คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
กระทรวงแรงงานเสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์และสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปี 2550 ต่อรัฐบาลโดยสภาองค์การลูกจ้าง จำนวน 11 แห่ง ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวหลายประการ ซึ่งพิจารณาแล้วพระราชบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องแก้ไขดังนี้
1. บทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดให้การจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนตามมาตรา 84 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. บทบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการเจรจาต่อรองและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ขาดความยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการแก้ไขข้อขัดแย้งและการยุติข้อพิพาทด้วยระบบทวิภาคีตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
3. สิทธิการลาของกรรมการสหภาพแรงงานซึ่งมีจำกัด ทำให้เป็นช่องว่างของกฎหมายที่นายจ้างสามารถใช้ดุลยพินิจโดยกลั่นแกล้งมิให้กรรมการสหภาพใช้สิทธิลาในการไปปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการสอดคล้องกับการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการ เช่น การไปปฏิบัติหน้าที่กรรมการไตรภาคีที่ทางราชการกำหนด การเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล เป็นต้น
4. ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างการเจรจาในระบบทวิภาคี เช่น การนับระยะเวลา กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ ความสมบูรณ์ของรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับต่อไปโดยผลของกฎหมาย
5. การกำหนดระยะเวลาให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่เหมาะสม ทำให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร
6. มีบทกำหนดโทษทางอาญาบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนศาลแรงงาน ผู้แทนคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ และได้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้
1. กำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์การแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้แจ้งข้อเรียกร้องภายในหกสิบวันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง (ร่างมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 13)
2. ขยายระยะเวลาการเริ่มเจรจาและกำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลา (ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 16)
3. ขยายระยะเวลาการแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและการดำเนินการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน (ร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 21 และมาตรา 22)
4. กำหนดให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องสามารถร่วมกันทำเป็นหนังสือแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานให้ยุติการไกล่เกลี่ยเพื่อกลับไปเจรจาหาทางตกลงกันเองได้ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มเติมมาตรา 22/1)
5. ปรับปรุงองค์ประกอบและวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ร่างมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 37)
6. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจโดยตรงในการจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการลงโทษ เป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขมาตรา 95 วรรคสาม)
7. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อร่วมประชุมหรืออบรมหรือปฏิบัติหน้าที่กรรมการไตรภาคีตามที่ราชการกำหนด ตลอดจนเป็นพยานตามหมายเรียกของศาลในคดีเกี่ยวกับแรงงาน (ร่างมาตรา 9 แก้ไขมาตรา 102)
8. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือใช้สิทธิปิดงานในส่วนของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางคนอันเป็นการเลือกปฏิบัติ (ร่างมาตรา 10 แก้ไขมาตรา 121)
9. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องมีผลบังคับ รวมถึงการใช้บังคับโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 12 วรรคสอง (ร่างมาตรา 11 แก้ไขมาตรา 123)
10.ปรับปรุงแก้ไขบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 12 แก้ไขมาตรา 130 และมาตรา 131)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551--จบ--