ขออนุมัตินำร่างกฎ ก.พ.ที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2008 12:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งและประเภทตำแหน่ง พ.ศ. .... ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. .... มีดังนี้

1. หลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งประเภทบริหาร จำแนกตามโครงสร้างส่วนราชการ (Organization Classification) ระดับกรม กระทรวงที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายเป็นหลัก เนื่องจากมีลักษณะงานของตำแหน่งปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนราชการ

  • ระดับต้น ได้แก่ ตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเทียบได้ในระดับเดียวกัน (ปัจจุบันกำหนดเป็นตำแหน่งระดับ 9 บส.)
  • ระดับสูง ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม จังหวัด และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเทียบได้ในระดับเดียวกัน (ปัจจุบันกำหนดเป็นตำแหน่งระดับ 10 หรือ 11 บส.) หรือรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีและอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันกำหนดเป็นตำแหน่งระดับ 10 บส.) รวมทั้งตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการของส่วนราชการระดับกระทรวง (ผู้ตรวจราชการระดับกระทรวง)

2. หลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งประเภทอำนวยการ จำแนกตามโครงสร้างส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม และหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานประกอบกัน (Job & Organization Classification) ทั้งนี้ เฉพาะตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

  • ระดับต้น ได้แก่ ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมหนึ่งระดับ (กอง/สำนัก) ที่ปัจจุบัน ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับกลาง (บก.)
  • ระดับสูง ได้แก่ ตำแหน่งสำหรับหัวหน้าหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรมหนึ่งระดับ (กอง/สำนัก) ที่ปัจจุบัน ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (บส.)

3. หลักเกณฑ์การจัดตำแหน่งประเภทวิชาการและประเภททั่วไป จำแนกตามลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพงานในแต่ละระดับตำแหน่งเป็นหลัก (Job Classification) โดยกำหนดระดับของงานไว้เป็นหลัก เพื่อใช้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และหลักเกณฑ์การประเมินค่างานที่ ก.พ. กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง

สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. .... มีดังนี้

ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนมีหลักการที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนตั้งแต่ขั้นต่ำของระดับที่ได้รับแต่งตั้ง ยกเว้นบางกรณีที่การรับเงินเดือนจะต้องกำหนดให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของระดับที่ได้รับแต่งตั้งหรือกำหนดการได้รับเงินเดือนเป็นอย่างอื่น ดังนี้

1. กำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับผู้บรรจุใหม่ ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่แตกต่างกันตามคุณวุฒิและ ประสบการณ์ในการทำงานก่อนเข้ารับราชการ คือ

  • วุฒิต่างระดับกันรับเงินเดือนต่างกัน เช่น วุฒิปริญญาตรีรับเงินเดือนแรกบรรจุ 7,940 บาท วุฒิปริญญาโทรับเงินเดือนแรกบรรจุ 9,700 บาท วุฒิปริญญาเอกรับเงินเดือนแรกบรรจุ 13,110 บาท
  • วุฒิระดับเดียวกันสาขาต่างกันรับเงินเดือนต่างกัน เช่น วุฒิปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ได้รับเงินเดือนอัตรา 7,940 บาท วุฒิปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ได้รับเงินเดือน 9,000 บาท
  • วุฒิเดียวกันแต่มีประสบการณ์กับไม่มีประสบการณ์รับเงินเดือนต่างกัน เช่น วุฒิปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุอัตรา 7,940 บาท หากมีประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่องานของตำแหน่งที่จะบรรจุจะได้รับเงินเดือนในอัตรา 8,200 บาท วุฒิปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุอัตรา 9,700 บาท หากมีประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นประโยชน์จะได้รับเงินเดือนอัตรา 10,200 บาท

2. ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการที่มีคุณวุฒิสูงขึ้นและเป็นคุณวุฒิที่กำหนดเป็นคุณสมบัติ เฉพาะสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และ ก.พ. กำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒินั้นไว้ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งปรับให้ได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ ก.พ.กำหนดตามระยะเวลาดังนี้

  • ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี ปรับให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาโท จะต้องดำรงตำแหน่งที่ใช้วุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ผู้ที่มีวุฒิปริญญาโท ปรับให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาเอก จะต้องดำรงตำแหน่งที่ใช้วุฒิปริญญาโทมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • ผู้ที่มีวุฒิ ปวช. ปรับให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิ ปวส. จะต้องดำรงตำแหน่งที่ใช้วุฒิ ปวช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ผู้ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นและเป็นคุณวุฒิที่ ก.พ.กำหนดให้เป็นคุณวุฒิที่ใช้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ ปรับให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นไม่ก่อนวันที่ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้น

3. กำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับข้าราชการที่ผ่านการทดลองปฏิบัติราชการ ให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับเมื่อบรรจุ

4. กำหนดอัตราเงินเดือนของข้าราชการให้ได้รับเงินเดือนแตกต่างกันตามสายงาน ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในบางสายงาน เช่น สายงานที่มีลักษณะวิชาชีพ มีความขาดแคลน หรือมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าสายงานอื่นเพื่อดึงดูดบุคคลเข้าสู่ระบบราชการ เป็นต้น จะได้รับเงินเดือนต่ำสุด-สูงสุดแตกต่างจากสายงานอื่นที่รับเงินเดือนในระดับเดียวกัน

5. กำหนดการรับเงินเดือนรองรับการย้ายเพื่อประโยชน์ของราชการโดยให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม

6. การรับเงินเดือนกรณีบรรจุบุคคลใดระดับที่สูงกว่าระดับแรกบรรจุ ตามมาตรา 56 กำหนดให้กระทรวงหรือกรมสามารถบรรจุบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญงานสูงเข้ารับราชการในตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ หรือทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษได้ โดยผู้ที่ได้รับการบรรจุจะได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าค่ากึ่งกลางเงินเดือนของระดับที่ได้รับ

7. การรับเงินเดือนกรณีเลื่อน โอน ย้าย ข้าราชการ ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ต่างประเภทตำแหน่ง ประเภทตำแหน่งเดิม ต่างระดับตำแหน่ง ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ยกเว้น การเลื่อนตำแหน่งหรือระดับที่สูงขึ้นโดยที่เงินเดือนที่ได้รับยังไม่ถึงขั้นต่ำของระดับเงินเดือนที่ได้รับแต่งตั้ง

8. การรับเงินเดือนขั้นต่ำชั่วคราว กรณีที่ข้าราชการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทใด ระดับใด หากข้าราชการผู้นั้นได้รับเงินเดือนยังไม่ถึงขั้นต่ำของระดับที่ได้รับแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนในช่วงเงินเดือนขั้นต่ำชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการเลื่อนเงินเดือนจนกระทั่งเงินเดือนถึงขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นต่ำ

9. การรับเงินเดือนกรณีอื่น ๆ การรับเงินเดือนการบรรจุกลับเข้ารับราชการ (มาตรา 63) กรณีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่น ข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนสามัญและไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ (มาตรา 64) การรบรรจุกลับพนักงานส่วนท้องถิ่น (มาตรา 65) การแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งให้กลับไปดำรงตำแหน่งตามเดิมหรือตำแหน่งอื่น (มาตรา 66) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรานั้น ๆ

สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. .... ดังนี้

1. กำหนดให้ตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่แล้ว เป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง

2. กำหนดให้สายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่แล้วตามกฎหมายเดิมเป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง

3. กำหนดให้สายงานที่ ก.พ. ได้เคยมีมติเห็นชอบให้กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะแล้ว เป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง

4. กำหนดให้สายงานที่ ก.พ. กำหนดทางก้าวหน้าเป็นสายงานอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง เป็นสานงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง

5. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการได้รับเงินประจำตำแหน่งโดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ฯ ตามพระราชกฤษฎีกาได้รับเงินประจำตำแหน่ง ฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ