โครงการศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 11:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ในวงเงิน 300 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552-2555) ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินโครงการฯ นั้น สำนักงบประมาณจะได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนงานและผลการดำเนินโครงการฯ ต่อไป ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ได้มีการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับโครงการฯ ดังกล่าวไว้แล้ว เป็นเงิน 75,000,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้จัดทำข้อเสนอโครงการศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จาก ชีวมวล เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับรวบรวมความรู้ นักวิจัย และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผลิตจากชีวมวล ตลอดจนเป็นแม่ข่ายความร่วมมือของนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ และสามารถถ่ายทอดสู่บุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อให้การผลิตและการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลของประเทศไทยเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์หรือก๊าซชีวมวลที่ได้จากกระบวนการกลั่นสลายชีวมวลด้วยกระบวนการแก็สซิฟิเคชัน ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคอุตสาหกรรมและบ้านพักอาศัยได้โดยตรง และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเหลวซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูง มีสารเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) เป็นตัวช่วยเร่งให้เกิดปฏิกิริยาการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเหลวได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำมันดีเซลสังเคราะห์ และน้ำมันเบนซินสังเคราะห์ เป็นต้น แม้ว่ากระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเหลวดังกล่าวมีต้นทุนสูง แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เชื้อเพลิงเหลวที่ใช้ในภาคการขนส่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซลมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เชื้อเพลิงเหลวที่สังเคราะห์จากชีวมวลสามารถแข่งขันด้านราคากับเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากน้ำมันดิบได้

วัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาขั้นสูงเพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ พัฒนาศูนย์แห่งความเป็นเลิศทั้งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ให้มีประสิทธิภาพ

แผนการดำเนินงาน

1. ศึกษาและรวบรวมเอกสาร บทความ ตลอดจนสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลและคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะใช้เป็นระบบต้นแบบสำหรับผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล

2. จัดตั้งระบบต้นแบบและการเดินระบบทดสอบเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ

3. ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของระบบผลิต เพื่อใช้วัตถุดิบจากชีวมวลชนิดต่าง ๆ ในประเทศ

4. จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล

5. จัดหาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ประกอบการเพื่อนำเทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลไปใช้เพื่อการพัฒนาชุมชน หรือผลิตพลังงานทดแทนจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

จะช่วยสร้างกระแสความตื่นตัวด้านความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากชีวมวล ทำให้คนไทยหันมาให้การสนับสนุนเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากชีวมวลที่เป็นทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างบูรณาการและยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ