คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนในเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2551 ตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ
1.1 เพื่อจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วนกรณีเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ
1.2 ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ และความสูญเสียจากประชาชนที่ร่วมประเพณีลอยกระทง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเรือโดยสารและท่าเรือในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม
1.3 กำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยโคม เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายร้ายแรงอันอาจจะกระทบต่อการบินและอากาศยาน และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้
1.4 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่ และความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม มีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุด
1.5 ไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม
2. แผนปฏิบัติการฯ 3 แผนงานหลัก
2.1 แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก
เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะและการจัดบริการตามแนวเส้นทางในความรับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับเรียบร้อยแล้ว ดังนี้
- กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาลอยกระทง
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มเที่ยววิ่งรถโดยสารประจำทางและขยายเวลาการเดินรถที่มีเส้นทางผ่านสถานที่จัดงานลอยกระทงให้บริการตลอดทั้งคืนวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2551 โดยจัดรถออกวิ่งทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ
- บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดเพิ่มจำนวนรถโดยสารและเพิ่มเที่ยววิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - สุโขทัย และกรุงเทพฯ - ตาก จากปกติ พร้อมจัดเตรียมรถโดยสารไม่ประจำทางรองรับกรณีรถโดยสารประจำทางไม่เพียงพอ และให้บริการเดินรถของรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ -บางปะอิน-บางไทร และกรุงเทพฯ-บางปะอิน-พระนครศรีอยุธยา วิ่งผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ประจำตามสถานีรถไฟฟ้าที่มีประชาชนหนาแน่น
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการข้อมูลเพิ่มเติม
- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยศูนย์ปลอดภัยคมนาคมทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวก บรรเทา และแก้ไขปัญหาการเดินทางให้แก่ประชาชนผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1356
2.2 แผนงานด้านความมั่นคง
การจัดให้บริการด้านการคมนาคมขนส่งของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม จะถูกมองเป็นเป้าหมายของการถูกก่อกวนและถูกทำลาย เพื่อลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และเมื่อเกิดเหตุการณ์และสถานการณ์ฉุกเฉินมักจะเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา ดังนั้น หน่วยงานของกระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบจึงจำเป็นต้องเข้มงวดและวางระบบการป้องกันพื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ดังนี้
- กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จัดเจ้าหน้าที่สังเกตสิ่งผิดปกติ สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
- กรมทางหลวงชนบท จัดเจ้าหน้าที่ประจำบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ค้นหาวัตถุต้องสงสัย และบุคคลต้องสงสัย นอกจากนี้ มีการเฝ้าระวังผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม และถนนวงแหวนจังหวัดเชียงใหม่
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำชับให้พนักงานเก็บค่าโดยสารคอยสังเกตบุคคลและสิ่งของหากพบสิ่งผิดปกติให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จัดวางอัตรากำลังพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี พร้อมจัดสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด รฟม.
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราด้านบนสะพานและฐานตอม่อของสะพานพระราม 9 และสะพานกาญจนภิเษก รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการออกตรวจพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และค้นหาวัตถุต้องสงสัย ทั้งนี้ สะพานพระราม 9 มีการเฝ้าระวังผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิดด้วย
- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดสมาชิกเครือข่ายศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ประจำท่าเรือ หรือสถานที่จัดงานลอยกระทงต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อสังเกต เฝ้าระวัง สิ่งผิดปกติ รวมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมทราบ
2.3 แผนงานด้านความปลอดภัย กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่อันอาจจะเกิดขึ้นกันอย่างต่อเนื่องในช่วงเทศกาลลอยกระทงโดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1) ทางบก (ถนนและระบบราง) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ใน 5 มาตรการหลัก
- มาตรการผู้ขับขี่ / ผู้โดยสารปลอดภัย
- มาตรการยานพาหนะปลอดภัย
- มาตรการถนน / ทางปลอดภัย
- มาตรการทางกฎหมาย
- มาตรการด้านการให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์โดยหน่วยงานต่าง ได้เตรียมการรองรับไว้ ดังนี้
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ดำเนินมาตรการให้นายท่าปล่อยรถตรวจสอบเวลาการเดินทางแต่ละเที่ยวและกำชับพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามมาตรการการรณรงค์ลดการเกิดอุบัติเหตุ ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการขับแข่งแซงกันเนื่องจากอาจจะมีประชาชนเดินริมถนน โดยไม่ให้ใช้ความเร็วเกินจากที่กำหนด เปิด-ปิดประตูตามวิธีการที่กำหนดในขณะนำรถเข้า-ออกจากป้าย ให้พนักงานขับรถรับใบเที่ยวจากนายท่าปล่อยรถเพื่อป้องกันการดื่มสุราหรือมีอาการมึนเมาขึ้นปฏิบัติหน้าที่ให้นายท่าปล่อยรถตรวจสอบเวลารถเข้าท่าต้นทางและปลายทาง เพื่อตรวจเช็คในเรื่องการขับแซงกัน สำหรับตัวรถโดยสารประจำทางได้จัดรถเข้าซ่อมบำรุงตามแผนการซ่อมประจำเดือนพร้อมทั้งตรวจรับการซ่อมตามขั้นตอนรับรถ ให้พนักงานขับรถตรวจสภาพความพร้อมของรถรวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบก่อนรับรถออกวิ่งให้บริการกรณีพบสิ่งผิดปกติให้แจ้งผู้รับเหมาซ่อมหรือผู้เกี่ยวข้องทันที
- บริษัท ขนส่ง จำกัด กำหนดให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์และหาสารเสพติดก่อนพนักงานขับรถปฏิบัติหน้าที่สำหรับตัวรถโดยสารได้ให้ศูนย์ตรวจสภาพรถของบริษัทขนส่ง จำกัด ดำเนินการตรวจสภาพความพร้อมของรถรวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการ
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จัดวางกำลังพนักงานกู้ภัยเพื่อเสริมกำลังพนักงานรักษาความปลอดภัยในภาวะเหตุการณ์ปกติ และกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติพนักงานกู้ภัยสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่กู้ภัยในเขตระบบรถไฟฟ้าได้ โดยมีการเตรียมรถกู้ภัยไว้ที่สถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยซึ่งง่ายต่อการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่กู้ภัย
- กรมทางหลวง จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตามแนวเส้นทางในความรับผิดชอบ จำนวน 1,200 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง จำนวน 2,000 คน
- กรมทางหลวงชนบท จัดเจ้าหน้าที่ประจำบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน และเข้มงวดการจุดประทัด/ ดอกไม้เพลิงบนสะพาน รวมทั้งสอดส่องดูแลป้องกันการโยนสิ่งของลงสู่ตัวเรือที่แล่นผ่านใต้สะพาน
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจัดเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ประจำบนสะพานพระราม 9 และสะพานกาญจนาภิเษก เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน และเข้มงวดการจุดประทัด/ดอกไม้เพลิงบนสะพานรวมทั้งสอดส่องดูแลป้องกันการโยนสิ่งของลงสู่ตัวเรือที่แล่นผ่านใต้สะพาน
2) ทางน้ำ
- กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าเรือของทางราชการและเอกชน รวมถึงตรวจความพร้อมและความเหมาะสมในการใช้งานของเรือ ออกประกาศมาตรการเพื่อความปลอดภัยในเทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2551 พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าของท่าเรือ ทุกท่าต้องจำกัดจำนวนประชาชน โดยห้ามและมิให้ประชาชนลงไปบนท่าเรือมากเกินจำนวนที่ท่าเรือจะรับได้โดยปลอดภัย อันอาจจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และให้ผู้ควบคุมเรือทุกลำห้ามผู้โดยสารจุดดอกไม้เพลิงในเรือ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเรืออื่นและประชาชนทั่วไปได้ ประกาศกำหนดเขตควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2551 เพื่อจัดระเบียบการจราจรทางน้ำ โดยกำหนดเขตควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เดินเรือช้าและเบาสมควรแก่การเดินเรือ และให้ระมัดระวังอย่าให้เรือเบียดแซงหรือสวนกันกับเรืออื่นในระยะใกล้
- การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมในเทศกาลลอยกระทง
3) ทางอากาศ
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยสูงสุดในช่วงเทศกาลลอยกระทง
- กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายร้ายแรงต่อการบินและอากาศยาน และให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ดังนี้
1) ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่มีพิธีการปล่อยโคมลอยในคราวเดียวกันเป็นจำนวนมาก ต้องแจ้งและจัดเจ้าหน้าที่ประสานงานหน่วยงานปกครอง หน่วยงานท้องถิ่น ท่าอากาศยาน และศูนย์ควบคุมการบินพื้นที่ทราบ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดของจำนวนโคม ห้วงเวลาการปล่อย และจุดที่ทำการปล่อยที่ชัดเจน
2) กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับโคมลอยที่ใช้ปล่อย ต้องใช้วัสดุที่ผลิตและเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่เกิน 90 เซนติเมตร ความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ใช้กระดาษว่าวชนิดบาง หากต้องใช้ลวดโลหะสำหรับผูกติดไส้เชื้อเพลิง ให้ใช้ลวดอ่อน ความยาวไม่เกิน 20 เซนติเมตรต่อเส้น เชื้อเพลิงต้องไหม้สลายหมดสิ้นขณะลอยอยู่ในอากาศ ภายในไม่เกิน 5 นาที (ขนาดของไส้เชื้อเพลิงต้องเหมาะสมกับขนาดของโคม) ห้ามไม่ให้พ่วงหรือผูกติด พลุ ดอกไม้ไฟ หรือสิ่งอื่นใดไปกับโคมขณะปล่อย
3) กำหนดโซนนิ่งเป็นพื้นที่ละเว้นการปล่อยโคม จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงช่วงเทศกาล ตามแนวเส้นทางขึ้นลงของเครื่องบิน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า โดยได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการประสานงานกับจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ด้วยแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551--จบ--