับ IRSA

1.1 ความร่วมมือระหว่าง สทอภ. กับ IRSA เริ่มขึ้นเมื่อผู้บริหาร สทอภ. เดินทางไปดูงานและ หารือภายใต้โครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2550 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฝ่ายไทยได้จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง Geo-informatics Technology for Land Suitability in Growing Certain Crops ให้ฝ่ายจีนพิจารณาซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ และให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน และฝ่ายจีนได้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ เสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาและได้มีการประสานปรับแก้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาฝ่ายจีนได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันอีกครั้งและทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกับร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวแล้ว

1.2 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในโครงการวิจัยต่าง ๆ ประกอบด้วย การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล การปรับเทียบและปรับแก้ข้อมูลดาวเทียมธีออส การประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมธีออสของประเทศไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน การประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมของสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และการทดลองด้านการสำรวจระยะไกลร่วมกัน โดยจะเริ่มดำเนินโครงการวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2551 ณ ประเทศไทย

2. บันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง สทอภ. กับ NGA

2.1 ความร่วมมือของ สทอภ. กับ NGA เริ่มขึ้นเมื่อผู้บริหาร สทอภ. เดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงาน NGA ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 และได้มีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยคณะผู้แทน NGA ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวรวม 3 ครั้ง (วันที่ 18 เมษายน 2549 วันที่ 29 มกราคม 2550 และวันที่ 18 มีนาคม 2551) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้มีความร่วมมือระหว่างกัน โดย NGA รับที่จะจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ สทอภ. พิจารณา

2.2 ต่อมา สทอภ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง สทอภ. กับ NGA ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมการพิจารณา โดย สทอภ. ได้ประสาน NGA เพื่อปรับแก้รายละเอียดในบันทึกความเข้าใจฯ และทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกับร่างบันทึกความเข้าใจ ฯ ดังกล่าวแล้ว

2.3 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินโครงการความร่วมมือและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของทั้งสองฝ่ายโดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินโครงการร่วมมือด้านภูมิสารสนเทศ ทั้งนี้ กิจกรรมความร่วมมือฯ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น การฝึกอบรม การวิเคราะห์ข้อมูล การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การบรรเทาและการบริหารจัดการภัยพิบัติ การดำเนินความร่วมมือนี้เน้นการพัฒนาบุคลากรด้านภูมิสารสนเทศ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายกำหนดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างวันที่ 19-24 ตุลาคม 2551 ณ หน่วยงาน NGA ประเทศสหรัฐอเมริกา

3. สทอภ. ได้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฉบับเพื่อขอข้อคิดเห็นจากระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และได้รับแจ้งว่าการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน (เนื่องจากมีข้อบทที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ) โดยระบุบุคคลที่จะเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยด้วย ซึ่งหากไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจโดยมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังเห็นควรให้ปรับแก้ถ้อยคำบางตอนเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น ซึ่ง สทอภ. ได้ดำเนินการปรับแก้ตามข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว สทอภ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฉบับไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ