สถานการณ์สุขภาพคนไทย เนื่องในวันสาธารณสุขแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 11:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) รายงานสถานการณ์สุขภาพคนไทย เนื่องในวันสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. โครงสร้างประชากรไทย ได้เข้าสู่โครงสร้างประชากรสูงอายุ ซึ่งได้แก่การมีสัดส่วนของคนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เกินร้อยละ 10 โดยในปี 2550 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 65.6 ล้านคน เป็นคนสูงอายุ ร้อยละ 10.7 และในปี 2551 มีประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน มีคนสูงอายุร้อยละ 11.1 คน วัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ร้อยละ 67.4 และวัยเด็ก (0-14 ปี) ร้อยละ 21.5

2. เด็กไทยที่น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน (น้อยกว่า 2,500 กรัม) ยังมีอยู่ถึงร้อยละ 9.2 ในขณะที่เด็กอายุ 12-23 เดือน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันครบถ้วนมีอยู่ร้อยละ 16.7

3. ในปี 2550 มีคนที่พิการทั้งสิ้นประมาณ 1.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด ประกอบด้วยผู้ที่พิการมาตั้งแต่กำเนิด ร้อยละ 12.8 พิการจากการชราภาพ ร้อยละ 39.1 พิการจากโรคภัยไข้เจ็บ ร้อยละ 36.2 และพิการจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 14.6

4. ครัวเรือนคนไทยที่มีน้ำสะอาดดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 94.3 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 94.9 ในปี 2550 และ มีการใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 98.5 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 98.7 ในปี 2550

5. คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ที่กินอาหารครบ 3 มื้อ มีอยู่ร้อยละ 82.2 ที่ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร มีร้อยละ 54.8 และมีคนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.1 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 29.6 ในปี 2550

6. คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงจากร้อยละ 19.5 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 18.5 ในปี 2550 และที่ดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 32.7 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 29.3 ในปี 2550

7. การเจ็บป่วยของคนไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากจำนวนคนที่ป่วยหรือรู้สึกไม่สบายได้ลดลงจาก ร้อยละ 18.7 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 17.4 ในปี 2550 โดยโรคที่ทำให้ป่วยมากที่สุดในปี 2550 ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจร้อยละ 40.9 ตามด้วยโรคระบบกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็น/กระดูกและข้อ ร้อยละ 11.4 และโรคระบบทางเดินอาหาร ร้อยละ 9.4

8. ผู้ป่วยเลือกวิธีการรักษาพยาบาลด้วยการซื้อยากินเองมากที่สุด ร้อยละ 26.7 รองลงมาได้แก่ การไปรักษาที่คลินิกเอกชน ร้อยละ 21.7 สถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุข/ศูนย์สุขภาพชุมนุมร้อยละ 16.2 และโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 16.0

9. คนที่ป่วยในรอบ 1 เดือนที่สำรวจในปี 2550 ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณคนละ 162 บาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 129 บาทในปี 2547

10. ในรอบปี 2550 คนไทยมีการเข้าพักรักษาพยาบาลเป็นคนไข้ใน ร้อยละ 5.9 (จำนวน 3.9 ล้านคน) โดยลดลงจากร้อยละ 6.9 ในปี 2547 สำหรับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยในที่ผู้ป่วยจ่ายเองมีแนวโน้มลดลง คือ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยคนละ 1,945 บาทในปี 2550 โดยลดลงจาก 2,120 บาทในปี 2547

11. สัดส่วนของผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.4 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 10.7 ในปี 2550 โดยพบว่าในปี 2550 มีผู้สูงอายุที่ได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายร้อยละ 48.1 และเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 31.7 โรคเบาหวานร้อยละ 13.3 และโรคหัวใจร้อยละ 7.0

จากผลการสำรวจข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า สุขอนามัยของคนไทยในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น การดื่มน้ำสะอาด การมีส้วมถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายเพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่และการดื่มสุราลดลง คนที่เจ็บป่วยลดลง แต่ในบางเรื่องยังคงต้องการการปรับปรุงต่อไป อาทิเช่น เด็กที่พิการตั้งแต่เกิด เด็กแรกคลอดที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คนไทยยังมีการออกกำลังกายไม่มาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีคนที่ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น คนไทยจึงควรตระหนักถึงภาวะสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขโดยปราศจากโรคภัยและ ความพิการในวัยชรา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 ธันวาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ