คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ด้านสาธารณภัย ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม 2551 โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายสหัส บัณฑิตกุล) ในขณะนั้น ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่การฝึก ในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และเป็นประธานรับชมการสาธิตการฝึกซ้อม และมอบนโยบายผ่านระบบการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียม ในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยพิบัติต่างๆ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญและจัดการกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด และระดับประเทศ ด้วยการจัดระบบการบริหารจัดการสาธารณภัยที่ต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างกันและเข้าใจแนวทางและแผนปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมอบให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกองทัพไทย ได้ประสานแนวทางนี้ต่อไปด้วย
2. ให้ทุกหน่วยงานได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจจัดทำบัญชีรายละเอียดของทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยไว้ตั้งแต่ในยามปกติ และที่สำคัญให้มีการประสานการนำทรัพยากรของแต่ละหน่วยที่ได้มีการจัดหาไว้แล้วเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการแจ้งเตือนภัยและความพร้อมของชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตในแต่ละประเภทภัย โดยมอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์กลางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
3. การเตรียมความพร้อมในระดับกรม ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเผชิญกับภัยที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและให้ทุกจังหวัดได้กำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งให้มีการจัดทำแผนเชิงรุกที่เน้นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ และจัดการฝึกซ้อมภายในหน่วยงานในจังหวัดและระหว่างจังหวัด เพื่อทดสอบแผนงานและคู่มือปฏิบัติการให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
4. กองทัพไทย เป็นหน่วยที่มีความพร้อมด้านกำลังพลและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะหากมีระบบสั่งการควบคุมบังคับบัญชาที่ดี ดังนั้น ให้กองทัพไทยได้พัฒนาศูนย์บัญชาการทางทหาร เพื่อใช้ในการควบคุม สั่งการ อำนวยการปฏิบัติ เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตในรูปแบบต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น สำหรับสาธารณภัยทางทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมอบให้หน่วยงานในศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ได้จัดเตรียมแผนและทำการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
5. การติดต่อสื่อสารทั้งภาพและเสียงให้สามารถใช้งานได้ขณะเกิดวิกฤตการณ์ในพื้นที่ที่ประสบภัย การประสานกับส่วนกลางมีความสำคัญ โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารของผู้บริหารประเทศและหัวหน้าหน่วยงานที่ต้องสามารถติดต่อถึงกันได้ทุกเวลา ดังนั้น ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้พัฒนาและทำการบูรณาการระบบการสื่อสารของประเทศที่หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้งานอยู่ ให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ รวมทั้งดำเนินการวางระบบการจัดให้มีเลขหมายฉุกเฉินเลขหมายเดียวทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อความช่วยเหบือจากประชาชนที่แจ้งเหตุไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว
6. ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจำนวนมากเมื่อเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ ให้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ ให้มีการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งภัยจากสาธารณภัยและภัยด้านความมั่นคงในทุกด้าน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551--จบ--