คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระเกี่ยวกับการศึกษาในหลายประการ อาทิ สิทธิในการรับการศึกษาตามมาตรา 49 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม และมาตรา 303 (2) กำหนดให้จัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาชาติตามมาตรา 80
2. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติความมุ่งหมายและหลักการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเพิ่มข้อความว่า “ความรู้รักสามัคคี ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงาม” (ร่างมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 7)
2. แก้ไขเพิ่มเติมโดยตัดข้อความคำว่า “ขั้นพื้นฐาน” ออก และเพิ่มข้อความว่า “เพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น” (ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 10)
3. กำหนดให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษา โดยได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ (ร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 12)
4. กำหนดให้การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มเติมมาตรา 12/1)
5. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแนวการจัดการศึกษา โดยเพิ่มข้อความคำว่า “หน้าที่ เอกลักษณ์ของชาติ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ค่านิยมอันดีงาม” (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 (1))
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551--จบ--