ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 08:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ยังมีบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่เหมาะสมสอดคล้องกับรูปแบบการเลือกตั้ง ตลอดจนการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวบางมาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งเพื่อให้การใช้สิทธิเข้าชื่อเพื่อลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและ มีประสิทธิภาพ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้

1. กำหนดบทนิยามศัพท์คำว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” “ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ” ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” “ผู้บริหารท้องถิ่น” “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” และ “นายอำเภอ” ในกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงฯ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ และมีความครอบคลุมชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3)

2. ปรับลดสัดส่วนผู้เข้าชื่อร้องขอเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งตามที่กำหนด และเมื่อมีการยื่นคำร้องแล้ว ผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่สามารถถอนชื่อของตนออกจากบัญชีผู้เข้าชื่อได้ (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)

3. กำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งข้อกล่าวหาและการทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหายื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในระยะเวลาที่กำหนด (ร่างมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7)

4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ผู้มีชื่อในบัญชีผู้เข้าชื่อแต่ละคนทราบ โดยได้ดำเนินการยื่นคัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในกรณีที่จำเป็นอาจขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยคำร้องและคำคัดค้านด้วย (ร่างมาตรา 7 เพิ่มเติมมาตรา 7/1)

5. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อตามมาตรา 5 และมาตรา7/1 (ร่างมาตรา 7 เพิ่มเติมมาตรา 7/2)

6. กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 และร่างมาตรา 9 เพิ่มเติมมาตรา 8/1)

7. แก้ไขข้อความในบัตรลงคะแนนเสียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และปรับลดสัดส่วนจำนวนผู้มาลงคะแนนเสียงที่มีผลต่อการถอดถอนบุคคลให้พ้นจากตำแหน่งลงจากเดิม ตลอดจนห้ามมิให้มีการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ความสะดวกในการใช้สิทธิเข้าชื่อหรือลงคะแนนเสียง (ร่างมาตรา 10 แก้ไขมาตรา 13 วรรคสอง ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 วรรคสอง และร่างมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)

8. กำหนดให้ในระหว่างระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำร้องจากผู้มีสิทธิเข้าชื่อจนถึงวันประกาศผลการลงคะแนนเสียงการถอดถอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ห้ามมิให้มีการกระทำใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)

9. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน (ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ