สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2008 14:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2551 ในภาพรวมสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 โดยมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้

1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

1.1 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.34 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.84 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 5 หมื่นคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว 7.3 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9

2. ผู้มีงานทำ

2.1 ผู้มีงานทำ 37.84 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 7.2 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม 5.8 แสนคน (จาก 15.49 ล้านคน เป็น 16.07 ล้านคน) และเป็นผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม 1.4 แสนคน (จาก 21.63 ล้านคน เป็น 21.77 ล้านคน) โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม ยังจำแนกตามสาขาอุตสาหกรรมย่อย ได้เป็นดังนี้

(1) ผู้ทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีก เพิ่มขึ้น 3.8 แสนคน (จาก 5.25 ล้านคน เป็น 5.63 ล้านคน) สาขาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 7 หมื่นคน (จาก 1.94 ล้านคน เป็น 2.01 ล้านคน) สาขาการขนส่ง เพิ่มขึ้น 6 หมื่นคน (จาก 1.03 ล้านคน เป็น 1.09 ล้านคน) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 5 หมื่นคน (จาก 2.30 ล้านคน เป็น 2.35 ล้านคน) และสาขาการบริหารราชการและป้องกันประเทศ เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน (จาก 1.29 ล้านคน เป็น 1.30 ล้านคน) และที่เหลืออยู่ในสาขาอื่น ๆ

(2) ผู้ทำงานในสาขาการผลิต ลดลง 3.6 แสนคน (จาก 5.59 ล้านคน เป็น 5.23 ล้านคน)โดยลดลงในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 1.1 แสนคน (จาก 6.40 แสนคน เป็น 5.30 แสนคน) การผลิตสิ่งทอ 7.6 หมื่นคน (จาก 3.70 แสนคน เป็น 2.94 แสนคน ) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์และการสื่อสาร 5.9 หมื่นคน (จาก 3.88 แสนคน เป็น 3.29 แสนคน) การฟอกและการตกแต่งหนัง 5.5 หมื่นคน (จาก 1.94 แสนคน เป็น 1.39 แสนคน) การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 4.8 หมื่นคน (จาก 2.78 แสนคน เป็น 2.30 แสนคน) การผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 4.6 หมื่นคน (จาก 3.43 แสนคน เป็น 2.97 แสนคน) การผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ 3.3 หมื่นคน (จาก 3.39 แสนคน เป็น 3.06 แสนคน) การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ 3 หมื่นคน (จาก 1.92 แสนคน เป็น 1.63 แสนคน) การผลิตยานยนต์ 1.9 หมื่นคน (จาก 2.97 แสนคน เป็น 2.78 แสนคน) ที่เหลืออยู่ในการผลิตอื่น ๆ

2.2 ผู้ทำงานไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน) ลดลง 6.1 แสนคน (จาก 6.20 ล้านคน เป็น 5.59 ล้านคน) ส่วนผู้ทำงานได้เต็มเวลา (ทำงานตั้งแต่ 7 ชั่วโมงต่อวัน) เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน (จาก 30.92 ล้านคน เป็น 32.25 ล้านคน)

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 4.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม (เพิ่มขึ้น 8.7 พันคน) ประกอบด้วยผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.8 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.7 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการบริการ 1.2 แสนคน ภาคการผลิต 1.1 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 4 หมื่นคน เมื่อพิจารณาการว่างงานในกลุ่มเยาวชน (15 — 24 ปี) และกลุ่มผู้อยู่ในวัยทำงาน (25 ปีขึ้นไป) พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงาน 2.5 แสนคน และ 2.0 แสนคน ตามลำดับ

3.2 ผู้ว่างงานมีการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.3 แสนคน มัธยมศึกษาตอนต้น 1 แสนคน มัธยมศึกษาตอนปลาย 9.3 หมื่นคน ประถมศึกษา 8.8 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 4.1 หมื่นคน

3.3 ผู้ว่างงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 1.35 แสนคน ภาคกลาง 1.25 แสนคน ภาคเหนือ 0.74 แสนคน ภาคใต้ 0.65 แสนคน และกรุงเทพมหานคร 0.51 แสนคน โดยภาคกลางมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.4 ต่ำสุดเป็นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากันคือร้อยละ 1.1

4. เปรียบเทียบภาวะการว่างงานย้อนหลัง 10 ปี

4.1 จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2551 เห็นได้ว่า ในช่วงปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ มีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 1.41 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 4.4 ทำให้จำนวนผู้ว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ของการว่างงาน แต่หลังจากนั้นการว่างงานก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ซึ่งเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจปี 2540

4.2 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่า ภายใต้คำนิยามเดียวกันนี้การว่างงานในประเทศไทยมีอัตราที่น้อยที่สุด โดยในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2551 ประเทศอเมริกามีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.0 ประเทศออสเตรเลียร้อยละ 4.2 ประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 4.1 และประเทศเกาหลีใต้ร้อยละ 3.1 แต่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความรุนแรงเรื่องการว่างงานที่น้อยกว่า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ