คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 1/2551 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมดังกล่าวได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมหารือเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551)
1.1 ผลการหารือสรุปได้ ดังนี้
(1) เห็นควรเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 2) โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และ 4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) กำหนดกลไกการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วต่อไป
(2) มอบหมายให้ สศช.จัดเตรียมการประชุมคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในวันพุธที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาแนวทางการลงทุนในสาขาการศึกษา การสาธารณสุข การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตร
1.2 มติที่ประชุม
(1) รับทราบผลการหารือเรื่องแนวทางการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
(2) มอบหมายให้ คค. เร่งรัดการดำเนินโครงการระบบรถไฟและรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และรายงานความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ ทราบ
(3) มอบหมายกระทรวงการคลัง (กค.) ตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการลงนามในสัญญากู้เงินจากต่างประเทศว่าจำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่
2. แนวคิดการพัฒนาและการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้
2.1 ประเด็นอภิปราย
(1) แผนการลงทุนด้านการศึกษายังไม่มีความชัดเจนและขาดการบูรณาการ โดยการลงทุนด้านการศึกษาตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 วงเงินประมาณ 22,182 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของกรอบวงเงินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ประมาณ 4,990,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ และด้านพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนรวมกันถึงร้อยละ 77
(2) การจัดทำแผนการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อให้เกิดบูรณาการไปสู่เป้าหมายทุกกลุ่มอายุ
(3) การพัฒนาด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาตัดสินใจในระดับนโยบาย ได้แก่ (1) การกระจายอำนาจด้านการศึกษา ที่ต้องกำหนดเป้าหมายระยะเวลาที่ชัดเจน และ (2) การพัฒนาระบบมาตรฐานการศึกษา หลักสูตร ครู และมีระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่ใช้รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
2.2 มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้ สศช. ประสานกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศธ. รง. วธ. พม. วท. เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดแผนการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาและ การลงทุน โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาภายใน 1 เดือน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ พิจารณาต่อไป
(2) สำหรับการดำเนินการเฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เห็นควรให้ ศธ. เสนอของบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 ต่อไป
3. แผนการลงทุนด้านสาธารณสุข
3.1 ประเด็นอภิปราย
(1) วงเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการปรับปรุงและก่อสร้างโรงพยาบาล และการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ยังมีสัดส่วนน้อย จึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น และต้องสอดคล้องกับจำนวนสถานพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้วย
(2) การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ในระยะสั้นควรเร่งพิจารณาเรื่องการขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ โดยไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงสามารถให้บริการอยู่ในระบบสาธารณสุขได้อีกระยะหนึ่ง
(3) ควรพิจารณาแนวทางสร้างแรงจูงใจให้มีผู้เข้าเรียนในสาขาแพทย์ศาสตร์มากขึ้น และเร่งปรับปรุงและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการคุ้มครองและมีขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ
(4) สธ. ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมและการป้องกัน โดยรณรงค์สร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพทั้งนี้ การรณรงค์ส่งเสริมและการป้องกันด้านสุขภาพ ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ
(5) ควรให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นผู้นำชุมชนในการระวังป้องกันสุขภาพ
3.2 มติที่ประชุม
(1) เห็นชอบแผนการลงทุนในสาขาสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2552-2555 (4 ปี) วงเงินรวมทั้งสิ้น 105,493.66 ล้านบาท โดยมอบหมาย สธ. จัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป
(2) มอบหมายให้ สธ.ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ความรู้แก่ อสม. ในการเฝ้าระวังป้องกันโรค รวมทั้งแนวทางการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย
4. แผนการลงทุนสาขาการบริหารจัดการน้ำ
4.1 ประเด็นอภิปราย
(1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ควรร่วมกันพิจารณาแนวทางจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
(2) โครงการภายใต้แผนการฟื้นฟูแหล่งน้ำและแผนการบรรเทาอุทกภัยที่มีความสำคัญเร่งด่วนและมีความพร้อม หากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน ก็สามารถเสนอขอใช้งบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552
(3) โครงการลงทุนตามแผนงานในสาขาต่าง ๆ ที่ได้พิจารณาในครั้งนี้ มีกรอบวงเงินประมาณ 350,000 ล้านบาท กค. ได้จัดหาแหล่งเงินไว้แล้วประมาณ 280,000 ล้านบาท จึงมีวงเงินที่ยังต้องพิจารณาหาแหล่งเงินอีกประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งอาจพิจารณาใช้แหล่งเงินกู้หรืองบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 ต่อไป
4.2 มติที่ประชุม
(1) มอบหมายให้ กษ. และ ทส. รับไปพิจารณาความจำเป็นและเสนอขอใช้งบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 โดยเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน โดยโครงการที่เสนอจะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดเป้าหมายเป็นรายพื้นที่ และก่อให้เกิดประโยชน์ที่ชัดเจนต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งการแก้ไขและป้องกันอุทกภัยในระยะสั้น
(2) มอบหมายให้ กค. และสำนักงบประมาณ พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติมสำหรับโครงการพัฒนาในระยะยาว ที่มีความจำเป็นและพร้อมดำเนินการ เพื่อให้แผนการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย
5. แนวทางการบริหารจัดการราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตร
5.1 ประเด็นอภิปราย
(1) ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำของสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 มีแนวโน้มแพงกว่าน้ำมันเบนซิน 95 และราคาน้ำมันไบโอดีเซล B2 B5 มีแนวโน้มแพงกว่าน้ำมันดีเซล และมีผลต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากชีวภาพ
(2) ราคาพืชพลังงานนอกจากจะส่งผลต่อราคาพลังงานแล้ว ยังส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่เป็นพืชอาหาร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาความสัมพันธ์และความสอดคล้องกันทั้งในมิติของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพลังงาน รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตรและราคาพลังงาน
(3) ราคาน้ำมันที่ผันผวนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตพืชพลังงาน ดังนั้น การกำหนดราคาขั้นต่ำของน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนชนิดต่างๆ ที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นและควรใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ
(4) สำหรับแผนการลงทุนด้านพลังงาน ในส่วนการลงทุนของภาคเอกชนตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน เป็นการลงทุนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระหนี้สาธารณะอีกทางหนึ่ง ดังนั้น จึงอาจพิจารณาสนับสนุนการลงทุนของเอกชนด้านไฟฟ้า โดยเฉพาะโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
5.2 มติที่ประชุม
(1) รับทราบสถานภาพการลงทุนด้านพลังงานตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงาน และมอบหมายให้ พน. เร่งรัดและติดตามการลงทุนของแผนงานและโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย
(2) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายโอฬาร ไชยประวัติ) เป็นประธานคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคณะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่เลขานุการฯ เพื่อศึกษากรอบการกำหนดราคาขั้นต่ำของน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสม และนำเสนอคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ ต่อไป
(3) มอบหมายให้ พน.พิจารณาความเหมาะสมและแนวทางเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน และรายงานให้คณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ ทราบ
6. เรื่องอื่น ๆ
6.1 แผนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและบริการการลงทุนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกทางหนึ่งทั้งนี้ ในการลงทุนด้านการท่องเที่ยวควรแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะสั้น เป็นการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาความเสื่อมโทรมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และ (2) ระยะยาว เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ
6.2 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สืบเนื่องจากการประชุมหารือเรื่องแนวทางการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นั้น คค. ได้รายงานแผนการดำเนินงาน และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้ว คค.ขอเสนอให้เพิ่มเติมโครงการขนาดใหญ่ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความเร่งด่วน ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ การพัฒนาการขนส่งชายฝั่ง การพัฒนาแนวสะพานเศรษฐกิจเชื่อมสองฝั่งทะเลภาคใต้ และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว เป็นต้น
6.3 กค. ได้ดำเนินมาตรการด้านตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งควรมีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานและจัดเตรียมแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
6.4 มติที่ประชุม
(1) เห็นควรให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) จัดทำแผนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและบริการ และนำเสนอคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาความเสื่อมโทรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เห็นควรให้ กก.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และอาจนำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีต่อไป
(2) เห็นควรให้ กค. คค. และ รง. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนฯ ทราบในการประชุมครั้งต่อไป ดังนี้
(2.1) คค. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
(2.2) กค. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการด้านตลาดเงินและตลาดทุนและผลการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
(2.3) รง. รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานและแนวทางการลดผลกระทบด้านแรงงานที่เกิดจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551--จบ--