การขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2008 12:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 และวันที่ 22 เมษายน 2551 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือกำไร ทั้งนี้ เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 1 ปี นับจากวันที่ 29 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2553

2. ให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากร้อยละ 2 ของราคาประเมิน และลดการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการ จำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 ของราคาประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท เหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน โดยมีรายละเอียดและ เงื่อนไข ดังนี้

(1) เป็นที่ดิน อาคาร หรืออาคารพร้อมที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินที่ดำเนินการจัดสรรที่ดิน โดยทางราชการหรือ องค์การของรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย และรวมถึงอาคารที่เป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารพาณิชย์

(2) การโอนกรรมสิทธิและการจำนองห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุด ซึ่งจดทะเบียนอาคารชุด และห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งจด ทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

(3) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารพาณิชย์หรืออาคารดังกล่าว พร้อมที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ และมิใช่ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินหรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดิน โดยทางราชการหรือองค์การของ รัฐบาล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนต่ออุปสงค์ที่แท้จริงด้านอุปทานได้ร้อยละ 6.2 และอุป สงค์ร้อยละ 4.0 ในปี 2550

2. อัตราการเจริญเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยสามารถวิเคราะห์ได้จากตัวชี้วัดด้านการลงทุน (Private Investment Indicators) ดังนี้

ตัวชี้วัดด้านการลงทุน                         2550                                   2551
                          เฉลี่ยทั้งปี (%)          ไตรมาสที่ 1 (%)       ไตรมาสที่ 2 (%)       ก.ค. (%)
พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง                -11.7                   -5.8                -4.7           -0.7
ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์            -5.0                   -5.9                -5.3          -15.0
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

3. ผลของมาตรการ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 มีส่วนช่วยชะลอการหดตัวของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ในไตรมาส 2 ของ ปี 2551 เนื่องจากตัวเลขพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง (Construction Area Permitted) หดตัวลดลงจากร้อยละ 5.8 เหลือร้อยละ 4.7 เมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนั้นตัวเลขของการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวลดลงจากร้อยละ 5.9 เหลือร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามในภาพรวมแล้ว การเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัวอยู่

4. ในเดือนกันยายน 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงลดลงเหลือ 81.1 จุด จาก 83.0 จุด ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสะท้อน ถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นในภาคการผลิตภายในประเทศที่ลดลง ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ปรับลดลงจาก 71.9 จุด เหลือ 70.6 จุด ซึ่งสะท้อนแนวโน้มความเชื่อมั่นในการบริโภคภาคเอกชนที่จะลดลงในอนาคต

5. สถานการณ์ตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศแหล่งเงินทุนหลักนอกประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยังคงอยู่ในสภาวะที่ มีความผันผวนอย่างรุนแรงเนื่องมาจากปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ และส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนใน ประเทศอีกด้วย ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้เป็นผลให้ผู้ประกอบการไทยในกิจการอสังหาริมทรัพย์อาจต้อง ประสบภาวะกำลังซื้อลดต่ำลงกว่าอุปทานที่มี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ