สถานการณ์คนพิการ เนื่องในวันคนพิการสากล (3 ธันวาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 12:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความพิการมาอย่างต่อเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล (3 ธันวาคม) สรุปได้ดังนี้

1. ปี 2550 พบว่ามีคนพิการจำนวน 1.9 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้นประมาณ 65.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 โดยมีลักษณะพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ลักษณะ คือ มีความลำบากหรือปัญหาในการทำกิจกรรม จำนวน 1.8 ล้านคน (ร้อยละ 2.8) มีความลำบากในการดูแลตนเองหรือทำกิจวัตรส่วนตัวประมาณ 0.4 ล้านคน (ร้อยละ 0.6) หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา 1.3 ล้านคน (ร้อยละ 2.0) ซึ่งกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านคน (ร้อยละ 1.7) ในปี 2545

2. ลักษณะความพิการ มีรายละเอียดดังนี้

2.1 คนพิการที่มีความลำบากหรือปัญหาในการทำกิจกรรม ส่วนใหญ่มีความลำบากหรือปัญหาในการเดินขึ้นบันได การมองเห็น การเดินทางราบระยะ 50 เมตร การนั่งยอง ๆ และมีความเจ็บปวดตามร่างกาย

2.2 สำหรับคนพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเอง ซึ่งมีจำนวน 3.9 แสนคน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 92.3 มีความลำบากในการขับถ่าย รวมทั้งการทำความสะอาดหลังการขับถ่าย รองลงมาคือการแต่งตัวร้อยละ 82.5 การอาบน้ำร้อยละ 82.1 การล้างหน้าแปรงฟัน ร้อยละ 65.8 และมีความลำบากในการกินอาหารร้อยละ 59.0

2.3 สำหรับคนพิการที่มีความบกพร่องของร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญานั้น พบว่า ความบกพร่อง 5 ลำดับแรก ได้แก่ ความบกพร่องทางสายตาโดยมองเห็นอย่างเลือนรางทั้ง 2 ข้าง เลือนรางข้างเดียว หูตึง 2 ข้าง อัมพฤกษ์ และแขนขาลีบ/เหยียดงอไม่ได้ และยังพบว่าคนพิการที่มีปัญหาทางสายตา และแขนขาลีบนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต่างจากลักษณะอื่นๆ ที่ลดลงเล็กน้อย

3. คนพิการส่วนใหญ่เริ่มมีความพิการตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป คือมีอยู่ถึงร้อยละ 43.1 ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือการดูแลตนเองตามวัยที่สูงขึ้น ลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นลักษณะความพิการ อย่างหนึ่ง รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 25-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน ร้อยละ 31.3 และอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนที่พิการตั้งแต่กำเนิดหรือพิการก่อนอายุ 1 ปี ซึ่งมีร้อยละ 12.8

4. สาเหตุของความพิการ พบว่า ส่วนใหญ่พิการเนื่องจากชราภาพ ถึงร้อยละ 39.1 จากโรคภัยไข้เจ็บร้อยละ 36.2 และจากอุบัติเหตุประมาณร้อยละ 14.6 ซึ่งประกอบด้วยอุบัติเหตุจากการทำงานร้อยละ 6.9 อุบัติเหตุจากการจราจรทางบกร้อยละ 5.8 และอุบัติเหตุจากการเล่น หรือการจราจรทางน้ำหรือกับระเบิดร้อยละ 1.9 นอกจากนี้ยังพบว่า มีคนพิการจากการถูกยิงหรือถูกทำร้าย ร้อยละ 0.7

5. คนพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเองระดับรุนแรง มีจำนวน 2.4 แสนคนโดยคนพิการกลุ่มนี้ต้องการให้ผู้อื่นช่วยดูแล อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.2 มีผู้ดูแลแล้ว มีเพียงร้อยละ 3.8 ที่ยังไม่มีผู้ดูแล

6. ผู้ดูแลคนพิการที่มีความลำบากในการดูแลตนเองระดับรุนแรง ซึ่งมีประมาณ 2 แสนคน ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 91.7 ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุด 5 ลำดับ คือ 1) ต้องการเงินสนับสนุนร้อยละ 83.2 2) ต้องการให้พยาบาลมาเยี่ยมเป็นครั้งคราวและให้การดูแลที่บ้านเมื่อจำเป็นร้อยละ 30.1 3) ต้องการงานมีรายได้ให้ผู้ดูแลที่บ้านร้อยละ 24.8 4) ต้องการให้คนพิการได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างสะดวกร้อยละ 19.8 5) ต้องการให้มีพาหนะบริการเวลาจำเป็นที่ต้องนำคนพิการไปที่อื่นร้อยละ 17.3

7. คนพิการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 ระบุว่าได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีคนพิการร้อยละ 20.8 ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยแต่ยังไม่มี สำหรับโอกาสทางด้านการศึกษานั้น พบว่า ในจำนวนคนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.3 ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ส่วนคนพิการในวัยแรงงานมีถึงร้อยละ 46.7 ที่ไม่มีงานทำ

ผลจากการสำรวจข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า คนพิการยังต้องการการดูแลเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ดูแลคนพิการก็ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นกัน เช่น การจัดหาเครื่องช่วยให้คนพิการ การจัดบริการพยาบาล/แพทย์ตรวจเยี่ยมเป็นประจำ การขยายโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการหรือการจัดหางานที่เหมาะสมให้คนพิการทำ เป็นต้น สำหรับผู้ดูแลคนพิการก็ควรมีการจัดหางานที่สามารถทำไปพร้อมกับการดูแลคนพิการได้ด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะเร่งรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเอง เพื่อลดภาวะความพิการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งยังต้องป้องกันการเกิดความพิการตั้งแต่กำเนิดหรือในช่วงวัยทารกอายุไม่ถึง 1 ปีด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 ธันวาคม 2551--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ