ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 10:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ เพื่อรวมเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับเดียว แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วย ดังนี้

1. กรณีแสดงสำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรแล้ว ตามร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้านด้วย

2. การตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายว่าครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สมควรนำคำวินิจฉัยขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่เคยวินิจฉัยไว้แล้วมาพิจารณาด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 163 ได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐาน แห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนั้น มาตรา 291 ยังได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเสนอกฎหมายหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาได้โดยตรง ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นร่างกฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย มีดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเดิมที่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 วรรคสาม และร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14)

2. แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการให้มีการเข้าชื่อ การตรวจสอบชื่อที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเพิ่มเติมในส่วนของหลักฐานแสดง ตนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 และร่างมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 วรรคสอง)

3. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา (ร่างมาตรา 8 เพิ่มหมวด 3/1 การเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมาตรา 14/1)

4. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการที่ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือขัดขวางการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ