คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับบทนิยาม มีความซ้ำซ้อนและไม่ชัดเจน รวมทั้งไม่ครอบคลุมถึงโรงงานบางประเภท นอกจากนั้น การแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน การประกอบกิจการโรงงานในส่วนขยายและกระบวนการพิจารณารับแจ้งหรืออนุญาตในเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเพียงพอและไม่เอื้ออำนวยต่อการกำกับดูแล รวมทั้งอำนาจในการกำกับดูแลโรงงานบางประเภท ตลอดจนอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยได้นำเอาข้อคิดเห็นของส่วนราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ฯลฯ ตลอดจนความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้
1. แก้ไขนิยามคำว่า “โรงงาน” “ตั้งโรงงาน” และ “ประกอบกิจการโรงงาน” ให้ชัดเจนและครอบคลุมการตั้งโรงงานที่ไม่ใช้เครื่องจักร ตลอดจนการประกอบกิจการบางชนิด (ร่างมาตรา 3)
2. แก้ไขการแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 โดยให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดกระบวนการตรวจสอบก่อนออกใบรับแจ้งโรงงานจำพวกที่ 2 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 5)
4. ปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีให้ครอบคลุมถึงคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายโรงงานหรือคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานในส่วนขยายด้วย (ร่างมาตรา 6)
5. ปรับปรุงอำนาจของรัฐมนตรีในการออกประกาศกำหนดให้โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามชนิดหรือคุณภาพที่กำหนดหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่กำหนด (ร่างมาตรา 9)
6. ยกเลิกอำนาจการจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ร่างมาตรา 10)
7. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ (ร่างมาตรา 11 — ร่างมาตรา 15)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551--จบ--