คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการรองรับวิกฤตอาหารและพลังงาน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องอาหารและพลังงานเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงานของโลกนำมาตรการไปดำเนินการต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การลดความสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค การส่งเสริมระบบเก็บสำรองอาหารและพลังงาน (food-energy Interaction) ให้เพียงพอและอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น การสร้างยุ้งฉางรวม โรงสีชุมชน เป็นต้น
2. พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร โดยเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาพันธุ์ จัดพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชพลังงาน เพื่อผลิตพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องรองรับวิกฤตอาหารและพลังงานโลก
3. พัฒนาการประมง โดยบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมการประมง พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำจืดในระดับพื้นบ้าน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมงกับต่างประเทศในน่านน้ำสากล และพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ
4. เพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านปศุสัตว์ โดยการพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยและมาตรฐานสากล ปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ พัฒนาศักยภาพระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคสัตว์ ตลอดจนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์สู่ตลาดโลก
5. ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอาหาร โดยการแปรรูปที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหารตามมาตรฐานสากล เร่งรัดเจรจาข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี สนับสนุนให้มีระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค และการแปรรูปสินค้าเกษตรอาหารในชุมชน
6. ส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ในระดับชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ครัวเรือนเกษตรมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการขยายกระบวนการเรียนรู้ระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน โครงการอาหารกลางวัน และธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ
7. ปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรโดยสร้างระบบนิคมการเกษตร เร่งรัดการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน เพื่อการผลิตและการจัดการสินค้าอาหารและพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพที่เหมาะสม สมดุล และครบวงจร ด้วยการบูรณะหน่วยงานและภาคีความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนสงวนและคุ้มครองพื้นที่การเกษตรสำหรับทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
8. สร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ทุกระดับวัย ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ ผลผลิต การบริหารองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้จากนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา
9. เร่งรัดพัฒนาระบบขนส่ง (logistics) ทางรางและทางน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังโดยเร็วที่สุด
10. ผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทน และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับวัตถุดิบจากพืชพลังงานทดแทนที่ผลิตภายในประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกรและลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
11. ส่งเสริมการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของอาหารหรือพลังงานให้มากที่สุด เช่น ก๊าซชีวภาพ แอลกอฮอล์ ปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น
12. การวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใช้พืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เซลลูโลสของพืช รวมทั้งใช้พืชที่สามารถผลิตในพื้นที่น้อยและใช้เวลาสั้นมาผลิตพลังงานทดแทน เช่น สาหร่าย เพื่อลดการแข่งขันระหว่างพืชอาหารหรือพืชพลังงาน
13. สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรถาวรสำรองข้าว เพื่อความมั่นคงอาหารในประเทศไทย เพื่อประกันความมั่นคงด้านข้าว ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนากลไกความมั่นคงด้านอาหารที่กว้างขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่ดูแลด้านการผลิตสินค้าอาหาร ได้วิเคราะห์สถานการณ์อาหารและพลังงาน ดังนี้
1. สถานการณ์การผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญ
1. ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 130.29 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.62 ของพื้นที่ทั้งประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ ในจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรดังกล่าวเป็นพื้นที่นาประมาณ 63.6 ล้านไร่ โดยแต่ละปีปลูกข้าวนาปีประมาณ 58 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 13 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่พืชไร่มีประมาณ 27.5 ล้านไร่ พื้นที่ไม้ผลไม้ยืนต้น 28.6 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพืชอื่น ๆ
2. ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ทุเรียน ลำไย มังคุด สับปะรด เป็นต้น และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในสินค้าอาหารที่สำคัญได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ นอกจากนี้ บางสินค้า เช่น น้ำตาล ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก
3. ผลผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตพอเพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และมีเหลือส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศมาโดยตลอด นอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมามีผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และโคเนื้อที่มีปริมาณผลิตใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศสำหรับสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้สินค้าอาหารที่สำคัญของไทย ปี 2551 และแนวโน้มปี 2552 มีดังนี้
3.1 พืชไร่และพืชพลังงาน
ข้าว ปี 2551 ผลิตได้ 32.10 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคภายในประเทศ 16.82 ล้านตันข้าวเปลือกหรือร้อยละ 52 ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก 15.28 ล้านตันข้าวเปลือกหรือร้อยละ 48 คาดว่าปี 2552 ผลิตได้ 31.56 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคภายในประเทศ 16.89 ล้านตันข้าวเปลือกหรือร้อยละ 54 ส่งออก 13.64 ล้านตันหรือ ร้อยละ 43
มันสำปะหลัง ปี 2551 ผลิตได้ 25.16 ล้านตัน โดยบริโภคภายในในรูปมันเส้นเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นมาก และใช้ในรูปแป้งมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหารสารความหวาน กระดาษ สิ่งทอ ฯลฯ รวม 9.65 ล้านตัน หรือร้อยละ 38 การส่งออกในรูปมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังลดลงเหลือ 15.96 ล้านตันหรือร้อยละ 62 คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 29.15 ล้านตัน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551 ผลิตได้ 3.68 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.74 ล้านตัน
อ้อย ปี 2551 ผลิตได้ 73.5 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 7.82 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 1.8 ล้านตัน เหลือส่งออก 6.0 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตลดลงเหลือ 69.7 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 7.6 ล้านตัน บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.9 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกและยังไม่มีการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล แต่ใช้กากน้ำตาลเป็นหลักในการผลิต
ปาล์มน้ำมัน ปี 2551 ผลิตได้ 8.68 ล้านตัน หรือในรูปน้ำมันปาล์มดิบ 1.48 ล้านตัน ซึ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศในรูปน้ำมัน 0.87 ล้านตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล 0.28 ล้านตัน และส่งออก 0.28 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลิตได้ 9.54 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.62 ล้านตัน การบริโภคใกล้เคียงกับปีก่อนแต่ใช้ผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 0.35 ล้านตัน
3.2 ผลไม้
สับปะรด ปี 2551 ผลิตได้ 2.28 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.25 ล้านตัน และส่งออกในรูปสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด 2.03 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตมีแนวโน้มลดเหลือ 2.2 ล้านตัน
ลำไย ปี 2551 ผลิตได้ 0.47 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.05 ล้านตัน และส่งออกในรูปลำไยสดและผลิตภัณฑ์ 0.25 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทุเรียน ปี 2551 ผลิตได้ 0.638 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.390 ล้านตัน และส่งออกในรูปทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 0.247 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.684 ล้านตัน
มังคุด ปี 2551 ผลิตได้ 0.173 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.127 ล้านตัน ส่งออก 0.046 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.270 ล้านตัน
3.3 ปศุสัตว์
สุกร ปี 2551 ผลิตได้ 11.70 ล้านตัว หรือ 0.94 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.92 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 98 และส่งออก 10,500 ตัน หรือร้อยละ 1 คาดว่าปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ไก่เนื้อ ปี 2551 ผลิตได้ 900.17 ล้านตัว หรือ 1.13 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.75 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 66 และส่งออก 0.38 ล้านตัน หรือร้อยละ 34 คาดว่าปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
ไข่ไก่ ปี 2551 ผลิตได้ 9,362 ล้านฟอง บริโภคภายในประเทศ 8,992 ล้านฟอง หรือประมาณร้อยละ 96 และส่งออก 370 ล้านฟอง หรือร้อยละ 3.95 คาดว่า ปี 2552 ผลิตได้ 9,492 ล้านฟอง
โคเนื้อ ปี 2551 ผลิตได้ 1.21 ล้านตัว หรือ 0.174 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.180 ล้านตัน หรือประมาณ 1.03 เท่า คาดว่าปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1,238 ล้านตัว
กุ้งเพาะเลี้ยง ปี 2551 ผลิตได้ 0.47 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 0.075 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 15 และส่งออก 0.36 ล้านตัน คาดว่า ปี 2552 ผลผลิตคงตัว
2. สถานการณ์พืชพลังงาน
พืชอาหารและพลังงานที่สำคัญของไทย ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน มีปริมาณผลผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม นโยบายสำคัญเน้นการรักษาระดับพื้นที่ปลูก แต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการใช้พันธุ์ดี และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี กำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างน้อยร้อยละ 10 สำหรับสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้เพื่อเป็นพลังงาน มีดังนี้
มันสำปะหลัง คงพื้นที่ปลูกที่ 7.4 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 4.0 ตันเป็น 5.4 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 7.3 ของพื้นที่ปลูก (0.54 ล้านไร่)
อ้อยโรงงาน คงพื้นที่ปลูกที่ 6.0 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 11.2 ตัน เป็น 15.0 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 9.2 ของพื้นที่ปลูก (0.55 ล้านไร่)
ปาล์มน้ำมัน ขยายพื้นที่ปลูกจาก 3.0 ล้านไร่ เป็น 5.5 ล้านไร่ ในเขตนาร้าง ไร่ร้างและพื้นที่ เสื่อมโทรม เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.0 ตัน เป็น 3.5 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูก (1.65 ล้านไร่)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551--จบ--