สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2551)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 12:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงวันที่ 25 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2551 ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2551)

1.1 ในช่วงวันที่ 25 ตุลาคม — 3 พฤศจิกายน 2551 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร ในพื้นที่จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ แพร่ และจังหวัดนครราชสีมา โดยสถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สรุปได้ดังนี้

1) จังหวัดตาก เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2551 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดล้นทางระบายน้ำสายแม่สอด ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร และบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สอด เขตเทศบาลเมืองแม่สอด ตำบลแม่ปะ (หมู่ที่ 7) ตำบลพระธาตุผาแดง (หมู่ที่ 2,3) ตำบลแม่กุ (หมู่ที่ 1-3,6) ตำบลมหาวัน (หมู่ที่ 3,5-7,10) ตำบลแม่ตาว (หมู่ที่ 2) และตำบลแม่กาษา (หมู่ที่ 9) ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 6,000 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

2) จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2551 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรของอำเภอด่านขุนทด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลด่านขุนทด (หมู่ที่ 2-6,8,9,15-17) ตำบลบ้านเก่า (หมู่ที่ 1-13) ตำบลห้วยบง (หมู่ที่ 1-25) และตำบลหินตาด (หมู่ที่ 1-24) ศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา สำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา ได้นำรถ 3 คัน เรือท้องแบน 4 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ออกให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นและเร่งสำรวจความเสียหาย ซึ่งขณะนี้รถสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว

3) จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอลับแล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่พูล (หมู่ที่ 3-7,10) และตำบลฝายหลวง (หมู่ที่ 4) สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

4) จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 ได้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลอง ตำบลต้าผามอก (หมู่ที่ 1-5,7,8) ตำบลทุ่งแล้ง (หมู่ที่ 1-12) และอำเภอเด่นชัย ตำบลปงป่าหวาย (หมู่ที่ 9) ตำบลไทรย้อย (หมู่ที่ 1,7,9) ตำบลแม่จั๊วะ (หมู่ที่ 2,6) ตำบลเด่นชัย (หมู่ที่ 1,3,6,10) และตำบลห้วยไร่ (หมู่ที่ 1-10) ทำให้เส้นทางรถไฟถูกน้ำกัดเซาะขาด ประมาณ 100 เมตร บริเวณ บ้านห้วยไร่-ปางต้นผึ้ง รถไฟไม่สามารถเดินรถผ่านได้ ซึ่งสามารถเปิดเส้นทางเดินรถได้เมื่อเวลา 16.15 น. สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

อนึ่ง จากการที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิง และลำน้ำสาขา มีระดับสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในบางพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์หากไม่มีฝนตกเพิ่มอีกคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-4 วันนี้

1.2 การตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) พร้อมด้วยอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย และติดตามการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดเลย และมอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้

1) วันที่ 31 ตุลาคม 2551 จังหวัดศรีสะเกษ ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย จำนวน 2,300 ชุด หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองฯ จำนวน 2,200 ชุด และหอประชุมที่ว่าการอำเภอขุนหาญ จำนวน 1,500 ชุด

2) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 จังหวัดเลย ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเอราวัณ จำนวน 1,000 ชุด หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองหิน จำนวน 1,000 ชุด และหอประชุมที่ว่าการอำเภอภูกระดึง จำนวน 1,000 ชุด

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน 2551

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2551 บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ซึมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ต่อไปอีก ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2551 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนืออากาศอุ่นขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง และ ภาคใต้ตอนบน เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดที่อาจจะได้รับผลกระทบจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ